Advance search

บ้านริมออนใต้เป็นที่ราบลุ่มและที่ราบเชิงเขา มีน้ำแม่ออนไหลผ่าน ซึ่งเป็นสายหลักสำคัญของตำบล สภาพภูมิอากาศเย็นสบายในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนมกราคม

หมู่ที่ 5
บ้านริมออนใต้
ออนใต้
สันกำแพง
เชียงใหม่
เทศบาลออนใต้ โทร. 0-5303-6043
รัตนากร ไทยภูเขา
10 ต.ค. 2021
พิมพ์ใจ อุ่นบ้าน
3 พ.ค. 2023
พิมพ์ใจ อุ่นบ้าน
22 เม.ย. 2023
บ้านริมออนใต้

บ้านริมออนใต้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2430 เป็นเวลา 134 ปี ประชาชนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นชนพื้นเมืองที่อพยพมาจากจังหวัดลำปาง นำโดยนางแก๋ม (ไม่ทราบนามสกุล) ได้มาตั้งบ้านเรือนครั้งแรกมีอยู่ 3 ครัวเรือน ได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านร้องผักหนาม” เนื่องจากในพื้นที่มีลักษณะเป็นร่องน้ำที่มีผักหนามขึ้นอยู่จำนวนมาก ภายหลังมีครัวเรือนเพิ่มขึ้นอีก 10 ครัวเรือนรวมเป็น 13 ครัวเรือน หลังจากนั้นมีประชาชนในบ้านร้องผักหนามนำโดยนายซาว (ไม่ทราบนามสกุล) นายปวง จินาคำและนายตั๋น สิงห์อูปได้พากันอพยพจากบ้านร้องผักหนามมาอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่ออนทางทิศใต้ของบ้านร้องผักหนามจำนวน 7 ครัวเรือน เนื่องจากทางคมนาคมเพื่อเข้าเมืองสันกำแพงไม่สะดวก และได้ตั้งชื่อหมู่บ้านใหม่ว่า “บ้านริมออนใต้” ชาวบ้านบ้านริมออนใต้ ใช้น้ำในการทำการเกษตร เช่น การทำนา เป็นต้น จากอ่างเก็บน้ำแม่ผาแหนและร่องน้ำบริเวณบ้านร้องผักหนาม ต่อมาร่องน้ำนี้มีขนาดใหญ่ขึ้นและมีความอุดมสมบูรณ์จึงเป็นแหล่งอาหารของชาวบ้าน 


ชุมชนชนบท

บ้านริมออนใต้เป็นที่ราบลุ่มและที่ราบเชิงเขา มีน้ำแม่ออนไหลผ่าน ซึ่งเป็นสายหลักสำคัญของตำบล สภาพภูมิอากาศเย็นสบายในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนมกราคม

บ้านริมออนใต้
หมู่ที่ 5
ออนใต้
สันกำแพง
เชียงใหม่
50130
18.73603
99.19981
เทศบาลตำบลออนใต้

ประวัติศาสตร์อำเภอสันกำแพง

ประวัติความเป็นมาของอำเภอสันกำแพงไม่มีความชัดเจนทางหลักฐานประวัติศาสตร์ แต่สันนิษฐานกันว่าชาวอำเภอสันกำแพงอพยพมาจากพันนาภูเลา แขวงเมืองเชียงแสน (ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดเชียงราย) มาตั้งอยู่ริมน้ำแม่ออน ปรากฏตามหลักฐานศิลาจารึกที่ค้นพบ ณ วัดเชียงแสน ตำบลออนใต้ เมื่อพระเจ้าศิริลัทธัมมังกร มหาจักรพรรดิราชาธิราช ได้เสวยราชเป็นกษัตริย์ครองนครเชียงใหม่ได้โปรดให้ราชมนตรี นายหนึ่งชื่อเจ้าอภิชวฌานบวรสิทธิ เป็นหมื่นดาบเรือนในปีวอกสัมฤทธิศก (เปลิกสัน) จุลศักราช 850 (พ.ศ.2031) เดือน 6 ขึ้น 8 ค่ำ วันพุธ หมื่นดาบเรือนได้มีจิตศรัทธาชักชวนบรรดาทายก ทายิกาทั้งหลายมาประชุมกันเพื่อสร้างวิหารพระเจดีย์และหอไตรปิฎก เมื่อสร้างเสร็จแล้วขนานนามวัดที่สร้างขึ้นว่า “สาลกิจญาณหันตาราม” วัดนี้ต่อมาชาวบ้านเรียกว่าวัดเชียงแสน

