Advance search

มือเต๊ะโกล

เป็นชุมชนที่มีประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการอยู่อาศัยของชาวปกาเกอะญอ มานานกว่า 300 ปี มีวัฒนธรรมและพิธีกรรมความเชื่อที่มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ

2
บ้านทุ่งหลวง
แม่วิน
แม่วาง
เชียงใหม่
นิกร สุทธกูล
13 มิ.ย. 2023
นิกร สุทธกูล
16 มิ.ย. 2023
สุดารัตน์ ศรีอุบล
8 เม.ย. 2024
บ้านทุ่งหลวง
มือเต๊ะโกล

หมู่บ้านทุ่งหลวง มีชื่อเดิมว่า “ปูเดาะโกล๊ะ” ภาษาปกาเกอะญอ  หมายความว่า “ห้วยโป่งเดือด” ซึ่งเป็นชื่อที่ชุมชน เรียกตามน้ำพุร้อนที่ผุดพุ่งขึ้นมากลางลำห้วย แต่ปัจจุบันไม่พุ่งเป็นน้ำพุ แต่ยังมีอุณภูมิที่สูงกว่าปกติ และในบริเวณดังกล่าว ก็ได้ถูกปรับเป็นพื้นที่ทำกินของชาวบ้านหมดแล้ว ต่อมาทางการได้ตั้งชื่อใหม่ให้ ชื่อว่า “บ้านทุ่งหลวง” ซึ่งหมายถึง ทุ่งที่มีขนาดกว้างใหญ่ เพราะพื้นที่หมู่บ้าน มีทุ่งนา ที่มีพื้นที่กว้างมากกว่าหมู่บ้านอื่นๆ  จึงได้ชื่อว่าทุ่งหลวง มาจนถึงปัจจุบันนี้ 


ชุมชนชาติพันธุ์

เป็นชุมชนที่มีประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการอยู่อาศัยของชาวปกาเกอะญอ มานานกว่า 300 ปี มีวัฒนธรรมและพิธีกรรมความเชื่อที่มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ

บ้านทุ่งหลวง
2
แม่วิน
แม่วาง
เชียงใหม่
50360
18.70445658
98.56780976
องค์การบริหารส่วนตำบลแม่วิน

   บ้านทุ่งหลวง เป็นหมู่บ้านกะเหรี่ยงเผ่าสะกอ โดยเรียกตนเองว่า “มือเต๊ะโกล” มีประวัติความเป็นมาจากการเล่าสืบต่อกันมา โดยนับตามช่วงอายุของผู้สูงอายุในหมู่บ้าน ก่อตั้งประมาณ 326 ปี หรือเมื่อราว ปี พ.ศ. 2219 แต่ได้รวมตัวก่อตั้งขึ้นเป็นชุมชนได้ เมื่อราวปี พ.ศ. โดยการนำของ พือโหย่เจ๊ะ ปอจุ๊เนาะ และนายเกะหน่า (หลานชาย) เดิมอยู่บ้าน "ห้วยอีค่าง" ซึ่งเป็นหมู่บ้านดั้งเดิมที่สุดในลุ่มน้ำ แต่มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งในอำเภอแม่แจ่ม ไม่พอใจ หมู่บ้านห้วยอีค่าง จึงใช้เวทย์มนตร์ปล่อย "เสอะแรเกอะเส่" (ผีม้า) ทำให้คนตายจำนวนมาก จึงแยกย้ายออกมาตั้งหมู่บ้านใหม่เป็นหมู่บ้านทุ่งหลวง เหตุที่เลือกพื้นที่ลุ่มน้ำทุ่งหลวง เพราะเป็นพื้นที่ราบกว้างขวาง สามารถบุกเบิกนาและเลี้ยงสัตว์ได้ ต่อมาได้มี นายเจ๊ะมะ นายเจ๊ะพอ พร้อมด้วยครอบครัว ซึ่งอพยพมาจากบ้านหนองบอน ตำบลทุ่งปี้ ได้ย้ายมาตั้งหลักปักฐานอยู่บ้านทุ่งหลวง จนมีลูกหลานสืบทอดวงศ์ตระกูลมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีนายมีโพ ศรีเอื้องดอย เป็นฮี่โข่ และ มีนายดวงจันทร์ อูรุศิริ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกของหมู่บ้าน

   หมู่บ้านทุ่งหลวง ตั้งอยู่ห่างจาก อบต.แม่วิน ไปทางทิศตะวันตก ประมาณ 21 กิโลเมตร โดยจะอาศัยอยู่กลางระหว่างสาขาย่อยของแม่น้ำ บ้านเรือนในหมู่บ้านจะรวมกันเป็นกลุ่ม มีสวนโอบล้อมหมู่บ้านและทำนาบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ หมู่บ้านทุ่งหลวง ทำนาเป็นหลักและรองลงมาคือทำไร่หมุนเวียน ซึ่งต่อมาทางเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้เข้มงวดกวดขันมาก จึงได้เลิกทำไร่หมุนเวียน เหลือเพียงการทำนาและผลิตแบบเกษตรแผนใหม่ที่โครงการหลวงเข้ามาส่งเสริม การถือครองที่ดินสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มหลักคือ กลุ่มครอบครัวขยายที่มีที่ทำกินราว 20-30 ไร่และกลุ่มครอบครัวเดี่ยวมีที่ทำกินราว 5-19 ไร่ (รวมที่นาและที่สวน) นอกจากนี้ ยังมีการเลี้ยงสัตว์ เช่น วัว ควาย หมู ไก่และช้าง ซึ่งมีน้อยมากราว 1 - 2 เชือก 

 อาณาเขตติดต่อ

o ทิศเหนือ  ติดต่อกับ  หมู่บ้านห้วยอีค่าง หมู่ที่ 1 (คลีสซูคี) ตำบลแม่วิน  อำเภอแม่วาง 

o ทิศใต้  ติดต่อกับ  หมู่บ้านแม่สะป๊อก หมู่ที่ 5 และบ้านแม่มูต หมู่ที่ 6 ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง

o ทิศตะวันออก  ติดต่อกับ  หมู่บ้านหนองมณฑา หมู่ที่ 16 (มอวาคี) ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง

o ทิศตะวันตก  ติดต่อกับ หมู่บ้านห้วยตอง หมู่ที่ 10 (เชอคี) ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง

บ้านทุ่งหลวงตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลแม่วิน  อำเภอแม่วาง  จังหวัดเชียงใหม่  มีสภาพทั่วไปเป็นภูเขาสลับซับซ้อนล้อมรอบ  เช่น ดอยก่าโจ๊ะ ดอยเหล่อปอเฮอ  ดอยม่อนยะ  ดอยโลหลู่  ดอยพอเดาะอูโจ๊ะ  ดอยธาตุ เป็นต้น  มีพื้นที่ราบกว้าง  ลักษณะการตั้งหมู่บ้าน จะตั้งอยู่บนสันเขาและเชิงเขา สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ  500-900 เมตร มีลำห้วย 10 สาย ล้อมรอบหมู่บ้าน เช่น ห้วยแม่เตียน  ห้วยโป่งเดือด  ห้วยทราย  ห้วยเหล่อปอเฮอ ไหลผ่านหมู่บ้าน มีน้ำไหลตลอดปี

ประชากรทั้งหมด 604 คน แบ่งเป็นเพศชาย 306 คน และเพศหญิง 298 คน มีจำนวนครัวเรือน 183 ครัวเรือน ความสัมพันธ์ของคนภายในชุมชนเป็นลักษณะแบบครอบครัว เนื่องจากครอบครัวในชุมชนเป็นแบบครอบครัวขยาย ส่วนใหญ่เป็นพี่น้องกันหมด การพึ่งพาอาศัย จึงเป็นลักษณะช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน จึงทำให้ชุมชนยังคงมีความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นและมีโครงสร้างที่เป็นแบบดั้งเดิม

ญาติทางสายแม่ถือว่ามีความสำคัญในสังคมของชาวกะเหรี่ยง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ กรณีของผู้ใหญ่บ้านมีพ่อซึ่งเป็นชาวกะเหรี่ยงกลุ่มสะกอแต่งงานย้ายเข้ามาอยู่กับบ้านภรรยา ซึ่งก็คือแม่ของผู้ใหญ่บ้านที่เป็นกลุ่มโปว์ เมื่อถามถึงการนิยามตนเองจากผู้ใหญ่บ้านว่าเป็นกรณีลูกครึ่งที่พ่อเป็นสะกอแม่เป็นโปว์นี้ ผู้ใหญ่บ้านนิยามตนเองเป็นกะเหรี่ยงกลุ่มใด ได้ความว่านิยามตนเองเป็นกะเหรี่ยงโปว์ตามแม่ ชาวบ้านอีกคนหนึ่งให้ข้อมูลว่าแม่ของตนเป็นกะเหรี่ยงสะกอพ่อเป็นกะเหรี่ยงโปว์ ตนถือว่าเป็นกะเหรี่ยงสะกอเพราะนับตามแม่เป็นหลัก แสดงว่าการสืบตระกูลทางฝ่ายแม่มีความสำคัญในระบบเครือญาติและสำคัญต่อการนิยามสถานะทางชาติพันธุ์ว่าเป็นกะเหรี่ยงกลุ่มใดด้วย

