- ใจกลางชุมชนบ้านกุดจะเลิด มีต้นกะพงษ์ขนาดใหญ่ อายุกว่า 100 ปี และมีต้นไทรอายุกว่า 100 ปี อยู่ท้ายหมู่บ้าน เป็นเสมือนศูนย์รวมความเชื่อและจิตวิญญาณของผู้คนในชุมชน
- ชุมชนบ้านกุดจะเลิดมีแม่น้ำคอกควายที่ไหลผ่านชุมชนเป็นระยะทางกว่า 500 เมตร ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงผู้คนในชุมชน
- ชุมชนแห่งนี้ตั้งอยู่กลางหุบเขา มีภูเขาขนาดใหญ่ล้อมรอบดูผิวเผินเหมือนทิวทัศน์ในประเทศสวิสแลนด์ มีความงดงามทางธรรมชาติ
นายงิ้ว บูโกก ผู้อาวุโสชาวกะเหรี่ยงโปว์ที่ชาวบ้านกลุ่มบ้านกุดจะเลิดให้ความเคารพนับถือ เล่าให้ฟังว่า มีชาวกะเหรี่ยงโปว์กลุ่มหนึ่งได้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานมาจากชุมชนสมอทองมาอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ น่าจะไม่ต่ำกว่า 200 ปี ด้วยพื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ราบเชิงเขาและหุบเขาเป็นส่วนใหญ่ มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติในผืนป่าไม้เบญจพรรณและป่าไม้ผลัดใบ มีเหมาะสมอย่างยิ่งในการทำไร่หมุนเวียนแบบวิถีชาวกะเหรี่ยง มีแม่น้ำคอกควายไหลผ่านชุมชน เป็นแม่น้ำที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงผู้คนในชุมชน เป็นทั้งแหล่งน้ำในการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรมาแต่ครั้งอดีตกาล นอกจากนี้ คนในชุมชนยังเล่าให้ฟังว่า ในอดีตนายกุยจะลอะ (ภาษากะเหรี่ยง) ชาวบ้านในชุมชนนี้ได้ตกน้ำในแม่น้ำและจมน้ำตายในแม่น้ำคอกควาย และเชื่อกันว่าในแม่น้ำ คอกควายมีวังวนอยู่จุดหนึ่ง ชาวบ้านจึงพากันเรียกชุมชนนี้ว่า “กุยจะลอะ” ตามชื่อของคนที่เสียชีวิตนั้นมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนทางการไม่สามารถเรียกตามภาษากะเหรี่ยงได้ จึงออกเสียงว่า “กุดจะเลิด” และใช้ชื่อ “กุดจะเลิด”เป็นชื่อชุมชนมาจนถึงปัจจุบัน
- ใจกลางชุมชนบ้านกุดจะเลิด มีต้นกะพงษ์ขนาดใหญ่ อายุกว่า 100 ปี และมีต้นไทรอายุกว่า 100 ปี อยู่ท้ายหมู่บ้าน เป็นเสมือนศูนย์รวมความเชื่อและจิตวิญญาณของผู้คนในชุมชน
- ชุมชนบ้านกุดจะเลิดมีแม่น้ำคอกควายที่ไหลผ่านชุมชนเป็นระยะทางกว่า 500 เมตร ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงผู้คนในชุมชน
- ชุมชนแห่งนี้ตั้งอยู่กลางหุบเขา มีภูเขาขนาดใหญ่ล้อมรอบดูผิวเผินเหมือนทิวทัศน์ในประเทศสวิสแลนด์ มีความงดงามทางธรรมชาติ
นายงิ้ว บูโกก เล่าให้ฟังว่า บรรพบุรุษของตนและกลุ่มญาติพี่น้องผองเพื่อนกลุ่มหนึ่งได้อพยพโยกย้าย ถิ่นฐานจากบ้านสมอทองในปัจจุบัน มาอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ ซึ่งบริเวณนี้เป็นที่ราบเชิงเขาที่เต็มไปด้วยภูเขาและหุบเขาที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยของป่าและพืชพรณธัญญาหารสำหรับการดำรงชีพมากมาย เป็นป่าไม้เบญจพรรณและป่าไม้ผลัดใบ พื้นที่บริเวณนี้มีเหมาะสมอย่างยิ่งในการทำไร่หมุนเวียนตามแบบวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง และคาดว่าน่าจะย้ายมาอยู่บริเวณนี้ไม่น้อยกว่า 200 ปีมาแล้วเป็นอย่างน้อย
ชุมชนแห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติห้วยป่าทับเสลาและห้วยป่าคอกควาย โซน 3 พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบเชิงเขา หุบเขา และมีภูเขาขนาดไม่สูงมากนักล้อมรอบชุมชน มีลักษณะเหมือนชุมชนอยู่ในแอ่งกระทะและมีเนินเขาขนาดสูงต่ำสลับซับซ้อนลดหลั่นกันไปเป็นจำนวนมาก ในอดีตชาวบ้านทำไร่หมุนเวียนอย่างเดียว เป็นการปลูกข้าวไร่ไว้กินในครัวเรือน ไม่ได้ปลูกเพื่อการค้าขาย
ในอดีตชุมชนแห่งนี้มีผู้คนอาศัยอยู่จำนวนมากกว่า 100 หลังคาเรือน มีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับป่า มีผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์โอบล้อมชุมชน ผู้คนพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข มีเจ้าวัดซึ่งเป็นผู้นำทาง จิตวิญญาณ และมีเจดีย์ซึ่งเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมอยู่กลางชุมชน ต่อมาระยะหลัง ๆ ชุมชนประสบภัยแล้งบ่อยครั้ง รวมถึงประสบภัยน้ำท่วมเป็นบางปี เนื่องจากอยู่ใกล้แม่น้ำคอกควาย การทำการเกษตรไม่ค่อยได้ผลผลิตเท่าที่ควร จึงทำให้ผู้คนในชุมชนย้ายออกไปจากชุมชนเป็นจำนวนมาก และคงเหลืออยู่เพียง 25 หลังคาเรือนในปัจจุบัน
ชุมชนบ้านกุดจะเลิด เคยมีโรงเรียน เด็ก ๆ ที่มีอายุถึงเกณฑ์เรียนหนังสือจะได้เรียนหนังสือตามเกณฑ์ แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว เนื่องจากจำนวนนักเรียนน้อย โรงเรียนจึงถูกปิดตัวไป เด็ก ๆ ต้องไปเรียนหนังสือในชุมชนอื่นในพื้นที่ใกล้เคียง
ในอดีตบรรพบุรุษชาวกะเหรี่ยงชุมชนบ้านกุดจะเลิด ได้อนุรักษ์สืบสานประเพณีวัฒนธรรมตามแบบ วิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงเอาไว้ได้เป็นอย่างดี แต่ปัจจุบันถูกกลืนกินหายไปเป็นจำนวนมาก เนื่องจากชุมชนกะเหรี่ยงแห่งนี้อยู่ใกล้กับคนไทยพื้นเมืองที่อยู่รอบ ๆ ชุมชน
การคมนาคมสัญจร ในอดีตชุมชนยังไม่มีถนนหนทาง ผู้คนในชุมชนบ้านกุดจะเลิดต้องเดินเท้าไปตาม ทางเท้า ข้ามภูเขา ป่าไม้ ลำธาร เพื่อที่จะไปทำธุรกรรมที่อำเภอ ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทาง 1 วัน พัก 1 คืน และเดินทางกลับอีก 1 วัน จึงจะกลับถึงบ้าน หากจะต้องเดินทางไปที่ตัวจังหวัด จะต้องเดินทางถึง 2 วัน พักระหว่างทาง 3 คืน และเดินทางกลับอีก 2 วัน จึงจะถึงบ้าน ต่อมาเมื่อทางการเข้ามาพัฒนาถนนหนทาง มีถนนลูกรังเข้ามาถึงชุมชนบ้านกุดจะเลิด มีรถโดยสารประจำทางรับ-ส่งผู้คนในชุมชน ไปที่ตลาดทุ่งนา ตำบลเขาบางแกรก อำเภอหนองฉาง 1 จุด และเดินทางไปที่ตัวจังหวัดอุทัยธานี อีก 1 จุด
ปัจจุบันนี้ไม่มีรถโดยสารประจำทางแล้ว หากคนในชุมชนที่จะเดินทางไปทำธุรกรรมในตัวอำเภอหรือจังหวัด ต้องเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล หรือรถจักรยานยนต์เป็นส่วนบุคคลเป็นหลัก หรืออาศัยเพื่อนบ้านไป
- ระยะทางจากอำเภอถึงชุมชนบ้านกุดจะเลิด 19 กิโลเมตร
- ระยะทางจากจังหวัดถึงชุมชน 68 กิโลเมตร
- ระยะทางจากกรุงเทพถึงชุมชน 251 กิโลเมตร
- เดินทางได้ทางบกทางเดียว คือ การคมนาคมสัญจรโดยรถยนต์และรถจักรยานยนต์
อาณาเขตติดต่อ
ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านคลองชะนี หมู่ 3 ตำบลป่าอ้อ อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี
ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านมอสามโค้ง หมู่ 1 ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านสมอทอง หมู่ 2 ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง แหล่งมรดกโลกห้วยขาแข้ง
สภาพพื้นที่ทางกายภาพ /ขนาดพื้นที่ชุมชน/พื้นที่สาธารณะ/การสาธารณูปโภคชุมชน
พื้นที่ชุมชนบ้านกุดจะเลิดเป็นพื้นที่ราบเชิงเขา มีหุบเขาและภูเขาขนาดใหญ่ มีเนินเขาจำนวนมากที่มีความสลับซับซ้อนตั้งอยู่รอบ ๆ ชุมชน และบริเวณพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกิน พื้นที่ส่วนใหญ่ร้อยละ 60 เป็นพื้นที่ทำการเกษตร พื้นที่ร้อยละ 20 เป็นที่อยู่อาศัยเป็นที่ตั้งชุมชน และพื้นที่ร้อยละ 20 เป็นพื้นที่ป่าไม้ ภูเขา แม่น้ำคอกควาย และพื้นที่ป่าชุมชน ปัจจุบันมีผู้คนอาศัยอยู่ในชุมชน จำนวน 25 ครัวเรือน
ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านกุดจะเลิด มีแม่น้ำสายสำคัญไหลผ่านชุมชน ชื่อว่า “แม่น้ำคอกควาย” มีต้นกำเนิดมากจากเทือกเขาบริเวณเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ในพื้นที่มรดกโลกห้วยขอแข้ง มีระยะทางเฉพาะช่วงที่ไหลผ่านชุมชนกะเหรี่ยงบ้านกุดจะเลิดยาวประมาณ 500 – 700 เมตร มีน้ำไหลผ่านตลอดทั้งปี ทำให้ชาวบ้านมีน้ำอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรตลอดทั้งปี
ในชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านกุดจะเลิด มีต้นไม้ใหญ่ที่ชาวบ้านเก็บรักษาไว้คู่บ้านคู่ชุมชน เป็นเสมือนพื้นที่จิตวิญญาณซึ่งเป็นวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงโปว์ เป็นความผูกพันระหว่างป่าและต้นไม้กับชาวกะเหรี่ยงโปว์ ที่ดูแลกันมากว่า 100 ปี จำนวน 2 ต้น ต้นแรกคือต้นกะพง ในฤดูแล้งต้นไม้จะผลัดใบในช่วงน้ำน้อย และจะผลิใบใหม่ในช่วงฤดูฝนเมื่อมีน้ำฝนมาหล่อเลี้ยงลำต้นอย่างเต็มที่ ส่วนต้นที่สองคือต้นไทร ซึ่งเป็นต้นไม้ที่ ชาวกะเหรี่ยงโปว์เชื่อว่ามีเทพยาดาอารักษ์ปกปักษ์ดูแลรักษาประจำต้นไม้ ชาวกะเหรี่ยงโปว์จึงมีพิธีกรรมค้ำต้นไทร เพื่อให้เทพยาดาคุ้มครองทุกครอบครัวให้อยู่เย็นเป็นสุขตลอดทั้งปี
บรรพบุรุษยุคแรกที่ย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในชุมชนบ้านกุดจะเลิด เห็นว่าผืนดินบริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์ มีเนินเขาและเชิงเขาที่ไม่สูงชันมากนัก เหมาะแก่การทำไร่หมุนเวียนตามแบบวิถีชนเผ่ากะเหรี่ยง มีป่าไม้ พืชพรรณธัญญาหารสมบูรณ์ มีแม่น้ำคอกควายเป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค เรียกได้ว่าสภาพแวดล้อมมีความพร้อมในทุก ๆ ด้าน จึงตัดสินใจตั้งถิ่นฐานสร้างชุมชนอยู่ในบริเวณนี้จวบจนปัจจุบัน
พื้นที่กิจกรรมทางสังคมในอดีตเคยมีเจ้าวัดเคยมีเจดีย์ให้ผู้คนในชุมชนได้ร่วมกิจกรรมไหว้เจดีย์ ซึ่งเป็นความเชื่อทางจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยง แต่ปัจจุบันนี้ไม่มีแล้ว เหลือเพียงร่องรอยเนินดินที่คนเฒ่าคนแก่ บอกกับลูกหลานว่า บริเวณนี้คือเจดีย์เก่าเท่านั้น
สถานที่สำคัญทางสังคมและวัฒนธรรม ส่วนใหญ่จะมีการนัดพบพูดคุยหารือเรื่องสำคัญในบ้านของ ผู้อาวุโสของชุมชน หรือบ้านผู้นำชุมชน นอกจากนี้ ยังมีการจับกลุ่มหารือกันอย่างไม่เป็นทางการตามบ้านต่าง ๆ แต่หากเป็นการประชุมหารืออย่างเป็นทางการแล้ว จะไปประชุมกันที่ศาลาประชาคมหมู่บ้าน หรือที่องค์การบริหารส่วนตำบล หรือที่อำเภอห้วยคต
ที่อยู่อาศัยของชุมชน รวมทั้งพื้นที่ทำการเกษตรของคนในชุมชน ล้วนเป็นพื้นที่ของป่าสงวนแห่งชาติห้วยป่าทับเสลาและห้วยป่าคอกควาย โซนซี ซึ่งได้มีการประกาศเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2528 ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2528 ซึ่งเป็นการประกาศพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติหลังจากที่ชาวบ้านได้อยู่อาศัยและทำมาหากินเป็นระยะเวลากว่า 100 ปี และภายหลังการประกาศพื้นที่ ป่าสงวนแห่งชาติ เจ้าหน้าที่รัฐจัดสรรที่ดินให้ทำกินครอบครัวละ 25 – 30 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จำกัดมาก ไม่เพียงพอ ที่จะแบ่งสรรพื้นที่ทำไร่หมุนเวียนตามที่บรรพบุรุษเคยทำ ชาวบ้านจึงหันมาปลูกพืชเชิงเดี่ยวหรือพืชเศรษฐกิจแทน
- ประชากรมีจำนวน 25 ครัวเรือน ประชากรทั้งหมด 71 คน ประชากรชาย 36 คน ประชากรหญิง 35 คน
- ประชากรทั้งหมดเป็นเชื้อสายกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ 71 คน คิดเป็นร้อยละ 100
- ระบบเครือญาติ ประชากรในชุมชนทั้งหมดเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ อาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวขยายที่มีผู้คนหลากหลายช่วงวัยอาศัยอยู่ร่วมกัน มีเพียงบางส่วนที่อยู่อาศัยเป็นครอบครัวเดี่ยว
7.1 กลุ่มที่เป็นทางการ
7.1.1 กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อการผลิต
ในอดีตชุมชนบ้านกุดจะเลิด เคยมีการรวมตัวกันเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการออมทรัพย์ และใช้ในการระดมทุนไว้ให้คนในชุมชนได้กู้ยืมไปประกอบอาชีพทางการเกษตรในอัตราดอกเบี้ยต่ำ แต่เมื่อรัฐบาลได้จัดให้มีกองทุนหมู่บ้าน กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อการผลิต จึงไปเป็นสมาชิกกองทุนหมู่บ้านของรัฐบาลแทน
7.1.2 กลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์
ชุมชนมีการรวมตัวกันในนามกลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์ทั้งชุมชน โดยมี วัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพของครอบครัวสมาชิก โดยให้ครอบครัวสมาชิกจ่ายเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ครอบครัวละ 50 บาท ต่อ 1 ศพ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของทายาทผู้เสียชีวิต
7.1.3 กลุ่มสินเชื่อ ธ.ก.ส.
ชุมชนมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มย่อย ๆ กลุ่มละ 4 – 5 คน ยื่นขอสินเชื่อการเกษตรกับ ธ.ก.ส. ซึ่งปัจจุบันมีหลายกลุ่มที่มีการรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น
7.2 กลุ่มที่ไม่เป็นทางการ
7.2.1 กลุ่มทอผ้ากะเหรี่ยงโปว์
มีการรวมกลุ่มอย่างไม่เป็นทางการสำหรับกลุ่มทอผ้ากะเหรี่ยงโปว์ หลังจากเสร็จภารกิจจากการทำการเกษตร จะมานั่งกันเป็นกลุ่มตามใต้ถุนบ้านหรือใต้ต้นไม้ นั่งทอผ้ากะเหรี่ยงซึ่งเป็นผ้าทอมือโดยใช้กี่เอวในการทอผ้า ส่วนใหญ่จะเป็นการทอผ้าไว้ตัดเย็บเสื้อผ้าไว้ใช้ในครัวเรือน
7.2.2 กลุ่มประเพณีวัฒนธรรมและพิธีกรรม
การทำพิธีกรรมในชุมชนบ้านกุดจะเลิด จะมีการรวมกลุ่มของคนในชุมชน นำโดยผู้อาวุโสหรือปราชญ์ชาวบ้านในชุมชน ทุกคนมีความร่วมแรงร่วมใจกันสืบสานประเพณีวัฒนธรรมและพิธีกรรมตามแบบวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงโปว์อย่างสม่ำเสมอ
7.2.3 กลุ่มพลังศรัทธา
มีชาวบ้านกุดจะเลิดกลุ่มหนึ่งที่มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา รวมตัวกันไปทำบุญ ที่วัดคลองแห้งซึ่งเป็นวัดใกล้บ้าน เป็นประจำทุกวันธรรมสวนะ ทำให้ชาวบ้านได้มีสถานที่ในการพูดคุยเรื่องการทำมาหากิน หารือเรื่องการทำการเกษตร ทำให้มีการเชื่อมโยงปฏิสัมพันธ์ผู้คนในชุมชนให้มีความผูกพันกัน ซึ่งเป็นที่มาของความรักความสามัคคีของคนในชุมชน
7.2.4 กลุ่มทำการเกษตร
ผู้คนในชุมชนมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มย่อย ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเครือญาติ 4 – 5 หลังคาเรือน ที่เป็นกลุ่มบ้านใกล้เรือนเคียงกัน จะมีการรวมตัวช่วยเหลือกันทางการเกษตร เช่น มีการรวมตัวกัน ลงแขกปลูกข้าวไร่ ลงแขกเกี่ยวข้าว ลงแขกขุดมันสำปะหลัง เป็นต้น โดยจะเป็นลักษณะของการเอาแรงกัน เริ่มจากบ้านหนึ่งหมุนเวียนไปเรื่อย ๆ จนครบทุกบ้านในกลุ่มสมาชิก เพื่อลดต้นทุนในการทำการเกษตรประจำปี
8.1 วิถีชีวิตทางสังคมและวัฒนธรรม
8.1.1 ประเพณีกินข้าวใหม่
หลังจากที่ชาวบ้านเก็บเกี่ยวข้าวไร่เรียบร้อยแล้ว ก่อนที่จะนำข้าวไร่ขึ้นเก็บในยุ้งฉาง ทุกบ้านที่ปลูกข้าวไร่ จะมีการประกอบพิธีกรรมกินข้าวใหม่เป็นรายหลังคาเรือน หรือบางกลุ่มอาจจะประกอบพิธีกรรมกินข้าวใหม่เป็นกลุ่มญาติพี่น้อง โดยการจัดเตรียมข้าวปลาอาหาร สำรับอาหารหวาน-คาว ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับการประกอบพิธี ให้ผู้อาวุโสในชุมชนที่เป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านพิธีกรรมมาประกอบพิธี ด้วยการนำทุกคนในครอบครัวกล่าวขอบคุณและขอขมาเครื่องมือทางการเกษตรต่าง ๆ ที่ทำให้ข้าวไร่ได้ผลผลิตดี มีคุณภาพ
ความสัมพันธ์และอิทธิพลที่มีต่อวิถีชีวิต ข้าวไร่เป็นอาหารหลักของชาวกะเหรี่ยงโปว์มาตั้งแต่บรรพบุรุษ ปัจจุบันประชากรร้อยละ 20 ยังคงทำข้าวไร่อย่างต่อเนื่อง เพื่อเลี้ยงชีพคนในครอบครัว ดังนั้นพิธีกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปลูกข้าว จึงยังคงถูกรักษาเอาไว้ได้อย่างค่อนข้างสมบูรณ์
8.1.2 ประเพณีไหว้เจดีย์
ในอดีตชุมชนบ้านกุดจะเลิดแห่งนี้ เคยมีเจ้าวัด (ผู้นำแห่งจิตวิญญาณ) จำนวน 1 คน และได้ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ตามวิถีแห่งกะเหรี่ยงโปว์มาอย่างยาวนาน แต่เมื่อเจ้าวัดได้ถึงแก่กรรมลง ก็ไม่มีผู้ใดสืบทอดต่อ ดังนั้น พิธีกรรมต่าง ๆ ที่เจ้าวัดเคยปฏิบัติจึงค่อย ๆ สูญหายไปตามกาลเวลา คนในชุมชนบ้านกุดจะเลิดยังคงมีความเชื่อและความศรัทธาเกี่ยวกับเจ้าวัดไม่เสื่อมคลาย ถึงแม้ในชุมชนบ้านกุดจะเลิดจะไม่มีเจ้าวัดและไม่มีเจดีย์ แต่คนในชุมชน ยังคงเดินทางไปไหว้เจดีย์ในชุมชนใกล้เคียงที่มีเจ้าวัดและมีเจดีย์
8.1.3 ประเพณีลอยกระทง
ประเพณีลอยกระทงของชาวกะเหรี่ยงโปว์ ได้รับอิทธิพลมาจากประเพณีลอยกระทงของคนไทยพื้นเมือง ซึ่งเป็นความสอดคล้องของผู้นำแห่งจิตวิญญาณที่ต้องการให้มีการขอขมาพระแม่คงคา ที่ทำให้คนในชุมชนได้มีน้ำกินน้ำใช้ มีน้ำในการทำการเกษตรตลอดปี และถือเอาวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งตรงกับวันลอยกระทงของคนไทย เป็นวันลอยกระทงของชาวกะเหรี่ยงโปว์ด้วย โดยกระทงจะมีขนาดใหญ่ เป็นทรงสี่เหลี่ยมทำมาจากต้นกล้วยและกาบกล้วย ในกระทงจะมีอาหารหวาน-คาว มีดอกไม้ธูปเทียน และเครื่องสักการบูชาอื่น ๆ ตามสมควร โดยทั้งหมู่บ้านจะทำเพียงกระทงเดียว ช่วยกันหามไปลอยกระทงในแม่น้ำคอกควาย เพื่อขอขมาพระแม่คงคา
8.2 วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ
8.2.1 การเตรียมดินเพาะปลูก
ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม จะต้องมีการเตรียมดิน เช่น ถากถางวัชพืชหลังเก็บเกี่ยว เผาซากวัชพืช ไถบุก ไถแปรพลิกหน้าดินขึ้นมาตากแดดเพื่อฆ่าเชื้อโรคที่สะสมใต้ดิน และฆ่าไข่ของ ตัวหนอนและเพลี้ยชนิดต่าง ๆ เพื่อให้ดินมีความพร้อมสำหรับการเพาะปลูกรอบใหม่
8.2.2 การเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร
เดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคม หากฝนตกตามฤดูกาลชาวบ้านก็จะเพาะปลูก หลังจากนั้นเกษตรกรจะดูแลพืชผลทางการเกษตรต่อไปอีกราว ๆ 4 – 6 เดือน จึงจะได้เวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรในแต่ละชนิด ดังนั้น ในช่วงของการดูแลพืชผลทางการเกษตร จึงถือได้ว่าเป็นช่วงที่สำคัญมาก
ชื่อ นายงิ้ว นามสกุล บูโกก อายุ 69 ปี เกิด พ.ศ. 2497
ที่อยู่บ้านเลขที่ 69 ชุมชนกุดจะเลิด หมู่ 3 บ้านละว้า ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี
บทบาทและความสำคัญในชุมชน ความชำนาญ/ทักษะที่มี
นายงิ้ว บูโกก เป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านสมุนไพรพื้นบ้าน สามารถรักษาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นสำหรับโรคภัยที่มีกระบวนการรักษาที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน และโรคภัยที่ไม่มีอาการรุนแรง เป็นปราชญ์ชาวบ้านที่มีความรู้เรื่องการประกอบพิธีกรรมพื้นถิ่น จึงเป็นตัวแทนผู้นำแห่งจิตวิญญาณของชุมชน เป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านการแสดงพื้นบ้าน เช่น รำตง และการขับร้องบทเพลงพื้นบ้านทั่วไป
ชีวประวัติ
นายงิ้ว บูโกก ไม่ทราบวันเกิดและเดือนเกิดที่แน่ชัด แต่ตามบัตรประชาชนเกิดในปี พ.ศ. 2497 เกิดที่บ้านกุดจะเลิด และอยู่ที่นี่มาจนถึงปัจจุบัน ปัจจุบันมีอายุ 69 ปี ในวัยเด็กได้เรียนหนังสือจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน และได้แต่งงานครองเรือนในวัย 18 ปี โดยสมรสกับนางเตเลียงซ่า บูโกก และมีบุตรธิดาด้วยกัน 4 คน อยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวเดี่ยว ที่มีพ่อแม่และบุตรที่ยังไม่แต่งงานอยู่ร่วมกัน ส่วนบุตรที่แต่งงานแล้วได้ย้ายไปใช้ชีวิตในท้องถิ่นอื่น และบุตรบางคนย้ายไปรับราชการยังท้องถิ่นอื่น
นายงิ้ว บูโกก เล่าให้ฟังว่า ในตอนที่ยังเด็ก ชุมชนบ้านกุดจะเลิดแห่งนี้เป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ มีชาวกะเหรี่ยงโปว์อาศัยอยู่จำนวนมาก ราว ๆ สัก 100 หลังคาเรือน ต่อมาชุมชนแห่งนี้เกิดอุทกภัยน้ำท่วมสูง เนื่องจากปริมาณน้ำฝนในปีนั้นมาก และชุมชนแห่งนี้อยู่ใกล้แม่น้ำสายใหญ่ แม่น้ำคอกควายระบายไม่ทันเอ่อท่วมบ้านเรือนและเรือกสวนไร่นา เคราะห์ซ้ำมีโจรมีเสือชุกชุม ปล้นสะดมชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง บางปีก็เกิดภัยแล้งทำให้ผู้คนอดอยากยากแค้น เป็นเหตุให้ชาวบ้านอพยพย้ายถิ่นฐานไปอยู่ท้องถิ่นอื่น
1. ทุนทางกายภาพ
1.1 แม่น้ำคอกควาย ประวัติความเป็นมา บรรพบุรุษรุ่นปู่และรุ่นย่าเล่าต่อ ๆ กันมาว่า “แม่น้ำคอกควาย” เป็นแม่น้ำที่ไหลมาจากต้นน้ำในเขตป่าตะวันตกห้วยขาแข้ง ไหลมารวมกับลำห้วยลำธารสายเล็ก ๆ หลายสาย จนเป็นแม่น้ำขนาดใหญ่ ไหลผ่านตำบลคอกควาย ผ่านป่าสงวนแห่งชาติห้วยป่าคอกควาย และไหลผ่านชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านกุดจะเลิด ดังนั้น แม่น้ำคอกควายจึงเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่หล่อเลี้ยงผู้คนในชุมชนมานานหลายชั่วอายุคน
ช่วงเวลาที่สำคัญ “แม่น้ำคอกควาย” ในอดีตที่ป่าไม้ยังอุดมสมบูรณ์อยู่ มีความเชื่อกันว่า ในแม่น้ำคอกควายช่วงบริเวณที่ไหลผ่านชุมชนแห่งนี้ มีวังวนหรือเมืองบาดาลอยู่ เคยมีคนจมน้ำตายในวังวนแห่งสายน้ำ ชื่อว่า “กุยจะลอะ” (เป็นภาษากะเหรี่ยง) เชื่อกันว่าอาจเป็นเพราะเมืองบาดาลต้องการตัวไปอยู่ด้วย และในเวลาต่อมาชื่อคนคนนี้จึงกลายเป็นชื่อหมู่บ้าน ชื่อว่า “กุดจะเลิด”
คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน “แม่น้ำคอกควาย” เป็นเสมือนสายเลือดที่หล่อเลี้ยงผู้คนในชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านกุดจะเลิดมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นทั้งแหล่งน้ำกินน้ำใช้และน้ำในการทำการเกษตร
สถานการณ์ปัจจุบัน “แม่น้ำคอกควาย” เป็นแม่น้ำขนาดใหญ่ที่ไหลผ่านชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านกุดจะเลิดและอยู่ใกล้กับชุมชนมาก ดังนั้น ในปีใดที่มีปริมาณน้ำฝนมากน้ำจะเอ่อล้นท่วมที่อยู่อาศัยและท่วมเรือกสวนไร่นาของชาวบ้าน ที่สำคัญแม่น้ำมักจะไหลเปลี่ยนทิศ ทำให้กัดเซาะริมตลิ่งกินเนื้อที่ไร่สวนของชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้แม่น้ำกว้างขึ้นแต่ที่ดินในการทำไร่สวนของชาวบ้านลดลง แถมพัดพากองทรายจำนวนมากมาทับถมอยู่ในบริเวณนี้ ทำให้แม่น้ำมีขนาดกว้างขึ้นเรื่อย ๆ แต่ตื้นเขินและหญ้ารกทึบ
การสืบทอดและความยั่งยืน “แม่น้ำคอกควาย” แม่น้ำสายนี้มีปริมาณน้ำลดลงไปเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า ผืนป่าต้นน้ำและผืนป่าที่อยู่ระหว่างทางที่แม่น้ำไหลผ่านนั้นค่อย ๆ ลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ จึงไม่สามารถที่จะดูดซับความชุ่มชื้นของสายน้ำสายนี้เอาไว้ได้ตลอดปี ในฤดูแล้งจึงไม่มีน้ำในแม่น้ำมากนัก จึงไม่สามารถพูดได้ว่า การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในชุมชนแห่งนี้ยังไม่มีความยั่งยืนเท่าที่ควร
1.2 ป่าสงวนแห่งชาติ ประวัติความเป็นมา เมื่อปี พ.ศ. 2528 กรมป่าไม้ได้ประกาศเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติห้วยป่าทับเสลาและห้วยป่าคอกควาย ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งทับซ้อนพื้นที่ที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานีหลายชุมชน รวมถึงชุมชนกะเหรี่ยงบ้านกุดจะเลิดด้วย หลังจากนั้น รัฐได้จัดสรรให้ชาวบ้านมีที่ทำกินในพื้นที่ของบรรพบุรุษ ครัวเรือนละ 25 – 30 ไร่ และห้ามไม่ให้ทำไร่หมุนเวียนตามวิถีชนเผ่ากะเหรี่ยงอีก
ช่วงเวลาที่สำคัญ เมื่อปี พ.ศ. 2528 หลังการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติห้วยป่าทับเสลาและห้วยป่าคอกควาย ซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมโยงกับเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง แหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ เกิดผลกระทบกับกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงมีความผูกพันกับป่า ส่วนใหญ่มักอาศัยอยู่บนพื้นที่ราบสูงหรือในป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ และเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างปัญหาความขัดแย้งระหว่างกฎหมายรัฐกับกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในหลายพื้นที่ในจังหวัดอุทัยธานีมาจนถึงปัจจุบัน
คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน ชาวกะเหรี่ยงรู้ว่าคุณค่าของป่าไม้ว่ามีมากมายเพียงใดดังคำพูดที่ว่า “ที่ไหนมีป่า ที่นั่นมีกะเหรี่ยง” และ “ที่ไหนมีกะเหรี่ยงที่นั่นมีป่า” เพราะชาวกะเหรี่ยงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่รักป่ามากที่สุด จะเห็นได้ว่าหมู่บ้านกะเหรี่ยงทุกที่จะมีป่าชุมชนหรือป่าตามภูเขาที่อยู่รอบ ๆ หมู่บ้านกะเหรี่ยง ที่โอบล้อมชุมชนกะเหรี่ยงเอาไว้
สถานการณ์ปัจจุบัน ป่าชุมชนหรือป่าไม้ตามไหล่เขาและบนภูเขารอบ ๆ ชุมชนกะเหรี่ยงลดน้อยลงไปมากหากเทียบกับในอดีต แต่ก็ยังคงเหลือพื้นที่ป่าอยู่ร้อยละ 10 – 20 ของพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินในปัจจุบัน เพียงพอที่จะช่วยสร้างความชุ่มชื้นให้แก่ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านกุดจะเลิด และเอาไว้เป็นแหล่งอาหารป่าและสร้างความชุ่มชื้นให้แก่ชุมชนต่อไป
2. ทุนมนุษย์
ในชุมชนแห่งนี้มีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่ายิ่ง มีปราชญ์ชาวบ้านด้านหมอสมุนไพรพื้นบ้าน ปราชญ์ชาวบ้านด้านการแสดงศิลปวัฒนธรรม ปราชญ์ชาวบ้านด้านการเกษตร ปราชญ์ชาวบ้านด้านวิถีชีวิต และด้านอื่น ๆ อีกมากมาย
ช่วงเวลาที่สำคัญ ปราชญ์ชาวบ้านด้านต่าง ๆ ได้ร่วมกันทำคุณประโยชน์ให้กับชุมชนกะเหรี่ยงบ้านกุดจะเลิดมาอย่างยาวนาน จวบจนถึงปัจจุบัน
คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชนของ ปราชญ์ชาวบ้านเป็นที่พึ่งทางกายด้วยการเป็นหมอสมุนไพร ได้ช่วยชาวบ้านยามทุกข์ร้อนเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นที่พึ่งทางใจด้วยการเป็นผู้ทำพิธีกรรมตามศาสตร์ของผู้นำแห่งจิตวิญญาณ ช่วยชาวบ้านให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข เป็นศิลปินพื้นบ้านช่วยอนุรักษ์ สืบสาน สืบทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
สถานการณ์ปัจจุบัน ปราชญ์ชาวบ้านด้านต่าง ๆ ยังคงช่วยเหลือชาวบ้านอยู่อย่างต่อเนื่อง ตามความรู้ความสามารถและทักษะวิชาชีพที่ตนมีอยู่ ส่วนศิลปินพื้นบ้านและบทเพลงพื้นบ้านนั้น ไม่ค่อยมีเวทีให้ทำการแสดง จึงไม่ได้ถ่ายทอดให้ลูกหลาน ผู้นำชุมชนควรเร่งให้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่เยาวชนคนรุ่นใหม่ เพราะหากสิ้นปราชญ์ชาวบ้าน ศิลปินพื้นบ้าน และภูมิปัญญาพื้นบ้าน วัฒนธรรมกะเหรี่ยงอาจจะสูญหายหมดสิ้น
การสืบทอดและความยั่งยืน ต้องยอมรับว่าปราชญ์ชาวบ้านไม่ค่อยได้ถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ลูกหลาน วัฒนธรรมกะเหรี่ยงโปว์จึงไม่เกิดความยั่งยืน และก่อนจะสายเกินไป ควรเร่งให้มีการถ่ายทอดสู่เยาวชน
คนรุ่นใหม่ให้เร็วที่สุด เพราะปราชญ์บ้านอายุมากขึ้นทุกวัน
3. ทุนทางวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น
3.1 การทอผ้ากะเหรี่ยงและเครื่องแต่งกายกะเหรี่ยง ประวัติความเป็นมา ชาวกะเหรี่ยงโปว์ไม่ได้แต่งกายด้วยชุดกะเหรี่ยงเป็นประจำ แต่ทุกคนมีชุดกะเหรี่ยงไว้ติดบ้าน พร้อมที่จะหยิบขึ้นมาใส่ได้ทันทีหากมีการรวมตัวกันเพื่อไปร่วมกิจกรรมในตัวอำเภอหรือจังหวัด ทุกคนจะสวมใส่ชุดประจำกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงด้วยความภาคภูมิใจ
ช่วงเวลาที่สำคัญของการแต่งกายด้วยผ้าทอกะเหรี่ยงโปว์ การแต่งกายด้วยชุดกะเหรี่ยงโปว์ มีหลายวาระ เช่น เทศกาลขึ้นปีใหม่ชาวกะเหรี่ยงโปว์ งานไหว้เจดีย์ของชุมชนกะเหรี่ยงโปว์หมู่บ้านใกล้เคียง งานสงกรานต์และประเพณีรดน้ำดำหัวผู้อาวุโสชาวกะเหรี่ยง พิธีกินข้าวใหม่ งานแต่งงาน เป็นต้น
คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน การแต่งกายของชาวกะเหรี่ยงโปว์เป็นเครื่องแบบที่แสดงถึงอัตลักษณ์ความเป็นกะเหรี่ยงโปว์ที่บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์และมอบไว้ให้ลูกหลานได้สืบทอดต่อ ๆ กันไป
การสืบทอดและความยั่งยืน ชาวกะเหรี่ยงโปว์กลุ่มบ้านกุดจะเลิดทุกคนรักและหวงแหนใน อัตลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมของตนเอง โดยเฉพาะเครื่องแต่งกายได้มีการอนุรักษ์ สืบสาน และสืบทอดไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลานต่อไปโดยไม่มีวันจะสูญหายอย่างแน่นอน
3.2 อาหารกะเหรี่ยง มีประวัติความเป็นมา คือ ชาวกะเหรี่ยงโปว์รักษาวัฒนธรรมเรื่องอาหารการกินซึ่งเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเอาไว้ได้เป็นอย่างดี และทุกวันนี้ทุกครัวเรือนยังคงทำอาหารกะเหรี่ยงเป็น
ช่วงเวลาที่สำคัญ การทำอาหารกะเหรี่ยงทำได้ทุกวัน ทำได้ในทุกฤดูกาล และเป็นรายการอาหารที่สามารถหาวัตถุดิบและเครื่องปรุงได้ง่ายในท้องถิ่น มีขั้นตอนและวิธีการปรุงที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน และส่วนใหญ่มีรสชาติเผ็ดร้อนคล้ายอาหารของคนไทยพื้นเมืองทั่วไป
คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน อาหารพื้นบ้านกะเหรี่ยงโปว์มีคุณค่าทางโภชนาการครบ 5 หมู่ และมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของชาวกะเหรี่ยงโปว์ มีการถ่ายทอดสู่ลูกหลานอย่างต่อเนื่อง
สถานการณ์ปัจจุบัน ได้รับอิทธิพลเรื่องอาหารการกินจากโลกภายนอก ทำให้ชาวกะเหรี่ยง วัยกลางคนและเยาวชนรุ่นใหม่สามารถทำอาหารไทยและอาหารสากลได้ แต่เชื่อได้ว่าชาวกะเหรี่ยงจะยังคงอนุรักษ์วัฒนธรรมด้านอาหารการกินเอาไว้ได้
การสืบทอดและความยั่งยืน รุ่นพ่อรุ่นแม่หรือรุ่นปู่รุ่นย่ายังคงสอนลูกหลานให้ดำรงวิถีชีวิตแบบกะเหรี่ยงโปว์โดยเฉพาะด้านอาหารการกินให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่อยู่เสมอ ทำให้มั่นใจได้ว่ามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมด้านอาหารกะเหรี่ยงโปว์ จะดำรงคงอยู่อย่างมั่นคงและยั่งยืนสืบไป
3.3 ขนบธรรมเนียมประเพณีกะเหรี่ยงโปว์ ประวัติและความเป็นมา ชุมชนบ้านกุดจะเลิด เคยมีความเจริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมถึงขีดสุด เพราะชุมชนแห่งนี้เคยมีประชากรชาวกะเหรี่ยงโปว์โยกย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่ชุมชนบ้านกุดจะเลิดแห่งนี้จำนวนมาก กว่า 100 หลังคาเรือน ส่งผลให้ชุมชนแห่งนี้เป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงโปว์ที่สำคัญ
ช่วงเวลาที่สำคัญ ในยุคแห่งความเจริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรม จากคำบอกเล่าน่าจะอยู่ราว ๆ พ.ศ. 2450 – 2525 เป็นระยะเวลากว่า 75 ปี ที่ชุมชนแห่งนี้มีประชากรกะเหรี่ยงโปว์อาศัยอยู่รวมกันอย่างหนาแน่นมากที่สุด และมีการดำรงชีวิตด้วยวิถีวัฒนธรรมแบบกะเหรี่ยงโปว์อย่างสมบูรณ์ที่สุด โดยไม่มีวัฒนธรรมอื่นใดที่จะมาแทรกแซงวิถีชีวิตแบบกะเหรี่ยงโปว์ได้ ผู้คนในชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขในห้วงเวลาเหล่านั้น
คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน พูดถึงขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงามของชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านกุดจะเลิด ภาพเหตุการณ์เหล่านั้นยังคงตรึงตราตรึงใจชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านกุดจะเลิดทุกคน โดยเฉพาะวัยอาวุโสที่พวกเขาเคยใช้ชีวิตอยู่ในยุคแห่งความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมนั้น และได้เป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมกะเหรี่ยงโปว์อันดีงาม
สถานการณ์ปัจจุบัน มีจัดงานประเพณีวัฒนธรรมน้อยมาก คนในชุมชนไม่ค่อยมีโอกาสได้แสดงอัตลักษณ์วัฒนธรรมของตนเอง แต่ถึงกระนั้น โอกาสเพียงน้อยนิดที่มีเพียง 2 – 3 ครั้งต่อปี ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านกุดจะเลิดก็ร่วมกันแสดงอัตลักษณ์วัฒนธรรมกันอย่างเต็มที่ เพื่อแสดงถึงพลังของชาวกะเหรี่ยงในด้านของความเชื่อความศรัทธาในวิถีวัฒนธรรมของตนเอง
การสืบทอดและความยั่งยืน ได้ร่วมกันอนุรักษ์สืบสานรากฐานวัฒนธรรมของชนเผ่ากะเหรี่ยงเอาไว้ได้ระดับหนึ่งซึ่งยังไม่ยั่งยืนนัก อาจต้องเร่งถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมจากปราชญ์ชาวบ้านสู่เยาวชน เพื่อป้องกันไม่ให้สูญหายไปกับปราชญ์ชาวบ้านที่มีอายุมาก ๆ กันแล้วทั้งนั้น
4. ทุนทางเศรษฐกิจ
พืชเศรษฐกิจ ประวัติความเป็นมา คือ ในอดีตบรรพบุรุษในชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านกุดจะเลิดนิยมปลูกข้าวไร่เป็นหลัก ที่สำคัญเป็นการปลูกข้าวไร่ตามวิถีชนเผ่าด้วยการการทำไร่หมุนเวียน เป็นการปลูกข้าวไร่ไว้กินในครัวเรือน ไม่ได้ปลูกเพื่อการจำหน่าย
ช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลง จากยุคการทำไร่หมุนเวียนไปสู่การปลูกพืชเชิงเดี่ยวหรือพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ยุคที่ที่ดินทำกินของชุมชนถูกประกาศเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติห้วยป่าทับเสลาและห้วยป่าคอกควาย ชาวบ้านได้รับการจัดสรรที่ดินจำนวนจำกัดมาก ไม่เพียงพอกับการทำไร่หมุนเวียน จึงเปลี่ยนมาเป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวหรือพืชเศรษฐกิจ
คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืชเพื่อการดำรงชีพหรือการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อจำหน่ายและนำเงินมาดำรงชีพ ซึ่งทั้งสองแนวทางล้วนมีคุณค่าและมีความหมายต่อชีวิตของผู้คนในชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านกุดจะเลิดทั้งสิ้น
สถานการณ์ปัจจุบัน ชาวบ้านนิยมปลูกพืชเศรษฐกิจจำพวก ข้าวโพด มันสำปะหลัง ปาล์ม อ้อย เป็นต้น ซึ่งเป็นพืชล้มลุกที่โตเร็ว ทนแล้ง และสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้เป็นอย่างดี
การสืบทอดและความยั่งยืน การปลูกพืชเชิงเดี่ยวหรือพืชเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะเติบโตอย่างรวดเร็ว มั่นคงยั่งยืนและจะคงดำรงอยู่เช่นนี้ต่อไปในอนาคตอีกหลายทศวรรษ
5. ทุนทางสังคม/การเมือง
การมีส่วนร่วมทางการเมือง ประวัติความเป็นมา คือ จากอดีตถึงปัจจุบันชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านกุดจะเลิดให้ความสำคัญกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ชาวบ้านได้มีการตั้งผู้ปกครองชุมชนอย่างไม่เป็นทางการขึ้นมาดูแลความสงบสุขของชุมชน เมื่อครั้งที่ยังไม่มีผู้ใหญ่บ้านที่ภาครัฐแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ จนกระทั่งในระยะต่อมาภาครัฐได้มีการแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ขึ้นมาดูแลความสงบเรียบร้อยภายในชุมชน ชาวบ้านก็ยังให้ความเคารพนับถือ และปฏิบัติตามธรรมนูญชุมชนอย่างเข้มแข็ง แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นและเคารพในระบอบประชาธิปไตย
ช่วงเวลาที่สำคัญ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 มีผู้ใหญ่บ้านที่เป็นทางการที่ภาครัฐได้แต่งตั้งให้ดูแลชุมชน ชาวบ้านให้ความเคารพและยอมรับ เมื่อภาครัฐกำหนดให้ประชาชนมาลงคะแนนเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้านก็ให้ความร่วมมืออย่างดียิ่ง ไม่เคยมีปัญหาความขัดแย้งในการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน แสดงว่าชาวบ้านเคารพในกติกาของบ้านเมือง มีส่วนร่วมทางการเมือง และยอมรับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข
คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน ชุมชนแห่งนี้ ผ่านการปกครองโดยผู้นำชุมชนทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เข้าใจในวัฒนธรรมประชาธิปไตย มีส่วนร่วมและพร้อมให้ความร่วมมือในทุก ๆ ครั้งที่มีปรากฏการณ์ทางการเมืองในรูปแบบต่าง ๆ พร้อมเรียนรู้และปรับตัวกับทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรู้คุณค่า
สถานการณ์ปัจจุบัน ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านกุดจะเลิดเป็นชุมชนขนาดเล็กที่มีประชากรเพียง 25 หลังคาเรือน ภาครัฐต้องนำจำนวนประชากรไปนับรวมกับกลุ่มอื่น ๆ อีกหลายกลุ่มจนกลายเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ในนามของหมู่ที่ 3 (บ้านละว้า) ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต โดยผู้คนในชุมชนยินยอมให้กลุ่มอื่นเป็นผู้ใหญ่บ้านที่เป็นทางการ และชุมชนบ้านกุดจะเลิดรับตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เพื่อดูแลความเรียบร้อยและความสงบสุขของคนในชุมชน
การสืบทอดและความยั่งยืน มีการสืบทอดอุดมการณ์ทางการเมืองและการปกครองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่เคยมีความขัดแย้ง และไม่เคยเสียเลือดเนื้อกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองในทุกยุคทุกสมัย ที่ผ่านมา และจะมีการดำรงรักษาไว้ซึ่งประชาธิปไตยให้ยั่งยืนตลอดไป
ภาษาพูดพื้นถิ่น ได้แก่ ภาษากะเหรี่ยงโปว์ เป็นภาษาที่ใช้ในการสื่อสารในครัวเรือนและใช้ในการพูดในชุมชนบ้านกุดจะเลิด และใช้ในการสื่อสารกับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ในท้องถิ่นอื่น ๆ ทั่วประเทศ
ภาษาเขียน ได้แก่ ภาษาเขียนกะเหรี่ยงโปว์ เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ทั่วประเทศ และกะเหรี่ยงโปว์จากทั่วโลก ซึ่งใช้สื่อสารกันเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์
สถานการณ์ปัจจุบัน มีผู้ที่สามารถใช้ภาษาเขียนกะเหรี่ยงโปว์ได้จำนวนน้อยมาก เนื่องจากเยาวชนกะเหรี่ยงโปว์และประชาชนชาวกะเหรี่ยงโปว์ส่วนใหญ่ใช้ภาษาไทยเป็นหลัก เพราะมีโอกาสได้รับการศึกษาภาคบังคับจากรัฐบาล
สำหรับภาษาพูดกะเหรี่ยงโปว์ยังคงมีประชากรชาวกะเหรี่ยงโปว์ที่สามารถพูดได้จำนวนมาก เนื่องจากชาวกะเหรี่ยงโปว์ให้ความสำคัญกับภาษาพูด และพยายามสอนให้ลูกหลานเยาวชนพูด ส่งผลให้ชาวกะเหรี่ยงโปว์ ในกลุ่มบ้านกุดจะเลิดส่วนใหญ่ร้อยละ 80 ยังพูดภาษากะเหรี่ยงได้อย่างคล่องแคล่ว
ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านกุดจะเลิดมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องจากอดีตถึงปัจจุบัน โดยในยุคแรกมีการปกครองโดยผู้นำชุมชนอย่างไม่เป็นทางการ ต่อมามีการแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านจากภาครัฐมาดูแลราษฎร และภายหลังเปลี่ยนมาเป็นการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล มาช่วยในการพัฒนาชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านได้ให้ความร่วมมือกับผู้นำชุมชนและภาครัฐเป็นอย่างดีในการเลือกตั้งทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นระดับชาติหรือระดับท้องถิ่น ไม่เคยมีปัญหาความขัดแย้ง การเรียกร้องหรือร้องเรียนใด ๆ เกิดขึ้นในชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านกุดจะเลิด
การมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและนอกชุมชน เพื่อรับมือกับสถานการณ์หรือแก้ปัญหาต่าง ๆ
ทุกครั้งที่เกิดวิกฤติหรือสถานการณ์ใด ๆ ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเหตุบ้านการเมือง ภัยธรรมชาติ ภัยคุกคาม ราคาพืชผลทางการเกษตร เป็นต้น คนในชุมชนจะมีความร่วมมือร่วมใจกัน ช่วยกันแก้วิกฤติต่าง ๆ ให้ผ่านพ้นไป เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนส่วนรวม
แนวทางแก้ไขปัญหาและรับมือกับความท้าทาย
ผู้นำชุมชนที่ภาครัฐแต่งตั้ง เช่น ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลทองหลาง และผู้นำที่เป็นผู้อาวุโสที่ชาวบ้านเคารพนับถือ ผู้นำแห่งจิตวิญญาณและความเชื่อ และกลุ่มผู้นำชุมชนที่เป็นหัวใจสำคัญในแต่ละด้าน จะเป็นแกนนำในการเชิญสมาชิกลูกบ้านประชุม เพื่อร่วมกันระดมความคิดเห็น กำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาและรับมือกับความท้าทายจากวิกฤติการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
การรวมกลุ่มและการสร้างเครือข่าย
ในชุมชนมีเครือข่ายที่เป็นทางการ ส่วนมากจะเป็นเครือข่ายที่ไม่เป็นทางการ ซึ่งผู้นำชุมชนพยายามผลักดันให้เกิดการขยายเครือข่ายชุมชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม
บทบาทของหน่วยงาน/องค์กรภายนอกที่เข้ามามีส่วนร่วม
จากอดีตถึงปัจจุบันมีหน่วยงานภายนอกที่เป็นภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนกะเหรี่ยงบ้านกุดจะเลิดหลายหน่วยงาน เช่น อำเภอห้วยคต องค์การบริหารส่วนตำบลทองหลาง ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดอุทัยธานี สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุทัยธานี สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอุทัยธานี สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุทัยธานี เกษตรอำเภอห้วยคต เป็นต้น สำหรับบุคคลหรือองค์กรเอกชนที่เข้ามามีส่วนร่วม เช่น สถาบันธรรมชาติพัฒนา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ที่เข้ามาร่วมพัฒนาชุมชน เป็นต้น
มีการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากอดีตถึงปัจจุบัน จากอดีตเป็นการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์เพื่อการดำรงชีพ ต่อมาชาวบ้านถูกจำกัดที่ดินทำกิน เนื่องจากการประกาศพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติทับซ้อนที่ดินทำกินของชาวบ้าน ชาวบ้านจึงต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ด้วยการบริหารจัดการพื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้น ในยุค 5 ทศวรรษที่ผ่านมา ผู้คนในชุมชนจึงหันมาปลูกพืชเชิงเดี่ยวหรือ พืชเศรษฐกิจเพื่อหาเงินมาใช้ในการดำรงชีพ
ประชากรกะเหรี่ยงโปว์มีการเปลี่ยนแปลงในระยะแรก คือ เดิมมีเพียงไม่กี่ครัวเรือน เมื่อครอบครัวเหล่านี้ได้มาอยู่อาศัย จึงได้บอกต่อไปยังญาติ ๆ ที่อยู่ในชุมชนอื่น ๆ ทำให้มีผู้คนจากทั่วทุกสารทิศหลั่งไหลเข้ามาอยู่ที่ชุมชนบ้านกุดจะเลิดเป็นจำนวนมาก ราว ๆ 100 กว่าหลังคาเรือน ในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปี หลังจากนั้นชุมชนแห่งนี้ประสบปัญหาน้ำท่วมและฝนแล้งสลับกันไป การทำมาหากินไม่ดีดังเช่นในอดีต เคราะห์ซ้ำไปกว่านั้นภาครัฐได้ประกาศพื้นที่นี้เป็นป่าสงวนแห่งชาติทับที่ทำกินของชาวบ้าน รัฐจัดสรรที่ทำกินให้ชาวบ้านใหม่ โดยจำกัดที่ดินทำกินให้ชาวบ้านทำกินเพียงครอบครัวละ 25 – 30 ไร่ ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถทำไร่หมุนเวียนได้ ส่งผลให้ชาวบ้านทยอยย้ายออกไปจากชุมชนแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันนี้ประชากรเหลือเพียง 25 หลังคาเรือนเท่านั้น
ชาวกะเหรี่ยงโปว์กลุ่มบ้านกุดจะเลิดส่วนใหญ่ย้ายมาจากบ้านสมอทอง ภูเหม็น และบ้านคลองแห้ง ซึ่งอยู่ในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี ผู้คนในชุมชนจึงไม่ค่อยประสบปัญหาเรื่องสิทธิในสัญชาติ ดังนั้น ทุกคนจึงมีสัญชาติไทยและเชื้อชาติไทย มีบัตรประชาชน มีสิทธิพลเมืองไทยครบถ้วน ทุกประการ รวมถึงได้รับสวัสดิการแห่งรัฐเทียบเท่าประชาชนคนไทยทุกคน
เดิมทีระบบสาธารณูปโภคที่รัฐจัดให้ไม่มี แต่ชุมชนก็อาศัยภูมิปัญญาในการดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข ต่อมาเมื่อชุมชนมีประชากรมากขึ้น รัฐจึงเข้ามาช่วยเหลือด้วยการทำประปาหมู่บ้าน ทำถนนคอนกรีตบริเวณทางเข้า จนถึงปัจจุบันคนในชุมชนมีระบบสาธารณูปโภคที่ดีขึ้นแต่ยังไม่เพียงพอ
ในอดีตระบบสาธารณสุขเข้าไม่ถึงชุมชน จึงทำให้คนในชุมชนต้องเสียชีวิตด้วยโรคระบาดต่าง ๆ แต่ปัจจุบันชาวบ้านกุดจะเลิดได้รับสวัสดิการจากภาครัฐเกี่ยวกับการสาธารณสุขเท่าเทียมกับประชาชนคนไทยทุกคน และมีห้องน้ำห้องส้วมที่ถูกสุขอนามัยทุกบ้าน
ในอดีตเยาวชนกะเหรี่ยงโปว์กลุ่มบ้านกุดจะเลิดได้รับการศึกษาภาคบังคับ ต่อมาโรงเรียนถูกยกเลิกเนื่องจากนักเรียนน้อยไม่คุ้มค่างบประมาณ แต่ปัจจุบันนี้เด็กและเยาวชนได้รับการศึกษาภาคบังคับทุกคน เพราะมีโรงเรียนหลายแห่งที่อยู่ใกล้ ๆ ทั้งนี้ เด็กและเยาวชนที่มีโอกาสได้เข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สามารถเรียนจบร้อยละ 80 และเยาวชนที่มีโอกาสเรียนระดับปริญญาตรี เรียนจบร้อยละ 10
ชาวกะเหรี่ยงโปว์กลุ่มบ้านกุดจะเลิดล้วนยึดมั่นรักษาอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ให้คงอยู่ ด้วยการร่วมกันอนุรักษ์สืบสานสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีกันมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน แต่ไม่สามารถทัดทานวัฒนธรรมจากภายนอกได้ เข้ามาแทรกซึมวิถีวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงโปว์ในทุกมิติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้วัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงโปว์ค่อย ๆ เลือนหายไปทีละน้อย ปัจจุบันนี้อัตลักษณ์วัฒนธรรมกะเหรี่ยงโปว์ของชุมชนจะรับรู้กันในกลุ่มวัยกลางคนและผู้สูงอายุเท่านั้น เด็กและเยาวชนแทบจะไม่รู้เรื่องวัฒนธรรมของตนเอง และในอนาคตอันใกล้นี้มีแนวโน้มและความเป็นไปได้สูงที่วัฒนธรรมกะเหรี่ยงโปว์จะสูญหาย จึงเป็นความท้าทายของภาครัฐและผู้นำชุมชนที่จะอนุรักษ์ สืบสานอัตลักษณ์วัฒนธรรมที่ดีงามให้คงอยู่ต่อไปตราบนานเท่านาน
ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านกุดจะเลิดแห่งนี้ ในยุคบุกเบิกยอมรับว่าที่ดินผืนนี้มีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์มากจริง ๆ เพราะเป็นกลุ่มเทือกเขาที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงมาจากผืนป่าตะวันตกห้วยขาแข้ง ต่อมาเมื่อมีประชากรย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่จำนวนมากทำให้ผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ถูกแปรสภาพเป็นที่อยู่อาศัย ไร่หมุนเวียน สวน และไร่เกษตรเชิงเดี่ยว จากระยะเวลาที่ล่วงเลยมาเกือบ 2 ศตวรรษ ผืนป่าตามธรรมชาติและผืนป่าชุมชนเหลือเพียงร้อยละ 10 ของพื้นที่ ภาครัฐได้มีการประกาศพื้นที่เป็น ป่าสงวนแห่งชาติห้วยป่าทับเสลาและห้วยป่าคอกควาย และจำกัดที่ดินทำกินของราษฎร จึงทำให้เหลือพื้นป่าเอาไว้รักษาระบบนิเวศอยู่บ้าง แต่ก็เป็นเรื่องท้าทายสำหรับภาครัฐ ท้องถิ่น ท้องที่ ว่าจะบริหารจัดการพื้นที่ทำกินและผืนป่าเสื่อมโทรมให้เกิดความสมดุลได้อย่างไร
ป่าสงวนแห่งชาติห้วยป่าทับเสลาและห้วยป่าคอกควาย