วิถีของชาวไทใหญ่ที่ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากประเทศพม่า ประเพณี 12 เดือน พระพุทธรูปแบบล้านนา
วิถีของชาวไทใหญ่ที่ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากประเทศพม่า ประเพณี 12 เดือน พระพุทธรูปแบบล้านนา
อำเภอปายมีหลักฐานการตั้งถิ่นฐานว่าในสมัยพระเจ้ามโหตรประเทศ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ส่งเจ้าแก้วเมืองออกสำรวจชายแดนพบภูมิประเทศบริเวณอำเภอปายในปัจจุบัน จึงแนะนำให้ขุนส่างปายย้ายเมืองมาตั้งฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปาย เพราะเป็นที่ราบกว้างขวาง ผู้คนจึงเรียกเมืองใหม่ว่า “เวียงใต้” ส่วนเมืองเก่าจึงมีชื่อเรียกว่า "เวียงเหนือ" โดยแต่เดิมอำเภอปายเป็นพื้นที่อาศัยของชาวไทยพื้นเมืองและชาวไทใหญ่ (ชาน) คือ กลุ่มชาติพันธุ์ในตระกูลภาษาไทกะได ซึ่งอาศัยอยู่ในรัฐฉานประเทศพม่าเป็นส่วนใหญ่ ต่อมาได้อพยพเข้าสู่ประเทศไทย
ชุมชนของชาวไทใหญ่ใน อำเภอปาย อดีตเป็นหมู่บ้านที่เงียบสงบ ซึ่งชาวไทใหญ่ (ชาน) อาศัยอยู่มีวัฒนธรรมที่ได้รับอิทธิพลจากพม่า ทุกวันนี้อำเภอปายเจริญและได้รับความนิยมด้านการท่องเที่ยวเป็นหลัก เป็นจุดหมายปลายทางของชาวฮิปปี้ โดยอำเภอปายซึ่งเต็มไปด้วยน้ำพุร้อนและทิวทัศน์ที่น่าตื่นตาตื่นใจ เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักท่องเที่ยวในเรื่องของบรรยากาศที่ผ่อนคลายและเงียบสงบ
ชาวไทใหญ่ได้รับการยอมรับในสังคมว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งในจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยชาว “ไทใหญ่” เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งของชนชาติไท มีถิ่นฐานกระจายอยู่ในภูมิภาคแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยตั้งถิ่นฐานอยู่มากที่สุดในรัฐฉานทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพม่า จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ได้ปรากฏหลักฐานว่า ชาวไทใหญ่ติดต่อกับชาวล้านนามาตั้งแต่อดีต นอกจากนี้มีการค้าขายกันระหว่างชาวไทใหญ่มาโดยตลอด บริบทชุมชนชาวไทใหญ่ในชุมชนบ้านเวียงเหนือ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นชุมชนเล็ก ๆ มีชีวิตที่ผูกพันกับศาสนาพุทธอย่างเคร่งครัด เนื่องจากเดิมเป็นถิ่นฐานของชาวไทใหญ่ที่อพยพมาจากรัฐฉาน (พม่า) โดยได้เข้ามาอาศัยและตั้งรกรากอยู่ในชุมชนเป็นเวลานาน
ในปัจจุบันชาวไทใหญ่ได้รับการยอมรับในสังคมว่าเป็นเอกลักษณ์สำคัญที่ผูกพันกับจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีคนจากรัฐฉานอพยพมาตั้งถิ่นฐาน พื้นเพภาษาเดิมจึงเป็นภาษาไทใหญ่ ซึ่งที่มีขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรมของตนเองที่สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบันซึ่งวัฒนธรรมของชาวไทใหญ่มักเกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธ ชาวไทใหญ่ยังคงรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนอยู่ทั้งภาษา การแต่งกาย สถาปัตยกรรม และประเพณีที่สำคัญอื่น ๆ
ชุมชนชาวไทใหญ่บ้านเวียงเหนือมีจุดเด่นที่ตัวเมืองมีคูเมืองคันดินโดยรอบ 4 ทิศ พื้นที่ตัวเมืองถูกยกระดับให้สูงจากพื้นที่ข้างเคียง มีแม่น้ำไหลผ่าน 2 สายด้านทิศเหนือ คือ ลำห้วยเจ้าเมือง และด้านทิศตะวันตกคือ ลำน้ำปาย พื้นที่ข้างเคียงโดยรอบเป็นที่นา สันนิษฐานว่าสร้างก่อนปี พ.ศ. 1860 หลักฐานที่พบคือ คูคันดิน พระพุทธรูปแบบล้านนาประดิษฐานที่วัดประจำตำบล ศาลเจ้าเมืองอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของตัวเมืองกู่เจ้าเมืองหรือสถานที่บรรจุอัฐิของเจ้าเมืองในอดีต วัดนอก วัดร้างตาล 7 ต้น วัดร้างจากต่อ (พระพุทธบาท) วัดทั้งสาม อยู่ด้านทิศเหนือของตัวเมือง เป็นคูเมืองที่ขุดล้อมรอบชุมชนโบราณบ้านเวียงเหนือตั้งแต่ก่อตั้งชุมชน เมื่อราวปี พ.ศ. 1860 โดยมีการขุดคูเมืองล้อมรอบชุมชนตั้งแต่ด้านทิศเหนือไปทางทิศตะวันออกและทิศใต้ของชุมชน มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ จังหวัดลางเคอ รัฐฉาน (ประเทศพม่า)
- ทิศใต้ ติดต่อกับ อำเภอสะเมิงและอำเภอกัลป์ยาณิวัฒนา (จังหวัดเชียงใหม่)
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อำเภอเวียงแหง อำเภอเชียงดาว และอำเภอแม่แตง (จังหวัดเชียงใหม่)
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนและอำเภอปางมะผ้า
จากข้อมูลการสำรวจของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ปี พ.ศ. 2567 ระบุจำนวนประชากรทั้งหมด 2,853 คน ชาวไทใหญ่ในชุมชนบ้านเวียงเหนืออยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ และครอบครัวนับว่าเป็นสถาบันแรกที่มีบทบาทต่อบุคคลในการอบรมบ่มนิสัย ซึ่งแต่ละครอบครัวก็จะมีความเป็นอยู่ วัฒนธรรมที่แตกต่างกันออกไปด้วยความหลากหลายทางเชื้อชาติ
ไทใหญ่สังคมในชุมชนบ้านเวียงเหนือ วิถีชีวิตของผู้คนสงบเรียบง่ายเป็นสังคมที่อยู่ร่วมกันหลากหลายทางเชื้อชาติ ทั้งนี้ทางชุมชนมักจะมีกิจกรรมระหว่างชาวไทใหญ่และชาวไทยพื้นเมืองที่สร้างความสัมพันธ์อันดีในสังคม ทั้งในด้านประเพณี การกิน การแต่งกาย ซึ่งนับว่าเป็นเสน่ห์ของชุมชนบ้านเวียงเหนือ
ในด้านอาชีพ อาชีพหลักของประชากรในชุมชนชาวไทใหญ่บ้านเวียงเหนือ คือ เกษตรกรรม ส่วนที่เหลือประกอบอาชีพค้าขาย ธุรกิจส่วนตัว รับจ้าง และรับราชการ ทั้งนี้ยังมีอุตสาหกรรมภายในครัวเรือน คือ การจักสาน การทำแหนม กลุ่มข้าวสาลี การตีมีด และการทอผ้าชนเผ่า และยังมีวิสาหกิจชุมชนที่คอยช่วยเหลือชาวบ้านในชุมชนให้มีอาชีพและรายได้จากการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากงา กลุ่มเลี้ยงโคขุน กลุ่มทอผ้า กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้า และโรงสีข้าวชุมชน
ประเพณีและวัฒนธรรม
ประเพณีตามเทศกาล คือ ประเพณีที่ชาวไทใหญ่ในชุมชนบ้านเวียงเหนือ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน จัดขึ้น เกี่ยวข้องในการดำเนินชีวิต ทั้งด้านการทำงาน ความเชื่อ ซึ่งคล้ายคลึงกับประเพณีและวัฒนธรรมต่าง ๆ ของชาวไทย
ความเชื่อทั่วไป
- ความเชื่อด้านการรักษาตัว เชื่อกันว่าเวลาปวดเนื้อปวดตัวหรือรู้สึกไม่สบายตามร่างกาย มักจะเอายาหม่องมาถูบริเวณที่ปวด แล้วใช้ก้นกระป๋องนมข้นขูดเป็นแนวยาว (ส่วนใหญ่มักขูดบริเวณหลัง) ถ้าขูดแล้วเห็นเป็นรอยสีแดง ๆ ม่วง ๆ เชื่อว่าจะดีขึ้น เหมือนเป็นการปรับเลือดลม ขับพิษร้อนในร่างกายออก
- ความเชื่อด้านการผูกข้อมือ เชื่อกันว่าถ้าคนในครอบครัวต้องเดินทางไกลจากบ้าน หรือลูกหลานในบ้านไม่สบาย ถ้าให้พ่อแม่หรือคนเฒ่าคนแก่ในบ้านผูกข้อมือแล้วให้พรจะถือว่าแคล้วคลาดปลอดภัยจากอันตราย เพราะถือว่า คำอวยพรจากพระในบ้านเป็นคำศักดิ์สิทธิ์จะช่วยคุ้มครองให้ลูกหลานปลอดภัย
