Advance search

บ้านละหว้าใหม่คอกควาย
  • หน้าหมู่บ้านละหว้าใหม่คอกควายมีถนนทางหลวงชนบทที่ตัดผ่าน ซึ่งฝั่งที่อยู่ตรงกันข้ามกับหมู่บ้าน เป็นอ่างเก็บน้าขนาดใหญ่ชื่อ “อ่างเก็บน้ำห้วยขุนแก้ว” สร้างขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ในการบริโภค การเกษตร ประมงและการท่องเที่ยว มีความสวยงามและมีคุณค่าอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของผู้คนในชุมชน
  • หน้าหมู่บ้านมีศาลเจ้าเก่า ๆ ซึ่งบรรพบุรุษชาวละว้าได้สร้างไว้ ตามความเชื่อโบราณประเพณี เป็นที่เคารพสักการะและเป็นสถานที่ประกอบพิธีทำบุญกลางบ้านของชุมชน
  • วัดแก้วศักดา เป็นที่พึ่งทางจิตใจของชาวละว้า คนในชุมชนไปทำบุญทุกวันธรรมสวนะ 
3
บ้านละว้า
ทองหลาง
ห้วยคต
อุทัยธานี
กิตติพัฒน์ อธิวัฒน์ธนาวงศ์
20 ต.ค. 2023
พรทิพย์ กำเหนิดแจ้ง
28 พ.ย. 2023
สุดารัตน์ ศรีอุบล
7 เม.ย. 2024
บ้านละว้า
บ้านละหว้าใหม่คอกควาย

นายเป๊กไป่ วงศ์ดวงคำ ผู้อาวุโสชาวละว้าที่ชาวบ้านละว้าใหม่คอกควายให้ความเคารพนับถือ เล่าให้ฟังว่า เดิมทีบริเวณนี้เป็นพื้นที่ป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ บรรพบุรุษของตนซึ่งเป็นชาวละว้า ได้พากันอพยพโยกย้ายถิ่นฐานมาจากจังหวัดลพบุรี มาตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณฝั่งอ่างเก็บน้ำห้วยขุนแก้ว(ในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นฝั่งตรงกันข้ามกับที่อยู่อาศัยของพวกตนในปัจจุบันนี้ เดิมทีฝั่งนั้นยังไม่ได้เป็นอ่างเก็บน้ำห้วยขุนแก้ว มีเพียงลำน้ำห้วยขุนแก้วที่ไหลผ่าน ต่อมาทางการมีนโยบายให้สร้างอ่างเก็บน้ำห้วยขุนแก้วขึ้น โดยการกั้นลำน้ำห้วยขุนแก้วให้เป็นอ่างเก็บน้ำไว้ใช้ในการบริโภคของชุมชนที่อาศัยอยู่รายรอบลำน้ำห้วยขุนแก้ว ทางการจึงให้ชาวละว้าย้ายที่อยู่อาศัยมาอยู่ฝั่งตรงข้ามกับอ่างเก็บน้ำ ซึ่งเป็นแนวถนนตัดไปตามแนวเขาที่กั้นอ่างเก็บน้ำห้วยขุนแก้ว ดูแล้วมีความมั่นคงแข็งแรงและน้ำไม่ท่วม ด้วยเกรงว่าถ้าชาวละว้ายังอาศัยอยู่ฝั่งอ่างเก็บน้ำ อาจจะเกิดเหตุอุทกภัยได้ หากปีหนึ่งปีใดที่ฝนตกชุก ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำมีปริมาณมาก ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกัน จึงจัดสรรพื้นที่ให้ใหม่และให้ชาวละว้าย้ายมาอยู่ในพื้นที่บริเวณที่อยู่อาศัยในปัจจุบันมาจนถึงทุกวันนี้ แรก ๆ ที่ย้ายมาอยู่ในบริเวณนี้ยังมีไม่กี่หลังคาเรือน ต่อมาญาติพี่น้องทราบข่าวจึงย้ายตามกันมาเพิ่มอีกจำนวนหนึ่ง จนปัจจุบันนี้มีอยู่ 30 ครัวเรือน ผู้คนในชุมชนดำรงวิถีชีวิตอยู่กันอย่างเรียบง่าย ภายใต้บริบทของวิถีชีวิตที่พึ่งพาป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ ช่วยกันรักษาระบบนิเวศไว้อย่างยั่งยืน ดำรงชีวิตอยู่อย่างพอเพียง และด้วยความที่แม่น้ำคอกควายและเทือกเขาคอกควายเชื่อมโยงผ่านชุมชนแห่งนี้ ทางการจึงตั้งชื่อชุมชนแห่งนี้ว่า “บ้านละหว้าใหม่คอกควาย” มาจนถึงปัจจุบัน


  • หน้าหมู่บ้านละหว้าใหม่คอกควายมีถนนทางหลวงชนบทที่ตัดผ่าน ซึ่งฝั่งที่อยู่ตรงกันข้ามกับหมู่บ้าน เป็นอ่างเก็บน้าขนาดใหญ่ชื่อ “อ่างเก็บน้ำห้วยขุนแก้ว” สร้างขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ในการบริโภค การเกษตร ประมงและการท่องเที่ยว มีความสวยงามและมีคุณค่าอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของผู้คนในชุมชน
  • หน้าหมู่บ้านมีศาลเจ้าเก่า ๆ ซึ่งบรรพบุรุษชาวละว้าได้สร้างไว้ ตามความเชื่อโบราณประเพณี เป็นที่เคารพสักการะและเป็นสถานที่ประกอบพิธีทำบุญกลางบ้านของชุมชน
  • วัดแก้วศักดา เป็นที่พึ่งทางจิตใจของชาวละว้า คนในชุมชนไปทำบุญทุกวันธรรมสวนะ 
บ้านละว้า
3
ทองหลาง
ห้วยคต
อุทัยธานี
61170
15.31712195
99.53313679
องค์การบริหารส่วนตำบลทองหลาง

นายเป๊กไป่ วงศ์ดวงคำ เล่าให้ฟังว่า บรรพบุรุษของตนและกลุ่มญาติพี่น้องผองเพื่อนรวมกลุ่มกันได้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานจากจังหวัดลพบุรี (ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าเป็นหมู่บ้าน ตำบลและอำเภออะไรของจังหวัดลพบุรี) มาอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ ซึ่งบริเวณนี้เป็นที่ราบเชิงเขาที่เต็มไปด้วยภูเขาน้อยใหญ่จำนวนมากสลับซับซ้อนเรียงรายเต็มพื้นที่ และอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพรรณธัญญาหารและของป่ามากมายสำหรับการดำรงชีพ ส่วนใหญ่เป็นป่าไม้เบญจพรรณและป่าไม้ผลัดใบ พื้นที่บริเวณนี้มีความเหมาะสมอย่างยิ่งในการ ทำการเกษตรตามแบบวิถีชีวิตของชาวละว้า และคาดว่าชาวละว้ากลุ่มนี้น่าจะย้ายมาอยู่บริเวณนี้นานมากแล้วไม่น้อยกว่า 100 ปี

ชุมชนแห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติห้วยป่าทับเสลาและห้วยป่าคอกควาย โซน 3 มีลักษณะเหมือนชุมชนที่อยู่ในแอ่งกระทะ มีเนินเขาขนาดสูงต่ำสลับซับซ้อนลดหลั่นกันไปเป็นจำนวนมาก เหมาะสำหรับการทำการเกษตร ในอดีตชาวบ้านทำข้าวไร่อย่างเดียว เป็นการปลูกข้าวไร่ไว้กินในครัวเรือน ไม่ได้ปลูกเพื่อการจำหน่าย 

ที่มาของชื่อชุมชน ทางการเรียกชื่อชุมชนนี้ว่า “บ้านละหว้าใหม่คอกควาย” เนื่องจากชาวละว้าเรียกตัวเองว่าละหว้าและบริเวณนี้อยู่ใกล้กับแม่น้ำคอกควาย และอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติห้วยป่าทับเสลาและห้วยป่าคอกควาย

