ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ยวนมีทุนทางวัฒนธรรมเป็นอัตลักษณ์อันโดดเด่นทางด้านการสร้างบ้าน การแต่งกาย ความเชื่อและประเพณีมากมาย
ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ยวนมีทุนทางวัฒนธรรมเป็นอัตลักษณ์อันโดดเด่นทางด้านการสร้างบ้าน การแต่งกาย ความเชื่อและประเพณีมากมาย
ชาวไท-ยวน อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา สืบเชื้อสายจากบรรพษรุษ ไท-ยวน ที่มีถิ่นเดิมเมือง เชียงแสน ซึ่งสิริกุล พิชัยจุมพล กล่าวว่าในตำนานหลายเล่มระบุว่ามีกลุ่มคนไทยมาจากเมืองใดเมืองหนึ่งในยาวนานเข้ามาตั้งถิ่นฐานส้ร้างเมืองในบริเวณลุ่มแม่น้ำกก แถบเวียงหนอง เขตอำเภอเชียงแสน ให้ชื่อเมืองว่า "นาคพันธุ์สิงหนวัตินคร" ตามชื่อของสิงหนวัติกุมารผู้สร้างเมืองตามตำนานซึ่งกล่าวว่าพญานาคช่วยในการสร้างด้วย ต่อมาเมืองนี้เรียกว่า"โยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแสน" หรือ "โยนกนคร" มีกษัตริย์ปกครองสืบมาหลายองค์ขอบเขตพื้นที่อาจจะมีอาณาเขตขยายหรือหดตัวตามอำนาจของกองทัพผู้ครองเมือง แต่ในที่สุดเมืองโยนกได้ล้มสลายลง ต่อมาในสมัยพญาแสนภู ราชนัดดาพระเจ้าเม็งรายมหาราชผู้ครองเมืองเชียงราย ประสงค์สร้างเมืองใหม่นั้น ดังที่พระยาประชากิจราชจักรีกล่าวว่า ก่อนที่จะสร้างเชียงแสนนี้ บริเวณดังกล่าวเคยเป็นเมืองเก่ามาก่อนคือ เมืองโยนกนครบุรี ความตอนหนึ่งของพงศาวดารโยนก กล่าวว่า พุทธศักราช 1871พระองค์พร้อมเหล่าอำมาตย์ ดีแสวงหาชัยภูมิอันดี และได้เลือกเอาพื้นที่ร่องรอยเมืองเก่าอันเป็นแคว้นโยนกนาคบุรี โดยขุดคูและก่อปราการ 3 ด้าน ทิศตะวันออกเว้นไว้ใช้น้ำของ(น้ำโขง)เป็นปราการ ดินแดนต่อเมืองเชียงราย ที่ตำบลน้ำแม่เติม ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ต่อแดนเมืองฝางที่กิ่วคอสุนัข ทิศตะวันตกติดแดนเมืองสาดที่ตำบลผาตาเหลว ทิศตะวันตกเฉียงเหนือต่อแดนเชียงตุงที่ตำบลดอยช้าง ทิศเหนือต่อแดนเชียงตุงที่เมืองกายสามเท้า ทิศตะวันออกเฉียงเหนือต่อแดนฮ่อที่ตำบลเมือหลวงบ่อแร่ ทิศตะวันออกต่อแดนเชียงของที่ตำบลดอยเชียงชีในวงนี้เป็นแคว้นเมืองเชียงแสน ใช้ชื่อว่า หิรัญนครไชยบุรีศรีเชียงแสน ต่อมาในสมัยพระยากมล เป็นเจ้าเมืองเชียงแสนใน พ.ศ.2101 เชียงแสนก็เสียแก่บุเรงนอง (พระเจ้ากรุงหงสาวดี) เมืองเชียงแสนตกอยู่ในอำนาจการปกครองของพม่าตั้งแต่นั้นมา
พ.ศ.2347 รัชสมัยรัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬโลกมหาราชกรุงรัตนโกสินทร์ ทราบข่าวว่ากองทัพพม่าที่ยึดครองเมืองเชียงแสนจะยกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ทรงมีพระบัญชาให้กองทัพหลวง กรมหลวงเทพบริรักษ์เป็นแม่ทัพ กองทัพล้านนา (เชียงใหม่ลำปาง และน่าน) กองทัพเวียงจันทน์ ร่วมกันยกทัพไปตีและขับไล่พม่าให้ออกไปจากราชอาณาจักร จากนั้นได้รื้อกำแพงเมือง ทำลายสิ่งก่อสร้างเพื่อมิให้พม่าใช้เป็นที่ตั้งทัพต่อไปและอพยพชาวเมืองเชียงแสนลงมาทางใต้ โดยแบ่งออกเป็นห้าส่วน คือ
- ติดตามไปกับกองทัพเชียงใหม่
