Advance search

กลุ่มบ้านบ้านอีซ่า
  • ใจกลางชุมชนบ้านอีซ่า มีต้นมะขามอยู่คู่หนึ่ง มีอายุราว ๆ 100 – 120 ปี ตั้งโดดเด่นอยู่กลางหมู่บ้าน เป็นเสมือนพื้นที่จิตวิญญาณของผู้คนในชุมชน
  • ชุมชนบ้านอีซ่ามีลำคลองอีซ่าที่ไหลผ่านชุมชนเป็นระยะทางกว่า 700 เมตร เปรียบเสมือนเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงผู้คนในชุมชน
  • หล่อพ่อวิชา ลติยุโต ท่านเดินธุดงค์จากวัดแถว ๆ คุ้มสำเภา อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท มาถึงบริเวณนี้ จึงได้เมตตาสร้างฝายชะลอน้ำให้กับชุมชน เพื่อชะลอความรุนแรงของสายน้ำในฤดูฝน และกักเก็บน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภคและทำการเกษตรในฤดูแล้ง ทำให้ชุมชนบ้านอีซ่ามีน้ำใช้ตลอดปี
3
บ้านละว้า
ทองหลาง
ห้วยคต
อุทัยธานี
กิตติพัฒน์ อธิวัฒน์ธนาวงศ์
5 ต.ค. 2023
พรทิพย์ กำเหนิดแจ้ง
28 พ.ย. 2023
สุดารัตน์ ศรีอุบล
7 เม.ย. 2024
บ้านละว้า
กลุ่มบ้านบ้านอีซ่า

นายเบิกคลอง ภูเหม็น และกลุ่มญาติพี่น้องผองเพื่อนกลุ่มหนึ่ง ราว ๆ 7 – 8 ครัวเรือน ได้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานมาอาศัยอยู่ในบริเวณบ้านอีซ่า คาดว่าย้ายมาจากบ้านภูเหม็นในปัจจุบัน ซึ่งบริเวณนี้เป็นที่ราบเชิงเขา อุดมสมบูรณ์ไปด้วยของป่ามากมายในป่าไม้เบญจพรรณและป่าไม้ผลัดใบ พื้นที่มีเหมาะสมอย่างยิ่งในการทำไร่หมุนเวียนแบบวิถีชาวกะเหรี่ยง คาดว่าน่าจะย้ายมาราว ๆ ปี พ.ศ. 2416 บริเวณนี้มีลำคลองอีซ่าไหลผ่านชุมชน มีอยู่ช่วงหนี้ของลำคลองไหลลงมาจากพื้นที่สูงคล้ายน้ำตก และชาวบ้านจะได้ยินเสียงซู่ซ่าตลอดเวลา ซึ่งอาจเป็นที่มาของชื่อคลอง “คลองอีซ่า” และเป็นลำคลองที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงผู้คนในชุมชน ดังนั้น วิถีชีวิตคนในชุมชนจึงผูกพันกับสายน้ำ เพราะเป็นทั้งแหล่งน้ำที่ใช้ในการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรมาแต่ครั้งอดีต คนในชุมชนในสมัยนั้น จึงพากันเรียกชุมชนนี้ว่า “ชุมชนบ้านอีซ่า” ตามชื่อของลำคลองอีซ่ามาจนถึงปัจจุบัน


  • ใจกลางชุมชนบ้านอีซ่า มีต้นมะขามอยู่คู่หนึ่ง มีอายุราว ๆ 100 – 120 ปี ตั้งโดดเด่นอยู่กลางหมู่บ้าน เป็นเสมือนพื้นที่จิตวิญญาณของผู้คนในชุมชน
  • ชุมชนบ้านอีซ่ามีลำคลองอีซ่าที่ไหลผ่านชุมชนเป็นระยะทางกว่า 700 เมตร เปรียบเสมือนเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงผู้คนในชุมชน
  • หล่อพ่อวิชา ลติยุโต ท่านเดินธุดงค์จากวัดแถว ๆ คุ้มสำเภา อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท มาถึงบริเวณนี้ จึงได้เมตตาสร้างฝายชะลอน้ำให้กับชุมชน เพื่อชะลอความรุนแรงของสายน้ำในฤดูฝน และกักเก็บน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภคและทำการเกษตรในฤดูแล้ง ทำให้ชุมชนบ้านอีซ่ามีน้ำใช้ตลอดปี
บ้านละว้า
3
ทองหลาง
ห้วยคต
อุทัยธานี
61170
15.31712195
99.53313679
องค์การบริหารส่วนตำบลทองหลาง

นายเบิกคลองและผองเพื่อนกลุ่มหนึ่ง ราว ๆ 7 – 8 ครัวเรือน ได้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานจากบ้านภูเหม็นมาอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ ซึ่งเป็นที่ราบเชิงเขาอุดมสมบูรณ์ไปด้วยของป่าและพืชพันธุ์ธัญญาหารสำหรับการดำรงชีพมากมาย เป็นป่าไม้เบญจพรรณและป่าไม้ผลัดใบ พื้นที่มีเหมาะสมอย่างยิ่งในการทำไร่หมุนเวียนตามแบบวิถีชาวกะเหรี่ยง และคาดว่าน่าจะย้ายมาราว ๆ ปีพ.ศ. 2416 น่าจะมีอายุราว ๆ 120 – 150 ปีเป็นอย่างน้อย

ชุมชนแห่งนี้ตั้งอยู่เขตป่าสงวนแห่งชาติห้วยป่าทับเสลาและห้วยป่าคอกควาย พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ เชิงเขา มีภูเขาขนาดไม่สูงมากนักล้อมรอบชุมชน และมีเนินเขาขนาดสูงต่ำสลับซับซ้อนลดหลั่นกันไปเป็นจำนวนมาก ในอดีตชาวบ้านทำไร่หมุนเวียนอย่างเดียว เป็นการปลูกข้าวไร่ไว้กินในครัวเรือน ไม่ได้ปลูกเพื่อการจำหน่าย จะมีรายได้บ้างเพียงเล็กน้อยจากการขายพริกกะเหรี่ยงหรือของป่าเท่านั้น เพื่อเอาเงินไปซื้อเกลือไว้บริโภคในครัวเรือน

ในอดีตชุมชนแห่งนี้มีผู้คนอาศัยอยู่จำนวนมากกว่า 200 หลังคาเรือน มีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับป่า มีผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ ผู้คนพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข มีเจ้าวัดซึ่งเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ และมีเจดีย์ซึ่งเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมของชุมชนกะเหรี่ยงอยู่กลางชุมชน ต่อมาเกิดโรคระบาดกระจายไปทั่วชุมชน ได้แก่ ไข้มาลาเรีย ซึ่งมีการแพร่ระบาดราว ๆ ปีพ.ศ. 2522 – 2525 และเนื่องจากชุมชนแห่งนี้อยู่กลางป่าที่ห่างไกลความเจริญ จึงไม่สามารถส่งตัวคนไข้ไปถึงโรงพยาบาลของรัฐได้ทัน จึงทำให้ผู้คนล้มตายไปมากกว่า 25 คน และประกอบกับระยะหลัง ๆ พื้นที่นี้แห้งแล้ง ทำการเกษตรไม่ค่อยได้ผลผลิต จึงทำให้ผู้คนย้ายออกไปจากชุมชนไปเป็นจำนวนมาก เหลืออยู่เพียง 41 หลังคาเรือนในปัจจุบัน

บริเวณใกล้ ๆ กับชุมชนบ้านอีซ่า มีวัดป่าเขามโนราห์ตั้งอยู่ มีหลวงปู่สังวาลเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าเขามโนราห์ ท่านเป็นหลานแท้ ๆ ของหลวงปู่ขาว อนาลโย ท่านเป็นลูกศิษย์และเคยธุดงค์กับพระเกจิสุปฏิปันโน หลายท่าน อาทิ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต  หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล  หลวงปู่ขาว อนาลโย หลวงปู่ชา สุภัทฺโท  หลวงปู่เกษม เขมโก  หลวงปู่บุดดา ถาวโร หลวงปู่ดุลย์ อตุโล หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปน์โน ซึ่งท่านได้เดินทางธุดงค์มาจากภาคอีสาน มาสร้างวัดป่าเขามโนราห์ที่บริเวณนี้ และท่านเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คนในชุมชนบ้านอีซ่า และเป็นสถานที่ปฏิบัติศาสนกิจ เข้าวัดฟังธรรม ทำบุญตักบาตรของผู้คนในชุมชนตราบจนถึงปัจจุบัน