ในอดีตชุมชนแห่งนี้มีผู้คนอาศัยอยู่จำนวนมากกว่า 100 หลังคาเรือน มีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับป่า มีผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์โอบล้อมชุมชน ผู้คนพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข มีปราชญ์ชาวบ้านด้านพิธีกรรมทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ มีเทศกาลประเพณีต่าง ๆ ในชุมชน เช่น พิธีเรียกขวัญ พิธีทำบุญกลางบ้าน พิธีโกนจุก เป็นต้น และมีศาลเจ้าเก่าเป็นสถานที่ประกอบพิธีทำบุญกลางบ้านตั้งอยู่หน้าหมู่บ้านซ้ายมือบริเวณทางเข้าหมู่บ้าน มีทั้งชาวละว้าที่ย้ายเข้ามาอยู่ใหม่ในชุมชน และชาวละว้าที่ย้ายออกไปอยู่ชุมชนอื่นในต่างจังหวัด สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปตามวิถีชีวิตที่แต่ละครอบครัวเลือกเดิน ซึ่งปัจจุบันนี้คงเหลือจำนวน 30 ครัวเรือน

ในชุมชนบ้านละหว้าใหม่คอกควาย มีศาลเจ้าที่หรือศาลพระภูมิหรือศาลเพียงตาอยู่หน้าหมู่บ้าน บริเวณฝั่งซ้ายมือของทางเข้าหมู่บ้านติดถนนใหญ่ เป็นศูนย์รวมความเชื่อ พิธีกรรม และจิตวิญญาณของชาวบ้านละหว้าใหม่คอกควาย ทุก ๆ ปีชาวละว้าจะมารวมตัวกันเพื่อประกอบพิธีทำบุญกลางบ้านบริเวณนี้ เพื่อเลี้ยงผีบ้านผีเรือนผีเจ้าป่าเจ้าเขา เพื่อให้ช่วยปกปักษ์รักษา ปกป้องคุ้มครองชีวิตผู้คนในชุมชนได้อยู่เย็นเป็นสุข ปลอดภัยจากสิ่งเลวร้ายอุบัติเหตุเพศภัย ปราศจากโรคภัยที่จะมากล้ำกลายผู้คนในชุมชน ซึ่งก็ทำให้ทุกคน ในชุมชนอยู่เย็นเป็นสุขตลอดมา ตั้งแต่ย้ายมาอยู่ที่นี่ไม่เคยมีเหตุการณ์ไม่ดีเกิดขึ้นในชุมชน ซึ่งคนในชุมชนเชื่อว่าเป็นเพราะความศักดิ์สิทธิ์แห่งศาลเพียงตาประจำหมู่บ้านแห่งนี้

ชุมชนบ้านละหว้าใหม่คอกควายมีวัดป่าแก้วศักดา(ธรรมยุติ) ที่เป็นแหล่งศรัทธาและเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวละว้ามาอย่างยาวนาน ปัจจุบันมีพระสงฆ์จำวัด 5 รูป มีวิหาร มีอุโบสถ มีศาลาการเปรียญ ซึ่งเป็นศาสนสถานสำคัญที่ชาวละว้านิยมมาทำบุญในวันธรรมสวนะ มีสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่มีความงดงามมาก ตั้งเด่นสง่าอยู่บนไหล่เขาจนถึงยอดเขา ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กับชุมชนบ้านละหว้าใหม่คอกควายชุมชนชาวละว้า ไม่เคยมีโรงเรียนในชุมชนตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เด็ก ๆ ที่มีอายุถึงเกณฑ์เรียนหนังสือ  จะไปเรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนบ้านสมอทอง โรงเรียนบ้านคลองแห้ง และโรงเรียนบ้านตลิ่งสูง ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต และโรงเรียนบ้านคลองชะนี ตำบลป่าอ้อ อำเภอลานสัก ส่วนเด็กมัธยมจะไปเรียนที่โรงเรียนสมอทองปทีปพลีผลอุปถัมภ์ และโรงเรียนห้วยคตพิทยาคม ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต ซึ่งอยู่ห่างจากชุมชนชาวละว้าไม่เกิน 10 กิโลเมตรในอดีตบรรพบุรุษชาวละว้า ได้อนุรักษ์สืบสานประเพณีวัฒนธรรมตามแบบวิถีชีวิตชาวละว้าภาคกลางเอาไว้ได้เป็นอย่างดี แต่ปัจจุบันประเพณีวัฒนธรรมของชาวละว้าที่นี่ถูกกลืนกินหายไปเป็นจำนวนมาก แทบจะไม่หลงเหลือไว้ให้ลูกหลานได้ศึกษาเรียนรู้ เนื่องจากชุมชนชาวละว้าแห่งนี้ตั้งอยู่ปะปนกับชุมชนคนไทยพื้นเมืองที่มาตั้งถิ่นฐานทำมาหากินอยู่รอบ ๆ ชุมชนชาวละว้า จึงทำให้วิถีชีวิตชาวละว้าเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก การคมนาคมสัญจร ในอดีตชุมชนชาวละว้ายังไม่มีถนนหนทาง ดังนั้น ผู้คนในชุมชนจึงต้องเดินเท้าไปตามทางเท้า ข้ามภูเขา ป่าไม้ ลำธาร เพื่อที่จะไปทำธุรกรรมที่อำเภอ ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทาง 1 วัน พักระหว่างทาง 1 คืน และเดินทางกลับอีก 1 วัน จึงจะกลับถึงบ้าน หากจะต้องเดินทางไปที่ตัวจังหวัด จะต้องเดินทางถึง 2 วัน พักระหว่างทาง 3 คืน และเดินทางกลับอีก 2 วัน จึงจะกลับถึงบ้าน ปัจจุบันนี้ ไม่มีรถโดยสารประจำทางแล้ว หากคนในชุมชนที่จะเดินทางไปทำธุรกรรมในตัวอำเภอหรือจังหวัด ต้องเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล หรือรถจักรยานยนต์เป็นส่วนบุคคลเป็นหลัก หรืออาศัยเพื่อนบ้านไป เป็นต้น และปัจจุบันถนนสายหลักที่ผ่านหมู่บ้านเป็นถนนลาดยาง ส่วนถนนภายในหมู่บ้านมีทั้งถนนคอนกรีตและถนนลูกรัง 

การคมนาคม

ระยะทางจากอำเภอถึงชุมชนบ้านละหว้าใหม่คอกควาย 15  กิโลเมตร

ระยะทางจากจังหวัดถึงชุมชน  65  กิโลเมตร

ระยะทางจากกรุงเทพถึงชุมชน 248 กิโลเมตร

เดินทางได้ทางบกทางเดียว คือ การคมนาคมสัญจรโดยรถยนต์และรถจักรยานยนต์

อาณาเขตติดต่อ

ทิศเหนือ       ติดต่อกับ  บ้านคลองชะนี หมู่  3  ตำบลป่าอ้อ อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี

ทิศใต้        ติดต่อกับ  บ้านภูเหม็น หมู่  8 ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี

ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านสมอทอง หมู่  2 ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี

ทิศตะวันตก   ติดต่อกับ  บ้านคลองแห้ง หมู่ 1 ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี

สภาพพื้นที่ทางกายภาพ /ขนาดพื้นที่ชุมชน/พื้นที่สาธารณะ/การสาธารณูปโภคชุมชน

พื้นที่ชุมชนบ้านละหว้าใหม่คอกควาย เป็นพื้นที่ราบเชิงเขา มีหุบเขาและภูเขาขนาดใหญ่ และเนินเขาจำนวนมาก เรียงรายสลับซับซ้อนอยู่รอบ ๆ ชุมชน อยู่เต็มบริเวณพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกิน พื้นที่ส่วนใหญ่ร้อยละ 60 เป็นพื้นที่ทำการเกษตร พื้นที่ร้อยละ 20 เป็นที่อยู่อาศัยเป็นที่ตั้งชุมชน และพื้นที่ร้อยละ 20 เป็นพื้นที่ป่าไม้ ภูเขา แม่น้ำคอกควาย และพื้นที่ป่าชุมชน 

