- ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นได้รับการประกาศเป็น “พื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรมพิเศษ” โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการฟืนฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553
- ในชุมชนกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นมี “ลำห้วยพุเม้ยง์” ซึ่งเป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นมายาวนานกว่า 400 ปี เป็นแหล่งน้ำในการอุปโภคบริโภค แหล่งน้ำในการทำการเกษตร และเป็นแหล่งอาหารตามธรรมชาติของชุมชน
- ในชุมชนกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นมีต้นไม้ขนาดใหญ่ขึ้นอยู่เป็นกลุ่ม มีจำนวน 5 ต้น ชื่อว่า “ต้นสมพงษ์” แต่ละต้นมีอายุกว่า 100 ปี เป็นศูนย์รวมความเชื่อความศรัทธาทางจิตวิญญาณของคนที่อยู่กับป่า แต่เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง เมื่อเดือน เมษายน 2566 เกิดลมพายุพัดผ่านชุมชนกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นอย่างรุนแรง ส่งผลให้ต้นสมพงษ์ขนาดใหญ่ทั้ง 5 ต้น ล้มทั้งยืน บางต้นล้มแบบหัก ขาดครึ่งกลางลำต้นลงมา จากนี้ไปคงเหลือเพียงชื่อที่เป็นตำนานเท่านั้น
- ในชุมชนกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น เป็นแหล่งรวมอารยธรรมกะเหรี่ยงโปว์ทางด้านจิตวิญญาณและความเชื่อ ด้วยเหตุผลที่ว่า ในชุมชนแห่งนี้ในปัจจุบันมีเจ้าวัด (ผู้นำแห่งจิตวิญญาณ) ถึง 3 คน คือ เจ้าวัดผู้ชาย 2 คน ผู้นำจิตวิญญาณที่เป็นผู้หญิง (แม่ย่า) อีก 1 คน ในทุก ๆ ปี จะมีพิธีการไหว้เจดีย์ถึง 3 ครั้ง ได้แก่ การไหว้เจดีย์ในเดือน 3 เดือน 5 และเดือน 7 ซึ่งถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ยิ่งใหญ่และน่าเหลือเชื่อมาก เพราะชุมชนกะเหรี่ยงส่วนใหญ่ไม่มีเจ้าวัดกันแล้ว
- ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นเห็นถึงความสำคัญของการทำไร่หมุนเวียน จึงพยายามรื้อฟื้นวิถีการทำไร่หมุนเวียนให้กลับคืนมาดังเช่นในอดีต แต่พื้นที่สำหรับการทำไร่หมุนเวียนนั้นอาจจะน้อยลง เพราะปัจจุบันทุกคนมีพื้นที่จำกัด และการพักฟื้นหน้าดินหลังจากการทำไร่หมุนเวียนก็คงจะไม่นานถึง 7 – 8 ปี ดังเช่นในอดีต อาจจะเป็นการหมุนเวียนระหว่างการปลูกข้าวไร่กับพืชชนิดอื่นแทนการทิ้งร้างของพื้นที่ทำไร่หมุนเวียน
ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็น (พุเม้ยง์) หมู่ 8 ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี เป็นชุมชนกะเหรี่ยยงโปว์ที่มีประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานมาเป็นเวลานานไม่น้อยกว่า 400 ปี มีความผูกพันกับผืนป่า วิถีชีวิตสัมพันธ์กับธรรมชาติและการทำไร่หมุนเวียน คำว่า “ภูเหม็น” ชาวบ้านเล่าว่าเพี้ยนมาจากคำว่า “พุเม้ยง์” ซึ่งเป็นชื่อของพืชตระกูลว่าน คนไทยเรียกกันว่า “ว่านเข้าพรรษา” คล้าย ๆ ต้นข่าใบใหญ่มีดอกสีเหลือง บ้างก็สีขาวอมชมพูสวยงามมาก
ในอดีตพื้นที่บริเวณชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็น “พุเม้ยง์” เต็มไปด้วยดอกเข้าพรรษาที่มีอยู่ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะบริเวณข้าง ๆ ลำห้วยที่เต็มไปด้วยทุ่งว่านดอกเข้าพรรษาตลอดทั้งลำห้วย เดิมชาวบ้านเรียกลำห้วยนี้ว่า“พุเม้ยง์บ่อง” ที่แปลเป็นภาษาไทยว่า “ว่านสุกเหลือง” หรือ “ว่านเข้าพรรษา” ซึ่งคำว่า “พุ” แปลว่า“ว่าน”คำว่า“เม้ยง์”แปลว่า“สุก”ส่วนคำว่า“บ่อง”แปลว่า“เหลือง” ดังนั้น ชื่อของหมู่บ้านจึงถูกเรียกตามชื่อของลำห้วยนั่นเอง แต่ระยะเวลาผ่านไป คำเรียกชื่อหมู่บ้านก็สั้นลง เหลือเพียงคำว่า “พุเม้ยง์” และเนื่องจากชาวกะเหรี่ยงในสมัยก่อนพูดภาษาไทยไม่ชัด และเป็นอัตลักษณ์เฉพาะของสำเนียงภาษาโผล่ว จึงฟังเป็น “พุเม้น” บ้าง “พุเหม้น” บ้าง สุดท้ายเรียก “ภูเหม็น”
นอกจากนั้น ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นในอดีตถูกรายล้อมด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่เต็มไปด้วยพันธุ์พืชอันหลากหลายนานาชนิดและอุดมสมบูรณ์ อาศัยอยู่ป่าเขาและลำห้วย คำว่า “ภูเหม็น” ในปัจจุบันนั้น จึงคาดว่ามาจากการที่ทางราชการได้สำรวจรายชื่อหมู่บ้าน และเห็นว่าหมู่บ้านนี้อยู่บนภูเขา และชาวบ้านเรียกชื่อหมู่บ้านว่า “พุเม้ยง์” ทางการอาจจะฟังไม่ถนัด จึงบันทึกชื่อหมู่บ้านเป็น “ภูเหม็น” และกลายเป็นชื่อหมู่บ้านมาจนถึงปัจจุบัน
- ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นได้รับการประกาศเป็น “พื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรมพิเศษ” โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการฟืนฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553
- ในชุมชนกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นมี “ลำห้วยพุเม้ยง์” ซึ่งเป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นมายาวนานกว่า 400 ปี เป็นแหล่งน้ำในการอุปโภคบริโภค แหล่งน้ำในการทำการเกษตร และเป็นแหล่งอาหารตามธรรมชาติของชุมชน
- ในชุมชนกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นมีต้นไม้ขนาดใหญ่ขึ้นอยู่เป็นกลุ่ม มีจำนวน 5 ต้น ชื่อว่า “ต้นสมพงษ์” แต่ละต้นมีอายุกว่า 100 ปี เป็นศูนย์รวมความเชื่อความศรัทธาทางจิตวิญญาณของคนที่อยู่กับป่า แต่เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง เมื่อเดือน เมษายน 2566 เกิดลมพายุพัดผ่านชุมชนกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นอย่างรุนแรง ส่งผลให้ต้นสมพงษ์ขนาดใหญ่ทั้ง 5 ต้น ล้มทั้งยืน บางต้นล้มแบบหัก ขาดครึ่งกลางลำต้นลงมา จากนี้ไปคงเหลือเพียงชื่อที่เป็นตำนานเท่านั้น
- ในชุมชนกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น เป็นแหล่งรวมอารยธรรมกะเหรี่ยงโปว์ทางด้านจิตวิญญาณและความเชื่อ ด้วยเหตุผลที่ว่า ในชุมชนแห่งนี้ในปัจจุบันมีเจ้าวัด (ผู้นำแห่งจิตวิญญาณ) ถึง 3 คน คือ เจ้าวัดผู้ชาย 2 คน ผู้นำจิตวิญญาณที่เป็นผู้หญิง (แม่ย่า) อีก 1 คน ในทุก ๆ ปี จะมีพิธีการไหว้เจดีย์ถึง 3 ครั้ง ได้แก่ การไหว้เจดีย์ในเดือน 3 เดือน 5 และเดือน 7 ซึ่งถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ยิ่งใหญ่และน่าเหลือเชื่อมาก เพราะชุมชนกะเหรี่ยงส่วนใหญ่ไม่มีเจ้าวัดกันแล้ว
- ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นเห็นถึงความสำคัญของการทำไร่หมุนเวียน จึงพยายามรื้อฟื้นวิถีการทำไร่หมุนเวียนให้กลับคืนมาดังเช่นในอดีต แต่พื้นที่สำหรับการทำไร่หมุนเวียนนั้นอาจจะน้อยลง เพราะปัจจุบันทุกคนมีพื้นที่จำกัด และการพักฟื้นหน้าดินหลังจากการทำไร่หมุนเวียนก็คงจะไม่นานถึง 7 – 8 ปี ดังเช่นในอดีต อาจจะเป็นการหมุนเวียนระหว่างการปลูกข้าวไร่กับพืชชนิดอื่นแทนการทิ้งร้างของพื้นที่ทำไร่หมุนเวียน
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ชุมชนกะเหรี่ยงในภาคกลางที่เก่าแก่ที่สุดตามหลักฐานที่มี คือ ประมาณ 300 – 400 ปี ชาวกะเหรี่ยงบางส่วนได้อพยพจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์เข้ามาอยู่ในประเทศไทยประมาณปี พ.ศ. 2310 และมาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำแควใหญ่ และลุ่มแม่น้ำแม่กลองตอนบน ส่วนชาวกะเหรี่ยงโผล่ว หรือ โปว์ ที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานบริเวณรอบ ๆ ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี เป็นการอพยพจากทวายในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ เข้ามาอยู่ในจังหวัดอุทัยธานีประมาณปี พ.ศ. 2366 ต่อมาเมื่อมีการปฏิบัติการของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในพื้นที่ดังกล่าว รัฐบาลจึงจัดสรรที่ดินทำกินนอกผืนป่าห้วยขาแข้งให้กับชุมชนกะเหรี่ยงได้ทำมาหากินและเป็นที่อยู่อาศัย ในพื้นที่อำเภอบ้านไร่ อำเภอห้วยคต และอำเภอลานสัก ในปัจจุบัน
อีกหลักฐานหนึ่ง พบว่า ในสมัยที่กรุงสุโขทัยกำลังเจริญรุ่งเรืองนั้น ท้าวมหาพรหมได้เข้ามาสร้างเมืองที่บ้านอุทัยเก่า คือ อำเภอหนองฉางในปัจจุบันนี้ โดยพาคนไทยกลุ่มหนึ่งเข้ามาอยู่ท่ามกลางหมู่บ้านคนมอญและคนกะเหรี่ยง จึงเรียกว่า "เมืองอู่ไทย" ตามกลุ่มหรือที่อยู่ของคนไทยซึ่งพากันตั้งบ้านเรือนอยู่อย่างหนาแน่น มีพืชพรรณและอาหารอุดมสมบูรณ์กว่าแห่งอื่น ต่อมากระแสน้ำเปลี่ยนทางเดินและเกิดกันดารน้ำ เมืองอู่ไทยจึงถูกทิ้งร้าง จนในที่สุด พะตะเบิด ได้เข้ามาปรับปรุงเมืองอู่ไทย โดยขุดที่เก็บกักน้ำไว้ใกล้เมือง และพะตะเบิดได้เป็นผู้ปกครองเมืองอู่ไทยเป็นคนแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยา
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์จังหวัดอุทัยธานีข้างต้น จะเห็นได้ว่า ในสมัยที่กรุงสุโขทัยกำลังเจริญรุ่งเรืองนั้น ท้าวมหาพรหมได้เข้ามาสร้างเมืองที่บ้านอุทัยเก่า คือ อำเภอหนองฉางในปัจจุบันนี้ โดยการ พาคนไทยเข้ามาอยู่ท่ามกลางหมู่บ้านคนมอญและคนกะเหรี่ยง ซึ่งจะเห็นได้ว่า ชาวกะเหรี่ยงได้เข้ามาอยู่ในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานีก่อนคนพื้นเมืองเสียอีก แต่ไม่สามารถระบุปี พ.ศ.ที่แน่ชัดได้ น่าจะราว ๆ 700 – 800 ปี เห็นจะได้ หรืออาจจะอยู่มาก่อนยุคสุโขทัยอีกด้วย เนื่องจากอุทัยธานีเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยผืนป่า ได้แก่ผืนป่ามรดกโลกห้วยขาแข้ง และเทือกเขาในอำเภอลานสักและอำเภอบ้านไร่ที่เชื่อมโยงไปถึงทุ่งใหญ่นเรศวรจังหวัดกาญจนบุรี และยังเชื่อมโยงไปถึงเทือกเขาตะนาวศรีบริเวณเขตแดนประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ อีกทั้ง ยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพรรณธัญญาหาร ซึ่งเป็นภูมิประเทศที่เหมาะแก่การตั้งหลักปักฐานทำมาหากินของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงเป็นอย่างยิ่ง
ตามคำขวัญที่ว่า “ที่ไหนมีป่า ที่นั่นมีกะเหรี่ยง ที่ไหนมีกะเหรี่ยง ที่นั่นมีป่า” จึงสันนิษฐานว่า ชาวกะเหรี่ยงในจังหวัดอุทัยธานีนั้น ได้เล็งเห็นผืนป้าห้วยขาแข้งที่อุดมสมบูรณ์ จึงอพยพมาอยู่อาศัยผืนป่า แห่งนี้ เป็นที่อยู่อาศัย และได้ทำมาหากินดำรงชีพอยู่รอบ ๆ ป่าห้วยขาแข้ง และพื้นที่อื่น ๆ ของจังหวัดอุทัยธานีมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่สมัยประวัติศาสตร์สุโขทัย มาจนถึงปัจจุบัน บรรพบุรุษรุ่นแรกที่ย้ายมาอยู่ภูเหม็น อาทิ ภู่มเบิก ภู่มโถตา ภู่มโท่เค้า นางพิไล เป็นต้น มาตั้งถิ่นฐานอยู่ในกลุ่มเทือกเขาตะน่องโหว่ว เทือกเขาทิวาพร่อง เทือกเขาหล่งจื๊อ เทือกเขาเหม่งไคร่เคร่ เทือกเขาเช่อไผเพ่อ เทือกเขาแก่งกะดุก และเทือกเขาหนองปลาร้า
สำหรับชุมชนกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นนั้น จากการศึกษาค้นคว้าและการพูดคุยกับปราชญ์ชาวบ้านในชุมชน ทราบว่า ได้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณนี้มาอย่างยาวนานเป็นเวลากว่า 400 ปี ในยุคแรก ๆ นั้นมาอยู่กันไม่กี่ครัวเรือน หลังจากนั้น มีการเชิญชวนญาติพี่น้องจากชุมชนใกล้เคียงในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี และชุมชนกะเหรี่ยงโปว์จากต่างจังหวัดเข้ามาอยู่อย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นหมู่บ้านใหญ่ ปัจจุบันนี้มีประชากรตั้งถิ่นฐานกว่า 193 ครัวเรือน จำนวนประชากรกว่า 700 คน เดิมทีชุมชนกะเหรี่ยงแห่งนี้ใช้การปกครองอย่างไม่เป็นทางการโดยผู้นำชุมชนที่ชาวบ้านเคารพนับถือและร่วมกันคัดเลือกให้ดูแลชุมชน ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2415 ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นมีผู้ปกครองอย่างเป็นทางการ มีผู้ใหญ่บ้านเป็นของตนเอง อยู่ในเขตพื้นที่การปกครองของ หมู่ที่ 1 บ้านคลองแห้ง ตำบลคอกควาย อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี มีผู้ใหญ่บ้านที่ได้รับการแต่งตั้งจากทางการปกครองดูแลลูกบ้านตั้งแต่ปี พ.ศ. 2415 – 2533 จำนวน 9 คน ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2527 ได้มีการเปลี่ยนแปลงแบ่งเขตการปกครองพื้นที่รับผิดชอบใหม่ให้ขึ้นกับกิ่งอำเภอห้วยคต และแยกหมู่บ้านจากหมู่ที่ 1 บ้านคลองแห้ง ตำบลคอกควาย อำเภอบ้านไร่ เป็นหมู่ 8 บ้านภูเหม็น ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2533 เป็นต้นมา และมีผู้ใหญ่บ้านที่ได้รับการแต่งตั้งจากทางการปกครองชุมชนกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นมาแล้ว 3 คน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 – 2566 ในปัจจุบัน
ในชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็น มีเจ้าวัดชาย (ผู้นำแห่งจิตวิญญาณ) จำนวน 2 คน และ แม่ย่าอีก 1 คน ซึ่งเป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อและประเพณีวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงโปว์ บ้านภูเหม็นมายาวนาน ทำให้ในแต่ละปีชุมชนบ้านกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นจะต้องมีการประกอบพิธีไหว้เจดีย์ จำนวน 3 ครั้ง ได้แก่ การไหว้เจดีย์ในเดือน 3 เดือน 5 และเดือน 7 และนอกจากพิธีกรรมไหว้เจดีย์ของเจ้าวัดและแม่ย่าประจำปี และประกอบพิธีกรรมอื่น ๆ ตามวิถีชาวกะเหรี่ยงโปว์ที่มีการสืบสานมาจากบรรพชน ในปัจจุบันนี้ถือว่าเจ้าวัดนั้นมีความสำคัญยิ่งกับวิถีการดำรงชีวิตของผู้คนในชุมชนบ้านภูเหม็นตั้งแต่เกิดจนตาย เช่นเมื่อแรกเกิดให้เจ้าวัดเรียกขวัญ ตั้งชื่อ โกนจุก ผูกข้อมือด้วยด้ายเหลือง เมื่อเริ่มเป็นสาวอายุ 15 ปี เจ้าวัดจะทำพิธีเปลี่ยนผ้านุ่งจากผ้าขาวยาวกรอมข้อเท้า เป็นเสื้อและผ้าถุงสีแดง เมื่อแต่งงานเจ้าวัดทำพิธีให้ เมื่อถึงแก่กรรมเจ้าวัดก็ทำพิธีให้ เพราะฉะนั้นชาวกะเหรี่ยงจึงมีวิถีชีวิตที่ผูกพันอยู่กับเจ้าวัดตลอดทั้งชีวิต ในอดีตมี เจ้าวัดคนแรกของชาวภูเหม็น คือ จะโหม่ง ภูเหม็น คนที่ 2 ไบคู ภูเหม็น คนที่ 3 เด๊กเดามา ภูเหม็น ซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้ว ส่วนแม่ย่าปรังคนปัจจุบันนี้ เป็นภรรยาของเจ้าวัดเด็กเอามา ภูเหม็น ซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้วนั่นเอง
ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น มีศูนย์เด็กเล็กสำหรับรับเลี้ยงและดูแลเด็ก ๆ ก่อนวัยเรียน ส่วนเด็กชั้นประถมศึกษาเรียนหนังสือที่โรงเรียนบ้านตลิ่งสูงซึ่งอยู่ห่างไกลจากชุมชนเพียง 2 กิโลเมตร ส่วนระดับมัธยมศึกษาเรียนที่โรงเรียนห้วยคตพิทยาคม อำเภอห้วยคต ซึ่งอยู่ห่างจากชุมชนบ้านภูเหม็นราว ๆ 7 กิโลเมตร โดยภาพรวมแล้วในส่วนของการศึกษาของเด็ก ๆ ในชุมชน ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เด็ก ๆ ทุกคนมีโอกาสศึกษาจนจบการศึกษาภาคบังคับ
ชุมชนชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็น ได้ร่วมกันอนุรักษ์สืบสานประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามตามแบบ วิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงโปว์เอาไว้ได้เป็นอย่างดี ในหนึ่งปีชาวกะเหรี่ยงโปว์จะมีปฏิทินประเพณีวัฒนธรรมรวมถึงพิธีกรรมและความเชื่อตลอดทั้งปี
การคมนาคมสัญจรในอดีตชุมชนยังไม่มีถนนหนทาง ผู้คนในชุมชนต้องเดินเท้าไปตามทางเท้า ข้ามภูเขา ป่าไม้ ลำธาร เพื่อที่จะไปทำธุรกรรมที่อำเภอบ้านไร่ ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทาง 1 วัน พัก 1 คืน และเดินทางกลับอีก 1 วัน จึงจะกลับถึงบ้าน เพราะสมัยนั้นชุมชนนี้ขึ้นอยู่กับอำเภอบ้านไร่ หากจะต้องเดินทางไปที่ตัวจังหวัด จะต้องเดินทางถึง 2 วัน พักระหว่างทาง 3 คืน และเดินทางกลับอีก 2 วัน จึงจะถึงบ้าน แถมเส้นทางก็เต็มไปด้วยอันตรายจากสัตว์ป่า แมลงมีพิษ และการเดินทางที่ยากลำบากในฤดูฝน หากเจ็บป่วยหนักต้องพึ่งหมอยาสมุนไพรในชุมชนเป็นหลัก เพราะการที่จะเดินทางไปถึงโรงพยาบาลเป็นเรื่องที่ยากมาก และเสี่ยงกับการเสียชีวิตระหว่างเดินทางสูง ต่อมาเมื่อทางการเข้ามาพัฒนาถนนหนทาง มีถนนลูกรังเข้ามาถึงชุมชน มีรถโดยสารประจำทางรับ-ส่งผู้คน ในชุมชน ไปที่ตลาดทุ่งนา ตำบลเขาบางแกรก อำเภอหนองฉาง 1 จุด และเดินทางไปที่จังหวัดอุทัยธานี อีก 1 จุด ปัจจุบันนี้ไม่มีรถโดยสารประจำทางแล้ว หากคนในชุมชนที่จะเดินทางไปทำธุรกรรมในตัวอำเภอหรือจังหวัด ต้องเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล หรือรถจักรยานยนต์เป็นส่วนบุคคลเป็นหลัก หรืออาศัยเพื่อนบ้านไป เป็นต้น
การคมนาคม
- ระยะทางจากอำเภอถึงชุมชน 20 กิโลเมตร
- ระยะทางจากจังหวัดถึงชุมชน 60 กิโลเมตร
- ระยะทางจากกรุงเทพถึงชุมชน 280 กิโลเมตร
- เดินทางได้ทางบกทางเดียว คือ การคมนาคมสัญจรโดยรถยนต์และรถจักรยานยนต์
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านละว้า หมู่ 3 ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านคลองหวาย หมู่ 7 ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านหนองจอก หมู่ 7 ตำบลสุขฤทัย อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านคลองแห้ง หมู่ 1 ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี
สภาพพื้นที่ทางกายภาพ ขนาดพื้นที่ชุมชน พื้นที่สาธารณะ และสาธารณูปโภคชุมชน
พื้นที่ชุมชนบ้านภูเหม็นเป็นพื้นที่ราบเชิงเขา มีภูเขาขนาดไม่สูงมากและเนินเขาขนาดใหญ่สลับซับซ้อนเต็มพื้นที่ พื้นที่ส่วนใหญ่ร้อยละ 70 เป็นพื้นที่ทำการเกษตร พื้นที่ที่เหลือร้อยละ 30 เป็นพื้นที่ป่าไม้ชุมชน ภูเขา ลำธาร และเป็นพื้นที่ที่อยู่อาศัยของชุมชน จำนวน 193 ครัวเรือน
ชุมชนบ้านภูเหม็น มีลำห้วยภูเหม็นหรือพุเม้ยง์ไหลผ่านชุมชน มีต้นกำเนิดมากจากเทือกเขาบริเวณเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ในพื้นที่มรดกโลกห้วยขาแข้ง ในอดีตนั้นมีน้ำไหลผ่านตลอดทั้งปี ชาวบ้านมีน้ำอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรตลอดทั้งปี ต่อมาเมื่อชาวบ้านย้ายเข้ามาอยู่อาศัยและทำการเกษตรเป็น จำนวนมาก ทำให้ลำห้วยภูเหม็นเริ่มตื้นเขิน บางปีฝนแล้งน้ำในลำห้วยเกือบแห้งขอด บางปีฝนตกมากน้ำก็จะไหลหลาก สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนของชาวบ้านและเรือกสวนไร่นาพอสมควร ชาวบ้านช่วยกันสร้างฝายน้ำชุมชนด้วยไม้ไผ่แบบง่าย ๆ อยู่หลายจุด วางตำแหน่งไว้ห่าง ๆ กัน ตลอดแนวลำห้วยภูเหม็น เพื่อชะลอน้ำ ในฤดูฝน และเป็นการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง
การทำไร่หมุนเวียน บรรพบุรุษยุคแรกที่ย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในชุมชนบ้านภูเหม็น (พุเม้ยง์) แห่งนี้ เห็นว่า ผืนดินบริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์ มีเนินเขาและเชิงเขาที่ไม่สูงชันมากนัก เหมาะแก่การทำไร่หมุนเวียนตามแบบวิถีชนเผ่ากะเหรี่ยง มีป่าไม้นานาพรรณ มีลำห้วยไหลผ่านซึ่งจะเป็นแหล่งน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภค เรียกได้ว่าสภาพแวดล้อมมีความพร้อมในทุก ๆ ด้าน จึงตัดสินใจตั้งถิ่นฐานสร้างชุมชนอยู่ในบริเวณนี้จวบจนปัจจุบัน ในอดีตนั้นชุมชนชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นไม่ได้ปลูกพืชเกษตรเชิงเดี่ยวหรือพืชเศรษฐกิจ ปลูกเพียงข้าวไร่ในไร่หมุนเวียนรวมถึงพืชผักที่ใช้ในการดำรงชีวิต ต่อมาชาวบ้านเลิกทำไร่หมุนเวียนไประยะหนึ่ง เนื่องจากพื้นที่ทำการเกษตรมีจำนวนจำกัด หลังจากที่ภาครัฐประกาศให้พื้นที่ชุมชนเป็นป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2528 รัฐจัดสรรที่ดินทำกินให้ชาวบ้านเพียงครอบครัวละ 25 – 30 ไร่เท่านั้น ไม่เพียงพอต่อการทำไร่หมุนเวียน จึงหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจกัน ปัจจุบันชาวบ้านกลุ่มหนึ่งรู้สึกเสียดายวิถีการทำไร่หมุนเวียนของบรรพบุรุษ จึงเริ่มรื้อฟื้นการทำไร่หมุนเวียนกลับมาใหม่ เพื่อการอนุรักษ์ สืบสาน มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของบรรพชน และปัจจุบันนี้ผู้คนในชุมชนส่วนใหญ่ทำไร่ข้าวไว้กินโดยไม่ต้องซื้อ พื้นที่ที่เหลือก็จะปลูกพืชเกษตรเชิงเดี่ยวไว้ขายแลกเงินมาใช้ในการดำรงชีพ เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด สับปะรด ยางพารา ปาล์ม เป็นต้น
พื้นที่ทางสังคมและวัฒนธรรม ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็น เป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่มีการอนุรักษ์สืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงโปว์เอาไว้ได้อย่างเข้มแข็ง ชุมชนแห่งนี้มีเจ้าวัดถึง 3 คน คือมีเจ้าวัดผู้ชาย 2 คน และมีแม่ย่าอีก 1 คน ช่วยกันสืบสานวิถีผู้นำแห่งจิตวิญญาณ เป็นที่พึ่งทางใจให้กับผู้คนในชุมชน ประกอบพิธีกรรมทุก ๆ พิธีกรรมตลอดปีปฏิทิน นอกจากนี้ ยังมีวัดป่าภูเหม็นซึ่งเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของกะเหรี่ยงวิถีพุทธที่ยังคงไปวัดทำบุญที่วัดอยู่เสมอ และชาวกะเหรี่ยงโปว์ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของชุมชนก็มีความศรัทธา ในพระพุทธศาสนา จึงทำให้วัดป่าภูเหม็นเป็นอีกศาสนสถานหนึ่งที่เป็นพื้นที่ทางสังคมและวัฒนธรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งกับชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็น
ในชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นมีต้นไม้ขนาดใหญ่อายุกว่า 100 ปี จำนวน 5 ต้น ขึ้นอยู่ในบริเวณเดียวกัน คือ ต้นสมพงษ์ ปัจจุบันนี้ต้นไม้ทั้ง 5 ต้นได้ล้มลงแล้วด้วยแรงลมพายุที่พัดผ่านชุมชนในช่วงเดือน เมษายน 2566 เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง เพราะพื้นที่บริเวณนี้เคยเป็นพื้นที่ทางสังคม มีการประกอบพิธีทำบุญป่าชุมชน มีพิธีไหว้รุกขเทวดาเป็นประจำทุกปี
- ประชากรมีจำนวน 193 ครัวเรือน ประชากรทั้งหมด 681 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 342 คน และ ประชากรหญิง 339 คน
- ประชากรทั้งหมดเป็นเชื้อสายกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (โผล่ว) 681 คน คิดเป็นร้อยละ 100
- ระบบเครือญาติ ประชากรในชุมชนทั้งหมดเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (โผล่ว) อาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวขยายที่มีผู้คนหลากหลายช่วงวัย มีเพียงบางส่วนที่อยู่อาศัยเป็นครอบครัวเดี่ยว
7.1 กลุ่มที่เป็นทางการ
7.1.1 กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์
ชุมชนบ้านภูเหม็นเคยมีการรวมตัวกันเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการออมทรัพย์ของชุมชน และใช้ในการระดมทุนให้คนในชุมชนได้กู้ยืมไปประกอบอาชีพทางการเกษตร ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรโดยตรง ปัจจุบันนี้ยังคงมีสมาชิกเหลืออยู่จำนวนมาก สมาชิกแต่ละคนจะต้องจ่ายเงินออมาเข้าสหกรณ์ออมทรัพย์ คนละ 360 บาท ต่อปี และปัจจุบันนี้ เมื่อรัฐบาลได้จัด ให้มีกองทุนหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1 ล้านบาท กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์บ้านภูเหม็นส่วนหนึ่งหันไปใช้บริหารกองทุนหมู่บ้านแทน แต่อีกส่วนหนึ่งก็ยังคงยืนหยัดร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ต่อไปอย่างไม่เปลี่ยนแปลง
7.1.2 กลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์
ประชากรในชุมชนมีการรวมตัวกันในนามกลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์ทั้งชุมชน โดยมี วัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพของครอบครัวสมาชิก โดยให้ครอบครัวสมาชิกจ่ายเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ครอบครัวละ 50 บาท ต่อ 1 ศพ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของทาญาติในการจัดงานศพ แต่หากสมาชิกรายใดพอมีทุนทรัพย์ก็อาจจะให้มากกว่า 50 บาท ก็ได้ตามความสมัครใจ
7.2.3 กลุ่มทอผ้ากะเหรี่ยง
ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดอุทัยธานี และกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืชได้จัดทำโครงการส่งเสริมอาชีพให้แก่ราษฎรชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็น โดยเฉพาะเรื่องการทอผ้ากะเหรี่ยง และให้มีการรวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มอาชีพด้านการทอผ้า เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ ให้กับกลุ่มแม่บ้านหลังจากฤดูกาลเกษตร กลุ่มแม่บ้านจะได้รวมตัวกันทอผ้ากะเหรี่ยง สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ชุมชน รวมถึงสร้างตลาดในการจำหน่ายในทุกแพลตฟอร์ม เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่สมาชิกกลุ่มทอผ้าให้มีรายได้เลี้ยงครอบครัวได้อย่างยั่งยืน
7.2.4 กลุ่มเลี้ยงสัตว์
มหาวิทยาราชภัฏนครสวรรค์ ได้เข้ามาส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจให้กับชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นนั้นมีรายได้เสริมจากการทำไร่ทำสวนในปัจจุบัน เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น และเพื่อให้ชาวบ้านมีเงินเพียงพอที่จะส่งบุตรหลานให้ได้เรียนหนังสือ และให้บุตรหลานมีงานที่ที่ดี ๆ ในอนาคต ซึ่งสัตว์เศรษฐกิจที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์สนับสนุนให้มีการเลี้ยงในครัวเรือน ได้แก่ ปลาดุก หอย อ้น เป็ด เป็นต้น และปัจจุบันนี้มีสมาชิกเข้าร่วมโครงการฯ กว่า 50 คน และสมาชิกเริ่มมีรายได้จากการเลี้ยงสัตว์ดีขึ้นตามลำดับ คาดว่าในอนาคตสมาชิกจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
7.2 กลุ่มที่ไม่เป็นทางการ
7.2.1 กลุ่มทอผ้ากะเหรี่ยงโปว์
มีการรวมกลุ่มอย่างไม่เป็นทางการ สำหรับกลุ่มทอผ้ากะเหรี่ยงโปว์บางกลุ่มหลังจากเสร็จภารกิจจากการทำการเกษตร จะมานั่งกันเป็นกลุ่มตามใต้ถุนบ้านหรือใต้ต้นไม้นั่งทอผ้ากะเหรี่ยง ซึ่งเป็นผ้าทอมือโดยใช้กี่เอวในการทอผ้า ส่วนใหญ่จะเป็นการทอผ้าไว้ตัดเย็บเสื้อผ้าไว้ใช้ในครัวเรือน ไม่ได้ทอผ้าเพื่อการจำหน่ายหรือทำการตลาดแต่อย่างใด
7.2.2 กลุ่มประเพณีวัฒนธรรมและพิธีกรรม
ในชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็น เป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่ชาวกะเหรี่ยงโปว์ได้มีการรักษาประเพณีวัฒนธรรมและการทำพิธีกรรมในชุมชนเอาไว้ได้เป็นอย่างดี ประเพณีและวัฒนธรรมกะเหรี่ยงที่บรรพชนมอบให้ไว้ ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นสามารถรักษาไว้ได้เกือบจะครบถ้วนสมบูรณ์ เช่น การมีเจ้าวัด (ผู้นำแห่งจิตวิญญาณ) ถึง 3 คน ในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ในหนึ่งรอบปีปฏิทินของชุมชน และการประกอบพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิถีการดำเนินชีวิตของแต่ละครอบครัว ก็ได้อาศัยเจ้าวัดและแม่ย่าช่วยกันขจัดปัดเป่าสิ่งที่เป็นโชคร้าย ผีสางนางไม้ และสิ่งที่เป็นอัปมงคลให้ออกไปจากชุมชน ซึ่งในการประกอบพิธีกรรมก็จะมีการรวมตัวกันของชาวบ้านเป็นกลุ่ม ๆ แบ่งแยกกันไปตามเครือญาติที่สนิทชิดเชื้อ
7.2.3 กลุ่มศรัทธาวัด
มีชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นกลุ่มหนึ่งที่มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้าด้วยความศรัทธาได้รวมตัวกันไปทำบุญที่วัดป่าภูเหม็นเป็นประจำทุกวันธรรมสวนะ ซึ่งเป็นศาสนสถานที่มีพระสงฆ์จำวัดอยู่ตลอดปี ปัจจุบันนี้มีพระสงฆ์จำวัด จำนวน 5 รูป จึงอีกสถานที่หนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านได้มีสถานที่ในการพูดคุยเรื่องสัพเพเหระ หารือเรื่องการทำการเกษตร และมีการเชื่อมโยงปฏิสัมพันธ์ให้ผู้คนในชุมชนมีความรักความผูกพันกัน ซึ่งเป็นที่มาของความรักความสามัคคีของในชุมชน
7.2.4 กลุ่มทำการเกษตร
ผู้คนในชุมชนมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มย่อย ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเครือญาติ 4 – 5 หลังคาเรือนที่เป็นกลุ่มบ้านใกล้เรือนเคียงกัน จะมีการรวมตัวช่วยเหลือกันทางการเกษตร เช่น มีการรวมตัวกัน ลงแขกปลูกข้าวไร่ ลงแขกเกี่ยวข้าว ลงแขกขุดมันสำปะหลัง โดยจะเป็นลักษณะของการเอาแรงกัน เริ่มจากบ้านหนึ่งหมุนเวียนไปเรื่อย ๆ จนครบทุกบ้าน เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการทำการเกษตรประจำปี
8.1 ปฏิทินประเพณีและวัฒนธรรม
เดือน มกราคม 2566 ประเพณีกินข้าวใหม่ การตำข้าวใหม่ และเรียกขวัญข้าว
กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงมีความเชื่อเรื่องธรรมชาติ เพราะกะเหรี่ยงนั้นต้องพึ่งพาธรรมชาติเป็นอย่างมาก และเป็นผู้รู้คุณค่าของธรรมชาติ ตลอดจนถึงทุกสิ่งที่มีคุณกับชาวกะเหรี่ยง โดยเฉพาะข้าวที่ใช้รับประทานทุกวัน ชาวกะเหรี่ยงถือว่ามีพระคุณอย่างใหญ่หลวง จึงนับถือพระแม่โพสพ พร้อมทั้งอุปกรณ์การเกษตรก็ถือว่ามีพระคุณต่อทุกคนในการประกอบอาชีพ การทำไร่ข้าวของชาวกะเหรี่ยง ปลูกไว้แค่เพียงพอในการรับประทานในครอบครัวในรอบ 1 ปี เท่านั้น จึงไม่เหลือพอที่จะขาย การกินข้าวใหม่ที่เพาะปลูกมาจึงมีความหมายกับชาวกะเหรี่ยงมาก จึงถือกำเนิดการจัดพิธีการกินข้าวใหม่ ซึ่งถือเป็นประเพณีปฏิบัติมาตลอดของทุกครอบครัว การทำพิธีนี้ทุกคนที่ทำไร่ข้าวและเก็บเกี่ยวนวดข้าว (ทำให้ข้าวเปลือกหลุดจากซังข้าว) เป็นข้าวเปลือกและนำข้าวเปลือกไปตำด้วยครกกระเดื่อง จึงได้ข้าวสารมา ดังนั้น ทุกคนในครอบครัวจะปรึกษากันจัดพิธีกินข้าวใหม่ พร้อมเชิญแขกในหมู่บ้านมาร่วมงานกินข้าวใหม่ด้วย พิธีหุงข้าวใหม่ที่ได้จากการตำข้าว จากครกกระเดื่อง และสิ่งสำคัญที่จะขาดเสียไม่ได้ คือ หอย ปู กุ้ง เผือก มาเป็นอาหารในมื้อนั้น อุปกรณ์เกษตร เช่น ไถ จอบ เสียม มีด นำมาวางไว้ที่หน้าเตาไฟ เมื่อหุงข้าวเสร็จ พร้อมด้วยแกง (หอย กุ้ง ปู เผือก) จะนำเอาข้าวที่หุงพร้อมแกงมาวางที่อุปกรณ์การเกษตรที่วางไว้ พร้อมอธิษฐานบอกกล่าว ขอพรให้ทำข้าวได้ดีไม่มีศัตรูรบกวน เมื่อบอกกล่าวเสร็จ ทุกคนในครอบครัวพร้อมแขกที่มาร่วมงาน จึงเริ่มกินข้าวใหม่พร้อมกัน งานพิธีกินข้าวใหม่จะไม่มีเหล้า การทำพิธีจะทำในตอนเช้าถึงก่อนเที่ยงวัน ซึ่งจะไม่สามารถเลยเที่ยงวันได้
ความสัมพันธ์และอิทธิพลที่มีต่อวิถีชีวิต ข้าวไร่นั้นเป็นอาหารหลักของชาวกะเหรี่ยงมาตั้งแต่ยุคบรรพบุรุษ ปัจจุบันประชากรไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ยังคงทำไร่ข้าวเพื่อเลี้ยงชีพคนในครอบครัว ดังนั้น พิธีกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปลูกข้าว จึงยังคงรักษาเอาไว้ได้อย่างสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นตอนปลูกข้าว ตอนที่ใบข้าวเริ่มโค้งงอลงมาถึงพื้นดิน ตอนข้าวออกรวง และตอนเก็บเกี่ยวข้าว ล้วนแต่มีพิธีกรรมในการบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทางขอให้ได้ผลผลิตเป็นจำนวนมาก ๆ และให้มีผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ
เดือน กุมภาพันธ์ และ มีนาคม การทำบุญเจดีย์ (ไหว้เจดีย์ เดือน 3)
ชาวกะเหรี่ยง (โปว์) กลุ่มผู้นับถือเจ้าวัดด้ายเหลือง (ล๊งบ่อง) จะจัดทำสถานที่ศักดิ์สิทธิ์หรือสถานที่แห่งความเคารพยำเกรงสำหรับพื้นที่ที่ตนเองอาศัยอยู่ โดยจัดสร้างเป็นสิ่งก่อสร้างที่เรียกว่า เจดีย์ หรือโกร่ง เป็นมูลดินที่ก่อสูงขึ้นเป็นชั้นจากใหญ่ไปหาเล็ก จำนวน 3 ชั้น หรือ 5 ชั้น (การกำหนดชั้นของมูลดินที่ ก่อนั้น ขึ้นอยู่กับจำนวนวันที่ทำบุญ ส่วนใหญ่จะกำหนดเพียง 3 วัน) เจดีย์หรือโกร่งที่ก่อขึ้นเป็นองค์วัตถุประธานในพิธีทำบุญใหญ่ประจำปีของกลุ่มหรือ “มาโบงเดิ่งสะล่อง” ซึ่งเจดีย์ดังกล่าวจะมี 2 ชนิดคือเจดีย์ปิดและเจดีย์ปล่อย
เจดีย์ปิด เป็นเจดีย์ที่ก่อสร้างขึ้นในกลุ่มหมู่บ้านและมีเจ้าวัดดูแลการประกอบพิธีกรรม โดยเจ้าวัดจะทำพิธีไหว้ทุกวันพระและประเพณีทำบุญใหญ่ประจำปี (มาโบงเดิ่งสะล่อง) นอกจากนี้ เจดีย์ยังเป็นสิ่งเคารพบูชา ที่เด็กเกิดใหม่เมื่อแข็งแรงดีแล้ว พ่อแม่จะพามาไหว้เจดีย์ คู่บ่าวสาวที่แต่งงานใหม่ ก็จะมาไหว้เจดีย์เช่นกัน หรือหากมีคนในชุมชนทำผิดจารีตประเพณี ก็ต้องมาทำพิธีไหว้เพื่อเป็นเครื่องชำระล้างทางจิตใจ เจดีย์ปิดมีลักษณะที่มีกฎระเบียบเคร่งครัดในเรื่องการรักษาความสะอาด ห้ามใส่รองเท้าเข้าไปในบริเวณเจดีย์ ห้ามถ่ายรูปโดยเด็ดขาด
ลักษณะของเจดีย์ที่ทำการก่อสร้างนั้น บุคคลที่ได้บวชเป็นเจ้าวัดแล้ว จะเป็นคนเลือกสถานที่ที่มีความเหมาะสม เป็นลานกว้างสามารถจุคนได้จำนวนมากเพื่อสร้างเจดีย์ และเรือนสำหรับประกอบพิธีกรรม จุดที่ตั้งเจดีย์จะก่อมูลดินเป็นชั้น จำนวน 3 ชั้น ตรงกลางจะนำเสาไม้แข็งมาปัก โดยปลายเสาไม้ถูกเจาะรูแล้วนำไม้สอดเข้าไปในรูเป็นคล้าย ๆ ไม้กางเขน บนยอดเสาเจดีย์จะใช้ไม้แกะสลักรูปนกบิน ชาวกะเหรี่ยงเรียกไม้นี้ว่า “สะเดิ่ง” นอกจากนี้ยังตกแต่งเสาเจดีย์ให้สวยงามด้วยดอกไม้ เส้นสายใยประดิษฐ์ไหมพรมโยงตาม ต้นเสาและถักทอเป็นรูปต่าง ๆ นำมาประดับบริเวณต้นเสาหรือเจดีย์ เพื่อให้เกิดความสวยงามแก่เสาเจดีย์ ระยะห่างประมาณ 2 – 3 วา จะนำไม้ไผ่มาทำเป็นรั้วล้อมรอบเจดีย์ ที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีประตูเข้า 4 ด้าน เจดีย์ที่สร้างขึ้นจะเป็นลักษณะชั่วคราว มีการปรับปรุงดูแลเพื่อใช้ประกอบพิธีกรรม เจดีย์อาจมีการพิจารณาเคลื่อนย้ายปรับปรุงได้ หลังจากใช้ประกอบพิธีกรรมครบ 3 ปีแล้ว จะกำหนดว่าจะตั้งเจดีย์ที่เดิมหรือที่ใหม่ที่เหมาะสมเพื่อเป็นเจดีย์ถาวร ซึ่งเมื่อตั้งถาวรแล้วจะเคลื่อนย้ายอีกไม่ได้ จนกว่าเจ้าวัดคนสร้างจะเสียชีวิต บริเวณที่ตั้งเจดีย์ก็จะถูกยกเลิกไป แต่จะไม่มีการปลูกพืชหรือบ้านเรือนที่อยู่อาศัยหรือสิ่งก่อสร้าง ใด ๆ บริเวณนี้ตลอดไป
ประเพณีการไหว้เจดีย์ของชาวกะเหรี่ยงกลุ่มด้ายเหลืองนี้ ถือเป็นประเพณีที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน โดยเชื่อว่าการไหว้เจดีย์จะทำให้อยู่เย็นเป็นสุข ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยทั้งตนเองและครอบครัว เป็นการขอพรต่อเจ้าที่แม่พระธรณีที่จัดทำไว้ เป็นความเชื่อและความศรัทธาเป็นสิริมงคลต่อชีวิต ประเพณีการไหว้เจดีย์ซึ่งเป็นงานบุญใหญ่ประจำปี จะมีในช่วงวันเพ็ญเดือน 3 ถึงเดือน 7 ของทุกปี ใช้เวลาในการประกอบพิธีการไหว้เจดีย์ 3 วัน (ก่อนวันเพ็ญจนถึงหลังวันเพ็ญ) ประเพณีนี้จะมีการตกลงกันของเจ้าวัดกลุ่มด้ายเหลืองในจังหวัดและบริเวณใกล้เคียงว่าจะเริ่มที่หมู่บ้านใดก่อน บ้านอื่นก็จะไปร่วมพิธีด้วย โดยเฉพาะเจ้าวัด เมื่อเจ้าวัดประชุมตกลงกันเลือกว่าหมู่บ้านของตนจะมีงานบุญใหญ่ประจำปีไหว้เจดีย์ ในวันเพ็ญเดือนใดก็จะแจ้งให้ทุกคนในชุมชนทราบ เพื่อเตรียมวางแผนจัดงาน การบูรณะปรับปรุงเรือนประกอบพิธีกรรมให้สะอาดแข็งแรง เพื่อไว้สำหรับเป็นที่พักของเจ้าวัดและผู้เข้าร่วมพิธีกรรม เรือนพิธีดังกล่าวจะถูกแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ
ส่วนแรก เป็นที่สำหรับเจ้าวัดและที่สำหรับจัดวางเครื่องประกอบพิธีกรรม
ส่วนที่สอง อยู่ต่ำกว่าเจ้าวัดลงมา เป็นบริเวณชานเรือน ด้านหน้าสำหรับบุคคลทั่วไปขึ้นมาร่วมงานและรับประทานอาหาร ซึ่งจะมีบันไดขึ้นทั้งสองข้าง
ส่วนที่สาม อยู่ด้านปีกขวาของที่ที่เจ้าวัดพัก และจะเป็นที่พักสำหรับผู้ชายที่มาร่วมงานด้วย
ส่วนที่สี่ อยู่ด้านปีกซ้ายของที่ที่เจ้าวัดพัก จะเป็นที่พักของผู้หญิงที่มาร่วมงาน
หลังจากได้ร่วมกันบูรณะเรือนพิธีแล้ว ก็จะร่วมกันจัดทำสะเดิ่ง เพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงบริเวณงาน พร้อมทั้งปรับปรุงตกแต่งบริเวณเจดีย์ให้สวยงาม เมื่อถึงกำหนดงานการไหว้เจดีย์วันแรกจะร่วมกันนำวัสดุต่าง ๆ ที่จัดเตรียมไว้ในงานมาตั้งขบวนแห่รอบเจดีย์และเรือนพิธี เพื่อนำเครื่องหมายวัสดุดังกล่าวไปจัดตั้งตรงบริเวณที่วางแผนไว้
พิธีไหว้เจดีย์ในวันแรก จะเริ่มเวลาเย็น ผู้มาร่วมงานจะเดินขึ้นไปบนเรือนพิธี นำสิ่งของที่มาร่วมในงาน เช่น ของกินของใช้ และเงินมอบให้กับเจ้าวัด เพื่อใช้ในการจัดงาน เงินจะนำไปติดไว้ที่ต้นเทียน ซึ่งทำมาจากขี้ผึ้งแท้ เพื่อร่วมเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดงานครั้งนี้ จากนั้น บางคนก็จะรับประทานอาหารที่เจ้าวัดกับชุมชนได้เตรียมไว้ สิ่งที่ชาวบ้านได้เตรียมมาร่วมงานไหว้เจดีย์ ได้แก่ การแต่งกายในชุดชาวกะเหรี่ยง เตรียมเทียนไขที่ทำจากขี้ผึ้งแท้ ดอกไม้ และน้ำขมิ้น สำหรับปะพรมเจดีย์ เมื่อได้เวลาที่เหมาะสมแล้ว จะมีการให้สัญญาณที่จะเริ่มพิธี กลุ่มคนกลุ่มแรกที่จะไหว้เจดีย์ก่อน จะเป็นกลุ่มผู้หญิงที่จะร่วมกันทำพิธีกรรม เสร็จแล้วจึงจะเป็นการทำพิธีกรรมของเจ้าวัด โดยจะสวดขอพรเป็นภาษากะเหรี่ยงเป็นการขอพรแม่พระธรณีให้อยู่เย็นเป็นสุข ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ เมื่อสวดจบเจ้าวัดจะนำเทียนและดอกไม้เข้าปักในรั้วที่โคนเจดีย์ การเดินเข้าประตูสามารถเข้าได้ทั้ง 4 ด้าน เมื่อผู้เข้าร่วมงานเข้าประตูใดเวลาออกต้องออกประตูนั้น เมื่อพิธีกรรมการไหว้ขอพรจบแล้ว จะเป็นการเต้นรำตามแบบของชาวกะเหรี่ยง โดยมีเครื่องดนตรี ประกอบด้วย กลอง ที่มีการจัดทำคล้ายกลองยาว ฆ้อง และ ฉาบ นักดนตรีจะบรรเลงดนตรีล้อกับเสียงเพลงในภาษากะเหรี่ยงที่มีผู้ขับร้อง เจ้าวัดผู้นำประกอบพิธีกรรมจะรำไหว้เจดีย์ ตามความเชื่อที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา พิธีกรรมการไหว้เจดีย์และการรำจะแยกชายหญิงออกจากกัน โดยมีคณะของเจ้าวัดอยู่ตรงกลาง
การไหว้เจดีย์จะปฏิบัติกันจนครบ 3 วัน แล้วในวันรุ่งขึ้นจะทำพิธีครั้งสุดท้าย แล้วจะทำการกรวดน้ำด้วยน้ำขมิ้น ปะพรมบริเวณเจดีย์ เพื่อความเป็นสิริมงคล ถือเป็นการเสร็จสิ้นประเพณีการไหว้เจดีย์ “มาโบงเดิ่งสะล่อง” ข้อห้ามสำคัญในการประกอบพิธีนั้น ห้ามนำเครื่องดองของเมา เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เข้าไปในบริเวณงาน ห้ามมิให้ถ่ายภาพหรือวีดิโอโดยเด็ดขาด
การไหว้เจดีย์ เดือน 3 ของชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็น จะเป็นเจดีย์ของแม่ย่าปรัง โดยส่วนใหญ่จะตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ หรือ เดือนมีนาคม ซึ่งชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นทุกครัวเรือนพร้อมใจกันเตรียมอาหารการกินไปร่วมงานบุญไหว้เจดีย์ เดือน 3 โดยพร้อมเพรียงกัน
เดือน เมษายน
1) การทำบุญเจดีย์ (ไหว้เจดีย์ เดือน 5)
การทำบุญไหว้เจดีย์ เดือน 5 โดยมากจะตรงกับเดือน เมษายน แต่จะมีบางปีล่วงเลยไปถึงเดือนพฤษภาคม การสร้างเจดีย์หรือความสำคัญของเจดีย์ก็จะเหมือนกันกับการไหว้เจดีย์ เดือน 3 ที่ได้กล่าวมาแล้วเบื้องต้น ในส่วนของการไหว้เจดีย์เดือน 5 ของชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็น เป็นการไหว้เจดีย์ของ เจ้าวัดอ้วน เยปอง ซึ่งเป็นเจ้าวัดที่มีศักดิ์อาวุโสมากที่สุดในบรรดาเจ้าวัดและแม่ย่าทั้ง 3 คน ที่ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นให้ความเคารพนับถือ เพราะฉะนั้นเมื่อถึงวันเพ็ญเดือน 5 ชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นทุกครัวเรือนพร้อมใจกันเตรียมอาหารการกินไปร่วมงานบุญไหว้เจดีย์ เดือน 5 โดยพร้อมเพรียงกัน
2) พิธีกรรมค้ำต้นไทร
กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น มีประเพณีทำบุญต้นไม้ใหญ่ต่อชะตาชีวิตที่สืบทอดมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ ซึ่งชุมชนชาวกะเหรี่ยง มีความเชื่อว่าที่เกิดมาตั้งแต่เล็กจนตาย ทุกคนมีชีวิตเจริญเติบโต และมีชีวิตที่แตกต่างกัน มีความเชื่อว่าโชคชะตาเป็นผู้กำหนดในการเจริญเติบโต วิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงผูกพันกับป่า คนกับป่าจึงคู่กัน การต่อชะตาจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะมีชีวิตที่เจริญงอกงาม เพื่อให้อายุยืนยาวและเป็นการขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเป็นการขอพรให้มีความเจริญรุ่งเรืองอายุยืนยาวเหมือนต้นไม้ จึงเกิดพิธีกรรมที่เรียกว่า “การทำบุญต่อชะตาอายุคนกับต้นไม้”
การต่อชะตาชีวิตของชุมชนกะเหรี่ยงจะเริ่มหลังวันปีใหม่ คือ หลังวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี โดยแต่ละหมู่บ้านถือว่าวันต่อชะตาชีวิตนี้เป็นวันสำคัญ ทุกคนจะขาดการร่วมประเพณีไม่ได้ การกำหนดจัดงาน ผู้อาวุโสในชุมชนจะเป็นผู้กำหนดวัน ทุกคนในหมู่บ้านเมื่อถึงวันทำพิธีจะมาช่วยกันทำ ความสะอาดบริเวณต้นไม้ โดยส่วนใหญ่จะเป็นต้นไทร เพราะมีความเชื่อว่าต้นไทรเป็นต้นไม้ที่ให้ร่มเงา อายุยืนมั่นคง และเป็นต้นไม้ในพุทธประวัติ การทำความสะอาดบริเวณต้นไม้จะเป็นช่วงเช้าเวลา 07.00 – 10.00 น. พอถึงช่วงบ่าย เวลาประมาณ 13.00 น. ทุกคนทุกบ้านในชุมชนจะมาพร้อมกันบริเวณต้นไม้ที่จะทำพิธีต่อชะตา โดยทุกคนจะเตรียมไม้ไผ่ลำพอดีและสูงท่วมหัว คนละ 1 ลำ มาพร้อมกัน พร้อมกระบอกน้ำ เทียน ดอกไม้ น้ำขมิ้น เตรียมมาเข้าพิธี บ้านใดที่มีสมาชิกในครอบครัวไม่มา ก็ให้ผู้นำครอบครัวนำไม้ไผ่มาแทนกระบอกน้ำและเมื่อทุกคนมาพร้อมกันแล้ว ผู้นำจะกล่าวอธิษฐานขอพรจากต้นไม้ ให้ทุกคนอธิษฐานขอพร จากต้นไม้ พร้อมกับปล่อยสัตว์ ทุกคนจะเตรียมดอกไม้ที่เตรียมไว้ไปวางที่ต้นไม้ พร้อมกราบ 3 ครั้ง เป็นอันเสร็จสิ้นพิธี
3) ประเพณีตากผ้า ตำขมิ้น ล้างเท้า
ประเพณีตากผ้า ที่ได้รับการสืบสานมาจากบรรพชน เป็นเรื่องราวของความเชื่อว่า ชาวกะเหรี่ยงนั้นจะพร้อมในกันนำเสื้อผ้ากะเหรี่ยงออกมาตากพร้อม ๆ กัน ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าที่ใส่แล้วหรือเสื้อผ้าใหม่ก็ตาม และเมื่อทุกบ้านนำผ้ามาตากนอกบ้านพร้อมกันทั้งหมู่บ้าน จะมองเห็นหมู่บ้านเต็มไปด้วยสีสัน โดยเฉพาะสีแดงที่เป็นสีพื้นฐานของชุดเครื่องแต่งกายของกะเหรี่ยง ซึ่งจะมองเห็นได้ จากระยะไกล ดังนั้น จึงเป็นที่มาของความเชื่อทีว่า หากชาวบ้านนำผ้ามาตากจำนวนมาก เทวดาจะสามารถมองเห็นและรู้ว่ายังมีชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่ตรงนี้ และเทวดาจะปกปักษ์รักษาให้ชุมชนกะเหรี่ยงแคล้วคลาดปลอดภัยจากภยันตรายทั้งปวง และดลบันดาลให้ชาวกะเหรี่ยงอยู่เย็นเป็นสุข
ประเพณีตำขมิ้น ขมิ้นถือว่าเป็นสมุนไพรที่มีความสำคัญกับวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงเป็นอย่างมาก ทุกบ้านจะมีไว้ติดบ้าน นอกจากนี้ ยังเป็นพืชที่มีความสำคัญกับความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรมในหลายพิธีกรรมอีกด้วย
ประเพณีการล้างเท้า ลูกหลานชาวกะเหรี่ยงทุกคนจะได้รับการอบรมสั่งสอนให้บรรพบุรุษให้มีความกตัญญูรู้คุณบิดามารดา ดังนั้น ลูกหลานชาวกะเหรี่ยงจะคุ้นชินกับการล้างเท้าบิดามารดา ไม่ว่าจะเป็นชีวิตประจำวัน หรือพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น การแต่งงาน เป็นต้น
เดือน พฤษภาคม
1) การอาบน้ำมนต์ เป็นพิธีกรรมที่จะทำในเดือน 6 เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ และล้างบาปให้กับตัวเองและคนในครอบครัว พอถึงรุ่งเช้าคนในครอบครัวจะไปผูกแขนด้วยด้ายเหลือง โดยเจ้าวัดหรือ ผู้อาวุโสในชุมชนเป็นคนผูกแขนให้
2) การปักสะเดิ่งบ้าน ผู้อาวุโสหรือหัวหน้าครอบครัวจะเป็นผู้ทำพิธีปักสะเดิ่ง เพื่อเป็นการ ปกปักษ์รักษาคนในครอบครัวให้อยู่เย็นเป็นสุข แคล้วคลาดปลอดภัยจากภยันตรายใด ๆ ทั้งปวง
เดือน มิถุนายน
ประเพณีก่อเจดีย์ทราย เป็นพิธีกรรมที่ชุมชนร่วมกันก่อเจดีย์ให้ลำห้วย โดยการขุดบ่อทำที่วางของที่จะทำพิธี เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน น้ำขมิ้นในการทำพิธีจะต้องใช้คน 2 คน ลงไปอยู่ในบ่อ เพื่อเป็นตัวแทนของจระเข้และพญานาค และคนที่อยู่นอกบ่อน้ำจะทำการร่ายรำทำเพลงในการประกอบพิธีกรรมเรียกฝน
เดือน กรกฎาคม
1) การปักสะเดิ่งในไร่ข้าว เป็นการทำพิธีกรรมเพื่อปกป้องรักษาต้นข้าวให้สมบูรณ์ ไม่ให้มีผีสางนางไม้หรือภัยธรรมชาติมาทำให้ไร่ข้าวเสียหาย และขอให้ได้ผลผลิตข้าวมาก ๆ ข้าวมีคุณภาพดี
2) การปักสะเดิ่งในลำห้วย พิธีกรรมนี้จะทำเฉพาะวันพระ ซึ่งทุกครัวเรือนจะต้องมารวมตัวกันในลำห้วย โดยมีความเชื่อว่าเป็นการขอขมาพระแม่คงคาและพระแม่ธรณี อีกทั้งเป็นการขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล
เดือน สิงหาคม
พิธีกรรมการทำขนมจีนขี้เหนียว จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในหมู่บ้านจะต้องทำขนมจีนขี้เหนียว โดยจะต้องทำขนมจีนด้วยตัวเอง พิธีนี้จะเริ่มจากหมู่บ้านที่อยู่ต้นน้ำก่อน และไหลลงมาตามสายน้ำจนครบทุกหมู่บ้าน
เดือน กันยายน และ เดือน ตุลาคม
การถอนหญ้าในไร่ข้าว ในเดือนกันยายนและเดือนตุลาคม เป็นฤดูฝนและเป็นช่วงที่พืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าวไร่กำลังงามและกำลังออกรวง ดังนั้น ช่วงนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่จะอยู่ในไร่ข้าว ถอนหญ้า ใส่ปุ๋ย ฉีดยาฆ่าแมลง ดูแลข้าวเพื่อให้ได้ผลผลิตมาก ๆ และผลผลิตมีคุณภาพดี
หาเห็ด หาหน่อไม้ การเข้าสู่ฤดูผลอย่างเป็นทางการ และบางปีที่มีปริมาณน้ำฝนมาก ฝนก็จะตกยาวนานมาหลายเดือนแล้ว ทำให้ผลผลิตจากป่ากำลังออกดอกออกผลให้ชาวบ้านได้เก็บเกี่ยว นำไปบริโภคหรือนำไปจำหน่าย สร้างรายได้ให้กับครัวเรือน
เดือน พฤศจิกายน
1) พิธีกรรมในการเกี่ยวข้าว เมื่อข้าวเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว จนสามารถนำไปใช้บริโภคได้ เมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จก็จะมีการทำพิธีขอบคุณเครื่องมือเกี่ยวข้าว โดยจะนำน้ำขมิ้น ดอกไม้ ธูป เทียน พร้อมทั้งอาหารเซ่นไหว้ ในขณะที่เกี่ยวข้าว เพื่อจะให้ได้ข้าวในปริมาณมาก ๆ ในการเก็บเกี่ยวครั้งนี้ หลังจากการเก็บเกี่ยวเสร็จแล้ว ก็ทำพิธีเก็บข้าวเข้ายุ้ง โดยนำน้ำขมิ้น ดอกไม้ ธูป เทียน ไปไหว้ข้าวที่จะเก็บนั้น
2) ลอยกระทง ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นร่วมกันทำกระทงจากกาบกล้วยมาตัดเป็นท่อน และเหลาไม้ไผ่มาเสียบกันคล้าย ๆ แพ และทำการต่อกรงขึ้น กระทงนี้จะลอยในช่วงกลางคืน ทุกคนในหมู่บ้านจะมารวมตัวกันที่ลำห้วย และนำข้าวที่เก็บจากไร่มาวางในกระทง มีพริกก็ใส่พริก มีดอกไม้ก็ใส่ดอกไม้ เมื่อชาวบ้านนำของมาใส่ในกระทงครบทุกครัวเรือนแล้ว เจ้าวัดหรือผู้อาวุโสจะทำการอธิษฐาน แล้วจุดเทียนปักไว้ที่กระทงแล้วพรมด้วยน้ำขมิ้น เมื่อเสร็จแล้ว นำกระทงมาลอยพร้อมกันถือว่าเสร็จพิธี เชื่อว่าเป็นการขอขมา พระแม่คงคาและพระแม่ธรณี ซึ่งเป็นความเชื่อที่มีความสอดคล้องกับประเพณีลอยกระทงของคนไทย
เดือน ธันวาคม
ประเพณี “พิบือโย” การนวดข้าว และการนำข้าวเก็บในยุ้งฉาง จะมีการทำพิธีกรรมสู่ขวัญข้าว ก่อนที่นำข้าวเก็บในยุ้งฉาง ตามความเชื่อของบรรพบุรุษชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นที่มีการสืบทอดกันมาอย่างยาวนานกว่า 400 ปี
8.2 วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ (เกษตร เลี้ยงสัตว์ การค้า)
ปฏิทินการเพาะปลูกและพิธีกรรมที่เกิดขึ้นจากการทำการเกษตร ในรอบ 1 ปี
- เดือนมกราคม จะมีพิธีปัดรังควานในหมู่บ้าน และพิธีทำบุญแม่โพสพ หรือ “พิ้งยิงโย”ของกลุ่มด้ายเหลือง หรือ พิธี “ซุฟิ๊ หมี่” ของกลุ่มด้ายแดง เป็นพิธีบุญรับขวัญข้าวที่เก็บเกี่ยวได้ เพื่อเก็บมาสู่ยุ้งฉางไว้บริโภค โดยเอาข้าวปากยุ้งมาทำบุญ พิธีนี้มีการทำขนมจีนด้วย
- เดือนกุมภาพันธ์ เป็นการเลือกที่ปลูกข้าว โดยเลือกป่าปฐมภูมิ หรือ ทุติยภูมิ ในอาณาเขตของชุมชนแล้วบากต้นไม้รอบ ๆ พื้นที่เป็นเครื่องหมายจับจอง (การถือครองที่ดินตามจารีต ถือว่าเป็นที่ดินของส่วนรวมของชุมชน ไม่มีการถือครอง ปัจจุบันระบบการจองที่ดินบางแห่งเปลี่ยนแปลงไปจากจารีตเดิม) หากมีการจับจองพื้นที่ซ้ำกัน ผู้จองก่อนย่อมได้สิทธิ์ทำกินในพื้นที่แปลงนั้นโดยดูความเก่าของรอยบากไม้เป็นหลักฐาน
- เดือนมีนาคม จะทำการตัดฟันไร่ในพื้นที่ที่ได้รับจอง
- เดือนเมษายน การเผาไร่เพื่อเตรียมการเพาะปลูกเมื่อฝนตกลงมาตามฤดูกาล
- เดือนพฤษภาคม ก่อนการหยอดข้าวหลังจากการเผาไร่และเก็บเศษไม้เศษหญ้าเรียบร้อยแล้ว จะทำพิธีตั้งขวัญไร่ข้าว หรือ “ขี่ลองสะเดิ่งเขาะกราพอง” เพื่อปลูกขวัญไร่ข้าวให้ปกปักรักษาข้าวในไร่และบันดาลให้ข้าวงาม เมื่อทำพิธีแล้วห้ามตัดฟันต้นไม้หรือตอไม้ในไร่ ทั้งห้ามขุดดินในไร่ข้าวให้เป็นหลุมหรือทำลายสะเดิ่งที่ปักไว้ในไร่ข้าว เพราะถือว่าขวัญของข้าวได้มาอยู่ในไร่ข้าวแล้ว การล่วงข้อห้ามอาจทำให้ข้าวไร่เสียหายได้
- เดือนมิถุนายน จะทำพิธีตัดเวรตัดกรรม หรือ “ไข่เว” เป็นพิธีทำบุญให้สัตว์ต่าง ๆ ที่ต้องตายหรือถูกทำลายเมื่อฟันไร่ เผาไร่ เพื่อทำการปลูกข้าว โดยเอาไม้ไผ่มาสานเป็นกระบะสี่เหลี่ยมค่อนข้างใหญ่ และแข็งแรงพอสมควร ภายในกระบะใส่ของกิน ได้แก่ ข้าวปลาอาหารและพืชผักที่ปลูกไว้ในไร่ข้าวนำไปเซ่นไหว้ผี ที่ทางเข้าออกหมู่บ้าน แห่งละ 1 ชุด เพื่อให้ผีทั้งหลายมากินและไม่มารบกวนคนในหมู่บ้าน
- เดือนกรกฎาคม ชาวกะเหรี่ยงที่ทำนาจะทำพิธีเลี้ยงผีนาและพิธีมัดมือควาย หรือ “คายะนาจู๊ง” เป็นพิธีที่รำลึกถึงบุญคุณควาย และขอลุแก่โทษ ที่ได้ใช้แรงงานให้แก่มนุษย์ในการผลิตข้าวโดยนำเอาดอกไม้มาขอขมาควาย แล้วเอาด้ายสีขาวผูกโคนเขาควายทั้งสองข้าง พร้อมกับทอดหญ้าและน้ำให้กิน เป็นเสร็จพิธี พิธีมัดมือควายเป็นพิธีของกลุ่มด้ายขาว
- เดือน สิงหาคม และ เดือน กันยายน ชาวกะเหรี่ยงจะอยู่ในไร่เพื่อกำจัดศัตรูพืชและวัชพืชโดยการถางหญ้า และทำการดักอ้นและตุ่นที่มากัดกินรากพืชที่ทำการเพาะปลูกไว้
- เดือนตุลาคม ทำการเก็บเกี่ยวข้าวเบา
- เดือนพฤศจิกายน ทำการเก็บเกี่ยวข้าวหนัก
- เดือนธันวาคม ทำการนวดข้าวและนำขึ้นเก็บในยุ้งฉาง
9.1 ชื่อ นายอ้วน นามสกุล เยปอง อายุ 65 ปี และเกิด พ.ศ. 2501
ที่อยู่บ้านเลขที่ 42 หมู่ 8 บ้านภูเหม็น ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี
บทบาทและความสำคัญในชุมชน ความชำนาญ/ทักษะที่มี
นายอ้วน เยปอง เป็นเจ้าวัด (ผู้นำแห่งจิตวิญญาณ) ปัจจุบันเป็นเจ้าวัดที่อาวุโสสูงสุดในชุมชน ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือมาก เป็นที่พึ่งทางใจให้กับลูกบ้าน เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ตามความเชื่อของบรรพบุรุษกะเหรี่ยงโปว์ตั้งแต่เกิดจนตาย นอกจากนี้ ยังเป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านหมอสมุนไพรพื้นบ้าน สามารถรักษาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นสำหรับโรคภัยที่มีกระบวนการรักษาที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน และโรคภัยที่ไม่มีอาการรุนแรง เช่น ปวดหัว ปวดท้อง เป็นไข้หวัด เป็นต้น รวมถึงยังเป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านเครื่องจักสาน สามารถทำเครื่องใช้ภายในบ้านไว้ใช้เอง และสอนเพื่อนบ้านทำเครื่องจักสานเครื่องใช้ในครัวเรือนในรายการง่าย ๆ เช่น ตะกร้า กระบุง กระด้ง ไซดักปลา เป็นต้น ที่สำคัญ เจ้าวัดอ้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษากะเหรี่ยงโปว์ ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน และยังอ่านภาษามอญได้อีกด้วย โดยจะเห็นได้ว่าเจ้าวัดอ้วนนั้นมีคัมภีร์ใบลานโบราณเก็บไว้เป็นจำนวนมาก มีสภาพสมบูรณ์ และคัมภีร์ใบราณเหล่านี้ล้วนเขียนเป็นภาษามอญแทบทั้งสิ้น นับว่าเป็นปูชนียบุคคลคนสำคัญของชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็น เพราะว่าในปัจจุบันนี้ยังคงถ่ายทอดภาษาเขียนกะเหรี่ยงโปว์ให้กับลูกหลานอย่างต่อเนื่อง
ชีวประวัติ
นายอ้วน เยปอง เจ้าวัดหรือผู้นำแห่งจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็น ไม่ทราบวันเกิดและเดือนเกิดที่แน่ชัด แต่เกิดในปี พ.ศ. 2501 ปัจจุบันมีอายุ 65 ปี เกิดที่บ้านองค์พระ ตำบลวังยาว อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ย้ายมาอยู่ที่บ้านภูเหม็นตั้งแต่วัยแบเบาะเพียง 3 – 4 เดือน ในวัยเด็กไม่ได้เรียนหนังสือภาษาไทย แต่มีโอกาสได้บรรพชาเป็นสามเณรตอนอายุราว ๆ 7 ขวบ โดยมีพระสงฆ์ที่เป็นชาวกะเหรี่ยงเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ศึกษาภาษากะเหรี่ยงอย่างแตกฉานทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน หลังจากนั้นได้ลาสิกขาบทออกมาใช้ชีวิตในแบบฆราวาส และได้แต่งงานครองเรือนในวัย 20 ปี โดยสมรสกับนางนองเซอะเยียโพ่ เยปอง มีบุตรธิดาหลายคน อยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวขยาย(ครอบครัวใหญ่) ปัจจุบันบุตรหลานที่แต่งงานแล้วจะแยกย้าย ไปใช้ชีวิตของตนเอง มีทั้งที่อยู่ในชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็น และย้ายไปอยู่ในท้องถิ่นอื่นก็มี บางคนย้ายไปทำงานในเมืองหลวงก็มี เจ้าวัดอ้วนเริ่มทำหน้าที่เจ้าวัด เมื่ออายุได้ 40 ปี เป็นที่พึ่งทางใจและเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อของบรรพชนกะเหรี่ยงโปว์มาจนถึงทุกวันนี้
9.2 ชื่อ นายมองตะเลตะ นามสกุล ภูเหม็น อายุ 63 ปี และเกิด พ.ศ. 2503
อยู่บ้านเลขที่ 38/1 หมู่ 8 บ้านภูเหม็น ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี
บทบาทและความสำคัญในชุมชน ความชำนาญ/ทักษะที่มี
นายมองตะเลตะ ภูเหม็น เป็นเจ้าวัด (ผู้นำแห่งจิตวิญญาณ) อยู่ในปัจจุบัน เป็นเจ้าวัดที่มีความอาวุโสลำดับที่สองในชุมชน ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือมาก เป็นที่พึ่งทางใจให้กับลูกบ้าน เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ตามความเชื่อของบรรพบุรุษกะเหรี่ยงโปว์ตั้งแต่เกิดจนตาย นอกจากนี้ ยังเป็นปราชญ์ชาวบ้านด้าน หมอสมุนไพรพื้นบ้าน สามารถรักษาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นสำหรับโรคภัยที่มีกระบวนการรักษาที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน และโรคภัยที่ไม่มีอาการรุนแรง เช่น ปวดหัว ปวดท้อง เป็นไข้หวัด เป็นต้น รวมถึงยังเป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านเครื่องจักสาน สามารถสานเครื่องใช้ภายในบ้านไว้ใช้เอง และสอนเพื่อนบ้านทำเครื่องจักสานเครื่องใช้ในครัวเรือนในรายการง่าย ๆ เช่น ตะกร้า กระบุง กระด้ง ไซดักปลา เป็นต้น
ชีวประวัติ
นายมองตะเลตะ ภูเหม็น เจ้าวัดหรือผู้นำแห่งจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็น ไม่ทราบวันเกิดและเดือนเกิดที่แน่ชัด แต่คาดว่าน่าจะเกิดในปี พ.ศ. 2503 ปัจจุบันมีอายุ 63 ปี เกิดที่บ้านภูเหม็น และเติบโตที่บ้านภูเหม็น ไม่เคยโยกย้ายไปอยู่ที่อื่น ในวัยเด็กไม่ได้เรียนหนังสือภาษาไทย แต่มีโอกาสได้ศึกษา ภาษากะเหรี่ยงอย่างแตกฉานทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน ได้แต่งงานครองเรือนในวัย 20 ปี เจ้าวัดมองตะเลตะเริ่มทำหน้าที่เจ้าวัด เมื่ออายุได้ 43 ปี เป็นที่พึ่งทางใจและเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อของบรรพชนกะเหรี่ยงโปว์มาจนถึงทุกวันนี้
9.3 ชื่อ นางปรัง นามสกุล ภูเหม็น อายุ 60 ปี และเกิด พ.ศ. 2506
ที่อยู่บ้านเลขที่ 39 หมู่ 8 บ้านภูเหม็น ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี
บทบาทและความสำคัญในชุมชน ความชำนาญ/ทักษะที่มี
นางปรัง ภูเหม็น มีสถานะเทียบเท่ากับเจ้าวัด (ผู้นำแห่งจิตวิญญาณ) แต่ด้วยความที่เป็นผู้หญิงชาวบ้านจึงไม่ได้เรียกว่าเจ้าวัด ชาวบ้านเรียกว่า “แม่ย่า” มีความอาวุโสเป็นลำดับที่สามของผู้ประกอบพิธีในชุมชน ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือมาก เป็นที่พึ่งทางใจให้กับลูกบ้าน เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ตามความเชื่อของบรรพบุรุษกะเหรี่ยงโปว์ตั้งแต่เกิดจนตาย นอกจากนี้ ยังเป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านการทอผ้ากะเหรี่ยง สามารถสอนลูกหลานในการทอผ้าได้ ให้คำแนะนำในการครองเรือนและการดำรงวิถีชีวิตแบบสังคมกะเหรี่ยงสำหรับชาวกะเหรี่ยงวัยหนุ่มสาวที่เพิ่งแต่งงานใหม่ และการเลี้ยงดูบุตรหลานให้เติบโตเป็นชาวกะเหรี่ยงโปว์ ที่สมบูรณ์ทั้งกายและใจ นอกจากนี้ ยังเป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านการทำการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำไร่หมุนเวียนแบบบรรพบุรุษ
ชีวประวัติ
แม่ย่าปรัง ภูเหม็น เป็นเจ้าวัดผู้หญิงหรือผู้นำแห่งจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นที่เป็นสตรี ซึ่งชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นเรียกว่า “แม่ย่า” ไม่ทราบวันเกิดและเดือนเกิดที่แน่ชัด แต่เกิดในปี พ.ศ. 2506 ปัจจุบันมีอายุ 60 ปี เกิดที่บ้านภูเหม็น และเติบโตที่บ้านภูเหม็น ไม่เคยโยกย้ายไปอยู่ที่อื่น ในวัยเด็กไม่ได้เรียนหนังสือภาษาไทย และไม่ได้เรียนหนังสือภาษากะเหรี่ยงโปว์ เพียงพูดภาษากะเหรี่ยงโปว์ได้ด้วยการสืบทอดมาจากรุ่นพ่อรุ่นแม่เท่านั้น ได้แต่งงานครองเรือนในวัย 20 ปี แม่ย่าปรังเริ่มทำหน้าที่ผู้นำแห่งจิตวิญญาณ เมื่อตอนอายุได้ 40 ปี ปัจจุบันสามีถึงแก่กรรมไปแล้ว แม่ย่าปรังจึงตัดสินใจเป็นผู้นำแห่งจิตวิญญาณของชุมชน ทำหน้าที่เป็นที่พึ่งทางใจและเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อของบรรพชนกะเหรี่ยงโปว์มาจนถึงทุกวันนี้
1. ทุนทางกายภาพ
1.1 ลำห้วยพุเม้ยง์ ประวัติความเป็นมา
สถานที่และช่วงเวลาที่เกี่ยวข้อง “ลำห้วยพุเม้ยง์บ่อง” มีต้นกำเนิดมาจากผืนป่าห้วยขาแข้งที่แสนอุดมสมบูรณ์ ไหลผ่านหลายชุมชนในชื่อเรียกที่แตกต่างกันตามชื่อชุมชนนั้น ๆ จนมาถึงชุมชนบ้านภูเหม็น ชาวบ้านเรียกกันว่า “ลำห้วยพุเม้ยง์บ่อง” แปลว่า มีดอกเข้าพรรษาจำนวนมากขึ้นอยู่เต็มสองฟากลำห้วยสีเหลืองอร่ามสวยงามมาก และอยู่คู่กับชุมชนมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษเริ่มก่อตั้งชุมชนมาจนถึงปัจจุบัน ลำห้วยน้ำไม่เคยท่วมไม่เคยเกรี้ยวกราดจนทำให้ผู้คนล้มตาย แต่เคยแห้งจนผู้คนเกือบตายในฤดูแล้ง จนเกิดการสร้างฝายชุมชนแบบง่าย ๆ ด้วยไม้ไผ่กั้นแม่น้ำสายนี้อยู่เป็นช่วง ๆ ทำให้ผู้คนมีชีวิตชีวาขึ้น และบ่อยครั้งที่ลำห้วยแห่งนี้เกือบแห้งขอด ทางการจึงแก้ปัญหาด้วยการขุดบ่อบาดาลให้ชาวบ้านได้มีน้ำกินน้ำใช้มาจนถึงปัจจุบัน ไม่ต้องอาศัยน้ำในลำห้วยทุกอย่าง และต่อมาชุมชนได้ขุดสระน้ำขนาดใหญ่เพื่อทำประปาหมู่บ้าน
คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน “ลำห้วยพุเม้ยง์บ่อง” เป็นเสมือนสายเลือดที่หล่อเลี้ยงผู้คนในชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นทั้งแหล่งน้ำกินน้ำใช้และน้ำในการทำการเกษตร ผู้คนในชุมชนมีความผูกพันกับลำห้วยสายนี้มาอย่างยาวนาน
สถานภาพปัจจุบัน “ลำห้วยพุเม้ยง์บ่อง” จะมีมวลน้ำปริมาณมากในฤดูฝน บางปีไหลเชี่ยว บางปีมีน้ำพอใช้ บางปีมีน้ำน้อย ล้วนเป็นไปตามสถานการณ์ทางอุตุนิยมวิทยาของไทยและของโลก ที่สำคัญมีความเกี่ยวข้องกับผืนป่าที่โอบอุ้มลำห้วยแห่งนี้ด้วย เมื่อผืนป่าถูกทำลายเหลือน้อยลง สายน้ำก็เล็กลงเรื่อย ๆ ตามสถานการณ์ของผืนป่า แต่ถึงอย่างไรลำห้วยสายนี้ก็ยังคงมีความสำคัญต่อผู้คนในชุมชนไม่ลดน้อยลงเลย
การสืบทอดและความยั่งยืน “ลำห้วยพุเม้ยง์บ่อง” มีปริมาณน้ำลดลงไปเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า ผืนป่าต้นน้ำและผืนป่าที่อยู่ระหว่างทางที่สายน้ำไหลผ่านนั้นค่อย ๆ ลดลงไปเรื่อย ๆ จึงไม่สามารถที่จะดูดซับความชุ่มชื้นของสายน้ำสายนี้ไว้ได้ตลอดปี ในฤดูแล้งจึงไม่มีน้ำในลำห้วย เพราะฉะนั้น การสืบทอดทรัพยากรน้ำในชุมชนแห่งนี้ จึงยังไม่มีความยั่งยืน ชาวบ้านต้องพึ่งตัวเอง ต้องขุดสระทำน้ำประปา และขุดบ่อน้ำบาดาลไว้ใช้ดื่มกินและใช้ทำการเกษตร เพื่อเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนทางการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และชุมชนควรปลูกป่าทดแทนผืนป่าที่สูญเสียไป เพื่อรักษาสมดุลทางระบบนิเวศสร้างความชุ่มชื้นให้ผืนป่าและและรักษาสายน้ำให้คงอยู่อย่างยั่งยืนสืบไป
1.2 การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิทธิในที่ดินทำกิน
1) ยุคแรก พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ในราชอาณาจักรไทย พบว่า ยังไม่มีผลกระทบต่อชุมชนกะเหรี่ยง (โปว์) บ้านภูเหม็น เพราะยังไม่ได้ประกาศป่าสงวนแห่งชาติบริเวณพื้นที่บ้านภูเหม็นตั้งอยู่ ชาวบ้านยังคงดำรงชีวิตตามวิถีวัฒนธรรม ด้วยการทำไร่หมุนเวียน ซึ่งพื้นที่ทำกินของชุมชนชาวกะเหรี่ยงเชื่อว่า “ไม่มีใครเป็นเจ้าของ” ป่าเป็นของธรรมชาติ น้ำเป็นของธรรมชาติ มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คอยดูแลรักษาและปกป้อง เมื่อเราใช้ป่าเราก็ต้องรักษาป่า เราจะใช้น้ำเราต้องรักษาน้ำ มีเจ้าแห่งป่า เจ้าแห่งผืนดิน และเจ้าแห่งสายน้ำ
การทำไร่หมุนเวียน เป็นการใช้พื้นที่ทำกินในระยะสั้นแล้วปล่อยให้พื้นที่ฟื้นตัวในระยะยาว แล้วค่อยกลับมาทำใหม่ หมุนเวียนไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีใครเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ถือว่าเป็นวิถีวัฒนธรรมที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ โดยการหมุนเวียนปล่อยให้ที่ดินแปลงเดิมที่เคยทำไร่ทิ้งไว้ ให้ผืนดินและระบบนิเวศฟื้นตัวที่เรียกว่า“ไร่ซาก” หรือ“ไร่เหล่า” โดยปล่อยไว้ให้มีสภาพเป็นป่ารกร้าง เพื่อให้ฟื้นฟูระบบนิเวศให้กลับคืนมาสมบูรณ์อีกครั้ง ซึ่งโดยทั่วไปชาวบ้านจะปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 7 – 10 ปี แล้วค่อยกลับมาทำใหม่ โดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี เพื่อเป็นการรักษาหน้าดินภายในไร่หมุนเวียน ซึ่งในไร่หมุนเวียนนี้จะมีพืชผักหลายชนิด เช่น ฟัก แตง ถั่ว งา พริก ฯลฯ ซึ่งปลูกผสมผสานกับข้าวไร่ เรียกได้ว่า ในไร่หมุนเวียนนอกจากจะมีข้าวเป็นหลักแล้ว ยังมีอาหารที่เป็นพืชผักชนิดอื่น ๆ อีกมากมาย เป็นพื้นที่ชีวิต เป็นโรงครัวของชาวกะเหรี่ยง“ไร่หมุนเวียน” จึงคือความมั่นคงทางอาหารของชุมชน เป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษ และยังเป็นระบบเกษตรเชิงนิเวศ ที่รักษาระบบนิเวศทางธรรมชาติเอาไว้ได้อย่างสมดุล
ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นดำรงชีพตามวิถีวัฒนธรรม โดยการทำไร่หมุนเวียนมาโดยตลอด จนถือได้ว่าพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์ในขณะนั้น กะเหรี่ยงคือองค์ประกอบสำคัญในการดูแลรักษา ผ่านภูมิปัญญาของชุมชน จนมาถึงประมาณปี พ.ศ. 2526 – 2527 ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นได้ถูกเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครอง จากเดิมเคยขึ้นกับอำเภอบ้านไร่ ถูกย้ายมาเป็นอำเภอห้วยคตจนถึงปัจจุบัน และในช่วงเวลาที่เปลี่ยนผ่านนี้เอง เจ้าหน้าที่รัฐได้ให้ชาวบ้านทุกคนได้แสดงความเป็นเจ้าของในพื้นที่ที่แต่ละคนทำกิน เพื่อแสดงสิทธิ์ความเป็นเจ้าของ แล้วรัฐเก็บภาษีบำรุงท้องที่ ส่งผลให้ชุมชนหลายคนเริ่มหันมาจับจองพื้นที่ เพื่ออ้างสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ ซึ่งสวนทางกับวิถีวัฒนธรรมที่เคยปฏิบัติมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ดังอดีตผู้ใหญ่บ้านบ้านภูเหม็น นายบ่อป่อย ภูเหม็น ได้อธิบายไว้ว่า “ตั้งแต่เปลี่ยนมาเป็นอำเภอห้วยคต เจ้าหน้าที่รัฐก็ให้เราเริ่มจับจองพื้นที่ แสดงสิทธิ์ว่าเป็นเจ้าของ หลายคนก็เริ่มชี้บอกว่าที่ของตนตรงโน้น ตรงนี้ การทำไร่หมุนเวียนแบบเดิมก็เริ่ม ค่อย ๆ เลือนหายไปตั้งแต่ตอนนั้น
จากสถานการณ์ที่รัฐเริ่มให้จับจองพื้นที่เพื่อแสดงสิทธิ์ ให้จับจองพื้นที่เป็นเจ้าของ ความขัดแย้งในตอนนั้นจึงเป็นความขัดแย้งระหว่างคนในชุมชนกันเอง แต่เป็นความขัดแย้งเล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับการเริ่มจับจองพื้นที่ หลายคนหลายครอบครัวถูกเจ้าหน้าที่รัฐบีบให้ต้องหาที่เป็นของตนเอง ซึ่งแต่เดิมกะเหรี่ยงเชื่อว่า ที่ดินเป็นของเจ้าป่าเจ้าเขา เราเพียงมาขอใช้เท่านั้น ใช้แล้วเราก็คืนให้ธรรมชาติดูแล ด้วยวิธีการทำไร่หมุนเวียน แต่สถานการณ์ตอนนั้น ทำให้คนในชุมชนเริ่มแย่งพื้นที่ทำกินกันเอง เจ้าหน้าที่รัฐก็บีบบังคับให้ต้องจับจองเพราะต้องแสดงสิทธิ์ว่าใครทำกินอยู่ตรงไหน แค่ไหน เป็นการให้กรรมสิทธิ์ความเป็นปัจเจก ซึ่งขาดความเข้าใจในมิติวัฒนธรรมของชุมชนกะเหรี่ยง (โปว์)
2) ยุค “ป่าสงวนแห่งชาติ” ประกาศทับพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยบ้านภูเหม็น ตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2528 บริเวณพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของชุมชน กรมป่าไม้ได้ประกาศให้บริเวณพื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าห้วยทับเสลาและป่าห้วยคอกควาย โดยอ้างเหตุผลว่าบริเวณพื้นที่นี้ เป็นพื้นที่ป่าไม้ยังมีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีต้นไม้สำคัญทางธรรมชาติจำนวนมาก อาทิ ไม้ยาง ไม้ตะเคียน ไม้กระบาก ไม้ประดู่ ไม้เลียงมัน ไม้เต็งรัง และไม้ชนิดอื่น ๆ ที่มีค่าจำนวนมาก และมีของป่ากับทรัพยากรธรรมชาติอื่นด้วย จึงสมควรกำหนดให้หลาย ๆ พื้นที่ ตั้งแต่ตำบลลานสัก ตำบลป่าอ้อ อำเภอลานสัก ตำบลไผ่เขียว ตำบลพลวงสองนาง อำเภอสว่างอารมณ์ ตำบลคอกควาย อำเภอบ้านไร่ ตำบลทองหลาง ตำบลห้วยคต ตำบลเขากวางทองและตำบลเขาบางแกรก อำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี เป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าห้วยทับเสลาและป่าห้วยคอกควาย ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2528
สถานการณ์หลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ทำให้เกิดการทับซ้อนกันระหว่างพื้นที่ที่รัฐประกาศเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ทับซ้อนพื้นที่ทำกินของชาวบ้านในหลาย ๆ พื้นที่ โดยเฉพาะบ้านภูเหม็น ป่าสงวนแห่งชาติได้ทับซ้อนพื้นที่ทำไร่หมุนเวียนดั้งเดิมของชุมชนกะเหรี่ยง รัฐห้ามคนในชุมชนไม่ให้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของรัฐ แจ้งว่าเป็นพื้นที่ที่ควรอนุรักษ์ไว้ ด้วยข้อกฎหมาย ตาม “มาตรา 14 ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ห้ามมิให้บุคคลใดยึดถือครอบครอง ทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ทำไม้ เก็บหาของป่า หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ” และถ้าหากฝืนหรือละเมิดตามที่เจ้าหน้าที่รัฐห้าม คนนั้นจะถูกจับกุมทันที ทำให้ชาวบ้านหลายคนหวาดกลัว และไม่กล้าที่จะเข้าไปในพื้นที่ที่เคยทำกิน หลายครอบครัวต้องถอยออกมาเพราะ เกรงกลัวต่อกฎหมาย ชาวบ้านหลายคนไม่มีพื้นที่ทำข้าวไร่ บางคนต้องไปขอแบ่งปันกับเพื่อนบ้าน เพื่อความอยู่รอด ซึ่งนายอังคาร คลองแห้ง ได้กล่าวไว้ว่า “บรรพบุรุษของเราอยู่ทำไร่หมุนเวียนมานานกฎหมายมาทีหลัง รัฐมาทีหลัง แต่จะทำให้วิถีวัฒนธรรมกะเหรี่ยงที่ดีงามสูญหาย ชาวบ้านจะทำอย่างไร”
นับว่าเป็นบาดแผลและรอยปริแยกทางประวัติศาสตร์ของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบนฐานคิดการอนุรักษ์ แต่ในทางกฎหมาย หรือ พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาตินั้น ก็ยังพยายามเปิดช่องให้ชุมชนไปแย้งสิทธิ์ โดยให้ตรวจแปลงที่ดินทำกินที่ชุมชนเคยใช้ประโยชน์ ให้ชุมชนทำเรื่องของสิทธิ์ โดยการเขียนคำร้องขอ แต่คนในชุมชนหลาย ๆ คนไม่มีใครรู้เรื่องดังกล่าว และไม่มีใครกล้าแย้ง เพราะยังขาดความเข้าใจที่ชัดเจน บางรายก็กลัวไปต่าง ๆ นานา ว่าถ้าหากใครไปแจ้งให้ตรวจแปลงที่เคยใช้ประโยชน์ทำกิน อาจจะถูกจับก็เป็นได้ หรืออาจจะทำให้เจ้าหน้าที่รู้ตัวว่าใครเข้าไปทำกิน ซึ่งอาจไม่เป็นผลดีต่อตัวเขาเอง ชาวบ้านจึงเลือกที่จะไม่แสดงตัวตน ในขณะที่อีกหลายคนทำเรื่องขอสิทธิ์ในการตรวจแปลง เพื่อรับการผ่อนปรน แต่ปรากฏว่าเรื่องก็เงียบหายไป จึงทำให้ชุมชนบ้านภูเหม็นไม่ได้รับการตอบรับจากการร้องขอแต่อย่างใด ทำให้ภายใต้ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชุมชนในเรื่องการให้ประโยชน์ในที่ดินและป่าไม้ยังคงเป็นเหมือนเช่นเดิม คือ อยู่ร่วมกันอย่างหวาดระแวง กลัว และมีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนอยู่ตลอดเวลา ปัญหาความไม่มั่นคงในที่ดินและที่อยู่อาศัยจึงยังคงไม่หมดไปจากชุมชนกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น
3) ยุค “สวนป่า” ประกาศพื้นที่สวนป่าทับที่ดินทำกินชุมชนบ้านภูเหม็น เป็นยุคที่ทรัพยากรเป็นสินค้าทางเศรษฐกิจ ผ่านโครงการสร้างอำนาจรัฐ ประกาศเป็นพระราชบัญญัติสวนป่า พ.ศ. 2535 ทำให้สวนป่าทับซ้อนกับพื้นที่ทำกินของชุมชนบ้านภูเหม็น โดยรัฐใช้สิทธิ์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนชาวบ้าน จะทำกินในพื้นที่ดั้งเดิมที่เคยทำมาตั้งแต่บรรพบุรุษ หรือพื้นที่ที่เคยเป็นไร่หมุนเวียน ต้องขออนุญาตและต้องได้รับการอนุญาตจากเจ้าหน้าที่รัฐก่อน จึงจะเข้าไปใช้ประโยชน์ในทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ นั้นได้ เช่น จะตัดไม้เพื่อมาใช้สร้างบ้าน หรือซ่อมแซมที่อยู่อาศัยก็ต้องขออนุญาต ส่วนปัญหาที่นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชุมชนด้านการจัดการทรัพยากรและป่าไม้ที่เห็นชัด คือ การใช้รูปแบบการจัดการโดย “สวนป่า” เป็นปัญหาใหญ่สำหรับคนในชุมชน เนื่องจากว่าสวนป่าได้ทับซ้อนพื้นที่ทำกินดั้งเดิม หรือพื้นที่ที่ชาวบ้านเคยทำไร่หมุนเวียน และจากปี พ.ศ. 2535 – 2557 สวนป่าที่รัฐพยายามใช้สิทธิ์ตามกฎหมายในการเข้าใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่ดินและป่าไม้นั้น พื้นที่และจำนวนสวนป่าได้ขยายเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้ชาวบ้านที่เคยอาศัยพื้นที่ใช้ประโยชน์มาก่อน ต่างก็สับสนและไม่รู้ว่าขอบเขตของสวนป่ามีแค่ไหนเพียงใด นอกจากความไม่ชัดเจนเรื่องแนวเขต และวิธีการปฏิบัติที่ขาดการมีส่วนร่วมของชุมชนในการทำความเข้าใจร่วมกัน
4) ยุค “ทวงคืนผืนป่า” นโยบาย “ทวงคืนผืนป่า” คือหนึ่งในนโยบายของรัฐบาล คสช. ที่มีเป้าหมายเพื่อ “คืนความสุขและความเป็นธรรม” ให้กับประชาชนคนไทย ซึ่งนโยบายดังกล่าวนี้ เป็นอีกนโยบายหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากสังคมเป็นอย่างมาก โดยมีแนวคิดหลักจะเรียกคืนพื้นที่ป่าไม้ของประเทศที่ถูกบุกรุกแผ้วถาง หรือนำมาใช้ผิดวัตถุประสงค์ของการจัดสรรที่ดิน เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนที่ทำกินของเกษตรกรในอดีต คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) 14 มิถุนายน 2557 ได้ออกคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ เป็นจุดตั้งต้นของนโยบายทวงคืนผืนป่า หลังจากนั้น วันที่ 17 มิถุนายน 2557 คสช. ได้ออกคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 เรื่อง เพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปรามหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน เพื่อเพิ่มกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เข้าไปในนโยบายทวงคืนผืนป่า ด้วยถ้อยคำว่า การดำเนินการใด ๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้น ๆ ส่วนเกณฑ์ที่วัดว่าใครเป็นผู้ยากไร้นั้น ได้ใช้เกณฑ์ความจำเป็นพื้นฐาน รายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี นอกจากนี้ ยังมีเกณฑ์การถือครองที่ดินที่อยู่มาก่อนที่จะประกาศเขตฯ โดยกลับไปใช้มติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 ที่นำไปสู่การถ่ายทำแผนที่ทางอากาศ ซึ่งเสร็จสิ้นในปี 2545 ดังนั้น คนที่ทำกินมาก่อนปี 2545 ถือว่าไม่บุกรุก อย่างไรก็ตามชาวบ้านที่เข้าถือครองที่ดินหลังปี 2545 กลับเป็นคนส่วนใหญ่ จึงต้องนำเกณฑ์ผู้มีรายได้น้อยเข้าไปจับอีกเกณฑ์หนึ่ง
5) ยุค “วนอุทยานห้วยคต” สถานการณ์ความขัดแย้งด้านทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ระหว่างรัฐกับชุมชนกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นหลังจากรัฐบาล คสช. ประกาศนโยบายทวงคืนผืนป่า พบว่า เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2557 บริเวณพื้นที่ทำกินและป่าไม้ในเขตพื้นที่ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น ถูกกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ประกาศให้เป็นวนอุทยานห้วยคต โดยยกพื้นที่ที่เคยเป็นสวนป่า และพื้นที่บริเวณใกล้เคียงกันพื้นที่เพิ่มอีก ซึ่งทับซ้อนพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของชุมชนกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น จำนวน 15,530 ไร่
วนอุทยานห้วยคต อยู่ในเขตอำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี เป็นพื้นที่อนุรักษ์ตามประกาศ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช สภาพที่ตั้งวนอุทยานห้วยคต เป็นพื้นที่ป่าที่ราบต่ำ โดยพื้นที่นั้นห่างจากแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ประมาณ 7 – 10 กิโลเมตร
ผลจากการประกาศพื้นที่เป็นวนอุทยานห้วยคต ภายใต้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและ พันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม 2557 ทำให้พื้นที่ดังกล่าวทับซ้อนกัน ระหว่างพื้นที่ทำกินที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์มาตั้งแต่บรรพบุรุษ นอกจากนั้น พื้นที่วนอุทยานห้วยคตทับซ้อนกับพื้นที่ที่อยู่อาศัยของชุมชนกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น เจ้าหน้าที่รัฐเริ่มเข้าห้ามไม่ให้ชุมชนเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ที่ถูกประกาศเป็นวนอุทยานห้วยคต และเริ่มมีการจับกุมชาวบ้านผู้เข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ที่ทับซ้อนกันระหว่างพื้นที่ทำกินดั้งเดิมของชาวบ้านกับพื้นที่วนอุทยานห้วยคต หลายคนต้องถูกดำเนินคดี และเสียค่าปรับ โดยอ้างว่าชาวบ้านบุกรุกหลังปี 2545 โดยอาศัยภาพถ่าย ทำให้ต้องโดนจับเมื่อเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ซึ่งบางพื้นที่ชุมชนได้อธิบายว่า “พื้นที่ที่รัฐอ้างว่าบุกรุก จริง ๆ แล้วเป็นพื้นที่ทำกินดั้งเดิมของชาวบ้านทั้งนั้น ซึ่งแต่เดิมบางพื้นที่ชาวบ้านได้ปล่อยทิ้งไว้หลายปี เพื่อให้ป่าและระบบนิเวศฟื้นตัว แล้วก็จะกลับไปทำใหม่ ซึ่งเป็นวิถีการทำไร่หมุนเวียน
จากเหตุการณ์ข้างต้น มีชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น หมู่ที่ ๘ จำนวน 40 ครัวเรือน ที่มีพื้นที่ทำกินอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเดิมเมื่อปี 2528 และถูกประกาศให้เป็นสวนป่าเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2535 มาโดยตลอด และต่อมาได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่า ให้ชาวบ้านไปแจ้งว่าใครใช้ประโยชน์ในที่ทำกินอยู่ตรงไหน ให้ไปแสดงสิทธิ์ในการใช้ทำประโยชน์ในพื้นที่สวนป่า ชาวบ้านไม่ทราบรายละเอียดว่าจะมีการรังวัดอะไร หรือให้แสดงสิทธิ์เพื่ออะไรบ้าง คิดแต่ว่ารัฐจะพิสูจน์สิทธิ์ในที่ดินที่ให้ใช้ประโยชน์อย่างถูกต้อง โดยเจ้าหน้าที่ได้มาดำเนินการถ่ายรูปและชูป้าย รวมทั้งให้ชี้ไปที่แปลงที่ดินที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์อยู่ ต่อมาทราบว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นการให้ชาวบ้านยินยอมคืนพื้นที่ทำกินที่เคยใช้ประโยชน์อยู่มอบให้กับรัฐ ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่พอใจ ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งของการรวมตัวกันลุกขึ้นสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิ์อันชอบธรรม โดยการไปร้องเรียนกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ด้านทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ รวมทั้งร้องเรียนกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพราะพื้นที่ที่ชาวบ้านเคยใช้ประโยชน์มาก่อนที่จะประกาศเป็นป่าสงวนฯ และปัจจุบันอยู่ในสวนป่าซึ่งกำลังถูกประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ “วนอุทยานห้วยคต” มีพื้นที่ของชาวบ้านที่เคยใช้ประโยชน์ประมาณ 3,000 ไร่ โดยสภาพพื้นที่ไม่ค่อยมีต้นไม้ และอยู่ใกล้ที่อยู่อาศัยของชุมชน เป็นพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์ในการทำกินมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ในส่วนของภูเหม็นบน (เป็นกลุ่มบ้านที่อยู่ทางด้านบนของบ้านภูเหม็น) มีปัญหาเฉพาะที่ทำกินทับซ้อนกับเขตวนอุทยานห้วยคต ส่วนชุมชนกะเหรี่ยงภูเหม็นล่าง (กลุ่มบ้านที่อยู่ทางเข้าหมู่บ้านด้านล่างซึ่งอยู่ห่างจากภูเหม็นบนประมาณ 1 กิโลเมตร) มีปัญหาทับซ้อนทั้งพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้านด้วย จำนวนประมาณ 70 ครัวเรือน
ทั้งนี้ การที่กรมอุทยาน สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้ประกาศพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่เป็นพื้นที่ สวนป่าให้เป็นวนอุทยานห้วยคต เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2557 ซึ่งพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าห้วยทับเสลาและ ป่าห้วยคอกควาย ข้อมูลเมื่อปี 2545 – 2547 มีเนื้อที่ประมาณ 10,000 ไร่ มีแปลงปลูกไม้สักและประดู่ และมีการประกาศเป็นวนอุทยานห้วยคต เมื่อปี 2557 มีเนื้อที่รวม 15,530 ไร่ ซึ่งพบว่า มีชาวกะเหรี่ยง(โปว์) อาศัยทำกินอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว รวมถึงบุคคลภายนอกบ้านกะเหรี่ยงภูเหม็น จำนวน 203 ไร่ และเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อน เจ้าหน้าที่รัฐจึงได้มีมาตรการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ได้เป็นระยะเวลา 3 ปี นับตั้งแต่มีการลงนามบันทึกข้อตกลงและให้ความยินยอม (MOU) ระหว่างราษฎรและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2557 ก่อนที่จะมีการประกาศเป็นวนอุทยานห้วยคต
1.3 เทือกเขาสำคัญ ประวัติความเป็นมา อย่างที่รู้กันดีว่าชาวกะเหรี่ยงโปว์เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่นิยมตั้งถิ่นฐานบนที่ราบสูงที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นก็เหมือนกัน บรรพบุรุษเล็งเห็นว่าบริเวณนี้มีเทือกเขาจำนวนมากสลับซับซ้อน แต่เป็นภูเขาที่ไม่สูงมากนัก เป็นเนินเขาที่มีผืนดินปกคลุมและมีผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ เพราะเป็นพื้นที่ที่มีเทือกเขาเชื่อมโยงมาจากเขตมรดกโลกห้วยขาแข้ง เหมาะแก่การถากถางทำไร่หมุนเวียนตามแนวทางของวิถีบรรพบุรุษที่ได้มีการถ่ายทอดต่อเนื่องมาจากรุ่นสู่รุ่น บรรพบุรุษจึงตัดสินใจตั้งถิ่นฐานในบริเวณชุมชนภูเหม็น (พุเม้ยง์) แห่งนี้ และตามที่ชาวบ้านเล่าให้ฟัง คือ ชุมชนแห่งนี้ก่อตั้งมานานมากแล้วกว่า 400 ปี ดังนั้น จะพูดถึงเทือกเขาสำคัญ ๆ ที่ล้อมรอบชุมชนแห่งนี้ ได้แก่ 1. เทือกเขาตะน่องโหว่ว 2. เทือกเขาทิวาพร่อง 3. เทือกเขาคุหล่งจื๊อ(กะโหลกโศก) 4. เทือกเขาทิเหม่งไคร่เคร่ 5. เทือกเขาเฌ่อพะเพ่อ 6. เทือกเขาแก่งกะดุก 7. เทือกเขาหนองปลาร้า เป็นต้น เป็นกลุ่มเทือกเขาที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยของป่าและพืชพรรณธัญญาหาร หล่อเลี้ยงผู้คนในชุมชนมายาวนาน
คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน เทือกเขาสำคัญ ๆ 7 แห่งนี้ เป็นผืนป่าที่โอบล้อมชุมชนเป็นแนวป้องกันลมพายุไม่ให้พัดสร้างความเสียหายให้ชุมชน สร้างความชุ่มชื้นดึงฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล สร้างอาหารป่าหล่อเลี้ยงผู้คนในชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็น เป็นแหล่งต้นน้ำทำให้มีน้ำกินน้ำใช้และน้ำในการ ทำการเกษตร ผู้คนในชุมชนมีความผูกพันกับเทือกเขาเหล่านี้มาอย่างยาวนาน
สถานภาพปัจจุบัน จำนวนประชากรในชุมชนบ้านภูเหม็นมีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก ชาวบ้านมีความจำเป็นต้องใช้ไม้จากป่าชุมชนในการสร้างบ้านเรือน ต้องถากถางเพื่อการทำการเกษตรเพื่อดำรงชีพ จึงทำให้ป่าไม้ลดจำนวนลงมาก ทำให้ชุมชนมีอากาศที่ร้อนอบอ้าวกว่าสมัยก่อน และเมื่อปี 2566 ก็เกิดพายุพัดบ้านเรือนของชาวบ้านเสียหายกว่า 28 หลัง และทำให้ต้นไม้ใหญ่คู่บ้าน (ต้นสมพงยักษ์) จำนวน 5 ต้น ที่มีอายุกว่า 100 ปี มีอันต้องล้มลงอย่างไม่น่าเชื่อ ฝนก็ไม่ตกต้องตามฤดูกาล เวลาฝนตกหนักน้ำก็เอ่อไหลหลาก อย่างน่ากลัว ฤดูแล้งก็แล้งยาวนานน้ำในลำห้วยแทบจะแห้งขอด อากาศไม่ชุ่มชื้นและไม่ร่มเย็นดังเช่นในอดีต
การสืบทอดและความยั่งยืน ชาวบ้านจะต้องหาวิธีปลูกป่าทดแทนป่าที่ถูกทำลายเพื่อเร่งสร้างระบบนิเวศให้กลับมาเป็นเหมือนในอดีต วิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นจะได้เป็นไปดังคำขวัญอีกครั้ง “ที่ไหนมีป่า ที่นั่นมีกะเหรี่ยง” และ “ที่ไหนมีกะเหรี่ยง ที่นั้นมีป่า” ดังที่ผู้คนได้ขนานนามว่าชาวกะเหรี่ยงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่รักษาป่ามากที่สุด เพื่อให้ป่าไม้เกิดความยั่งยืนต่อไป
2. ทุนมนุษย์
กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็น (พุเม้ยง์) ย้ายมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณนี้กว่า 400 ปีมาแล้ว บ้างก็เล่าว่าบรรพบุรุษย้ายมาจากชายแดนประเทศเมียนมาร์ เข้ามาทางอำเภอสังขละบุรี ทองผาภูมิ ไทรโยค ศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี แล้วเดินทางต่อเข้าอำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี และเข้ามาจับจองพื้นที่อยู่ในตำบลแก่นมะกรูด อำเภอบ้านไร่ และพื้นที่ตำบลอื่น ๆ ของอำเภอบ้านไร่ รวมถึงบางส่วนเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณบ้านภูเหม็นในปัจจุบันนี้ บางส่วนก็กระจัดกระจายออกไปยังชุมชนอื่น ๆ ของอำเภอห้วยคตในปัจจุบัน
หลักฐานทางประวัติศาสตร์อีกข้อมูลหนึ่ง เล่าว่าในสมัยที่กรุงสุโขทัยกำลังเจริญรุ่งเรืองอยู่นั้น ท้าวมหาพรหมได้พาผู้คนกลุ่มหนึ่งย้ายถิ่นฐานมาจากสุโขทัยมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองอู่ไทย (ตำบลอุทัยเก่า อำเภอหนองฉางในปัจจุบัน) มาอยู่รวมกับชาวมอญและชาวกะเหรี่ยงที่อยู่มาก่อน ดังนั้น ปราชญ์ชาวบ้าน ชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นจึงสันนิษฐานว่า บรรพบุรุษของตนอาจจะอยู่ที่เมื่ออู่ไทยก็เป็นได้ เมื่อถูกคนไทยพื้นเมืองรุกราน จึงถอยร่นขึ้นภูเขาไปตั้งหลักปักฐานอยู่ที่ชุมชนบ้านภูเหม็น (พุเม้ยง์) ในปัจจุบัน ซึ่งบรรพบุรุษกลุ่มแรกที่ย้ายถิ่นฐานมาตั้งชุมชนอยู่ในบริเวณนี้ คือ นายภุ่มเบิก นายภุ่มโถตา นายภุ่มโท่เค้า และนางพิไล เป็นต้น
อย่างไรก็ตามเท่าที่มีการบันทึกเหตุการณ์จากอดีตถึงปัจจุบัน และจากการเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของบรรพบุรุษปากต่อปาก ทราบว่า เมื่อบรรพบุรุษชาวกะเหรี่ยงโปว์ได้ย้ายมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่นี้แล้วไม่เคยย้ายไปอยู่ที่ไหนอีก อยู่ที่นี่มายาวนานกว่า 400 ปี มีแต่กะเหรี่ยงโปว์กลุ่มอื่น ๆ ที่ย้ายเข้ามาอยู่เพิ่มเติมในชุมชนนี้ จากที่มีไม่กี่ครัวเรือนก็กลายเป็นหลักสิบหลักร้อย และปัจจุบันนี้มีอยู่เกือบ 200 ครัวเรือน มีประชากรกว่า 700 คน ถือว่าเป็นหมู่บ้านกะเหรี่ยงโปว์ที่ใหญ่มากของจังหวัดอุทัยธานี
คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันมีปราชญ์ชาวบ้าน ภูมิปัญญา และปูชนียบุคคลอยู่ในชุมชนมากมายหลายต่อหลายรุ่น กลุ่มบุคคลที่ได้ชื่อว่ามีความสำคัญต่อชุมชนมากและผู้คนให้ความเคารพนับถือ คือ เจ้าวัด (ผู้นำแห่งจิตวิญญาณ) ที่มีการสืบทอดสายเลือดและจิตวิญญาณกันมารุ่นต่อรุ่น ปัจจุบันนี้ก็ยังคงมีอยู่ถึง 3 คนด้วยกัน และบุคคลที่มีความสำคัญไม่แพ้กันก็คือ ผู้นำชุมชน ทั้งผู้นำที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ที่ช่วยกันปกป้องคุ้มภัยดูแลทุกข์สุขของชาวบ้านมาจนถึงปัจจุบัน เฉพาะผู้ใหญ่บ้านที่ทางการแต่งตั้งก็เดินทางมาถึงคนที่ 12 แล้ว ถือได้ว่าทุนมนุษย์ในชุมชนนี้มีความสำคัญมาก
สถานภาพปัจจุบัน ปัจจุบันมีเจ้าวัด (ผู้นำแห่งจิตวิญญาณ) จำนวน 3 คน คือ เจ้าวัด 2 คน และแม่ย่า 1 คน มีผู้ใหญ่บ้านที่ได้รับการเลือกตั้ง 1 คน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 2 คน สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลทองหลางประจำหมู่ 8 บ้านภูเหม็น จำนวน 1 คน ประชาชนชาวภูเหม็นอีกกว่า 700 คน ถือได้ว่าเป็นชุมชนที่มีทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าและมีความเข้มแข็งมากแห่งหนึ่ง อยู่อาศัยกันด้วยความรักความสามัคคี พึ่งพากันและกัน อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขและร่มเย็น
การสืบทอดและความยั่งยืน ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นแห่งนี้จะมีการสืบทอดเรื่องราวการเป็นเจ้าวัด วิถีวัฒนธรรม ความเชื่อ ประเพณี มรดกภูมิปัญญา ปราชญ์ชาวบ้าน และอัตลักษณ์ความเป็นกะเหรี่ยงโปว์ต่อไปอีกหลายต่อหลายรุ่นอย่างมั่นคงและยั่งยืน
3. ทุนทางวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น
3.1 การทอผ้ากะเหรี่ยงและเครื่องแต่งกายกะเหรี่ยง ประวัติความเป็นมา ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นได้มีการสืบทอดเรื่องของการทอผ้า เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้ว่าในทุกวันนี้จะไม่ได้แต่งกายด้วยชุดกะเหรี่ยงเป็นประจำ มีแต่สุภาพสตรีที่อาวุโสมากจึงจะแต่งกายด้วยชุดกะเหรี่ยงให้เห็นอยู่เป็นประจำ แต่คนกะเหรี่ยงโปว์ทุกคนมีชุดกะเหรี่ยงไว้ติดบ้าน 2 – 3 ชุด หากเมื่อไหร่ที่ผู้นำชุมชนต้องการให้สวมใส่ชุดกะเหรี่ยง ทุกคนก็พร้อมที่จะหยิบขึ้นมาใส่เพื่อแสดงอัตลักษณ์ของความเป็นกะเหรี่ยงโปว์ได้ทันที รวมถึงหากมีการรวมตัวกันเพื่อไปร่วมกิจกรรมในตัวอำเภอหรือตัวจังหวัด ทุกคนจะสวมใส่เสื้อผ้าด้วยชุดประจำกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ ต่อหน้าสาธารณชนด้วยความภาคภูมิใจ
ช่วงเวลาที่เกี่ยวข้อง ในรอบระยะเวลา 1 ปี ชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น จะมีการแต่งกายด้วยชุดกะเหรี่ยงอย่างพร้อมเพรียงกันในหลายวาระ เช่น เทศกาลขึ้นปีใหม่ชาวกะเหรี่ยง งานไหว้เจดีย์ของชุมชนกะเหรี่ยง ประเพณีกินข้าวใหม่ งานสงกรานต์และประเพณีรดน้ำดำหัวผู้อาวุโสชาวกะเหรี่ยง งานแต่งงาน และงานต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองที่มาเยือนชุมชน เป็นต้น
คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน เครื่องแต่งกายกะเหรี่ยงเป็นเครื่องแบบที่แสดงถึงอัตลักษณ์ความเป็นกะเหรี่ยงที่บรรพบุรุษมอบไว้ให้ ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะไม่ค่อยได้สวมใส่กันมากนัก แต่ชาวกะเหรี่ยงทุกคนมีความรักและมีความผูกพันกับเครื่องแต่งกายกะเหรี่ยงมาก และมีความภาคภูมิใจในชาติพันธุ์ทุกครั้งที่ได้สวมใส่
การสืบทอดและความยั่งยืน ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็น (พุเม้ยง์) ทุกคนรักและหวงแหนในอัตลักษณ์วัฒนธรรมเครื่องแต่งกายของตนเอง ทุกคนพร้อมใจกันที่จะร่วมกันอนุรักษ์สืบสานมรดกทางวัฒนธรรมที่บรรพชนได้สรรค์สร้างเอาไว้ และจะสืบทอดต่อไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลานในอนาคตอย่างยั่งยืน
3.2 อาหารกะเหรี่ยง ประวัติความเป็นมา ชาวกะเหรี่ยงโปว์ไม่ว่าจะย้ายถิ่นฐานไปอยู่แห่งหนตำบลใดที่ไหนก็ตาม จะนำวัฒนธรรมเรื่องอาหารการกินไปด้วยเสมอ และชุมชนภูเหม็นก็เช่นเดียวกัน ได้รับการสืบทอดเรื่องอาหารการกินแบบกะเหรี่ยงโปว์มาจากบรรพบุรุษ และทุกวันนี้ยังคงทำอาหารกะเหรี่ยงได้ทุกครัวเรือน
สถานที่และช่วงเวลาที่เกี่ยวข้อง ชาวภูเหม็นสามารถทำอาหารกะเหรี่ยงได้ทุกวัน จะมีเพียงอาหารบางประเภทเท่านั้นที่มีข้อห้าม สำหรับวัตถุดิบบางรายการ หรือข้อห้ามสำหรับอาหารบางรายการ ที่จะไม่ให้มีในพิธีกรรมใดพิธีกรรมหนึ่ง ส่วนใหญ่จะสามารถทำได้ในทุกฤดูกาล และเป็นรายการอาหารที่สามารถหาวัตถุดิบและเครื่องปรุงในท้องถิ่นได้ มีขั้นตอนและวิธีการปรุงที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน และส่วนใหญ่มีรสชาติเผ็ดร้อนคล้ายอาหารของคนไทยพื้นเมือง
คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน อาหารพื้นบ้านกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นมีคุณค่าทางโภชนาการครบ 5 หมู่ มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของชาวกะเหรี่ยงโปว์ มีการสืบทอดจากอดีตถึงปัจจุบัน และมีการถ่ายทอดสู่ลูกหลานต่อไปในอนาคตอย่างยั่งยืนไม่มีวันจะสูญหาย
สถานการณ์ปัจจุบัน ถึงแม้ว่าจะได้รับอิทธิพลจากโลกภายนอกอย่างมากมาย แถมสื่อดิจิตอลและสื่อออนไลน์ยังโหมกระหน่ำใส่ลูกหลานชาวกะเหรี่ยงอย่างหนักหน่วง ทำให้ชาวกะเหรี่ยงวัยกลางคนและเยาวชนรุ่นใหม่หันมาทำอาหารไทยและอาหารสากลกันมาก แต่เชื่อได้ว่าชาวกะเหรี่ยงจะยังคงอนุรักษ์วัฒนธรรมด้านอาหารของบรรพบุรุษเอาไว้ได้
การสืบทอดและความยั่งยืน ปัจจุบันนี้ชาวกะเหรี่ยงรุ่นพ่อรุ่นแม่หรือรุ่นปู่รุ่นย่ายังคงสอนวิถีการดำรงชีวิตแบบกะเหรี่ยงโปว์ให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่อยู่เสมอ ทำให้มั่นใจได้ว่าจะมีการถ่ายทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมด้านอาหารกะเหรี่ยงโปว์ต่อไปอย่างไม่หยุดนิ่ง และจะดำรงคงอยู่อย่างมั่นคงและยั่งยืนตลอดไป
3.3 ขนบธรรมเนียมประเพณีกะเหรี่ยงโปว์ ประวัติความเป็นมา อย่างที่ได้นำเสนอไปตอนต้นว่า ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็น (พุเม้ยง์) มีการอนุรักษ์สืบสานวิถีวัฒนธรรมประเพณีของบรรพชนกะเหรี่ยงโปว์เอาไว้ได้เกือบจะ 100 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากชุมชนกะเหรี่ยงโปว์แห่งนี้เป็นชุมชนขนาดใหญ่ ผู้คนอยู่อาศัยร่วมกันหลายช่วงวัย ทำให้มีผู้นำในการรักษาวัฒนธรรมประเพณีอยู่อย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อก็มีอยู่อย่างต่อเนื่อง ทุกครั้งที่มีเทศกาลประเพณีผู้คนก็ไม่เขินอายที่จะสวมใส่เสื้อผ้ากระเหรี่ยง มาเข้าร่วมงาน เมื่อผู้อาวุโสนำลูกบ้านก็ตาม ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ชุมชนนี้จะมีการอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมประเพณีพื้นถิ่นเอาไว้ได้เป็นอย่างดี
สถานที่และช่วงเวลาที่เกี่ยวข้อง เป็นเวลากว่า 400 ปีแล้วที่ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นมีความเจริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรม ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน โดยไม่มีวัฒนธรรมอื่นใดที่จะมาแทรกแซงวิถีวัฒนธรรมแบบกะเหรี่ยงโปว์ได้ จะมีก็เพียงเล็กน้อย คือ เยาวชนคนรุ่นใหม่อาจจะไม่ค่อยสนใจเรื่องของภาษาเขียนเท่าใดนัก ซึ่งเยาวชนอาจจะเห็นว่าไม่ค่อยจำเป็นมากนักในยุคปัจจุบัน แต่วิถีวัฒนธรรมอื่น ๆ ยังคงรักษาไว้ได้อย่างครบถ้วน
คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน ขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงามของชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นที่กล่าวมาข้างต้น โดยเฉพาะชาวกะเหรี่ยงโปว์วัยอาวุโสที่มีความภาคภูมิใจกับวิถีวัฒนธรรมที่ดีงามของตนเอง และมุ่งมั่นสืบทอดให้กับลูกหลานจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อไม่ให้เลือนหาย
สถานการณ์ปัจจุบัน ในปีหนึ่ง ๆ จะมีการรวมตัวกันเพื่อจัดงานประเพณีวัฒนธรรมทุกเดือนตามปีปฏิทิน เพื่อแสดงออกถึงอัตลักษณ์วัฒนธรรมตามวิถีกะเหรี่ยงโปว์ โดยเฉพาะชุมชนนี้เป็นชุมชนที่มีเจ้าวัดถึง 3 คน ดังนั้น ในแต่ละปีจะมีการไหว้เจดีย์ 3 ครั้ง คือ วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 5 และวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 7 และยังมีพิธีกรรมอื่น ๆ ตามความเชื่ออีกตลอดทั้งปี
การสืบทอดและความยั่งยืน ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นได้ร่วมกันอนุรักษ์สืบสานรากวัฒนธรรมของชนเผ่ากะเหรี่ยงโปว์เอาไว้ได้เป็นอย่างดี ถึงแม้วิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีจะก้าวหน้าไปม แต่ทว่าชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นก็สามารถรักษาวัฒนธรรมที่ดีงามเอาไว้ได้อย่างดี ทำให้มั่นใจได้ว่าวัฒนธรรมกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นจะมีความยั่งยืนตลอดไป
4. ทุนทางเศรษฐกิจ
พืชเศรษฐกิจ ประวัติความเป็นมา ในอดีตบรรพบุรุษในชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นแห่งนี้นิยมปลูกข้าวไร่เป็นหลัก ที่สำคัญเป็นการปลูกข้าวไร่ตามวิถีชนเผ่ากะเหรี่ยง หรือที่เรียกว่าการทำไร่หมุนเวียนนั่นเอง เป็นการปลูกข้าวไร่ไว้กินในครัวเรือนในหนึ่งรอบปีปฏิทินเท่านั้น ไม่ได้ปลูกเพื่อการจำหน่าย
ช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลง จากยุคการทำไร่หมุนเวียนไปสู่การปลูกพืชเชิงเดี่ยวหรือพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ยุคที่ที่ดินทำกินของชุมชนถูกประกาศเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติห้วยป่าทับเสลาและห้วยป่าคอกควาย ชาวบ้านได้รับการจัดสรรที่ดินจำนวนจำกัดมาก ไม่เพียงพอกับการทำไร่หมุนเวียน ประกอบกับความเจริญทางวัตถุของชุมชนเมืองเริ่มแพร่หลายเข้ามาสู่ชุมชน ชาวบ้านจำเป็นต้องใช้เงินเป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีพ ชาวบ้านจึงเปลี่ยนวิถีการเกษตรมาเป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวหรือพืชเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายเพื่อการสร้างรายได้หาเลี้ยงครอบครัว
คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน ไม่ว่าจะเป็นอดีตที่ผู้คนปลูกพืชเพื่อการดำรงชีพหรือปัจจุบันที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อจำหน่ายและนำเงินมาเลี้ยงชีพ ทั้งสองแนวทางล้วนมีคุณค่าและความหมายมากมายต่อวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นทั้งสิ้น
สถานการณ์ปัจจุบัน ชาวบ้านนิยมปลูกพืชเศรษฐกิจจำพวก ข้าวโพด มันสำปะหลัง ปาล์ม อ้อย สับปะรด เป็นต้น ซึ่งเป็นพืชล้มลุกที่โตเร็ว ทนแล้ง และสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้เป็นอย่างดี
การสืบทอดและความยั่งยืน การปลูกพืชเชิงเดี่ยวหรือพืชเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะเติบโตอย่างรวดเร็ว และจะยังคงดำรงอยู่เช่นนี้ต่อไปอีกหลายทศวรรษข้างหน้า
5. ทุนทางสังคม/การเมือง
การมีส่วนร่วมทางการเมือง ประวัติความเป็นมา จากอดีตถึงปัจจุบันชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นให้ความสำคัญกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมาก ดังจะเห็นได้ว่า ชาวบ้านได้มีการแต่งตั้งผู้ปกครองชุมชนอย่างไม่เป็นทางการขึ้นมา เพื่อเป็นที่ปรึกษาให้กับชุมชนและดูแลความสงบเรียบร้อยในชุมชน อย่างต่อเนื่อง ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2415 ทางการแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านคนแรกขึ้นดูแลชุมชน ชาวบ้านก็ให้ความเคารพนับถือ แสดงให้เห็นว่าชาวบ้านมีความรู้ความเข้าใจในพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างดี
ช่วงเวลาที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2415 ที่ชุมชนแห่งนี้มีผู้ใหญ่บ้านที่เป็นทางการที่ภาครัฐได้แต่งตั้งให้ดูแลชุมชน ชาวบ้านให้ความเคารพและยอมรับในตัวผู้นำทุกรุ่นทุกยุคสมัย รวมถึงในระยะหลังที่ภาครัฐกำหนดให้ประชาชนมาลงคะแนนเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้านก็ให้ความร่วมมืออย่างดียิ่ง ไม่เคยมีปัญหาความขัดแย้งในการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน แสดงให้เห็นว่าชาวบ้านเคารพในกติกาของบ้านเมือง มีส่วนร่วมทางการเมือง และยอมรับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จนปัจจุบันนี้มีผู้ใหญ่บ้านถึง 12 คนแล้ว
คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน ชุมชนแห่งนี้ผ่านทุกช่วงเวลาที่ยากลำบากจากอดีตจนถึงถึงปัจจุบัน ผ่านเหตุการณ์ร้ายและดีมาอย่างยาวนานกว่า 400 ปี ผ่านการปกครองโดยผู้นำชุมชนทั้งที่ไปเป็นทางการและไม่เป็นทางการ เข้าใจในวัฒนธรรมประชาธิปไตย มีส่วนร่วมและพร้อมให้ความร่วมมือในทุก ๆ ครั้งที่มีปรากฏการณ์ทางการเมืองในรูปแบบต่าง ๆ พร้อมเรียนรู้และปรับตัวกับทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรู้คุณค่า
สถานการณ์ปัจจุบัน ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ที่มีประชากรกว่า 700 คน เกือบ 200 ครัวเรือน จึงกลายเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ หมู่ที่ 8 ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี มีผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลทองหลางประจำหมู่ 8 ดูแลความเรียบร้อยและความสงบสุขของชุมชน
การสืบทอดและความยั่งยืน นับว่าเป็นความโชคดีที่ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นแห่งนี้ มีการสืบทอดการเมืองและการปกครองด้วยความเรียบร้อยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่เคยมีความขัดแย้ง และ ไม่เคยเสียเลือดเนื้อกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองในทุกยุคสมัยที่ผ่านมา และจะมีการดำรงรักษาไว้ให้เกิดความยั่งยืนเช่นนี้ตลอดไป
ภาษาพูดพื้นถิ่น ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นใช้ภาษากะเหรี่ยงโปว์ เป็นภาษาที่ใช้ในการสื่อสารในครัวเรือนและใช้ในการพูดคุยกันในชุมชน และใช้ในการสื่อสารกับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ในท้องถิ่นอื่น ๆ ทั่วประเทศ ที่ใช้ภาษาพูดเดียวกัน ส่วนภาษาที่เป็นทางการ ภาษาราชการ หรือภาษาที่ใช้สื่อสารกับบุคคลทั่วไปหรือสังคมภายนอกชุมชน คือ ภาษาไทย
ภาษาเขียน ภาษาเขียนของชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็น เป็นภาษาเฉพาะของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ ทั่วประเทศ และกะเหรี่ยงโปว์จากทั่วโลก ใช้สื่อสารกันเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ ลักษณะของตัวอักษรมีต้นแบบมาจากภาษาธิเบตและภาษาเมียนมาร์ ซึ่งมีใช้มายาวนานหลายศตวรรษ
สถานการณ์ปัจจุบัน ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นในปัจจุบันมีผู้ที่สามารถใช้ภาษาเขียนได้จำนวนน้อยมากประมาณร้อยละ 10 ของประชากรในชุมชน เนื่องจากเยาวชนกะเหรี่ยงโปว์และประชาชนชาวกะเหรี่ยงโปว์ วัยกลางคนส่วนใหญ่หันมาใช้ภาษาไทยเป็นหลัก เพราะมีโอกาสได้รับการศึกษาภาคบังคับจากรัฐบาล ส่วนใหญ่จึงสามารถเขียนภาษาไทยได้และนิยมใช้ภาษาไทยมากกว่า จึงทำให้ภาษาเขียนกะเหรี่ยงโปว์ค่อย ๆ เลือนหายไปจากวิถีชีวิตไปในที่สุด
สำหรับภาษาพูดกะเหรี่ยงโปว์ยังคงมีประชากรชาวกะเหรี่ยงโปว์ในชุมชนบ้านภูเหม็นที่สามารถพูดได้ เนื่องจากชาวกะเหรี่ยงโปว์ให้ความสำคัญกับภาษาพูด และทุกครัวเรือนพยายามสอนให้ลูกหลานเยาวชนพูดด้วย ส่งผลให้ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นส่วนใหญ่ร้อยละ 90 พูดภาษากะเหรี่ยงโปว์ได้อย่างคล่องแคล่ว และเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมด้านภาษาพูดเอาไว้ได้เป็นอย่างดี
วัตถุทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับภาษา ในชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นมีเจ้าวัด 1 ท่าน ที่เป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านภาษา คือ เจ้าวัดอ้วน เยปอง ท่านได้ศึกษาตำราองค์ความรู้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์กะเหรี่ยงโปว์ ท่านศึกษาจนแตกฉานทั้งภาษากะเหรี่ยงโปว์และภาษามอญ เมื่อครั้งที่ท่านบวชเณรในวัยเด็ก นอกจากนี้ ท่านยังได้เก็บรักษาคัมภีร์ใบลาน หนังสือองค์ความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิต ความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณี เรื่องเล่า ตำนาน นิทานและบทเพลงพื้นบ้านในอดีตเอาไว้มากมาย แต่เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง เพราะไม่มีบุตรหลานคนใดสนใจศึกษาเล่าเรียนต่อจากท่าน และองค์ความรู้เหล่านี้ก็คงจะสูญหายไปพร้อมกับชีวิตของท่าน ผู้นำชุมชนควรให้ความสำคัญกับเรื่องของการถ่ายทอดองค์ความรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน สู่เยาวชน เพื่อให้องค์ความรู้ที่มีคุณค่าเหล่านี้อยู่คู่กับชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นต่อไปอย่างไม่มีวันเลือนหาย
วิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องจากอดีตถึงปัจจุบัน ในยุคแรกมีการปกครองโดยผู้นำชุมชนอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งเป็นผู้อาวุโสหรือปราชญ์ชาวบ้านที่เป็นที่ยอมรับของคนในชุมชนกะเหรี่ยงโปว์ ทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองดูแลทุกข์สุขและความสงบเรียบร้อยในชุมชน ต่อมามีการแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านจากภาครัฐเพื่อดูแลทุกข์สุขของราษฎร และภายหลังเปลี่ยนมาเป็นการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล มาช่วยผู้ใหญ่บ้านในการดูแลและเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านได้ให้ความร่วมมือกับผู้นำชุมชนและภาครัฐเป็นอย่างดี ในการเลือกตั้งทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นระดับชาติ ซึ่งได้แก่ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือระดับท้องถิ่น จากอดีตถึงปัจจุบัน ไม่เคยมีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองหรือการเรียกร้องหรือการร้องเรียนใด ๆ เกิดขึ้นในชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นแห่งนี้เลยสักครั้ง
การมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและนอกชุมชน เพื่อรับมือกับสถานการณ์หรือแก้ปัญหาต่าง ๆ
ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นเป็นชุมชนที่ผู้คนในชุมชนมีความรัก ความสามัคคี ความผูกพันความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความร่วมมือร่วมใจ และเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันตลอดมาตั้งแต่ก่อตั้งชุมชน ดังนั้น ทุกครั้งที่เกิดสถานการณ์ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเหตุบ้านการเมือง ภัยธรรมชาติ ภัยคุกคาม ราคาพืชผลทางการเกษตร เป็นต้น คนในชุมชนจะมีความร่วมมือร่วมใจกัน ช่วยกันแก้วิกฤติต่าง ๆ ให้ผ่านพ้นไป เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม
แนวทางแก้ไขปัญหาและรับมือกับความท้าทาย
ผู้นำชุมชนที่ภาครัฐแต่งตั้ง เช่น ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลทองหลาง และผู้นำที่เป็นผู้อาวุโสที่ชาวบ้านเคารพนับถือ ผู้นำแห่งจิตวิญญาณและความเชื่อ และกลุ่มผู้นำชุมชนที่เป็นหัวใจสำคัญในแต่ละด้าน เช่น คณะกรรมการหมู่บ้าน อสม. ผู้นำกองทุนหมู่บ้าน ฯลฯ จะเป็นแกนนำในการเชิญสมาชิกลูกบ้านประชุม เพื่อร่วมกันระดมความคิดเห็น กำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาและรับมือกับความท้าทายจากวิกฤติการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น หากแม้ชาวบ้านช่วยกันเต็มความสามารถแล้วไม่สามารถแก้ปัญหาวิกฤติการณ์ต่าง ๆ ได้ ผู้นำชุมชนที่ภาครัฐแต่งตั้งจะนำเรื่องราวที่เกิดขึ้นหารือหรือรายงานให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทราบ เพื่อหาวิธีช่วยเหลือชุมชนต่อไป ทั้งนี้ ชาวบ้านจะยังคงพร้อมใจให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการขับเคลื่อนแนวทางแก้ไขปัญหาตามที่ภาครัฐเห็นสมควร อย่างเต็มกำลังความสามารถ จนกว่าจะคลี่คลาย
การรวมกลุ่มและการสร้างเครือข่าย
ในชุมชนมีเครือข่ายที่เป็นทางการเล็กน้อย ส่วนมากจะเป็นเครือข่ายที่ไม่เป็นทางการ ซึ่งผู้นำชุมชนพยายามขยายเครือข่ายต่าง ๆ ในชุมชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนชุมชนไปสู่การพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม ที่จะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชน
บทบาทของหน่วยงาน/องค์กรภายนอกที่เข้ามามีส่วนร่วม
จากอดีตถึงปัจจุบันมีหน่วยงานภายนอกที่เป็นภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นอยู่หลายหน่วยงาน เช่น อำเภอห้วยคต องค์การบริหารส่วนตำบลทองหลาง ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดอุทัยธานี สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุทัยธานี สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอุทัยธานี สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุทัยธานี เกษตรอำเภอห้วยคต เป็นต้น สำหรับบุคคลหรือองค์กรเอกชนที่เข้ามามีส่วนร่วม เช่น สถาบันธรรมชาติพัฒนา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เป็นต้น
มีการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากอดีตถึงปัจจุบันไปมาก เนื่องจากในอดีตชาวบ้านมีการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์เพื่อการดำรงชีพ มีการค้าขายพริกหรือของป่าเพียงเล็กน้อย หาเงินไว้ซื้อเกลือเพื่อการบริโภคเท่านั้น แต่ต่อมาชาวบ้านถูกจำกัดที่ดินทำกิน เนื่องจากการประกาศพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติทับซ้อนที่ดินทำกินของชาวบ้าน ชาวบ้านจึงต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด ด้วยการบริหารจัดการพื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้น ในยุค 50 ทศวรรษหลังสุดที่ผ่านมานี้ ผู้คนในชุมชนจึงหันมาปลูกพืชเชิงเดี่ยวหรือพืชเศรษฐกิจเพื่อหาเงินมาใช้ในการดำรงชีพ จึงถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงวิถีเศรษฐกิจของชุมชนไปจากอดีตอย่างสิ้นเชิง
ประชากรกะเหรี่ยงโปว์ในชุมชนบ้านภูเหม็นมีการเปลี่ยนแปลงในหลายช่วงเวลา กล่าวคือ ในระยะแรกที่มีชาวกะเหรี่ยงโปว์เข้ามาบุกเบิกพื้นที่ทำกินในบริเวณบ้านภูเหม็นแห่งนี้ มีเพียงไม่กี่ครัวเรือน เมื่อครอบครัวเหล่านี้ได้มาอยู่อาศัยและทำกินในผืนดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ จึงได้บอกต่อไปยังญาติ ๆ ที่อยู่ในชุมชนอื่น ๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง และญาติ ๆ จากต่างจังหวัด ทำให้มีผู้คนจากทั่วทุกสารทิศย้ายเข้ามาอยู่ที่ชุมชนบ้านภูเหม็นแห่งนี้เป็นจำนวนมาก ราว ๆ 200 กว่าครัวเรือน และถึงแม้ว่าการทำมาหากินของชาวบ้านจะไม่ได้อิสระเสรีดังเช่นในอดีต เนื่องจากรัฐได้ประกาศพื้นที่นี้เป็นป่าสงวนแห่งชาติทับที่ทำกินของชาวบ้าน รัฐจัดสรรที่ทำกินให้ใหม่ โดยจำกัดที่ดินทำกินให้ชาวบ้านทำกินเพียงครอบครัวละไม่กี่ไร่ ส่งผลให้ชาวบ้านไม่สามารถทำไร่หมุนเวียนซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่ถูกถ่ายทอดมาจากบรรพชนได้ ชาวบ้านพยายามปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์บ้านเมืองเพื่อให้อยู่รอดในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และยินดีที่จะอยู่ร่วมกันที่นี่ไม่ย้ายไปไหน มีผู้คนย้ายเข้าย้ายออกจากชุมชนอยู่บ้าง แต่สถิติก็ไม่มาก จนถึงกับเป็นประวัติการณ์ ปัจจุบันนี้ก็ยังคงมีผู้คนอาศัยอยู่ในชุมชนแห่งนี้ 193 ครัวเรือน
ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นส่วนหนึ่งย้ายมาจากเมืองอู่ไทยเก่า บางส่วนย้ายถิ่นฐานมาจากประเทศเมียนมาร์ บางส่วนย้ายมาจากชุมชนใกล้เคียง ซึ่งอยู่ในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานีเหมือนกัน และเนื่องด้วยชุมชนนี้ตั้งมานานกว่า 400 ปีแล้ว ดังนั้น ผู้คนในชุมชนจึงไม่ค่อยประสบปัญหาเรื่องสิทธิในสัญชาติ ทุกคนจึงมีสัญชาติไทยและเชื้อชาติไทย มีบัตรประชาชน มีสิทธิพลเมืองไทยทุกประการ รวมถึงได้รับสวัสดิการแห่งรัฐเทียบเท่าประชาชนคนไทยทุกคน ได้รับการศึกษาตามสิทธิขั้นพื้นฐาน ได้รับบริการทางสาธารณสุขเท่าที่คนไทยคนหนึ่งพึงได้รับ มีคุณภาพชีวิตที่ดีตามที่ชาวกะเหรี่ยงโปว์นั้นพึงประสงค์
ในอดีตที่ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นแห่งนี้ยังมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ระบบสาธารณูปโภคที่รัฐจัดให้ไม่มี แต่ชุมชนก็อาศัยภูมิปัญญาในการดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข ภายหลังรัฐได้เข้ามาช่วยดำเนินการเรื่องระบบสาธารณูปโภคให้ เช่น การทำประปาหมู่บ้าน เดินไฟฟ้าเข้าหมู่บ้าน ทำถนนคอนกรีตในหมู่บ้าน ทำให้คุณภาพชีวิตของคนในชุมชนดีขึ้นตามลำดับ ปัจจุบันยังคงขาดเพียงเรื่องเสาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ยังไม่มีเท่านั้น ภาพรวมในปัจจุบันคนในชุมชนถือได้ว่ามีระบบสาธารณูปโภคที่เพียงพอในการดำเนินชีวิต
ในอดีตระบบสาธารณสุขเข้าไม่ถึงชุมชน จึงทำให้คนในชุมชนต้องเสียชีวิตด้วยโรคไข้เลือดออก ไข้มาลาเรีย และโรคเรื้อนไปเป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันชาวบ้านได้รับสวัสดิการจากภาครัฐเกี่ยวกับการสาธารณสุขเท่าเทียมกับประชาชนคนไทยทุกคน และมีห้องน้ำห้องส้วมที่ถูกสุขภาวะทุกบ้าน ได้รับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อโควิดทุกคน ถือได้ว่าได้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีเทียบเท่าประชาชนคนไทย
ในอดีตเยาวชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นได้รับการศึกษาแบบการศึกษาผู้ใหญ่เนื่องจาก ไม่มีโรงเรียนในชุมชน ต่อมามีโรงเรียนบ้านตลิ่งสูงตั้งอยู่ห่างเพียง 3 กิโลเมตร ทำให้เยาวชนได้รับการศึกษาภาคบังคับ เด็กและเยาวชนที่เรียนจบชั้นประถมศึกษาแล้วบางคนไปเรียนต่อโรงเรียนมัธยมในตัวอำเภอห้วยคต ซึ่งมีหลาย ๆ โรงเรียนอยู่ใกล้กับชุมชน และส่วนใหญ่เรียนจบระดับมัธยมศึกษาตอนปลายร้อยละ 80 และเยาวชนที่มีโอกาสเรียนต่อระดับอุดมศึกษาสามารถเรียนจบระดับปริญญาตรีร้อยละ 10 เยาวชนส่วนหนึ่ง เมื่อเรียนจบมัธยมศึกษาตอนปลายแล้วไม่ได้เรียนต่อ ขอออกมาหางานทำช่วยพ่อแม่ บ้างก็เข้ากรุงเทพเพื่อ หางาน บ้างก็แต่งงานสร้างครอบครัวอยู่ในชุมชนไปในที่สุด จึงถือเป็นความท้าทายของภาครัฐ ผู้ปกครอง และผู้นำชุมชน ในการหาวิธีการให้เด็กและเยาวชนได้รับการศึกษาจนจบปริญญาตรีกันทุกคนในอนาคต
ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นล้วนยึดมั่นรักษาอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ให้คงอยู่ ด้วยการร่วมกันอนุรักษ์สืบสานสืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ถึงแม้ว่าจะมีวัฒนธรรมจากภายนอกชุมชน รวมถึงความทันสมัยและความเจริญก้าวหน้าแบบก้าวกระโดด ที่เข้ามาแทรกซึมวิถีวัฒนธรรมในทุกมิติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้วัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นเลือนหายไปบางส่วน จึงเป็นความท้าทายของผู้นำชุมชนและปราชญ์ชาวบ้านทั้งหลาย ที่จะร่วมกันอนุรักษ์สืบสานอัตลักษณ์วัฒนธรรมที่ดีงามที่บรรพบุรุษได้สรรสร้างเอาไว้ให้คงอยู่ต่อไปตราบนานเท่านาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาษา การทอผ้า การแต่งกาย วัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อ พิธีกรรม อาหาร สมุนไพร ฯลฯ ให้คงอยู่คู่ลูกหลานตราบนานเท่านาน
ตามคำพูดที่กล่าวว่า “ที่ไหนมีกะเหรี่ยง ที่นั่นมีป่า” และ “ที่ไหนมีป่า ที่นั่นมีกะเหรี่ยง” ปัจจุบันนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปพอสมควร ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นแห่งนี้ ในยุคบุกเบิกยอมรับว่าที่ดินผืนนี้มีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์มากจริง ๆ เพราะเป็นกลุ่มเทือกเขาที่ต่อเนื่องเชื่อมโยง มาจากผืนป่าตะวันตกห้วยขาแข้ง ต่อมาเมื่อมีประชากรย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่จำนวนมากทำให้ผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ถูกแปรสภาพเป็นที่อยู่อาศัย ไร่หมุนเวียน สวน และไร่เกษตรเชิงเดี่ยวของคนในชุมชน จากระยะเวลาที่ล่วงเลยมากว่า 4 ศตวรรษ ผืนป่าตามธรรมชาติและผืนป่าชุมชนลดลงเหลือเพียงร้อยละ 10 ของพื้นที่ จึงนับว่าเป็นความโชคดีของนโยบายภาครัฐที่ได้มีการประกาศพื้นที่แห่งนี้เป็นป่าสงวนแห่งชาติห้วยป่าทับเสลาและห้วยป่าคอกควาย รวมถึงมีการจำกัดที่ดินทำกินของราษฎร จึงทำให้เหลือพื้นป่าเอาไว้รักษาระบบนิเวศ ทำให้ฝนยังตกต้องตามฤดูกาล ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายสำหรับภาครัฐ ท้องถิ่น ท้องที่ และราษฎรในพื้นที่ว่าจะบริหารจัดการพื้นที่ทำกินและผืนป่าเสื่อมโทรมให้เกิดความสมดุลทางระบบนิเวศได้อย่างไร
ป่าสงวนแห่งชาติห้วยป่าทับเสลาและห้วยป่าคอกควาย
วนอุทยานห้วยคต
ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็น (พุเม้ยง์) ได้มาตั้งถิ่นฐานทำมาหากินอยู่ในพื้นที่นี้กว่า 400 ปีแล้ว แต่รู้หรือไม่ว่า ชุมชนแห่งนี้ครั้งหนึ่งในอดีตเคยมีชุมโจรเข้ามาปล้นชาวบ้าน จนกลายเป็นตำนานเล่าขานที่น่าหวาดกลัวและระทึกขวัญอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง นอกจากนี้ ชุมชนแห่งนี้เคยมีโรคระบาดที่น่าหวาดอยู่โรคหนึ่ง คือ โรคเรื้อน กว่าทางสาธารณสุขจะควบคุมโรคได้ใช้เวลาไปหลายปี เป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรงและมีการกระจายตัวอย่างรวดเร็ว ผู้คนต้องอพยพแยกย้ายกระจัดกระจายหนีเข้าไปอยู่ในป่า รอจนโรคเงียบหายจึงกลับออกจากป่ามาอยู่ในชุมชนดังเดิม ทั้งสองเหตุการณ์ใหญ่นี้ยังอยู่ในความทรงจำของผู้คนอย่างไม่มีวันลืม โดยเฉพาะผู้อาวุโสที่มีประสบการณ์ตรง ที่ยังจดจำกับเหตุการณ์ดังกล่าวมาจนถึงทุกวันนี้
วรวิทย์ นพแก้ว และคณะ. (2563). วิจัยเรื่อง “แนวทางการจัดการเขตพื้นที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย และการฟื้นฟู วิถีชีวิตวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี
อังคาร คลองแห้ง และคณะ. (2562). รายงานโครงการพัฒนาศักยภาพการจัดการข้อมูลชุมชนกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี
กิตติพัฒน์ คงมะกล่ำ และ วรวิทย์ นพแก้ว. (2561). วิจัยเรื่อง “แนวทางการจัดการความขัดแย้งในด้านทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ในพื้นที่ของชุมชนกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี” คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์