- ใจกลางชุมชนบ้านไซเบอร์ มีต้นไทรขนาดใหญ่ อายุกว่า 100 ปี ตั้งโดดเด่นสง่าอยู่ในบริเวณหมู่บ้าน เป็นเสมือนศูนย์รวมความเชื่อและจิตวิญญาณของผู้คนในชุมชน และเป็นแหล่งประกอบพิธีกรรมค้ำต้นไทรของชุมชน
- ในชุมชนบ้านไซเบอร์มีแม่น้ำคอกควายที่ไหลผ่านชุมชนเป็นระยะทางกว่า 800 เมตร ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงผู้คนในชุมชน
- บริเวณใกล้ ๆ กับชุมชนมีน้ำตกไซเบอร์ที่มีความงดงาม เป็นแหล่งท่องเที่ยวลำดับต้น ๆ ของจังหวัดอุทัยธานี มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางมาท่องเที่ยวทุกปี แต่ปัจจุบันได้ปิดปรับปรุงสถานที่ท่องเที่ยวน้ำตกไซเบอร์ ไม่อนุญาตให้ใครเข้าชม เนื่องจาก ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวเสียชีวิตในบริเวณน้ำตกเป็นประจำทุกปี ทางการจึงต้องปิดปรับปรุงจนกว่าจะเชื่อมั่นได้ว่ามีความปลอดภัยสูงสุด จึงจะพิจารณาความเหมาะสมในการเปิดดำเนินการต่อไป
- ชุมชนแห่งนี้มีเจ้าวัดที่เป็นผู้นำแห่งจิตวิญญาณ ชื่อว่า “นายทองอินทร์ บูโกก” และมีพิธีกรรมไหว้เจดีย์เป็นประจำทุกปี
นายเนซ่า คลองเคียน ผู้อาวุโสชาวกะเหรี่ยงโปว์ที่ชาวบ้านกลุ่มบ้านไซเบอร์ ให้ความเคารพนับถือ เล่าให้ฟังว่า มีชาวกะเหรี่ยงโปว์หลายกลุ่มได้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานมาจากชุมชนกะเหรี่ยงหลายแห่ง เช่น บ้านภูเหม็น บ้านคลองเคียน บ้านคลองแห้ง บ้านอีซ่า บ้านกุดจะเลิด ตำบลทองหลาง จังหวัดอุทัยธานี และบางส่วนย้ายมาจากบ้านตะเพินคี่ ตำบลวังยาว อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี มาอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ โดยแต่ละกลุ่มทยอยย้ายเข้ามาในห้วงเวลาที่แตกต่างกัน ห่างกัน 5 – 10 ปี และมีการพูดต่อ ๆ กันมาว่า น่าจะย้ายมาอยู่ที่นี่ไม่ต่ำกว่า 200 ปีมาแล้ว พื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ราบเชิงเขาและมีภูเขาล้อมรอบชุมชน อุดมสมบูรณ์ไปด้วยของป่ามากมาย ในผืนป่าไม้เบญจพรรณและป่าไม้ผลัดใบ บางจุดเป็นป่าดงดิบเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ พื้นที่บริเวณนี้เหมาะสมกับการทำไร่หมุนเวียนแบบวิถีชาวกะเหรี่ยงโปว์ บริเวณนี้มีแม่น้ำคอกควายไหลผ่านชุมชน เป็นแม่น้ำที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงผู้คนในชุมชน วิถีคนในชุมชนผูกพันกับสายน้ำแห่งนี้มาก เพราะเป็นทั้งแหล่งน้ำที่ใช้ในการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรมาแต่ครั้งอดีตกาล คนในชุมชนเล่าให้ฟังว่า ในอดีต ใจกลางชุมชนแห่งนี้เคยมีต้นไทรขนาดใหญ่อายุกว่า 100 ปี มีผึ้งหลายฝูงมาสร้างรังผึ้งอยู่บนต้นไทรต้นนี้ในคราวเดียวกันรวมกว่า 30 รัง ชาวกะเหรี่ยงโปว์แห่พากันไปตีผึ้ง ได้น้ำผึ้งมามากมาย จนชาวบ้านพากันยึดเป็นอาชีพ และสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนเป็นกอบเป็นกำ ต่อมาก็มีผึ้งมาทำรังอยู่เป็นประจำ แต่ทยอยมาทีละรังสองรัง ไม่ได้มาคราวละมาก ๆ ดังเช่นในอดีต ดังนั้นคนมีอาชีพตีผึ้งในภาษากะเหรี่ยงโปว์ เรียกกันว่า “ไม๊เบอ” ทางการจึงเรียกชุมชนกระเหรี่ยงโปว์แห่งนี้ว่า “ไซเบอร์” ตั้งแต่บัดนั้นมาจนถึงทุกวันนี้
- ใจกลางชุมชนบ้านไซเบอร์ มีต้นไทรขนาดใหญ่ อายุกว่า 100 ปี ตั้งโดดเด่นสง่าอยู่ในบริเวณหมู่บ้าน เป็นเสมือนศูนย์รวมความเชื่อและจิตวิญญาณของผู้คนในชุมชน และเป็นแหล่งประกอบพิธีกรรมค้ำต้นไทรของชุมชน
- ในชุมชนบ้านไซเบอร์มีแม่น้ำคอกควายที่ไหลผ่านชุมชนเป็นระยะทางกว่า 800 เมตร ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงผู้คนในชุมชน
- บริเวณใกล้ ๆ กับชุมชนมีน้ำตกไซเบอร์ที่มีความงดงาม เป็นแหล่งท่องเที่ยวลำดับต้น ๆ ของจังหวัดอุทัยธานี มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางมาท่องเที่ยวทุกปี แต่ปัจจุบันได้ปิดปรับปรุงสถานที่ท่องเที่ยวน้ำตกไซเบอร์ ไม่อนุญาตให้ใครเข้าชม เนื่องจาก ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวเสียชีวิตในบริเวณน้ำตกเป็นประจำทุกปี ทางการจึงต้องปิดปรับปรุงจนกว่าจะเชื่อมั่นได้ว่ามีความปลอดภัยสูงสุด จึงจะพิจารณาความเหมาะสมในการเปิดดำเนินการต่อไป
- ชุมชนแห่งนี้มีเจ้าวัดที่เป็นผู้นำแห่งจิตวิญญาณ ชื่อว่า “นายทองอินทร์ บูโกก” และมีพิธีกรรมไหว้เจดีย์เป็นประจำทุกปี
นายเนซ่า คลองเคียน ผู้อาวุโสชาวกะเหรี่ยงโปว์ที่ชาวบ้านกลุ่มบ้านไซเบอร์ ให้ความเคารพนับถือ เล่าให้ฟังว่า ในยุคบุกเบิกมีชาวกะเหรี่ยงโปว์หลายกลุ่มได้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานมาจากชุมชนกะเหรี่ยงหลายแห่งทั้งในจังหวัดอุทัยธานีและต่างจังหวัด โดยในจังหวัดอุทัยธานีมีหลายกลุ่ม เช่น บ้านภูเหม็น บ้านคลองเคียน บ้านคลองแห้ง บ้านอีซ่า บ้านกุดจะเลิด ตำบลทองหลาง จังหวัดอุทัยธานี กลุ่มกะเหรี่ยงโปว์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ตำบลแก่นมะกรูด ตำบลคอกควาย ตำบลห้วยแห้ง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี เป็นต้น บางส่วนย้ายมาจากต่างจังหวัด เช่น บ้านตะเพินคี่ ตำบลวังยาว อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ย้ายมาอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ โดยที่แต่ละกลุ่มทยอยย้ายเข้ามาในห้วงเวลาที่แตกต่างกัน พื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ราบเชิงเขาและมีภูเขาล้อมรอบชุมชน อุดมสมบูรณ์ไปด้วยของป่ามากมายในผืนป่าไม้เบญจพรรณและป่าไม้ผลัดใบ บางจุดเป็นป่าดงดิบที่เต็มไปด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่ พื้นที่บริเวณนี้เหมาะสมกับการทำไร่หมุนเวียนแบบวิถีชาวกะเหรี่ยงโปว์ และบริเวณนี้ มีแม่น้ำคอกควายไหลผ่านชุมชน คนในชุมชนเล่าให้ฟังว่า ในอดีตใจกลางชุมชนแห่งนี้เคยมีต้นไทรขนาดใหญ่อายุกว่า 100 ปี มีผึ้งหลายฝูงมาสร้างรังผึ้งอยู่บนต้นไทรต้นนี้ในคราวเดียวกันรวมกว่า 30 รัง ชาวกะเหรี่ยงโปว์แห่พากันไปตีผึ้ง ได้นำผึ้งมามากมายจนชาวบ้านพากันยึดเป็นอาชีพ และสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนเป็นกอบเป็นกำ ต่อมาก็มีผึ้งมาทำรังอยู่เป็นประจำ แต่ทยอยมาทีละรังสองรัง ไม่ได้มาคราวละมาก ๆ ดังเช่นในอดีต จนทุกวันนี้ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านไซเบอร์ ก็ยังคงคุ้นเคยกับการเก็บน้ำผึ้งสร้างรายได้ตลอดมา
ในอดีตชุมชนแห่งนี้เคยมีผู้คนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากกว่า 100 หลังคาเรือน มีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับป่า มีผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์โอบล้อมชุมชน ผู้คนพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ต่อมามีช่วงระยะเวลาหนึ่งที่ชุมชนแห่งนี้เกิดอุทกภัยหนักบริเวณใกล้ ๆ น้ำตกไซเบอร์ มีดินถล่ม น้ำหลาก ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 20 คน ส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้คนในชุมชนเป็นอย่างมาก คิดกันว่าคงจะเกิดอาเพศกับผืนดินแห่งนี้ เป็นลางไม่ดี จึงทำให้ผู้คนในชุมชนย้ายออกไปจากชุมชนเป็นจำนวนมาก และในปัจจุบันนี้คงเหลืออยู่เพียง 28 หลังคาเรือนเท่านั้น
บริเวณใกล้ ๆ กับชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านไซเบอร์นี้ มีน้ำตกไซเบอร์ที่มีความงดงาม ในอดีตเคยเป็นแหล่งท่องเที่ยวลำดับต้น ๆ ของจังหวัดอุทัยธานี มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวจำนวนมาก และเดินทางมาท่องเที่ยวทุกปี แต่ปัจจุบันนี้ได้ปิดปรับปรุง ไม่อนุญาตให้ใครเข้าชม เนื่องจาก ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวเสียชีวิตในบริเวณน้ำตกเป็นประจำทุกปี ทางการจึงต้องปิดปรับปรุงจนกว่าจะเชื่อมั่นได้ว่ามีความปลอดภัยสูงสุด จึงจะพิจารณาถึงความเหมาะสมในการดำเนินการต่อไป
ในบริเวณใกล้น้ำตกไซเบอร์มีน้ำตกอีกแห่งหนึ่งที่มีความงดงามไม่แพ้กัน คือ “น้ำตกสาวน้อย” แต่มีความสูงของชั้นน้ำตกที่ต่ำกว่า และมีปริมาณน้ำน้อยกว่าน้ำตกไซเบอร์เล็กน้อย อยู่ห่างจากวัดไซเบอร์ไม่กี่ร้อยเมตร เริ่มมีนักท่องเที่ยวรู้จัก และเริ่มเดินทางมาท่องเที่ยวจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากน้ำตกไซเบอร์ปิดให้เข้าชม นักท่องเที่ยวจึงหันมาเข้าชมน้ำตกสาวน้อยกันมากขึ้น
ชุมชนบ้านไซเบอร์แห่งนี้มีเจ้าวัดหรือผู้นำแห่งจิตวิญญาณ จำนวน 1 คน ชื่อ นายทองอินทร์ บูโกรก มีเจดีย์เจ้าวัด จำนวน 1 แห่ง ซึ่งเป็นสถานที่ในการประกอบพิธีไหว้เจดีย์เป็นประจำทุกปี และมีการสืบทอดประเพณีไหว้เจดีย์สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน เจ้าวัดนอกจากจะเป็นผู้นำในการประกอบพิธีไหว้เจดีย์ ยังคอยดูแลทุกข์สุขของคนในชุมชน หากมีใครเจ็บป่วยและลักษณะอาการเชื่อได้ว่าเกิดจากภูตผีปีศาจหรือผีเจ้าที่ เจ้าวัดก็จะขจัดปัดเป่า ให้ นอกจากนี้ เจ้าวัดยังเป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อของวิถีกะเหรี่ยงโปว์
ชุมชนแห่งนี้มีวัดไซเบอร์เป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนา เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คนในชุมชน ปัจจุบันนี้มีพระครูสุทัศน์ เป็นเจ้าอาวาส นอกจากวัดไซเบอร์จะเป็นแหล่งปฏิบัติศาสนกิจทางพระพุทธศาสนาวัดแห่งนี้ยังได้รับการประกาศเป็นสำนักปฏิบัติธรรมไซเบอร์อีกด้วย พี่น้องชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านไซเบอร์นิยมมาทำบุญที่วัดไซเบอร์แห่งนี้ เพราะวัดแห่งนี้สร้างขึ้นในระยะเวลาใกล้เคียงกับช่วงเวลาที่ชุมชนแห่งนี้ตั้งขึ้น และในอดีตเคยมีพระสงฆ์ที่เป็นชาวกะเหรี่ยงโปว์มาจำวัดอยู่หลายต่อหลายรุ่น วัดกับชุมชนจึงพึ่งพาอาศัยกัน แต่ปัจจุบันนี้วัดแห่งนี้เก่าแก่มาก มีสภาพชำรุดทรุดโทรม และผุพังไปตามกาลเวลา ท่านเจ้าอาวาสวัดกำลัง เร่งระดมปัจจัยจากศรัทธามหาชนในการเร่งบูรณปฏิสังขรณ์ ให้ศาสนสถานภายในวัดสามารถใช้ในการประกอบศาสนกิจได้ดังเดิม ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาและใช้ปัจจัยมากพอสมควรจึงจะสามารถบูรณปฏิสังขรณ์ให้มีสภาพกลับมาใช้งานได้ดังเดิม
ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านไซเบอร์เคยมีโรงเรียนศูนย์เด็กเล็กในชุมชนราว ๆ 17 ปีก่อน และเปิดได้เพียง 2 – 3 ปีก็ปิดตัวไป เนื่องจากมีเด็กเรียนน้อยและชุมชนอยู่ห่างไกลจากความเจริญ ทำให้ไม่มีคุณครูอาสาสมัครมาสอนเด็ก ๆ ดังนั้น เด็กที่มีอายุถึงเกณฑ์เรียนหนังสือ จะไปเรียนหนังสือกันที่บ้านคลองแห้ง ตำบลทองหลาง ซึ่งอยู่ห่างจากชุมชน บ้านไซเบอร์ราว ๆ 5 กิโลเมตร
ในอดีตบรรพบุรุษชาวกะเหรี่ยงโปว์ชุมชนบ้านไซเบอร์ ได้ร่วมกันอนุรักษ์สืบสานประเพณีวัฒนธรรมตามแบบวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงโปว์เอาไว้ได้อย่างยั่งยืน แต่ปัจจุบันถูกกลืนกินหายไปเป็นจำนวนมาก เนื่องจากชุมชนกะเหรี่ยงโปว์แห่งนี้อยู่ใกล้กับชุมชนของคนไทยพื้นเมืองที่อยู่รอบ ๆ ชุมชน
การคมนาคมสัญจรในอดีต ไม่มีถนนหนทางที่สะดวกในการเดินสัญจร ผู้คนในชุมชนต้องเดินเท้าไปตามทางเท้า ข้ามภูเขา ป่าไม้ ลำธาร เพื่อที่จะไปทำธุรกรรม ที่อำเภอ ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทางอย่างน้อย 1 วัน พักค้าง 1 คืน และเดินทางกลับอีก 1 วัน จึงจะกลับถึงบ้าน หากจะต้องเดินทางไปที่ตัวจังหวัด จะต้องเดินเท้าถึง 2 วัน พักระหว่างทาง 1 คืน และเดินทางกลับอีก 2 วัน จึงจะกลับถึงบ้าน
การคมนาคม
ระยะทางจากอำเภอถึงชุมชนบ้านไซเบอร์ 29 กิโลเมตร
ระยะทางจากจังหวัดถึงชุมชน 86 กิโลเมตร
ระยะทางจากกรุงเทพถึงชุมชน 261 กิโลเมตร
เดินทางได้ทางบกทางเดียว คือ การคมนาคมสัญจรโดยรถยนต์และรถจักรยานยนต์
อาณาเขตติดต่อ
ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านอีซ่า หมู่ 3 ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี
ทิศใต้ ติดต่อกับ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง แหล่งมรดกโลกห้วยขาแข้ง
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านตลิ่งสูง หมู่ 3 ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง แหล่งมรดกโลกห้วยขาแข้ง
สภาพพื้นที่ทางกายภาพ /ขนาดพื้นที่ชุมชน/พื้นที่สาธารณะ/การสาธารณูปโภคชุมชน
พื้นที่ชุมชนบ้านไซเบอร์ ร้อยละ 90 เป็นพื้นที่ราบเชิงเขา มีเทือกเขาสำคัญ เช่น เทือกเขาปาดู่ เทือกเขา ลุงเป๋าไต๋ และมีเนินเขาจำนวนมากที่มีความสลับซับซ้อนอยู่รอบ ๆ ชุมชน พื้นที่ส่วนใหญ่ร้อยละ 60 เป็นพื้นที่ทำการเกษตร พื้นที่ร้อยละ 20 เป็นที่อยู่อาศัยเป็นที่ตั้งชุมชน และพื้นที่ร้อยละ 20 เป็นพื้นที่ป่าไม้ ภูเขา แม่น้ำคอกควาย น้ำตกไซเบอร์ น้ำตกสาวน้อย และพื้นที่ป่าชุมชน ปัจจุบันมีผู้คนอาศัยอยู่ในชุมชน จำนวน 28 ครัวเรือน
ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านไซเบอร์ มีแม่น้ำสายสำคัญไหลผ่านชุมชน ชื่อว่า “แม่น้ำคอกควาย” มีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาบริเวณเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ในพื้นที่มรดกโลกห้วยขอแข้ง มีระยะทางเฉพาะช่วงที่ไหลผ่านชุมชนกะเหรี่ยงบ้านอีซ่า ประมาณ 500 – 700 เมตร มีน้ำไหลผ่านตลอดทั้งปี ชาวบ้านมีน้ำอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรตลอดทั้งปี ในชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านไซเบอร์ มีต้นไม้ใหญ่ที่ชาวบ้านเก็บรักษาไว้คู่บ้านคู่ชุมชน เป็นเสมือนจิตวิญญาณซึ่งเป็นวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงโปว์ เป็นความผูกพันระหว่างป่าและต้นไม้กับชาวกะเหรี่ยงโปว์ที่ดูแลกันมากว่า 100 ปี คือต้นไทร ชาวกะเหรี่ยงโปว์จะทำพิธีกรรมค้ำต้นไทร ปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้เทพยาดาประจำต้นไม้คุ้มครองครอบครัวคนในชุมชนให้อยู่เย็นเป็นสุขตลอดทั้งไปบรรพบุรุษยุคแรกที่ย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในชุมชนบ้านไซเบอร์แห่งนี้ เห็นว่าผืนดินบริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์ มีเนินเขาและเชิงเขาที่ไม่สูงชันมากนัก เหมาะแก่การทำไร่หมุนเวียนตามแบบวิถีชนเผ่ากะเหรี่ยง มีป่าไม้นานาพรรณ มีแม่น้ำคอกควายเป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค เรียกได้ว่าสภาพแวดล้อมมีความพร้อมในทุก ๆ ด้าน จึงตัดสินใจตั้งถิ่นฐานสร้างชุมชนอยู่ในบริเวณนี้จวบจนปัจจุบัน ในอดีตปลูกเพียงข้าวไร่ในไร่หมุนเวียนรวมถึงพืชผักที่จำเป็นในการดำรงชีวิต เช่น ผักกาด กวางตุ้ง คะน้า แตงกวา ผักชี พริก และพืชผักสวนครัวอีกมากมายไม่น้อยกว่า 50 ชนิด เอาไว้บริโภคในการดำรงชีพ มีการจำหน่ายพริกหรือของป่าเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อนำมาซื้อเกลือไว้บริโภคเท่านั้น ปัจจุบันไม่มีการทำไร่หมุนเวียนแล้ว เนื่องจากพื้นที่ทำการเกษตรมีจำนวนจำกัด ผู้คนในชุมชนมีการปลูกไร่ข้าวไว้กินในหนึ่งรอบปี พื้นที่ที่เหลือก็จะปลูกพืชเกษตรเชิงเดี่ยวไว้ขายแลกเงินมาใช้ในครัวเรือน เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด สับปะรด ยางพารา ปาล์ม เป็นต้นสถานที่สำคัญทางสังคมและวัฒนธรรม ส่วนใหญ่จะมีการนัดพบพูดคุยหารือเรื่องสำคัญในบ้านของผู้อาวุโสของชุมชน หรือบ้านผู้นำชุมชน นอกจากนี้ ยังมีการจับกลุ่มหารือกันอย่างไม่เป็นทางการตามบ้านต่าง ๆ แต่หากเป็นการประชุมหารืออย่างเป็นทางการแล้ว จะไปประชุมกันที่ศาลาประชาคมหมู่บ้าน หรือที่องค์การบริหารส่วนตำบล หรือที่อำเภอปัจจุบันนี้ที่อยู่อาศัยของชุมชน รวมทั้งพื้นที่ทำการเกษตรของคนในชุมชน ล้วนเป็นพื้นที่ของป่าสงวนแห่งชาติห้วยป่าทับเสลาและห้วยป่าคอกควาย โซนซี ซึ่งได้มีการประกาศเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2528 ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2528 ซึ่งเป็นการประกาศพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติหลังจากที่ชาวบ้านได้อยู่อาศัยและทำมาหากินมาเป็นระยะเวลากว่า 100 ปี และภายหลังการประกาศพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เจ้าหน้าที่รัฐแจ้งให้คนในชุมชนจับจองพื้นที่เพื่อแสดงสิทธิ์ความเป็นเจ้าของที่ชัดเจน โดยให้ชาวบ้านทำไร่อยู่กับที่ ไม่อนุญาตให้ทำไร่หมุนเวียนอีกต่อไป- ประชากรมีจำนวน 28 ครัวเรือน ประชากรทั้งหมด 98 คน ประชากรชาย 49 คน และประชากรหญิง 49 คน