ประวัติศาสตร์บ้านริมออนใต้ (ให้ข้อมูลโดย นายเกรียงไกร ไชยสิทธิ์ (อดีตผู้ใหญ่บ้านริมออนใต้) วันที่ 27 กันยายน 2564)

บ้านริมออนใต้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2430 เป็นเวลา 134 ปี ประชาชนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นชนพื้นเมืองที่อพยพมาจากจังหวัดลำปาง นำโดยนางแก๋ม (ไม่ทราบนามสกุล) ได้มาตั้งบ้านเรือน ครั้งแรกมีอยู่ 3 ครัวเรือน ได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านร้องผักหนาม” เนื่องจากในพื้นที่มีลักษณะเป็นร่องน้ำที่มีผักหนามขึ้นอยู่จำนวนมาก ภายหลังมีครัวเรือนเพิ่มขึ้นอีก 10 ครัวเรือนรวมเป็น 13 ครัวเรือน หลังจากนั้นมีประชาชนในบ้านร้องผักหนามนำโดยนายซาว (ไม่ทราบนามสกุล) นายปวง จินาคำและนายตั๋น สิงห์อูปได้พากันอพยพจากบ้านร้องผักหนามมาอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่ออนทางทิศใต้ของบ้านร้องผักหนามจำนวน 7 ครัวเรือน เนื่องจากทางคมนาคมเพื่อเข้าเมืองสันกำแพงไม่สะดวก และได้ตั้งชื่อหมู่บ้านใหม่ว่า “บ้านริมออนใต้” ชาวบ้านบ้านริมออนใต้ ใช้น้ำในการทำการเกษตร เช่น การทำนา เป็นต้น จากอ่างเก็บน้ำแม่ผาแหนและร่องน้ำบริเวณบ้านร้องผักหนาม ต่อมาร่องน้ำนี้มีขนาดใหญ่ขึ้นและมีความอุดมสมบูรณ์จึงเป็นแหล่งอาหารของชาวบ้าน

ปี พ.ศ. 2457 ในสมัยรัชกาลที่ 6 มีการตราพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ โดยมีการบริหารงานของหมู่บ้าน มีองค์ประกอบที่สำคัญ ได้แก่ ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และคณะกรรมการหมู่บ้านชาวบ้านบ้านริมออนใต้แต่เดิมมีการอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มเดียว โดยมีผู้ใหญ่บ้านเป็นศูนย์รวมหมู่บ้าน ไม่มีแตกแยกหรือมีผู้นำกลุ่มเฉพาะกลุ่มจนถึงปัจจุบัน โดยผู้ใหญ่บ้านคนแรก คือ พ่อหลวงซาว ซึ่งเกิดจากการเสนอร่วมกันของชาวบ้านในชุมชน ต่อมาเกิดการเปลี่ยนแปลงในการเลือกผู้ใหญ่บ้านด้วยวิธีการลงสมัครและเลือกตั้งมาจนถึงปัจจุบันและผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน คือ นายอุเทน สิงห์อูป

ปี พ.ศ. 2470 ชาวบ้านบ้านริมออนใต้ร่วมกับชาวบ้าน และบ้านริมออน หมู่ 3 ในการสร้างวัดอรุณโชติการาม เดิมชื่อว่า วัดริมออน ซึ่งเรียกตามสายน้ำแม่ออน โดยมีพระอธิการแก้ว ขตติโย เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านและมักใช้ในการทำกิจกรรมสำคัญทางศาสนาจนปัจจุบันยังคงเป็นวัดที่สำคัญของชาวบ้านริมออนใต้ นอกจากนี้ชาวบ้านบ้านริมออนใต้มีความเชื่อเกี่ยวกับผีเสื้อบ้าน โดยเชื่อว่าเป็นผู้ปกปักรักษา คุ้มครองสมาชิกในหมู่บ้านให้อยู่เย็นเป็นสุข ในวันขึ้นปีใหม่ หรือวันปากปี๋ ซึ่งเป็นวันถัดจากวันมหาสงกรานต์ ชาวบ้านจะร่วมกันจัดแจงเครื่องบูชาผีเสื้อบ้าน อาทิ ขนม อาหาร และสะตวง ถือเป็นการรวมกลุ่มชาวบ้านทุกคนได้มาพบปะ แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์พัฒนาหมู่บ้านให้เจริญต่อไป

ปี พ.ศ. 2500 กระทรวงการคลังได้ริเริ่มนำยาสูบมาให้ชาวบ้านปลูก จึงเริ่มมีอาชีพปลูกยาสูบและโรงบ่มใบยาสูบ