เดิมทีชุมชนแห่งนี้ขึ้นกับตำบลคอกควาย อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ภายหลังมีการแยกกิ่งอำเภอห้วยคตออกจากอำเภอบ้านไร่ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2527 ทำให้ชุมชนบ้านละหว้าใหม่คอกควายย้ายมาสังกัดหมู่ 3 ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ชุมชนชาวละว้าบ้านละหว้าใหม่คอกควาย มีแม่น้ำสายสำคัญไหลผ่านชุมชน ชื่อว่า “แม่น้ำคอกควาย” และ “ลำห้วยขุนแก้ว” ที่มีต้นกำเนิดมากจากเทือกเขาบริเวณเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ในพื้นที่มรดกโลกห้วยขอแข้ง มีน้ำไหลผ่านตลอดทั้งปี ชาวบ้านมีน้ำอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรตลอดทั้งปี ต่อมาเมื่อชาวบ้านย้ายเข้ามาอยู่อาศัยและทำการเกษตรจำนวนมาก กอปรกับทางการมีแผนที่จะสร้างอ่างเก็บน้ำ “ห้วยขุนแก้ว” และได้เริ่มดำเนินการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยขุนแก้ว ในปี 2539 แต่บังเอิญพื้นที่ที่ใช้ในการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยขุนแก้วเป็นพื้นที่ตั้งของชุมชน ดังนั้น ทางการจึงให้ชาวบ้านย้ายชุมชนไปอยู่ฝั่งตรงข้ามคนละฟากถนนกับที่ตั้งชุมชนเดิม และได้ตั้งชุมชนมาจนถึงปัจจุบัน

บรรพบุรุษยุคแรกที่ย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในชุมชนบ้านละหว้าใหม่คอกควายแห่งนี้ เห็นว่าผืนดินบริเวณนี้    มีความอุดมสมบูรณ์ มีเนินเขาและเชิงเขาที่ไม่สูงชันมากนัก เหมาะแก่การเพาะปลูกข้าวไร่และการทำการเกษตรตามแบบวิถีกลุ่มชาติพันธุ์ชาวละว้า รวมถึงมีป่าไม้นานาพรรณ มีแม่น้ำคอกควายเป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค เรียกได้ว่าสภาพแวดล้อมมีความพร้อมในทุก ๆ ด้าน จึงตัดสินใจตั้งถิ่นฐานสร้างชุมชนอยู่ในบริเวณนี้จวบจนปัจจุบัน 

พื้นที่กิจกรรมทางสังคม มีศาลเจ้าที่ตั้งเด่นสง่าอยู่หน้าชุมชน ปัจจุบันศาลเจ้าที่ยังคงอยู่แต่มีสภาพที่ทรุดโทรมมาก และยังมีการสืบทอดพิธีกรรมตามความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ละว้ามาจนถึงปัจจุบัน คือพิธีกรรมทำบุญกลางบ้าน ส่วนพิธีกรรมตามความเชื่ออื่น ๆ มีการเปลี่ยนแปลงไปตามสมัยนิยมและตามสังคมรอบข้าง เพราะชุมชนคนไทยพื้นเมืองที่อยู่รอบ ๆ ชุมชน เข้ามามีอิทธิพลกับชุมชนละว้า 

สถานที่สำคัญทางสังคมและวัฒนธรรม ส่วนใหญ่ชาวละว้าจะมีการนัดพบพูดคุยหารือเรื่องสำคัญ     ในบ้านของผู้อาวุโสของชุมชน หรือบ้านผู้นำชุมชน นอกจากนี้ ยังมีการจับกลุ่มหารือกันอย่างไม่เป็นทางการตามบ้านต่าง ๆ  แต่หากเป็นการประชุมหารืออย่างเป็นทางการแล้ว จะไปประชุมกันที่ศาลาประชาคมหมู่บ้าน หรือที่องค์การบริหารส่วนตำบล หรือที่ว่าการอำเภอห้วยคต 

ที่อยู่อาศัยของชุมชน รวมทั้งพื้นที่ทำการเกษตรของคนในชุมชน ล้วนอยู่ในพื้นที่ของป่าสงวนแห่งชาติห้วยป่าทับเสลาและห้วยป่าคอกควาย โซนซี ซึ่งได้มีการประกาศเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2528 ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2528 ซึ่งเป็นการประกาศพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติหลังจากที่ชาวบ้านได้อยู่อาศัยและทำมาหากินมาเป็นระยะเวลากว่า 100 ปี และภายหลังการประกาศพื้นที่    ป่าสงวนแห่งชาติ เจ้าหน้าที่รัฐจัดสรรที่ดินทำกินให้ครอบครัวละ 25 – 30 ไร่ เพื่อทำมาหากินอยู่กับที่       ไม่อนุญาตให้ทำไร่เลื่อนลอย จึงทำให้พื้นที่ทำการเกษตรลดลง และเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเพิ่มขึ้น 

 

  • ประชากรมีจำนวน  30 ครัวเรือน ประชากรทั้งหมด 84  คน ประชากรชาย 43 คน ประชากรหญิง 41  คน
  • ประชากรทั้งหมดเป็นเชื้อสายกลุ่มชาติพันธุ์ละว้า  84 คน  คิดเป็นร้อยละ 100
  • ระบบเครือญาติ ประชากรในชุมชนทั้งหมดเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ละว้า อาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวขยายที่มีผู้คนหลากหลายช่วงวัยอาศัยอยู่ร่วมกัน มีเพียงบางส่วนที่อยู่อาศัยเป็นครอบครัวเดี่ยว จากรากฐานความสัมพันธ์เชิงเครือญาติ ทำให้คนในสังคมมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกัน 
ละว้า (ว้า)

7.1 กลุ่มที่เป็นทางการ

7.1.1 กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อการผลิต 

ในอดีตชุมชนบ้านละว้าเคยมีการรวมตัวกันเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการออมทรัพย์ และใช้ในการระดมทุนไว้ให้คนในชุมชนได้กู้ยืมไปประกอบอาชีพทางการเกษตรในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ต่อมารัฐบาลได้จัดให้มีกองทุนหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1 ล้านบาท กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อการผลิตกลุ่มบ้านละหว้าใหม่คอกควายจึงค่อย ๆ เริ่มถอนตัวออกจากสมาชิก ไปเป็นสมาชิกกองทุนหมู่บ้านแทน 

7.1.2 กลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์

ประชาชนในชุมชนมีการรวมตัวกันในนามกลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์ทั้งชุมชน โดยมี วัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพของครอบครัวสมาชิก

7.1.3 กลุ่มสินเชื่อ ธ.ก.ส.

ชาวบ้านมีการรวมตัวเป็นกลุ่มย่อย ๆ กลุ่มละ 4 – 5 คน เพื่อยื่นขอสินเชื่อกับ ธ.ก.ส. เพื่อการเกษตร ปัจจุบันนี้ยังคงเหลืออยู่หลายกลุ่ม และมีการรวมตัวกันอย่างหนาแน่น

7.2 กลุ่มที่ไม่เป็นทางการ  

7.2.1 กลุ่มประเพณีวัฒนธรรมและพิธีกรรม

เมื่อมีประเพณีวัฒนธรรมและการทำพิธีกรรมตามความเชื่อในชุมชนบ้านละหว้าใหม่    คอกควาย จะมีการรวมกลุ่มของคนในชุมชนจำนวนมาก และจะมีผู้นำด้านพิธีกรรมพาผู้คนในชุมชนร่วมกิจกรรมโดยพร้อมเพรียงกัน 

7.2.2 กลุ่มพลังศรัทธา

มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งที่มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา รวมตัวกันไปทำบุญที่วัดแก้วศักดาซึ่งเป็นวัดใกล้บ้านเป็นประจำทุกวันธรรมสวนะ 

7.2.3 กลุ่มทำการเกษตร

ผู้คนในชุมชนมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มย่อย ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเครือญาติ 4 – 5 หลังคาเรือน ที่เป็นกลุ่มบ้านใกล้เรือนเคียงกัน จะมีการรวมตัวช่วยเหลือกันทางการเกษตร 