นอกจากวัดป่าเขามโนราห์ ก็ยังมีสำนักสงฆ์น้ำตกอีซ่าที่อยู่ใกล้กับชุมชนบ้านอีซ่า เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชุมชนบ้านอีซ่า คอยเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กับชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านอีซ่า และปฏิบัติศาสนกิจทางพระพุทธศาสนาให้กับพุทธศาสนิกชนชาวบ้านอีซ่า และเนื่องด้วยสำนักสงฆ์แห่งนี้อยู่ลึกเข้าไปในป่าสงวนแห่งชาติฯ จึงทำให้สามารถรักษาผืนป่าที่อยู่รอบ ๆ สำนักสงฆ์เอาไว้ได้ราว ๆ 200 ไร่ เป็นมรดกทางธรรมชาติและเป็นพื้นที่ หาของป่าของชาวบ้านมาตลอด 30 ปีที่ผ่านมาชุมชนบ้านอีซ่า ไม่เคยมีโรงเรียนตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เด็ก ๆ ที่มีอายุถึงเกณฑ์เรียนหนังสือจะไปเรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนบ้านคลองชะนี ตำบลป่าอ้อ อำเภอลานสัก ส่วนเด็กมัธยมจะไปเรียนที่โรงเรียนสมอทองปทีป พลีผลอุปถัมภ์ ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต ซึ่งอยู่ห่างจากชุมชนบ้านอีซ่าไปประมาณ 10 กิโลเมตรในอดีตบรรพบุรุษชาวกะเหรี่ยงชุมชนบ้านอีซ่า ได้อนุรักษ์สืบสานประเพณีวัฒนธรรมตามแบบวิถีชีวิต ชาวกะเหรี่ยงเอาไว้ได้เป็นอย่างดี แต่ปัจจุบันถูกกลืนกินหายไปเป็นจำนวนมาก เนื่องจากชุมชนกะเหรี่ยงแห่งนี้     อยู่ปะปนกับคนไทยพื้นเมืองที่ขึ้นมาทำไร่รอบ ๆ ชุมชน จึงทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก การคมนาคมสัญจร ในอดีตชุมชนยังไม่มีถนนหนทาง ผู้คนในชุมชนบ้านอีซ่าต้องเดินเท้าไปตามทางเท้าข้ามภูเขา ป่าไม้ ลำธาร เพื่อที่จะไปทำธุรกรรมที่อำเภอ ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทาง 1 วัน พัก 1 คืน และเดินทางกลับอีก 1 วัน จึงจะกลับถึงบ้าน หากจะต้องเดินทางไปที่ตัวจังหวัด จะต้องเดินทางถึง 2 วัน พักระหว่างทาง 3 คืน และเดินทางกลับอีก 2 วัน จึงจะถึงบ้าน ปัจจุบันนี้ไม่มีรถโดยสารประจำทางหากคนในชุมชนที่จะเดินทางไปทำธุรกรรมในตัวอำเภอหรือจังหวัด ต้องเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล หรือรถจักรยานยนต์เป็นส่วนบุคคล หรืออาศัยเพื่อนบ้านไป และถึงแม้ว่าถนนลูกรังจะเข้ามาถึงชุมชนบ้านอีซ่าไม่ต่ำกว่า 50 ปีมาแล้ว แต่ทุกวันนี้ก็ยังคงเป็นถนนลูกรังอยู่เช่นเดิม นายสุรัตน์ คลองแห้ง สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลทองหลาง (ประจำหมู่ 3 บ้านละว้า) ได้เล่าให้ฟังว่า ชุมชนบ้านอีซ่าอยู่ในพื้นที่ของหมู่ 3 บ้านละว้า ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต แต่ทางเข้าชุมชนบ้านอีซ่า อยู่ในพื้นที่ของตำบลป่าอ้อ อำเภอลานสัก จึงเป็นการยากในการประสานของบประมาณ และเป็นเหตุผลว่าทำไมปัจจุบันนี้ถนนทางเข้าชุมชนบ้านอีซ่าจึงยังเป็นถนนลูกรัง ทั้ง ๆ ที่ถนนภายในชุมชนทางองค์การบริหารส่วนตำบลทองหลางได้เทคอนกรีตให้แล้ว 

การคมนาคม

  • ระยะทางจากอำเภอถึงชุมชน  25 กิโลเมตร
  • ระยะทางจากจังหวัดถึงชุมชน  66  กิโลเมตร
  • ระยะทางจากกรุงเทพถึงชุมชน 289 กิโลเมตร
  • เดินทางได้ทางบกทางเดียว คือ การคมนาคมสัญจรโดยรถยนต์และรถจักรยานยนต์

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ       ติดต่อกับ  บ้านคลองชะนี หมู่  3  ตำบลป่าอ้อ อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี
  • ทิศใต้        ติดต่อกับ  บ้านคลองแห้ง หมู่  1 ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านสมอทอง หมู่  2 ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี
  • ทิศตะวันตก   ติดต่อกับ  เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง แหล่งมรดกโลกห้วยขาแข้ง

สภาพพื้นที่ทางกายภาพ /ขนาดพื้นที่ชุมชน/พื้นที่สาธารณะ/การสาธารณูปโภคชุมชน

พื้นที่ชุมชนบ้านอีซ่า เป็นพื้นที่ราบเชิงเขาที่มีภูเขาขนาดไม่สูงมากและเนินเขาขนาดใหญ่ขึ้นสลับซับซ้อนอยู่เต็มพื้นที่ พื้นที่ส่วนใหญ่ร้อยละ 60 เป็นพื้นที่ทำการเกษตร พื้นที่ที่เหลือร้อยละ 20 เป็นพื้นที่ป่าไม้ ภูเขา ลำธาร ฝายกั้นน้ำ และเป็นพื้นที่ร้อยละ 20 เป็นพื้นที่ชุมชนตั้งบ้านเรือน จำนวน 41 ครัวเรือน

ชุมชนบ้านอีซ่า มีต้นไม้ทรงคุณค่าอายุกว่า 100 ปี จำนวน 3 ต้น ซึ่งถือว่าเป็นศูนย์รวมความเชื่อวิถีชีวิตและจิตวิญญาณของผู้คนในชุมชน คือ ต้นมะขาม 2 ต้น และต้นพญาสัตบรรณ 1 ต้น

ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านอีซ่า มีลำคลองสายสำคัญไหลผ่านชุมชน ชื่อว่า ลำคลองอีซ่า มีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาบริเวณเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ในพื้นที่มรดกโลกห้วยขาแข้ง มีระยะทางไหลผ่านชุมชนประมาณ 700 – 800 เมตร ในอดีตมีน้ำไหลผ่านตลอดทั้งปี ชาวบ้านมีน้ำอุปโภคบริโภคและใช้ในการทำการเกษตร ต่อมามีชาวบ้านย้ายเข้ามาอยู่อาศัยจำนวนมาก ทำให้ลำคลองอีซ่าเริ่มตื้นเขิน บางปีฝนแล้ง น้ำในลำคลองอีซ่าก็เหลือน้อย บางปีฝนตกมากน้ำก็หลาก สร้างความเสียหายให้กับชาวบ้านและเรือกสวนไร่นาพอสมควร หลวงพ่อวิชาเดินทางธุดงค์ผ่านมาเห็น จึงบริจาคทรัพย์สินส่วนตัวท่านร่วมกับชาวบ้านจัดทำฝายชะลอน้ำเอาไว้ทางทิศเหนือของหมู่บ้าน เพื่อชะลอน้ำในฤดูฝนไม่ให้ไหลเชี่ยวและกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง 

บรรพบุรุษยุคแรกที่ย้ายเข้ามาอาศัยเห็นว่าผืนดินมีความอุดมสมบูรณ์ มีเนินเขาและเชิงเขาที่ไม่สูงชันมากนัก เหมาะแก่การทำไร่หมุนเวียนตามแบบวิถีชนเผ่ากะเหรี่ยง มีป่าไม้นานาพรรณ มีคลองอีซ่าเป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค จึงตัดสินใจตั้งถิ่นฐานสร้างชุมชนอยู่ในบริเวณนี้จวบจนปัจจุบัน ในอดีตนั้นชุมชนชาวกะเหรี่ยงบ้านอีซ่าไม่ได้ปลูกพืชเกษตรเชิงเดี่ยวหรือพืชเศรษฐกิจ ปลูกเพียงข้าวไร่ในไร่หมุนเวียน แต่ปัจจุบันไม่มีการทำไร่หมุนเวียนแล้ว เนื่องจากพื้นที่ทำการเกษตรมีจำนวนจำกัด ผู้คนในชุมชนทำไร่ข้าวไว้กินในหนึ่งรอบปีเท่านั้น พื้นที่ที่เหลือก็จะปลูกพืชเกษตรเชิงเดี่ยวไว้ขายแลกเงินมาใช้ในครัวเรือน เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด สับปะรด ยางพารา ปาล์ม เป็นต้น

พื้นที่กิจกรรมทางสังคม ในอดีตเคยมีเจ้าวัดเคยมีเจดีย์ให้ผู้คนในชุมชนได้ร่วมกิจกรรมไหว้เจดีย์ ซึ่งเป็นความเชื่อทางจิตวิญญาณของชนกะเหรี่ยง แต่ปัจจุบันนี้ไม่มีแล้ว เหลือเพียงร่องรอยเนินดินที่คนเฒ่าคนแก่บอกกับลูกหลานว่าบริเวณนี้คือเจดีย์เก่าเท่านั้น ประเพณีวิถีชนเผ่ากะเหรี่ยงก็เหลือเพียงประเพณีการกินข้าวใหม่มีการ      ปักสะเดิ่งไว้ตามบ้านและตามไร่ข้าว เพื่อป้องกันภูตผีหรือสิ่งชั่วร้ายรังควาน 

สถานที่สำคัญทางสังคมและวัฒนธรรม ส่วนใหญ่จะมีการนัดพบพูดคุยหารือเรื่องสำคัญในบ้านของผู้อาวุโสของชุมชนหรือบ้านผู้นำชุมชนหรือที่บ้านของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลทองหลาง(คุณสุรัตน์ คลองแห้ง) นอกจากนี้ ยังจับกลุ่มหารืออย่างไม่เป็นทางการที่วัดป่าเขามโนราห์ในเวลาที่พากันไปทำบุญร่วมกัน แต่หากเป็นการประชุมหารืออย่างเป็นทางการ จะไปประชุมกันที่ศาลาประชาคมหมู่บ้าน 

พื้นที่ที่อยู่อาศัยของชุมชน รวมทั้งพื้นที่ทำการเกษตรของคนในชุมชน ล้วนเป็นพื้นที่ของป่าสงวนแห่งชาติห้วยป่าทับเสลาและห้วยป่าคอกควาย ซึ่งได้มีการประกาศเป็นพื้นที่ป่าสงวน ตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2528 ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2528 ซึ่งเป็นการประกาศพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติหลังจากที่ชาวบ้านได้อยู่อาศัยและทำมาหากินเป็นระยะเวลากว่า 100 ปี และภายหลังการประกาศพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เจ้าหน้าที่รัฐจัดสรรที่ดินทำกินครอบครัวละไม่เกิน 25 – 30 ไร่ และไม่อนุญาตให้ทำไร่หมุนเวียนอีก จึงทำให้วิถีการทำไร่หมุนเวียนเลือนหายไป 

  • ประชากรมีจำนวน  41 ครัวเรือน ประชากรทั้งหมด 115  คน ประชากรชาย  60  คน ประชากรหญิง  55  คน
  • ประชากรทั้งหมดเป็นเชื้อสายกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (โผล่ว)  115 คน  คิดเป็นร้อยละ 100
  • ระบบเครือญาติ ประชากรในชุมชนทั้งหมดเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (โผล่ว) อาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวขยายที่มีผู้คนหลากหลายช่วงวัย มีเพียงบางส่วนที่อยู่อาศัยเป็นครอบครัวเดี่ยว 
โพล่ง

7.1 กลุ่มที่เป็นทางการ

7.1.1 กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อการผลิต 

ในอดีตชุมชนบ้านอีซ่าเคยมีการรวมตัวกันเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการออมทรัพย์ และใช้ในการระดมทุนไว้ให้คนในชุมชนได้กู้ยืมไปประกอบอาชีพทางการเกษตรในอัตราดอกเบี้ยต่ำ แต่เมื่อรัฐบาลได้จัดให้มีกองทุนหมู่บ้าน กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อการผลิตกลุ่มบ้านอีซ่าส่วนหนึ่งจึงไปเป็นสมาชิกกองทุนหมู่บ้านของรัฐบาล ปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์   เพื่อการผลิตอยู่เพียง 17 คน และมีทุนสำรองในการบริหารกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ จำนวน 380,000 บาท (สามแสนแปดหมื่นบาทถ้วน)

7.1.2 กลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์

มีการรวมตัวกันในนามกลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์ทั้งชุมชน โดยมี วัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพของครอบครัวสมาชิก โดยให้ครอบครัวสมาชิกจ่ายเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ครอบครัวละ 50 บาท ต่อ 1 ศพ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของทายาทในการจัดงานศพ 

7.1.3 กลุ่มสินเชื่อ ธ.ก.ส.

มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มย่อย 4 – 5 คนต่อกลุ่ม ยื่นขอสินเชื่อการเกษตรกับ ธ.ก.ส. ซึ่งปัจจุบันมีอยู่หลายกลุ่ม และยังมีการรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น

7.2 กลุ่มที่ไม่เป็นทางการ  

7.2.1 กลุ่มทอผ้ากะเหรี่ยง 

มีการรวมกลุ่มอย่างไม่เป็นทางการสำหรับกลุ่มทอผ้ากะเหรี่ยงหลังจากเสร็จภารกิจจากการทำการเกษตร จะมานั่งรวมกันเป็นกลุ่มตามใต้ถุนบ้านหรือใต้ต้นไม้ นั่งทอผ้ากะเหรี่ยงซึ่งเป็นผ้าทอมือโดยใช้   กี่เอวในการทอผ้า ส่วนใหญ่จะเป็นการทอผ้าไว้ตัดเย็บเสื้อผ้าไว้ใช้ในครัวเรือน ไม่ได้ทอผ้าเพื่อการจำหน่าย

7.2.2 กลุ่มประเพณีวัฒนธรรมและพิธีกรรม

การทำพิธีกรรมในชุมชนบ้านอีซ่า จะมีการรวมกลุ่มของคนในชุมชนจำนวนมาก ซึ่งมีนายสุรัตน์ คลองแห้ง สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลทองหลางประจำหมู่ 3 เป็นผู้นำพาผู้คนในชุมชนร่วมกิจกรรมโดยพร้อมเพรียงกัน ร่วมแรงร่วมใจกันสืบสานประเพณีวัฒนธรรมและพิธีกรรมตามแบบวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงโปว์ 

7.2.3 กลุ่มศรัทธาวัด

มีชาวบ้านอีซ่ากลุ่มหนึ่งที่มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา รวมตัวกันไปทำบุญที่วัดเป็นประจำทุกวันธรรมสวนะ ณ วัดป่าเขามโนราห์ และที่พักสงฆ์บ้านน้ำตกอีซ่า ซึ่งเป็นศาสนสถานที่มีพระสงฆ์จำวัดอยู่ตลอดปี ทำให้ชาวบ้านได้มีสถานที่ในการพูดคุยเรื่องสัพเพเหระ หารือเรื่องการทำการเกษตร และมีการเชื่อมโยงปฏิสัมพันธ์ผู้คนในชุมชนทำให้เป็นที่มาของความรักความสามัคคีของในชุมชน

7.2.4 กลุ่มทำการเกษตร

ผู้คนในชุมชนมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มย่อย ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเครือญาติ 4 – 5 หลังคาเรือนที่เป็นกลุ่มบ้านใกล้เรือนเคียงกัน จะมีการรวมตัวช่วยเหลือกันทางการเกษตร เช่น มีการรวมตัวลงแขกปลูกข้าวไร่ ลงแขกเกี่ยวข้อง ลงแขกขุดมันสำปะหลัง เป็นต้น

8.1 วิถีชีวิตทางสังคมและวัฒนธรรม

8.1.1 ประเพณีกินข้าวใหม่

หลังจากที่ชาวบ้านเก็บเกี่ยวข้าวไร่เรียบร้อยแล้ว ก่อนที่จะนำข้าวไร่ขึ้นเก็บในยุ้งฉางทุกบ้านที่ปลูกข้าวไร่ จะมีการประกอบพิธีกรรมกินข้าวใหม่เป็นรายหลังคาเรือน หรือบางกลุ่มอาจจะประกอบพิธีกรรมเป็นกลุ่มญาติพี่น้อง โดยการจัดเตรียมข้าวปลาอาหาร ให้ผู้อาวุโสในชุมชนบ้านอีซ่าที่เป็นปราชญ์ด้านพิธีกรรมมาประกอบพิธี ด้วยการนำทุกคนในครอบครัวกล่าวขอบคุณและขอขมาเครื่องมือทำการเกษตรต่าง ๆ ที่ทำให้ข้าวไร่ได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ 

ความสัมพันธ์และอิทธิพลที่มีต่อวิถีชีวิต ข้าวไร่นั้นเป็นอาหารหลักของชาวกะเหรี่ยงโปว์มาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ปัจจุบันประชากรไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ยังคงทำไร่ข้าวเพื่อเลี้ยงชีพคนในครอบครัว ดังนั้น พิธีกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปลูกข้าว จึงยังคงถูกรักษาเอาไว้ได้ค่อนข้างสมบูรณ์ 

8.1.2 ประเพณีวันสงกรานต์

เมื่อถึงวันสงกรานต์ ผู้คนในชุมชนจะมีการรวมตัวกัน ณ บ้านของปราชญ์ชาวบ้าน หรือบ้านของผู้นำชุมชน เชิญชวนผู้อาวุโสทั้งหญิงและชายในชุมชนเข้าร่วมพิธีรดน้ำขอพร โดยปราชญ์ชาวบ้านอาวุโสจะให้พรลูกหลาน หลังจากนั้นผู้นำชุมชนและลูกบ้านจะร่วมกันรดน้ำขอพรผู้อาวุโสจนครบทุกคน 

ความสัมพันธ์และอิทธิพลที่มีต่อวิถีชีวิต ประเพณีสงกรานต์นั้น เดิมทีเป็นของคนไทยพื้นเมือง แต่ปัจจุบันได้แผ่อิทธิพลเข้ามาสู่กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านอีซ่า ซึ่งเห็นว่าเป็นประเพณีที่ดีงามและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่ให้ความเคารพต่อผู้อาวุโสในชุมชน 

8.1.3 ประเพณีไหว้เจดีย์ 

ในอดีตชุมชนบ้านอีซ่าแห่งนี้ เคยมีเจ้าวัด (ผู้นำแห่งจิตวิญญาณ) จำนวน 1 คน และได้ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ตามวิถีแห่งกะเหรี่ยงมาอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อเจ้าวัดได้ถึงแก่กรรมลงก็ไม่มีผู้ใดสืบทอด ดังนั้น พิธีกรรมต่าง ๆ ที่เจ้าวัดเคยปฏิบัติ จึงค่อย ๆ สูญหายไปตามกาลเวลา ซึ่งล่วงเลยมากว่า 80 ปี แต่คนในชุมชนบ้านอีซ่ายังคงมีความเชื่อและศรัทธาเกี่ยวกับเจ้าวัด โดยเฉพาะประเพณีการไหว้เจดีย์ จึงได้เดินทางไปไหว้เจดีย์ในชุมชนใกล้เคียงที่มีเจ้าวัดอย่างสม่ำเสมอ 

8.1.4 ประเพณีลอยกระทง

ประเพณีลอยกระทงของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ ได้รับอิทธิพลมาจากประเพณีลอยกระทงของคนไทยพื้นเมือง ซึ่งเป็นความสอดคล้องของผู้นำแห่งจิตวิญญาณที่ต้องการให้มีการขอขมา   พระแม่คงคา ที่ทำให้คนในชุมชนได้มีน้ำกินน้ำใช้ มีน้ำในการทำการเกษตรตลอดปี ดังนั้น จึงถือเอาวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งตรงกับวันลอยกระทงของคนไทย เป็นวันลอยกระทงของชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านอีซ่า แต่ลักษณะกระทงของชาวกะเหรี่ยงจะมีความแตกต่างจากกระทงของคนไทย คือ กระทงจะมีขนาดใหญ่เป็นทรงสี่เหลี่ยมทำมาจากต้นกล้วยและกาบกล้วย ในกระทงจะมีอาหารหวาน-คาว มีดอกไม้ธูปเทียนและเครื่องสักการบูชาอื่น โดยทั้งหมู่บ้านทำเพียงกระทงเดียว ช่วยกันหามไปลอยกระทงในลำคลองอีซ่า เพื่อกราบขอขมาพระแม่คงคา

8.2 วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ (เกษตร เลี้ยงสัตว์ การค้า)

8.2.1 การเตรียมดินเพาะปลูก

ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคมต้องมีการเตรียมดิน เช่น ถากถางวัชพืชหลังเก็บเกี่ยว  เผาซากวัชพืช ไถบุก ไถแปรพลิกหน้าดินขึ้นมาตากแดดเพื่อฆ่าเชื้อโรคที่สะสมใต้ดิน และฆ่าไข่ของตัวหนอนและเพลี้ยชนิดต่าง ๆ เพื่อให้ดินมีความพร้อมสำหรับการปลูกพืชรอบใหม่ 

8.2.2 การเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร

เดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคมหากฝนตกต้องตามฤดูกาลชาวบ้านจะทำการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร หลังจากนั้นเกษตรกรจะดูแลพืชผลทางการเกษตรต่อไปอีกราว ๆ 4 – 6 เดือน จึงจะได้เก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรในแต่ละชนิด ดังนั้น ในช่วงของการดูแลพืชผลทางการเกษตรจึงถือได้ว่าเป็นช่วงที่สำคัญมาก เพราะเกษตรกรต้องเผชิญหน้ากับศัตรูตัวฉกาจก็คือ แมลง เพลี้ย หนอน ตั๊กแตน ฯลฯ อีกทั้งโรคเกี่ยวกับพืชต่าง ๆ เช่น เชื้อรา โรคใบไหม้ ใบหงิก เป็นต้น รวมถึงวัชพืชต่าง ๆ ในแปลงเกษตรด้วย 

ชื่อ นายเกี๊ยะ  นามสกุล คลองแห้ง  อายุ  72 ปี  และเกิด พ.ศ. 2494

ที่อยู่บ้านเลขที่ 77 หมู่ 3 บ้านละว้า ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี

บทบาทและความสำคัญในชุมชน ความชำนาญ/ทักษะที่มี

นายเกี๊ยะ คลองแห้ง เป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านหมอสมุนไพรพื้นบ้าน สามารถรักษาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นสำหรับโรคภัยที่มีกระบวนการรักษาที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน และโรคภัยที่ไม่มีอาการรุนแรง เช่น ปวดหัว ปวดท้อง เป็นไข้หวัด เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเป็นเสมือนผู้นำแห่งจิตวิญญาณของชุมชน เช่น ช่วยเรียกขวัญให้ลูกหลานช่วยชาวบ้านทำพิธีกรรมกินข้าวใหม่ เป็นหมอตำแย เป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านเครื่องจักสาน สามารถสานเครื่องใช้ภายในบ้านไว้ใช้เอง และสอนเพื่อนบ้านทำเครื่องจักสานเครื่องใช้ในครัวเรือนในรายการง่าย ๆ 

ชีวประวัติ

นายเกี๊ยะ คลองแห้ง ไม่ทราบวันเกิดและเดือนเกิดที่แน่ชัด แต่เกิดในปี พ.ศ. 2494 ปัจจุบันมีอายุ 72 ปี ในวัยเด็กไม่ได้เรียนหนังสือภาษาไทย แต่มีโอกาสได้บรรพชาเป็นสามเณรตอนอายุราว ๆ 7 ขวบ โดยมีพระสงฆ์ที่เป็นชาวกะเหรี่ยงเป็นพระอุปัชฌาย์ ทั้งนี้ ได้ศึกษาภาษากะเหรี่ยงอย่างแตกฉานทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน หลังจากนั้นได้ลาสิกขาบทออกมาใช้ชีวิตแบบฆราวาส และได้แต่งงานครองเรือนในวัย 19 ปี โดยสมรสกับ      นางทองแดง คลองแห้ง และมีบุตรธิดาด้วยกัน 6 คน มีบุตรหลานหลายคนที่ย้ายไปใช้ชีวิตในท้องถิ่นอื่น 

ตอนที่ตนยังเด็กชุมชนบ้านอีซ่าเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่มีชาวกะเหรี่ยงโปว์อาศัยอยู่จำนวนมากราว ๆ 200 หลังคาเรือน ต่อมาชุมชนแห่งนี้เกิดโรคมาลาเรียระบาดใหญ่ ทำให้มีผู้คนในชุมชนล้มตายไปกว่า 25 คน ภายในปีเดียว เคราะห์ซ้ำกว่านั้น มีโจรมีเสือชุกชุม มีชาวบ้านถูกปล้นสะดมอย่างต่อเนื่อง บางปีก็เกิดภัยแล้ง  ทำให้ผู้คนอดอยากยากแค้น ส่งผลให้ชาวบ้านอพยพย้ายถิ่นฐานไปอยู่ท้องถิ่นใหม่ที่อุดมสมบูรณ์กว่าปัจจุบันนี้จึงคงเหลือเพียง 41 หลังคาเรือนเท่านั้น 

ปี พ.ศ. 2533 หลวงพ่อวิชา ละติยุโต ได้เดินทางธุดงค์ผ่านชุมชนกะเหรี่ยงอีซ่า มองเห็นถึงสภาพการประสบปัญหาภัยแล้งของพื้นที่ จึงมอบทรัพย์สินส่วนตัวและบอกบุญรับบริจาคเงินสมทบทุนสร้างฝายชุมชน กั้นลำคลองอีซ่า เพื่อให้ประชาชนได้มีน้ำกินน้ำใช้ตลอดปี แต่ปัจจุบันนี้หน้าฝายตื้นเขินเต็มไปด้วยทราย สาเหตุเกิดจากสายน้ำในฤดูฝนที่ผัดพาทรายมาจากต้นน้ำ ไหลมารวมกันอยู่ที่หน้าฝาย จึงทำให้ฝายกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งไม่ค่อยได้ สถานการณ์ภัยแล้งจึงค่อย ๆ แทรกซึมกลับมาเยือนชาวบ้านดังเช่นในอดีตอีกครั้ง

1. ทุนทางกายภาพ 

1.1 ลำคลองอีซ่า ประวัติความเป็นมา ผู้อาวุโสเล่าให้ฟังว่า ไม่ทราบว่าทำไมถึงเรียกลำคลองนี้ว่าลำคลองอีซ่า และก็ไม่เคยถามรุ่นปู่ด้วยว่าทำไมถึงเรียกชื่อนี้ แต่คาดเดาว่าอาจจะเกิดจากเสียงสายน้ำกระทบกับ ก้อนหินและโขดหินด้วยความแรงของกระแสน้ำและมวลน้ำจำนวนมากในฤดูฝน จึงทำให้เกิดเสียงซ่า อยู่ตลอดเวลา จึงเรียกว่าคลองอีซ่า หรือจะมีคนในอดีตชื่อว่าซ่าที่มีความหลังบางอย่างกับสายน้ำสายนี้ก็อาจเป็นไปได้ ซึ่งไม่สามารถบ่งชี้ได้อย่างชัดเจน และไม่เคยมีใครพูดถึง

สถานที่และช่วงเวลาที่เกี่ยวข้อง “ลำคลองอีซ่า” มีต้นกำเนิดมาจากผืนป่าห้วยขาแข้งที่แสนอุดมสมบูรณ์ ไหลผ่านหลายชุมชนที่มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามชื่อชุมชนนั้น ๆ จนมาถึงชุมชนอีซ่า ชาวบ้านเรียกกันว่า “ลำคลองอีซ่า” อยู่คู่กับชุมชนมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน ไม่เคยเกรี้ยวกราดจนทำให้ผู้คนล้มตาย แต่เคยแห้งจนผู้คนเกือบตาย จนเกิดการสร้างฝายกั้นลำคลองในเวลาต่อมา ทำให้ผู้คนมีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้ง 

คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน “ลำคลองอีซ่า” เป็นเสมือนสายเลือดที่หล่อเลี้ยงผู้คนในชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านอีซ่ามาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นทั้งแหล่งน้ำกินน้ำใช้และน้ำในการทำการเกษตร 

สถานภาพปัจจุบัน “ลำคลองอีซ่า” จะมีมวลน้ำปริมาณมากในฤดูฝน บางปีไหลเชี่ยว บางปีมีน้ำพอใช้ บางปีมีน้ำน้อย ล้วนเป็นไปตามสถานการณ์ทางอุตุนิยมวิทยาของไทยและของโลก ที่สำคัญยังคงมีความสำคัญต่อผู้คนในชุมชนอย่างไม่ลดน้อยถอยลงเลย 

การสืบทอดและความยั่งยืนในการใช้งาน การที่ลำคลองสายนี้มีปริมาณน้ำลดลงไปเรื่อย ๆ   ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า ผืนป่าต้นน้ำและผืนป่าที่อยู่ระหว่างทางที่สายน้ำไหลผ่านนั้นค่อย ๆ หมดลงไปเรื่อย ๆ จึงไม่สามารถที่จะดูดซับความชุ่มชื้นของสายน้ำสายนี้ไว้ได้ตลอดปี ในฤดูแล้งจึงไม่มีน้ำในลำคลอง จึงพูดได้ว่า การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในชุมชนแห่งนี้ยังไม่มีความยั่งยืนเท่าที่ควร 

1.2 ป่าสงวนแห่งชาติ  ประวัติความเป็นมา เมื่อปี พ.ศ. 2528 กรมป่าไม้ได้ประกาศเขตพื้นที่ป่าสงวนห้วยป่าทับเสลาและห้วยป่าคอกควาย ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งทับซ้อนพื้นที่ที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานีหลายชุมชน ไม่เว้นแม่แต่ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านอีซ่าแห่งนี้ รัฐจัดสรรที่ดินให้ชาวบ้านทำกินในพื้นที่ของบรรพบุรุษ ครัวเรือนละ 25 – 30 ไร่ และห้ามทำไร่หมุนเวียนตามวิถีชนเผ่ากะเหรี่ยงอีกต่อไป เนื่องจากรัฐมองว่าเป็นการทำลายป่า และต้องใช้ที่ดินจำนวนมากในการทำไร่หมุนเวียน 

สถานที่/ช่วงเวลาที่เกี่ยวข้อง หลังการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติห้วยป่าทับเสลาและ   ห้วยป่าคอกควาย ซึ่งมีผลกระทบกับกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงมีความผูกพันกับป่า ส่วนใหญ่มักอาศัยอยู่บนพื้นที่ราบสูงหรือในป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้น การประกาศพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติของรัฐ เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างปัญหาความขัดแย้งระหว่างกฎหมายรัฐกับกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในหลายพื้นที่ในจังหวัดอุทัยธานีมาจนถึงปัจจุบัน 

คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน ชาวกะเหรี่ยงรู้ว่าคุณค่าของป่าไม้ว่ามีมากมายเพียงใด  ดังคำพูดที่ว่า “ที่ไหนมีป่า ที่นั่นมีกะเหรี่ยง” และ “ที่ไหนมีกะเหรี่ยงที่นั่นมีป่า” คำพูดนี้ยังคงเป็นความจริงมาจนถึงทุกวันนี้แบบที่ไม่มีวันจะเสื่อมสลายไป ดังจะเห็นได้ว่าหมู่บ้านกะเหรี่ยงทุกที่จะมีป่าชุมชนหรือป่าตามภูเขาที่อยู่รอบ ๆ หมู่บ้านกะเหรี่ยง 

สถานภาพปัจจุบัน แม้ปัจจุบันนี้ป่าชุมชนหรือป่าไม้ตามไหล่เขาและบนภูเขารอบ ๆ ชุมชนจะลดลงไปมากหากเทียบกับอดีต แต่ก็ยังเหลือพื้นที่ป่าอยู่ร้อยละ 15 – 20 ของพื้นที่ในปัจจุบัน เพียงพอที่จะช่วยสร้างความชุ่มชื้นให้แก่ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านอีซ่า และเป็นแหล่งอาหารป่าของคนในชุมชนดังเช่นในอดีต

2. ทุนมนุษย์ 

ในชุมชนบ้านอีซ่ามีปราชญ์ชาวบ้านอยู่มากมาย เช่น เป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านหมอสมุนไพรพื้นบ้าน ปราชญ์ชาวบ้านด้านเครื่องจักสาน ปราชญ์ชาวบ้านด้านการเกษตร ปราชญ์ชาวบ้านด้านพิธีกรรม ปราชญ์ชาวบ้านด้านวิถีชีวิต ศิลปินพื้นบ้าน  เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่า มีศักยภาพในการพัฒนาชุมชน

ช่วงเวลาที่เกี่ยวข้อง  กว่า 150 ปีมาแล้ว ที่ชุมชนบ้านอีซ่าได้ก่อตั้งมา บรรพบุรุษได้สรรสร้างวัฒนธรรมที่ดีงามไว้ให้ลูกหลานรุ่นต่อรุ่น ลูกหลานก็สืบทอดไปสู่คนรุ่นต่อไป หมุนเวียนเป็นวัฏจักรของชีวิต

คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน ปราชญ์ชาวบ้านและผู้คนในชุมชนล้วนแต่เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ต่อชุมชน เป็นที่พึ่งทางกาย เป็นที่พึ่งทางใจ เป็นที่พึ่งทางจิตวิญญาณ และทำคุณประโยชน์ต่อชุมชน 

สถานภาพปัจจุบัน ปราชญ์ชาวบ้านทุกคนยังคงช่วยเหลือชาวบ้านอยู่เนือง ๆ ตามความรู้ความสามารถและทักษะวิชาชีพที่ตนมี  

การสืบทอดและความยั่งยืน ประสบการณ์ของปราชญ์ชาวบ้านทุกคน จะถูกถ่ายทอดจากรุ่น สู่รุ่น และการมีการดูแลกันไปอย่างนี้ตราบนานเท่านาน

3. ทุนทางวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น 

3.1 การทอผ้ากะเหรี่ยงและเครื่องแต่งกายกะเหรี่ยง ประวัติความเป็นมา ชาวกะเหรี่ยงโปว์ บ้านอีซ่า ถึงแม้ว่าจะไม่ได้แต่งกายด้วยชุดกะเหรี่ยงในชีวิตประจำวัน แต่ทุกคนมีชุดกะเหรี่ยงไว้ติดบ้าน หากเมื่อไหร่ที่ผู้นำชุมชนต้องการให้สวมใส่ชุดกะเหรี่ยง ทุกคนพร้อมที่จะหยิบขึ้นมาสวมใส่ เพื่อแสดงอัตลักษณ์ความเป็นกะเหรี่ยงได้ทันที เช่น ร่วมพิธีกรรมหรือไปร่วมกิจกรรมกับทางราชการ และจะสวมใส่ชุดกะเหรี่ยง  ต่อหน้าสาธารณชนอย่างภาคภูมิใจ 

ช่วงเวลาที่เกี่ยวข้อง จะมีการแต่งกายด้วยชุดกะเหรี่ยงในหลายวาระ เช่น เทศกาลขึ้นปีใหม่      งานไหว้เจดีย์ของหมู่บ้านใกล้เคียง งานสงกรานต์และประเพณีรดน้ำดำหัวผู้อาวุโสชาวกะเหรี่ยง งานกินข้าวใหม่ งานแต่งงาน และงานต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองที่มาเยือนชุมชน เป็นต้น

คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน เครื่องแต่งกายกะเหรี่ยงเป็นเครื่องแบบที่แสดงถึงอัตลักษณ์ ความเป็นกะเหรี่ยงที่บรรพบุรุษมอบไว้ให้ ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะไม่ค่อยได้สวมใส่กันมากนัก แต่ชาวกะเหรี่ยง    ทุกคนมีความรักและมีความผูกพันกับเครื่องแต่งกายกะเหรี่ยง 

การสืบทอดและความยั่งยืน ชาวกะเหรี่ยงโปว์กลุ่มบ้านอีซ่าทุกคนรักและหวงแหนอัตลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมของตนเอง ทุกคนพร้อมใจกันที่จะร่วมกันอนุรักษ์สืบสานมรดกทางวัฒนธรรมที่บรรพชนได้   สรรสร้างไว้ และพร้อมจะสืบทอดไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลานต่อไปอย่างยั่งยืน

3.2 อาหารกะเหรี่ยง ประวัติความเป็นมา ชาวกะเหรี่ยงโปว์ไม่ว่าจะย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่ไหน ก็ตาม จะนำวัฒนธรรมเรื่องอาหารการกินไปด้วยเสมอ และชุมชนอีซ่าแห่งนี้ก็เช่นเดียวกัน ทุกวันนี้ยังคงทำอาหารกะเหรี่ยงได้ในทุกครัวเรือน  

ช่วงเวลาที่เกี่ยวข้อง การทำอาหารกะเหรี่ยงนั้นทำได้ทุกวันทุกฤดูกาล และเป็นรายการอาหารที่สามารถหาวัตถุดิบและเครื่องปรุงในท้องถิ่นได้ มีขั้นตอนและวิธีการปรุงที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน 

คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน อาหารพื้นบ้านกะเหรี่ยงโปว์มีคุณค่าทางโภชนาการครบ 5 หมู่ มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของชาวกะเหรี่ยงโปว์ มีการสืบทอดจากอดีตถึงปัจจุบัน 

สถานการณ์ปัจจุบัน ได้รับอิทธิพลจากโลกภายนอกมากมาย แถมสื่อดิจิตอลและสื่อออนไลน์ยัง โหมกระหน่ำใส่ลูกหลานชาวกะเหรี่ยงบ้านอีซ่าอย่างหนักหน่วง ทำให้ชาวกะเหรี่ยงวัยกลางคนและเยาวชนรุ่นใหม่สามารถทำอาหารไทยและอาหารสากลได้ แต่เชื่อได้ว่าชาวกะเหรี่ยงจะยังคงอนุรักษ์วัฒนธรรมด้านอาหารของ  บรรพบุรุษเอาไว้ได้ในที่สุด

การสืบทอดและความยั่งยืน ปัจจุบันนี้ชาวกะเหรี่ยงรุ่นพ่อรุ่นแม่ยังคงสอนวิถีการดำรงชีวิตแบบกะเหรี่ยงให้กับเยาวชนรุ่นใหม่อยู่เสมอ ทำให้มั่นใจได้ว่าการถ่ายทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมด้านอาหารกะเหรี่ยงจะดำรงคงอยู่อย่างมั่นคงและยั่งยืนสืบไป

3.3 ขนบธรรมเนียมประเพณีกะเหรี่ยงโปว์  ประวัติความเป็นมา ในยุคหนึ่งชุมชนบ้านอีซ่าเคยมีความเจริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมกะเหรี่ยงถึงขีดสุด เพราะชุมชนแห่งนี้เคยมีประชากรชาวกะเหรี่ยงโปว์ ย้ายมาอยู่กว่า 200 ครัวเรือน ส่งผลให้ชุมชนแห่งนี้เป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมกะเหรี่ยงโปว์ เคยมีเจ้าวัด จำนวน 1 คน ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อและความศรัทธาแห่งวิถีกะเหรี่ยงโปว์ ทำให้ชาวบ้านอีซ่ายกย่องกันว่ายุคนั้นเป็นยุคแห่งความรุ่งเรืองด้านวัฒนธรรมของชุมชน

ช่วงเวลาที่เกี่ยวข้อง ชุมชนบ้านอีซ่าในยุคแห่งความเจริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรม จากคำบอกเล่าน่าจะอยู่ราว ๆ พ.ศ. 2450 – 2525 เป็นระยะเวลากว่า 75 ปี ที่ชุมชนแห่งนี้มีประชากรกะเหรี่ยงโปว์อาศัยอยู่รวมกันหนาแน่นที่สุด และมีการดำรงชีวิตด้วยวิถีวัฒนธรรมแบบกะเหรี่ยงโปว์อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด โดยไม่มีวัฒนธรรมอื่นใดที่จะมาแทรกแซงวิถีชีวิตแบบกะเหรี่ยงโปว์ได้ ผู้คนในชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขมากกว่าในห้วงเวลาอื่น 

คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน ขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงามของชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านอีซ่าที่กล่าวมาข้างต้น ยังคงตรึงตราตรึงใจชาวกะเหรี่ยงโปว์ในชุมชนบ้านอีซ่าทุกคน โดยเฉพาะชาวกะเหรี่ยงโปว์วัยอาวุโสที่พวกเขาเคยใช้ชีวิตในยุคแห่งความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมนั้น และได้เป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมกะเหรี่ยงโปว์อันดีงาม 

สถานการณ์ปัจจุบัน ในปีหนึ่ง ๆ มีการรวมตัวกันเพื่อจัดงานประเพณีวัฒนธรรมน้อยมาก  คนในชุมชนไม่ค่อยมีโอกาสได้แสดงอัตลักษณ์วัฒนธรรมของตนเอง 

การสืบทอดและความยั่งยืน ชาวกะเหรี่ยงโปว์กลุ่มบ้านอีซ่าได้ร่วมกันอนุรักษ์สืบสานรากวัฒนธรรมของชนเผ่ากะเหรี่ยงเอาไว้ได้ในระดับหนึ่ง ถ้าจะให้ดีต้องเร่งดำเนินการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงโดยเร่งด่วน ก่อนที่จะสูญหายไปตลอดกาล

4. ทุนทางเศรษฐกิจ 

พืชเศรษฐกิจ ประวัติความเป็นมา ในอดีตบรรพบุรุษในชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านอีซ่านิยมปลูก    ข้าวไร่เป็นหลัก ที่สำคัญเป็นการปลูกข้าวไร่ตามวิถีชนเผ่ากะเหรี่ยงหรือที่ว่าการทำไร่หมุนเวียน เป็นการปลูกข้าวไร่ไว้กินในครัวเรือน ไม่ได้ปลูกเพื่อการจำหน่าย พืชผักสวนครัวก็ปลูกไว้ในไร่หมุนเวียนเช่นเดียวกัน 

ช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลง จากยุคการทำไร่หมุนเวียนไปสู่การปลูกพืชเชิงเดี่ยวหรือพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ยุคที่ที่ดินทำกินของชุมชนถูกประกาศเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ชาวบ้านได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินจำนวนจำกัด ไม่เพียงพอกับการทำไร่หมุนเวียน การปลูกพืชเพื่อการดำรงชีพจึงเปลี่ยนมาเป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวหรือพืชเศรษฐกิจ 

คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน การปลูกพืชเพื่อการดำรงชีพกับการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อจำหน่ายและนำเงินมาเลี้ยงชีพ ทั้งสองแนวทางล้วนมีคุณค่าและความหมายต่อชีวิตของผู้คนในชุมชน

สถานการณ์ปัจจุบัน ชาวบ้านนิยมปลูกพืชเศรษฐกิจจำพวก ข้าวโพด มันสำปะหลัง ปาล์ม อ้อย เป็นต้น ซึ่งเป็นพืชล้มลุกที่โตเร็ว ทนแล้ง และสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้เป็นอย่างดี

การสืบทอดและความยั่งยืน การปลูกพืชเชิงเดี่ยวหรือพืชเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะเติบโตอย่างรวดเร็ว และจะคงดำรงอยู่เช่นนี้ต่อไปอีกหลายทศวรรษ

5. ทุนทางสังคม/การเมือง 

การมีส่วนร่วมทางการเมือง ประวัติความเป็นมา จากอดีตถึงปัจจุบันชุมชนกะเหรี่ยงโปว์ บ้านอีซ่าให้ความสำคัญกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ดังจะเห็นได้ว่า ชาวบ้านได้มีการตั้งผู้ปกครองชุมชนอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยในชุมชน เรียบลำดับได้ ดังนี้

1. นายเบิกคลอง ภูเหม็น

2. เหวียโว่ คลองแห้ง

3. นายเกี๊ยะ คลองแห้ง

ส่วนผู้นำอย่างเป็นทางการหรือผู้นำที่รัฐแต่งตั้งให้เป็นผู้ใหญ่บ้านปกครองชุมชน มีดังนี้

1. นายรัตน์ แกล้วการไร่ (ผู้ใหญ่บ้าน เริ่ม พ.ศ. 2510)

2. นายสำรวย อาสา (ผู้ใหญ่บ้าน)

3. นายศักดิ์ดา (ผู้ใหญ่บ้าน)

4. นายสมศักดิ์ บุญประกอบ (ผู้ใหญ่บ้าน)

5. นางพนม ทูลพัฒน์ (ผู้ใหญ่บ้าน)

6. นายประเวก อยู่รอบ (ผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งมาแล้ว 14 ปี)

ช่วงเวลาที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 ที่ชุมชนแห่งนี้มีผู้ใหญ่บ้านที่เป็นทางการที่ภาครัฐได้แต่งตั้งให้ดูแลชุมชน ชาวบ้านให้ความเคารพและยอมรับในตัวผู้นำทุกรุ่นทุกยุคสมัย รวมถึงในระยะหลังที่ภาครัฐกำหนดให้ประชาชนมาลงคะแนนเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้านก็ให้ความร่วมมืออย่างดี ไม่มีปัญหาเรื่องความขัดแย้ง แสดงให้เห็นว่าชาวบ้านเคารพในกติกาของบ้านเมือง มีส่วนร่วมทางการเมือง และยอมรับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน ชุมชนแห่งนี้ผ่านทุกช่วงเวลาที่ยากลำบากจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ผ่านเหตุการณ์ร้ายและดีมาอย่างยาวนานกว่า 150 ปี ผ่านการปกครองโดยผู้นำชุมชนทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เข้าใจในวัฒนธรรมประชาธิปไตย 

สถานการณ์ปัจจุบัน ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านอีซ่า เป็นชุมชนขนาดเล็ก ที่มีประชากรเพียง 41 หลังคาเรือน ภาครัฐต้องไปรวมกับชุมชนอื่น ๆ อีกหลายกลุ่ม จนกลายเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ในนามของหมู่ที่ 3 (บ้านละว้า) ตำบลทองหลาง โดยยินยอมให้กลุ่มอื่นเป็นผู้ใหญ่บ้าน และชุมชนบ้านอีซ่ารับตำแหน่งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลทองหลาง 

การสืบทอดและความยั่งยืน ชุมชนมีการสืบทอดการเมืองและการปกครองด้วยความเรียบร้อยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่มีปัญหาความขัดแย้ง และไม่เคยเสียเลือดเนื้อกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองในทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา ซึ่งเห็นถึงความยั่งยืนในการเมืองการปกครองระดับท้องถิ่น

ภาษาพูดพื้นถิ่น ได้แก่ ภาษากะเหรี่ยงโปว์ เป็นภาษาที่ใช้ในการสื่อสารในครัวเรือน และใช้ในการสื่อสารกับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ในท้องถิ่นอื่น ๆ ทั่วประเทศ 

ภาษาเขียน ได้แก่ ภาษาเขียนกะเหรี่ยงโปว์ เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ทั่วประเทศ และกะเหรี่ยงโปว์จากทั่วโลก ใช้สื่อสารกันเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ 

สถานการณ์ปัจจุบัน ได้แก่ ชาวกะเหรี่ยงโปว์ในปัจจุบัน มีผู้ที่สามารถใช้ภาษาเขียนกะเหรี่ยงโปว์ได้  จำนวนน้อยมาก ประมาณร้อยละ 2 เนื่องจากส่วนใหญ่หันมาใช้ภาษาไทย จึงทำให้ในที่สุดภาษาเขียนกะเหรี่ยงโปว์ค่อย ๆ เลือนหายไปจากวิถีชีวิต   

สำหรับภาษาพูดกะเหรี่ยงโปว์ยังคงมีประชากรชาวกะเหรี่ยงโปว์ที่สามารถพูดได้ เนื่องจากชาวกะเหรี่ยงโปว์ให้ความสำคัญกับภาษาพูด และพยายามสอนให้ลูกหลานเยาวชนพูด ส่งผลให้ชาวกะเหรี่ยงโปว์ร้อยละ 80 ยังคงพูดภาษากะเหรี่ยงได้


มีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องจากอดีตถึงปัจจุบัน โดยในยุคแรกมีการปกครองโดยผู้นำชุมชนอย่างไม่เป็นทางการ เป็นผู้อาวุโสหรือปราชญ์ชาวบ้านที่เป็นที่ยอมรับในชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านอีซ่าเป็นผู้ปกครองดูแลทุกข์สุขและความสงบเรียบร้อยในชุมชน ต่อมามีการแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านจากภาครัฐมาดูแลราษฎร และภายหลังเปลี่ยนมาเป็นการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเพื่อพัฒนาชุมชน ชาวบ้านได้ให้ความร่วมมือกับผู้นำชุมชนและภาครัฐเป็นอย่างดี ในการเลือกตั้งทุกระดับ 

การมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและนอกชุมชน เพื่อรับมือกับสถานการณ์หรือแก้ปัญหาต่าง ๆ 

ผู้คนในชุมชนมีความรัก ความสามัคคี ความผูกพันความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความร่วมมือร่วมใจ และเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันตลอดมา ดังนั้น ทุกครั้งที่เกิดสถานการณ์ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเหตุบ้านการเมือง ภัยธรรมชาติ ภัยคุกคาม ปัญหาพืชผลทางการเกษตร เป็นต้น คนในชุมชนจะมีความร่วมมือร่วมใจกัน ช่วยกันแก้วิกฤติต่าง ๆ ให้ผ่านพ้นไป 

แนวทางแก้ไขปัญหาและรับมือกับความท้าทาย

ผู้นำชุมชนที่ภาครัฐแต่งตั้ง เช่น ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลทองหลาง และผู้นำที่เป็นผู้อาวุโสที่ชาวบ้านเคารพนับถือ ผู้นำแห่งจิตวิญญาณและความเชื่อ และกลุ่มผู้นำชุมชนที่เป็นหัวใจสำคัญในแต่ละด้าน เชิญสมาชิกลูกบ้านประชุมเพื่อร่วมกันระดมความคิดเห็น กำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาและรับมือกับความท้าทายจากวิกฤติการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น 

การรวมกลุ่มและการสร้างเครือข่าย

ในชุมชนมีเครือข่ายที่เป็นทางการเล็กน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นเครือข่ายที่ไม่เป็นทางการ และจะยังคงมีการขยายเครือข่ายทั้งสองประเภทต่อไปอย่างต่อเนื่อง

บทบาทของหน่วยงาน/องค์กรภายนอกที่เข้ามามีส่วนร่วม

จากอดีตถึงปัจจุบันมีหน่วยงานภายนอกที่เป็นภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน  หลายหน่วยงาน เช่น อำเภอห้วยคต องค์การบริหารส่วนตำบลทองหลาง ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดอุทัยธานี สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุทัยธานี สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอุทัยธานี สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุทัยธานี เกษตรอำเภอห้วยคต เป็นต้น สำหรับบุคคลหรือองค์กรเอกชนที่เข้ามามีส่วนร่วม เช่น หลวงพ่อวิชา ลติยุโต สร้างฝายน้ำถาวรให้ชุมชน สถาบันธรรมชาติพัฒนา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เป็นต้น


มีการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากอดีตถึงปัจจุบัน จากอดีตเป็นการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์เพื่อการดำรงชีพ ต่อมาชาวบ้านถูกจำกัดที่ดินทำกิน เนื่องจากการประกาศพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติทับซ้อนที่ดินทำกินของชาวบ้าน ชาวบ้านจึงต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ด้วยการหันมาปลูกพืชเชิงเดี่ยวหรือพืชเศรษฐกิจเพื่อหาเงินมาใช้ในการดำรงชีพ 


ประชากร  ชุมชนกลุ่มบ้านอีซ่ามีการเปลี่ยนแปลงในหลายช่วงเวลา กล่าวคือ ในระยะแรกที่มีชาวกะเหรี่ยงโปว์เข้ามาบุกเบิกพื้นที่ทำกินในบริเวณบ้านอีซ่า มีเพียงไม่กี่ครัวเรือน เมื่อมีการบอกต่อไปยังญาติ ๆ ทำให้มีผู้คนย้ายเข้ามาอยู่ที่ชุมชนบ้านอีซ่าจำนวนราว ๆ 200 กว่าหลังคาเรือน เพียงระยะเวลาไม่กี่ปี หลังจากนั้นชุมชนแห่งนี้ประสบเคราะห์กรรมมีโรคระบาด ได้แก่ โรคไข้เลือดออกและไข้มาลาเรีย พรากชีวิตผู้คนไปกว่า 25 คน เนื่องจากชุมชนแห่งนี้อยู่ไกลจากโรงพยาบาล สร้างความหวาดกลัวให้กับผู้คนในชุมชนเป็นอย่างมาก กอปรกับปัญหาภัยแล้งทำมาหากินไม่ได้ เคราะห์ซ้ำไปกว่านั้นรัฐได้ประกาศพื้นที่นี้เป็นป่าสงวนแห่งชาติทับที่ทำกินของชาวบ้าน รัฐจัดสรรที่ทำกินให้ใหม่เพียงครอบครัวละ 25 – 30 ไร่ ชาวบ้านไม่สามารถทำไร่หมุนเวียน ส่งผลให้ชาวบ้านทยอยย้ายออกไปจากชุมชนแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันนี้ประชากรเหลือเพียง 41 หลังคาเรือนเท่านั้น


ชาวกะเหรี่ยงโปว์กลุ่มบ้านอีซ่าส่วนใหญ่ย้ายมาจากบ้านภูเหม็น และบ้านคลองแห้ง จึงไม่ค่อยประสบปัญหาเรื่องสิทธิในสัญชาติ ทุกคนจึงมีสัญชาติไทยและเชื้อชาติไทย มีบัตรประชาชน มีสิทธิพลเมืองไทยทุกประการ รวมถึงได้รับสวัสดิการแห่งรัฐเทียบเท่าประชาชนคนไทยทุกคนในประเทศ 


ในอดีตไม่มีระบบสาธารณูปโภคที่รัฐจัดให้ ต่อมาเมื่อชุมชนกลุ่มบ้านอีซ่ามีประชากรมากขึ้น รัฐจึงเข้ามาช่วยเหลือด้วยการทำประปาหมู่บ้าน เดินไฟฟ้าเข้าหมู่บ้าน ทำถนนคอนกรีตในหมู่บ้าน มีเสาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่เข้ามาใกล้ชุมชน จนถึงปัจจุบันชุมชนมีระบบสาธารณูปโภคที่เพียงพอ


ในอดีตระบบสาธารณสุขเข้าไม่ถึงชุมชน จึงทำให้คนในชุมชนต้องเสียชีวิตด้วยโรคภัยต่าง ๆ  แต่ปัจจุบันชาวบ้านอีซ่าได้รับสวัสดิการจากภาครัฐเกี่ยวกับการสาธารณสุขเท่าเทียมกับประชาชนคนไทยทุกคน และมีห้องน้ำห้องส้วมที่ถูกสุขภาวะทุกบ้าน


ในอดีตเยาวชนกะเหรี่ยงโปว์กลุ่มบ้านอีซ่าได้รับการศึกษาแบบการศึกษาผู้ใหญ่ เนื่องจากไม่มีโรงเรียนในชุมชน ต่อมาเริ่มมีโรงเรียนแต่อยู่ห่างไกล มีเพียงเยาวชนบางคนที่ได้รับการศึกษา แต่ปัจจุบันนี้เด็กและเยาวชนทุกคนได้รับการศึกษาภาคบังคับ เพราะมีโรงเรียนหลายแห่งอยู่ใกล้ชุมชน เด็กและเยาวชนที่มีโอกาสได้เข้าเรียนสามารถเรียนจบมัธยมศึกษาตอนปลายร้อยละ 80 เยาวชนที่มีโอกาสเรียนระดับปริญญาตรีสามารถเรียนจบปริญญาตรีร้อยละ 10 เป็นความท้าทายของรัฐ ผู้ปกครอง และผู้นำชุมชน ในการหาวิธีการให้เด็กและเยาวชนได้รับการศึกษาจนจบปริญญาตรีจำนวนมากขึ้นกว่าปัจจุบัน


ชาวกะเหรี่ยงโปว์กลุ่มบ้านอีซ่าล้วนยึดมั่นรักษาอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ให้คงอยู่ ด้วยการร่วมกันอนุรักษ์สืบสานสืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน แต่ไม่สามารถทัดทานวัฒนธรรมจากภายนอก ซึ่งมีความทันสมัยที่เข้ามาแทรกซึมวิถีวัฒนธรรมในทุกมิติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้วัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงโปว์ค่อย ๆ เลือนหายไปทีละน้อย แต่ส่วนหนึ่งเยาวชนก็หลงลืมวัฒนธรรมของตนเอง อีกส่วนหนึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองไม่ได้ถ่ายทอดให้ ส่งผลให้อัตลักษณ์วัฒนธรรมกะเหรี่ยงโปว์ของชุมชนนี้ จะรับรู้กันในกลุ่มคนวัยกลางคนและผู้สูงอายุเท่านั้น ในอนาคตอันใกล้นี้มีแนวโน้มและความเป็นไปได้สูงที่จะสูญหายไปหมด จึงเป็นความท้าทายของผู้นำชุมชนที่จะอนุรักษ์สืบสานอัตลักษณ์วัฒนธรรมที่ดีงามเอาไว้ให้คงอยู่ต่อไป


ตามคำพูดที่กล่าวว่า “ที่ไหนมีกะเหรี่ยง ที่นั่นมีป่า” และ       “ที่ไหนมีป่า ที่นั่นมีกะเหรี่ยง” ในอดีตนั้นอาจจะใช่ แต่ปัจจุบันนี้ไม่ถูกต้องเสมอไป เมื่อมีประชากรย้ายถิ่นฐาน    เข้ามาอยู่จำนวนมาก ทำให้ผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ถูกแปรสภาพเป็นที่อยู่อาศัย ไร่หมุนเวียน สวน และไร่เกษตร จากระยะเวลาที่ล่วงเลยมาเกือบ 2 ศตวรรษ ผืนป่าตามธรรมชาติและผืนป่าชุมชนเหลือเพียงร้อยละ 10 ของพื้นที่ ภาครัฐที่ได้มีการประกาศพื้นที่เป็นป่าสงวนแห่งชาติห้วยป่าทับเสลาและห้วยป่าคอกควาย มีการจำกัดที่ดินทำกินของราษฎร ทำให้รักษาผืนป่าไว้ได้มากขึ้น แต่ก็เป็นเรื่องท้าทายสำหรับภาครัฐ ท้องถิ่น ท้องที่ และว่าจะบริหารจัดการพื้นที่ทำกินและผืนป่าเสื่อมโทรมให้เกิดความสมดุลได้อย่างไร 


ป่าสงวนแห่งชาติห้วยป่าทับเสลาและห้วยป่าคอกควาย
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล