Advance search

ทุเรียนหลง-หลินลับแล ผ้าตีนจก ข้าวแคบ

ศรีพนมมาศ
ลับแล
อุตรดิตถ์
ทต.ศรีพนมมาศ โทร. 0-5543-1103
วนัสนันท์ บุญถนอม
11 ก.พ. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
8 เม.ย. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
8 เม.ย. 2024
เมืองลับแล

เมืองลับแลนี้ ได้ชื่อลับแลเพราะเป็นอำเภอเล็ก ๆ ในจังหวัดอุตรดิตถ์ การที่จะเดินทางไปมาไม่สะดวก มีเส้นทางที่คดเคี้ยว ทำให้คนที่ไม่ชำนาญทางพลัดหลงได้ง่าย จนได้ชื่อว่าเมืองลับแล ซึ่งแปลว่ามองไม่เห็น แต่ในอีกการเล่าขานหนึ่งก็คือ ในสมัยก่อนนั้น มีภูมิประเทศเป็นป่าเขาสลับซับซ้อน มีบรรยากาศเย็นแม้ยามพลบค่ำตะวันจะยังไม่ตกดินก็จะมืดแล้ว เพราะมีดอยม่อนฤๅษีเป็นฉากกั้นแสงอาทิตย์ ป่านี้จึงได้ชื่อว่า "ป่าลับแลง" แลง ที่แปลว่า เวลาเย็น ต่อมาเรียกเพี้ยนไปเป็น "ลับแล"


ทุเรียนหลง-หลินลับแล ผ้าตีนจก ข้าวแคบ

ศรีพนมมาศ
ลับแล
อุตรดิตถ์
53130
17.6512313
100.0389169
เทศบาลตำบลศรีพนมมาศ

อำเภอลับแลมีเมืองเก่าอยู่ 2 เมือง คือ 

เมืองทุ่งยั้งตั้งอยู่ริมน้ำยกเก่า จากการสันนิษฐานในด้านประวัติศาสตร์ของกรมศิลปากรเคยเป็นที่อยู่อาศัยของชาติละว้าเพราะขุดพบกลองมโหระทึกและพร้าสัมฤทธิ์ได้ในบริเวณนี้ ต่อมาได้มีพวกไทยอพยพมาทางใต้ก่อนสมัยกรุงสุโขทัยเข้ามาอยู่แทน และในสมัยสุโขทัยเมืองทุ่งยั้งเป็นเมืองหน้าด่านชั้นนอกของเมืองสุโขทัย ขึ้นกับเมืองเชลียง

เมืองลับแล ตั้งขึ้นในสมัยอยุธยาเดิมเป็นตำบลที่ชาวเมืองเหนือหนีความเดือดร้อนอพยพมาอยู่กัน ภายหลังได้ตั้งขึ้นเป็นเมืองเรียกว่าเมืองลับแล ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประพาสมณฑลฝ่ายเหนือเมื่อ พ.ศ. 2444 (ร.ศ. 120) เสด็จถึงเมืองอุตรดิตถ์เมื่อวันที่ 23-26 ตุลาคม พ.ศ. 2444 และเสด็จถึงอำเภอลับแลด้วย ในการเสด็จประพาสครั้งนี้มีนายทองอิน (บิดาเป็นคนจีนชื่อ ตั๋วตี๋ แซ่ตัน) ประกอบอาชีพทางค้าขายได้ถวายการต้อนรับเป็นที่พอพระราชหฤทัยและอยู่เฝ้าถวายโดยใกล้ชิด ทรงทราบว่านายทองอินเป็นคนดี ราษฎรรักใคร่นับถือเป็นผู้ก่อสร้างสิ่งสาธารณประโยชน์ เช่น ถนน เหมือง ฝาย ฯลฯ โดยไม่ต้องใช้งบประมาณของทางราชการช่วยเหลือ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายทองอินเป็นขุนพิศาลจินะกิจ ต่อมาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น หลวงศรีพนมมาศ และพระศรีพนมมาศตามลำดับ และพระราชทานชื่อถนนสายที่นายทองอินเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงรับเสด็จว่า ถนนอินใจมี คือ ถนนสายอุตรดิตถ์-ลับแล ที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นถนนลาดยางใช้ได้ทุกฤดูกาล และกรมทางหลวงแผ่นดินดูแลรักษาอยู่ในขณะนี้และในรัชกาลที่ 5 นี้พระองค์ทรงปฏิรูปการปกครองเป็นมณฑล เมืองลับแลได้ลดฐานะเป็นอำเภอมีเขตปกครองขึ้นอยู่กับมณฑลพิษณุโลก ในครั้งนั้นพระศรีพนมมาศได้เป็นนายอำเภอคนแรกของอำเภอลับแล

ปัจจุบันที่ว่าการอำเภอลับแลปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลศรีพนมมาศอยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัดอุตรดิตถ์ ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 8 กิโลเมตร พื้นที่อำเภอลับแลเป็นอำเภอชั้น 2 มีพื้นที่ทั้งหมดราว 506 ตารางกิโล มีอาณาเขตติดต่อดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่

  • ทิศใต้ ติดต่อกับ เขตเทศบาลตำบลหัวดง ตำบลแม่พูล

  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลนานกกก และเทศบาลหัวดง

  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย

ในเมืองลับแลนั้นจะประกอบไปด้วย 3 กลุ่มชาติพันธุ์ ได้แก่

  1. ชาติพันธุ์ไท-ยวน ที่ได้อพยพมาจากเชียงแสนพวกหนึ่งมาอยู่ที่ลับแล ตั้งหมู่บ้านครั้งแรกที่หมู่บ้านเชียงแสน อีกพวกหนึ่งไปอยู่ที่หมู่บ้านน้ำอ่าง ตำบลน้ำอ่าง อำเภอตรอน
  2. ชาติพันธุ์ไทพวน ถูกกวาดต้อนเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 3 มาอยู่แถวบ้านป่ายาง บ้านน้ำใส บ้านนาทะเล อำเภอลับแล ต่อมาบางส่วนได้ย้ายไปอยู่ศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย คือ พวกหาดเสี้ยว ซึ่งมีความชำนาญในการทอผ้า เมื่อมาอยู่ลับแล ได้รับวัฒนธรรมการทอผ้าซิ่นตีนจกจากลับแลไปด้วย รูปแบบจะเป็นแบบไทยวนแต่ลวดลายจะเป็นของหาดเสี้ยว
  3. ชาติพันธุ์เชื้อสายจีน จะมีอยู่ที่ชุมชนตลาดลับแล ณ ปัจจุบัน สมัยพระศรีพนมมาศเป็นนายอากรสุรา มีชื่อว่า ทองอิน มีเชื้อสายจีนแต่ด้วยความรักในท้องถิ่น จึงพัฒนาเมืองลับแลมาโดยตลอด เป็นผู้นำชุมชนที่ชาวลับแลให้ความนับถือ

จีน, ไทยพวน, ไทยวน

มีการจัดตั้งสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอลับแลโดยเป็นหน่วยงานของรัฐในการขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วม กระบวนการเรียนรู้ของชุมชน
การบริหารจัดการชุมชน เพื่อสร้างพลังชุมชนให้เข้มแข็งและสามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน ในด้านกลุ่มอาชีพ คนเมืองลับแลนั้นมีอาชีพเป็นเกษตรกรโดยเน้นการปลูกข้าวเหนียวนอกจากนี้ยามว่างจากการทำสวนทำไร่ทำนาแล้ว ชาวเมืองลับแลยังผลิตสินค้าหัตถกรรมซึ่งสร้างชื่อเสียงให้กับเมืองลับแล เช่น การทอผ้าจก ผ้าห่ม ไม้กวาดตองกง

ประเพณีสิบสองเดือนเมืองลับแล

  • เดือนอ้าย ทำบุญคูณลาน (บุญขวัญข้าว)
  • เดือนยี่ ใส่บาตรผิงหนาว

  • เดือนสาม ก่อเจดีย์ข้าวเปลือก นอกจากนั้นในเดือนสามยังมีประเพณีนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ 
กำหนดระหว่างวันขึ้น 8 ค่ำ ถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 หรือเรียกว่า "เทศกาลมาฆบูชา" ของทุกปีมีมาตั้งแต่ พ.ศ. 306 โดยมีการจัดงานสมโภชอย่างยิ่งใหญ่มีร้านค้าของพื้นเมือง (ลับแล ศรีสัชนาลัย)
  • เดือนสี่ บวชพระและทอดผ้าสี่ไตร

  • เดือนห้า สงกรานต์
  • เดือนหก วิสาขบูชา
 ประเพณีอัฐมีบูชา พิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธเจ้าจำลอง เป็นประเพณีของชาวลับแลที่ไม่มีใครเหมือน ซึ่งจัดกันมายาวนาน ณ วัดบรมธาตุทุ่งยั้งรวม 9 วัน เริ่มจากวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 (วันวิสาขบูชา) จนถึงวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 (บางทีก็จะเป็นเดือน 7) ถือเป็นวันอัฐมีบูชา คือวันถวายพระเพลิงพระบรมสรีระของพระองค์ ตามพุทธประวัติเป็นวันที่ชาวพุทธต้องวิปโยคและสูญเสียพระสรีระแห่งองค์พระบรมศาสดา ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะอย่างสูงยิ่ง ในงานจะมีการแสดงประกอบแสง สี เสียง อย่างยิ่งใหญ่สวยงามในช่วงค่ำ ส่วนช่วงบ่ายจะประกอบพิธีห่มผ้าพระบรมธาตุทุ่งยั้ง ช่วงเวลาประมาณเดือนพฤษภาคม
  • เดือนเจ็ด สลากภัต
  • เดือนแปด วันเข้าพรรษา อาสาฬหบูชา

  • เดือนเก้า ประเพณีสลากชะลอมและค้างบูยา

  • เดือนสิบ วันสารทไทย

  • เดือนสิบเอ็ด วันออกพรรษา

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัฒนธรรม

อาหาร

"ข้าวแคบ" ถือได้ว่าเป็นอาหารพื้นบ้านยอดนิยมของชาวลับแลตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในเขตเทศบาลตำบลศรีพนมมาศ และตำบลฝายหลวง มีการทำข้าวแคบทุกหลังคาเรือนตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย และถ่ายทอดสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบันเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือ เป็นแผ่นแป้งบาง ๆ ที่ได้จากการไส่น้ำแป้งที่ผสมงาดำ เกลือ หรือเครื่องปรุงรสอื่น ๆ ลงบนผ้าสีขาวหือสีดำที่วางบนปากหม้อดินขณะที่มีไอน้ำเดือดเหมือนการทำข้าวเกรียบปากหม้อโดยแผ่นแป้งที่ได้มีลักษณะเป็นวงกลมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 7-8 นิ้ว เมื่อแผ่นแป้งสุกแล้วสามารถดัดแปลงทำผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย อาทิเช่นถ้านำแผ่นแป้งไปตากแดดจะได้ "ข้าวแคบแห้" มีทั้งแบบธรรมดาและปรุงรส สามารถฉีกรับประทานได้ทันทีเป็นอาหารว่าง หรือจะนำไปห่อกับเส้นหมี่คลุกกับเครื่องปรุง ที่ชาวลับแลเรียกว่า"หมี่คุก(คลุก)" ก็ได้ "ก๋วยเตี๋ยวอบ" ที่ดัดแปลงมาจากก๋วยเตี๋ยวน้ำทั่ว ๆ ไป รูปร่างหน้าตาจะเหมือนกับข้าวพันผัก และข้าวพันใส่ไข่ เพียงแต่ใช้ข้าวแคบแห้งมาทำให้อ่อนตัวบนปากหม้อดิน แทนการใส่แป้ง แล้วใส่เส้นก๋วยเตี๋ยวที่ปรุงกับเครื่องปรุงรส ใส่ลูกชิ้น หมูแดง ลงไปในข้าวแคบแห้งที่อ่อนตัว ห่อเหมือนข้าวพันผัก ตักใส่จาน แล้วตักน้ำก๋วย

ทุเรียน

  • หลงลับแล ทุเรียนหลงลับแลอุตรดิตถ์ ต้นเดิมขึ้นอยู่บนม่อนน้ำจำ บ้านผามูบ ตำบลแม่พูล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2479 ซึ่งนายมี หอมตัน ได้นำเมล็ดทุเรียนที่ร่วงหล่นภายในสวนของเพื่อนบ้านไปปลูก ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2485 สวนของ นายมี หอมตัน ได้เปลี่ยนเจ้าของมาเป็นของนายสม อุปละ ซึ่งเป็นสามีของนางหลง อุปละ โดยมีทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองที่ นายมี หอมตัน ปลูกไว้อยู่ในสวนประมาณสิบกว่าต้น มีผลทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองต้นหนึ่ง มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากทุเรียนพื้นเมืองโดยทั่วไป คือเป็นทุเรียนที่มีรสชาติดีเมล็ดลีบ จึงเรียกทุเรียนต้นนี้ว่า “ทุเรียนเมล็ดตาย” หรือเรียกอีกชื่อว่า “ต้นหัวห้วยในเหลืองสัญญา” เพราะทุเรียนต้นนี้อยู่ริมลำห้วย และเนื้อสีเหลืองค่อนข้างจัด ในปี พ.ศ. 2520 ได้มีการจัดประกวดทุเรียนที่ปลูกจากเมล็ดขึ้นที่อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ จัดโดยกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร และจังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อคัดเลือกและหาทุเรียนพันธุ์ใหม่ที่มีคุณภาพดี มีการส่งผลทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองเข้าประกวดในนาม นางหลง อุปละ ปรากฏว่าได้รับรางวัลยอดเยี่ยม เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2521 คณะกรรมการรับรองพันธุ์ได้เห็นชอบและตั้งชื่อทุเรียนที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม ซึ่งเป็นของ นางหลง อุปละ ให้เป็นทุเรียนพันธุ์ใหม่มีชื่อว่า “หลงลับแล” เพื่อเป็นเกียรติแก่ นางหลง อุปละ ต่อมาเกษตรอำเภอลับแลในขณะนั้นได้แนะนำให้เกษตรกรในอำเภอลับแล นำยอดทุเรียนพันธุ์หลงลับแลต้นเดิมมาขยายพันธุ์ โดยวิธีการเสียบยอดได้รับความสำเร็จเป็นอย่างมาก
  • หลินลับแล ทุเรียนพันธุ์หลินลับแล (ผามูบ) ต้นเดิมปลูกโดย นายหลิน ปันลาด ณ บ้านผามูบ อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อปี พ.ศ. 2493 ได้นำเมล็ดทุเรียนมาปลูกแล้วได้ทุเรียนต้นใหม่ที่มีลักษณะผลทุเรียนแปลกกว่าทุเรียนต้นอื่น ๆ จึงได้นำไปให้เพื่อนบ้านกิน หลายคนบอกว่ารสชาติดี ต่อมาในปี พ.ศ. 2520 ได้ส่งทุเรียนพันธุ์นี้เข้าประกวด ซึ่งจัดโดยกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร และจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยทุเรียนพันธุ์หลินลับแลได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทุเรียนพันธุ์หลงลับแล และเพื่อเป็นเกียรติแก่นายหลิน ปันลาด จึงเรียกชื่อทุเรียนพันธุ์นี้ว่า “หลินลับแล” และประกอบกับต้นเดิมขึ้นอยู่บ้านผามูบ จึงมีชื่อว่า ผามูบ หลังจากนายหลิน ปันลาด ถึงแก่กรรม ทุเรียนพันธุ์หลินลับแลต้นเดิม จึงอยู่ในความครอบครองของนายสว่าง ปันลาด ซึ่งเป็นบุตรชาย ทุเรียนพันธุ์หลินลับแลต้นเดิม เมื่อปี พ.ศ. 2543 อายุประมาณ 50 ปี ลำต้นสูง 15 เมตร เส้นรอบวงลำต้น 2.13 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางทรงพุ่ม 13 เมตร ซึ่งก่อนที่ต้นทุเรียนพันธุ์หลินลับแลต้นแรกจะตาย เกษตรกรในอำเภอลับแลได้นำยอดทุเรียนมาขยายพันธุ์โดยการเสียบยอด และขยายพันธุ์ต่อกันมา กิ่งพันธุ์ต้องมาจากอำเภอลับแลเท่านั้นเพราะเป็นกิ่งพันธุ์ที่มาจากต้นกำเนิดเดิมที่เป็นต้นทุเรียนพันธุ์หลินลับแลอุตรดิตถ์แท้

การแต่งกาย

การแต่งกายของชาวไท-ยวน (ลับแล) นั้นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งมีการถ่ายทอดภูมิปัญญาการทอผ้ามาเป็นเวลาหลายร้อยปีจนถึงปัจจุบัน เพื่อใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มสวมใส่ในชีวิตประจำวันหรือออกงานบุญใหญ่ ๆ ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์-รัชกาลที่ 4 ผู้ชายจะใส่เสื้อที่ใส่ออกงาน เป็นแบบพิธีการ โดยทั่วไปมักสวมเสื้อสีขาวคอกลมผ่าอก มีทั้ง แขนสั้น แขนยาว นุ่งโจงกระเบน (ผ้าม่วง) หรือใส่เสื้อราชปะแตน เสื้อสีขาวคอตั้งแขนยาว นุ่งโจงกระเบน (ผ้าม่วง) ส่วนเวลาที่อยู่บ้านหรือไปไร่นา ส่วนใหญ่จะไม่สวมเสื้อ นุ่งเพียงกางเกงขาก๊วย หรือนุ่งโจงกระเบนที่เป็นผ้าฝ้าย เรียกว่า หยักรั้ง หรือนุ่งผ้าลอยชาย และใช้ผ้าคาดเอว ผู้หญิง ในช่วงนี้มักใช้ผ้าคาดอกห่มทับด้วยสไบแพรแบบเต็มตัว นุ่งซิ่นธรรมดา (ผู้สูงวัย) หากเป็นผู้หญิงที่ยังเป็นสาวหรือวัยทำงานเวลาไปงานบุญงานบวชจะใช้ผ้าคาดอกห่มทับด้วยสไบแพร นุ่งซิ่นตีนจก (ลายดอกเคี้ยะ, กาฝากแดง, กาฝากเขียว)

ในช่วงรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ชายก็ยังคงสวมเสื้อขาวคอกลมผ่าอกนุ่งโจงกระเบน (ผ้าม่วง) หรือราชปะแตน เสื้อสีขาวคอตั้งแขนยาว นุ่งโจงกระเบน (ผ้าม่วง) ออกงานพิธีการแบบยุคก่อน ส่วนเวลาที่อยู่บ้าน ส่วนใหญ่จะไม่สวมเสื้อ นุ่งเพียงกางเกงขาก๊วย หรือนุ่งโจงกระเบนที่เป็นผ้าฝ้าย เรียกว่า นุ่งผ้าหยักรั้งหรือนุ่งผ้าลอยชาย และใช้ผ้าคาดเอว ผู้หญิง นิยมสวมเสื้อห้อยบ่าห่มทับด้วยสไบผ้าดำและขาว (ผ้าฝ้าย) เวลาไปงานบวชงานบุญจะนุ่งซิ่นตีนจกเกล้าผมมวย ใช้ไม้สอยให้ฟู เรียกว่า หวีผมชักหงีบ ตรงเกล้าจะดึงผมออกมาเป็นบ่วง เรียกว่า ชักมวย

บางพื้นที่ในอำเภอลับแลปัจจุบันใช้ภาษากลางสำเนียงแบบจังหวัดสุโขทัย เช่น ตำบลทุ่งยั้ง ตำบลไผ่ล้อม ตำบลดงสระแก้ว ไม่สามารถใช้ภาษาคำเมืองแบบล้านนาแบบคนส่วนใหญ่ในเมืองลับแลได้


ผู้บริหารท้องถิ่นยุคปัจจุบัน มีการจัดภูมิทัศน์วัฒนธรรมบริเวณซุ้มประตูเมืองลับแลเป็นสนามหญ้าเชื่อมต่อด้วยการสร้างพิพิธภัณฑ์เมืองลับแล ที่เป็นบ้านเรือนโบราณ 2 หลัง จัดแสดงวิถีชีวิต เครื่องใช้ไม้สอยคนลับแลสมัยก่อน เพื่อจำลองอัตลักษณ์วัฒนธรรมวิถีชีวิตสมัยก่อน ผสานพื้นที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาการท่องเที่ยวในกรอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้วยการสร้าง ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ที่มีอาคารร้านค้าจำหน่ายสินค้าที่ระลึก ถนนคนเดินวันวานเมืองลับแลที่จำลองตลาดจำหน่ายสินค้าท้องถิ่นทุกวันเสาร์ มีการห้องน้ำบริการนักท่องเที่ยว จัดภูมิทัศน์วัฒนธรรมสนามหญ้าเอนกประสงค์ สำหรับจัดกิจกรรมทางการท่องเที่ยว (Event Tourism) ที่รองรับธุรกิจ MICE หรือ การท่องเที่ยวเพื่อการจัดประชุม สัมมนาและงานแสดงสินค้า ของพื้นที่ได้อย่างลงตัว เนื่องจากห่างจากตัวเมืองอุตรดิตถ์เพียง 4 กิโลเมตร ในบริเวณใกล้ ๆ กันยังมีหอประชุมของสหกรณ์การเกษตรเมืองลับแลที่มีห้องประชุมปรับอากาศขนาด 300 คน ไว้ให้ บริการพื้นที่นี้จึงสามารถรองรับการเติบโตของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวประชุม สัมมนาและงานแสดงสินค้า (ธุรกิจ MICE) ของเมืองลับแลและจังหวัดอุตรดิตถ์ได้ ในอนาคตด้านวัฒนธรรม และประเพณีท้องถิ่น

ททท. แนะนำสวนทุเรียนและคาเฟ่ที่มีเมนูทุเรียนในจังหวัดอุตรดิตถ์ให้ได้ตามรอยกัน

ภาณุรังษี เดือนโฮ้ง, และชยพล อินทรวงค์. (2561). เมืองลับแล...เมืองต้องห้าม(พลาด): อัตลักษณ์ทางการท่องเที่ยวในบริบททางประวัติศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรมชุมชน กรณีศึกษา อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์. วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์. 20 (2), 147-158.

สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จังหวัดอุตรดิตถ์. (2561). ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเมืองลับแล. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://province.mots.go.th/

สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอลับแล. (2559). ประวัติความเป็นมา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://district.cdd.go.th/

ศูนย์วิทยาศาสต์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์. (ม.ป.ป.). ประวัติทุเรียนหลงลับแล หลินลับแลอุตรดิตถ์. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 2 พฤษภาคม 2567. จาก https://turianlonglinlablae.blogspot.com/

สยามรัฐออนไลน์. (2567, 15 พฤษภาคม). อุตรดิตถ์ปังไม่ไหว!! ทุเรียน หลง-หลิน ลับแล No.1 เมืองไทย ทยอยออกผลผลิตสู่ตลาด ยอดจองทะลัก. [ฉบับอิเล็กทรอนิกส์]. สยามรัฐออนไลน์. จาก https://siamrath.co.th/

กรุงเทพธุรกิจ. (2566, 22 พฤษภาคม). เปิดเมนูเด็ดหากินยาก 1 ปี มีครั้งเดียว 'อั่วทุเรียนหลง-หลินลับแล'. [ฉบับอิเล็กทรอนิกส์]. กรุงเทพธุรกิจ. จาก https://www.bangkokbiznews.com/

ทต.ศรีพนมมาศ โทร. 0-5543-1103