- ติดตามไปกับกองทัพลำปาง
- ติดตามไปกับกองทัพน่าน
- ติดตามไปกับกองทัพเวียงจันทน์
- ติดตามไปกับกองทัพหลวงมายังพระนคร
ซึ่งชาวไท-ยวนส่วนหนึ่งได้ลงหลักปักฐานที่อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี อีกส่วนหนึ่งเมื่อมาถึงพระนครต่อมาได้ลงหลักปักฐานที่อำเมือง จังหวัดราชบุรีและชาวไท-ยวนอำเภอเสาไห้ส่วนหนึ่งได้ย้ายครอบครัวไปยังอำเภอสีคิ้วจังหวัดนครราชสีมาในกาลต่อไป
อำเภอสีคิ้ว ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัดนครราชสีมา ห่างจากตัวจังหวัด นครราชสีมา 45 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 1,247,068 ตารางกิโลเมตร หรือ ประมาณ 765,625 ไร่
ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอด่านขนทด จังหวัดนครราชสีมา
ทิศใต้ ติดต่อกับ อำเภอสูงเนิน และ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี และอำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี
สภาพพื้นที่โดยทั่วไป
เป็นภูเขาและที่ราบสูง สลับกับที่ราบลุ่มแม่น้ำ ลักษณะพื้นที่ทางทิศเหนือของอำเภอเป็นดอนลูกคลื่น ทิศใต้ และทิศตะวันตกของอำเภอเป็นภูเขา และที่ราบเชิงเขา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ทางทิศตะวันออกเป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำแหล่งน้ำที่ถือว่าสำคัญ และเป็นเส้นโลหิตหล่อเลี้ยงอำเภอสีคิ้วและจังหวัดนครราชสีมาได้แก่ "ลำตะคอง" ซึ่งไหลผ่านพื้นที่ขตตำบลคลองไผ่ ตำบลลาดบัวขาว ตำบลมิตรภาพ ตำบลสีคิ้ว และไหลเข้าอำเภอสูงเนิน อำเภอขามทะเลสอ อำเภอเมืองนครราชสีมา อำเภอโชคชัย และอำเภอจักรราชตามลำดับ
ในปัจจุบันมีชาวไท-ยวนอยู่ประมาณ 5,000 คน ในเขตอำเภอสีคิ้ว ในท้องที่ตำบลลาดบัวขาว ตำบลสีคิ้ว และตำบลบ้านหัน บ้านยวน นครจันทึก ตำบลสีคิ้ว อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนที่มีชาวไท-ยวนอาศัยอยู่มาเป็นเวลานาน ตั้งแต่นครจันทึกจนมาถึงอำเภอสีคิ้วในปัจจุบัน
กลุ่มทางการ
ชาวไท-ยวนมีสินค้า ผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อ OTOP คือ ผ้ายวน ผ้ายวนเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ที่ขึ้นชื่อ มีลักษณะโดดเด่น คือ สีและลวดลายของผ้ามีสีสันสดใส สวยงาม มีลวดลายไม่เหมือนใคร ช่วงลายของผ้ายวนจะเป็นลายริ้ว สลับกันระหว่างด้ายสีพื้นและด้ายน้ำไหล และปัจจุบันมีหลายหมู่บ้านที่ผลิตผ้ายวน คือ
- กลุ่มทอผ้าบ้านสีคิ้ว ตั้งอยู่วัดใหญ่สีคิ้ว หมู่ 1 ต. สีคิ้ว อ.สีคิ้วนครราชสีมา
- กลุ่มทอผ้าบ้านโนนกุ่ม ตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ 38 หมู่ที่ 2 ต. มิตรภาพ อ.สีคิ้วจ.นครราชสีมา
- กลุ่มทอผ้าบ้านหนองกก ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 28 หมู่ที่ 1 ต. หนองบัวน้อย อ.สีคิ้วจ.นครราชสีมา
- กลุ่มทอผ้าบ้านถนนคด ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 82/1 หมู่ 11 ต. สีคิ้ว อ.สีคิ้วนครราชสีมา
- กลุ่มทอผ้าบ้านหนองบัวน้อย ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 65 หมู่ที่ 6 ต.หนองบัวน้อยสีคิ้ว จ.นครราชสีมา
กลุ่มอาชีพ
ชุมชนไท-ยวนสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมาในอดีตประชากรส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพการเกษตร เช่น ทำนา ทำไร่ ทำสวน และเลี้ยงสัตว์ ต่อมาความเจริญได้ขยายเข้าสู่ชุมชนมีคนอพยพเคลื่อนย้ายเข้ามาอยู่เป็นจำนวนมาก ความเจริญได้หลั่งไหลเข้ามา วิถีชีวิตความเป็นอยู่ภาษา อาชีพ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมประเพณี หรือแม้แต่ที่อยู่อาศัยก็เปลี่ยนไป ชุมชนไท-ยวนสีคิ้วที่ยังคงอนุรักษ์ไว้มีเพียงผู้สูงอายุ คนหนุ่มคนสาวเปลี่ยนอาชีพเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรม การแต่งกายทันสมัยยิ่งขึ้น ใช้ภาษากลาง ชุมชนไท-ยวนลดบทบาทลงเหลือไว้แต่ร่องรอยของความเจริญในอดีตซึ่งยังคงมีปรากฎให้เห็นบางส่วน
วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม
- ประเพณีไปเซิ้งและเที่ยวบ่วง
ในสมัยก่อนชาวไท-ยวนจะตำข้าวกิน อุปกรณ์สำคัญคือครก ที่ทำด้วยมือและครกกระเดื่องที่เรียกว่า "มอง" สาวๆ ชาวไท-ยวน นิยมตำข้าวในยามค่ำหลังจากเสร็จจากการทำนา โดยนำข้าวจากเรือนมาคนละกระบุงสองกระบุงมารวมกลุ่มตำข้าวขณะที่ตำข้าวหนุ่มๆ ในหมู่บ้านที่หมายปองก็จะมาเที่ยวเรียกว่า "เที่ยวข่วง" ช่วงคือบริเวณที่ตำข้าว โดยหนุ่มๆ จะมากันเป็นกลุ่มๆ ละ 3-4 คน เมื่อมาถึงช่วงหนุ่มสาวคู่ใดรักชอบกันก็จะอยู่ช่วยตำข้าวเป็นโอกาสใกล้ชิดกัน โดยคนอื่นจะหลีกทางให้ ในขณะเดียวกันหากมีหนุ่มกลุ่มอื่นมาเที่ยวข่วง กลุ่มแรกก็จะลาออกจากข่วงไป เปิดโอกาสให้หนุ่มกลุ่มใหม่ได้มาเกี้ยวสาวบ้าง ในบางครั้งถ้าหนุ่มที่หลงรักสาวเกิดการหึงหวงไม่ต้องการให้หนุ่มอื่นมาเกี้ยวสาวที่ตนหมายปอง ก็จะแอบอยู่ปากทางเพื่อคอยดักตีหัวคู่อริ บางครั้งก็ตีฝากกันไปก็มีเป็นการเตือนว่าหญิงคนนั้นมีคนจองแล้ว
- ประเพณีสงกรานต์
เริ่มวันที่ 12 เมษายน ถึง วันที่ 15 เมษายน ชาวบ้านจะทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ในตอนเช้า ตอนบ่ายสรงน้ำพระ ขนทรายเข้าวัด เล่นสาดน้ำ กลางคืนมีการละเล่น รำเดือนห้า มีลักษณะเป็นผะยายอย โดยไปเล่นตามบ้านต่างๆ เจ้าบ้านจะเลี้ยงดูด้วยอาหารและสุรา เล่นเป็นเวลาประมาณ 1 สัปดาห์
- ประเพณีบุญสลากภัต
เป็นประเพณีเก่าแก่ที่เกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา ตั้งแต่พุทธสมัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระพระองค์ คือ พระโกณฑธานเกระ ซึ่งเป็นผู้มีใชคดีในการจับสลากได้ที่หนึ่งทุกครั้ง แม้พระพุทธเจ้าก็สู้ท่านไม่ได้ พระสาวกทั้งหลายมีความสงสัยว่า ทำไมท่านจึงโชคดีเช่นนั้น พระพุทธเจ้าตรัสรับบอกแก่ภิกษุสงฆ์ทั้งมวลว่า โกณฑธานปรารถนาว่าถ้าเลือกอะไร แข่งขันอะไร ขอให้ได้ที่หนึ่งเสมอดังนั้นในชาตินี้โกณฑธานจึงเป็นคนโชคดี
- ประเพณีเลี้ยงพ่อพญาสี่เขี้ยวหรือพญาสีคิ้ว
เนื่องจากพญาสี่เขี้ยวหรือพญาสีคิ้ว เป็นที่เคารพสักการะของชาวอำเภอสีคิ้วและใกล้เคียงเป็นอย่างมาก จึงมีการประกอบพิธี 2 ครั้งต่างสถานที่กัน โดยการประกอบพิธีครั้งหนึ่งจะทำเฉพาะคนไท-ยวน และพิธีอีกครั้งจัดเป็นประเพณีใหญ่โตและถือเป็นงานประจำปีของอำเภอ
- ประเพณีบุญกลางบ้าน
บุญกลางบ้านเป็นประเพณีที่เกิดจากความเชื่อถือที่ว่า ในรอบปีหนึ่งๆ ชุมชนหมู่บ้านซึ่งประกอบด้วยหลายครัวเรือน และในแต่ละครัวเรือนอาจจะมีบางคนไปทำให้ "ผิดผี" จนผีต้องมาทำร้ายด้วยรูปแบบต่างๆ เช่น ทำให้เกิดความเจ็บไข้ไม่สบาย สัตว์เลี้ยงล้มตาย นอกจากจะแก้ไขปัญหากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นรายกรณีแล้ว วิธีการหนึ่งที่ช่วยเสริมสร้างกำลังใจให้ชาวไท-ยวนในชุมชน คือการทำบุญกลางบ้าน หรือเป็นพิธีกรรมเพื่อปัดรังควานให้ห่างหายไปจากหมู่บ้านนั้นเอง
- การขึ้นเฮือนใหม่
เฮือน หมายถึง เรือน หรือบ้านที่อยู่อาศัย ซึ่งเมื่อมีการปลูกเรือนใหม่แล้วเสร็จ จะต้องประกอบพิธีกรรมก่อนจึงจะเป็นสิริมงคล แล้วจะมีความสุขความเจริญก้าวหน้าแก่ผู้อาศัย โดยต้องมีการหาฤกษ์ยามที่เป็นมงคลก่อน วันเป็นมงคล สำหรับขึ้นเฮือนใหม่
- ผูกเสี่ยวรับขวัญ
เสี่ยว หมายถึง สหาย, มิตร, เพื่อน, เกลอ คนที่มีรูปร่างหรือนิสัยใจคอเหมือนกันหรือเกิดไล่เลี่ยกัน พ่อแม่ผูกให้เป็นมิตรกัน
การผูกเสี่ยว คือ การสัญญาที่จะเป็นเพื่อนรักร่วมเป็นร่วมตาย โดยมีสักขีพยาน การผูกเสี่ยวนิยมกระทำระหว่างชายกับชาย หรือหญิงกับหญิงที่วัยใกล้เคียงกัน และลักษณะนิสัยใจคอที่คล้ายคลึงกัน โดยพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่จะเป็นผู้ทาบทาม ขอผูกเสี่ยวกัน เรียกว่า "แฮกเสี่ยว"เมื่อตกลงก็จะผูกเสี่ยวโดยใช้ฝ้ายมงคล ผูกข้อมือของแต่ละคนเพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่คู่เสี่ยว
วิถีชีวิตเศรษฐกิจ
ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร ได้แก่ การปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ส่วนอาชีพอื่นๆ เช่น การค้าขาย การรับจ้าง รับราชการ และการอุตสาหกรรมมีอยู่ไม่มากอำเภอสีคิ้ว มีพื้นที่การเกษตร ประมาณ 570.271 ไร่ หรือร้อยละ 74.48 ของพื้นที่อำเภอทั้งหมด ราษฎรประกอบอาชีพเกษตร ประมาณ 13,30 ครอบครัว ปศุสัตว์ 12.048ครอบครัว โดยมีพืชหลักที่สำคัญ ได้แก่ อ้อย มะม่วง มะขาม มะละกอ มันสำปะหลัง ข้าว ละหุ่งฝ้าย ข้าวโพด ถั่ว ซึ่งมีราคาขึ้นลงตามตลาดโลก ทำให้เกษตรกรมีรายได้ไม่แน่นอน สัตว์ที่เลี้ยงมากคือ โค กระบือ เป็ด และไก่ การทำนาในเขตพื้นที่อำเภอสีคิ้ว เป็นนาดำ นาหยอด และนาหว่านกิจการค้าขายซึ่งเป็นตลาดการซื้อขายที่ได้จดทะเบียนการค้า และทะเบียนพาณิชย์ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในเขตเทศบาล ได้แก่ เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์การก่อสร้างเฟอร์นิเจอร์
สุธัญญา สิทธิกูลเกียรติ
คุณครูโรงเรียนสีคิ้วสวัสดิ์ผดุงวิทยา วัย 56 ปี เป็นหนึ่งในทายาทชาวไท-ยวน รุ่นที่ 4 จึงเป็นแกนนำลูกหลานชาวไท-ยวน สร้างบ้านยวนขึ้นมาเพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมไท-ยวน โดยบ้านยวนหลังนี้จะมีลักษณะเป็นบ้านไม้ 2 ชั้น มีบันไดขึ้นทางเดียว ด้านหน้าจะเป็นระเบียง ด้านในจะมีห้องโถงรับแขก มีห้องพระ และห้องนอน มีการรวบรวมภาพถ่ายเก่าๆ มาติดผนังไว้ให้เห็นถึงการใช้ชีวิตของชาวไท-ยวนในอดีต อีกทั้งยังมีการรวบรวมสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ จากคนเก่าแก่อายุตั้งแต่ 70-90 ปีมาใส่ตู้ไว้ด้วยเพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ ส่วนด้านล่างจะมีแคร่ไม้สำหรับทอผ้าและเตียงนั่งสำหรับต้อนรับแขก มีการจัดทำป้ายอธิบายเรื่องราวต่างๆ ของชาวไท-ยวนไว้ให้ได้ศึกษาอย่างละเอียด ด้านข้างจะมีระหัดน้ำแบบโบราณ อันเป็นภูมิปัญญาชาวยวน ซึ่งปัจจุบันสามารถพบได้ทั่วไปในพื้นที่ อำเภอสีคิ้ว
ทุนวัฒนธรรม
- การสร้างบ้าน
ชุมชนไท-ยวนสีคิ้ว มีบ้านเรือนเก่าที่ปลูกเพื่ออาศัยเหลืออยู่หลายหลัง เป็นบ้านเดี่ยวชั้นเดียวใต้ถุนสูง สร้างด้วยไม้คล้ายบ้านทรงไทยมีไม้กาแลอยู่บนจั่วหลังคาเป็นสัญลักษณ์ ชุมชนแห่งนี้จึงมีความโดดเด่นในด้านสถาปัตยกรรม ซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 70-100 ปี ต่อมาได้มีการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม และสถาปัตยกรรมชุมชนไท-ยวนสีคิ้วไว้ โดยการสร้างบ้านของชาวไท-ยวน ไว้ที่วัดใหญ่สีคิ้ว ใช้ไม้เก่าที่ขอซื้อจากบ้านเก่าที่คนไท-ยวนและมีผู้บริจาคให้ซึ่งมีอายุร่วม 100 ปี มีการออกแบบเหมือน บ้านไท-ยวน แต่ละห้องจัดเหมือนบ้านคนไท-ยวนโบราณ มีห้องครัว ห้องรับประทานอาหาร ห้องพระและห้องนอน เพื่อให้นักท่องเที่ยว นักเรียน นักศึกษาได้เข้าชมและศึกษาหาความรู้ ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมมหาวิทยาลัยทคโนโลยีสุรนารี และออกแบบการสร้างจากอาจารย์มหาวิทยาลัยราชมงคลพระนครเหนืออุเทนถวาย เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้
- การแต่งกาย
ชาวไท-ยวน มีเอกลักษณ์ด้านการแต่งกายที่มีความพิเศษ จากหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในภาพถ่าย และจิตรกรรมฝาผนัง ทำให้ทราบได้ว่าชาวไท-ยวน มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง แตกต่างไปจากกลุ่มไทยอื่น ๆ โดยแสดงให้เห็นชัดในเครื่องแต่งกายของสตรีที่เรียกว่า “ผ้าซิ่น” ผ้ายวนเป็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรมไทย ที่ผูกพันกับการดำรงชีวิตของชาวไทย-ยวน อำเภอสีคิ้ว มาเกือบ 200 ปี แต่ก่อนนั้น ผ้ายวนจะเป็นผ้าที่ใช้นุ่งเฉพาะในงานวันสำคัญต่าง ๆ ของหมู่บ้าน/ชุมชน เท่านั้น ผลิตภัณฑ์ผ้ายวน เป็นผลิตภัณฑ์ที่สืบทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษมาตั้งแต่สมัยโบราณ บ้านโนนกุ่มเป็นหมู่บ้านที่แยกออกจากบ้านสีคิ้ว ชาวบ้านส่วนมากเป็นชาวไท-ยวน ซึ่งหมายถึงชาวไทยภาคเหนือ “โยนกนคร” ซึ่งจากการสอบถามได้ความว่า ในสมัยของรัชกาลที่ 3 ขณะนั้นเมืองเชียงแสนตกอยู่ในอิทธิพลของพม่า ซึ่งพม่าอาศัยเมืองเชียงแสนเป็นแหล่งสะสมเสบียงและกำลังพลสำหรับยกกองทัพเข้าตีเมืองฝ่ายเหนือของไทย ได้ทรงรับสั่งกับพระเจ้าหลานเธอกลมหลวงเทพหริรักษ์ ร่วมกับพระยายมราชจัดกองทัพจากเมืองหลวงขึ้นไปสมทบกับเมืองนครลำปาง กองทัพนครเชียงใหม่ กองทัพนครน่าน และกองทัพนครเวียงจันทร์ เพื่อเข้าโจมตีเมืองเชียงแสน ซึ่งได้ล้อมเมืองเชียงแสนและตีได้สำเร็จ พม่าที่อยู่ในเมืองเชียงแสนแตกหนีไป กองทัพไทยได้ล้อม กำแพงเมือง เผาเมืองจนหมด และกวาดต้อนชาวเมืองเชียงแสนไป ชาวเมืองดังกล่าว ถูกแบ่งออกเป็น ๕ ส่วนเท่า ๆ กัน โดยกองทัพเมืองหลวงได้พาชาวเมืองเชียงแสนเดินทางมากรุงเทพฯ ขณะเดินทางชาวเชียงแสนส่วนหนึ่งประสงค์ที่จะตั้งรกรากอยู่ที่สระบุรี ปัจจุบันอยู่ที่อำเภอเสาไห้ อำเภอหนองโดน ต่อมาเจ้าเมืองมีความประสงค์จะก่อตั้งเลี้ยงโคขึ้นในท้องที่ที่เป็นศูนย์กลางของเมืองนครจันทึก จึงได้แบ่งชาวไท–ยวน ที่อำเภอเสาไห้ มาเป็นผู้ดำเนินการ ชาวไทย-ยวน เหล่านี้ได้พบกับความอุดมสมบูรณ์ มีน้ำไหลผ่านก็มีความพอใจเมื่อหมดหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ไม่ขอกลับบ้านเมืองเดิม พากันตั้งถิ่นฐานเป็นเมืองสืบมา ชาวไท-ยวน อำเภอสีคิ้วจึงเป็นเชื้อสายที่สืบเนื่องจากชาวเชียงแสนในสมัยนั้น และได้สืบทอด รักษาขนบธรรมเนียม ประเพณี และศิลปะ วัฒนธรรมของตนเอาไว้ เช่น ภาษาพูด ศิลปหัตถกรรมการทอผ้า แต่ก่อนการทอผ้าที่ทอใช้กันเองในหมู่ครอบครัว เรียกชื่อผ้าตามคนทอผ้าว่า “ผ้ายวน” ซึ่งก็หมายถึงผ้าของชาวโยนกนคร (ไท-ยวน)
ชาวไทยวนสีคิ้วยังมีความภาคภูมิใจในเชื้อสายของตนมาก ถ้ามีคนถามมักจะตอบว่าเป็น คนยวน (ออกเสียงนาสิกค่อนข้างยาวว่า "ยววน") จะไม่ตอบว่าเป็นคนเมือง ทั้งนี้เนื่องมาจากคำว่า "คนเมือง" คงเป็นคำที่เกิดขึ้นใหม่ภายหลังจากที่กลุ่มชาวยวนสีคิ้วอพยพมาแล้ว จึงไม่ใช้ชาวยวนสีคิ้วจะพูดภาษายวนในการสื่อสารของหมู่พวกเป็นพื้นบ้านเรียกว่า ฟู่ยวนสำเนียงและคำศัพท์คล้ายไทยล้านนาแต่ก็พียงค่อนข้างแข็งและห้วนกว่า นอกจากนั้นจะพูดภาษาภาคกลาง ภาษาโคราช ภาษาอีสานผสมผสานกัน โดยยังรักษาเอกลักษณ์ทางภาษายวนไว้ได้ค่อนข้างมาก เช่น กิน เรียกว่า กิ๋น , เขา เรียกว่า เปิ๋น เป็นต้น
ภาษาเขียน ตัวอักษรที่ใช้ในภาษาเขียนของชาวไท-ยวน มีชื่อเรียกหลากชื่อ เช่นอักษรล้านนา,อักษรยวน, อักษรไทยเหนือ, อักษรธรรมเหนือ, อักษ3ตัวเมือง หรือ อักษรเมือง ซึ่งชาวไท-ยวนที่อำเภอเสาไห้ จะเรียกว่า "หนังสือยวน"ในอดีตการเรียนหนังสือยวนมักจะมีแต่ผู้ชายที่ได้เรียน โดยตอนเป็นเด็กก็เรียนกับพระที่วัด หรือกับผู้สูงอายุที่บ้าน เมื่อโตขึ้นก็จะได้เรียนเมื่อบวชเป็นพระ-เณร
เมื่อมีการจัดกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชุมชนไท-ยวนสีคิ้วขึ้นมาทำให้เกิดการสร้างงานในชุมชน เกิดอาชีพจากกิจกรรมการท่องเที่ยวตามมาหลากหลายอาชีพส่งผลให้แรงงานในชุมชนมีทางเลือกในการประกอบอาชีพมากขึ้นและสามารถประกอบอาชีพได้อย่างอิสระ โดยไม่ต้องมุ่งขายแรงงานแต่อย่างเดียว ก่อให้เกิดรายได้จากการจับจ่ายใช้สอยซื้อผลิตภัณฑ์หรือสินค้าของนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ เงินที่นักท่องเที่ยวนำมาจับจ่ายใช้สอยยังกระจายไปสู่ ท้องถิ่นใกล้เคียงที่มีแหล่งท่องเที่ยว ทำให้เศรษฐกิจของท้องถิ่นที่ดีขึ้นตามมาด้วย