ปี พ.ศ. 2502 มีการแบ่งหมู่บ้านตามเขตการปกครองของกระทรวงมหาดไทย ผู้นำหมู่บ้านในสมัยนั้นจับสลากเลขหมู่บ้านได้หมายเลข 5 จึงเป็นที่มาของบ้านริมออนใต้ หมู่ 5 ชาวบ้านริมออนใต้ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เช่น การลงแรงในการสร้างบ้านเรือน การทำนา โดยไม่รับค่าตอบแทน หลังจากนั้นชาวบ้านบ้านร้องผักหนามได้พากันอพยพตามมาอยู่รวมกันที่บ้านริมออนใต้ ทิ้งให้บ้านร้องผักหนามกลายเป็นหมู่บ้านร้างในเวลาต่อมา

ปี พ.ศ. 2515 ได้มีการสร้างสถานีอนามัยประจำตำบล แทนการรักษากับหมอชาวบ้าน (หมอตำแย) หากมีการป่วยหนักจะไปรักษาที่โรงพยาบาลอำเภอ และในปี พ.ศ. 2553 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล และเป็น รพ.สต. ติดดาวในปี พ.ศ. 2561

ปี พ.ศ. 2520 เริ่มมีการก่อสร้างสระน้ำบริเวณร่องน้ำร้องผักหนาม เพื่อใช้สำหรับการเกษตรและเป็นแหล่งอาหารของชาวบ้าน

ปี พ.ศ. 2523-2524 เริ่มมีไฟฟ้าแทนการใช้เทียน ตะเกียง และหม้อแปลงไฟที่บรรจุกระแสไฟฟ้าจากร้านในอำเภอสันกำแพง

ปี พ.ศ. 2536 ผู้ใหญ่บ้านชื่อพ่อหลวงศรีวรรณ คำปอก ได้บริจาคที่นาของตนเองให้กับสาธารณะเพื่อใช้เป็นถนนเชื่อมไปหาถนนสายหลักและได้เชิญชวนเจ้าของที่นาบริเวณใกล้เคียงบริจาคที่นาเพิ่ม ซึ่งมีผู้บริจาคจำนวนมากที่ได้นำที่ดินสร้างถนนจากหมู่บ้านเชื่อมต่อไปหาถนนสายหลัก โดยใช้แรงงานของชาวบ้านบ้านริมออนใต้ ถนนเส้นนี้จึงเปิดให้ใช้ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบันและเป็นประโยชน์ต่อหมู่บ้านข้างเคียงในการใช้ถนนเส้นนี้

ปี พ.ศ. 2540 ชาวบ้านได้เริ่มทำฟาร์มปศุสัตว์ เช่น ฟาร์มวัวนม ฟาร์มไก่ ฟาร์มหมู และยังคงมีการประกอบอาชีพดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน

ปี พ.ศ. 2551 ชาวบ้านร่วมทำแผนแม่บทของชุมชน นำโดยนายเกรียงไกร ไชยสิทธิ์ ผู้ใหญ่บ้านในสมัยนั้น และตั้งวิสัยทัศน์ของชุมชนบ้านริมออนใต้ เพื่อให้คนในชุมชนร่วมกันพัฒนาชุมชนให้เป็นในทิศทางเดียวกันได้

บ้านริมออนใต้ ตั้งอยู่ในตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ห่างจากเทศบาลตำบลออนใต้ประมาณ 1 กิโลเมตร อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ประมาณ 5 กิโลเมตร พื้นที่ทั้งหมดของหมู่บ้านประมาณ 40 ไร่ พื้นที่ทางการเกษตร 400 ไร่

อาณาเขต

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับบ้านใหม่ หมู่ 10 ตำบลร้องวัวแดง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
  • ทิศใต้ ติดต่อกับบ้านแม่ผาแหน หมู่ที่ 6 ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับบ้านริมออนเหนือ หมู่ที่ 3 ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับบ้านป่าแงะ หมู่ 4 ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่

ลักษณะภูมิประเทศ เป็นที่ราบลุ่ม และที่ราบเชิงเขา อยู่ในชั้นความสูงประมาณ 340 เมตร ลาดเอียงมาทางทิศตะวันตก มีน้ำแม่ออนไหลผ่าน ซึ่งเป็นสายหลักสำคัญของตำบล เส้นทางคมนาคม มีถนนแยกจากทางหลวงเข้าสู่ตำบล ประชาชนอาศัยกระจายตามเส้นทางคมนาคมภายในตำบล สภาพภูมิอากาศเย็นสบายในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนมกราคม มีอากาศร้อนช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคมและจะมีฝนในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน

แผนที่เดินดิน บ้านริมออนใต้ หมู่ที่ 5 ตำบลออนเหนือ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่

บ้านริมออนใต้ตั้งอยู่บนถนนเส้นหมายเลข 1317 การเดินทางมายังบ้านริมออนใต้ เริ่มเดินทางจากเชียงใหม่ ขับรถตามเส้นทางหลวงหมายเลข 11 เลี้ยวซ้ายที่แยกดอนจั่น ขับรถตามถนนเส้นหมายเลข 1317 ถนนเชียงใหม่-อำเภอแม่ออน ขับตรงไปอีกประมาณ 12  กิโลเมตร จะพบกับป้ายโรงพยาบาลสันกำแพงอยู่ทางด้านซ้ายมือ เดินทางตรงไปอีกประมาณ 8 กิโลเมตร จะพบกับ Dutch Farm อยู่ทางด้านขวามือ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของหมู่บ้าน เมื่อเดินทางไปอีกประมาณ 500 เมตร จะพบกับซอยเข้าหมู่บ้านริมออนใต้บริเวณขวามือ ขับต่อไปอีก 300 เมตร จะพบกับอาคารอเนกประสงค์ชุมชนบ้านริมออนใต้

กลุ่มนักศึกษาได้ลงพื้นที่ในการสำรวจข้อมูลหมู่บ้านในช่วงระหว่างวันที่ 14-17 กันยายน 2564 จำนวน 69 หลังคาเรือน โดยพบว่าลักษณะภูมิประเทศ ทิศเหนือจะติดต่อกับบ้านใหม่ หมู่ 10 ตำบลร้องวัวแดง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ มีสะพานข้ามแม่น้ำแม่ออนที่ตัดผ่านหมู่บ้าน ตามแนวถนนทั้งสองข้างมีการทำการเกษตรจนสิ้นสุดเขตพื้นที่ ทิศใต้ติดต่อกับบ้านแม่ผาแหนหมู่ที่ 6 ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ทิศตะวันออกติดต่อกับบ้านริมออนเหนือ หมู่ที่ 3 ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ มีสะพานข้ามคลองชลประทานตามแนวถนนทั้งสองข้างมีการทำการเกษตร สลับกับมีบ้านเรือนของชาวบ้านอยู่ห่างกันเป็นระยะ บ้านริมออนใต้อยู่ห่างจากเทศบาลออนใต้ประมาณ 1 กิโลเมตร อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ประมาณ 5 กิโลเมตร พื้นที่ทั้งหมดของหมู่บ้านประมาณ 40 ไร่ พื้นที่ทางการเกษตร 400 ไร่

  • พื้นที่ซอยที่ 1 อยู่ห่างจากถนนเส้นหลัก 300 เมตร อยู่ทางด้านซ้ายมือ ภายในซอยเป็นถนนคอนกรีต มีบ้านทั้ง 2 ข้างทาง มีระยะทางประมาณ 100 เมตร ภายในซอย 1 มีบ้านที่มีผู้พักอาศัยอยู่ประมาณ 8 หลังคาเรือน เมื่อเข้าไปจนสุดซอยจะพบว่าเป็นซอยตัน เมื่อมองผ่านไปจะพบทุ่งข้าว ภายในซอยนี้ตระกูลเตชะฟองที่เป็นตระกูลใหญ่และมีเครือญาติที่มากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของชุมชนบ้านริมออนใต้
  • พื้นที่ซอยที่ 2 อยู่ห่างจากถนนเส้นหลัก 600 เมตร อยู่ทางด้านซ้ายมือ ภายในซอยเป็นถนนคอนกรีต มีบ้านทั้ง 2 ข้างทาง มีระยะทางประมาณ 150 เมตร ภายในซอย 1 มีบ้านที่มีผู้พักอาศัยอยู่ประมาณ 15 หลังคาเรือน มีบ้านของผู้ใหญ่บ้านอยู่สุดซอยและมีแทงค์น้ำ ซึ่งภายในซอยนี้ตระกูลอินตายวงที่เป็นตระกูลใหญ่และมีเครือญาติที่มากที่สุดของชุมชนบ้านริมออนใต้
  • พื้นที่ซอยที่ 3 อยู่ถัดจากซอย 2 ประมาณ 100 เมตร อยู่ทางด้านซ้ายมือ ภายในเป็นถนนคอนกรีต ภายในซอยมีบ้านทั้ง 2 ข้างทาง มีบ้านเรียงรายอยู่ประมาณ 19 หลังคาเรือน สุดซอยมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญคือ สวนหม่อนศิริ มัลเบอร์รี่ ผู้คนภายในซอยชอบในการปลูกพืชผักสวนครัวรับประทานกันเองภายในครอบครัว

