Advance search

ชุมชนโบราณที่มีอายุกว่า 200 ปี บ้านโบราณ พระใหญ่ และศาลเจ้าพ่อปากเหือง ปรากฏการณ์แม่น้ำสองสี เป็นพื้นที่การเรียนรู้และการท่องเที่ยวต้นดีหมี

ปากตม
เชียงคาน
เลย
อบต.ปากตม โทร. 0-4287-0026
ธนาพร นาคเจือ
15 ก.พ. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
9 เม.ย. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
9 เม.ย. 2024
บ้านท่าดีหมี

"บ้านท่าดีหมี" หมายถึง หมู่บ้านที่มีต้นดีหมีอยู่ที่ท่าน้ำ "ดีหมี" หมายถึง ต้นไม้ยืนต้นชนิดหนึ่ง ชื่อดีหมีมีสรรพคุณทางยา "ท่า" หมายถึง ท่าน้ำ เพราะหมู่บ้านตั้งอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำเหือง ในอดีตไม่มีน้ำประปาไว้ใช้อุปโภค-บริโภค ประชาชนในหมู่บ้านต้องอาบน้ำเหือง


ชุมชนชนบท

ชุมชนโบราณที่มีอายุกว่า 200 ปี บ้านโบราณ พระใหญ่ และศาลเจ้าพ่อปากเหือง ปรากฏการณ์แม่น้ำสองสี เป็นพื้นที่การเรียนรู้และการท่องเที่ยวต้นดีหมี

ปากตม
เชียงคาน
เลย
42110
17.820230216307632
101.5544997165405
องค์การบริหารส่วนตำบลปากตม

เมื่อประมาณ 200 กว่าปีมาแล้ว มีชนชาติหนึ่งอพยพมาจากแขวงไชยบุรี สาธารณะรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำเหืองตรงบริเวณปากห้วยตม เรียกว่า บ้านปากตม (อยู่ระหว่างบ้านนาจานและบ้านท่าดีหมีในปัจจุบัน ต่อมาเกิดโรคระบาดผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงได้พากันอพยพตามลำน้ำเหืองโดยมีนายฮ้อย พ่อทองสี พ่อทิศแสง เดินทางบุกเบิกป่าลงมาทางใต้ ประมาณ 3 กิโลเมตร ซึ่งเป็นป่าใหญ่หรือที่เรียกว่าดง ชื่อดงมะไฟเปาและมีต้นดีหมีเกิดขึ้นมากมาย ทั้ง 3 ท่าน เห็นว่าพื้นที่แห่งนี้เหมาะแก่การสร้างบ้านเรือนจึงได้เลือกทำเลตั้งหมู่บ้านขึ้น ชาวบ้านได้สร้างถนนลงสู่แม่น้ำเหือง ทำเป็นท่าน้ำและท่าน้ำแห่งนี้มีต้นดีหมีน้อยใหญ่มากมาย ชาวบ้านที่ลงมาอาบน้ำ ต่างก็จะนำเปลือกต้นดีหมีไปเป็นยารักษาโรค จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านท่าดีหมี" มีผู้ใหญ่บ้านคนเเรก คือ นายไตร พรหมสาสน์ คนปัจจุบัน คือ นายเจษฎากรณ์ สอนเสียง

บ้านท่าดีหมีเป็นหมู่บ้านชายแดน ส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนและพัฒนาหมู่บ้านจากหน่วยงานทหาร ความมั่นคง และนพค. 23 ซึ่งกิจกรรมพัฒนาครั้งหลังสุดประมาณเมื่อปี พ.ศ. 2542-2545 ทางกองทัพบกภาคที่ 2 ได้สนับสนุนการก่อสร้างพระใหญ่ ปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่อำเภอเชียงคาน นอกจากนี้แก่งคุดคู้แล้วมีหลายคณะ ก็ได้มาแวะนมัสการพระใหญ่ และชมทิวทัศน์บริเวณปากแม่น้ำเหืองไหลเข้ามาสมทบกับแม่น้ำโขง ที่ได้รับการกล่าวขานต่อ ๆ กัน คือ จุดชมวิวแม่น้ำสองสี

จากข้อมูลการสํารวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2566 ระบุจํานวนครัวเรือนและประชากรชุมชนบ้านท่าดีหมี จํานวน 402 หลังคาเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 1,094 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 539 คน หญิง 555 คน

องค์กรชุมชน

มีการรวมกลุ่มบุคคลเข้ามาดำเนินการการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งมีการส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐในและนอกพื้นที่พร้อมกับการกำหนดบทบาทหน้าที่ องค์การบริหารส่วนตำบล กลุ่มปราชญ์ท้องถิ่น และกลุ่มนักเล่าเรื่องชุมชน

กลุ่มอาชีพ

กลุ่มอาชีพของคนในชุมชนส่วนใหญ่จะทำเกษตรกรรม และประมง เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ และติดแม่น้ำ

วิถีการทำมาหากินของชาวบ้านที่มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติร่วมกันบริเวณปากน้ำเหือง บ้านท่าดีหมีนั้นมีชาวบ้านทั้งคนไทยและคนลาวออกหาปลาร่วมกันมีการวางเครื่องมือหาปลาต่างๆ เช่น มอง ไซ เบ็ด ตรงบริเวณนี้กันมากและปะปนกันไป ซึ่งชาวบ้านทั้งสองฝั่งมีการจับจองวางเครื่องมือหาปลาร่วมกัน โดยวีชีวิตของชาวบ้านแม่น้ำเหืองแม่น้ำโขงนั้นชาวบ้านมีวิถีชีวิต คือ มีการหาปลาและปลูกพืชผักริมตลิ่ง ไว้เป็นอาหารและขายสร้างรายได้ให้ครอบครัว และมีการไปมาหาสู่กันมาช้านาน ดังคำบอกเล่าของพ่อสวน ทองสุข ชาวบ้านลุ่มน้ำโขงแห่งนี้ว่า "ญาติพี่น้องส่วนหนึ่งในหมู่บ้านมาจากฝั่งลาว คนหนุ่มคนสาวฮักแพงกัน ก็สร้างครอบครัวด้วยกัน ทำให้ไปมาหาสู่กันตลอด จนมีคำเว้าติดปากกันว่า กินเหล้าบ้านเฮา กินลาบบ้านเขา" ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสายสัมพันธ์ความเป็นพี่น้องกันของทั้งสองแผ่นดินที่มีมาอย่างยาวนาน แม่น้ำเหืองและแม่น้ำโขงเป็นเพียงสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงการแบ่งแยกกันทางภูมิประเทศเท่านั้น แต่มิอาจแบ่งแยกสายสัมพันธ์ของความเป็นพี่น้องของชาวบ้านได้

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัฒนธรรม

วัดจอมมณี

ตามตำนานกล่าวว่า เจ้าพ่อองค์หลวง เจ้าเมืองปากเหืองเป็นชาวจีนฮ่อ อพยพครอบครัว ข้าราชบริพารมาตามแม่น้ำโขงน้ำพระพุทธรูปมา 3 องค์ คือ พระตนหลวง พระเสี่ยง และพระแย้ม โดยมีหีบคัมภีร์ใบลานมาด้วย เมื่อมาถึงบริเวณ "คกเวินทอง" น้ำไหลเชี่ยวทำให้เรือล่มข้าราชบริพารจึงหยุดเดินทางและสร้างบ้านเรือนที่บริเวณปากน้ำเหือง จึงได้ตั้งชื่อว่า "เมืองปัญจนคร" ต่อมาเกิดสงคราม เจ้าเมืองถูกประหารชีวิต ส่วนอีกตำนานเล่าว่า ปี พ.ศ. 2454 มีชาวบ้านอพยพมาตั้งหลักแหล่งริมแม่น้ำเหืองโดยนำพระเสี่ยงและพระแย้มมาด้วย มีพระธุดงค์ชื่ออาจญาซาพล มาพบและเห็นว่าเป็นพระพุทธรูปโบราณ จึงศรัทธาได้พาชาวบ้านมาร่วมสร้างวัดเพื่อระลึกถึงท้าวจุลมณี เจ้าเมืองปากเหือง จึงตั้งชื่อว่า "วัดจุลมณี" และเปลี่ยนเป็น "วัดจอมมณี" ภายในวัดประกอบด้วย

พระเสี่ยงพระแย้มเป็นพระพุทธรูปโบราณสมัยเชียงแสนเนื้อสำริดปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 62 เซนติเมตร สูง 111 เซนติเมตร และคัมภีร์ใบลานโบราณที่จารึกด้วยอักษรไทยน้อยโดยเก็บรวบรวมไว้ในตู้พระธรรม

บ้านโบราณ

บ้านท่าดีหมีมีบ้านโบราณอายุกว่า 300 ปีที่ได้รับการเก็บรักษาไว้อดีตเป็นบ้านของหมอสมุนไพร หรือหมอเทวดา ผู้เป็นที่นับหน้าถือตาของหมู่บ้าน จึงมีการเกณฑ์กันมาสร้างบ้านให้ตามคติการสร้างดั้งเดิม ปัจจุบันยังเหลือโครงสร้างส่วนฝ้าและพื้น ส่วนหลังคานั้นเป็นการสานด้วยไผ่เหียะ เรียกว่าลายไก่ไห้ ลายดั้งเดิมที่ใช้สานยุ้งฉาง แล้วไก่เข้าไปกินข้าวไม่ได้เดินวนอยู่ รอบยุ้งนั่นเอง ปัจจุบันเจ้าของบ้านคือนายสนิท วงศ์ดี ผู้เป็นลูกเขยและอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเยี่ยมชมได้

ผ้าไหม

ภูมิปัญญาทอผ้าสืบต่อจากรุ่นสู่รุ่น โดยจากลวดลายดั้งเดิม กลุ่มทอผ้าสตรีได้ริเริ่มคิดค้นลวดลายใหม่ ๆ ที่นำแรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติและสภาพภูมิประเทศ พร้อมตั้งชื่อใหม่ให้มีเอกลักษณ์เพื่อเป็นสินค้าอัตลักษณ์ของชุมชน เช่น ลายแม่น้ำสองสี ลายฝนตกหรือฝนย้อย ลายน้ำไหล เป็นต้น

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

บ้านท่าดีหมี เป็นหมู่บ้านการท่องเที่ยวใหม่ที่นำประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตและวัฒนธรรมมาเป็นจุดขายมีการ จัดตั้งกลุ่มการจัดการท่องเที่ยวขึ้นมาเพื่อให้คนในชุมชนเข้ามาเป็นสมาชิกและร่วมบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม โดยมีการพัฒนาศักยภาพสมาชิกกลุ่มผ่านหน่วยงานภาครัฐส่วนแนวทางการพัฒนาการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน เป้าหมายหลักคือการเป็นพื้นที่การท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงและสามารถสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน ปัญหาที่ชุมชนเผชิญ คือ การที่จะต้องปรับตัวให้พร้อมเป็นพื้นที่ท่องเที่ยว ต้องวิเคราะถึงปัจจัยเสี่ยงจากการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน การบริหารจักการทรัพยากรเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ให้พร้อมเป็นทั้งพื้นที่ท่องเที่ยวแหละแหล่งเรียนรู้

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กรมการปกครอง. (2566). ระบบสถิติทางการทะเบียน จํานวนประชากร. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://stat.bora.dopa.go.th/

ไทยโรจน์ พวงมณี, อิสริยาภรณ์ ชัยกุหลาบ และคชสีห์ เจริญสุข. (2566). แนวทางการพัฒนาการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านท่าดีหมี อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย. วารสารวิจัยและพัฒนา. 18(63), 19-28.

สํานักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเลย. (ม.ป.ป.). การท่องเที่ยวโดยชุมชน บ้านท่าดีหมี. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://loei.cdd.go.th/

Google Map. (2567). พิกัดแผนที่ชุมชนบ้านท่าดีหมี. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://www.google.com/maps

Gotoloei. (ม.ป.ป.). บ้านท่าดีหมี. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://www.gotoloei.com/p/923484

อบต.ปากตม โทร. 0-4287-0026