     ส่วนมากพิธีเหล่านี้จะสัมพันธ์กับการให้ขวัญกำลังใจ เช่นพิธีมัดมือหรือผูกข้อมือ แต่สำหรับชาวกะเหรี่ยงบ้านหนองมณฑา จะใช้พิธีมัดมือหรือผูกข้อมือกำจัดเคราะห์ร้ายต่าง ๆ รวมไปถึงการเจ็บไข้ได้ป่วยด้วย พิธีดังกล่าวเรียกว่า พิธี "ซือโคะ" หรือ พิธีมัดมือ เป็นพิธีที่ทำในแต่ละครอบครัวหรือแต่ละตระกูลของชาวกะเหรี่ยงบ้านหนองมณฑา เมื่อคนในครอบครัวเจ็บไข้ได้ป่วยหรือเกิดประสบเคราะห์ร้าย อุบัติเหตุ ด้วยความเชื่อว่าถูกผีทำร้ายก็จะให้ "ตะละ" เป็นผู้ทำพิธีให้เริ่มด้วยการเสี่ยงทายผี เพื่อดูก่อนว่าผีชนิดใดเป็นผู้มาทำร้าย การเสี่ยงทายดูผีนี้เรียกว่า "ตะละก้าต้า" หลังจากดูผีเสร็จก็จะกำหนดวิธีในการแก้ไขรักษาว่าจะทำพิธีรักษาเมื่อใด ทำอย่างไร ใช้อะไรมาเป็นเครื่องพิธีกรรมและการเลี้ยงผี ผู้ที่เป็นหมอรักษาที่เรียกว่า "ตะละ" นั้น ไม่จำเป็นต้องสืบสายตระกูลตามผู้นำพิธีที่เรียกว่า ฮิโคะและฮิคะ ดังนั้นผู้ที่จะเป็นตะละได้ก็คือผู้ที่มีความสามารถที่จะไปเรียนรู้วิชาจากอาจารย์ที่เป็นตะละมาก่อน มีธรรมเนียมในการเรียนเพื่อที่จะมาเป็นตะละว่า อาจารย์ตะละมักจะไม่สอนให้ในเวลากลางวันแต่จะสอนในเวลากลางคืนหรือกล่าวกันว่าสอนในเวลาไก่หลับ เพราะเชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์

ปกาเกอะญอ

หมู่บ้านทุ่งหลวง เกือบทั้งหมดนับถือศาสนาตามประเพณีเดิม ซึ่งเรียกว่า "เอาะบก๊ะ" ซึ่งหมายถึงการนับถือผีบรรพบุรุษ แต่มีจำนวน 12 หลังคาเรือนที่นับถือศาสนาพุทธและอีก 1 หลังคาเรือนที่นับถือคาทอลิค ถึงแม้จะมีการนับถือศาสนาอื่นแต่ก็มิได้ตัดประเพณีเดิมทั้งหมด ตัดเพียงพิธีบก๊ะเท่านั้น

บ้านเรือน / ที่อยู่อาศัย

รูปแบบ แบบแผนการสร้างบ้านเรือน ลักษณะบ้านเรือน สถาปัตยกรรม มีลักษณะการยกใต้ถุน และเป็นเรือนไม้ดังภาพ ซึ่งเรือนผู้นำชาวกะเหรี่ยงที่มีฐานะจะสร้างเรือนด้วยวัสดุที่ถาวรและมั่นคง 

กลุ่มอาชีพ

ชาวบ้านหนองมณฑาส่วนใหญ่มีการประกอบอาชีพการทำไร่ทำนาเป็นอาชีพหลัก การเลี้ยงสัตว์ เช่น เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย เป็นอาชีพรอง และรับจ้างทั่วไปเป็นอาชีพเสริม

งานหัตถกรรม

งานศิลปกรรมโดยเฉพาะงานหัตถกรรมทอผ้า ถือเป็นงานฝีมือที่โดดเด่นของชุมชน ผู้หญิงหลายคนในหมู่บ้านยังสามารถทอผ้าได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนสูงอายุจะทอผ้าตามใต้ถุนบ้านยามว่างเป็นประจำ เคยมีโครงการส่งเสริมการทอผ้ามาก่อน แต่มีปัญหาในเรื่องการจัดการ เนื่องจากชาวบ้านไม่สะดวกที่จะเข้าร่วมโครงการตลอดเวลา การทอผ้ากะเหรี่ยง ยังถือว่าเป็นงานที่ทำเสริมนอกเหนือไปจากการทำไร่นาเท่านั้น ทำให้ไม่สามารถเร่งทำผลิตภัณฑ์ผ้าทอได้เต็มที่ สำหรับผู้ที่ยังใช้เวลาว่างทอผ้าอยู่บ้างเมื่อทอได้จำนวนหนึ่งก็จะเก็บไว้รอเมื่อมีงานเทศกาลสำคัญที่ตัวอำเภอหรือตามแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ก็จะนำไปส่งรวมกัน

องค์กรชุมชน

ปัจจุบันชาวบ้านหนองมณฑามีการรวมกลุ่มกันจัดตั้งกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งมีกองทุน กข.คจ. มีสมาชิกทั้งหมู่บ้าน มียอดเงิน ณ ปัจจุบัน 280,000 บาท, กองทุนนำร่อง มีสมาชิก 24 คน มียอดเงิน ณ ปัจจุบัน 200,000 บาท, กองทุนข้าว มีสมาชิก 7 คน มียอดเงิน ณ ปัจจุบัน 3,000 บาท, กลุ่มเลี้ยงควาย มีสมาชิก 10 คน มียอดเงิน ณ ปัจจุบัน 40,000 บาท

ชาวบ้านส่วนใหญ่ของบ้านหนองมณฑา นับถือศาสนาพุทธมากที่สุดและมีบางส่วนนับถือผี โดยจะมีขนบธรรมเนียม ประเพณีและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเซ่นไหว้สังเวยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางความเชื่อเป็นประจำทุกปีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยในเรื่องของการปกป้องและคุ้มครองคนในครอบครัว พ้นจากสิ่งโชคร้ายหรือโรคภัยไข้เจ็บ เช่น

1. ประเพณีมัดมือปีใหม่ มักจะจัดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี

2. ประเพณีมัดมือกลางปี มักจะจัดในช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปี เพราะเป็นช่วงที่มีอากาศร้อน อันตรายต่อชีวิตและความเป็นอยู่ จึงมีการทำพิธีมันมือลาคุปู เพื่อขอพรกับเทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายและเพื่อให้ชีวิตได้อยู่เย็นเป็นสุข

3. พิธีกรรมการกินเหล้า การกินเหล้าของชาวปกาเกอะญอในรอบหนึ่งปีจะมีสามครั้ง เชื่อว่าเป็นการรำลึกและบูชาเทพยาดา เป็นการให้เจ้าที่ เจ้าดิน เจ้าน้ำ เจ้าป่า เจ้าเขาได้รับผลประโยชน์และให้ดูแลการทำมาหากินให้ได้ผลผลิตที่ดีขึ้น รวมถึงดูแลครอบครัวให้อยู่เย็นเป็นสุข รอดพ้นจากสิ่งอันตรายและชั่วร้าย

การแต่งกายของชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง บ้านทุ่งหลวง   

ปัจจุบัน การแต่งกายของผู้ชายชาวบ้านทุ่งหลวง โดยปกติทั่วไปจะแต่งกายแบบคนพื้นราบหรือคนเมือง แต่ถ้ามีเทศกาลสำคัญอย่างไรก็ตาม ผู้ชายก็มีชุดประจำเผ่า ใส่เสื้อทอมือสีแดง นุ่งกางเกงขาก๊วยสีดำ ของผู้ชายชาวกะเหรี่ยง ผู้ชายซึ่งแบ่งแยกสถานะของคนที่แต่งงานแล้วและคนที่ยังไม่แต่งงานด้วยผ้านุ่ง ผ้านุ่งที่เป็นโสร่งลาย เรียกว่า "แทตัวคี" สำหรับชายกะเหรี่ยงที่แต่งงานแล้ว ผ้านุ่งที่เป็นโสร่งสีแดง เรียกว่า "แทเตอะดอกฺง่อ" สำหรับชายหนุ่มกะเหรี่ยงที่ยังไม่ได้แต่งงาน คำว่า "กฺง่อ" แปลว่า สีแดง

ผ้านุ่งผู้หญิงมีการประดับประดาด้วยลวดลายและเมล็ดพืชนำมาร้อยเป็นลูกปัดเย็บประกอบเป็นลวดลายในผ้าทออีกทีหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีการใช้เทคนิคการมัดย้อมที่เรียกว่ามัดหมี่ในผ้าทอกะเหรี่ยงด้วย สอบถามได้ความว่าเทคนิคมัดหมี่สืบทอดมาตั้งแต่รุ่นแม่ของผู้ทอรุ่นปัจจุบัน

9.1.พีเจ๊าะ

อายุ 90 ปี วันที่ 23 พฤษภาคม 2555 ผู้อาวุโสของหมู่บ้านหนองมณฑา โดยยายมีพี่น้อง 10 คน เสียชีวิต 7 คน ยายเป็นคนที่ 2 มีที่น้องผู้ชาย 6 คน ผู้หญิง 4 คน ปัจจุบันมีพี่น้องเหลือ 3 คน พีเจ๊าะได้บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับอดีตให้ฟังว่า

"ในอดีตได้ทำไร่และได้ปลูกข้าวโพดด้วยมีลิงเยอะมากเข้ามากินข้าวโพด เวลาเกี่ยวข้าวแล้วตากแห้งในไร่ตัวเม่นก็มากินอีก มีสัตว์ป่าเยอะมากไปไหนมาไหนไม่ค่อยกล้าเพราะกลัวสัตว์ป่า พออายุ 20 ปีก็แต่งงาน สามีชื่อ แกล๊ะเอะ มีลูกด้วยกัน 7 คน มีผู้หญิง 2 คน คนหนึ่งชื่อหน่ออีปุ๊ เป็นผู้รู้เรื่องหมอตำแย และอีกคนหนึ่งชื่อหน่อเคล่ เป็นคนสุดท้อง มีผู้ชาย 5 คน คนที่หนึ่งชื่อนายตะแอ๊ะ เป็นคนโตย้ายไปอยู่ที่บ้านใหม่ คนที่สองชื่อนายพาโล๊ะเป็นฮี่โข่อยู่ที่มอวาคี คนที่สามชื่อพาเม๊เหล่ไปได้ครอบครัวที่บ้านห้วยตองสาด อำเภอสะเมิง คนที่สี่ชื่อส่าน่าอยู่มอวาคีไม่ได้มีครอบครัว คนที่ห้าชื่อเก่อเหน่อ อยู่มอวาคี พีเจ๊าะเกิดที่บ้านแม่ขะปู อำเภอสะเมิง จนพีเจ๊าะอายุ 10 ปีพ่อก็ย้ายลงมาอยู่ที่แคลอพะโดะ อยู่ที่แคลอพะโคะจนอายูถึง 20 ปีมีก็มีจีนฮ่อมาปล้นครอบครัวนายตะเข่อเหล่อ จีนฮ่อมาตอนกลางคืนเอาปืนมาด้วย มาด้วยกันหลายคน พี่เจ๊าะตกใจเลยหลบหนีซ่อนตัวที่นอกหมู่บ้าน ในคืนนั้นมีปรากฎว่ามีผู้ตายจำนวน 4 คน เป็น

การสืบทอดองค์ความรู้ตามแบบประเพณีเดิมและการจัดองค์กรสามารถแบ่งออกเป็น 2 ระดับคือ ระดับครอบครัว-เครือญาติและระดับชุมชน การสืบทอดองค์ความรู้ในระดับครอบครัว-เครือญาติได้แก่การสืบทอดผ่านการใช้ชีวิตประจำวัน ผ่านพิธีกรรมในระดับครอบครัว ส่วนการสืบทอดองค์ความรู้ในระดับชุมชน ได้แก่ การสืบทอดผ่านพิธีกรรมต่างๆ และกิจกรรมในรอบปีการผลิตในระดับชุมชน   

หมู่บ้านทุ่งหลวงมีโครงการหลวงมาส่งเสริมการเกษตรแผนใหม่เมื่อปี พ.ศ.2530 เป็นผลให้การผลิตแบบพื้นบ้านโดยเฉพาะการทำไร่หมุนเวียนหายไป

ปัจจุบัน ชาวบ้านทุ่งหลวงส่วนมาก ยังคงใช้ภาษาปกาเกอะญอเป็นภาษาหลัก ในการสื่อสารกันเองทั้งภายในครอบครัว ภายในหมู่บ้าน หรือภายนอกหมู่บ้าน ที่เป็นชาติพันธุ์เดียวกัน มีภาษาเขียนที่เรียกว่า “ลิวา” แต่ไม่ค่อยนิยมใช้กัน มีการสอนภาษาไทยและภาษาอังกฤษควบคู่ไปด้วย เนื่องจากต้องการที่จะปลูกฝังความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของกลุ่มชน รู้จักและรักษ์ป่า สอนให้สำนึกในวิถีของปกาเกอะญอ มีการสอนภาษาปกาเกอะญอ  ทั้งฟัง พูด อ่านและเขียน ทำให้เด็ก ๆ ภายในหมู่บ้าน ได้เรียนรู้ภาษาของกลุ่มชนและไม่ทำให้ภาษาปกาเกอะญอสูญหายไป


ชาวบ้านหนองมณฑามีการร่วมกันจัดตั้งโรงเรียนบ้านมอวาคี มีการสอนตั้งแต่ภาษา การแต่งกาย การอบรมสั่งสอนลูกหลานผ่านการเล่านิทาน และวัฒนธรรมที่ปกาเกอะญอสืบทอดกันภายในครอบครัว ตลอดระยะเวลากว่า 21 ปี มีการให้คนในชุมชนเข้ามามีบทบาทในการรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนเอง เป็นการสร้างจิตสำนึกร่วมกันเกิดความรักในกลุ่มชาติพันธุ์ของตนเองมากขึ้น มีหน่วยงานภาคเอกชน ภาครัฐ เช่น สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (ศ.ว.ท.) มีส่วนร่วมการจัดศึกษาในชุมชนโดยให้เป็นพี่เลี้ยงในการวางแผนการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นวิถีชีวิตแบบปกาเกอะญอ ปัจจุบันมีหลักสูตรของตนเองที่ใช้ในโรงเรียนบ้านมอวาคี สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดเชียงใหม่ ให้การสนับสนุนด้านการรับรองการจบวุฒิทางการศึกษาของนักเรียน เพื่อให้สามารถไปเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ กระทรวงวัฒนธรรม ให้การส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมที่จะเป็นประโยชน์ทางด้านวัฒนธรรมของชุมชน เช่น การทอดถ่ายความรู้ภูมิปัญญาปกาเกอะญอให้แก่เด็ก นักเรียนในชุมชน เรื่องการย้อมฝ้ายโดยใช้สีจากธรรมชาติ การทอผ้าแบบกี่เอว ดนตรี ความรู้จารีตประเพณีในการทำนาทำไร่หมุนเวียน ป่าเดอปอทู (ต้นสะดือ) ทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติในชุมชน ให้เป็นเส้นทางท่องเที่ยวภายในชุมชน เป็นต้น

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
  • อนงค์พร ภูมิปัญญาดีสม และคณะ. (2555). โครงการวิจัยศักยภาพของการคงอยู่ทางอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของชุมชนวัฒนธรรมพิเศษ. 
  • กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. ค้นคืนเมื่อ 19 เมษายน 2566 ,จากฐานข้อมูลงานวิจัยศมส.: www.sac.or.th/databases/sac_research/research_pdf_pdf.php?file_id=1548&ob_id=100
  • ภูมิปัญญาชนเผ่าปกาเกอะญอสานต่อที่มอวาคี. (ม.ป.ป.). ค้นคืนเมื่อ 19 เมษายน 2566, จาก http://tribalcenter.blogspot.com/
  • องค์การบริหารส่วนตำบลแม่วิน. ( 2562). หมู่ที่ 16 บ้านหนองมณฑา. ค้นคืนเมื่อ 19 เมษายน 2566, จาก http://maewin.net/
  • นฤมล ลภะวงศ์, และ อนุรักษ์ ปัญญานุวัฒน์. (2557). กระบวนการจัดการเพื่อรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ บ้านหนองมณฑา อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่. วารสารวิชาการการท่องเที่ยวไทยนานาชาติ, 10(2), ค้นคืนเมื่อ 19 เมษายน 2566, จาก https://so02.tci-thaijo.org/index.php/jitt/article/view/31359
  • Open map. (2018). นักเรียนปกาเกอะญอบ้านหนองมณฑา ค้นจาก http://www.openmap.in.th/182/