Advance search

บ้านบาลาดูวอ

มีลักษณะเป็นป่าชายเลน ติดกับทะเลอ่าวไทย พร้อมด้วยป่าโกงกางเขียวขจี เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำและสัตว์ปีกนานาชนิด นอกจากนี้ในพื้นที่อ่าวบางปูเมื่อครั้งอดีต ยังเป็นเมืองท่าที่มีการติดต่อค้าขาย และเส้นทางการเดินเรือในสมัยกรุงศรีอยุธยา

บางปู
ยะหริ่ง
ปัตตานี
เทศบาลตำบลบางปู โทร. 073-491315
อิชยา โกษยพงศ์
9 ก.พ. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
9 เม.ย. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
9 เม.ย. 2024
บ้านบางปู
บ้านบาลาดูวอ

คำว่าว่า บาลาดูวอ มาจากการรวมคำในภาษามลายูว่า บาลาเซาะ ที่แปลว่า สุเหร่า และคำว่า ดูวอ ที่แปลว่า สอง ทำให้ชื่อหมู่บ้าน บาลาดูวอ แปลว่าสุเหร่าสองแห่ง เนื่องจากเดิมในชุมชนมีสุเหร่าตั้งอยู่สองแห่ง


มีลักษณะเป็นป่าชายเลน ติดกับทะเลอ่าวไทย พร้อมด้วยป่าโกงกางเขียวขจี เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำและสัตว์ปีกนานาชนิด นอกจากนี้ในพื้นที่อ่าวบางปูเมื่อครั้งอดีต ยังเป็นเมืองท่าที่มีการติดต่อค้าขาย และเส้นทางการเดินเรือในสมัยกรุงศรีอยุธยา

บางปู
ยะหริ่ง
ปัตตานี
94150
6.869428
101.335340
เทศบาลตำบลบางปู

บางปูเปลี่ยนฐานะจากสุขาภิบาลเป็นเทศบาล โดยตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งเทศบาล วันที่ 25 พฤษภาคม 2542 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 116 ตอนที่ 9 ก. คือ เทศบาลตำบลบางปู ที่ตั้งอยู่ในตำบลบางปู อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี

เนื่องจากชุมชนบางปูมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรในป่าชายเลน ทั้งป่าโกงกาง กุ้ง หอย ปู ปลา สาหร่าย นก สมุนไพรต่างๆ โดยแหล่งท่องเที่ยวเกิดขึ้นโดยก่อตั้งกันเองตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 โดยดูพื้นที่ จุดเด่นที่สร้างประโยชน์ได้ ซึ่งมีการรวมกลุ่มของคนในชุมชนแล้วจัดตั้งชุมชนท่องเที่ยวบางปูขึ้น

ชุมชนท่องเที่ยวบางปู มีทางเข้า 2 ทาง ได้แก่ ถนนสายเก่าปัตตานี  อำเภอยะหริ่ง หรือถนนรามโกมุท กับถนนสายใหม่ ปัตตานี นราธิวาส หรือทางหลวงแผ่นดินสาย 42 มีอาณาเขตติดต่อดังนี้

ทิศเหนือ      ติดกับ  อ่าวบางปู

ทิศใต้         ติดกับ  ทางหลวงแผ่นดินสาย 42

ทิศตะวันออก  ติดกับ  หมู่ 3 บ้านบางปู

ทิศตะวันตก   ติดกับ  หมู่ 1 บ้านโต๊ะโสม

ลักษณะภูมิประเทศ

เป็นที่ราบลุ่มดินปนทราย ทางเหนือติดกับอ่าวบางปู เหมาะทำประมงชายฝั่ง พื้นที่ดังกล่าวมีน้ำท่วมตลอด เนื่องจากน้ำทะลักเข้าช่วงน้ำทะเลหนุนสูง

ลักษณะภูมิอากาศ

มีมรสุมทิศตะวันตกเฉียงใต้และทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากอยู่ใกล้อ่าวปัตตานี สภาพอากาศร้อนชื้น ลมทะเลพัดเข้าฝั่งตลอดเวลา อากาศเย็นสบายทั้งปี มีฤดูร้อนและฤดูฝน อุณหภูมิอยู่ในช่วง 26-30 องศาเซลเซียส

ข้อมูลจากสำนักงานเทศบาลตำบลบางปู อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ในปี 2561 ตำบลบางปูมีประชากร 10,251 คน มีครัวเรือนทั้งสิ้น 2,130 ครัวเรือน ผู้อาศัยส่วนใหญ่เป็นชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม

ชุมชนท่องเที่ยวบางปูหรือบ้านบาลาดูวอ แบ่งออกเป็น 2 ชุมชนย่อย ได้แก่ ชุมชนบาลาดูวอ และชุมชนบางปูสุเหร่า มีการรวมกลุ่มตั้งกลุ่มชุมชนท่องเที่ยวบางปู เพื่ออนุรักษ์ป่าชายเลน และสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน โดยมีโครงสร้างกลุ่ม คือ สมาชิกจากคนในตำบลบางปู มีตำแหน่งประธาน 1 คน        รองประธาน 2 คน เลขานุการ 1 คน เหรัญญิก 1 คน และกรรมการ 15 คน รวมทั้งหมด 20 คน โดยมีวิสัยทัศน์ คือ  การส่งเสริม และประสานความร่วมมือเพื่อสนับสนุนความเข้มแข็งของชุมชนในการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ระดับรากหญ้าจนถึงระดับสากล

วิถีชีวิตทางอาชีพ

ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านเป็นส่วนใหญ่ เช่น จับปลา จับปูด้วยมือเปล่า เลี้ยงเป็ด ไก่ ค้าขาย ทำธุรกิจส่วนตัวสินค้ามือสอง ส่วนใหญ่ไปทำงานนอกชุมชน และที่ประเทศมาเลเซีย เพราะไม่มีอาชีพที่มั่นคงในชุมชน

วิถีชีวิตทางประเพณี

  • ถือศีลอด หรือถือบวช

ในภาษายาวีเรียกว่า ปอซอ ชาวมุสลิมจะถือศีลอดในเดือนรอมฎอน หรือเดือน 9 ในปีฮิจเราห์ศักราช เป็นเวลา 1 เดือน โดยเว้นอบายมุขทางกาย วาจา และใจ ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นถึงดวงอาทิตย์ตก เพื่อให้รู้สึกถึงสภาพของคนที่อดอยาก และฝึกความอดทน

  • ฮารีรายอ

มีเทศกาลปีละ 3 ครั้ง ในปีฮิจเราห์ศักราช ได้แก่

  1. รายออิดิลฟิตรี หรือรายอซากาต คือวันฉลองหลังบวชในศาสนาอิสลาม มีกิจกรรม เช่น ร่วมกันละหมาดที่มัสยิด พบญาติ เป็นต้น ซึ่งตรงกับวันที่ 1 เดือนเซาวัล หรือเดือน 10 ในปีฮิจเราะห์ศักราช
  2. รายอ 6 หลังจากรายออิดิลฟิตรี จะถือศีลอดอีก 6 วัน แล้วฉลองอีครั้ง เรียกว่า รายอแน โดยจะทำหรือไม่ก็ได้
  3. รายออิดิลอัฎฮา หรือรายอฮัจย์ คือ วันฉลองของชาวมุสลิม โดยเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ที่เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดิอาราเบีย ยังมีการเชือดสัตว์ หรือที่เรียกว่า กุรบาน และเลี้ยงอาหารคนจนหรือญาติหลังทำละหมาดตอนเช้า โดยตรงกับวันที่ 10 เดือนซุลฮิจญะห์ หรือเดือน 12 ในปีฮิจเราห์ศักราช
  4. การเข้าสุนัด หรือมาโซะยาวี

เป็นการขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย ตามหลักศาสนาอิสลาม ทำในอายุช่วง 6-12 ปี

  • งานเมาลิด

เป็นวันคล้ายวันประสูติของท่านนบีมูฮัมหมัด(ซ.ล.) ตรงกับวันที่ 3 เดือนรอบีอุลเอาวัล ในปีฮิจเราะห์ศักราช โดยเลี้ยงอาหาร หรือทำอย่างอื่น ซึ่งทำหรือไม่ก็ได้

  • การกวนอาซูรอ

เป็นการรวมกลุ่มทำอาซูรอ โดยนำผัก ผลไม้ มากวนให้สุกเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วแจกให้ทุกคนกิน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนธรรมชาติ

ภายในพื้นที่ มีป่าโกงกาง กุ้ง หอย เช่น หอยกัน หอยแครง หอยแมลงภู่ เป็นต้น ปู เช่น ปูดำและปูแสม ปลา เช่น ปลากด ปลาสะมีแล ปลาจ้องม้อง เป็นต้น สาหร่าย เช่น สาหร่ายผมนาง นก เช่น นกกาน้ำ นกกระยาง นกกระเต็ง เป็นต้น สมุนไพรต่างๆ เช่น ขลู่ เถ่า ปลาหมอ เป็นต้น

ทุนวัฒนธรรม

  • อาหาร ขนมมาดูฆาตง ทำมาจากแป้งข้าวเหนียว แป้งข้าวจ้าว น้ำกะทิ น้ำตาลและเกลือ โดยจะนำแป้งข้าวเหนียว แป้งข้าวจ้าว และน้ำกะทิมาผสมรวมกัน แล้วนวดให้เหนียว จากนั้นพักแป้งทิ้งไว้ประมาณครึ่งชั่วโมง จากนั้นนำไปปั้นกับซี่ไม้ไผ่ นำไปย่างให้สุกเหลือง แล้วนำมาราดน้ำกะทิอีกครั้งจึงคลุกกับน้ำตาลทรายขาวผสมงา

คนส่วนใหญ่ใช้ภาษาท้องถิ่นคือ ภาษามลายู เป็นภาษาพูด



มีการสนับสนุนอาหารโบราณ ขนมโบราณ กายแต่งกายแบบโบราณ นำภูมิปัญญาชาวบ้านมาใช้กับกิจกรรมของนักท่องเที่ยว เช่น ขนมโบราณ การแกะสลัก การทำกรงนก กุ้งแห้ง เป็นต้น แต่มีบางภูมิปัญญาที่ไม่ได้บันทึกรูปแบบวิธีการ หรือไม่มีการสานต่อจากคนรุ่นหลัง จึงไม่ได้นำมาใช้กับกิจกรรม และมีการใช้เทคโนโลยีมาใช้ตามบริบทของสถานที่ท่องเที่ยว คือ เทคโนโลยีด้านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทำให้ชุมชนทันสมัยขึ้น แต่การรักษาความดั้งเดิมของชุมชนจะมีความยากมากขึ้นเช่นกัน เมื่อเห็นถึงจุดนั้นจึงไม่ได้เพิ่มเทคโนโลยีที่พัฒนาสำหรับการท่องเที่ยวที่ทำให้สภาพชุมชนท่องเที่ยวบางปูเปลี่ยนแปลงไป


เมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามา การรักษาสภาพแวดล้อมให้ดีเป็นที่ยากมากขึ้น เนื่องจากแต่ละคนที่เข้ามาที่ชุมชนท่องเที่ยวบางปูก็ต่างความคิดกัน จึงมีการตั้งระเบียบเพื่อรักษาสภาพแวดล้อม เช่น ห้ามนำอาหารลงเรือ ห้ามทิ้งขวดน้ำที่เอาลงเรือไปด้วย ห้ามทำลายป่า ห้ามจับไม้ระหว่างล่องเรือ เป็นต้น

การบริการการท่องเที่ยวที่บางปู มีทั้งแบบไปกลับและค้างคืน ค่าใช้จ่าย 2 วัน 1 คืน 600 บาทต่อคน มีเรือ 2 ขนาด คือ เรือเล็ก นั่งได้ 3-4 คน เที่ยวละ 400 บาทต่อลำ และเรือใหญ่ นั่งได้ 5-8 คน เที่ยวละ 600 บาทต่อลำ ที่พักมีบ้านรับรอง 1 หลัง พักได้ 40-50 คน

ฮารียานี เจะโซ๊ะ. (2562). การบริหารแบบมีส่วนร่วมเชิงกลยุทธ์ของการท่องเที่ยวชุมชนบางปู อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี. วิทยานิพนธ์ปริญญาบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.

Google Map. (2567). พิกัดแผนที่ชุมชนท่องเที่ยวบางปู. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://maps.google.com/maps/

Pattani Heritage City. (ม.ป.ป.). ขนมโบราณเมืองยะหริ่ง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://pattaniheritagecity.psu.ac.th/pattanistory/

เทศบาลตำบลบางปู โทร. 073-491315