ความเชื่อทางไสยศาสตร์
- ความเชื่อเกี่ยวกับการนับถือผี ชาวไทใหญ่มีความเชื่อในเรื่องการนับถือผีตั้งแต่เดิมโดยเชื่อว่าสถานที่แทบทุกแห่งมีผีให้ความคุ้มครองรักษาอยู่ ความเชื่อนี้จึงมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เห็นได้จากขนบธรรมเนียม ประเพณี และพิธีกรรมต่าง ๆ
- ความเชื่อการไหว้ศาลหลักเมือง เชื่อว่าหากลูกหลานจะไปสอบหรือทำการแข่งขันที่ใดสักแห่งมักจะไปไหว้ขอพรศาลหลักเมือง ในการไปไหว้ขอพรก็จะเอาเครื่องเซ่นไปถวายหรือจะเป็นข้าวคำ ผักคำก็ได้แล้วก็ขอพรกับศาลหลักเมือง อธิษฐานขอพรในสิ่งที่ปรารถนา บอกกับศาลหลักเมืองว่าเราเป็นลูกหลานในหมู่บ้าน ซึ่งเชื่อว่าศาลหลักเมืองนั้นมีเจ้าพ่อที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คอยปกป้องคุ้มครองคนในหมู่บ้านให้อยู่สุขสบาย แคล้วคลาดปลอดภัย
ด้านการสื่อสารในครอบครัวยังคงใช้ภาษาไทใหญ่ในการสื่อสารและอาจควบคู่กับการใช้ภาษาท้องถิ่นและภาษาไทยกลาง
ปัจจุบันบริบทชุมชนชาวไทใหญ่ในชุมชนบ้านเวียงเหนือ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นชุมชนเล็ก ๆ มีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับศาสนาอย่างเคร่งครัด โดยชาวไทใหญ่ที่อพยพมาจากรัฐฉาน (พม่า) ได้เข้ามาอาศัยและตั้งรกรากอยู่ในชุมชนเป็นเวลานาน ปัจจุบันได้รับการยอมรับในสังคมว่าเป็นชนเผ่าดั้งเดิมและเป็นเอกลักษณ์สำคัญของจังหวัดแม่ฮ่องสอน พื้นเพภาษาเดิมจึงเป็นภาษาไทใหญ่มีขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรมของตนเองที่สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งวัฒนธรรมของชาวไทใหญ่จะเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา และยังคงรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนอยู่ทั้งการแต่งกาย ภาษา สถาปัตยกรรม และประเพณีที่สำคัญอื่น ๆ
เนื่องจากการดำเนินชีวิตชุมชนชาวไทใหญ่มีปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนจากการศึกษา เรื่อง การสร้างไทยใหญ่ผ่านการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนไทยใหญ่รุ่นเก่าและรุ่นใหม่ของธรรศ ศรีรัตนบัลล์ พบว่า ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 25 มีการก่อตั้งเมืองแม่ฮ่องสอนขึ้นภายใต้คติการสร้างเมืองแบบไทใหญ่และเป็นเมืองแห่งเดียวในไทยที่ยังคงความเป็นไทใหญ่ไว้ได้อย่างสืบเนื่อง มีการแสวงหาพื้นที่เพื่อสร้างและนำเสนออัตลักษณ์ความเป็นไทใหญ่ ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตและความเป็นมาของชาวไทใหญ่
นอกจากวิถีชีวิตที่มีความเคร่งในศาสนาที่ส่งผลให้เกิดเป็นความรู้ขนบธรรมเนียมต่าง ๆ และยังมีการสร้างความรู้จากวิถีชีวิตของชาวไทใหญ่ให้เกิดมูลค่าทางการศึกษา ดังรายงานการศึกษาอิสระ เรื่อง “การจัดการความรู้บนฐานวัฒนธรรมไทใหญ่เพื่อเพิ่มมูลค่าและพัฒนาสู่การเป็นสถาบันไทใหญ่ศึกษา”
อิสริยาภรณ์ แสงปัญญา. การศึกษาประเพณีของชาวไทใหญ่ในชุมชนบ้านเวียงเหนือ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน. พิฆเนศวร์สาร. 19(1), 88-100.
Google Map. (2566). พิกัดแผนที่ชุมชนบ้านเวียงเหนือ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://www.google.com/maps