ชุมชนที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ มีชาวไทยภูเขาเผ่าอาข่า ไทลื้อ และเผ่าลาหู่ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง โบสถ์คริสต์หย่อมห้วยสา ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านสองพี่น้อง
ส่วนที่มาของชื่อหมู่บ้านสองพี่น้อง ในอดีตบ้านสองพี่น้องเป็นหมู่บ้านสาขาของบ้านห้วยเม็ง หมู่ที่ 6 ตำบลเวียงจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2534 ได้ทำการแยกหมู่บ้าน โดยใช้ชื่อว่าบ้านสองพี่น้อง หมู่ที่ 5 ซึ่งที่มาของชื่อหมู่บ้านดังกล่าวนั้นเป็นชื่อที่ลูกชายของพ่อเฒ่าแสนเปาม่อนเป็นคนตั้ง โดยให้เหตุผลว่า ทั้งหย่อมห้วยสาและหย่อมห้วยตุ๋ นั้นต่างเป็นพี่น้องกันมีบรรพบุรุษสืบเชื้อสายมาจากที่เดียวกัน คือ พ่อเฒ่าแสนเปาม่อนและพ่อเฒ่าพะหมื่อแตจะสีลอ ซึ่งทั้งสองเป็นต้นกำเนิดของแต่ละหย่อมบ้าน
และที่มาของชื่อหย่อมห้วยสา จากการสัมภาษณ์ผู้อาวุโสในชุมชนทำให้ทราบถึงที่มาของชื่อหย่อมห้วยสา ซึ่งมีที่มาจากชื่อลำน้ำที่ไหลผ่านกลางหมู่บ้าน โดยในช่วงประเพณีปีใหม่ลาหู่ (ซึ่งจะจัดตามปฏิทินลาหู่และมักจะตรงกับวันตรุษจีน ระยะเวลาในการจัดงานปีใหม่ลาหู่ประมาณ 7 วัน) ในวันที่สามตอนรุ่งสางชาวบ้านจะทำพิธีไหว้ผีแม่น้ำเพื่อเป็นการขอขมาแม่น้ำ ซึ่งสมัยก่อนบริเวณนั้นมีต้นสาอยู่เป็นจำนวนมาก (ต้นสาเป็นต้นไม้ชนิดหนึ่งซึ่งชาวบ้านนิยมเอาใบมาสับให้หมูกินเป็นอาหาร) เมื่อเสร็จพิธีก็จะกล่าวคำว่า สาตุ (สาธุ) ซึ่งเป็นชื่อของแม่น้ำสายนี้ นั่นจึงเป็นที่มาของชื่อหย่อมห้วยสาจนถึงปัจจุบัน
ชุมชนที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ มีชาวไทยภูเขาเผ่าอาข่า ไทลื้อ และเผ่าลาหู่ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง โบสถ์คริสต์หย่อมห้วยสา ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านสองพี่น้อง
ในอดีตนั้นชาวลาหู่ตั้งรกรากที่ดอยหลวง โดยมีพ่อเฒ่าแสนเปาม่อนเป็นผู้นำของชุมชน ครั้นอยู่มาวันหนึ่งมีเหตุให้ต้องย้ายมาอยู่พื้นที่บริเวณบ้านสองพี่น้องในปัจจุบัน เนื่องจากพ่อเฒ่าแสนเปาม่อนได้ทะเลาะกับพ่อเฒ่าพะหมื่อแตจะสีลอซึ่งเป็นพี่ชายของพ่อเฒ่าแสนเปาม่อน สาเหตุจากเรื่องชู้สาว การผิดลูกผิดเมียผู้อื่น ประกอบกับทางนายอำเภอขอให้ย้ายลงมาเพื่อให้ง่ายต่อการดูแลเนื่องจากสมัยนั้นบริเวณดอยหลวงชาวบ้านปลูกฝิ่นกันเป็นจำนวนมาก หลังจากชาวลาหู่ย้ายลงมายังบริเวณบ้านสองพี่น้องในปัจจุบัน ชาวลาหู่ได้แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกนำโดยพ่อเฒ่าพะหมื่อแตจะสีลอ ได้พาชาวลาหู่ส่วนหนึ่งไป ตั้งรกรากที่หย่อมบ้านห้วยตุ๊ และอีกกลุ่มหนึ่งนำโดยพ่อเฒ่าแสนเปาม่อน ได้พาชาวลาหู่ส่วนหนึ่งมาตั้งรกรากที่หย่อมบ้านห้วยสา โดยครั้งแรกนั้น มีชาวลาหู่ที่ย้ายลงมาจากดอยหลวง 7-8 หลังคาเรือน มาตั้งบ้านเรือนบริเวณสำนักสงฆ์หย่อมบ้านห้วยสาในปัจจุบัน อาศัยอยู่บริเวณนั้นประมาณสองปีก็ย้ายมาตั้งบ้านเรือนบริเวณพื้นที่หย่อมห้วยสาในปัจจุบัน เนื่องจากเห็นว่าพื้นที่ที่เคยอาศัยอยู่ห่างจากแหล่งน้ำจึงย้ายมาตั้งบ้านเรือนในพื้นที่ปัจจุบัน ครั้นพ่อเฒ่าพะหมื่อแตจะสีลอ ได้เสียชีวิตลง ชาวลาหู่ที่อาศัยอยู่ที่หย่อมห้วย ตุได้ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่น ชาวลาหู่ส่วนหนึ่งย้ายไปอยู่ที่บ้านแม่ต่ำ อำเภอเวียงชัยและชาวลาหู่อีกส่วนหนึ่งได้ย้ายมาอยู่ที่หย่อมห้วยสา ส่งผลให้หย่อมห้วยตุไม่มีชาวลาหู่อาศัยอยู่นับจากนั้นเป็นต้นมา หลังจากนั้นชาวไหลื้อก็เข้ามาอาศัยอยู่แทนจนถึงปัจจุบัน
บ้านสองพี่น้อง หย่อมห้วยสา เป็นหนึ่งในหย่อมบ้านของบ้านสองพี่น้อง ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 5 ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย โดยอยู่ห่างจากตัวอำเภอเชียงของเป็นระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากตัวอำเภอเมืองเชียงรายประมาณ 112 กิโลเมตร โดยมีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านผากุบ หมู่ 3
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านกี่วกาญจน์ หมู่ 6 และ บ้านม่วงกาญจน์ หมู่ 9
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านเมืองกาญจน์ หมู่ 2 และสาธารณรัฐประธิปไตยประชาชนลาว
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หย่อมห้วยตุ๊
สภาพพื้นที่ทางกายภาพ
บ้านสองพี่น้อง หย่อมห้วยสามีลักษณะเป็นภูเขาสลับที่ราบเป็นแอ่ง มีลำน้ำ ห้วยสาไหลผ่านกลางหมู่บ้าน และมีพื้นที่ประมาณ 7,650 ไร่ แยกเป็น ที่อยู่อาศัย 250 ไร่ที่ทำการเกษตร 5,360 ไร่ ที่ดินสาธารณะ 340 ไร่ ที่ดิน(พื้นที่ป่าสาธารณะ) 1,700 ไร่
ข้อมูลปี พ.ศ. 2566 มีประชากรทั้งหมด 1,155 คน แยกเป็นชาย 555 คน หญิง 600 คน มีชาวไทยภูเขาเผ่าลาหู่ ไทลื้อ อาข่า และคนเมือง โดยหย่อม ห้วยสา ประชากรส่วนใหญ่จะเป็นชาวไทยภูเขาเผ่าลาหู่ ส่วนหย่อมห้วยตุ๊ส่วนใหญ่จะเป็นชาวไทยภูเขาเผ่าไหลื้อ อาข่า และคนเมือง และโครงสร้างครอบครัวของบ้านสองพี่น้อง หย่อมห้วยสา ส่วนใหญ่จะเป็นครอบครัวขยาย นอกจากนั้นจากการศึกษาชุมชนจะพบว่าบ้านสองพี่น้อง หย่อมห้วยสา มีนามสกุลที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ใช้มากที่สุด 3 นามสกุล คือ นามสกุลกุเลา นามสกุลบรรพตพัฒนา และนามสกุลคีรีแสนภูมิ ซึ่งทั้งนามสกุล บรรพตพัฒนา และนามสกุล คีรีแสนภูมิ ก่อนหน้าที่จะเปลี่ยนมาใช้นามสกุลดังกล่าวต่างก็ใช้นามสกุลกุเลา ก่อนที่จะมาเปลี่ยนในภายหลัง
อีกทั้งจากการศึกษาชุมชน ยังพบว่าชาวลาหู่ส่วนใหญ่ที่มีนามสกุลเหมือนกันไม่ได้มีความสัมพันธ์เชิงเครือญาติเสมอไป เนื่องจากในสมัยก่อนที่ชาวลาหู่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย ในการขอสัญชาติไทยจำเป็นต้องมีนามสกุล ซึ่งก่อนหน้านี้ชาวลาหู่ ทั้งลาหู่ขาว ลาหู่แดง และลาหู่ดำ ที่อพยพเข้ามาไม่มีนามสกุล ทางการจึงตั้งนามสกุลกุเลาให้กับชาวลาหู่ดังกล่าวที่อพยพเข้ามา นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาชาวลาหู่ขาว ลาหู่แดง และลาหู่ดำส่วนใหญ่จึงใช้นามสกุลกุเลา แต่ก็มีบางส่วนที่เปลี่ยนนามสกุลในภายหลัง เช่น นามสกุลบรรพตพัฒนา นามสกุลคีรีแสนภูมิ เป็นต้น โดยจะเห็นได้จากตารางแผนผังเครือญาติด้านล่าง ที่ช่วยสนับสนุนว่าชาวลาหู่ที่มีนามสกุลเหมือนกันไม่ได้เป็นญาติกันเสมอไป
ลาหู่กลุ่มที่เป็นทางการ
ผู้นำทางการคือกลุ่มผู้นำที่มีบทบาทในการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานราชการหรือองค์กรภายนอกที่เกี่ยวข้องกับชุมชน บ้านสองพี่น้อง ทั้งสองหย่อมบ้านหย่อมห้วยสาและห้วยตุ๊ เริ่มมีผู้นำอย่างเป็นทางการเมื่อ ปี พ.ศ. 2534 หลังจากมีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านอย่างเป็นทางการครั้งแรก
ปัจจุบันบ้านสองพี่น้อง มีผู้นำชุมชนอย่างเป็นทางการ ดังนี้นายลิขิต บรรพตพัฒนา ผู้ใหญ่บ้าน อาศัยอยู่ที่หย่อมห้วยสา ซึ่งผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบันถือเป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ 4 ของหมู่บ้าน นอกจากนั้นหมู่บ้านสองพี่น้อง มีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ทั้งหมดจำนวน 3 คน คือ นายจะลู กุเลา นายธีรภัทน นางเกี้ยว และนางธาลินี สิริสรรเสริญ สำหรับการปกครองส่วนท้องถิ่น บ้านสองพี่น้องอยู่ในเขตรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบลริมโขง โดยมีนายกองค์การบริหารส่วนตำบล คือ นายเกษม ปันธยม และสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลริมโชง ประจำหมู่บ้านสองพี่น้องมี 2 คน คือนายละอาด แสงสีจันทร์และ นายเจตนา บรรพตพัฒนา
กลุ่มที่ไม่เป็นทางการ
ผู้นำไม่เป็นทางการ เป็นผู้นำที่มีบทบาทในด้านความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรมต่าง ๆ ชาวลาหู่ต่างให้ความเคารพนับถือ ในอดีตก่อนที่จะมีผู้นำทางการ ชาวลาหู่มีการปกครองด้วยผู้นำทางธรรมชาติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้อาวุโสในชุมชนและมีบทบาทมากในชุมชน เพราะชาวลาหู่ให้ความสำคัญกับความเชื่อและพิธีกรรม โดยดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาอาวุโสของชุมชน ซึ่งประกอบด้วย นายจะแฮ กุเลา, นายสมชัย บรรพตพัฒนา, นายจะป่า กุเลา, นายจะผึ ลอเดอะ และนายแอโหล่ พันธปัญญากูล
วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ
ในอดีตชาวลาหู่ทำการเกษตรแบบยังชีพ ปลูกข้าวเจ้าดอย ปลูกข้าวโพด ไว้เพื่อสำหรับบริโภคและใช้ในการเลี้ยงสัตว์เท่านั้น นอกจากนั้นชาวลาหู่ยังมีอาชีพเสริมคือการเก็บของป่าไปขายให้กับคนนอกชุมชน ทำให้มีรายได้ไม่มากนัก "สมัยก่อนชาวลาหู่จะหาของป่าไปขาย บ้างก็เอาของป่าไปแลกข้าวของต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นพวกเครื่องปรุงที่บ้านหาดบ้าย ซึ่งต้องเดินเท้าไปกว่า 8 กิโลเมตร รายได้ต่อครั้งไม่แน่นอน ประมาณ 40-50 บาท สิบวันได้กินปลาทูครั้งหนึ่ง เพราะไม่ค่อยมีเงิน
ชาวลาหู่ส่วนใหญ่จึงยังคงสร้างบ้านลาหู่แบบดั้งเดิม เนื่องจากวัสดุที่นำมาสร้างบ้านไม่ต้องใช้เงินในการซื้อหาเพราะสามารถเข้าไปตัดไม้ไผ่จากป่ารอบ ๆ ชุมชนมาใช้ในการสร้างบ้านได้ แต่เมื่อครั้นมีการเข้ามาของถนนและไฟฟ้า ชาวลาหู่เดินทางได้สะดวกมากยิ่งขึ้น มีการติดต่อสื่อสารและแลกเปลี่ยนกับคนนอกชุมชนมากยิ่งขึ้นส่งผลให้วิถีการประกอบอาชีพค่อย ๆ เปลี่ยนไป ชาวลาหู่เริ่มหันมาทำการเกษตรแบบการค้า ซึ่งพืชที่ปลูกเพื่อการค้าส่วนใหญ่ คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในช่วงแรกยังไม่ขยายเป็นวงกว้าง แต่ช่วงหลังชาวลาหู่เริ่มปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากกว่าการปลูกข้าวเนื่องจากชาวลาหู่เมื่อเห็นเพื่อนบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จึงหันมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตาม ซึ่งรายได้เฉลี่ยจากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะอยู่ที่ประมาณ 30,000 - 50,000 บาท ต่อปี แต่ทั้งนี้รายได้ไม่แน่นอนเนื่องจากมีปัจจัยของราคากลางและ ปัจจัยด้านคุณภาพในการเพาะปลูก น
อกจากนั้นเมื่อมีการติดต่อกับภายนอกชุมชนเพิ่มมากขึ้นชาวลาหู่เริ่มมีการออกไปทำงานรับจ้างภายนอกชุมชนตามคำชักชวนจากคนภายนอกชุมชน เช่น อาชีพพนักงานเสิร์ฟอาหาร อาชีพรับจ้างทั่วไป เป็นต้น ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยต่อวัน วันละ 200 บาท อีกทั้งวิถีการเกษตรภายในชุมชนเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเกษตรแบบยังชีพเปลี่ยนมาเป็นการเกษตรเพื่อการค้าส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบแรงงาน จากที่ในอดีตจะใช้รูปแบบแรงงานภายในครอบครัว หรือไม่ก็ใช้วิธีการลงแขก ได้เปลี่ยนมาเป็นการจ้างแรงงานจากคนในชุมชน ซึ่งอัตราค่าจ้างในการจ้างแรงงานจะอยู่ที่ 200-300 บาทต่อวัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะงานที่ว่าจ้าง การจ้างงาน ดังกล่าวส่งผลให้เกิดการกระจายรายได้ในชุมชน ชาวลาหู่เริ่มมีรายได้จากการรับจ้างทำงาน
วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม
- ปีใหม่ลาหู่ เป็นพิธีที่จัดขึ้นทุกปี โดยจะจัดตรงกับช่วงตรุษจีน ประมาณช่วงเดือนมกราคม - เดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งปีใหม่ลาหู่นั้นจะจัดงานประมาณ 7 วัน ในช่วงปีใหม่ลาหู่นั้นชาวลาหู่จะเว้นจากการทำงานทั้งหลายและต่างพร้อมใจร่วมงานปีใหม่ลาหู่ทั้ง 7 วัน
- การเต้นจะดี เป็นพิธีกรรมที่ทำขึ้นเพื่อบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยจะจัดขึ้นในช่วงวันชิ้น 15 ค่ำ และวันแรม 15 ค่ำของทุกเดือน (วันศีล) สถานที่ในการประกอบพิธีดังกล่าวคือหอแหย่ (วัดลาหู่) โดยชาวลาหู่ที่นับถือผีบรรพบุรุษก็จะละเว้นจากการงานทั้งหลายในสองวันนี้ นอกจากนี้ในอดีตชาวลาหู่ที่เป็นผู้ชายก็มาร่วมเต้นจะดีด้วย แต่ปัจจุบันเหลือแต่เพียงผู้หญิงเพียงกลุ่มเล็กที่มาร่วมเต้นจะดีที่หอแหย่
หย่อมห้วยสา และ ห้วยตุ๊ เริ่มมีผู้นำอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2534 หลังจากมีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านอย่างเป็นทางการครั้งแรก ปัจจุบันบ้านสองพี่น้อง มีผู้นำชุมชนอย่างเป็นทางการ ดังนี้นายลิขิต บรรพตพัฒนา ผู้ใหญ่บ้าน อาศัยอยู่ที่หย่อมห้วยสา ซึ่งผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบันถือเป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ 4 ของหมู่บ้าน นับตั้งแต่มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านอย่างเป็นทางการสามารถเรียงลำดับผู้ใหญ่บ้านตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้ดังนี้
- นายเสรี บรรพตพัฒนา (ปี พ.ศ. 2534-2540)
- นายเจิมศักดิ์ คีรีแสนภูมิ (ปี พ.ศ. 2540-2545)
- นายเบญจมินทร์ วงค์ชัย (ปี พ.ศ. 2545-2550)
- นายลิขิต บรรพดพัฒนา (ปี พ.ศ. 2550-ปัจจุบัน)
ทุนวัฒนธรรม
โบสถ์คริสต์หย่อมห้วยสา
ก่อนหน้าที่จะสร้างโบสถ์คริสต์ มีมิชชั่นนารีเข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ นิกายแป๊ปติสท์ให้กับชาวบ้าน ซึ่งชาวลาหู่ต่างให้ความสนใจศาสนาคริสต์ นิกายดังกล่าวและเปลี่ยนจากนับถือผีบรรพบุรุษหันมานับถือศาสนาคริสต์เป็นจำนวนมาก เนื่องจากศาสนาคริสต์ นิกายแป๊ปติสท์ ไม่มีพิธีกรรมอะไรที่ซับซ้อน
ศาสนา
การนับถือผีบรรพบุรุษ ชาวลาหู่ส่วนใหญ่นับถือผีบรรพบุรุษ เนื่องจากมีความเชื่อว่าโลกนี้เต็มไปด้วยผีดีและผีร้าย ซึ่งผีดีจะคอยปกปักรักษา ส่วนผีร้ายนั้นจะคอยทำร้าย เช่น ทำให้ไม่สบาย เป็นต้น ดังนั้นจึงต้องมีการเซ่นสรวงทั้งผีดีและผีร้ายด้วยเนื้อสัตว์และเครื่องสักการะต่าง ๆ โดยในหมู่บ้านจะมีหอแหย่ หรือวัดลาหู่ เพื่อเป็นสถานที่ในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ของชาวลาหู่ที่นับถือผีบรรพบุรุษ ศาสนาคริสต์ ชาวลาหู่ส่วนหนึ่งนับถือศาสนาคริสต์ นิกายแป๊ปติสท์ ซึ่งส่วน ใหญ่จะเป็นกลุ่มชาวลาหู่เหลืองที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายดังกล่าว โดยชาวลาหู่ที่นับถือศาสนาคริสต์นั้นจะมารวมตัวกันที่โบสถ์ทุกวันอาทิตย์ นอกจากนั้นชาวลาหู่กลุ่มที่นับถือศาสนาคริสต์ยังคงดำเนินพิธีกรรมบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวลาหู่ เช่น พิธีการ กินข้าวใหม่ เป็นต้น ศาสนาพุทธ ชาวลาหู่นับถือศาสนาพุทธเพียงไม่กี่หลังคาเรือน ด้วยเหตุนี้ส่งผลให้สำนักสงฆ์และพระสงฆ์ไม่ได้รับการทำนุบำรุงเท่าที่ควร ทำให้บางช่วงสำนักสงฆ์ไม่มีพระจำพรรษาอยู่
อาหาร
อาหารการกิน จากการเข้าไปอยู่ในชุมชน พบว่า อาหารการกินของชาวลาหู่ ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารที่มีส่วนผสมของผักเป็นหลัก ซึ่งผักต่าง ๆ ที่นำมาประกอบอาหารนั้นจะเป็นผักที่ชาวลาหู่เก็บมาจากในป่า หรือระหว่างทางที่กลับมาจากไร่ เช่น ผักกูดหน่อไม้ ผักหนาน เป็นต้น บ้างก็เป็นผักสวนครัวที่ปลูกเอง นอกจากนั้นอาหารของชาวลาหู่ส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นมัน กล่าวคือ มีส่วนผสมของหมูสามชั้น จะเห็นได้จากทุกเทศกาลสำคัญหรือการทำพิธีกรรมต่าง ๆ ซึ่งหมูที่ชาวบ้านนำมาประกอบอาหารส่วนใหญ่จะเป็นหมูดำหรือไม่ก็เป็นหมูป่า และอาหารที่ต้องมีเกือบทุกมื้ออาหารคือน้ำพริกกับผักลวกชาวลาหู่มักจะนิยมรับประทานอาหารรสจัด ซึ่งเครื่องปรุงหลัก ๆ ที่ใช้ในการประกอบอาหาร จะประกอบด้วย พริก เกลือ และผงชูรส
สำหรับแหล่งที่มาของอาหารนั้นนอกจากจะเก็บมาจากในป่าแล้วนั้น ส่วนหนึ่งชาวลาหู่ก็จะปลูกผักสวนครัวไว้ทานเอง และส่วนหนึ่งก็จะซื้อวัตถุดิบจากพ่อค้าแม่ค้าทั้งที่อยู่ภายในชุมชน และพ่อค้าแม่ค้าที่มาจากนอกชุมชน
การแต่งกาย
การแต่งกายของชาวลาหู่ในอดีตชาวลาหู่จะนิยมทอเสื้อผ้าใส่เอง โดยจะปลูกฝ้ายเพื่อนำมาทอเสื้อผ้า แต่ในปัจจุบันชาวลาหู่เลิกทอผ้าแล้วหันไปซื้อผ้าสำเร็จรูปมาปักลวดลายเพื่อใส่ในช่วงเทศกาลสำคัญ ๆ เท่านั้น หรือไม่ก็จะซื้อชุดลาหู่สำเร็จรูปจากคนนอกชุมชนที่เข้ามาขายในชุมชน แต่หากเป็นการแต่งกายในวิถีประจำวันใน ปัจจุบันนั้น ผู้หญิงชาวลาหู่ส่วนใหญ่จะใส่เสื้อยืดและนุ่งผ้าถุง ส่วนผู้ชายชาวลาหู่จะแต่งกายด้วยเสื้อยืด นุ่งกางเกง ลักษณะการแต่งกายคล้ายคนพื้นราบ ส่วนการแต่งกายด้วยชุดประจำเผ่านั้นจะใส่เฉพาะเทศกาลสำคัญ เช่น ปีใหม่ลาหู่ เป็นต้น
ชุมชนบ้านสองพี่น้องส่วนใหญ่สื่อสารด้วยภาษาลาหู่ มีเฉพาะภาษาพูดไม่มีภาษาเขียน
ชาวลาหู่ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งปัญหาที่ประสบ คือ ปัญหาการขาดทุนจากการขายผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งมีสาเหตุมาจากดินที่ใช้ในการเพาะปลูกเสื่อมสภาพและจากการการขาดทุนที่จะใช้ในการลงทุนทำการเกษตรในฤดูกาลถัดไปเป็นผลสืบเนื่องมาจากราคาพืชผลทางการเกษตรในปีนั้น ๆ จึงมีการเปลี่ยนแปลงและเกิดโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการ และการรวมกลุ่มที่เกิดจากการระดมทุนของขาวบ้าน
ในชุมชนบ้านสองพี่น้อง มีจุดน่าสนใจอื่น ๆ เช่น น้ำตกห้วยสา โรงเรียนบ้านสองพี่น้อง สำนักสงฆ์หย่อมห้วยล่า
สิริภาภรณ์ ชื่นศรี. (2557). การเปลี่ยนแปลงรูปแบบบ้านของชาวลาหู่: กรณีศึกษาบ้านสองพี่น้อง หย่อมห้วยสา ตําบลริมโขง อําเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย. ประกาศนียบัตรบัณฑิต บัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.