บ้านริมออนใต้มีจำนวนหลังคาเรือน 69 หลังคาเรือน มีประชากรทั้งหมด 202 คน แยกเป็นเพศชาย จำนวน 101 คน คิดเป็นร้อยละ 50 เพศหญิง จำนวน 101 คน คิดเป็นร้อยละ 50 อัตราส่วนชายต่อหญิง เท่ากับ 1 : 1

  • ประชากรแรกเกิดถึงอายุ 4 ปี จำนวน 5 คน คิดเป็นร้อยละ 2.48
  • กลุ่มเด็กวัยเรียน (อายุ 5-14 ปี) จำนวน 18 คน คิดเป็นร้อยละ 8.91
  • กลุ่มวัยรุ่น (อายุ 15-19 ปี) จำนวน 5 คน คิดเป็นร้อยละ 2.48
  • กลุ่มวัยทำงาน (อายุ 20-59 ปี) จำนวน 109 คน คิดเป็นร้อยละ 53.96
  • ประชากรที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป จำนวน 65 คน ร้อยละ 32.18 (จัดเป็นระดับสังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) คือ มีประชากรสูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า ร้อยละ 20) และมีผู้สูงอายุที่อายุยืนที่สุดเป็นเพศชาย อายุ 89 ปี มีอัตราส่วนการพึ่งพิง 1 : 0.8 (ประชากรวัยแรงงาน บ้านออนใต้ จำนวน 109 คน ต้องรับภาระดูแล เด็กและผู้สูงอายุ จำนวน 88 คน)

จากการศึกษาผังครอบครัวตระกูลโปธาปั๋น บ้านริมออนใต้ หมู่ 5 ตำบลริมออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นตระกูลเก่าแก่ที่ย้ายถิ่นฐานมาจากบ้านร้องผักหนามมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านริมออนใต้ ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ตระกูลโปธาปั๋นเป็นตระกูลที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สมาชิกในตระกูลมีบทบาทเป็นแกนนำของชุมชน เช่น ผู้ใหญ่บ้าน และอสม. นอกจากนี้ความสัมพันธ์ของสมาชิกภายในตระกูลมีความรักใคร่กลมเกลียวกันดี ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

โครงสร้างองค์กรชุมชนของหมู่บ้านริมออนใต้ ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ แบ่งเป็น 2 ประเภท

1. องค์กรที่เป็นทางการ

  • กลุ่มคณะกรรมการหมู่บ้าน
  • กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)
  • กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน 
  • กลุ่มโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.)
  • กลุ่มกองทุนสตรีแม่บ้าน

2. องค์กรที่ไม่เป็นทางการ

  • กลุ่มผู้สูงอายุ
  • กลุ่มประปาหมู่บ้าน
  • กลุ่มฌาปนกิจหมู่บ้าน

รายละเอียดปฏิทินชุมชนบ้านริมออนใต้ หมู่ที่ 5 ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่

กิจกรรมด้านสังคมและวัฒนธรรมรายละเอียดกิจกรรม
ประเพณีวันขึ้นปีใหม่                                                                  วันขึ้นปีใหม่ คือวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย ซึ่งตรงกับเดือน มกราคม สอดคล้องกับคติแห่งพุทธศาสนา โดยเช้าวันที่ 1 มกราคมของทุกปี ประชาชนจะนำข้าวสาร อาหารแห้ง ดอกไม้ ธูปเทียน และข้าวตอกมาทำบุญ สวดมนต์เพื่อรับพร โดยจะจัดทำบุญที่วัดบ้านแม่ผาแหน
พิธีบวงสรวงช้างเผือกพลายภูบาลรัตน์เป็นพิธีที่จัดทำขึ้นเพื่อระลึกถึงช้างเผือกพลายภูบาลรัตน์ ช้างเผือกเชือกที่ 2 ของรัชกาลที่ 9 ในทุกวันที่ 9 มกราคมของทุกปี โดยชาวบ้านจะทำพิธีด้วยการนำอาหาร และผลไม้ต่าง ๆ มารวมกันเพื่อทำพิธี
วันมาฆบูชาเป็นกิจกรรมสำคัญทางพระพุทธศาสนา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 ในวันมาฆบูชาทุก ๆปี ประชาชนจะร่วมกันทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ ฟังเทศน์-ฟังธรรม มีการบำเพ็ญประโยชน์สาธารณประโยชน์ต่าง ๆ ทำวัตร สวดมนต์ นั่งสมาธิภาวนา และเวียนเทียน
ประเพณีทอดกฐินประจำปีเป็นประเพณีที่จะจัดขึ้นหลังจากออกพรรษาประมาณ 1 เดือน โดยที่แต่ละปีก็จะแตกต่างกันออกไป โดยในแต่ละปีจะ มีเจ้าผู้มีจิตศรัทธาจองกฐินเป็นเจ้าภาพใหญ่ และมีประชาชน จะช่วยกันทำบุญ หากปีไหนไม่มีเจ้าภาพ ประชาชนทุกคนใน หมู่บ้านก็จะช่วยกัน เรียกกว่า กฐินสามัคคี โดยจะนำเงินที่ได้ เข้าวัด และจะมีกิจกรรมสวดมนต์ ฟังเทศน์ฟังธรรม มีงาน มหรสพ ให้ครึกครื้นสนุกสนาน
ประเพณีสงกรานต์ในวันที่ 13 เมษายน เป็นวันสังขารล่อง ชาวบ้านจะจุด ประทัด ทำให้เกิดเสียงดัง เพื่อไล่สิ่งไม่ดีต่าง ๆ จะทำความ สะอาดบ้านและขับไล่สิ่งไม่ดีจากปีเก่าออกไป วันที่ 14 เมษายนเป็นวันเนาหรือวันเน่าโดยชาวบ้านมีความเชื่อว่า ห้ามทำสิ่งไม่เป็นมงคล เช่น ห้ามทะเลาะกัน ห้ามด่ากัน โดยวันเนาจะมีกิจกรรมคือ ช่วยกันขนทรายเข้าวัด และวันที่ 15 เมษายน เป็นวันพญาวัน จะมีการทำบุญให้ญาติพี่น้องที่ ล่วงลับ พร้อมกับดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่ เพื่อขอพรให้เป็นสิริมงคล แก่ตัวเอง และครอบครัว นอกจากนี้ยังมีการสรงน้ำ พระพุทธรูปและองค์พระธาตุด้วย
วันวิสาขบูชาเป็นกิจกรรมสำคัญทางพระพุทธศาสนา เป็นการบูชาในวัน เพ็ญ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ในวันวิสาขบูชาของทุกปี ประชาชนจะร่วมกันทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหารแด่ พระสงฆ์ ฟังเทศน์-ฟังธรรม มีการบำเพ็ญประโยชน์ สาธารณประโยชน์ต่าง ๆ ทำวัตร สวดมนต์ นั่งสมาธิภาวนา และเวียนเทียน
ประเพณีผีเสื้อบ้านจะจัดทำในสถานที่ศักดิ์ของหมู่บ้าน บริเวณเสาร์หลักเมือง ของหมู่บ้าน โดยที่ประชาชนจะนำเอาอาหารและเครื่องดื่ม มาถวายร่วมกัน โดยมีผู้เฒ่าผู้แก่ประจำหมู่บ้านเป็นผู้นำพิธี พิธีนี้จัดขึ้นเพื่อให้ประชาชนในหมู่บ้านอยู่อย่างสงบสุข
ประเพณีวันเข้าพรรษาเป็นประเพณีอยู่ในช่วงฤดูฝน โดยจะให้พระสงฆ์จำวัด ไม่ไป ยังสถานที่ต่างๆ เว้นแต่มีกิจที่จำเป็นจริงๆ โดยก่อน เข้าพรรษา จะมีการหล่อเทียนร่วมกันพรรษา เพื่อที่จะนำไปถวายเทียนพรรษาและมีการถวายผ้าอาบน้ำฝน และจตุปัจจัยต่าง ๆ และจะมีการทำบุญตักบาตรในตอนเช้า มีการ ถือศีล ละเว้นอบายมุขทั้งปวง ตลอดระยะเวลา 3 เดือน
ประเพณีเลี้ยงผีปู่ย่าเป็นพิธีที่ไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว โดยการนำเอาอาหาร เครื่องดื่มต่าง ๆ มาไหว้ เพื่อให้ช่วยคุ้มครองลูกหลาน ให้มีความเป็นอยู่ที่ดี อยู่อย่างสงบสุข โดยชาวบ้านมีความเชื่อกันว่าหากละเลยจากการคุ้มครองจะกลายเป็นผีร้าย ทำให้ครอบครัว สายเลือดสมาชิกนั้นไม่มีความสุข
วันกตัญญูครูบาหล้าเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นทุกวันที่ 21 กันยายน ของทุกปีที่บริเวณ วัดป่าตึง ชาวบ้านจะระดมเงินทุน มาร่วมกันทำบุญ เปลี่ยนผ้าจีวรให้แก่ครูบาหล้าตาทิพย์โดยจะมี การสวดมนต์ ฟังธรรม และมีการมอบทุนการศึกษาให้แก่เด็ก นักเรียน นักศึกษาที่เรียนดีขาดทุนทรัพย์ และมีการมอบเงินทุนให้แก่โรงพยาบาล
ประเพณีออกพรรษาเป็นวันสิ้นสุดระยะการจำพรรษาของพระสงฆ์ หรือออกจาก การประจำในฤดูฝน ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เรียก อีกอย่างว่า “วันมหาปวรณา” โดยจะมีการทำบุญตักบาตร ฟังธรรมเทศนา และมีการตักบาตรเทโวรหณะ ทำความสะอาดวัดบ้านเรือน เพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
ประเพณียี่เป็ง (ลอยกระทง)เป็นประเพณีที่มีมาตั้งแต่โบราณ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลอยเคราะห์ ขอขมาและ ระลึกถึงคุณแม่คงคา ประชาชนจะมีการจัดงานลอยกระทงที่ ตามวัดประจำหมู่บ้านในตอนเย็นจะมีการจุดประทีปในแต่ละบ้านตามกำแพงต่าง ๆ รวมไปถึงวัดจะมีการทำซุ้มประตูป่าในตอนกลางคืนจะมีการปล่อยโคมลอย จุดพลุ และ จัดทำกระทงไปลอยที่น้ำแม่ออนตามจุดที่เทศบาลมีการจัดสถานที่ให้
พิธีส่งใจ๋บ้านเป็นประเพณีที่ถูกจัดขึ้นทุกวันที่ 16 เมษายนของทุกปี บริเวณศาลาหมู่บ้าน ซึ่งใช้เป็นสถานที่ในการจัดพิธี เชื่อว่าเป็นการทำบุญให้กับหมู่บ้าน โดยจัดที่ใจกลางหรือศูนย์กลางหมู่บ้าน เพื่อร่วมกันบูชาศักดิ์สิทธิ์ที่ปกป้องคุ้มครองหมู่บ้าน
ประเพณีตานข้าวใหม่ในฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวในช่วงเดือนมกราคม ประชาชนจะนำข้าวสารอาหารแห้ง ร่วมกันทำบุญที่วัด ฟังเทศน์ฟังธรรมต่าง ๆ โดยข้าวสารหรือข้าวใหม่ที่ได้จากการเก็บเกี่ยวที่ ชาวบ้านนำมาทำบุญนั้น ทางวัดจะเก็บไว้ หากมีงานบุญ หรือ พิธีต่าง ๆ จะนำข้าวสารที่ได้มาประกอบอาหารให้กับผู้ที่มาร่วมพิธี
ประเพณีฮ้องขวัญข้าวพิธีการสู่ขวัญข้าวหรือบูชาแม่โพสพนั้นเป็นการขอบคุณแม่โพสพที่ได้ช่วยเหลือในการผลิตเมล็ดข้าวตลอดถึงการดูแลรักษาให้ข้าวกล้างอกงามออกรวงให้ผลเป็นที่น่าพอใจชาวนาจึงทำการสักการบูชา แต่เรียกอย่างชาวบ้านว่าสู่ขวัญข้าวหรือฮ้องขวัญแม่โพสพ การทำแบบนี้เป็นความเชื่อซึ่งสืบต่อกันมาว่าแม่โพสพเป็นธิดาผู้รักษาธัญชาติ คือ ข้าวกล้า
ประเพณีแฮกนาขวัญพิธีการเพื่อความเป็นสิริมงคลและบำรุงขวัญของชาวนา กำหนดจัดขึ้นในเดือนมิถุนายนของทุกปี ซึ่งระยะนี้เป็นระยะเหมาะสมที่จะเริ่มต้นการทำนาอันเป็นอาชีพหลักของประชาชนคนไทย

1. นายอุเทน สิงห์อูป  ผู้ใหญ่บ้านริมออนใต้ หมู่ 5 ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ สังกัดกรมการปกครอง, สมาชิกอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.), ประธานกลุ่มโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.)

ระบบแพทย์ชุมชน (Population sector)

ด้านการรับประทานอาหารของประชาชนในหมู่5 บ้านริมออนใต้ มีรูปแบบการจัดหาอาหาร 3 รูปแบบ ได้แก่ อาหารที่หาได้จากธรรมชาติ เช่น ปลูกผักสวนครัวรับประทานเอง วัตถุดิบที่หาซื้อได้จากร้านค้าหรือตลาด เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ ผัก ผลไม้ต่างๆ เครื่องปรุงรส อาหารทะเล เห็ด เป็นต้น และอาหารพร้อมรับประทาน เช่น อาหารปรุงสำเร็จ หมูปิ้ง ไก่ทอด และ ไส้อั่ว เป็นต้น โดยประชาชนส่วนใหญ่ภายในชุมชนมักจะประกอบอาหารรับประทานกันเองภายในครัวเรือน ในด้านการดูแลตนเองเบื้องต้นส่วนใหญ่แต่ละบ้านมักจะมียาสามัญประจำบ้านไว้รับประทานในกรณีที่มีอาการ เจ็บป่วยไม่รุนแรง เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ รักษาโดยการกินยาแก้ปวด คือ Paracetamol 500 mg หากมีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย จะใช้ลูกประคบ ยานวดคลายเส้น เป็นต้น ในส่วนของการใช้สมุนไพรประชาชนส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับการรณรงค์ดื่มน้ำต้านโควิด19 เช่น น้ำกระชาย และน้ำขิง ฟ้าทะลายโจร เป็นต้น ในด้านการออกกำลังกายพบว่าประชากรบางส่วนในชุมชนออกกำลังกายด้วยการปั่นจักรยานเพื่อไปตลาด หรือไปพบปะเพื่อนบ้านที่ใกล้ เต้นแอโรบิกและ วิ่ง ด้านของยาพื้นบ้านและยาชุดต่างๆพบว่าปัจจุบันไม่พบประชาชนในหมู่ 5 ใช้แล้ว

ระบบการแพทย์พื้นบ้าน (Folk sector)

จากการสอบถามประชาชนในหมู่บ้านริมออนใต้หมู่5 พบว่าปัจจุบันมีการใช้ระบบการแพทย์พื้นบ้านเช่น กราบไหว้ผีเสื้อบ้านเพราะเชื่อว่าจะคุ้มครองคนในชุมชนจากสิ่งชั่วร้าย บริโภคและอุปโภคบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ (น้ำบ่อยา) เพื่อเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจเมื่อป่วยโดยจะนำน้ำในบ่อมาดื่มและอาบ ทั้งนี้สาธารณสุขได้เข้าทำการตรวจเชื้อ E.coli แล้วพบว่าน้ำไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายผู้บริโภคและอุปโภคหากใช้ในปริมาณที่ไม่มากจนเกินไป แต่ประชาชนส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้บริการสุขภาพสมัยใหม่เนื่องจากสามารถเข้าถึงได้ง่าย น่าเชื่อถือ ทำให้ประชาชนได้รับการรักษาอย่างทั่วถึงจึงทำให้ประชาชนเลือกที่จะเข้ารับการรักษาด้วยระบบการแพทย์สมัยใหม่มากกว่าระบบการแพทย์พื้นบ้าน

ประชาชนในหมู่บ้านเป็นคนพื้นเมือง ประชาชนส่วนใหญ่ใช้ภาษาท้องถิ่น (ภาษาพื้นเมือง, ภาษาเหนือ) ในการติดต่อสื่อสารเป็นภาษาหลักภายในชุมชน สำหรับการติดต่อสื่อสารทางราชการและบุคคลภายนอก จะใช้ภาษาไทยกลางและภาษาถิ่นในการติดต่อสื่อสาร 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

รัตนากร ไทยภูเขา, ฑิตฐิตา เรือนมูล, รังสิมา ประธานราษฎร์, บุตรศริน บุลาภงามมณี, ธัญญ์นภัส ฐิติธนเลิศยศ, ศิริวรรณ ฉวีวงค์, และสุภาพ ทองพูน. (2564). รายงานการพัฒนาอนามัยชุมชนบ้านริมออนใต้ หมู่ที่ 5 ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่. สาขาการพยาบาลอนามัยชุมชน วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี เชียงใหม่.

เทศบาลตำบลออนใต้. (2566). ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนประชากร. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 31 มกราคม 2566. เข้าถึงได้จาก: https://ontai.go.th

เทศบาลออนใต้ โทร. 0-5303-6043