Advance search

บ้านมอวาคี, บ้านขุนแม่มุต

บ้านมอวาคี เป็นชุมชนที่มีประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการอยู่อาศัยของชาวปกาเกอะญอ มานานกว่า 300 ปี มีวัฒนธรรมและพิธีกรรมความเชื่อที่มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ

16
หนองมณฑา
แม่วิน
แม่วาง
เชียงใหม่
นิกร สุทธกูล
14 มิ.ย. 2023
นิกร สุทธกูล
16 มิ.ย. 2023
สุดารัตน์ ศรีอุบล
8 เม.ย. 2024
บ้านหนองมณฑา
บ้านมอวาคี, บ้านขุนแม่มุต

ชื่อของหมู่บ้านนั้นเดิมเรียกว่า ขุนแม่มุต ชาวปกาเกอะญอเรียกว่า มอวาคีเนื่องจากมีโป่งเขาอยู่ในลำห้วย ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นทุ่งนาที่ชาวบ้านใช้ทำนาปลูกข้าวไปแล้ว 


ชุมชนชาติพันธุ์

บ้านมอวาคี เป็นชุมชนที่มีประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการอยู่อาศัยของชาวปกาเกอะญอ มานานกว่า 300 ปี มีวัฒนธรรมและพิธีกรรมความเชื่อที่มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ

หนองมณฑา
16
แม่วิน
แม่วาง
เชียงใหม่
50360
18.718680
98.616619
องค์การบริหารส่วนตำบลแม่วิน

พื้นที่หมู่บ้านมอวาคี คาดว่ามีผู้คนอาศัยอยู่เมื่อประมาณ 700 - 800 ปีมาแล้ว สังเกตได้จากชุมชนร้างของชาวลั้วะในปัจจุบัน คือ เก๊อหว่าโล ซึ่งอยู่ห่างจากชุมชนมอวาคี ประมาณ 1 กิโลเมตร สำหรับชาวปกาเกอะญอนั้นสันนิษฐานว่าเข้ามาอาศัยอยู่บริเวณนี้ ประมาณ 250 - 300 ปีมาแล้ว จากคำบอกเล่าของผู้อาวุโสในชุมชน พีหน่อเจ๊าะ อายุ 90 ปี กล่าวว่ามีคนมาอาศัยอยู่ในเขตป่ามอวาคีมาแล้วหลายช่วงอายุคนและหลายกลุ่มเท่าที่จำได้ ผู้ที่เข้ามาอาศัยเป็นกลุ่มแรก มาจากหมู่บ้านแม่โต๋และบ้านแม่ขะปู ลุ่มน้ำอำเภอสะเมิง โดยมีนายตะเข่อเหล่อเป็นคนแรกที่เข้ามาอยู่ ซึ่งในอดีตนั้นมีจำนวนบ้านเรือนไม่มากนัก การตั้งถิ่นฐานในสมัยนั้นไม่ได้มีเพียงแห่งเดียว มีการตั้งที่อยู่อาศัยซึ่งมีบ้านร้าง ที่แคลอพะโดะ ที่คนเคยมาอยู่อาศัยก่อนแล้วมีการย้ายไปมา การย้ายแต่ละครั้งนั้นมีสาเหตุมาจากความห่างไกลจากแหล่งน้ำเพื่อบริโภคและในช่วงฤดูแล้งน้ำไม่เพียงพอจึงต้องมีการย้ายมาอยู่ที่ใหม่โดยมีนายตะเข่อเหล่อ นายโบะแชว นายพาแระยวา นายตะบิโข่ เป็นแกนนำผู้บุกเบิกในการจัดตั้งชุมชน

ต่อมามีชาวจีนฮ่อเข้ามาปล้นหมู่บ้าน ชาวบ้านถูกฆ่าตาย บุคคลที่เสียชีวิต คือ นายตะเข่ยเหล่อ ภรรยา และบุตรชาย และจีนฮ่อที่มาปล้น 1 คน ภายหลังเหตุการณ์ทำให้ไม่มีผู้คนกล้าอยู่อาศัย จึงย้ายเข้ามาอยู่ที่มอวาคีหรือบ้านหนองมณฑา โดยมีครอบครัวแรกที่มาอยู่คือ ลูกหลานของ นายตะเช่อเหล่อ เนื่องจากพื้นที่นี้ความเหมาะสมในการตั้งถิ่นฐาน มีน้ำอุดมสมบูรณ์ ใกล้พื้นที่ทำกินและคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ย้ายไปอยู่รวมกันที่เก๊อหว่าโลหรือบ้านใหม่ ที่มีคนมาอาศัยอยู่ก่อนแล้ว

ในอดีตหมู่บ้านมอวาคีตั้งอยู่ที่ หมู่ 6 ที่เดียวกับบ้านแม่มุตเป็นชุมชนเมือง มีผู้ใหญ่บ้านทางการคนเดียวกัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2531 ได้มีการแยกออกเป็นสองหมู่บ้าน หนึ่งในนั้นคือ บ้านมอวาคี หมู่ที่ 16 ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายเพชร ติกล้า เป็นผู้ใหญ่บ้าน