ชุมชนไท-ยวนสีคิ้วเป็นชุมชนเกษตรกรรมที่มีการตั้งถิ่นฐานริมแม่น้ำลำตะคองมาช้านาน อาคารบ้านเรือนต่างๆ ปลูกตามริมน้ำ ไร่ นา สวน ได้อาศัยน้ำจากลำตะคองในการเพาะปลูก เมื่อความเจริญเข้ามาสังคมย่อมเปลี่ยนไป เกิดปัญหามากมาย เช่น ปัญหามลพิษทางเสียง ปัญหาจราจร ปัญหาน้ำเน่าเสีย ปัญหาอาชญากรรมและปัญหายาเสพติด ความรู้สึกแออัดต่อสภาพแวดล้อม จากสังคมที่พบปะพูดคุยกันตามบ้าน ได้เปลี่ยนไปยังที่ต่างๆ เช่น สนามกีฬาสถานที่ออกกำลังกาย สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ สวนสาธารณะ และตามห้างสรรพสินค้า ผู้นำชุมชนและคณะกรรมการชุมชนได้เล็งเห็นคุณค่าของการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อความคงอยู่ของเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและระบบนิเวศของชุมชนไว้ได้อย่างยั่งยืน โดยไม่มีปัญหาสังคมตามมาช่วยกันดูแลสอดส่องแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน ก่อให้เกิดการสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมืออันดีให้แก่คนในชุมชน การรวมตัวกันจัดตั้งศูนย์การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชุมชนไท-ยวนและ ตลาดไท-ยวน ด้วยการคิดรูปแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตไท-ยวนสีคิ้วมีการรวมกลุ่มทอผ้าจากทุกหมู่บ้าน นำผลิตภัณฑ์ของตนมาจำหน่าย ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายที่นอกจากผ้าทอแล้วยังมีการนำผ้าทอมาประดิษฐ์ตัดเย็บ เช่น เสื้อ ผ้าถุง กระเป้า ย่าม หมวก เข็มขัด ผ้าคลุมไหล่ ผ้าโพกศีรษะ เป็นต้น ซึ่งเป็นที่ถูกใจนักท่องเที่ยวยิ่งนัก
ในส่วนของการศึกษากิจกรรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในชุมชนไท-ยวนสีคิ้ว ด้านวัฒนธรรมนั้น เมื่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้รับการส่งเสริมขึ้นในชุมชนไท-ยวนสีคิ้ว ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิสัยทัศน์ของคนในชุมชน จากเดิมที่ธุรกิจในชุมชนเป็นธุรกิจขนาดเล็กได้เกิดการเปลี่ยนแปลงปรับตัวไปสู่ธุรกิจเพื่อสนองตอบต่อการท่องเที่ยวในชุมชน เช่น การทอผ้าซิ่นที่เคยคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของชุมชนไว้ ได้เปลี่ยนแปลงเอาใจลูกค้า มีการทอลวดลายหลากหลายมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวจากการศึกษาพบว่า กิจกรรมการท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมและทำนุบำรุงส่งต่อประเพณีและวัฒนธรรมดั่งเดิม รวมทั้งมีส่วนช่วยส่งเสริม อนุรักษ์ปกป้องมรดกของท้องถิ่นและฟื้นฟูงานฝีมือ ศิลปะและวัฒนธรรมดั่งเดิม ในรูปแบบของวัฒนธรรมเชิงพาณิชย์ ขณะเดียวกันคงปฏิเสธไม่ได้ว่า การท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้วิถีชีวิต ประเพณีและวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชนมีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงจากเดิม ถึงแม้กระแสการท่องเที่ยวที่เข้ามาสู่ชุมชนไท-ยวนสีคิ้วจะเปลี่ยนสภาพของชุมชนที่เคยสงบได้กลับมามีชีวิตชีวาครึกครื้นภายใต้ธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในชุมชน แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้กลืนวัฒนธรรมดั้งเดิมไปเสียหมด ชาวนา ชาวไร่ดั้งเดิมยังคงดำรงชีวิตโดยการทำไร่ ทำนาไปเรื่อยๆ ในขณะที่คนรุ่นใหม่ บางส่วนของชุมชนมีการปรับเปลี่ยนตัวเองเข้าร่วมในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวมากขึ้นขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน
ในอดีตชุมชนไท-ยวนสีคิ้วอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ในน้ำมีปลาในนามีข้าว ทำให้คนในชุมชนส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายอยู่กับธรรมชาติ และประกอบอาชีพโดยพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนเป็นหลัก เช่น ทำนา ทำไร่ ทำสวน เลี้ยงสัตว์ เป็นต้น นับตั้งแต่มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนไท-ยวนสีคิ้ว มีการจัดตั้งตลาดไท-ยวน เพื่อขายผลิตภัณฑ์ของคนไท-ยวน การส่งเสริมการทอผ้า อาหารคาว ขนมหวาน ผัก ผลไม้ คนในชุมชนได้หันมาสนใจเป็นจำนวนมากและได้ส่งผลผลิตมาขาย สิ่งแวดล้อมในชมชนได้เปลี่ยนไป มีการจัดพื้นที่เป็นตลาด มีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ สร้างอาคาร์ร้านค้าและปรับภูมิทัศน์ให้เหมาะสมสวยงาม จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป ต้นไม้ถูกตัดเพื่อสร้างอาคารปัญหาขยะที่เพิ่มขึ้น เสียงดังมากขึ้น ก่อให้เกิดการรบกวนวิถีชีวิตของคนในชุมชนและทำลายความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อมดั้งเดิมของชุมชน
มีสิ่งที่น่าสนใจเพิ่มเติมอีกมากมาย เช่น ผลงานต่างๆ ที่มาจากชุชมชนไท-ยวน สมุนไพรที่นำมาทำเป็นยา การทำกระดิ่ง การนำผลผลิตต่างๆ มาทำอาหารและประกอบอาชีพ
กรุงเทพธุรกิจ. (2561). ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมบ้านยวน นครจันทึก. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://www.bangkokbiznews.com/pr-news/biz2u/248351
ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ. (2560). "บ้านยวน" โคราช เอกลักษณ์แห่งชาวนครจันทึก. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_31846
ภิรพรรษ ปลิวจันทึก. (2560). การศึกษาอัตลักษณ์วิถีชุมชนไท-ยวนสีคิ้ว เพื่อการออกแบบสื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว. วิทยานิพนธ์ศิลปมหาบัณฑิต. มหาวิทยาลัยศิลปากร.
สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม. การแต่งกายคนไท-ยวนสีคิ้ว (อำเภอสีคิ้ว). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: http://www.thaiculture.go.th/web/detail.php?nid=1214&tid=textile&sid=