เกาะแรตอยู่ในทำเลที่มีทิวทัศน์สวย หากมองรอบเกาะทางด้านซ้ายมือจะเห็นทางฝั่งวัดเขาสุวรรณประดิษฐ์ แหลมทวด หาดวังหิน ท่าเรือเอนกประสงค์ ทางฝั่งขวามือของเกาะจะเป็นท่าเรือเฟอร์รี่ มีเส้นทาง ชมวิวที่กำลังก่อสร้างไว้สำหรับดูปลาโลมาเล่นน้ำ และดูพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้าหรือพระอาทิตย์ตกตอนเย็น ในช่วงน้ำแห้งสามารถเดินไปยังพื้นที่เกาะแรตได้ และชาวบ้านหลาย ๆ ท้องที่จะมาหาหอย กุ้ง ปูเป็นจำนวนมาก หรือเจาะหอยตามโขดหิน
ชื่อเกาะแรตมาจาก คำว่า “แรด” ที่สะกดด้วย ด ที่หมายถึงชื่อสัตว์ ชาวจีนได้ขนานนามเกาะแห่งนี้ว่า “ฮีเด้ง” ซึ่งหมายถึง ตะเกียงสวรรค์ และต่อมาชาวจีนเขียนด้วย “ต” สะกดแทน “ด” นอกจากนี้ยังมีการสันนิษฐานได้ว่าบริเวณเกาะมีต้นขี้แรดมากจึงได้ชื่อว่าเกาะแรต ดังคำบอกเล่าของชาวบ้านว่ามาจาก ต้นขี้แรดที่มีอยู่ในชุมชน
เกาะแรตอยู่ในทำเลที่มีทิวทัศน์สวย หากมองรอบเกาะทางด้านซ้ายมือจะเห็นทางฝั่งวัดเขาสุวรรณประดิษฐ์ แหลมทวด หาดวังหิน ท่าเรือเอนกประสงค์ ทางฝั่งขวามือของเกาะจะเป็นท่าเรือเฟอร์รี่ มีเส้นทาง ชมวิวที่กำลังก่อสร้างไว้สำหรับดูปลาโลมาเล่นน้ำ และดูพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้าหรือพระอาทิตย์ตกตอนเย็น ในช่วงน้ำแห้งสามารถเดินไปยังพื้นที่เกาะแรตได้ และชาวบ้านหลาย ๆ ท้องที่จะมาหาหอย กุ้ง ปูเป็นจำนวนมาก หรือเจาะหอยตามโขดหิน
จากคำบอกเล่าของคนจีนรุ่นเก่ากล่าวว่าก่อนเป็นชุมชนบ้านเกาะแรตในปัจจุบัน เดิมทีบนเกาะแห่งนี้มีชาวมุสลิมอพยพจากนราธิวาส ปัตตานี เข้ามาอาศัยอยู่เป็นพวกแรก ประมาณ พ.ศ. 2403 ยึดอาชีพในการทำประมงแถบชายฝั่ง มาถึงเกาะแรตเห็นว่าทำเลแถบนี้มีสัตว์น้ำชุกชุมเหมาะแก่การประกอบอาชีพจึงตั้งบ้านเรือนเป็นหลักแหล่งขึ้น
ต่อมามีชาวจีนอพยพมาจากเกาะไหหลำแล้วแวะพักที่เกาะแห่งนี้ เมื่อดูว่าเป็นเกาะที่เหมาะสมต่อการตั้งรกราก จึงปักหลักตั้งหมู่บ้านเล็ก ๆ ขึ้น ปัจจุบันจึงจะเห็นว่าประชากรทั้งหมดบนเกาะร้อยละ 85 เป็นชาวไทยเชื้อสายจีนมาถึงปัจจุบันนั่นเอง
การท่องเที่ยวเริ่มเข้ามาช่วงที่สร้างสะพานเสร็จ ในปี พ.ศ.2552 ก่อนหน้านั้นคนที่เข้ามา จะมาเยี่ยมญาติในเทศกาลตรุษจีน เยี่ยมก๋ง ในปี พ.ศ.2552 นักท่องเที่ยวเริ่มเข้ามาท่องเที่ยวแต่ไม่มากนัก เริ่มแรกจากคนไทยโดยคนในเกาะแรตรู้จักและชักชวนมา ซึ่งในตอนนั้นมีโฮมสเตย์หลังแรกของนายสุทิน แสงทอง ซึ่งอัตราค่าที่พักเป็นราคาที่ไม่แน่นอน โดยจะเฉลี่ยรายคน ต่อมาประมาณ ปี พ.ศ. 2553 มีฝรั่งเข้ามาพัก ฝรั่งกลุ่มแรกมาจากเยอรมัน ซึ่งฝรั่งที่เข้ามานั้นมีแฟนอยู่ในเกาะแรตและได้ชักชวนเพื่อนๆ มาท่องเที่ยว ปัจจุบันในชุมชนบ้านเกาะแรต มีโอมสเตย์ทั้งหมด 4 แห่ง นอกจากนั้นในชุมชนบ้านเกาะแรตมีกิจกรรมการท่องเที่ยวหลายรูปแบบด้วยกัน คือ ดูปลาโลมา ซึ่งบนเกาะแรตสามารถมองเห็นปลาโลมาที่ว่ายไปยังบริเวณน้ำทะเลจืดที่หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด (อำเภอขนอม) และกิจกรรมตกปลา เป็นต้น
เป็นชุมชนชาวประมงพื้นบ้าน ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 บ้านเกาะแรต ตำบลดอนสัก อำเภอ ดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี ชุมชนนี้ตั้งอยู่บนเกาะขนาดเล็กในทะเลอ่าวไทย มีพื้นที่รวมทั้งเกาะประมาณ 60 ไร่ ห่างจากชายฝั่งบริเวณบ้านแหลมลื่นฝั่งแผ่นดินใหญ่ประมาณ 500 เมตร มีลักษณะภูมิประเทศทั่วไปเป็นภูเขาสูง ประมาณ 30 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล และมีที่ราบเชิงเขาจรดชายฝั่งทะเลโดยรอบเกาะ ส่วนพื้นที่ทางทิศใต้ และทิศตะวันตกเฉียงใต้มีที่ราบเชิงเขาเป็นบริเวณกว้าง พื้นที่ด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีลักษณะ เป็นหินผาสูงสลับกับที่ราบเชิงเขา ชุมชนเกาะแรต ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในการเสด็จมาทรงเป็นประธานเปิดสะพานเฉลิมสิริราชเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2553 เพื่ออำนวยความสะดวก และนำความเจริญมาสู่ประชาชนในชุมชนเกาะแรตจนมาถึงปัจจุบัน
ในปัจจุบันชุมชนเกาะแรต มีบ้านเรือนจำนวนประมาณ 90 ครัวเรือน โดยในอดีตได้มีชาวจีนอพยพมาจากเกาะไหหลำ ประเทศจีน โดยใช้เรือสำเภาขนาดใหญ่และขนาดเล็กเป็นพาหนะ ในการเดินทาง มีชาวจีนกลุ่มหนึ่งประมาณ 60 คน ใช้เรือสำเภาประมาณ 10 ลำ แวะพักที่เกาะเล็กๆ แห่งนี้ และได้สำรวจดูความเหมาะสมเพื่อใช้เป็นที่พักพิงทำมาหากิน มีเกาะแก่งมากมายสภาพคล้ายบ้านเกิด ที่ประเทศจีน ชาวจีนจึงตั้งรกรากอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว และยึดอาชีพการประมงทั้งหมู่บ้านจนถึงปัจจุบัน
ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง พื้นบ้านเป็นหลัก และมีอาชีพรอง เช่น แปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารทะเล เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชัง สวนยางพารา และสวนปาล์มน้ำมันบนแผนดินใหญ่ ค้าขาย และธุรกิจการท่องเที่ยว เป็นต้น โดยชุมชนเกาะแรตเป็นที่รู้จักกัน อย่างกว้างขวางในเรื่องอาหารทะเล และผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูปที่มีคุณภาพมายาวนานกว่า 30 ปี สืบเนื่อง จากฐานทรัพยากรที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งสัตว์น้ำ และความหลากหลายทางชีวภาพในทะเลบริเวณรอบเกาะ
วิถีชีวิตของชาวชุมชนเกาะแรตส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน เสร็จจากการทำประมงผู้หญิงจะทำอาหารพื้นบ้าน วิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้านมีการวางอวนกุ้ง การรุนกุ้งเคย จับปูโม๋ คว้ากุ้งด้วยมือ ฯลฯ มีวัฒนธรรมตรุษจีน กินเจ กินก๋งชิว ฯลฯ การสัญจรไปมาใช้เรือพาย ต่อมาเปลี่ยนเป็นเรือยนต์ มีอาชีพเรือจ้างข้ามฟาก แต่ปัจจุบันมีสะพานพระราชทานสะพานนามว่า "สะพานเฉลิมสิริราช" ชาวบ้านหันมาประกอบกิจการโฮมสเตย์
ทุนวัฒนธรรม
- ศาลเจ้าไหหลำ
สถานที่สำหรับการสักการะ ขอพร และทำพิธีกรรมต่างๆ ของชาวเกาะแรต เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน บนเกาะจึงมีศาลเจ้าเพื่อประกอบพิธี มีประเพณีถือศีลกินเจ และการแห่เทพเจ้าลุยไฟประจำปี ซึ่งจัดขึ้นเพียงแห่งเดียวของอำเภอดอนสัก ศาลเจ้าแห่งนี้เป็นศาลของคนจีน ภายในศาลจะมีเทพเจ้าหลายองค์ ได้แก่ ศาลเจ้าแม่ทับทิม และศาลเจ้าพ่อกวนอู โดยจะนับถือเจ้าพ่อกวนอูเป็นเทพเจ้าสูงสุดของชุมชน และยังมีศาลเจ้าแม่กวนอิมอยู่ทางฝั่งขวามือของเกาะแรต จะต้องเดินขึ้นไปบนศาลเจ้าเล็กน้อย เมื่อมองจากศาลเจ้าแม่กวนอินจะเห็นสะพานที่เข้ามายังเกาะแรต นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถเข้าไปสักการะ
- บ่อน้ำร้อยปี
บ่อน้ำร้อยปีจะตั้งอยู่ด้านหน้าของเกาะ ทางทิศตะวันออกของศาลเจ้า และตั้งอยู่ทางทิศเหนือของต้นไม้ใหญ่ ในอดีตชาวบ้านนำน้ำจากบ่อไปใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อล้างหน้า ล้างมือ ชำระร่างกายให้สะอาด เพราะน้ำในบ่อเป็นน้ำกร่อยที่มีรสชาติของน้ำทะเลเจือปนอยู่ ซึ่งปัจจุบันบ่อน้ำนี้ไม่มีการใช้งานแล้ว (แต่ก็ยังคงมีน้ำอยู่) เพราะได้มีน้ำระบบน้ำประปาที่เดินท่อมาจากผืนแผ่นดินใหญ่ ให้ชาวบ้านในชุมชนบ้านเกาะแรตใช้กัน
ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากความยากลำบากในการพัฒนา อันเนื่องมาจาก การขาดการวางแผนการพัฒนาในเชิงกายภาพ-สิ่งแวดล้อม เกิดกิจกรรมการพัฒนาที่มากจนเกินไป และเกิด ความหนาแน่นของที่อยู่อาศัย เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างไร้ทิศทางและมาตรการควบคุมในย่านชุมชนเก่า ทำให้การพัฒนาพื้นที่ในด้านสาธารณูปโภคและสาธารณูปการมีค่าใช้จ่ายสูงมาก รวมทั้งความขัดแย้งในเชิง นโยบาย-เศรษฐกิจ และเชิงสังคม-วัฒนธรรม เนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นหรือการลดลงของประชากรและความเจริญ ทางเศรษฐกิจในชุมชน จนส่งผลให้เกิดความเสื่อมโทรมทางกายภาพ การละทิ้งถิ่นฐานเพื่อออกไปประกอบอาชีพ และหารายได้ใหม่ ๆ และทำให้ขาดการสืบสานลักษณะทางสังคม วิถีชีวิต มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมตามมา และ ประชาชนส่วนใหญ่มีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสภาพปัญหาและศักยภาพของชุมชน เกาะแรต คือ ปัญหาในด้านการประกอบอาชีพและหารายได้ ซึ่งมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการประกอบอาชีพเพิ่มมากขึ้น จากในอดีต เช่น ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าจ้างแรงงาน ค่าวัสดุและอุปกรณ์การประมง เป็นต้น และยังได้รับ ผลกระทบจากการควบคุมเครื่องมือทำการประมงที่ผิดกฎหมายจากภาครัฐ จึงทำให้การประกอบอาชีพประมง พื้นบ้านมีข้อจำกัดเพิ่มมากขึ้น
กองการท่องเที่ยวและกีฬาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี. (2565). ความเป็นมาชุมชนบ้านเกาะแรต. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://kohraet.com/histories
ธีรวัฒน์ รังแก้ว. (2566). ‘คนเกาะแรต’ อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี ใช้ทุนธรรมชาติและรากเหง้าท้องถิ่นพัฒนาท่องเที่ยวชุมชน เรียนรู้วิถีท้องถิ่น ชิม‘หมูเน่าไหหลำ’ ชม‘โลมา 3 สายพันธุ์’. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://web.codi.or.th/20231128-49614/
นรา พงษ์พานิช สุธี ศรีฟ้า และฉัตรชัย พงศ์พิชิตชัย. (2563). แนวทางการปรับปรุงฟื้นฟูย่านชุมชนเก่า บนเกาะขนาดเล็ก: กรณีศึกษาชุมชนเกาะแรต อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี. วารสารวิชาการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์. 40(4), 140-168.