8.1 วิถีชีวิตทางสังคมและวัฒนธรรม

8.1.1 ประเพณีวันสงกรานต์

เมื่อถึงวันสงกรานต์ ผู้คนในชุมชนจะมีการรวมตัวกัน ณ บ้านของปราชญ์ชาวบ้านหรือบ้านผู้อาวุโสหรือบ้านของผู้นำชุมชน จะเชิญชวนผู้อาวุโสทั้งหญิงและชายในชุมชนเข้าร่วมพิธีรดน้ำขอพร โดยปราชญ์ชาวบ้านอาวุโสจะให้พรลูกหลาน หลังจากนั้นผู้นำชุมชนและลูกบ้านจะร่วมกันรดน้ำขอพรจากผู้อาวุโสจนครบทุกคน ซึ่งพิธีกรรมดังกล่าวได้รับอิทธิพลจากคนไทยพื้นเมืองที่ตั้งถิ่นฐานอยู่รอบชุมชน 

ความสัมพันธ์และอิทธิพลที่มีต่อวิถีชีวิต ประเพณีสงกรานต์นั้น เดิมทีเป็นของคนไทยพื้นเมือง แต่ปัจจุบันได้แผ่อิทธิพลเข้ามาสู่กลุ่มชาติพันธุ์ละว้าบ้านใหม่คอกควาย ซึ่งเห็นว่าเป็นประเพณีที่ดีงามและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ละว้าที่ให้ความเคารพต่อผู้อาวุโสในชุมชน 

8.1.2 ประเพณีทำบุญกลางบ้าน 

ขั้นตอนในการประกอบพิธีทำบุญกลางบ้าน เริ่มจากชาวบ้านเตรียมทำกระทงกระบานเพื่อทำพิธีเสียกระบาน โดยชาวบ้านจะเอากาบกล้วยมาทำเป็นกระทงกระบาน โดยมีความเชื่อมาแต่โบราณว่า หากงานบุญกลางบ้านกำหนดทำในวันข้างขึ้นให้ทำเป็น "กระบานสี่" (สี่เหลี่ยม) แต่หากเป็นวันข้างแรมให้ทำเป็น "กระบานสาม" (สามเหลี่ยม) ปักธงกบิล ๔ ทิศ โดยใส่ข้าวพล่า ปลายำ หมากพลู พริกแห้ง เกลือ หัว หอม ข้าวสาร ปักธูปลงในกระทงกระบาน ใส่สตางค์และใช้ดินเหนียวปั้นเป็นรูปคนเท่าจำนวนคนในบ้านรวมไปถึงวัวกระบือ ไก่หรือสัตว์เลี้ยงอื่น ใส่เสื้อผ้าให้รูปคน ใส่ลงไปในกระทงกระบานด้วย เรียกว่า ตุ๊กตาเสียกระบาน (หมายถึง เสียตุ๊กตาไปกับกระทงกระบาน เพราะคติของชาวบ้านไม่ได้ทุบหัวตุ๊กตาแต่อย่างใด) โดยปั้นจากดินให้เป็นตุ๊กตาตัวเล็ก ๆ เลียนแบบท่าทางของคน มีทั้งดินเหนียวและดินเผา เพื่อให้มารับเคราะห์แทนตัว เป็นการสะเดาะเคราะห์

ในวันจัดงานทำบุญกลางบ้าน ชาวบ้านจะถือกระทงกระบานนำไปวางไว้บริเวณปรำพิธีซึ่งตั้งอยู่บริเวณพระพุทธรูป โดยจะมีการก่อเจดีย์ทรายปักธงบนยอดเจดีย์ (กลางบ้าน) และประดับด้วยใบมะพร้าว ธงกบิลฯลฯ พร้อมกับทำกำแพงล้อมทั้ง 4 ทิศ พร้อมกับนิมนต์พระสงฆ์จากวัดแก้วศักดามาเจริญพระพุทธมนต์พระปริตรในเวลาเย็น ในระหว่างพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ เมื่อพระสวดจบบทหนึ่งก็จะมีการตีฆ้อง 3 ครั้ง ครั้นพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์จบในช่วงค่ำ พระสงฆ์จะสวดบท สุมงฺคลคาถา (สุนกฺขตฺตํ สุมงฺคลํ) และชาวบ้าน ก็จะจุดธูปเทียนในกระทงกระบานและเดินไปวางกระทงกระบานไว้บนบกที่ ริมฝั่งแม่น้ำพร้อมกัน โดยก่อนวางจะกล่าวคำขอขมาลาโทษ บอกเล่าเจ้าที่เจ้าทาง ผีสางเทวดา ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ให้มารับเครื่องเซ่น เพื่อเป็นการปล่อยเคราะห์ปล่อยโศกให้หมดไป จากนั้นจึงมีการละเล่นต่าง ๆ ในเวลากลางคืน ในวันที่สองจะนิมนต์พระสงฆ์มาฉันภัตตาหารเช้า ถวายจตุปัจจัย จึงเป็นอันเสร็จพิธี

การทำกระทงกระบานใส่ดินปั้นผู้อาศัยในครัวเรือนของตน ๆ ไปวางไว้ตามทางสามแพร่งเพื่อสะเดาะห์เคราะห์ ซึ่งเป็นอุบายของคนโบราณในการสำรวจประชากรและสัตว์เลี้ยงในหมู่บ้านคุ้งตะเภาได้อย่างดียิ่ง

8.1.3 ประเพณีลอยกระทง

ประเพณีลอยกระทงของชาวละว้า ได้รับอิทธิพลมาจากประเพณีลอยกระทงของคนไทยพื้นเมือง ซึ่งเป็นความสอดคล้องกับความเชื่อของชาวละว้าที่ต้องการให้มีการขอขมาพระแม่คงคา เพื่อทำให้คนในชุมชนได้มีน้ำกินน้ำใช้ มีน้ำในการทำการเกษตรตลอดปี และถือเอาวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งตรงกับวันลอยกระทงของคนไทย เป็นวันลอยกระทงของชาวละว้าด้วย ซึ่งลักษณะกระทงของชาวละว้าจะมีความคล้ายคลึงกับกระทงของคนไทย นำไปลอยกระทงในอ่างเก็บน้ำห้วยขุนแก้ว เพื่อขอขมาพระแม่คงคา

8.2 วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ 

8.2.1 การเตรียมดินเพาะปลูก

ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคมจะต้องมีการเตรียมดิน เช่น ถากถางวัชพืชหลังเก็บเกี่ยว เผาซากวัชพืช ไถบุก ไถแปรพลิกหน้าดินขึ้นมาตากแดดเพื่อฆ่าเชื้อโรคที่สะสมใต้ดิน และฆ่าไข่ของตัวหนอนและเพลี้ยชนิดต่าง ๆ เพื่อให้ดินมีความพร้อมสำหรับการเพาะปลูกรอบใหม่ 

8.2.2 การเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร

ช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคมเกษตรกรจะทำการเพาะปลูก หลังจากนั้นเกษตรกรจะดูแลพืชผลทางการเกษตรต่อไปอีกราว ๆ 4 – 6 เดือน จึงจะได้เวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรในแต่ละชนิด ดังนั้น ในช่วงของการดูแลพืชผลทางการเกษตร จึงถือได้ว่าเป็นช่วงที่สำคัญมาก 

8.2.3 การเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตร

เมื่อพืชผลทางการเกษตรได้เวลาที่จะต้องเก็บเกี่ยว ชาวบ้านจะเก็บเกี่ยวข้าวไร่ทั้งหมดที่ยังอยู่ในไร่มาเก็บไว้ในยุ้งฉาง เพื่อเอาไว้ทานภายในครัวเรือน จนกว่าจะมีผลผลิตรอบใหม่เข้ามาสู่ยุ้งฉางเพิ่มเติมในปีต่อไป 

9.1 ชื่อ นายเป๊กไป่  นามสกุล วงศ์ดวงคำ อายุ  74 ปี  เกิด พ.ศ. 2492

ที่อยู่บ้านเลขที่ 80 ชุมชนละหว้าใหม่คอกควาย หมู่ 3 บ้านละว้า ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี

บทบาทและความสำคัญในชุมชน ความชำนาญ/ทักษะที่มี

นายเป๊กไป่ วงศ์ดวงคำ เป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านสมุนไพรพื้นบ้าน สามารถรักษาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นสำหรับโรคภัยที่มีกระบวนการรักษาที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน และโรคภัยที่ไม่มีอาการรุนแรงมากนัก เป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านการจักสาน ได้จักสานเครื่องมือเครื่องใช้ภายในบ้าน และได้สอนให้เพื่อนบ้านรวมถึงเยาวชนจักสานเครื่องมือเครื่องใช้ในครัวเรือนอยู่เป็นประจำ นอกจากนี้ ท่านยังเป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านเพลงพื้นบ้านอีกด้วย 

ชีวประวัติ

นายเป๊กไป่ วงศ์ดวงคำ ไม่ทราบวันเกิดและเดือนเกิดที่แน่ชัด แต่ตามบัตรประชาชนเกิดในปี พ.ศ. 2492 เกิดที่บ้านละหว้าใหม่คอกควายแห่งนี้ และอยู่ที่นี่มาจนถึงปัจจุบัน ปัจจุบันมีอายุ 74 ปี ในวัยเด็กไม่ได้เรียนหนังสือ ได้แต่งงานครองเรือนในวัย 20 ปี โดยสมรสกับนางดา วงศ์ดวงคำ และมีบุตรธิดาด้วยกัน 5 คน      อยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวขยาย ที่มีพ่อแม่บุตรและหลานที่ยังไม่แต่งงานอยู่ร่วมกัน ส่วนบุตรที่แต่งงานแล้ว     ได้ย้ายไปใช้ชีวิตในท้องถิ่นอื่นหลังจากแต่งงาน บุตรบางคนย้ายไปทำงานในเมืองหลวง 

9.2 ชื่อ นางเกรียน นามสกุล วงศ์ดวงคำ อายุ  77 ปี  เกิด พ.ศ. 2490

ที่อยู่บ้านเลขที่ 51 ชุมชนละหว้าใหม่คอกควาย หมู่ 3 บ้านละว้า ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี

บทบาทและความสำคัญในชุมชน ความชำนาญ/ทักษะที่มี

นางเกรียน วงศ์ดวงคำ เป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านการทอผ้าและการแต่งกายพื้นบ้านของชาวละว้า และเป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านการจักสาน ได้จักสานเครื่องมือเครื่องใช้ภายในบ้าน และได้สอนให้เพื่อนบ้านรวมถึงเยาวชนจักสานเครื่องมือเครื่องใช้ในครัวเรือนอยู่เป็นประจำ และเป็นปราชญ์ด้านงานบ้านงานเรือนของชาวละว้า

ชีวประวัติ

นางเกรียน วงศ์ดวงคำ ไม่ทราบวันเกิดและเดือนเกิดที่แน่ชัด แต่ตามบัตรประชาชนเกิดในปี พ.ศ. 2490 เป็นพี่สาวของนายเป๊กไป่ วงศ์ดวงคำ เกิดที่บ้านละหว้าใหม่คอกควายแห่งนี้ และอยู่ที่นี่มาจนถึงปัจจุบัน ปัจจุบันมีอายุ 77 ปี ในวัยเด็กไม่ได้เรียนหนังสือ ได้แต่งงานครองเรือนในวัย 18 ปี เป็นครอบครัวขยายที่มี  พ่อแม่บุตรและหลานที่ยังไม่แต่งงานอยู่ร่วมกัน ส่วนบุตรที่แต่งงานแล้วได้ย้ายไปใช้ชีวิตในท้องถิ่นอื่น

9.3 ชื่อ นางแร่ นามสกุล พรรณเริง อายุ  62 ปี  เกิด พ.ศ. 2504

ที่อยู่บ้านเลขที่ 30 ชุมชนละหว้าใหม่คอกควาย หมู่ 3 บ้านละว้า ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี

บทบาทและความสำคัญในชุมชน ความชำนาญ/ทักษะที่มี

นางแร่ พรรณเริง เป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านพิธีกรรมและความเชื่อ เป็นผู้ประกอบพิธีทำบุญกลางบ้านของชุมชน และเป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านการจักสาน ได้จักสานเครื่องมือเครื่องใช้ภายในบ้าน และได้สอนให้เพื่อนบ้านรวมถึงเยาวชนจักสานเครื่องมือเครื่องใช้ในครัวเรือนอยู่เป็นประจำ 

ชีวประวัติ

นางแร่ พรรณเริง ไม่ทราบวันเกิดและเดือนเกิดที่แน่ชัด แต่ตามบัตรประชาชนเกิดในปี พ.ศ. 2504 เป็นน้องสาวของนายเป๊กไป่ วงศ์ดวงคำ เกิดที่บ้านละหว้าใหม่คอกควายแห่งนี้ และอยู่ที่นี่มาจนถึงปัจจุบัน ปัจจุบันมีอายุ 62 ปี ในวัยเด็กได้เรียนหนังสือบ้างเล็กน้อย จบการศึกษาผู้ใหญ่ชั้น ป.4 ได้แต่งงานครองเรือนในวัย 20 ปี เป็นครอบครัวขยายที่มีพ่อแม่และบุตรหลานที่ยังไม่แต่งงานอยู่ร่วมกัน ส่วนบุตรที่แต่งงานแล้วได้ย้ายไปใช้ชีวิตในท้องถิ่นอื่น 

1. ทุนทางกายภาพ 

1.1 อ่างเก็บน้ำห้วยขุนแก้ว ประวัติความเป็นมา ในอดีตบริเวณนี้เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ภูเขา ป่าไม้ ต้นน้ำ ลำธาร มีแม่น้ำสายสำคัญเช่น แม่น้ำคอกควาย และลำห้วยขุนแก้ว ที่ไหลลงมารวมตัวกันที่อ่างห้วยขุนแก้ว

ช่วงเวลาที่สำคัญ ทางการเห็นว่าพื้นที่บริเวณนี้เหมาะแก่การทำอ่างเก็บน้ำไว้ให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ในการอุปโภคบริโภค เป็นแหล่งน้ำสำหรับทำการเกษตร การทำประมงและเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ รวมถึงจะเป็นแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง เป็นแหล่งกักเก็บน้ำในฤดูฝนเพื่อลดความแรงของกระแสน้ำ และป้องกันอุทกภัยในฤดูฝน โดยดำเนินการสร้างอ่างเก็บน้ำในปี พ.ศ. 2539

คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน “อ่างเก็บน้ำห้วยขุนแก้ว” เป็นเสมือนสายเลือดที่หล่อเลี้ยงผู้คนในชุมชนมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดอุทัยธานีอีกด้วย ทำให้ผู้คนในชุมชนมีความผูกพันกับอ่างเก็บน้ำห้วยขุนแก้วนมาอย่างยาวนาน 

สถานการณ์ปัจจุบัน “อ่างเก็บน้ำห้วยขุนแก้ว” เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ใช้ในการรองรับปริมาณน้ำฝนในฤดูฝน ช่วยป้องกันน้ำท่วมเรือกสวนไร่นาของชาวบ้าน และเป็นแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ดังนั้น ตั้งแต่มีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยขุนแก้ว หมู่บ้านแห่งนี้ไม่เคยประสบปัญหาน้ำท่วม และไม่เคยประสบภัยแล้ง 

การสืบทอดและความยั่งยืนในการใช้งาน “อ่างเก็บน้ำห้วยขุนแก้ว” ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำ   ห้วยขุนแก้วก็มีปริมาณน้ำลดลงไปมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าผืนป่าต้นน้ำค่อย ๆ ลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ ในฤดูแล้งจึงมีน้ำในอ่างไม่มากนัก ในฤดูฝนน้ำก็ไหลเชี่ยวมากจนบางปีดูเหมือนว่าอ่างเก็บน้ำจะไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำฝนทั้งหมดไว้ได้ แต่ท้ายที่สุดแล้ว ชุมชนแห่งนี้ยังมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำไว้ได้อย่างยั่งยืน 

1.2 ป่าสงวนแห่งชาติ  ประวัติความเป็นมา เมื่อปี พ.ศ. 2528 กรมป่าไม้ได้ประกาศเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติห้วยป่าทับเสลาและห้วยป่าคอกควาย ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งทับซ้อนพื้นที่ที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินของกลุ่มชาติพันธุ์ละว้า ซึ่งที่ดินของบรรพบุรุษ  ที่ได้สั่งสมไว้เป็น 100 ไร่ต่อครัวเรือน รัฐจัดสรรให้ชาวบ้านได้มีที่ทำกินในพื้นที่ของบรรพบุรุษ ครัวเรือนละ 25 – 30 ไร่ และห้ามไม่ให้ทำไร่เลื่อนลอยตามวิถีกลุ่มชาติพันธุ์ละว้าอีกต่อไป 

ช่วงเวลาที่สำคัญ เมื่อปี พ.ศ. 2528 หลังการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติห้วยป่าทับเสลาและห้วยป่าคอกควาย ซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมโยงกับเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง แหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ   และเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างปัญหาความขัดแย้งระหว่างกฎหมายรัฐกับกลุ่มชาติพันธุ์ละว้ามาจนถึงปัจจุบัน 

คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน ชาวละว้ารู้ว่าคุณค่าของป่าไม้ ดังจะเห็นได้ว่ารอบ ๆ หมู่บ้านละว้าแห่งนี้เต็มไปด้วยป่าชุมชนหรือป่าตามภูเขาที่อยู่รายรอบหมู่บ้าน เป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติได้ดี

สถานการณ์ปัจจุบัน แม้ปัจจุบันนี้ป่าชุมชนหรือป่าไม้ตามไหล่เขาและบนภูเขารอบ ๆ ชุมชน   จะลดลงไปมากหากเทียบกับในอดีต แต่ก็ยังคงเหลือพื้นที่ป่าชุมชนอยู่ร้อยละ 10 – 15 ของพื้นที่เพียงพอที่จะช่วยสร้างความชุ่มชื้นให้แก่ชุมชนชาวละว้า 

2. ทุนมนุษย์ 

นายเป๊กไป่ วงศ์ดวงคำ ผู้อาวุโสในชุมชนที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ เล่าให้ฟังว่า ชาวละว้าเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสำคัญยิ่ง ในชุมชนนี้มีทั้งปราชญ์ชาวบ้านด้านหมอสมุนไพรพื้นบ้าน ปราชญ์ชาวบ้านด้านผ้าทอพื้นบ้าน ปราชญ์ชาวบ้านด้านเครื่องจักสานพื้นถิ่น ปราชญ์ชาวบ้านด้านการเกษตร ปราชญ์ชาวบ้านด้านความเชื่อและพิธีกรรมที่เป็นเสมือนผู้นำแห่งจิตวิญญาณของชุมชน นอกจากนี้ ยังมีปราชญ์ชาวบ้านด้านการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านอีกด้วย 

ช่วงเวลาที่สำคัญ คือ กาลเวลาที่ผ่านไป กว่า 2 ศตวรรษ วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ละว้า โดยเฉพาะทรัพยากรมนุษย์ เป็นทรัพยากรหลักในการสืบสานและสืบทอดเรื่องราวของชาวละว้า ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ หากแต่ชุมชนชาวละว้าแห่งนี้ ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมจากภายนอกโหมกระหน่ำอย่างหนักหน่วง และการที่ชุมชนแห่งนี้อยู่ท่ามกลางชุมชนที่เป็นคนไทยพื้นเมืองดั้งเดิม ส่งผลให้วัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวละว้านั้นสูญหายไปแทบหมดสิ้น 

คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน ถึงแม้ว่าวัฒนธรรมชุมชนชาวละว้าจะสูญหายไปแทบหมด และถูกทดแทนด้วยวัฒนธรรมของคนไทยพื้นเมือง แต่ชาวละว้าทุกคนก็ภาคภูมิใจในความเป็นลูกหลาน    บรรพบุรุษกลุ่มชาติพันธุ์ละว้า และยอมรับอย่างเต็มใจว่าตนเองนั้นเป็นลูกหลานชาวละว้าและไม่เคยลืมในชาติกำเนิดของตน

สถานการณ์ปัจจุบัน ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมแบบก้าวกระโดด ส่งผลให้ชาวละว้าในชุมชนนี้ แทบไม่เหลือวัฒนธรรมละว้าให้จดจำ อาทิ ภาษาพูดและภาษาเขียนที่สูญหายไปโดยสิ้นเชิง อัตลักษณ์ด้านเสื้อผ้าและการแต่งกายที่ไม่มีใครหลงเหลือไว้ให้ลูกหลานดูต่างหน้า วัฒนธรรมประเพณี ที่เหลืออยู่ที่สามารถจับต้องได้ คือ ประเพณีทำบุญกลางบ้านเพียงอย่างเดียวที่พูดได้อย่างเต็มปากว่าเป็นวัฒนธรรมของชาวละว้า

การสืบทอดและความยั่งยืนของวัฒนธรรมละว้า อาจจะพูดได้อย่างเต็มปากว่า แทบจะไม่มีการสืบทอดวัฒนธรรมชาวละว้าอีกเลย ยังเหลือวัฒนธรรมประเพณีการทำบุญกลางบ้านเพียงอย่างเดียว แต่ก็ไม่มีการถ่ายทอดสู่เยาวชน หากแม้นผู้อาวุโสที่ได้สืบสานประเพณีทำบุญกลางบ้านคนปัจจุบันไม่อยู่แล้ว คาดว่าจะไม่เหลือวัฒนธรรมชาวละว้าอีกเลย 

3. ทุนทางวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น 

ขนบธรรมเนียมประเพณีชาวละว้า  บรรพบุรุษของชุมชนชาวละว้าบ้านละหว้าใหม่คอกควายแห่งนี้ โยกย้ายถิ่นฐานมาจากจังหวัดลพบุรีมาอยู่อาศัยบริเวณนี้กว่า 2 ศตวรรษแล้ว เดิมทีบรรพบุรุษได้นำวัฒนธรรมชาวละว้าติดตัวมามากมาย และได้มีการอนุรักษ์ สืบสาน สืบทอดกันมาในระยะหนึ่ง ต่อมาได้รับอิทธิพลความเจริญทางวัตถุจากโลกภายนอก และการไม่มีผู้สืบทอดประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของชาวละว้า ทำให้ประเพณีวัฒนธรรมค่อย ๆ ถูกกลืนกินหายไปทีละน้อย จนใกล้จะสูญสิ้น

ช่วงเวลาที่สำคัญ คือ ช่วงเวลาแห่งความเจริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมของชาวละว้า ได้แก่      1 ศตวรรษแรกที่ชาวละว้าย้ายมาอยู่ในบริเวณนี้ ชุมชนนี้เป็นชุมชนใหญ่มีผู้คนอาศัยอยู่กว่า 100 ครัวเรือน   มีการรักษาวัฒนธรรมประเพณีเอาไว้ได้อย่างสมบูรณ์เข้มแข็งและยั่งยืน 

คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน เมื่อพูดถึงขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงามของชาวละว้า ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น ผู้คนในยุคปัจจุบันไม่มีใครจำได้ว่า ในยุคหนึ่งวัฒนธรรมชาวละว้าเคยมีความเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดในพื้นที่นี้ แต่ปัจจุบันนี้คงเป็นเพียงตำนานที่จะมีการเล่าขานสู่รุ่นลูกรุ่นหลานฟังเท่านั้น 

สถานการณ์ปัจจุบัน น่าเสียดายที่ปัจจุบันนี้มีเพียงประเพณีทำบุญกลางบ้านเท่านั้น ที่คนในชุมชนชาวละว้ารักษาเอาไว้ได้ 

การสืบทอดและความยั่งยืน ต้องยอมรับกันตรง ๆ ว่าชาวละว้าบ้านละหว้าใหม่คอกควายไม่ค่อยได้สืบทอดวัฒนธรรมละว้าจากบรรพบุรุษ และที่มีอยู่ก็ไม่ได้ถ่ายทอดสู่เยาวชน ส่งผลให้ไม่เกิดความยั่งยืน และวัฒนธรรมที่ดีงามจวนสูญหายไปหมดสิ้นในอนาคตอันใกล้นี้

4. ทุนทางเศรษฐกิจ 

พืชเศรษฐกิจ ประวัติความเป็นมา คือ ในอดีตบรรพบุรุษชาวละว้านิยมปลูกข้าวไร่เป็นหลัก เป็นการปลูกข้าวไร่ไว้บริโภคในครัวเรือน ไม่ได้ปลูกเพื่อการจำหน่าย 

ช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลง คือ จากยุคที่มีการปลูกพืชเพื่อดำรงชีพ สู่การปลูกพืชเชิงเดี่ยวหรือพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ยุคที่ที่ดินทำกินของชุมชนถูกประกาศเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติห้วยป่าทับเสลาและห้วยป่าคอกควาย ชาวบ้านได้รับการจัดสรรที่ดินจำนวนจำกัดมาก ประกอบกับความเจริญทางวัตถุเริ่มแพร่หลายเข้ามาสู่ชุมชน ทำให้ชาวบ้านจำเป็นต้องใช้เงินเป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีวิต  ดังนั้น ชาวบ้านจึงเปลี่ยนมาเป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวหรือพืชเศรษฐกิจเพื่อการจำหน่าย โดยมีเป้าหมายเพื่อการสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว

คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน ไม่ว่าจะเป็นอดีตที่ผู้คนปลูกพืชเพื่อการดำรงชีพ กับปัจจุบันที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อการจำหน่ายและนำเงินมาดำรงชีพ ซึ่งทั้งสองแนวทางล้วนมีคุณค่า

สถานการณ์ปัจจุบัน ชาวบ้านนิยมปลูกพืชเศรษฐกิจจำพวก ข้าวโพด มันสำปะหลัง ปาล์ม อ้อย เป็นต้น ซึ่งเป็นพืชล้มลุกที่โตเร็ว ทนแล้ง และสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้เป็นอย่างดี

การสืบทอดและความยั่งยืน การปลูกพืชเชิงเดี่ยวหรือพืชเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะเติบโตอย่างรวดเร็ว และจะคงดำรงอยู่เช่นนี้ต่อไปอนาคตอีกหลายทศวรรษข้างหน้า

5. ทุนทางสังคม/การเมือง 

การมีส่วนร่วมทางการเมือง ประวัติความเป็นมา คือ จากอดีตถึงปัจจุบันชาวละว้ากลุ่มบ้านละหว้าใหม่คอกควายให้ความสำคัญกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมาก ให้ความเคารพนับถือผู้นำชุมชนที่ได้รับการแต่งจากภาครัฐ และปฏิบัติตามธรรมนูญของชุมชนอย่างเข้มแข็ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตย

ช่วงเวลาที่สำคัญ ในระยะหลังที่ภาครัฐกำหนดให้ประชาชนได้ใช้สิทธิ์ในการลงคะแนนเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้านก็ให้ความร่วมมืออย่างดียิ่ง ไม่เคยมีปัญหาความขัดแย้งในการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน แสดงให้เห็นว่าชาวบ้านเคารพในกติกาของบ้านเมือง มีส่วนร่วมทางการเมือง และยอมรับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข

คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน ชุมชนผ่านการปกครองโดยผู้นำชุมชนทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เข้าใจในวัฒนธรรมประชาธิปไตย มีส่วนร่วมและพร้อมให้ความร่วมมือในทุก ๆ ครั้งที่มีปรากฏการณ์ทางการเมืองในรูปแบบต่าง ๆ พร้อมเรียนรู้และปรับตัวกับทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรู้คุณค่า 

สถานการณ์ปัจจุบัน ชาวละว้าบ้านละหว้าใหม่คอกควาย เป็นชุมชนขนาดเล็กที่มีประชากรเพียง 30 ครัวเรือน ภาครัฐจึงนำประชากรชาวละว้าไปรวมกับกลุ่มอื่น ๆ จนกลายเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ในนามของหมู่ที่ 3 (บ้านละว้า) ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต โดยผู้คนในชุมชนยินยอมให้ผู้นำจากกลุ่มอื่นเป็นผู้ใหญ่บ้านที่เป็นทางการ หรือเป็นสมาชิก อบต. เพื่อดูแลความเรียบร้อยและความสงบสุขของคนในชุมชน

การสืบทอดและความยั่งยืน มีการสืบทอดการเมืองและการปกครองด้วยความเรียบร้อยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่มีความขัดแย้งและไม่เคยเสียเลือดเนื้อกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ภาษาพูดพื้นถิ่น ได้แก่ ภาษาละว้า เป็นภาษาที่ใช้ในการสื่อสารในครัวเรือนและใช้ในการพูดในชุมชนบ้านละว้าใหม่คอกควาย ปัจจุบันเหลือเพียงไม่กี่คนที่ยังสามารถพูดภาษาละว้าได้ ส่วนใหญ่จะมีอายุ 50 ปีขึ้นจึงจะสามารถพูดภาษาละว้าได้ 

ภาษาเขียน ได้แก่ ภาษาเขียนละว้า เป็นภาษาอัตลักษณ์เฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ละว้าทุกภูมิภาคในประเทศไทย แต่ปัจจุบันภาษาเขียนให้สูญหายไปจากชุมชนแห่งนี้เรียบร้อยแล้ว เนื่องด้วยไม่มีผู้สืบทอด

สถานการณ์ปัจจุบัน ชาวละว้าในชุมชนปัจจุบันไม่มีผู้ที่สามารถใช้ภาษาเขียนละว้าได้ เนื่องจากเยาวชนชาวละว้าและประชาชนชาวละว้าในชุมชนส่วนใหญ่ใช้ภาษาไทยเป็นหลัก เพราะมีโอกาสได้รับการศึกษาภาคบังคับจากรัฐบาล ส่วนใหญ่จึงสามารถเขียนภาษาไทยได้และนิยมใช้ภาษาไทยมากกว่า จึงทำให้ภาษาเขียนละว้า เลือนหายไปจากวิถีชีวิตของชาวละว้าจนหมดสิ้น 

สำหรับภาษาพูดชาวละว้ายังคงมีประชากรชาวละว้าที่ยังสามารถพูดภาษาละว้าได้บ้าง เนื่องจาก   ชาวละว้าที่เป็นผู้อาวุโสที่ได้รับการถ่ายทอดภาษาพูดละว้าหลายคนยังมีชีวิตอยู่ จึงยังพูดภาษาละว้าได้ แต่เนื่องด้วยไม่ค่อยได้พูดจึงหลง ๆ ลืมไปบ้าง แต่ไม่ได้สอนให้กับลูกหลานเยาวชนพูด จึงทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ไม่สามารถพูดและสื่อสารด้วยภาษาละว้าได้ เป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง และอนาคตอันใกล้นี้คาดว่าจะสูญหายไปอย่างถาวร


ชุมชนชาวละว้ามีวิวัฒนาการด้านการเมืองการปกครองอย่างต่อเนื่องตามลำดับจากอดีตถึงปัจจุบัน ปัจจุบันมีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านให้ความร่วมมือกับผู้นำชุมชนและภาครัฐเป็นอย่างดีในการเลือกตั้งในพื้นที่   ทุกระดับ ไม่เคยมีปัญหาความขัดแย้ง การเรียกร้องหรือร้องเรียนใด ๆ ในชุมชนชาวละว้า 

การมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและนอกชุมชน เพื่อรับมือกับสถานการณ์หรือแก้ปัญหาต่าง ๆ 

ทุกครั้งที่เกิดสถานการณ์ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเหตุบ้านการเมือง ภัยธรรมชาติ ภัยคุกคาม ราคาพืชผลทางการเกษตร คนในชุมชนจะมีความร่วมมือร่วมใจกัน ช่วยกันแก้วิกฤติต่าง ๆ ให้ผ่านพ้นไป เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนส่วนรวม

แนวทางแก้ไขปัญหาและรับมือกับความท้าทาย

ผู้นำชุมชนที่ภาครัฐแต่งตั้ง เช่น ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลทองหลาง และผู้นำที่ไม่เป็นทางการที่เป็นผู้อาวุโสที่ชาวบ้านเคารพนับถือ และกลุ่มผู้นำชุมชนที่เป็นหัวใจสำคัญในแต่ละด้าน จะเป็นแกนนำในการเชิญสมาชิกลูกบ้านประชุม เพื่อร่วมกันระดมความคิดเห็น กำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาและการรับมือกับความท้าทายจากวิกฤติการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น 

การรวมกลุ่มและการสร้างเครือข่าย

ในชุมชนมีเครือข่ายที่เป็นทางการเล็กน้อย ส่วนมากจะเป็นเครือข่ายที่ไม่เป็นทางการ และยังคงมีความพยายามในการขยายเครือข่ายต่าง ๆ ที่จำเป็นกับชุมชนอยู่เสมอ

บทบาทของหน่วยงาน/องค์กรภายนอกที่เข้ามามีส่วนร่วม

จากอดีตถึงปัจจุบันมีหน่วยงานภายนอกที่เป็นภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนชาวละว้าหลายหน่วยงาน เช่น อำเภอห้วยคต องค์การบริหารส่วนตำบลทองหลาง ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดอุทัยธานี สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุทัยธานี สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอุทัยธานี สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุทัยธานี เกษตรอำเภอห้วยคต เป็นต้น สำหรับบุคคลหรือองค์กรเอกชนที่เข้ามามีส่วนร่วม ได้แก่ สถาบันธรรมชาติพัฒนา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ที่เข้ามาช่วยพัฒนาชุมชน 


มีการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากอดีตถึงปัจจุบัน จากอดีตเป็นการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์เพื่อการดำรงชีพ ต่อมามีการประกาศพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติทับซ้อนที่ดินทำกินของชาวบ้าน ชาวบ้านจึงต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด โดยการหันมาปลูกพืชเชิงเดี่ยวหรือพืชเศรษฐกิจเพื่อหาเงินมาใช้ในการดำรงชีพ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงวิถีเศรษฐกิจของชุมชนไปจากอดีตอย่างสิ้นเชิง 


มีการเปลี่ยนแปลงในหลายช่วงเวลา กล่าวคือ ในระยะแรกที่มีชาวละว้าเข้ามาบุกเบิกพื้นที่ทำกินในบริเวณนี้เพียงไม่กี่ครัวเรือน ได้บอกต่อไปยังญาติ ๆ จากต่างจังหวัด ทำให้มีผู้คนจากหลายท้องที่ย้ายเข้ามาอยู่ที่ชุมชนบ้านละหว้าใหม่คอกควายแห่งนี้เป็นจำนวนมาก ราว ๆ 100 ครัวเรือน หลังจากนั้นชุมชนแห่งนี้ประสบปัญหาน้ำท่วมในปีที่มีปริมาณน้ำฝนมาก และประสบปัญหาภัยแล้งในปีที่ฝน   ไม่ตกต้องตามฤดูกาล เคราะห์ซ้ำไปกว่านั้นภาครัฐได้ประกาศพื้นที่นี้เป็นป่าสงวนแห่งชาติทับซ้อนที่ทำกินของชาวบ้าน รัฐจัดสรรที่ทำกินให้ชาวบ้านใหม่ โดยจำกัดที่ดินทำกินให้ชาวบ้านทำกินเพียงครอบครัวละ 25 – 30 ไร่  ส่งผลให้ชาวบ้านทยอยย้ายออกไปจากชุมชนแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันนี้ประชากรเหลือเพียง 30 ครัวเรือน


ชาวละว้าบ้านละหว้าใหม่คอกควายส่วนใหญ่ย้ายมาจากจังหวัดลพบุรีกว่า 100 ปี ดังนั้น ทุกคนจึงมีสัญชาติไทยและเชื้อชาติไทย มีบัตรประชาชน มีสิทธิพลเมืองไทยครบถ้วนทุกประการ รวมถึงได้รับสวัสดิการแห่งรัฐเทียบเท่าประชาชนคนไทยทุกคน 


ในอดีตไม่มีระบบสาธารณูปโภคที่รัฐจัดให้ ต่อมาเมื่อชุมชนชาวละว้ามีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น รัฐจึงเข้ามาช่วยเหลือด้วยการทำประปาหมู่บ้าน เดินไฟฟ้าเข้าหมู่บ้าน ทำถนนคอนกรีตในหมู่บ้าน มีเสาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่เข้ามาใกล้ชุมชน จนถึงปัจจุบันชุมชนมีระบบสาธารณูปโภคใช้อย่างเพียงพอในระยะ 20 ปีหลังสุดนี้ 


ในอดีตระบบสาธารณสุขเข้าไม่ถึงชุมชน จึงทำให้คนในชุมชนต้องเสียชีวิตด้วยโรคภัยต่าง ๆ อยู่เสมอ แต่ปัจจุบันชาวละว้าได้รับสวัสดิการจากภาครัฐเกี่ยวกับการสาธารณสุข  เท่าเทียมกับประชาชนคนไทยทุกคน และมีห้องน้ำห้องส้วมที่ถูกสุขอนามัยครบทุกบ้าน


ในอดีตเยาวชนชาวละว้าในชุมชนแห่งนี้ได้รับการศึกษาแบบการศึกษาผู้ใหญ่ เนื่องจาก ไม่มีโรงเรียนในชุมชน ต่อมาเริ่มมีโรงเรียนแต่อยู่ห่างไกล มีเพียงเยาวชนบางคนที่ได้รับการศึกษา แต่ปัจจุบันนี้เด็กและเยาวชนทุกคน ได้รับการศึกษาภาคบังคับ เพราะมีโรงเรียนหลายแห่งที่อยู่ใกล้ ๆ กับชุมชน เด็กและเยาวชนมีโอกาสได้เข้าเรียนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และเรียนจบร้อยละ 60 และเยาวชนที่มีโอกาสเรียนต่อในระดับปริญญาตรีน้อยมาก ปัจจุบันมีเพียง 1 คน 


ชาวละว้าบ้านละหว้าใหม่คอกควาย ยึดมั่นรักษาอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ได้ในระดับหนึ่ง แต่ต้องยอมรับว่าไม่สามารถทัดทานวัฒนธรรมจากภายนอกได้ ซึ่งมีความทันสมัยและเจริญก้าวหน้ามาก เข้ามาแทรกซึมวิถีวัฒนธรรมของชาวละว้าในทุกมิติ ทำให้วัฒนธรรมของชาวละว้าค่อย ๆ เลือนหายไปทีละน้อย ๆ  โดยที่เจ้าของวัฒนธรรมไม่ทันรู้ตัว ปัจจุบันวัฒนธรรมชาวละว้าถูกกลืนกินหายไปเกือบสูญสิ้น จึงเป็นความท้าทายของภาครัฐ และผู้นำชุมชนที่จะร่วมกันหาแนวทางในการอนุรักษ์ สืบสาน อัตลักษณ์วัฒนธรรมละว้าที่ดีงาม    ให้คงอยู่ต่อไปตราบนานเท่านาน 


ชุมชนชาวละว้าแห่งนี้ ในยุคบุกเบิกยอมรับว่าที่ดินผืนนี้   มีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์มากจริง ๆ จากระยะเวลาที่ล่วงเลยมากว่า 1 ศตวรรษ ผืนป่าตามธรรมชาติและผืนป่าชุมชนเหลือเพียงร้อยละ 10 ของพื้นที่ จึงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับภาครัฐ ท้องถิ่น ท้องที่ และราษฎรในพื้นที่ ว่าจะบริหารจัดการพื้นที่ทำกินและผืนป่าเสื่อมโทรมเหล่านี้ให้เกิดความสมดุลได้อย่างไร


ป่าสงวนแห่งชาติห้วยป่าทับเสลาและห้วยป่าคอกควาย
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล