Advance search

หมู่บ้านปงหัวลาน มีลักษณะพื้นที่ราบลุ่ม เป็นเชิงเขา จึงทำให้คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตร ทำสวน ทำนา เป็นพื้นที่ที่เหมาะสำหรับการทำการเกษตร อาศัยแหล่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยลาน นอกจากนี้บ้านปงห้วยลานยังมี Home Stay เปิดบริการให้นักท่องเที่ยวได้มาพักผ่อนซึ่งเป็นอีกอาชีพของคนในชุมชนอีกด้วย

หมู่ที่ 7
บ้านปงห้วยลาน
ออนใต้
สันกำแพง
เชียงใหม่
เทศบาลออนใต้ โทร. 0-5303-6043
พงษ์ประพัทธ์ ลิ้มธนภรณ์
18 ก.พ. 2020
พิมพ์ใจ อุ่นบ้าน
4 พ.ค. 2023
พิมพ์ใจ อุ่นบ้าน
22 เม.ย. 2023
บ้านปงห้วยลาน

เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2310 มีชาวบ้านอพยพมาจากบ้านเหล่าผาแหน แต่เนื่องจากพื้นที่บ้านเหล่าผาแหนในอดีตไม่สามารถทำการเกษตร เพาะปลูกพืชไม่ได้ เพราะพื้นที่บริเวณนั้นเป็นดินลูกรังและดินแดง มีไฟป่าเกิดขึ้นบ่อย ๆ   จึงได้มาแผ้วถางบริเวณบ้านปงในปัจจุบัน มาสร้างกระท่อมอยู่บริเวณทุ่งนา โดยแรกเริ่มมีอยู่ 3-5 หลัง และบริเวณกลางทุ่งนามีดินลักษณะเป็นดินโคลนเหลว ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า ดินปง และมีเรื่องเล่าว่าดินปงแห่งนี้ดูดช้าง ดูดควาย ดูดวัวลงไปเป็นตัวมาแล้ว ตามความเชื่อของชาวบ้าน ถือว่าที่ดินบริเวณนั้นเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คอยดูแล จึงเป็นที่มาของการตั้งชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านปง"


ชุมชนชนบท

หมู่บ้านปงหัวลาน มีลักษณะพื้นที่ราบลุ่ม เป็นเชิงเขา จึงทำให้คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตร ทำสวน ทำนา เป็นพื้นที่ที่เหมาะสำหรับการทำการเกษตร อาศัยแหล่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยลาน นอกจากนี้บ้านปงห้วยลานยังมี Home Stay เปิดบริการให้นักท่องเที่ยวได้มาพักผ่อนซึ่งเป็นอีกอาชีพของคนในชุมชนอีกด้วย

บ้านปงห้วยลาน
หมู่ที่ 7
ออนใต้
สันกำแพง
เชียงใหม่
50130
18.71892
99.20159
เทศบาลตำบลออนใต้

ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านปงห้วยลาน หมู่ที่ 8 ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่

ในปี พ.ศ. 2425 ได้มี นายคำ ซึ่งอาศัยอยู่ใกล้กับบริเวณวัดร้างได้มาแผ้วถางทำไร่ขณะที่นั่งพัก นายคำพบผอบ ซึ่งข้างในได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จึงนำไปถวายท่านพระครูปินตา เจ้าอาวาสวัดปงห้วยลานในขณะนั้น ท่านพระครูปินตาจึงเห็นสมควรให้สร้างวัดขึ้น เพราะสถานที่แห่งนี้เดิมเป็นวัดมาก่อน พร้อมทั้งมีชาวบ้านอาศัยอยู่ ได้แก่ บ้านปง บ้านปงห้วยลาน บ้านเหล่า จากการศึกษาประวัติของหมู่บ้านปงห้วยลาน และจากการสัมภาษณ์ผู้นำชุมชน พ่อหลวงณรงค์ กันทะ-พรหม และผู้อาวุโสภายในหมู่บ้าน พ่อเจริญ ปัญญาจันทร์ จึงได้ทราบประวัติและความเป็นมาดังนี้

เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2310 มีชาวบ้านอพยพมาจากบ้านเหล่าผาแหน ซึ่งสาเหตุของการอพยพย้ายถิ่นฐาน เนื่องจากพื้นที่บ้านเหล่าผาแหนในอดีตไม่สามารถทำการเกษตร เพาะปลูกพืชไม่ได้ เพราะพื้นที่บริเวณนั้นเป็นดินลูกรังและดินแดง มีไฟป่าเกิดขึ้นบ่อย ๆ จึงได้มาแผ้วถางบริเวณบ้านปงในปัจจุบัน มาสร้างกระท่อมอยู่บริเวณทุ่งนา โดยแรกเริ่มมีอยู่ 3-5 หลัง และบริเวณกลางทุ่งนามีดินลักษณะเป็นดินโคลนเหลว ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า ดินปง โดยมีพื้นที่ประมาณ 2-3 ไร่ ลักษณะดินปงเป็นดินนิ่ม ๆ คนตัวเล็กที่มีน้ำหนักตัวไม่มากสามารถยืนบนพื้นที่บริเวณดินปงได้ แต่ถ้าหากคนที่ตัวใหญ่หรือมีน้ำหนักตัวมากจะหล่มลงไปใต้ดินและถูกดูดลงไป เพราะพื้นดินปงจะมีลักษณะเป็นดินเหลวและลึกมาก คนหรือสัตว์ที่มีน้ำหนักตัวมากจะถูกดูดลงไปใต้ดินปง ซึ่งมีเรื่องเล่าว่าดินปงแห่งนี้ดูดช้าง ดูดควาย ดูดวัวลงไปเป็นตัวมาแล้ว ตามความเชื่อของชาวบ้านถือว่าที่ดินบริเวณนั้นเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คอยดูแลอยู่จนถึงปัจจุบัน จึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านปง"

ประวัติการสร้างวัด เริ่มก่อสร้างวัดปงห้วยลานเมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2425 ในพื้นที่หมู่ 7 บ้านปงห้วยลาน ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีเนื้อที่ 15 ไร่ 3 งาน 94 ตารางวา และได้รับแต่งตั้งจากกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 9 มกราคม พ.ศ.2427 มีสาสนและถาวรวัตถุเป็นหลักฐานมั่นคงมีภิกษุ-สามเณร อยู่จำพรรษาตลอดมา ซึ่งปัจจุบันวัดปงห้วยลานเป็นที่ศรัทธาของชาวบ้าน บ้านปงห้วยลานและบ้านปงห้วยลาน

ต่อมาในปี พ.ศ.2441 พระครูจันทสมานคุณ “หลวงปู่หล้าตาทิพย์” เดิมชื่อเด็กชายหล้า บุญมาคำ เป็นบุตรของนายเงิน บุญมาคำ(โยมพ่อ) และนางแก้ว บุญมาคำ (โยมแม่) เกิดวันพฤหัสบดี ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2441 ณ บ้านปงห้วยลาน หมู่ที่ 8 ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นบุตรคนสุดท้อง(ภาษาล้านนานิยมเรียกลูกคนสุดท้องว่าหล้า ซึ่งหมายถึงสุดท้าย) โยมพ่อเสียชีวิตตั้งแต่หลวงปู่อายุ 1 ขวบ โยมแม่จึงนำไปฝากศึกษาเล่าเรียนกับท่านพระครูปินตา (อดีตเจ้าอาวาสวัดปงห้วยลานรูปแรก) หลวงปู่บรรพชาเมื่ออายุ 11 ปี จนกระทั่งอายุ 18 ปี จึงเดินทางเข้าไปจำพรรษาอยู่ในเมืองเชียงใหม่ เพื่อเรียนนักธรรมที่วัดเชตุพน หลวงปู่เรียนนักธรรมที่วัดเชตุพนเพียง 1 ปี ยังไม่ทันสำเร็จการศึกษา ต้องเดินทางกลับวัดปงห้วยลานเพื่อปรนนิบัติท่านพระครูปินตาที่ชราภาพ และอุปสมบท เมื่ออายุ 20 ปี ณ พระอุโบสถน้ำ วัดปงห้วยลาน หลวงปู่หล้าเป็นพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มีเมตตาต่อลูกศิษย์ จึงมีผู้คนศรัทธาให้ความเคารพนับถือและมีลูกศิษย์ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติจำนวนมาก มีคณะลูกศิษย์อยู่ทั่วสารทิศ โดยเฉพาะพี่น้องชาวบ้านปงห้วยลานทุกคน ทุกหลังคาเรือน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของหลวงปู่ที่ให้ความเคารพบูชาศรัทธาต่อหลวงปู่ มีการจัดกิจกรรมเพื่อน้อมรำลึกถึงธรรมะ เมตตา บุญบารมีของหลวงปู่ทุกปี 

  • ในปี พ.ศ. 2467 ท่านพระครูปินตามรณภาพ ด้วยวัย 74 ปี ซึ่งขณะนั้นหลวงปู่หล้าอายุ 27 ปี และหลวงปู่หล้าก็ได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปงห้วยลาน ต่อท่านพระครูปินตา
  • ในปี พ.ศ. 2476 หลวงปู่หล้าได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
  • ในปี พ.ศ. 2477 ครูบาศรีวิชัยได้สร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ หลวงปู่หล้าได้ร่วมเดินทางไปร่วมการสร้างถนนครั้งนั้นด้วย ซึ่งหลวงปู่หล้าทำได้ 5 วา ใช้เวลา 14 วัน

จนเมื่อปี พ.ศ. 2504 หลวงปู่หล้าได้รับการแต่งตั้งเป็นพระครูจันทสมานคุณ ซึ่งในขณะนั้นท่านอายุ 64 ปี ชื่อเสียงของหลวงปู่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป เนื่องด้วยหลวงปู่เป็นพระสงฆ์ที่ประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในหลักศีลธรรมอันดีงาม ชาวบ้านเล่าว่า วันหนึ่งฝนตั้งเค้าจะตกหนัก หลวงปู่บอกให้พระเณรรีบออกจากกุฏิ เพราะกุฏิเก่าและทรุดโทรมมากและมีต้นลานขนาดใหญ่อยู่ข้างกุฏิ ปรากฏว่าฝนตกหนักกิ่งต้นลานหักโค่นลงมาทับกุฏิพังเสียหาย พระเณรที่อยู่ในวัดทุกรูปปลอดภัยและพากันสรรเสริญ ว่าหลวงปู่มีตาทิพย์ นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าอีกว่า เช้าวันหนึ่งเวลาประมาณตี 5 หลวงปู่ให้พระเณรรีบทำความสะอาดพระวิหาร เพราะจะมีแขกมาหาที่วัด พอครั้นถึงเวลา 6 โมงเช้า พระศรีธรรมนิเทศ เจ้าอาวาสวัดสันป่าข่อยขณะนั้น นำญาติโยมมาหา ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงพากันเรียกหลวงปู่ว่า “หลวงปู่หล้าตาทิพย์” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา 

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ทรงเยี่ยมราษฎรหมู่บ้านสหกรณ์ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ มีราษฎรจากตำบลออนใต้ เดินทางมาเฝ้ารับเสด็จและถวายแผนผังเพื่อขอพระราชทานสร้างอ่างเก็บน้ำแม่ผาแหน เพื่อส่งน้ำให้พื้นที่เกษตรกรรม ตำบลออนใต้ ให้สามารถใช้ในการเพาะปลูกพืชผลของราษฎรตลอดจนการอุปโภคบริโภค พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ทอดพระเนตรสถานที่ดังกล่าว

ต่อมาวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2523 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ทรงมีมีรับสั่งเกี่ยวกับการจัดหาน้ำให้ราษฎร โดยให้สำนักงาน รพช. พิจารณาดำเนินก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่ผ่าแหน เพื่อส่งน้ำให้แก่พื้นที่การเกษตรบ้านแม่ผาแหน และหมู่บ้านใกล้เคียง อ่างเก็บน้ำได้ดำเนินการสร้างในเดือนมกราคม 2525 และสร้างเสร็จในเดือนมีนาคม 2526  

ต่อมาเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังพื้นที่ป่าห้วยลาน ซึ่งตอนนั้นพื้นที่ป่าห้วยลานแห้งแล้งมาก พื้นที่ป่าถูกราษฎรบุกรุกเข้าไปทำสวน ป่าไม้ถูกทำลาย ทำให้ผืนป่าแห้งแล้งมาก ฝนไม่ตกตามฤดูกาล น้ำในลำห้วยแห้งขอด ไม่เพียงพอสำหรับการใช้ทำเกษตรกรรม ราษฎรในหมู่บ้านยากจน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริให้สร้างอ่างเก็บน้ำห้วยลานขึ้น เพื่อช่วยให้ราษฎรมีแหล่งน้ำสำหรับใช้อุปโภคบริโภคและทำเกษตรกรรม โดยมีหน่วยงานภาครัฐสนองพระราชดำริในขณะนั้น ได้แก่ สำนักเร่งพัฒนาชนบท (รพช.) กระทรวงมหาดไทย และได้มีพระราชกระแสรับสั่งให้สร้างเสร็จภายในปีเดียวกัน เพื่อให้ราษฎรได้มีน้ำอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรต่อไป ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จึงเรียกชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านปง ห้วยลาน” และต่อมาทรงมีพระราชดำริให้สร้างอ่างเก็บน้ำห้วยป่าไร่ เพื่อใช้ในการป่าไม้และสร้างอ่างเก็บน้ำดอยโทนเพื่อใช้ในการประมง ภายหลังจากการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยลาน ส่งผลให้ผืนป่ามีความอุดมสมบูรณ์ ทำให้ราษฎรมีแหล่งน้ำใช้อุปโภคบริโภค และทำการเกษตร สามารถทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง ราษฎรในหมู่บ้านมีวิถีชีวิตพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เกื้อกูลอาทรต่อกัน ดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จนได้รับรางวัลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ อำเภอสันกำแพง ปี พ.ศ. 2553

และเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2536 หลวงปู่หล้าเจริญอายุมาถึง 96 ปี ก็ถึงแก่มรณภาพ ด้วยความโศกเศร้าสลดใจมาสู่พระสงฆ์ สามเณร ศรัทธาญาติโยมต่างมาเคารพร่างของหลวงปู่ตั้งแต่วันที่หลวงปู่มรณภาพจนถึงปัจจุบัน ซึ่งร่างของหลวงปู่หล้าถูกบรรจุไว้ในโลงแก้วประดับประดาด้วยดอกไม้ตั้งอยู่บนกุฏิไม้สักที่งดงามในวัดปงห้วยลาน

บ้านปงห้วยลานตั้งอยู่หมู่ที่ 8 ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ตามถนนเส้นทางหลักทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 5127 สายเชียงใหม่-สันกำแพง พื้นที่รับผิดชอบทั้งหมดแบ่งออกเป็น พื้นที่อุทยาน 12,500 ไร่  พื้นที่อยู่อาศัย 150 ไร่ 

ที่ตั้งและอาณาเขต  

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ที่ 6 บ้านแม่ผาแหน
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลห้วยยาบ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ที่ 7 บ้านป่าตึง
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่ 9 บ้านป่าห้า

ลักษณะภูมิประเทศและลักษณะภูมิอากาศ

หมู่ 8 บ้านปงห้วยลานโดยทั่วไปมีลักษณะเป็นพื้นที่ราบสูงถูกล้อมรอบด้วยภูเขาโดยพื้นที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตป่าสงวนและป่าอุทยานฯส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าชุมชนเป็นป่าปลูกใหม่ที่ได้รับการฟื้นฟูโดยสภาพอากาศทั้ง 3 ฤดูมีดังนี้-ฤดูร้อนระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายนสภาพอากาศจะร้อนมากเกิดความแห้งแล้งแหล่งน้ำในชุมชนแห้งขอด-ฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายนซึ่งสภาพอากาศฝนตกชุกเหมาะสมแก่การเพาะปลูก-ฤดูหนาวระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งมีระยะเวลายาวนานกว่าฤดูอื่น ๆ และมีสภาพอากาศหนาวเย็นมากมีหมอกปกคลุมทั่วไป ดินทรัพยากรธรรมชาติของหมู่บ้านป่าไม้มีการปลูกป่าทั่วไป จํานวน 6,013 ไร่ ปลูกป่าหวาย จํานวน 1,050 ไร่ ดินส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทรายเหมาะสำหรับการเพาะปลูกแหล่งน้ำมีแหล่งน้ำธรรมชาติและแหล่งน้ำที่สร้างขึ้นประกอบด้วยอ่างเก็บน้ำห้วยลาน อ่างเก็บน้ำดอยโดนและอ่างเก็บน้ำป่าไร่นอกจากนี้ยังมีโรงน้ำดื่มหมู่บ้านอีกจำนวน 1 แห่ง 

สาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก 

  1. การคมนาคม คมนาคมสะดวกถนนในหมู่บ้านเป็นถนนอิฐรูปตัวหนอนมีสภาพที่ดีชาวบ้านปงห้วยลานใช้รถจักรยานรถจักรยานยนต์และรถยนต์ในการสัญจร
  2. วัดไม่มีวัดในหมู่บ้าน แต่ชาวบ้านมักจะไปวัดใกล้เคียง คือวัดปงห้วยลาน (หลวงปู่หล้าตาทิพย์) จำนวน 1 วัดมีพระครูวิสุทธิเขฆรัตเป็นเจ้าอาวาสปัจจุบันมีพระจำพรรษาในวัดจำนวน 10 รูปเมื่อมีงานเทศกาลวันสำคัญทางศาสนาประชาชนจะไปรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมที่วัดนอกจากนั้นทุกวันพระและวันสำคัญทางศาสนาประชาชนจะไปทำบุญและฟังเทศนาที่วัด
  3. ไฟฟ้าทุกครัวเรือนในหมู่บ้านใช้ไฟฟ้าครบทุกครัวเรือน
  4. น้ำกิน น้ำใช้ ประชาชนในหมู่บ้านจะใช้น้ำประปาหมู่บ้าน และน้ำบ่อทุกครัวเรือนในการอุปโภคส่วนน้ำบริโภคประชาชนในหมู่บ้านใช้น้ำบรรจุขวดและน้ำบ่อยา (น้ำบ่อทิพย์) เป็นน้ำดื่มเพื่อการบริโภค
  5. สถานพยาบาลถ้าเจ็บป่วยเล็กน้อยประชาชนจะดูแลสุขภาพด้วยตนเองหรือไปรับการรักษาที่คลินิกแต่ส่วนใหญ่แล้วจะไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเป็นหลัก
  6. ร้านค้าในบ้านปงห้วยลานมีร้านค้า 5 แหล่งซึ่งจะขายเครื่องอุปโภคบริโภคเช่นอาหารถุงอาหารสำเร็จรูปขนมนมผักผลไม้ผงซักฟอกน้ำยาปรับผ้านุ่มเป็นต้นซึ่งจะมีผู้มาจับจ่ายซื้อของเป็นจำนวนมาก
  7. ขนบธรรมเนียมประเพณีมีขนบธรรมเนียมประเพณีที่สำคัญเช่นประเพณีสรงน้ำพระธาตุประเพณีเดือนสี่ปอยหลวงตานก๋วยสลากประเพณีพื้นเมืองทั่วไปเช่นประเพณีวันสงกรานต์วันเข้าพรรษาวันออกพรรษาประเพณีลอยกระทง (ยี่เป็ง) และมีการทำกิจกรรมทางศาสนาตามโอกาสเช่นวันวิสาขบูชาวันอาสาฬหบูชาจะมีการเข้าวัดสวดมนต์เวียนเทียนโดยกิจกรรมต่าง ๆ จะจัดที่วัดซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านประเพณีพื้นเมืองเฉพาะ ได้แก่ วันกตัญญูหลวงปู่หล้าจัดขึ้นที่วัดปงห้วยลาน (หลวงปู่หล้าตาทิพย์) เลี้ยงผีขุนน้ำจัดขึ้นที่อ่างเก็บน้ำแม่ผาแหน (วังจำป่าเฮ้ย) ซึ่งจะมีชาวบ้านมาร่วมงานตลอดเนื่องด้วยชาวบ้านมีความศรัทธาในสิ่งศักดิ์สิทธิ์และพิธีกรรมต่าง ๆ ที่มีการจัดขึ้นสืบทอดกันมาหลายต่อหลายรุ่น

ลักษณะแผนที่เดินดินหมู่บ้านปงห้วยลาน

จากลักษณะภาพรวมของชุมชนบ้านปงห้วยลาน หมู่ที่ 8 ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 30 กิโลเมตรชุมชนมีลักษณะเป็นชุมชนชนบทมีอาณาเขตติดต่อโดยทางทิศเหนือติดต่อกับหมู่ที่ 6 บ้านแม่ผาแหน ทิศตะวันออกติดต่อกับหมู่ที่ 7 บ้านป่าตึง ทิศตะวันตกติดต่อกับหมู่ 9 บ้านป่าห้า ทิศใต้ติดต่อกับตำบลห้วยยาบ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน ภายในหมู่บ้านมีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 148 ครัวเรือน (ข้อมูลจากทะเบียนราษฎร์, ปี2562) 

ซึ่งแบ่งออกเป็น 11 หมวดประกอบด้วย หัวหน้าหมวดแต่ละหมวด ดังนี้

  • หมวดที่ 1  นายสมอาจ อินตายวง
  • หมวดที่ 2  นายจำรัส สิริปุมแปง
  • หมวดที่ 3  นายสวิง สิงห์หล้า
  • หมวดที่ 4  นายอินสอน อินตาคำ
  • หมวดที่ 5  นายประพันธ์ ใจติขะ
  • หมวดที่ 6  นายจำรัส ใจกองคำ
  • หมวดที่ 7  นายเนียม ใจธิตา
  • หมวดที่ 8  นายชาญ ใจวงค์
  • หมวดที่ 9  นายสุเมตต์ อินตายวง
  • หมวดที่ 10 นายบุญธรรม จันทร์แปง
  • หมวดที่ 11 นายอินควร ใจกองคำ

จากการเดินสำรวจหมู่บ้านพบว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ของหมู่บ้านเป็นที่ราบติดภูเขามีน้ำแม่ผาแหนไหลผ่านทางทิศเหนือ รวมทั้งทิศใต้และทิศตะวันออกของหมู่บ้านมีลำน้ำห้วยลานไหลผ่าน การคมนาคมค่อนข้างสะดวกเนื่องจากหมู่บ้านมีทางเข้าที่ถนนติดต่อกับเส้นทางหลักทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1006 และต่อด้วยหลักทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1147 สายเชียงใหม่-สันกำแพงถนนในหมู่บ้านมีลักษณะเป็นถนนลาดยางและถนนอิฐบล็อกตัว มีความกว้างขวางเพียงพอสามารถใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ในการเดินทางภายในหมู่บ้านได้ลักษณะบ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านปูนชั้นเดียวบ้านเรือนอยู่เรียงติดกันมีรั้วแสดงขอบเขตของแต่ละหลังชัดเจนบางครัวเรือนที่เป็นเครือญาติกันจะพบว่ามีบ้านหลายหลังอยู่ในเขตรั้วเดียวกันภายในหมู่บ้านประกอบด้วยสถานที่สำคัญ ได้แก่ ศาลาหลวงปู่หล้า ศาลากลางหมู่บ้าน ซึ่งเป็นสถานที่ที่สมาชิกในชุมชนใช้ในการประกอบพิธีมงคล และใช้ในการรวมตัวกันเพื่อทำประชาคมประชุมหมู่บ้าน หรือใช้ทำกิจกรรมต่างๆเสาหลักของหมู่บ้าน

นอกจากสถานที่สำคัญต่าง ๆ แล้วภายในหมู่บ้านยังมีร้านอาหาร 2 ร้านร้านค้า 4 ร้าน บ้านพัก Home Stay 5 หลัง และมีฟาร์มวัวนม 1 แห่ง สภาพอากาศในหมู่บ้านปลอดโปร่ง ถ่ายเทสะดวก และมีการเผากำจัดขยะโดยการนำขยะไปทิ้งที่บ่อขยะหมู่บ้านเป็นส่วนใหญ่ และบางส่วนมีรถเก็บขยะของเทศบาลมาเก็บเพื่อนำไปคัดแยก และไปทำลาย

น้ำที่ใช้ในการอุปโภคเป็นน้ำในชุมชนสมาชิกในชุมชนจะใช้น้ำประปาหมู่บ้านเป็นส่วนใหญ่และบางครัวเรือนมีการใช้น้ำบ่อ การบริโภคส่วนใหญ่จะบริโภคดื่มบรรจุขวดและบางส่วนบริโภคน้ำ จากน้ำบ่อยาสมาชิกในชุมชนประกอบด้วยคนในท้องถิ่น คนต่างจังหวัดและคนต่างประเทศที่ย้ายเข้ามาอาศัยอยู่แต่มีจำนวนน้อยการประกอบอาชีพส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนคือจะออกไปทำงานในช่วงเช้า และจะกลับเข้าบ้านในช่วงเย็น 

การเลี้ยงสัตว์สมาชิกในชุมชนส่วนใหญ่เลี้ยงสุนัข แมว และไก่เมื่อถึงช่วงเทศกาล หรืองานบุญสมาชิกในชุมชนจะมีการรวมตัวกันเพื่อช่วยกันจัดงาน และร่วมมือร่วมใจกันในการดำเนินงานขั้นตอนต่างๆให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี นอกจากนี้ยังรวมถึงงานฌาปนกิจที่สมาชิกในชุมชนจะช่วยกันจัดงาน และร่วมแสดงความไว้อาลัย

การเดินทางสู่ตำบลออนใต้มีสามเส้นทางเดินทางโดยรถส่วนตัว

  1. เดินทางจากเชียงใหม่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1317 ถนนเชียงใหม่-แม่ออน มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก ถึงทางแยกบริเวณบ้านดอยยาว ตำบลแช่ช้าง เลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนหมายเลข 1147 ถนน สันกำแพง-บ้านธิ ระยะทาง 7 กิโลเมตร เข้ามาถึงบ้านป่าเหียง จะเป็นถนนเข้าหมู่บ้านระยะทาง 3 กิโลเมตร  ถึงหมู่บ้านปงห้วยลาน
  2. เดินทางจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1006 ถนนเชียงใหม่-สันกำแพง ถนนเชื่อมจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 ระยะทาง 12 กิโลเมตร ผ่านเขตเทศบาลตำบลสันกำแพง ผ่านบ้านป่าไผ่ ถึงหมู่บ้านปงห้วยลาน ระยะทาง 10 กิโลเมตร
  3. จากศูนย์ราชการอำเภอสันกำแพง ถนนหมายเลข 1006 ถนนเชียงใหม่-ออนหลวย เข้าสู่ตำบลร้องวัวแดง ผ่านบ้านใหม่ เข้าสู่ตำบลออนใต้ ระยะทาง 6 กิโลเมตร จากศูนย์ราชการอำเภอสันกำแพงไปถึงหมู่บ้านปงห้วยลาน

บ้านปงห้วยลานหมู่ที่ 8 ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 148 ครัวเรือนมีประชากรทั้งหมด 471 คนเป็นชาย 230 คนเป็นหญิง 241 คน จากการสำรวจ 80 ครัวเรือนมีประชากรทั้งหมด 288 คนเป็นชาย 143 คนเป็นหญิง 145 คน โดยจะมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในหมู่บ้านทั้งหมด 18 คน โดยแบ่งกันดูแลในแต่ละเขต ซึ่งในการแบ่งเขตรับผิดชอบ จะแบ่งตามกายภาพของแต่ละพื้นที่ เพื่อความสะดวกและการดูแลชุมชนอย่างทั่วถึง

จากการศึกษาผังเครือญาติของหมู่บ้านปงห้วยลาน หมู่ 8 ตําบลออนใต้ อําเภอสันกําแพง จังหวัด เชียงใหม่ ซึ่งในหมู่บ้าน ปงห้วยลาน มีตระกูลเก่าแก่ ที่เป็นตระกูลแรกที่เข้ามาอยู่ในหมู่บ้าน คือ ตระกูลโปธิมา จากข้อมูลพบว่า ครอบครัวโปธิมาเป็นครอบครัวขยายขนาดใหญ่ และบางคนได้แยกครอบครัวไปใช้นามสกุลอื่น โดยจากการเก็บข้อมูลได้นําข้อมูลที่ซักประวัติขณะลงสํารวจพื้นที่มาประกอบกับการลงไปสอบถามคนในครอบครัวโปธิมา ซึ่งได้ไปสอบถามบุคคลทั้งหมด 4 คน ได้แก่

  • คนที่ 1 นางอัญชนา บุญมาคำ
  • คนที่ 2 นางบัวหอม ปินตานา
  • คนที่ 3 นางวรรณา โปธิมา
  • คนที่ 4 นางสายใจ ฟูฟอง

พบว่า มีเครือญาติที่เกี่ยวข้องทางสายสัมพันธ์ที่สามารถให้ข้อมูลได้มีจํานวนทั้งหมด 6 รุ่น ได้แก่ รุ่นที่ 1 ซึ่งมีจํานวน 2 คน ได้เสียชีวิตไปหมดแล้ว คือ หม่อน มา โปธิมา และพ่อหม่อน เที่ยง โปธิมา รุ่นที่ 2 มีจํานวน 5 คน ปัจจุบันเสียชีวิตหมดแล้ว รุ่นที่ 3 มีจำนวน 23 คน ปัจจุบันเหลืออยู่ 14 คน อายุประมาณ 58- 84ปี (ผู้ใหญ่-ผู้สูงอายุ) รุ่นที่ 4 มีจํานวน 33 คน ปัจจุบันมีคนที่มีชีวิตเหลืออยู่ 31 คน อายุประมาณ 30-64 ปี (ผู้ใหญ่- ผู้สูงอายุ) รุ่นที่ 5 มีจํานวน 27 คน ปัจจุบันมีคนที่มีชีวิตเหลือยู่ 27 คน อายุประมาณ 3-37 ปี (วัยเด็ก-วัยผู้ใหญ่) และรุ่นที่ 6 มีจํานวน 9  คน มีอายุประมาณ 10 วัน-8 ปี (วัยเด็ก) จากการสอบถามและซักประวัติบุคคลครอบครัวโปธิมา นั้น พบว่า คนรุ่นแรกๆสามารถบอกความสัมพันธ์เชิงเครือญาติได้มากกว่าคนรุ่นหลัง เนื่องจากคนรุ่นหลังส่วนใหญ่ออกไปประกอบอาชีพต่างอําเภอ ต่างจังหวัด ความสัมพันธ์และความใกล้ชิดภายในเครือญาติอาจลดลงทําให้ไม่สามารถให้ข้อมูลได้มากนัก ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับคนรุ่นก่อนที่มีการประกอบอาชีพทางเกษตรกรรม เช่น ทําไร่ ทํานา ทำสวน ที่มักประกอบอาชีพอยู่บ้านรวมทั้งการอาศัยแต่ละบ้าน ถ้าหากเป็นพี่น้องเป็นญาติกันจะอยู่ในระแวกเดียวกัน ทําให้ได้ข้อมูลเครือญาติที่เกี่ยวข้องทางสายสัมพันธ์เป็นอย่างดี

ประชากรส่วนใหญ่ของบ้านปงห้วยลานส่วนใหญ่จะเป็นประชากรที่อาศัยในพื้นที่มาแต่เดิมซึ่งจะมีลักษณะความเป็นอยู่ที่พึ่งพาอาศัยและช่วยเหลือเกื้อกูลกันพื้นที่ของแต่ละครัวเรือนจะกว้างส่วนใหญ่จะเป็นญาติกันมักจะอยู่บ้านติดๆกันแต่บางพื้นที่ บางเขตหย่อมบ้านจะห่างกันเนื่องจากบางครัวเรือนจะมีการเพาะปลูกพืชสวน ปลูกดอกไม้ประดับภายในบริเวณบ้านจึงทำให้บริเวณบ้านกว้างอาณาเขตติดต่อกันของบ้านแต่ละหลังจึงค่อนข้างหางกันแต่ส่วนมากแล้วจะมีการไปมาหาสู่กันเสมอและจะมีลักษณะการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพทกลายกันเช่นลักษณะการประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมการสัตว์เศรษฐกิจ และรับจ้างทั่วไปเป็นต้น 

จากการสำรวจและรวบรวมข้อมูล เกี่ยวกับโครงสร้างองค์กรชุมชน พบว่าโครงสร้างองค์กรชุมชนบ้านปงห้วยลาน หมู่ที่ 8 ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ มีกลุ่มองค์กรแบบเป็นทางการ และไม่เป็นทางการ ซึ่งใน แต่ละองค์กรมีความสัมพันธ์กันเกี่ยวข้องกันทางสังคมโดยในแต่ละองค์กรจะมีบทบาทหน้าที่แตกต่างกัน

ในอดีตที่ผ่านมาชุมชนบ้านปงห้วยลาน มีผู้ปกครองโดยสามารถเรียงตามลำดับได้ดังนี้

  1. ท้าวภิบาล ใจกองคำ
  2. นายจันทร์ จอมใจป้อ
  3. นายตา ปัญญาจันทร์
  4. นายสม แก้วสว่าง
  5. นายแก้ว จันแปง
  6. นายอ้าย จินาปา
  7. นายนิคม ยะคำ
  8. นายณรงค์ กันทะพรม

จากลักษณะภูมิประเทศของหมู่บ้านปงหัวลาน มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบลุ่ม เป็นเชิงเขา จึงทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตร ทำสวน ทำนา หมู่บ้านปงห้วยลานเป็นพื้นที่เหมาะสำหรับการทำการเกษตรเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีน้ำใช้เพียงพอจากอ่างเก็บน้ำห้วยลาน และมีโครงการพัฒนาพื้นที่ห้วยลานฯ ฝ่ายประมงและฝ่ายป่าไม้ จึงมีประชาชนบางส่วนเป็นพนักงานในโครงการ นอกจากนี้บ้านปงห้วยลานมี Home Stay เปิดบริการให้นักท่องเที่ยงได้มาพักผ่อนซึ่งเป็นอีกอาชีพของประชาชนในหมู่บ้าน

ผลการศึกษาปฏิทินชุมชน

การศึกษาปฏิทินชุมชน ศึกษาได้จากการสัมภาษณ์คนในชุมชน โดยใช้คำถามปลายเปิด การฟังอย่างตั้งใจ และการจดบันทึก หลังจากนั้นจึงได้รวบรวมข้อมูล ตรวจสอบ วิเคราะห์และจัดทำตารางปฏิทินชุมชนบ้านปงห้วยลาน หมู่ที่ 8 ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ มีรายละเอียดดังนี้

ด้านเศรษฐกิจ

หมู่บ้านปงห้วยลานเป็นสังคมชนบท มีจำนวนประชากรอาศัยอยู่ในชุมชนค่อนข้างมาก ซึ่งปัจจุบันประชาชนในชุมชนในหมู่บ้านมีอาชีพทำเกษตรกรรม เช่น ทำนา ทำสวน เป็นต้น ประกอบธุรกิจส่วนตัว รับจ้างทั่วไป เช่น ปักผ้า/เย็บผ้า เป็นต้น โดยการรับจ้างทั่วไปงานไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับช่วงฤดูกาล ประชาชนในชุมชนบางส่วนได้เข้าไปทำงานในอำเภอเมืองในช่วงเช้า และกลับเข้าชุมชนในเวลาหลังเลิกงานในช่วงเย็น โดยลักษณะการทำงานตลอดปี อาจมีวันหยุดสุดสัปดาห์วันหยุดนักขัตฤกษ์ หรือวันหยุดตามเทศกาลต่าง ๆ ในส่วนของการทำนาปี มักจะทำในช่วงฤดูฝน เนื่องจากมีน้ำเยอะ นอกจากนี้ประชาชนในชุมชนยังมีการปลูกพืชผักสวนครัวไว้รับประทานเอง ส่งเสริมการรับประทานผักปลอดสารพิษ 

ด้านวัฒนธรรม/สังคม

ประชาชนบ้านปงห้วยลานเป็นคนพื้นเมือง ประชาชนส่วนใหญ่ใช้ภาษาท้องถิ่น (ภาษาพื้นเมือง, ภาษาเหนือ) ในการติดต่อสื่อสารกันภายในชุมชน สำหรับการแต่งกายจากการสังเกตภายในชุมชน พบว่า ประชาชนในชุมชนมีการแต่งกายตามปกติ คือ เสื้อยืดคอกลม กางเกงขาสั้นหรือขายาว ตามความเหมาะสมตามฤดูกาล อาชีพ บริบททางสังคม และการใช้ชีวิตประจำวัน

วัฒนธรรมการรับประทานอาหาร จากการศึกษาและสังเกตข้อมูลภายในชุมชน ส่วนใหญ่ประชาชน นิยมรับประทานเป็นอาหารพื้นเมือง หรืออาหารท้องถิ่นพื้นบ้านภาคเหนือ โดยซื้อวัตถุดิบมาจากตลาดสดหรือเก็บผักที่ปลูกไว้มารับประทาน ส่วนใหญ่จะรับประทานอาหารประเภทแกงเป็นหลัก รสชาติอาหารพอดีรสชาติไม่จัด ไม่เผ็ด ไม่เน้นรสใดเป็นหลัก นอกจากนี้ประชาชนส่วนใหญ่นิยมประกอบอาหารรับประทานเอง เพื่อความปลอดภัย และคุณค่าทางสารอาหาร

ภูมิปัญญาท้องถิ่นในเรื่องของความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติยังคงมีให้พบเห็นอยู่ เช่น การสืบทอด การนับถือผีปู่ย่า ยกตัวอย่างเช่น ก่อนที่หญิงชายจะแต่งงานกันจะมีการเลี้ยงผีปู่ย่า เพื่อเป็นการบอกกล่าวบรรพบุรุษ รวมถึงพิธีการสืบชะตาบ้านสืบชะตาหมู่บ้านในวันสำคัญต่าง ๆ นอกจากนี้ในชุมชนบ้านปงห้วยลานมีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น เสื้อผ้าพื้นเมืองที่ทอขึ้นมาเอง ของใช้จักรสานต่าง ๆ เป็นต้น 

สำหรับขนบธรรมเนียมประเพณี จากการสังเกตข้อมูลภายในชุมชน พบว่าชุมชนหมู่บ้านปงห้วยลานมีการรักษาจารีตประเพณีอันดีงามตามท้องถิ่นล้านนา และประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นตามไทยกลาง เช่น ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีดำหัวปีใหม่เมือง การเลี้ยงผีปู่ย่า ยี่เป็ง เป็นต้น นอกจากนี้ชุมชนยังมีศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นที่แตกต่างจากชุมชนอื่น ๆ เช่น การเลี้ยงผีขุนน้า การจัดงานวันกตัญญูหลวงปู่หล้า การทำบุญวันมรณภาพหลวงปู่หล้า การเดินขึ้นดอยโง้มเนื่องในวันมรณภาพของครูบาศรีวิชัย ประเพณีการแข่งขันกีฬาพื้นบ้านเชื่อมความสามัคคี เป็นต้น

ด้านสาธารณสุข

จากการสังเกตข้อมูลภายในชุมชน พบว่า ชุมชนบ้านปงห้วยลานมีการใช้ไฟฟ้าแรงสูงจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคทุกครัวเรือน และบริเวณภายในชุมชนมีไฟฟ้าส่องสว่างในที่สาธารณะไว้อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในเวลากลางคืน นอกจากนี้ยังมีกล้องวงจรปิดติดไว้ในบริเวณที่สำคัญเพื่อรักษาความปลอดภัยของหมู่บ้าน สำหรับการใช้น้ำในการอุปโภคและบริโภคภายในชุมชน พบว่าชุมชนใช้น้ำจากประปาหมู่บ้านเป็นหลัก มีอาสาสมัครสาธารณะสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ประชาชนสามารถรับรู้ข่าวสารต่าง ๆ โดยเสียงตามสาย และมีการประชุมประจำเดือน เมื่อผู้ใหญ่บ้านได้รับข่าวสารจากทางราชการก็จะแจ้งในที่ประชุมโดยคนในชุมชนได้ ให้ความร่วมมือดีเข้าร่วมประชุมอย่างสม่ำเสมอ และมีกิจกรรมการให้บริการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแม่ผาแหน ดังต่อไปนี้ การสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธ์ลูกน้ำยุงลาย เป็นกิจกรรมที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและสมาชิกอสม. จะทำร่วมกันทุกวันอาทิตย์ คลินิกเบาหวาน ทางโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านแม่ผาแหนจัดทุกวันอังคารที่ 2 ของ เดือน 

คลินิกความดันโลหิตสูง ทางโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านแม่ผาแหนจัดทุกวันศุกร์

การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านม เป็นกิจกรรมที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ตำบลบ้านแม่ผาแหน จะตรวจปีละ 1 ครั้งโดยจะมีการตรวจเต้านมโดยการคลำ และมีการตรวจ Pap smear เพื่อคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ซึ่งการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านมจะทำในวันเดียวกัน

การส่งเสริมภูมิคุมกันโรคและการตรวจพัฒนาการเด็ก ทางโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้าน แม่ผาแหนจัดทุกวันพุธที่ 2 ของเดือน คลินิกทันตกรรม ทางโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านแม่ผาแหนจัดทุกวันศุกร์ที่ 3 ของ เดือน คลินิกจิตเวช ทางโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านแม่ผาแหนจัดทาทุกวันศุกร์ที่ 3 ของเดือน

1. นายณรงค์ กันทะพรม  อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 บ้านปงห้วยลาน ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่

ประวัติการศึกษา

  • จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนวัดปงห้วยลานสมหล้าประชาสวรรค์
  • จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และมัธยมต้นและมัธยมปลายจากศูนย์การศึกษานอกระบบ สันกำแพง
  • พ.ศ. 2556 จบการศึกษา ระดับปริญญาตรี จากคณะสังคมศาสตร์ สาขารัฐศาสตร์การปกครอง มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ วัดสวนดอกพระอารามหลวง

แนวคิดในการทำงาน ด้านการบริหารงานหมู่บ้าน จัดให้แบ่งกันบริหารกันเป็นกลุ่มหรือเรียกว่า หมวดมื้อ เป็นการแบ่งหน้าที่ให้คนในชุมชนรับผิดชอบร่วมกัน ,จัดเรียงข้อบังคับการอยู่ร่วมกันในหมู่บ้าน เน้นการพูดคุย “ เอาความจริงมาพูด ให้เกิดความเข้าใจ สร้างความศรัทธา และความสามัคคี” ในหมู่บ้านชุมชน รับทุกคำพูดและความคิดเห็นของคนในชุมชน ด้านการบริหารคน ควรจัดคนให้ถูกกับงาน “ผู้นำต้อง แนะให้เขาทำ นำให้เข้าดู อยู่เป็นแบบอย่างให้เขาเห็น” คิดทุกอย่างก่อนทำ ปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน และแบ่งปันความดีให้กับทุกคนในหมู่บ้าน “ยึดหลักความถูกต้องมาก่อนความถูกใจ” 

แนวคิดในการดำรงชีวิต อยู่อย่างพอเพียง แบ่งปัน เติมเต็ม ช่วยเหลือ เอื้ออาทรซึ่งกันและกัน อุทิศตนเพื่อส่วนรวม

2. พ่อเจริญ ปัญญาจันทร์

แนวคิดในการทำงาน ทำวันนี้ให้ดีกว่าวันที่ผ่านมา ทำวันข้างหน้าให้ดีกว่าวันนี้ ไม่มีอะไรที่เราจะทำไม่ได้ หากเราตั้งใจมุ่งมั่นทำอย่างจริงใจ

แนวคิดในการดำรงชีวิต ไม่ยึดติดกับเรื่องในอดีตที่ผ่านมา ไม่คาดหวังกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ทำปัจจุบันให้ดีที่สุดและยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้องและเป็นธรรม

คติประจำใจ พออยู่ พอกินพอเพียง เรียนให้รู้ อยู่ให้เป็น เย็นให้ได้ เข้าใจในบทบาทหน้าที่ของตนเอง

ผลงานที่ภาคภูมิใจ 

  • การได้ศึกษาเรียนรู้ ฟื้นฟู ประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของท้องถิ่นและชุมชน 
  • การขับเคลื่อนงานชุมชน โดยกลุ่มคนในชุมชนเพื่อชุมชน
  • เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน ดูแลตั้งแต่อยู่ในครรภ์ยันเชิงตะกอน
  • อนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณี และถ่ายทอดภูมิปัญญาแก่อนุชนคนรุ่นหลัง จากรุ่นสู่รุ่น

กลุ่มคณะกรรมการกลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

นำแนวคิดมาปรับใช้ภายในชุมชนของตนเอง และทำการจัดตั้งกลุ่มโฮมสเตย์ และท่องเที่ยว CIV (Creative Industry Village : หมู่บ้านแห่งความสมดุลที่นำทุนวัฒนธรรม วิถีชีวิต มาผนวกกับความคิดสร้างสรรค์ และการออกแบบ) เพื่อสร้างมูลค่าใหม่ของสินค้าของที่ระลึกเพื่อการท่องเที่ยว และบริการหรือกิจกรรมที่สร้าง ประสบการณ์ใหม่จากการท่องเที่ยว

วัตถุประสงค์ 

เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการชุมชนให้มีความรู้ ความเข้าใจ และมีศักยภาพด้านการบริหารจัดการจุดเด่นของ ชุมชนมาประยุกต์สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ และบริการด้านต่างๆ 

กิจกรรม 

  • เป็นมัคคุเทศก์ นำนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่สนใจ เยี่ยมชมหมู่บ้าน เรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชน  
  • เผยแพร่ประวัติความเป็นมาของชุมชน วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ อาหารการกินภายในชุมชน ตั้งแต่อดีตจนถึง ปัจจุบัน
  • คนในชุมชนเป็นเจ้าบ้านที่ดี พร้อมต้อนรับผู้คนที่สนใจ มาเที่ยวในชุมชน

ระบบแพทย์ชุมชน (Population sector)

ประชาชนหมู่บ้านปงห้วยลานได้มีการดูแลสุขภาพตนเอง พบว่า การรับประทานอาหารของคนในชุมชนมีการปลูกพื้นผักสวนครัวไว้กินเอง เช่น ผักกาด พริก มะนาว กระเพรา คะน้า กระชาย กะหล่ำ เลือกรับประอาหารปลอดสารพิษซื้อจากคนที่รู้จัก ซื้อวัตถุดิบในการประกอบอาหารและกับข้าวถุงจากตลาด นอกจากนี้มีการหาพืชผักที่ออกตามป่า เช่น เห็ด หน่อไม้ ผักป่าตามฤดูกาล และมีกลุ่มการเกษตร ประชาชนบางส่วนมีการออกกำลังกายโดยการวิ่ง เดิน ปั่นจักรยาน และฟ้อนรำช่วงที่มีเทศกาล ยาสามัญประจำบ้านส่วนใหญ่ที่ใช้ คือ ยาพาราเซตามอล, ยาธาตุน้ำขาว, ยาแก้ไอน้ำดำ, ยาดม, ยาหมอง และยาอมมะแว้ง 

ประชาชนในหมู่บ้านเป็นคนพื้นเมือง ประชาชนส่วนใหญ่ใช้ภาษาท้องถิ่น (ภาษาพื้นเมือง, ภาษาเหนือ) ในการติดต่อสื่อสารเป็นภาษาหลักภายในชุมชน สำหรับการติดต่อสื่อสารทางราชการ และบุคคลภายนอก จะใช้ภาษาไทยกลา และภาษาถิ่นในการติดต่อสื่อสาร 


ประวัติด้านการปกครอง (รายชื่อผู้นำในหมู่บ้านปงห้วยลาน)

  1. ท้าวภิบาล ใจกองคำ
  2. นายจันทร์ จอมใจป้อ
  3. นายตา ปัญญาจันทร์
  4. นายสม แก้วสว่าง
  5. นายแก้ว จันแปง
  6. นายอ้าย จินาปา
  7. นายนิคม ยะคำ
  8. นายณรงค์ กันทะพรม


ประชาชนบ้านปงห้วยลานมีลักษณะเป็นชุมชนชนบท ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปและการเกษตร โดย ออกไปทำงานตอนเช้าและกลับมาบ้านในตอนเย็น ทำให้ประชนชาส่วนใหญ่มีฐานะปานกลาง มีบางส่วนที่ทำ อาชีพธุรกิจส่วนตัว เช่น ซักอบรีด ค้าขาย รวมทั้งภายในหมู่บ้านมีกองทุนหมู่บ้าน เพื่อเป็นเงินทุนให้ประชาชนในชุมชนได้กู้ยืม

ข้อมูลที่น่าสนใจอื่น ๆ แพทย์พื้นบ้าน (Folk sector) ประชาชนในหมู่บ้านปงห้วยลานมีความเชื่อในการรักษาอาการเจ็บป่วยทางไสยศาสตร์ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สืบทอดมากจากบรรพบุรุษ บ่อน้ำทิพย์เชื่อกันว่ามีมาตั้งแต่อดีต รุ่นปู่ย่าตายาย เป็นน้ำที่ออกจากซอกผา เป็นน้ำแร่ธรรมชาติ เป็นน้ำที่ใสสะอาด ไม่มีตะกอน ตามความเชื่อของชาวบ้านที่ได้นำน้ำที่ผาน้ำทิพย์แห่งนี้ไปดื่มกินก็บรรเทา และหายจากอาการเจ็บป่วยต่างๆ หมู่บ้านปงห้วยลานมีหมอเป่าคาถารักษาโรคที่ชาวบ้านนับถืออยู่ 2 ท่าน คือ พ่ออุ้ยตา และพ่อปั๋น ซึ่งเมื่อมีตนในตำบลออนใต้ เจ็บป่วยด้วยเรื่องกระดูก เรื่องแผลไฟไหม้ หรือเรื่องพิษต่างๆ ก็จะมาหาหมออุ้ยตา และพ่อปั๋น

โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์. (2554). วิถีชุมชน: เครื่องมือ 7 ชิ้น ที่ทำให้งานชุมชนง่าย ได้ผล และสนุก. พิมพ์ครั้งที่10. กรุงเทพฯ:  สำนักพิมพ์ สุขศาลา 

พงษ์ประพัทธ์ ลิ้มธนภรณ์, ชญาภา ปันตันบุตร, ดุสิตา ใจตุ้ย,ปฐมาพร เสาร์แบน, นิจติญา ผุสดี, สุชัญญา เมธาทัศน์, อรชรีวรรณ ชูแก้ว, และสร้อยเพชร อินสมวงค์. (2562). รายงานการพัฒนาอนามัยชุมชนบ้านปงห้วยลาน หมู่ที่ 8  ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่. สาขาการพยาบาลอนามัยชุมชน วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี เชียงใหม่.

เทศบาลตำบลออนใต้. (2566). ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนประชากร. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 31 มกราคม 2566. เข้าถึงได้จาก: https://www.ontai.go.th/

เทศบาลออนใต้ โทร. 0-5303-6043