หมู่บ้านหนองมณฑาหรือบ้านมอวาคีเป็นชุมชนชาวปกาเกอะญอ ตั้งอยู่ในเขตหมู่ที่ 16 ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีการสร้างบ้านเรือนตั้งอยู่บนสันเขา เป็นหย่อม ๆ ตามที่ราบระหว่างหุบเขาหรือที่ราบเชิงเขา การเดินทางเข้าไปในพื้นที่ของหมู่บ้านมีความยากลำบาก ในช่วงฤดูฝนการเดินทางลำบากมากเพราะถนนดินส่วนใหญ่ในพื้นที่สูงมีลักษณะเป็นดินแดง ยามฝนตกจะลื่น การเดินทางของประชาชนมีความลำบากพอสมควร การเดินทางไปอำเภอแม่วาง ถึงหมู่บ้านระยะทางประมาณ 70 กว่ากิโลเมตร โดยหมู่บ้านมีหอกระจายข่าว 1 แห่ง และมีประปาหมู่บ้าน 1 แห่ง

อาณาเขตติดต่อ

o ทิศเหนือ  ติดต่อกับ  อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่

o ทิศใต้  ติดต่อกับ  บ้านแม่มูต หมู่ที่ 6 ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง

o ทิศตะวันออก  ติดต่อกับ  อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

o ทิศตะวันตก  ติดต่อกับ  บ้านทุ่งหลวง หมู่ที่ 2 ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง

บ้านหนองมณฑา ประชากรส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอโดยมีประชากรทั้งหมด 604 คน แบ่งเป็นเพศชาย 306 คน และเพศหญิง 298 คน มีจำนวนครัวเรือน 183 ครัวเรือน ความสัมพันธ์ของคนภายในชุมชนเป็นลักษณะแบบครอบครัว เนื่องจากครอบครัวในชุมชนเป็นแบบครอบครัวขยาย ส่วนใหญ่เป็นพี่น้องกันหมด การพึ่งพาอาศัย จึงเป็นลักษณะช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน จึงทำให้ชุมชนยังคงมีความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นและมีโครงสร้างที่เป็นแบบดั้งเดิม

ญาติทางสายแม่ถือว่ามีความสำคัญในสังคมของชาวกะเหรี่ยง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ กรณีของผู้ใหญ่บ้านมีพ่อซึ่งเป็นชาวกะเหรี่ยงกลุ่มสะกอแต่งงานย้ายเข้ามาอยู่กับบ้านภรรยา ซึ่งก็คือแม่ของผู้ใหญ่บ้านที่เป็นกลุ่มโปว์ เมื่อถามถึงการนิยามตนเองจากผู้ใหญ่บ้านว่าเป็นกรณีลูกครึ่งที่พ่อเป็นสะกอแม่เป็นโปว์นี้ ผู้ใหญ่บ้านนิยามตนเองเป็นกะเหรี่ยงกลุ่มใด ได้ความว่านิยามตนเองเป็นกะเหรี่ยงโปว์ตามแม่ ชาวบ้านอีกคนหนึ่งให้ข้อมูลว่าแม่ของตนเป็นกะเหรี่ยงสะกอพ่อเป็นกะเหรี่ยงโปว์ ตนถือว่าเป็นกะเหรี่ยงสะกอเพราะนับตามแม่เป็นหลัก แสดงว่าการสืบตระกูลทางฝ่ายแม่มีความสำคัญในระบบเครือญาติและสำคัญต่อการนิยามสถานะทางชาติพันธุ์ว่าเป็นกะเหรี่ยงกลุ่มใดด้วย

ชาวกะเหรี่ยงบ้านหนองมณฑา มีความสัมพันธ์กับความเชื่อหลักอยู่สองรูปแบบคือ ความเชื่อตามศาสนาพุทธที่เข้ามาตามสังคมไทยและพม่าตั้งแต่สมัยอดีต ในขณะเดียวกันก็มีความเชื่อเรื่องผี และธรรมชาติอยู่เป็นพื้นฐานดั้งเดิมอยู่แล้ว พิธีกรรมความเชื่อ ที่ยังคงมีควบคู่อยู่กับชุมชนมาจนถึงปัจจุบัน ได้แก่

ผีต้นน้ำ "เลอข่อคี" มีความเชื่อเรื่องผีที่ดูแลรักษาต้นน้ำของหมู่บ้านอยู่บริเวณต้นน้ำ ที่เรียกว่า "เลอข่อคี" ห่างจากหมู่บ้านไปทางทิศตะวันออกประมาณ 5 กิโลเมตร เป็นจุดที่ทำให้เกิดลำน้ำที่ไหลผ่านตัวหมู่บ้านอีกทีหนึ่ง ในการทำพิธีไหว้ผีต้นน้ำปัจจุบันไม่มีหมอผีผู้ทำพิธีโดยตรงแล้วแต่หน้าที่นี้จะเป็นของผู้อาวุโสของหมู่บ้านที่ได้รับเลือกให้เป็นคนที่มีหน้าที่ดูแลน้ำเป็นผู้พาทำพิธีเพื่อแสดงความเคารพ ไม่ไปล่าสัตว์บริเวณนั้น ในอดีตการเลี้ยงผีจะมีการฆ่าไก่เพื่อเลี้ยงผีน้ำให้ดูแลปกปักรักษา ครั้นเมื่อราว 30 ปี ที่ผ่านมาได้เลิกการเลี้ยงผีแบบเดิมไปด้วยเหตุที่สมัยนั้นผู้ใหญ่ตัดสินใจทำระบบประปาภูเขา ทำให้เห็นว่าคนทั่วไปก็สามารถเข้าไปจัดการต้นน้ำนำมาใช้ อีกทั้งต่อมาได้มีพระเข้าไปใช้พื้นที่บริเวณนั้นอาศัยอยู่ทำให้ความเชื่อเรื่องผีน้ำเริ่มคลายลงไป

ผีฝาย ผีนา คือ พิธี "ลื่อทีบอ" มีพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร คือ พิธีเลี้ยงผีฝาย ผีนา ในการเลี้ยงผีนาจะประกอบด้วยพิธีที่ซับซ้อน เช่น การเลี้ยงผีให้ดูแลข้าวที่เพิ่งปลูก "แตะเจะ" การทำพิธี "เกาะเทาะโทะ" เพื่อเชิญวิญญาณนกเหยี่ยว ให้เป็นตัวนำโชคให้พืชพรรณ ธัญญาหาร เชิญวิญญาณสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาขอบคุณ ให้กินข้าวให้มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ให้ปีต่อไปได้ผลผลิตข้าวดี และเชิญผีให้มาดูแลรักษาต่อในปีหน้า พิธีนี้จะทำตอนเกี่ยวข้าวและเอาข้าวกลับเข้ามาในบ้านเข้ายุ้งฉาง จากนั้นจะออกไปทำพิธีที่ไร่นา หลังจากเสร็จพิธีก็จะนำเหล้าและกับข้าวกลับมารินเหล้าที่ยุ้งข้าวอีกครั้ง ผู้ที่นำพิธีเลี้ยงผีนาเรียกว่า "แหว่โก๊ะ" ส่วนใหญ่จะให้ผู้ชายที่เป็นเรี่ยวแรงสำคัญในที่นาแต่ละแห่งเป็นคนทำพิธี ซึ่งมักจะเป็นผู้นำในครอบครัว จึงไม่จำเป็นต้องใช้หมอผีรวมทั้งจะมีการนำผู้อาวุโสอีก 3 คนซึ่งมักจะมีฐานะเป็นปู่หรือตาไปช่วยร่วมอธิษฐานในพิธีร่วมกับแหว่โก๊ะ การเลี้ยงผีนาจะให้หมูหรือไก่ก็ได้ หากนำหมูมาเลี้ยงผีจะพิจารณาที่ดีหมู ถ้าดีหมูในการเลี้ยงผีมีลักษณะไม่ดีก็ต้อทำพิธีเลี้ยงใหม่ อีกทั้งต้องหลีกเลี่ยงการพูดไม่ดีในระหว่างพิธีหรือเหตุร้ายที่เกิดขึ้นในพิธี เช่น เหล้าหกไม่ได้ แมงป่องกัดไม่ได้ มิฉะนั้นต้องทำพิธีใหม่ ในระหว่างที่มีการเลี้ยงผีนาถ้ามีแขกหรือคนนอกบ้านมาถึงบ้านที่กำลังทำพิธี  สามารถเชิญแขกเข้ามากินเลี้ยงร่วมด้วยได้ ซึ่งต่างไปจากข้อห้ามของพิธีอื่น ๆ ส่วนใหญ่มักจะห้ามแขกหรือคนนอกเข้าร่วมพิธี 

ข้อห้าม ข้อปฏิบัติของชุมชนชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยงบ้านหนองมณฑา ส่วนมากจะเป็นข้อห้ามที่เกี่ยวข้องกับการทำพิธีกรรม ซึ่งพิธีกรรมต่าง ๆ เกือบทั้งหมดจะห้ามไม่ให้คนนอกเข้าร่วม ยกเว้นพิธีเลี้ยงผีนา ในระหว่างที่มีการเลี้ยงผีนาถ้ามีแขกหรือคนนอกบ้านมาถึงบ้านที่กำลังทำพิธี สามารถเชิญแขกเข้ามากินเลี้ยงร่วมด้วยได้ 

ในชุมชนบ้านมอวาคี มีผู้นำในการประกอบพิธีกรรมหลายคน ตามตำแหน่งและหน้าที่ ได้แก่

1. ฮิโคะ เป็นตำแหน่งหัวหน้าผู้นำพิธีกรรมของหมู่บ้าน ในกรณีไม่มีฮิโคะหลืออยู่แล้ว หน้าที่นี้จึงเป็นหน้าที่ใหม่ของฮิคะ เข้ามาสวมบทบาทแทน 

2. ฮิคะ (ตำแหน่งรองฮิโคะ) ในกรณีไม่มีฮิคะเหลืออยู่แล้ว หน้าที่นี้จึงเป็นหน้าที่ใหม่ของตะละเข้ามาสวมบทบาทแทน 

 3. ผู้เฒ่าผู้แก่ หากไม่มีผู้นำพิธีกรรมอยู่ 

 4. ผู้อาวุโส

 5. ตะละ (หมอรักษา) ผู้ที่จะเป็นตะละได้ก็คือผู้ที่มีความสามารถที่จะไปเรียนรู้วิชาจากอาจารย์ที่เป็นตะละมาก่อน มีธรรมเนียมในการเรียนเพื่อที่จะมาเป็นตะละว่า  อาจารย์ตะละมักจะไม่สอนให้ในเวลากลางวัน แต่จะสอนในเวลากลางคืนหรือกล่าวกันว่าสอนในเวลาไก่หลับ เพราะเชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ บางครั้งอาจารย์ตะละอาจพาไปสอนในที่ลับตา

6. ตะละโพ (หมอเล็ก) ส่วนใหญ่แล้วจะทำพิธีเกี่ยวกับขวัญและวิญญาณให้กับบุคคลรวมทั้งพิธีในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ

 7. ตะละผาโด้ (หมอใหญ่) คือหมอหรือผู้รู้อาวุโส

8. แหว่โก๊ะ ผู้นำพิธีเลี้ยงผีนา 

  ส่วนมากพิธีเหล่านี้จะสัมพันธ์กับการให้ขวัญกำลังใจ เช่นพิธีมัดมือหรือผูกข้อมือ แต่สำหรับชาวกะเหรี่ยงบ้านหนองมณฑา จะใช้พิธีมัดมือหรือผูกข้อมือกำจัดเคราะห์ร้ายต่าง ๆ รวมไปถึงการเจ็บไข้ได้ป่วยด้วย พิธีดังกล่าวเรียกว่า พิธี "ซือโคะ" หรือ พิธีมัดมือ เป็นพิธีที่ทำในแต่ละครอบครัวหรือแต่ละตระกูลของชาวกะเหรี่ยงบ้านหนองมณฑา เมื่อคนในครอบครัวเจ็บไข้ได้ป่วยหรือเกิดประสบเคราะห์ร้าย อุบัติเหตุ ด้วยความเชื่อว่าถูกผีทำร้ายก็จะให้ "ตะละ" เป็นผู้ทำพิธีให้เริ่มด้วยการเสี่ยงทายผี เพื่อดูก่อนว่าผีชนิดใดเป็นผู้มาทำร้าย การเสี่ยงทายดูผีนี้เรียกว่า "ตะละก้าต้า" หลังจากดูผีเสร็จก็จะกำหนดวิธีในการแก้ไขรักษาว่าจะทำพิธีรักษาเมื่อใด ทำอย่างไร ใช้อะไรมาเป็นเครื่องพิธีกรรมและการเลี้ยงผี ผู้ที่เป็นหมอรักษาที่เรียกว่า "ตะละ" นั้น ไม่จำเป็นต้องสืบสายตระกูลตามผู้นำพิธีที่เรียกว่า ฮิโคะและฮิคะ ดังนั้นผู้ที่จะเป็นตะละได้ก็คือผู้ที่มีความสามารถที่จะไปเรียนรู้วิชาจากอาจารย์ที่เป็นตะละมาก่อน มีธรรมเนียมในการเรียนเพื่อที่จะมาเป็นตะละว่า อาจารย์ตะละมักจะไม่สอนให้ในเวลากลางวันแต่จะสอนในเวลากลางคืนหรือกล่าวกันว่าสอนในเวลาไก่หลับ เพราะเชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์

ปกาเกอะญอ

บ้านเรือน / ที่อยู่อาศัย

รูปแบบ แบบแผนการสร้างบ้านเรือน ลักษณะบ้านเรือน สถาปัตยกรรม มีลักษณะการยกใต้ถุน และเป็นเรือนไม้ดังภาพ ซึ่งเรือนผู้นำชาวกะเหรี่ยงที่มีฐานะจะสร้างเรือนด้วยวัสดุที่ถาวรและมั่นคง 

กลุ่มอาชีพ

ชาวบ้านหนองมณฑาส่วนใหญ่มีการประกอบอาชีพการทำไร่ทำนาเป็นอาชีพหลัก การเลี้ยงสัตว์ เช่น เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย เป็นอาชีพรอง และรับจ้างทั่วไปเป็นอาชีพเสริม

งานหัตถกรรม

งานศิลปกรรมโดยเฉพาะงานหัตถกรรมทอผ้า ถือเป็นงานฝีมือที่โดดเด่นของชุมชน ผู้หญิงหลายคนในหมู่บ้านยังสามารถทอผ้าได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนสูงอายุจะทอผ้าตามใต้ถุนบ้านยามว่างเป็นประจำ เคยมีโครงการส่งเสริมการทอผ้ามาก่อน แต่มีปัญหาในเรื่องการจัดการ เนื่องจากชาวบ้านไม่สะดวกที่จะเข้าร่วมโครงการตลอดเวลา การทอผ้ากะเหรี่ยง ยังถือว่าเป็นงานที่ทำเสริมนอกเหนือไปจากการทำไร่นาเท่านั้น ทำให้ไม่สามารถเร่งทำผลิตภัณฑ์ผ้าทอได้เต็มที่ สำหรับผู้ที่ยังใช้เวลาว่างทอผ้าอยู่บ้างเมื่อทอได้จำนวนหนึ่งก็จะเก็บไว้รอเมื่อมีงานเทศกาลสำคัญที่ตัวอำเภอหรือตามแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ก็จะนำไปส่งรวมกัน

องค์กรชุมชน

ปัจจุบันชาวบ้านหนองมณฑามีการรวมกลุ่มกันจัดตั้งกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งมีกองทุน กข.คจ. มีสมาชิกทั้งหมู่บ้าน มียอดเงิน ณ ปัจจุบัน 280,000 บาท, กองทุนนำร่อง มีสมาชิก 24 คน มียอดเงิน ณ ปัจจุบัน 200,000 บาท, กองทุนข้าว มีสมาชิก 7 คน มียอดเงิน ณ ปัจจุบัน 3,000 บาท, กลุ่มเลี้ยงควาย มีสมาชิก 10 คน มียอดเงิน ณ ปัจจุบัน 40,000 บาท

ชาวบ้านส่วนใหญ่ของบ้านหนองมณฑา นับถือศาสนาพุทธมากที่สุดและมีบางส่วนนับถือผี โดยจะมีขนบธรรมเนียม ประเพณีและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเซ่นไหว้สังเวยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางความเชื่อเป็นประจำทุกปีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยในเรื่องของการปกป้องและคุ้มครองคนในครอบครัว พ้นจากสิ่งโชคร้ายหรือโรคภัยไข้เจ็บ เช่น

1. ประเพณีมัดมือปีใหม่ มักจะจัดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี

2. ประเพณีมัดมือกลางปี มักจะจัดในช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปี เพราะเป็นช่วงที่มีอากาศร้อน อันตรายต่อชีวิตและความเป็นอยู่ จึงมีการทำพิธีมันมือลาคุปู เพื่อขอพรกับเทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายและเพื่อให้ชีวิตได้อยู่เย็นเป็นสุข

3. พิธีกรรมการกินเหล้า การกินเหล้าของชาวปกาเกอะญอในรอบหนึ่งปีจะมีสามครั้ง เชื่อว่าเป็นการรำลึกและบูชาเทพยาดา เป็นการให้เจ้าที่ เจ้าดิน เจ้าน้ำ เจ้าป่า เจ้าเขาได้รับผลประโยชน์และให้ดูแลการทำมาหากินให้ได้ผลผลิตที่ดีขึ้น รวมถึงดูแลครอบครัวให้อยู่เย็นเป็นสุข รอดพ้นจากสิ่งอันตรายและชั่วร้าย

การแต่งกายของชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง บ้านหนองมณฑา   

ผ้านุ่งของผู้ชายชาวกะเหรี่ยง ซึ่งแบ่งแยกสถานะของคนที่แต่งงานแล้วและคนที่ยังไม่แต่งงานด้วยผ้านุ่ง ผ้านุ่งที่เป็นโสร่งลาย เรียกว่า "แทตัวคี" สำหรับชายกะเหรี่ยงที่แต่งงานแล้ว ผ้านุ่งที่เป็นโสร่งสีแดง เรียกว่า "แทเตอะดอกฺง่อ" สำหรับชายหนุ่มกะเหรี่ยงที่ยังไม่ได้แต่งงาน คำว่า "กฺง่อ" แปลว่า สีแดง

ผ้านุ่งผู้หญิงมีการประดับประดาด้วยลวดลายและเมล็ดพืชนำมาร้อยเป็นลูกปัดเย็บประกอบเป็นลวดลายในผ้าทออีกทีหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีการใช้เทคนิคการมัดย้อมที่เรียกว่ามัดหมี่ในผ้าทอกะเหรี่ยงด้วย สอบถามได้ความว่าเทคนิคมัดหมี่สืบทอดมาตั้งแต่รุ่นแม่ของผู้ทอรุ่นปัจจุบัน

งานหัตถกรรมทอผ้า ถือเป็นงานฝีมือที่โดดเด่น ของหมู่บ้านหนองมณฑา ผู้หญิงหลายคนในหมู่บ้านยังสามารถทอผ้าได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนสูงอายุ จะทอผ้าตามใต้ถุนบ้านยามว่างเป็นประจำ 

9.1.พีเจ๊าะ

อายุ 90 ปี วันที่ 23 พฤษภาคม 2555 ผู้อาวุโสของหมู่บ้านหนองมณฑา โดยยายมีพี่น้อง 10 คน เสียชีวิต 7 คน ยายเป็นคนที่ 2 มีที่น้องผู้ชาย 6 คน ผู้หญิง 4 คน ปัจจุบันมีพี่น้องเหลือ 3 คน พีเจ๊าะได้บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับอดีตให้ฟังว่า

"ในอดีตได้ทำไร่และได้ปลูกข้าวโพดด้วยมีลิงเยอะมากเข้ามากินข้าวโพด เวลาเกี่ยวข้าวแล้วตากแห้งในไร่ตัวเม่นก็มากินอีก มีสัตว์ป่าเยอะมากไปไหนมาไหนไม่ค่อยกล้าเพราะกลัวสัตว์ป่า พออายุ 20 ปีก็แต่งงาน สามีชื่อ แกล๊ะเอะ มีลูกด้วยกัน 7 คน มีผู้หญิง 2 คน

คนหนึ่งชื่อหน่ออีปุ๊ เป็นผู้รู้เรื่องหมอตำแย และอีกคนหนึ่งชื่อหน่อเคล่ เป็นคนสุดท้อง มีผู้ชาย 5 คน คนที่หนึ่งชื่อนายตะแอ๊ะ เป็นคนโตย้ายไปอยู่ที่บ้านใหม่

คนที่สองชื่อนายพาโล๊ะเป็นฮี่โข่อยู่ที่มอวาคี

คนที่สามชื่อพาเม๊เหล่ไปได้ครอบครัวที่บ้านห้วยตองสาด อำเภอสะเมิง

คนที่สี่ชื่อส่าน่าอยู่มอวาคีไม่ได้มีครอบครัว

คนที่ห้าชื่อเก่อเหน่อ อยู่มอวาคี พีเจ๊าะเกิดที่บ้านแม่ขะปู อำเภอสะเมิง จนพีเจ๊าะอายุ 10 ปีพ่อก็ย้ายลงมาอยู่ที่แคลอพะโดะ อยู่ที่แคลอพะโคะจนอายูถึง 20 ปีมีก็มีจีนฮ่อมาปล้นครอบครัวนายตะเข่อเหล่อ จีนฮ่อมาตอนกลางคืนเอาปืนมาด้วย มาด้วยกันหลายคน พี่เจ๊าะตกใจเลยหลบหนีซ่อนตัวที่นอกหมู่บ้าน ในคืนนั้นมีปรากฎว่ามีผู้ตายจำนวน 4 คน เป็นชาวบ้าน 3 คนจีนฮ่อ 1 คน แม่และลูกตายในคืนนั้น ส่วนนายตะเข่อเหล่อผู้เป็นพ่อตายวันรุ่นขึ้น จีนฮ่อคนนั้นโดนมีดฟันหน้ายังไม่ตาย หน้าและลิ้นขาดก็ร้องอย่างทรมาณที่ใต้บ้านพีเจ๊าะ แล้วก็ใช้มีดแทงตัวเองตาย ในคืนนั้นเองสามีพีเจาะไม่ได้อยู่บ้านเขาไปส่งจีนฮ่ออีกกลุ่มหนึ่งที่บ้านแม่ขะปู มีคนไปบอกสามีพีเจ๊าะว่าหมู่บ้านพังแตกหมดเลย สามีพีเจ๊าะตกใจเขาวิ่งกลับบ้านในค่ำคืนนั้นวิ่งตลอดทางจนถึงบ้าน หลังจากที่มีการฆ่ากันตายแล้ว คนก็ไม่กล้าที่จะอยู่ตรงนั้นอีกต่อไป เลยย้ายลงมาอยู่ที่มอวาคีซึ่งเป็นหมู่บ้านปัจจุบัน ตอนนั้นพี่เจ๊าะอายุประมาณ 52-53ปี ปัจจุบันมีข้าวพอกิน มีพื้นที่นา มีพื้นที่ปลูกข้าวมากขึ้น

สิ่งที่ประทับใจในอดีตของพี่เจ๊ะคือ ตอนเป็นสาวได้ไปทำงานกับเพื่อนกับพี่น้องในหมู่บ้านและต่างหมู่บ้านอย่างสนุกสนานทุกวัน ได้ร้องบทธากับเพื่อน ๆ เป็นความทรงจำที่จำได้ตลอด อีกทั้งยังมีการส่งจดหมายให้กับผู้ชาย โดยมีข้อความที่เป็นบทธา ภาษาปกาเกอะญอ พีเจ๊าะบอกว่าลูกหลานสมัยนี้ ไม่รู้เรื่องบทธาอีกเลย อื่อธาก็ไม่เป็น เมื่อได้ย้อนกลับในเรื่องของประวัติชุมชนและได้ถามว่าใน คำว่า มอวาคีแปลมาจากสาเหตุใด พีเจ๊าะได้เล่าว่ามอวาคี แปลว่า โป่งขาวแห่งหนึ่งที่เคยมีสัตว์ป่ามากินอยู่ใกล้ทุ่งนาอยู่ใกล้หมู่บ้าน ก่อนที่จะย้ายลงมาจากบ้านแม่ขะปูมาที่แคลอพะโคะ ที่บ้านแม่ขะปูนั้นมีคนอยู่เยอะ ไม่มีที่ทำกิน จึงพากันลงมาตั้งถิ่นฐานที่แดลอพะโคะเพราะมีที่กว้าง มีผลเยอะ แต่มีคนเคยเล่าว่าที่แคลอพะโคะเคยได้ยินเสียงคนเดิน เชื่อว่าเป็นผู้ตายโหง ใครดวงอ่อนถ้าเข้าไปนั่งจะไม่สบายขึ้นมา เคยมีคนไม่สบายมาแล้ว"

บ้านหนองมณฑา มีทุนที่มีความโดดเด่น และถือเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่มีความสำคัญในท้องถิ่นมาอย่างยาวนาน นั่นคือ การทำแป้งเหล้า คือ การนำข้าวสารประมาณ 2 ลิตรมาแช่น้ำประมาณ 2 ชั่วโมง(ในตอนเย็น) ต้องรอให้ไก่ได้ขึ้นเล้า หลังจากนั้นเอาข้าวสารที่แช่ไว้ไปตำ ต้องทำโดยผู้หญิง 2 คน ห้ามผู้ชายมาดูและห้ามผู้หญิงที่แต่งงานแล้วมาทำ ต้องเป็นผู้หญิงที่ยังโสดอยู่เท่านั้นที่ทำได้ ถ้าตำเสร็จแล้วเอาแป้งมานวดผสมกับน้ำเปล่า และเอาแป้งประมาณหนึ่งฝ่ามือผสมกับกล้วยสุกหนึ่งลูก หรือน้ำตาลก็ได้ผสมเรียบร้อยแล้วเอาไปปิ้งไว้ ส่วนแป้งที่เหลืออยู่ในกระด้งเอามาปั้นให้เป็นลูกกลม แต่ละลูกนั้นให้มันมีขนาดที่เท่ากัน ตามความเชื่อว่าถ้าปั้นไม่เท่ากันจะทำให้เต้านมของผู้ทำทั้งสองข้างไม่เท่ากัน และต้องปั้นให้มีจำนวนคี่ ปั้นเป็นก้อนใหญ่จำนวนหนึ่งลูก (ลูกนี้จะเรียกว่าตัวผู้) ให้วางอยู่ตรงกลางแล้วางก้อนอื่น ๆ ที่เป็นก้อนตัวแม่ให้อยู่รอบ ๆ ในก้อนตัวผู้ก้อนนั้นจิ้มให้มีรูสามรู ส่วนก้อนตัวแม่ที่วางอยู่รอบ ๆ นั้นจิ้มให้มีรูอยู่ก้อนละหนึ่งรู คนโบราณเชื่อว่าถ้าจิ้มแรงเกินไปจะทำให้ตาของผู้ทำลึกเข้าไป แต่ถ้าจิ้มเบาเกินไปตาจะปูดออกมา เสร็จจากนั้นแล้วเอาเกลือ พริก ขี้เถ้า ใส่ลงไปในทุกรูทั้งก้อนตัวผู้และตัวแม่ และเอาก้อนที่ปิ้งไว้ตั้งแต่ต้นก้อนนั้นแยกออกเป็นชิ้น ๆ แล้วใส่ลงไปในทุกรูอย่างนั้นเช่นกันแต่ก้อนที่ปิ้งไว้ก้อนนี้ต้องไว้ให้เหลืออยู่อีกนิดหน่อย เพื่อเอาไว้กินตอนที่ทำแป้งเหล้ากันเสร็จ หลังจากนั้นเอาแป้งเหล้าเก่าที่เคยใช้มาแล้วเห็นว่ามีดีกรีที่ดีที่อร่อยมาใส่ในทุกรูด้วยเช่นกัน เมื่อเสร็จในขั้นนี้แล้วหยิบก้อนที่ปิ้งที่เหลืออยู่นั้นในผู้ทำสองคนนั้นต้องช่วยกันกินให้หมด ถ้าไม่หมดต้องใส่ลงในกระด้งใบนั้นเพื่อป้องกันหมา แมว ไก่มากินเพราะถ้าสัตว์เหล่านี้ได้มากินจะทำให้แป้งเหล้าที่ทำครั้งนี้มันจะไม่อร่อย และจะเสียหมด หลังจากนั้นผู้ทำทั้งสองคนนั้นช่วยกันจับกระด้งแล้วหมุนกระด้งที่มีเป้งเหล้าอยู่ในนั้นต้องหมุนให้ครบสามรอบ พร้อมด้วยอธิฐานว่า โก่ หมี่ เออ มา เน๊อ สิ กุ่ย กุ่ย มา เน๊อ ซิ แฆ แฆ ซอ เม๊ โอะ โอ ก๊วย โล เน๊อ สิ โล เหน่อ พอ

บ้านหนองมณฑา ปัจจุบันยังมีการใช้ภาษาปกาเกอะญอกันอยู่ แต่มีการสอนภาษาไทย และภาษาอังกฤษควบคู่ไปด้วย เนื่องจากต้องการที่จะปลูกฝังความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของกลุ่มชน รู้จักและรักษ์ป่า สอนให้สำนึกในวิถีของปกาเกอะญอ มีการสอนภาษาปกาเกอะญอทั้งฟัง พูด อ่านและเขียน ทำให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ภาษาของกลุ่มชนและไม่ทำให้ภาษาปกาเกอะญอสูญหายไป


ชาวบ้านหนองมณฑามีการร่วมกันจัดตั้งโรงเรียนบ้านมอวาคี มีการสอนตั้งแต่ภาษา การแต่งกาย การอบรมสั่งสอนลูกหลานผ่านการเล่านิทาน และวัฒนธรรมที่ปกาเกอะญอสืบทอดกันภายในครอบครัว ตลอดระยะเวลากว่า 21 ปี มีการให้คนในชุมชนเข้ามามีบทบาทในการรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนเอง เป็นการสร้างจิตสำนึกร่วมกันเกิดความรักในกลุ่มชาติพันธุ์ของตนเองมากขึ้น มีหน่วยงานภาคเอกชน ภาครัฐ เช่น สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (ศ.ว.ท.) มีส่วนร่วมการจัดศึกษาในชุมชนโดยให้เป็นพี่เลี้ยงในการวางแผนการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นวิถีชีวิตแบบปกาเกอะญอ ปัจจุบันมีหลักสูตรของตนเองที่ใช้ในโรงเรียนบ้านมอวาคี สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดเชียงใหม่ ให้การสนับสนุนด้านการรับรองการจบวุฒิทางการศึกษาของนักเรียน เพื่อให้สามารถไปเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ กระทรวงวัฒนธรรม ให้การส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมที่จะเป็นประโยชน์ทางด้านวัฒนธรรมของชุมชน เช่น การทอดถ่ายความรู้ภูมิปัญญาปกาเกอะญอให้แก่เด็ก นักเรียนในชุมชน เรื่องการย้อมฝ้ายโดยใช้สีจากธรรมชาติ การทอผ้าแบบกี่เอว ดนตรี ความรู้จารีตประเพณีในการทำนาทำไร่หมุนเวียน ป่าเดอปอทู (ต้นสะดือ) ทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติในชุมชน ให้เป็นเส้นทางท่องเที่ยวภายในชุมชน เป็นต้น

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

อนงค์พร ภูมิปัญญาดีสม และคณะ. (2555). โครงการวิจัยศักยภาพของการคงอยู่ทางอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของชุมชนวัฒนธรรมพิเศษ. 

กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. ค้นคืนเมื่อ 19 เมษายน 2566 ,จากฐานข้อมูลงานวิจัยศมส.: www.sac.or.th/databases/sac_research/research_pdf_pdf.php?file_id=1548&ob_id=100

ภูมิปัญญาชนเผ่าปกาเกอะญอสานต่อที่มอวาคี. (ม.ป.ป.). ค้นคืนเมื่อ 19 เมษายน 2566, จาก http://tribalcenter.blogspot.com/

องค์การบริหารส่วนตำบลแม่วิน. ( 2562). หมู่ที่ 16 บ้านหนองมณฑา. ค้นคืนเมื่อ 19 เมษายน 2566, จาก http://maewin.net/

นฤมล ลภะวงศ์, และ อนุรักษ์ ปัญญานุวัฒน์. (2557). กระบวนการจัดการเพื่อรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ บ้านหนองมณฑา อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่. วารสารวิชาการการท่องเที่ยวไทยนานาชาติ, 10(2), ค้นคืนเมื่อ 19 เมษายน 2566, จาก https://so02.tci-thaijo.org/index.php/jitt/article/view/31359

Open map. (2018). นักเรียนปกาเกอะญอบ้านหนองมณฑา ค้นจาก http://www.openmap.in.th/182/