- ประชากรทั้งหมดเป็นเชื้อสายกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ 98 คน คิดเป็นร้อยละ 100
- ระบบเครือญาติ ประชากรในชุมชนทั้งหมดล้วนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ทั้งสิ้น อยู่ร่วมกันแบบครอบครัวขยาย ที่มีผู้คนหลากหลายช่วงวัยอาศัยอยู่ร่วมกัน มีเพียงบางส่วนที่อยู่อาศัยเป็นครอบครัวเดี่ยว โดยปกติทั่วไปประชากรชาวกะเหรี่ยงส่วนใหญ่ในชุมชนมักจะใช้นามสกุลเดียวกันทั้งหมู่บ้าน และส่วนใหญ่จะใช้ชื่อหมู่บ้านเป็นชื่อนามสกุล นอกจากจะย้ายมาจากหมู่บ้านอื่นในขณะที่มีนามสกุลอยู่แล้ว ก็ใช้นามสกุลเดิมของตนเองต่อไป
7.1 กลุ่มที่เป็นทางการ
7.1.1 กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อการผลิต
ในอดีตชุมชนบ้านไซเบอร์ เคยมีการรวมตัวกันเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการออมทรัพย์ และใช้ในการระดมทุนไว้ให้คนในชุมชนได้กู้ยืมไปประกอบอาชีพทางการเกษตรในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรโดยตรง แต่เมื่อรัฐบาลได้จัดให้มีกองทุนหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1 ล้านบาท กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อการผลิตกลุ่มบ้านไซเบอร์จึงค่อย ๆ เริ่มถอนตัวออกจากสมาชิก ไปเป็นสมาชิกกองทุนหมู่บ้านของรัฐบาลแทน
7.1.2 กลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์
ประชาชนในชุมชนมีการรวมตัวกันในนามกลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์ทั้งชุมชน โดยมี วัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพของครอบครัวสมาชิก โดยให้ครอบครัวสมาชิกจ่ายเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ครอบครัวละ 50 บาท ต่อ 1 ศพ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของทายาทผู้เสียชีวิต
7.1.3 กลุ่มสินเชื่อ ธ.ก.ส.
ชาวบ้านจับกลุ่มกันเป็นกลุ่มย่อย กลุ่มละ 4 – 5 คน ยื่นของสินเชื่อทางการเกษตรกับ ธ.ก.ส. โดยหมุนเวียนกันค้ำประกันซึ่งกันและกัน โดย ธ.ก.ส. ให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ยืดระยะเวลาชำระนาน และบางรัฐบาล ก็มีนโยบายพักชำระหนี้เกษตรกร เพื่อช่วยเหลือสมาชิกอยู่บ่อยครั้ง
7.2 กลุ่มที่ไม่เป็นทางการ
7.2.1 กลุ่มทอผ้ากะเหรี่ยงโปว์
มีการรวมกลุ่มกันอย่างไม่เป็นทางการสำหรับกลุ่มทอผ้ากะเหรี่ยงโปว์ หลังจากเสร็จภารกิจจากการทำการเกษตร จะมานั่งรวมกันเป็นกลุ่มตามใต้ถุนบ้านหรือใต้ต้นไม้ นั่งทอผ้ากะเหรี่ยงโปว์ซึ่งเป็น ผ้าทอมือที่ใช้ กี่เอวในการทอผ้า ส่วนใหญ่จะเป็นการทอผ้าไว้ตัดเย็บเสื้อผ้าไว้ใช้ในครัวเรือน ไม่ได้ทอผ้าเพื่อการจำหน่ายหรือเพื่อทำการตลาดแต่อย่างใด
7.2.2 กลุ่มประเพณีวัฒนธรรมและพิธีกรรม
มีการรวมตัวกันเพื่อจัดงานประเพณีวัฒนธรรมและการทำพิธีกรรมในชุมชนไซเบอร์ จะมีการรวมกลุ่มของคนในชุมชน โดยมีเจ้าวัดทองอินทร์ บูโกรก ซึ่งเป็นผู้นำแห่งจิตวิญญาณ และประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์
7.2.3 กลุ่มพลังศรัทธา
มีชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านไซเบอร์กลุ่มหนึ่งที่มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา รวมตัวกันไปทำบุญที่วัดไซเบอร์ซึ่งเป็นวัดในชุมชนไซเบอร์เป็นประจำทุกวันธรรมสวนะ ทำให้ชาวบ้านได้มีสถานที่ในการพูดคุยเรื่องการทำมาหากิน เรื่องสัพเพเหระ เรื่องประเพณีวัฒนธรรม และหารือกันเรื่องการทำการเกษตร เป็นต้น
7.2.4 กลุ่มทำการเกษตร
ผู้คนในชุมชนมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มย่อย ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเครือญาติ 4 – 5 หลังคาเรือน ที่เป็นกลุ่มบ้านใกล้เรือนเคียงกัน จะมีการรวมตัวช่วยเหลือกันทางการเกษตร เช่น มีการรวมตัวกัน ลงแขกปลูกข้าวไร่ ลงแขกเกี่ยวข้าว ลงแขกขุดมันสำปะหลัง เป็นต้น
8.1 วิถีชีวิตทางสังคมและวัฒนธรรม
8.1.1 ประเพณีกินข้าวใหม่
หลังจากที่ชาวบ้านเก็บเกี่ยวข้าวไร่เรียบร้อยแล้ว ก่อนที่จะนำข้าวไร่ขึ้นเก็บในยุ้งฉางทุกบ้านที่ปลูกข้าวไร่ จะมีการประกอบพิธีกรรมกินข้าวใหม่เป็นรายหลังคาเรือน หรือบางกลุ่มอาจจะประกอบพิธีกรรมกินข้าวใหม่เป็นกลุ่มญาติพี่น้อง โดยการจัดเตรียมข้าวปลาอาหาร สำรับอาหารหวาน-คาว ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับการประกอบพิธี เมื่อเตรียมอาหารหวาน-คาวเรียบร้อยแล้ว เชิญเจ้าวัดประกอบพิธี ด้วยการนำทุกคนในครอบครัวกล่าวขอบคุณและขอขมาเครื่องมือทางการเกษตรต่าง ๆ ที่ทำให้ข้าวไร่ได้ผลผลิตดี
8.1.2 ประเพณีวันสงกรานต์
เมื่อถึงวันสงกรานต์ ผู้คนในชุมชนจะมีการรวมตัวกัน ณ บ้านของปราชญ์ชาวบ้าน บ้านผู้อาวุโสหรือบ้านของผู้นำชุมชน เป็นต้น และจะเชิญชวนผู้อาวุโสทั้งหญิงและชายในชุมชนเข้าร่วมพิธีรดน้ำขอพร โดยเจ้าวัดและปราชญ์ชาวบ้านอาวุโสจะให้พรกับลูกหลาน หลังจากนั้นผู้นำชุมชนและลูกบ้านจะร่วมกันรดน้ำขอพรผู้อาวุโสจนครบทุกคน
ความสัมพันธ์และอิทธิพลที่มีต่อวิถีชีวิต ประเพณีสงกรานต์นั้น เดิมทีเป็นของคนไทยพื้นเมือง แต่ปัจจุบันได้แผ่อิทธิพลเข้ามาสู่กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ กลุ่มบ้านไซเบอร์ ซึ่งเห็นว่าเป็นประเพณี ที่ดีงามและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ ในการแสดงความเคารพต่อผู้อาวุโสในชุมชน จึงได้นำประเพณีดังกล่าวนี้มาสืบสานอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
8.1.3 ประเพณีไหว้เจดีย์
ในชุมชนบ้านไซเบอร์แห่งนี้ มีเจ้าวัดหรือผู้นำแห่งจิตวิญญาณ จำนวน 1 คน และได้ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ตามวิถีแห่งกะเหรี่ยงโปว์มาอย่างยาวนาน คนในชุมชนบ้านไซเบอร์ยังคงมีความเชื่อและความศรัทธาเกี่ยวกับเจ้าวัดไม่เสื่อมคลาย ยังคงมีการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อแบบวิถีชาวกะเหรี่ยงโปว์อย่างต่อเนื่อง
8.1.4 ประเพณีลอยกระทง
ประเพณีลอยกระทงของชาวกะเหรี่ยงโปว์ ได้รับอิทธิพลมาจากประเพณีลอยกระทงของคนไทยพื้นเมือง ซึ่งเป็นความสอดคล้องของผู้นำแห่งจิตวิญญาณที่ต้องการให้มีการขอขมาพระแม่คงคาที่ทำให้คนในชุมชนได้มีน้ำกินน้ำใช้ มีน้ำในการทำการเกษตรตลอดปี และถือเอาวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งตรงกับวันลอยกระทงของคนไทย เป็นวันลอยกระทงของชาวกะเหรี่ยงโปว์ด้วย กระทงจะมีขนาดใหญ่เป็นทรงสี่เหลี่ยมที่ทำมาจากต้นกล้วยและกาบกล้วย ในกระทงจะมีอาหารหวาน-คาวที่ไม่เป็นอาหารต้องห้าม มีดอกไม้ธูปเทียน และเครื่องสักการบูชาอื่น ๆ ตามสมควร โดยทั้งหมู่บ้านจะทำเพียงกระทงเดียว ช่วยกันหามไปลอยกระทงในแม่น้ำคอกควาย เพื่อขอขมาพระแม่คงคา
8.2 วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ
8.2.1 การเตรียมดินเพาะปลูก
หลังเสร็จสิ้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวไร่และผลผลิตทางการเกษตร ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคมของทุกปี ก็จะเข้าสู่การเตรียมพื้นที่สำหรับเตรียมการเพาะปลูก ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม จะต้องมีการเตรียมดิน เช่น ถากถางวัชพืชหลังเก็บเกี่ยว เผาซากวัชพืช ไถบุก ไถแปรพลิกหน้าดินขึ้นมาตากแดดเพื่อฆ่าเชื้อโรคที่สะสมใต้ดิน และฆ่าไข่ของตัวหนอนและเพลี้ยชนิดต่าง ๆ ที่เป็นศัตรูพืช เพื่อให้ดินมีความพร้อมสำหรับการเพาะปลูกรอบใหม่
8.2.2 การเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร
เมื่อเตรียมดินเสร็จก็จะเข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูก ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะอยู่ราว ๆ เดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคม หลังจากนั้นเกษตรกรจะดูแลพืชผลทางการเกษตรต่อไปอีกราว ๆ 4 – 6 เดือน จึงจะได้เวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรในแต่ละชนิด ดังนั้น ในช่วงของการดูแลพืชผลทางการเกษตร จึงถือได้ว่าเป็นช่วงที่สำคัญมาก
8.2.3 การเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตร
เมื่อพืชผลทางการเกษตรได้เวลาที่จะต้องเก็บเกี่ยว โดยเฉพาะข้าวไร่ ชาวบ้านจะทำการ เกี่ยวข้าวชุดหนึ่งมาทำพิธีกินข้าวใหม่ เสร็จแล้วจึงจะเก็บเกี่ยวข้าวไร่ทั้งหมดที่ยังอยู่ในไร่มาเก็บไว้ในยุ้งฉาง เพื่อเอาไว้บริโภคภายในครัวเรือนตลอดระยะเวลา 1 ปี
9.1 ชื่อ นายเนซ่า นามสกุล คลองเคียน อายุ 96 ปี เกิด พ.ศ. 2470
ที่อยู่บ้านเลขที่ 167/2 ชุมชนไซเบอร์ หมู่ 1 บ้านคลองแห้ง ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี
บทบาทและความสำคัญในชุมชน ความชำนาญ/ทักษะที่มี
นายเนซ่า คลองเคียน เป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านสมุนไพรพื้นบ้าน สามารถรักษาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นสำหรับโรคภัยที่มีกระบวนการรักษาที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน และโรคภัยที่ไม่มีอาการรุนแรง เช่น ปวดหัว ปวดท้อง เป็นไข้หวัด เป็นต้น มีความรู้เรื่องบทสวดคาถาอาคมที่ใช้สำหรับประกอบพิธีกรรมพื้นถิ่นในระดับหนึ่ง จึงเป็นเสมือนผู้ช่วยผู้นำแห่งจิตวิญญาณของชุมชน เป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านการแสดงพื้นบ้าน เช่น รำตง และการขับร้องบทเพลงพื้นบ้านกะเหรี่ยงโปว์ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านการเกษตรคอยสอนให้ลูกหลานทำมาหากิน และเป็นปราชญ์ด้านเครื่องจักสานสอนให้ลูกหลานทำเครื่องมือเครื่องใช้จากไม้ไผ่ไว้ใช้เองในครัวเรือน เพื่อลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน
ชีวประวัติ
นายเนซ่า คลองเคียน ไม่ทราบวันเกิดและเดือนเกิดที่แน่ชัด แต่ตามบัตรประชาชนเกิดในปี พ.ศ. 2470 เกิดที่บ้านตะเพินคี่ ตำบลวังยาว อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ย้ายมาอยู่ที่บ้านคลองเคียนตอนยังเด็กราว ๆ 6 – 7 ขวบเห็นจะได้ และย้ายมาอยู่ที่ชุมชนบ้านไซเบอร์แห่งนี้ตอนอายุ 22 ปี มีลูกจำนวน 5 คน มีภรรยาชื่อนางนุ คลองเคียน ซึ่งถึงแก่กรรมไปเมื่อ 4 ปีก่อน ในปีนี้ลูกสาวคนโตที่ไปแต่งงานอยู่บ้านตะเพินคี่ ตำบลวังยาว อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี เดินทางมาอยู่เป็นเพื่อนและคอยดูแลพ่อเฒ่าที่บ้านไซเบอร์ ปัจจุบันอายุ 96 ปี ในวัยเด็กไม่ได้เรียนหนังสือไทย แต่ได้เรียนภาษากะเหรี่ยงโปว์ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนจนแตกฉาน สามารถช่วยสอนหนังสือให้ลูกหลานที่อยากเรียนรู้ภาษากะเหรี่ยงได้เป็นอย่างดี
นายเนซ่า คลองเคียน เล่าให้ฟังว่า เมื่อ 20 ปีก่อน ชุมชนบ้านไซเบอร์แห่งนี้ เกิดเหตุภัยพิบัติอุทกภัย น้ำหลากรุนแรงในบริเวณพื้นที่ป่าทางเหนือใกล้ ๆ กับชุมชน มีผู้คนที่เดินทางมาเป็นลูกจ้างนายทุนที่มาทำสวนปาล์มและสวนยางพารา และทำน้ำมันยางจากต้นยางนาในบริเวณนี้ เสียชีวิตไปกว่า 20 คน ถึงแม้ว่าจะไม่มี ชาวกะเหรี่ยงโปว์สูญเสียชีวิตในคราวนั้น แต่ผู้คนในชุมชนก็รู้สึกเศร้าสลดและเสียขวัญกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่น้อยบ้างก็ว่าอาจจะเป็นการเกิดอาเพศร้ายในชุมชน บ้างก็ว่าเทวดาอารักษ์คงลงโทษผู้ที่เข้ามาทำลายป่า บ้างก็ว่าเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สุดท้ายแล้วก็มีผู้คนจำนวนหนึ่งได้ย้ายออกจากชุมชนไป ด้วยกลัวว่าถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก
9.2 ชื่อ นายชราเอง นามสกุล ภูเหม็น อายุ 79 ปี เกิด พ.ศ. 2487
ที่อยู่บ้านเลขที่ 59/1 ชุมชนไซเบอร์ หมู่ 1 บ้านคลองแห้ง ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี
บทบาทและความสำคัญในชุมชน ความชำนาญ/ทักษะที่มี
นายชราเอง ภูเหม็น เป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านสมุนไพรพื้นบ้าน สามารถรักษาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นสำหรับโรคภัยที่มีกระบวนการรักษาที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน และโรคภัยที่ไม่มีอาการรุนแรง เช่น ปวดหัว ปวดท้อง เป็นไข้หวัด เป็นต้น เป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านการแสดงพื้นบ้านและดนตรีพื้นบ้าน เช่น การเป่าแคน รำตง และการขับร้องบทเพลงพื้นบ้านกะเหรี่ยงโปว์ เป็นต้น
ชีวประวัติ
นายชราเอง ภูเหม็น ไม่ทราบวันเกิดและเดือนเกิดที่แน่ชัด แต่ตามบัตรประชาชนเกิดในปี พ.ศ. 2487 เกิดที่บ้านอีซ่า ตำบลคอกควาย อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานีในสมัยนั้น ย้ายมาอยู่ที่บ้านภูเหม็นตอนอายุ 19 ปี มาแต่งงานกับสาวชาวภูเหม็น และอาศัยอยู่ในชุมชนบ้านภูเหม็นได้ 1 ปี จากนั้นได้พาครอบครัวย้ายมาตั้ง ถิ่นฐานทำมาหากินที่ชุมชนบ้านไซเบอร์แห่งนี้ตอนอายุ 20 ปี มีภรรยาชื่อ นางโว ภูเหม็น และมีลูกด้วยกันจำนวน 7 คน ส่วนใหญ่แต่งงานแล้ว และแยกครอบครัวไปดำเนินชีวิตของตัวเอง แต่ยังคงอาศัยอยู่ในชุมชนไซเบอร์แห่งนี้ ลุงชราเอง ในวัยเด็กไม่ได้เรียนหนังสือไทย แต่ได้เรียนภาษากะเหรี่ยงโปว์ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนจนแตกฉาน สามารถช่วยสอนภาษากะเหรี่ยงให้ลูกหลานที่อยากเรียนรู้ภาษากะเหรี่ยงได้เป็นอย่างดี
9.3 ชื่อ นางโว นามสกุล ภูเหม็น อายุ 79 ปี เกิด พ.ศ. 2487ที่อยู่บ้านเลขที่ 59/1 ชุมชนไซเบอร์ หมู่ 1 บ้านคลองแห้ง ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานีบทบาทและความสำคัญในชุมชน ความชำนาญ/ทักษะที่มีนางโว ภูเหม็น เป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านสมุนไพรพื้นบ้าน สามารถรักษาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นสำหรับโรคภัยที่มีกระบวนการรักษาที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน และโรคภัยที่ไม่มีอาการรุนแรง เช่น ปวดหัว ปวดท้อง เป็นไข้หวัด รวมถึงการเป็นหมอตำแยช่วยทำคลอดให้กับสตรีในชุมชนบ้านไซเบอร์ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านการแสดงพื้นบ้าน เช่น รำตง และการขับร้องบทเพลงพื้นบ้านกะเหรี่ยงโปว์ เป็นต้น เป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านงานบ้านงานเรือน เช่น การทำอาหารกะเหรี่ยงโปว์ บทบาทของสตรีชาวกะเหรี่ยงโปว์ ในการครองเรือน แถมยังเป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านการทอผ้ากะเหรี่ยงโปว์ และยังคงสอนให้ลูกหลานรวมถึงลูกสะใภ้ทอผ้ากะเหรี่ยงโปว์ไว้ใส่ในชีวิตประจำวัน ใส่ในเทศกาลประเพณีและวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงโปว์ชีวประวัตินางโว ภูเหม็น ไม่ทราบวันเกิดและเดือนเกิดที่แน่ชัด แต่ตามบัตรประชาชนเกิดในปี พ.ศ. 2487 เกิดที่บ้านภูเหม็น ตำบลคอกควาย อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานีในสมัยนั้น และได้แต่งงานกับนายชราเอง ภูเหม็น ตอนอายุ 19 ปี และพักอาศัยอยู่บ้านภูเหม็นอีก 1 ปีหลังจากแต่งงานแล้ว และหลังจากนั้นได้ย้ายตามสามีมาตั้ง ถิ่นฐานทำมาหากิน ที่ชุมชนบ้านไซเบอร์แห่งนี้ตอนอายุ 20 ปี และลูกด้วยกันจำนวน 7 คน ส่วนใหญ่ลูก ๆ แต่งงานแล้ว และแยกครอบครัวไปดำเนินชีวิตของตัวเอง1. ทุนทางกายภาพ
1.1 แม่น้ำคอกควาย ประวัติความเป็นมา บรรพบุรุษรุ่นปู่และรุ่นย่าเล่าให้ฟังต่อ ๆ กันมาว่า “แม่น้ำคอกควาย” เป็นแม่น้ำที่ไหลมาจากต้นน้ำในเขตป่าตะวันตกห้วยขาแข้ง ไหลมารวมกับลำห้วยลำธารสายเล็ก ๆ หลายสาย จนเป็นแม่น้ำขนาดใหญ่ ไหลผ่านตำบลคอกควาย ผ่านป่าสงวนห้วยป่าคอกควาย และไหลผ่านชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านไซเบอร์แห่งนี้ ดังนั้น แม่น้ำคอกควายจึงเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่หล่อเลี้ยงผู้คน ในชุมชน
ช่วงเวลาที่สำคัญ “แม่น้ำคอกควาย” ในอดีตที่ป่าไม้ยังอุดมสมบูรณ์อยู่ มีความเชื่อกันว่า ในแม่น้ำคอกควายช่วงที่ไหลผ่านบริเวณชุมชนไซเบอร์แห่งนี้ มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ทั้งช่วงเวลาที่งดงามน่าจดจำ และช่วงเวลาที่เลวร้ายที่ไม่น่าจดจำ เช่น ในฤดูแล้งบางปีน้ำในแม่น้ำคอกควายแทบจะแห้ง จนแทบจะไม่มีน้ำไว้บริโภค ไม่มีน้ำทำการเกษตร ส่วนช่วงฤดูฝนในบางปีที่มีปริมาณจ้ำฝนมาก น้ำในแม่น้ำไหลเชี่ยวกรากท่วมบ้านเรือนและเรือกสวนไร่นาของชาวบ้าน สร้างความเสียให้กับชาวบ้านพอสมควร มีอยู่ปีหนึ่งฝนตกหนักน้ำป่าไหลหลากจากภูเขารอบ ๆ ชุมชน ลงสู่แม่น้ำคอกควาย ทำให้มีลูกจ้างที่มารับจ้างนายทุนทำสวนทำไร่อยู่รอบ ๆ ชุมชนบ้านไซเบอร์กว่า 20 คน ได้สูญเสียชีวิตไปกับวิกฤติการณ์อุทกภัยในครั้งนั้น และยังคงเป็นฝันร้ายชาวไซเบอร์ที่มีการเล่าสืบต่อกันมา สู่ลูกหลานรุ่นสู่รุ่น
คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน “แม่น้ำคอกควาย” เป็นเสมือนสายเลือดที่หล่อเลี้ยงผู้คนในชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านไซเบอร์มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นทั้งแหล่งน้ำกินน้ำใช้และน้ำในการทำเกษตร ผู้คนในชุมชนมีความผูกพันกับแม่น้ำสายนี้มาอย่างยาวนาน และจะยังคงมีความผูกพันกันตลอดไป
สถานการณ์ปัจจุบัน “แม่น้ำคอกควาย” เป็นแม่น้ำขนาดใหญ่ที่ไหลผ่านชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านไซเบอร์และอยู่ใกล้กับชุมชนมาก ดังนั้น ในปีใดที่มีปริมาณน้ำฝนมากน้ำจะเอ่อล้นท่วมที่อยู่อาศัยของชุมชนและท่วมเรือกสวนไร่นาของชาวบ้าน ที่สำคัญแม่น้ำมักจะไหลเปลี่ยนทิศ ทำให้กัดเซาะริมตลิ่งกินเนื้อที่ไร่สวนของชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้แม่น้ำกว้างขึ้น แถมพัดพากองทรายจำนวนมากมาทับถมอยู่ในบริเวณนี้
การสืบทอดและความยั่งยืน “แม่น้ำคอกควาย” มีปริมาณน้ำลดลงไปเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าผืนป่าต้นน้ำและผืนป่าที่อยู่ระหว่างทางที่แม่น้ำไหลผ่านนั้นค่อย ๆ ลดจำนวนน้อยลงไปเรื่อย ๆ จึงไม่สามารถที่จะดูดซับความชุ่มชื้นของสายน้ำสายนี้เอาไว้ได้ตลอดปี ในฤดูแล้งจึงมีน้ำในแม่น้ำน้อยมากจนเกือบแห้ง จึงสามารถพูดได้ว่า การสืบทอดทรัพยากรน้ำในชุมชนแห่งนี้ยังไม่มีความยั่งยืนเท่าที่ควร ชาวบ้านยังต้องพึ่งบ่อน้ำบาดาลในการดำรงชีวิตอยู่หลายเดือนต่อปี ดังนั้น สิ่งที่ควรเร่งดำเนินการในการบำรุงรักษาแหล่งน้ำแห่งนี้ คือควรเร่งให้มีการปลูกป่าทดแทนป่าที่ถูกทำลายไปกับการทำการเกษตรโดยเร่งด่วน
1.2 ป่าสงวนแห่งชาติ ประวัติความเป็นมา เมื่อปี พ.ศ. 2528 กรมป่าไม้ได้ประกาศเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติห้วยป่าทับเสลาและห้วยป่าคอกควาย ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งทับซ้อนพื้นที่ที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานีหลายชุมชน ไม่เว้นแม้แต่ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านไซเบอร์แห่งนี้ด้วย ซึ่งเป็นที่ที่เคยทำมาหากิน พื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ด้วยการทำไร่หมุนเวียนตามวิถีชนเผ่าแห่งกะเหรี่ยงชนอย่างอิสรเสรี ซึ่งได้มีการสืบสานกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล
ช่วงเวลาที่สำคัญ เมื่อปี พ.ศ. 2528 หลังการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติห้วยป่าทับเสลาและห้วยป่าคอกควาย ซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมโยงกับเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง แหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติที่มีพื้นที่ครอบคลุมหลายอำเภอในจังหวัดอุทัยธานี เกิดผลกระทบกับกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนใหญ่มักอาศัยอยู่บนพื้นที่ราบสูงหรือในป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างปัญหาความขัดแย้งระหว่างกฎหมายรัฐกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในหลายพื้นที่ ในจังหวัดอุทัยธานีมาจนถึงปัจจุบัน
คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน ชาวกะเหรี่ยงรู้ดีว่าคุณค่าของป่าไม้มีมากมายเพียงใด ดังคำพูดที่ว่า “ที่ไหนมีป่า ที่นั่นมีกะเหรี่ยง” และ “ที่ไหนมีกะเหรี่ยงที่นั่นมีป่า” ชาวกะเหรี่ยงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ รักป่ามากที่สุด หมู่บ้านกะเหรี่ยงทุกหมู่บ้านที่จะมีป่าชุมชนหรือป่าตามภูเขาที่อยู่รายรอบหมู่บ้านกะเหรี่ยง ที่โอบล้อมชุมชนกะเหรี่ยง แสดงถึงการรักษาวิถีชีวิตดั้งเดิมของบรรพบุรุษชาวกะเหรี่ยงโปว์เอาไว้ได้เป็นอย่างดี
สถานการณ์ปัจจุบัน แม้ปัจจุบันนี้ป่าชุมชนหรือป่าไม้ตามไหล่เขาและบนภูเขารอบ ๆ ชุมชนจะลดลงไปมากหากเทียบกับอดีต แต่ก็ยังเหลือพื้นที่ป่าอยู่ร้อยละ 15 – 20 ของพื้นที่ที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินในปัจจุบัน เพียงพอที่จะช่วยสร้างความชุ่มชื้นให้แก่ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านไซเบอร์ เอาไว้เป็นแหล่งอาหารและสร้างความชุ่มชื้นให้แก่ชุมชน
2. ทุนมนุษย์
ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์ไซเบอร์มีปราชญ์ชาวบ้านด้านสมุนไพรพื้นบ้าน ปราชญ์ชาวบ้านด้านการแสดงพื้นบ้านและดนตรีพื้นบ้าน ปราชญ์ชาวบ้านด้านการเกษตร ปราชญ์ด้านเครื่องจักสาน ปราชญ์ชาวบ้านด้านการทอผ้า มีเจ้าวัด (ผู้นำแห่งจิตวิญญาณ) และมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าอยู่มาก ถึงแม้จะมีประชากรเพียง 28 ครัวเรือนเท่านั้น
ช่วงเวลาที่สำคัญ ปราชญ์ชาวบ้านทุกคนได้ทำคุณประโยชน์ให้กับชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านไซเบอร์ตลอดมารุ่นสู่รุ่น กว่า 150 ปี บนเส้นทางของปราชญ์ชาวบ้าน จวบจนถึงปัจจุบัน
คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน ปราชญ์ชาวบ้านทุกคนเป็นผู้ทำคุณประโยชน์ต่อชุมชนอย่างอเนกอนันต์ เป็นที่พึ่งทางกายด้วยการเป็นหมอสมุนไพร ได้ช่วยชาวบ้านยามทุกข์ร้อนเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นที่พึ่งทางใจด้วยการเป็นเจ้าวัดหรือผู้นำแห่งจิตวิญญาณ รวมถึงผู้อาวุโสในชุมชนที่ช่วยทำให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข ที่สำคัญไปกว่านั้น ได้อนุรักษ์วิถีศิลปินพื้นบ้านกะเหรี่ยงโปว์ ได้อนุรักษ์ สืบสาน และสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีของชาวกะเหรี่ยงโปว์ที่ดีงามมาจนถึงทุกวันนี้
สถานการณ์ปัจจุบัน ในปัจจุบันนี้ปราชญ์ชาวบ้านหลายคนอายุมากแล้ว แต่ยังคงแข็งแรงและเดินได้คล่องแคล่ว พูดจาเสียงดังฟังชัด และได้ช่วยเหลือชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง ตามความรู้ความสามารถและทักษะวิชาชีพที่ตนมีอยู่ ส่วนศิลปินพื้นบ้านและบทเพลงพื้นบ้านนั้น ไม่ค่อยมีเวทีให้ทำการแสดง จึงไม่ได้ถ่ายทอดให้ลูกหลานได้เรียนรู้ ผู้นำชุมชนควรเร่งดำเนินการจัดให้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ของปราชญ์ชาวบ้านรุ่นอาวุโสไปสู่ลูกหลานเยาวชนรุ่นใหม่โดยเร็ว ก่อนที่องค์ความรู้เหล่านี้จะสูญหายไปตลอดกาล
การสืบทอดและความยั่งยืน ไม่ค่อยได้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ของปราชญ์ชาวบ้านสู่เยาวชนไม่ว่าจะเป็นเรื่องสมุนไพร ประเพณีวัฒนธรรม วิถีการทำไร่หมุนเวียน เครื่องจักสาน รวมถึงไม่ได้ถ่ายทอดความรู้เรื่องศิลปะการแสดงพื้นบ้าน บทเพลงพื้นบ้าน และนิทานพื้นบ้านให้แก่ลูกหลาน หากไม่เร่งดำเนินการถ่ายทอดให้ลูกหลาน เกรงว่าอาจสูญหายไปในอนาคตอันใกล้นี้
3. ทุนทางวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น
3.1 การทอผ้ากะเหรี่ยงและเครื่องแต่งกายกะเหรี่ยง ประวัติความเป็นมา ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านไซเบอร์ทุกวันนี้ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้แต่งกายด้วยชุดกะเหรี่ยงโปว์อยู่เป็นประจำในการดำรงวิถีชีวิตในปัจจุบัน แต่ทุกคนมีชุดกะเหรี่ยงของตนติดบ้านไว้ หากแม้นเมื่อไหร่ที่ผู้นำชุมชนต้องการให้สวมใส่ชุดกะเหรี่ยงทุกคนพร้อมที่จะหยิบขึ้นมาสวมใส่ได้ทันที เพื่อแสดงอัตลักษณ์ความเป็นกะเหรี่ยงโปว์
ช่วงเวลาที่สำคัญ การแต่งกายด้วยผ้าทอกะเหรี่ยงโปว์ จะแต่งในหลายวาระ เช่น เทศกาล ขึ้นปีใหม่ชาวกะเหรี่ยงโปว์ งานไหว้เจดีย์ของชุมชนกะเหรี่ยงโปว์ งานสงกรานต์และประเพณีรดน้ำขอพร ผู้อาวุโสชาวกะเหรี่ยง พิธีกรรมการกินข้าวใหม่ งานแต่งงาน งานต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองที่มาเยือนชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านไซเบอร์ เป็นต้น
คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน เครื่องแต่งกายและการแต่งกายของชาวกะเหรี่ยงโปว์เป็นเครื่องแบบที่แสดงถึงอัตลักษณ์ความเป็นกะเหรี่ยงโปว์ ที่บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์และมอบไว้ให้ลูกหลานได้ สืบทอดต่อ ๆ กันไป ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะไม่ค่อยได้สวมใส่ในชีวิตประจำวัน แต่ชาวกะเหรี่ยงโปว์ทุกคนมีความรักและมีความผูกพันกับเครื่องแต่งกายกะเหรี่ยงโปว์ และมีความภาคภูมิใจในชาติพันธุ์ของตนทุกครั้งที่ได้สวมใส่
การสืบทอดและความยั่งยืน ชาวกะเหรี่ยงโปว์กลุ่มบ้านไซเบอร์ทุกคนรักและหวงแหนในประเพณีวัฒนธรรม อัตลักษณ์ชาติพันธุ์ ศิลปวัฒนธรรมของตนเอง
3.2 อาหารกะเหรี่ยง มีประวัติความเป็นมา คือ ชาวกะเหรี่ยงโปว์ไม่ว่าจะย้ายถิ่นฐานไปอยู่แห่งหนตำบลใดก็ตาม มักจะนำวัฒนธรรมเรื่องอาหารการกินซึ่งเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมติดตัวไปด้วย และชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านไซเบอร์แห่งนี้ก็เช่นเดียวกัน ได้ร่วมอนุรักษ์ สืบสาน และสืบทอดเรื่องอาหาร การกินของชาวกะเหรี่ยงโปว์ที่ได้รับมรดกภูมิปัญญามาจากบรรพบุรุษ ถ่ายทอดสู่คนรุ่นใหม่รุ่นสู่รู่นอย่างต่อเนื่อง และทุกวันนี้ทุกครัวเรือนยังคงทำอาหารกะเหรี่ยงเป็นทุกครัวเรือน
ช่วงเวลาที่สำคัญ การทำอาหารกะเหรี่ยงนั้นทำได้ง่าย ทำได้ทุกวัน สามารถทำได้ในทุกฤดูกาล และเป็นรายการอาหารที่สามารถหาวัตถุดิบและเครื่องปรุงได้ง่ายในท้องถิ่น มีขั้นตอนและวิธีการปรุงที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน และส่วนใหญ่มีรสชาติเผ็ดร้อนคล้ายอาหารของคนไทยพื้นเมืองทั่วไป
คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน อาหารพื้นบ้านกะเหรี่ยงโปว์บ้านไซเบอร์มีคุณค่าทางโภชนาการครบ 5 หมู่ และมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของชาวกะเหรี่ยงโปว์ มีการสืบทอดจากอดีตถึงปัจจุบัน และมีการถ่ายทอดสู่ลูกหลานในอนาคตอย่างยั่งยืน
สถานการณ์ปัจจุบัน ได้รับอิทธิพลเรื่องอาหารการกินจากโลกภายนอกอย่างมากมาย แถมสื่อดิจิตอลและสื่อออนไลน์ยังโหมกระหน่ำใส่ลูกหลานชาวกะเหรี่ยงอย่างหนักหน่วง ทำให้ชาวกะเหรี่ยงวัยกลางคนและเยาวชนคนรุ่นใหม่สามารถทำอาหารไทยและอาหารสากลได้หลายอย่าง แต่เชื่อได้ว่าชาวกะเหรี่ยงจะยังคงอนุรักษ์วัฒนธรรมด้านอาหารการกินที่บรรพบุรุษได้สรรสร้างเอาไว้ ได้อย่างมั่นคงยั่งยืนสืบไป
การสืบทอดและความยั่งยืน ปัจจุบันนี้ชาวกะเหรี่ยงโปว์รุ่นพ่อรุ่นแม่หรือรุ่นปู่รุ่นย่ายังคงสอนลูกหลานให้ดำรงวิถีชีวิตแบบกะเหรี่ยงโปว์ให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่อยู่เสมอ ทำให้มั่นใจได้ว่ามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมด้านอาหารของกะเหรี่ยงโปว์บ้านไซเบอร์ จะดำรงคงอยู่อย่างมั่นคงและยั่งยืนสืบไป
3.3 ขนบธรรมเนียมประเพณีกะเหรี่ยงโปว์ ประวัติและความเป็นมา ชุมชนบ้านไซเบอร์แห่งนี้เป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมกะเหรี่ยงโปว์ที่สำคัญแห่งหนึ่ง เพราะในชุมชนแห่งนี้มีเจ้าวัดหรือผู้นำแห่งจิตวิญญาณ จำนวน 1 คน คือ นายทองอินทร์ บูโกรก เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ตามความเชื่อและความศรัทธาแห่งวิถีกะเหรี่ยงโปว์ดั้งเดิม ทำให้ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านไซเบอร์ยังคงรักษาประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงามตามวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์เอาไว้ได้
ช่วงเวลาที่สำคัญ ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านไซเบอร์มีการดำรงชีวิตด้วยวิถีวัฒนธรรมแบบกะเหรี่ยงโปว์ตามแบบอย่างบรรพบุรุษได้สมบูรณ์มาก โดยมีวัฒนธรรมภายนอกเข้ามาแทรกแซงวิถีชีวิตได้เพียงเล็กน้อย
คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านไซเบอร์ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงามของชาวกะเหรี่ยงโปว์เอาไว้ได้อย่างมั่นคง
สถานการณ์ปัจจุบัน ในปีหนึ่ง ๆ ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านไซเบอร์จะมีการรวมตัวกันเพื่อจัดงานประเพณีวัฒนธรรมหลายครั้งตามปฏิทินประเพณีและพิธีกรรมที่ชุมชนได้ตกลงร่วมกัน ดังนั้น ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านไซเบอร์จึงร่วมกันแสดงอัตลักษณ์วัฒนธรรมกันอย่างเต็มที่ เพื่อแสดงถึงพลังของมวลชนชาวกะเหรี่ยงโปว์ในด้านของความเชื่อและความศรัทธาในวิถีวัฒนธรรมของตนเอง
การสืบทอดและความยั่งยืน ชาวกะเหรี่ยงโปว์กลุ่มบ้านไซเบอร์ได้ร่วมกันอนุรักษ์สืบสานรากฐานวัฒนธรรมของชนเผ่ากะเหรี่ยงเอาไว้ได้ระดับดีมาก รวมถึงได้ร่วมกันรักษาอุดมการณ์ของชาวกะเหรี่ยงเรื่อง คนกับป่าเอาไว้ได้
4. ทุนทางเศรษฐกิจ
พืชเศรษฐกิจ ประวัติความเป็นมา คือ ในอดีตบรรพบุรุษในชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านไซเบอร์แห่งนี้นิยมปลูกข้าวไร่เป็นหลัก ที่สำคัญเป็นการปลูกข้าวไร่ตามวิถีชนเผ่ากะเหรี่ยง หรือที่เรียกว่าการทำไร่หมุนเวียน ทั้งนี้ การทำไร่หมุนเวียนจะปลูกพืชผักสวนครัวไว้ในไร่หมุนเวียน โดยไม่ต้องซื้อหาแต่อย่างใด ในอดีตจะมีการจำหน่ายพริกกะเหรี่ยง ฟักทอง และของป่าเพียงเล็กน้อย เพื่อนำเงินมาซื้อเกลือไว้บริโภคในครัวเรือน เพราะในยุคนั้นถือว่าเกลือ มีความสำคัญมาก
ช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลง จากยุคการทำไร่หมุนเวียนไปสู่การปลูกพืชเชิงเดี่ยวหรือ พืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ยุคที่ที่ดินทำกินของชุมชนถูกประกาศเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ชาวบ้านได้รับการจัดสรรที่ดินจำนวนจำกัด ไม่เพียงพอกับการทำไร่หมุนเวียน ชาวบ้านจึงเปลี่ยนวิถีเกษตรมาเป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวหรือพืชเศรษฐกิจตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน ไม่ว่าจะเป็นอดีตที่ผู้คนปลูกพืชเพื่อการดำรงชีพ กับปัจจุบันที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อจำหน่ายและนำเงินมาดำรงชีพ ทั้งสองแนวทางล้วนมีคุณค่าและมีความหมาย ต่อชีวิตของชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านไซเบอร์ทั้งสิ้น
สถานการณ์ปัจจุบัน ชาวบ้านนิยมปลูกพืชเศรษฐกิจจำพวก ข้าวโพด มันสำปะหลัง ปาล์ม อ้อย สับปะรด เป็นต้น ซึ่งเป็นพืชล้มลุกที่โตเร็ว ทนแล้ง และสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้เป็นอย่างดี
การสืบทอดและความยั่งยืน การปลูกพืชเชิงเดี่ยวหรือพืชเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะเติบโตอย่างรวดเร็ว และจะคงดำรงอยู่เช่นนี้ต่อไปในอนาคตอีกหลายทศวรรษ
5. ทุนทางสังคม/การเมือง
การมีส่วนร่วมทางการเมือง ประวัติความเป็นมา คือ จากอดีตถึงปัจจุบันชุมชนกะเหรี่ยงโปว์ บ้านไซเบอร์ให้ความสำคัญกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมาก ดังจะเห็นได้ว่า ชาวบ้านได้มีการ ตั้งผู้ปกครองชุมชนอย่างไม่เป็นทางการขึ้นมาดูแลความสงบสุขของชุมชน เมื่อครั้งที่ยังไม่มีผู้ใหญ่บ้านที่ภาครัฐแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ จนกระทั่งในระยะต่อมาภาครัฐได้มีการแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ขึ้นมาดูแลความสงบเรียบร้อยภายในชุมชน ชาวบ้านยังคงไปใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้งตามสิทธิ์ และปฏิบัติตามธรรมนูญของชุมชนอย่างเข้มแข็ง แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นและเคารพในระบอบประชาธิปไตย
ช่วงเวลาที่สำคัญ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 ที่ชุมชนแห่งนี้มีผู้ใหญ่บ้านที่เป็นทางการที่ภาครัฐได้แต่งตั้งให้ดูแลชุมชน ชาวบ้านให้ความเคารพและยอมรับในตัวผู้นำทุกรุ่นทุกยุคทุกสมัย ประชาชนมาลงคะแนนเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านอย่างเนืองแน่น ไม่เคยมีปัญหาความขัดแย้งในการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน
คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน ชุมชนแห่งนี้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ผ่านเหตุการณ์ร้ายและดีมาอย่างยาวนานกว่า 150 ปี ผ่านการปกครองโดยผู้นำชุมชนทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เข้าใจในวัฒนธรรมประชาธิปไตย มีส่วนร่วมและพร้อมให้ความร่วมมือในทุก ๆ ครั้ง
สถานการณ์ปัจจุบัน ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านไซเบอร์ เป็นชุมชนขนาดเล็ก ภาครัฐต้องนำจำนวนประชากรไปนับรวมกับกลุ่มอื่น ๆ อีกหลายกลุ่ม จึงกลายเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ในนามของหมู่ที่ 1 บ้านคลองแห้ง โดยผู้คนในชุมชนยินยอมให้กลุ่มอื่นเป็นผู้ใหญ่บ้านที่เป็นทางการ และชุมชนบ้านไซเบอร์ รับตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เพื่อดูแลความเรียบร้อยและความสงบสุขของคนในชุมชน
การสืบทอดและความยั่งยืน ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านไซเบอร์แห่งนี้มีการสืบทอดการเมืองและการปกครองด้วยความเรียบร้อยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่เคยมีความขัดแย้ง และไม่เคยเสียเลือดเนื้อกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และจะมีการดำรงรักษาไว้ซึ่งประชาธิปไตยเช่นนี้ตลอดไป
ภาษาพูดพื้นถิ่น ได้แก่ ภาษากะเหรี่ยงโปว์ เป็นภาษาที่ใช้ในการสื่อสารในครัวเรือนและใช้ในการพูด ในชุมชนบ้านไซเบอร์ และใช้ในการสื่อสารกับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ด้วยกันกับท้องถิ่นอื่น ๆ
ภาษาเขียน ได้แก่ ภาษาเขียนกะเหรี่ยงโปว์ เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ทั่วประเทศ และกะเหรี่ยงโปว์จากทั่วโลก ลักษณะของตัวอักษรมีรากฐานมาจากภาษาธิเบตและภาษาเมียนมาร์ และมีใช้ มายาวนานหลายศตวรรษแล้ว
สถานการณ์ปัจจุบัน ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านไซเบอร์มีผู้ที่สามารถใช้ภาษาเขียนกะเหรี่ยงโปว์ได้จำนวน น้อยมาก เนื่องจากเยาวชนกะเหรี่ยงโปว์และประชาชนชาวกะเหรี่ยงโปว์ส่วนใหญ่ใช้ภาษาไทยเป็นหลัก
สำหรับภาษาพูดกะเหรี่ยงโปว์ ยังคงมีประชากรชาวกะเหรี่ยงโปว์ร้อยละ 80 ที่สามารถพูดได้ เนื่องจากชาวกะเหรี่ยงโปว์ให้ความสำคัญกับภาษาพูด และพยายามสอนให้ลูกหลานพูดด้วย
วัตถุทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับภาษา ในชุมชนกะเหรี่ยงโปว์กลุ่มบ้านไซเบอร์ไม่มีใครเก็บรักษาหนังสือใบลานที่เป็นภาษากะเหรี่ยงโปว์ไว้ได้ มีแต่สมุดจดบันทึกเก่า ๆ ที่ปราชญ์ชาวบ้านใช้ในการบันทึกเหตุการณ์ เรื่องราวต่าง ๆ ในชุมชน เช่น นิทานพื้นบ้าน บทเพลงกล่อมลูก ประวัติศาสตร์ชุมชน องค์ความรู้วิถีการดำรงชีวิตแบบกะเหรี่ยงโปว์ เป็นต้น
ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านไซเบอร์มีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องจากอดีตถึงปัจจุบัน โดยในยุคแรกมีการปกครองโดยผู้นำชุมชนอย่างไม่เป็นทางการ เป็นผู้อาวุโสหรือปราชญ์ชาวบ้านที่เป็นที่ยอมรับในชุมชนเป็นผู้ปกครองดูแลทุกข์สุขและความสงบเรียบร้อยในชุมชน ต่อมามีการแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านจากภาครัฐมาดูแลราษฎร และภายหลังเปลี่ยนมาเป็นการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล มาช่วยผู้ใหญ่บ้านในการดูแลพัฒนาชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านได้ให้ความร่วมมือกับผู้นำชุมชนและภาครัฐเป็นอย่างดี
การมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและนอกชุมชน เพื่อรับมือกับสถานการณ์หรือแก้ปัญหาต่าง ๆ
ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านไซเบอร์เป็นชุมชนที่ผู้คนในชุมชนมีความรักความสามัคคี ความผูกพัน ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และความร่วมมือร่วมใจเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันตลอดมา ดังนั้น ทุกครั้งที่เกิดสถานการณ์วิกฤติขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเหตุบ้านการเมือง ภัยธรรมชาติ ภัยคุกคาม การต่อรองราคาพืชผลทางการเกษตร เป็นต้น คนในชุมชนจะมีความร่วมมือร่วมใจกัน ช่วยกันแก้วิกฤติต่าง ๆ ให้ผ่านพ้นไป เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน
แนวทางแก้ไขปัญหาและรับมือกับความท้าทาย
ผู้นำชุมชนที่ภาครัฐแต่งตั้ง เช่น ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลทองหลาง และผู้นำที่เป็นผู้อาวุโสที่ชาวบ้านเคารพนับถือ ผู้นำแห่งจิตวิญญาณและความเชื่อ และกลุ่มผู้นำชุมชนที่เป็นหัวใจสำคัญในแต่ละด้าน เช่น คณะกรรมการหมู่บ้าน อสม. ผู้นำกองทุนหมู่บ้าน ฯลฯ จะเป็นแกนนำในการเชิญสมาชิกลูกบ้านประชุม เพื่อร่วมกันระดมความคิดเห็น กำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาและรับมือกับความท้าทายจากวิกฤติการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
การรวมกลุ่มและการสร้างเครือข่าย
ในชุมชนมีเครือข่ายที่เป็นทางการเล็กน้อย เช่น เครือข่ายกองทุนหมู่บ้าน เครือข่ายเงินกู้ ธกส. เครือข่ายฌาปนกิจสงเคราะห์ เป็นต้น ส่วนมากจะเป็นเครือข่ายที่ไม่เป็นทางการ เช่น การรวมตัวกันทอผ้ากะเหรี่ยงเป็นกลุ่มย่อย ๆ กลุ่มละ 4 – 5 ครัวเรือน เครือข่ายพิธีกรรมจะมีการรวมกลุ่มทำพิธีกรรมเป็นกลุ่มย่อย ๆ เฉพาะเครือญาติสนิท เครือข่ายหาของป่าจะมีการรวมตัว 4 – 5 คน ต่อหนึ่งกลุ่ม หาของป่ามาบริโภคหรือจำหน่าย เครือข่ายพิธีกรรมงานอวมงคลช่วยเหลือกันในยามที่บ้านใดบ้านหนึ่งมีการสูญเสียชีวิต
บทบาทของหน่วยงาน/องค์กรภายนอกที่เข้ามามีส่วนร่วม
จากอดีตถึงปัจจุบันมีหน่วยงานภายนอกที่เป็นภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนกะเหรี่ยงบ้านไซเบอร์หลายหน่วยงาน เช่น อำเภอห้วยคต องค์การบริหารส่วนตำบลทองหลาง ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดอุทัยธานี สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุทัยธานี สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอุทัยธานี สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุทัยธานี เกษตรอำเภอห้วยคต เป็นต้น สำหรับบุคคลหรือองค์กรเอกชนที่เข้ามามีส่วนร่วม เช่น สถาบันธรรมชาติพัฒนา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ที่เข้ามามีส่วนร่วมในพัฒนาชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านไซเบอร์ เป็นต้น
มีการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากอดีตถึงปัจจุบัน จากอดีตเป็นการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์เพื่อการดำรงชีพ มีการค้าขายพริก ฟักทองหรือของป่าเพียงเล็กน้อย เพื่อหาเงินไว้ซื้อเกลือไว้บริโภคในครัวเรือน ต่อมาชาวบ้านถูกจำกัดที่ดินทำกิน เนื่องจากการประกาศพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ทับซ้อนที่ดินทำกินของชาวบ้าน ชาวบ้านจึงต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด ด้วยการบริหารจัดการพื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยการหันมาปลูกพืชเชิงเดี่ยวหรือพืชเศรษฐกิจ เพื่อหาเงินมาใช้ในการดำรงชีพ
ประชากรกะเหรี่ยงโปว์ในชุมชนกลุ่มบ้านไซเบอร์มีการเปลี่ยนแปลงในหลายช่วงเวลา กล่าวคือ ในระยะแรกที่มีชาวกะเหรี่ยงโปว์เข้ามาบุกเบิกพื้นที่ทำกินในบริเวณบ้านไซเบอร์แห่งนี้ มีเพียงไม่กี่ครัวเรือน ได้บอกต่อไปยังญาติ ๆ ที่อยู่ในชุมชนอื่น ๆ ทำให้มีผู้คนจากทั่วทุกสารทิศหลั่งไหลเข้ามาอยู่ที่ชุมชนบ้านไซเบอร์เป็นจำนวนมาก ราว ๆ 100 ครัวเรือน ในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีหลังจากนั้นชุมชนแห่งนี้ประสบอุทกภัย มีผู้คนเสียชีวิตจากเหตุวิกฤติอุทกภัยไปกว่า 20 คน และประสบปัญหาภัยแล้งในปีที่ฝนไม่ ตกต้องตามฤดูกาล เคราะห์ซ้ำไปกว่านั้นภาครัฐได้ประกาศพื้นที่นี้เป็นป่าสงวนแห่งชาติทับที่ทำกินของชาวบ้าน ส่งผลให้ชาวบ้านทยอยย้ายออกไปจากชุมชนแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันนี้ประชากรเหลือเพียง 28 ครัวเรือน
ชาวกะเหรี่ยงโปว์กลุ่มบ้านไซเบอร์ย้ายมาจากหลาย ๆ ชุมชน ทั้งในจังหวัดอุทัยธานีและต่างจังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่มีสิทธิในสัญชาติอยู่แล้วก่อนย้ายมาอยู่ที่ไซเบอร์ ผู้คนในชุมชนจึงไม่มีปัญหาเรื่องสิทธิในสัญชาติ ดังนั้น ทุกคนจึงมีสัญชาติไทยและเชื้อชาติไทย มีบัตรประชาชน มีสิทธิพลเมืองไทยครบถ้วนทุกประการ ได้รับสวัสดิการแห่งรัฐเทียบเท่าประชาชนคนไทยทุกคนในประเทศ ได้รับการศึกษาตามสิทธิขั้นพื้นฐาน ได้รับบริการทางสาธารณสุขเท่าที่คนไทยคนหนึ่งพึงได้รับ ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี
ในอดีตที่ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์ไซเบอร์แห่งนี้ยังมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ไม่มีระบบสาธารณูปโภคที่รัฐจัด ชุมชนก็อาศัยภูมิปัญญาชาวบ้านในการดำรงชีวิต ต่อมาเมื่อชุมชนบ้านไซเบอร์ มีประชากรมากขึ้น รัฐจึงเข้ามาช่วยเหลือด้วยการทำประปาหมู่บ้าน เดินไฟฟ้าเข้าหมู่บ้าน ทำถนนคอนกรีตเข้าหมู่บ้าน มีเสาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่เข้ามาใกล้ชุมชน
ในอดีตระบบสาธารณสุขเข้าไม่ถึงชุมชน จึงทำให้คนในชุมชนต้องเสียชีวิตด้วยโรคไข้เลือดออก ไข้มาลาเรีย วัณโรค ท้องร่วง ฯลฯ แต่ปัจจุบันชาวบ้านไซเบอร์ได้รับสวัสดิการจากภาครัฐด้านสาธารณสุขเท่าเทียมกับประชาชนคนไทยทุกคน และมีห้องน้ำห้องส้วมที่ถูกสุขอนามัย
ในอดีตเยาวชนกะเหรี่ยงโปว์กลุ่มบ้านไซเบอร์ได้รับการศึกษาแบบการศึกษาผู้ใหญ่เนื่องจาก ไม่มีโรงเรียนในชุมชน ต่อมาเริ่มมีโรงเรียนแต่อยู่ห่างไกล มีเพียงเยาวชนบางคนที่ได้รับการศึกษาแต่ปัจจุบันนี้เด็กและเยาวชนทุกคนได้รับการศึกษาภาคบังคับ เพราะมีโรงเรียนหลายแห่งที่อยู่ใกล้ ๆ กับชุมชน เด็กและเยาวชนที่มีโอกาสได้เข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เรียนจบร้อยละ 80 และเยาวชนที่มีโอกาสเรียนระดับปริญญาตรีเรียนจบร้อยละ 10
ชาวกะเหรี่ยงโปว์กลุ่มบ้านไซเบอร์ล้วนยึดมั่นรักษาอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ให้คงอยู่ ด้วยการร่วมกันอนุรักษ์สืบสานสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน แต่ต้องยอมรับว่าไม่สามารถ ทัดทานวัฒนธรรมจากภายนอกซึ่งมีความทันสมัยและเจริญก้าวหน้าแบบก้าวกระโดด ที่เข้ามาแทรกซึมวิถีวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงโปว์ในทุกมิติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้วัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงโปว์ค่อย ๆ เลือนหายไปทีละน้อย ปัจจุบันนี้ อัตลักษณ์วัฒนธรรมกะเหรี่ยงโปว์ของชุมชนนี้ จะรับรู้กันในกลุ่มคนวัยกลางคนและผู้สูงอายุเท่านั้น เด็กและเยาวชนแทบจะไม่รู้ความเป็นมา ในอนาคตอันใกล้นี้มีแนวโน้มความเป็นไปได้สูงที่วัฒนธรรมกะเหรี่ยงโปว์บ้านไซเบอร์อาจสูญหาย จึงเป็นความท้าทายของภาครัฐ ผู้นำชุมชนและผู้สูงอายุในชุมชน ว่าจะอนุรักษ์ สืบสาน อัตลักษณ์วัฒนธรรมที่ดีงามที่บรรพบุรุษได้สรรสร้างเอาไว้ให้คงอยู่ต่อไปอย่างไร
ตามคำพูดที่กล่าวว่า “ที่ไหนมีกะเหรี่ยง ที่นั่นมีป่า” และ “ที่ไหนมีป่า ที่นั่นมีกะเหรี่ยง” ในอดีตนั้นอาจจะใช่ แต่ปัจจุบันนี้ไม่ถูกต้องเสมอไป ดังเช่น ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านไซเบอร์แห่งนี้ ในยุคบุกเบิกยอมรับว่าที่ดินผืนนี้มีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์มากจริง ๆ ต่อมาเมื่อมีประชากรย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่จำนวนมาก ทำให้ผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ถูกแปรสภาพเป็นที่อยู่อาศัย ไร่หมุนเวียน สวน และไร่เกษตรเชิงเดี่ยว และจากฝีมือของนายทุนที่มาทำไร่ทำสวนในบริเวณนี้ จากระยะเวลาที่ล่วงเลยมาเกือบ 2 ศตวรรษ ผืนป่าตามธรรมชาติและผืนป่าชุมชนเหลือเพียงร้อยละ 10 ของพื้นที่ทั้งหมด รัฐจึงได้มีการประกาศพื้นที่เป็นป่าสงวนแห่งชาติห้วยป่าทับเสลาและห้วยป่าคอกควาย
ป่าสงวนแห่งชาติห้วยป่าทับเสลาและห้วยป่าคอกควาย
หลังจากน้ำตกไซเบอร์ถูกสั่งปิดมาหลายปีแล้ว ส่งผลให้จังหวัดสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยว และทำให้ชุมชนกะเหรี่ยงไซเบอร์สูญเสียโอกาสในการสร้างรายได้ไปด้วย เพราะถ้าหากน้ำตกไซเบอร์เปิดคนในชุมชนกะเหรี่ยงไซเบอร์ก็สามารถไปขายของในบริเวณน้ำตกไซเบอร์ได้ เป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวเองก็อาจจะแวะมาท่องเที่ยวในชุมชนกะเหรี่ยงไซเบอร์ด้วย อาจจะมีการกระจายรายได้สู่ชุมชนได้อีกทางหนึ่งได้เช่นกัน ดังนั้น จึงเห็นว่าหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องควรเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นภายในบริเวณน้ำตกไซเบอร์ และเปิดการท่องเที่ยวน้ำตกไซเบอร์ตามปกติ เพื่อเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดอุทัยธานี เสริมเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง