Advance search

บ้านสทิงหม้อ

ชุมชนโบราณในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา มีร่องรอยของความเป็นเมืองท่าและยังคงสืบทอดการทำเครื่องปั้นดินเผาแบบโบราณ

สทิงหม้อ
สิงหนคร
สงขลา
ชลนิภา ลาศรี
14 ก.พ. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
9 เม.ย. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
9 เม.ย. 2024
บ้านสทิงหม้อ

ที่มาของชื่อชุมชนมีผู้ให้ข้อสันนิษฐานไว้ต่างกัน ดังนี้

"สทิงหม้อ" เป็นชื่อตำบลและหมู่บ้านที่มีสองนัย นัยแรก กล่าวว่า สทิง แปลว่า ท่าน้ำ และ หม้อ ก็คือ ภาชนะชนิดหนึ่ง รวมกันเป็น "สทิงหม้อ" แปลว่า "ท่าขนส่งหม้อ" กล่าวคือ เมื่อครั้งที่หม้อภาชนะดินเผา ที่เป็นสินค้าหลักของหมู่บ้านนี้เป็นที่นิยมแพร่หลาย ปากน้ำยังตรงปากคลองสทิงหม้อเป็นร่องน้ำลึก มีเรือสินค้าเข้ามา สถานที่ดังกล่าวจึงกลายเป็นท่าเรือสำหรับการขนส่งสินค้า คือ หม้อ นำไปขายทั้งเมืองใกล้เมืองไกล เมื่อเวลาผ่านไปคำนี้จึงกลายเป็นชื่อตำบล หมู่บ้านในที่สุด

นัยที่สอง กล่าวกัยว่า สทิง เป็นชื่อของชายเชื้อสายจีน มีอาชีพทำหม้อ และมีเรื่องเล่ากันต่อมาว่า เริ่มแรกเดิมทีสถานที่ตรงนั้นไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ ต่อมาเมื่อชาวจีนแล่นเรือเข้ามาขายข้าวกับเมืองสงขลา ชาวจีนบางส่วนจึงได้ตั้งถิ่นฐานที่นี่ ชาวจีนผู้หนึ่งชื่อ "แป๊ะทิง" หรือ ทิ้ง ชาวจีนเซี่ยงไฮ้ได้เข้าไปตั้งบ้านเรือนเป็นคนแรกและประกอบอาชีพเลี้ยงเป็ด แต่มีความรู้ในการทำเครื่องปั้นดินเผาด้วย เขาจึงได้เริ่มปั้นหม้อใช้เองและจำหน่ายให้คนทั่วไปจนเป็นที่รู้จัก ชาวบ้านจึงขนานนามที่ตั้งบ้านแป๊ทิ้งว่า "บ้านแป๊ะทิงทำหม้อ" เมื่อเรียกให้สั้นลงเหลือ "แป๊ะทำหม้อ" และ "สทิงหม้อ" ในที่สุด

ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอสิงหนคร ได้กล่าวถึงประวัติบ้านสทิงหม้อ มีใจความว่า มีตำนานเล่าว่า ราษฎรในหมู่บ้านมีอาชีพปั้นดินแล้วนำมาเผา ซึ่งสิ่งที่ปั้นทั้งหมดนั้นจะเป็นภาชนะที่ใช้ในครัวเรือน เมื่อปั้นและเผาเสร็จจะบรรทุกเรือ นำไปเร่ขายในหมู่บ้านใกล้เคียง คนในหมู่บ้านนี้มีความภาคภูมิใจในฝีมือการปั้นมากว่ามี "สทิง" ซึ่งแปลว่า สวยงาม จึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า "สทิงหม้อ"


ชุมชนโบราณในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา มีร่องรอยของความเป็นเมืองท่าและยังคงสืบทอดการทำเครื่องปั้นดินเผาแบบโบราณ

สทิงหม้อ
สิงหนคร
สงขลา
90280
เทศบาลเมืองสิงหนคร โทร.0-7433-1769
7.225559521111689
100.52413657397777
เทศบาลเมืองสิงหนคร

นักโบราณคดีได้สันนิษฐานว่าชาวบ้านสทิงหม้อเป็นผู้คนที่อพยพมาจากชุมชนโบราณสทิงพระ (ภายหลังการล่มสลายชุมชนโบราณสทิงพระ) ตั้งแต่สมัยอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น แล้วมาตั้งบ้านเรือนอยู่แถบริมทะเลสาบสงขลา กลุ่มชนที่อพยพมามีความชำนาญในการปั้นหม้ออยู่แล้ว เมื่อย้ายบ้านมาอยู่ที่บริเวณนี้ก็ยังคงประกอบอาชีพเดิม จนทำให้ชุมชนสทิงหม้อเป็นชุมชนนักปั้นหม้อส่งขายให้แก่ชุมชนต่าง ๆ ที่อยู่บริเวณใกล้เคียง และเมื่อ พ.ศ. 2521 นักโบราณคดีได้ขุดค้นพบเตาเผาโบราณที่เรียกว่า "เตาหม้อ บ้านปะโอ" บริเวณริมคลองโอ และคลองโอนี้เองที่เป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำที่ชาวบ้านใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อไปออกปากทะเลสาบสงขลา ชาวบ้านใช้เรือขนดินเหนียวมาจาก "ปากรอ" บริเวณปากทะเลสาบสงขลามาเป็นวัตถุดิบในการปั้นหม้อ และใช้เรือขนหม้อดินที่ปั้นเสร็จแล้วไปส่งขายแก่ชุมชนอื่น ๆ ในเส้นทางเดียวกัน

ชุมชนบ้านสทิงหม้อ ตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ตั้งอยู่ริมชายฝั่งตะวันออกของทะเลสาบสงขลา ห่างจากตัวเมืองสงขลาประมาณ 8 กิโลเมตร มีคลองสทิงหม้อไหลผ่านด้านตะวันตกของชุมชน มีอาณาเขตติดต่อดังนี้

  • ทิศเหนือ จรด บ้านหัวไม่ไผ่
  • ทิศใต้ จรด บ้านเหรียง
  • ทิศตะวันออก จรด บ้านธรรมโฆษ
  • ทิศตะวันตก จรด ทะเลสาบสงขลา

ลักษณะพื้นที่โดยรอบหมู่บ้านเป็นที่ราบลุ่ม มีเนินสูงอยู่ด้านตะวันออก ซึ่งเป็นี่ตั้งของวัดโลการาม  วัดประจำหมู่บ้าน และมีคลองไหลผ่านสองสาย คือ คลองสทิงหม้อ และคลองอด

ในปี พ.ศ. 2567 มีจำนวนประชากรรวมทั้งหมด 669 คน มีครัวเรือน 430 หลังคาเรือน คนในชุมชนมีความผูกพันกันเหมือนญาติ พี่น้อง ชาวสทิงหม้อส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีอาชีพหลักคือ ค้าขาย และมีอาชีพเสริมคือ รับจ้างทั่วไป

กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านสทิงหม้อ เป็นการพัฒนาคน พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน และพัฒนาสังคม โดยใช้เงินเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคน ภายใต้หลักการความรู้สึกเป็นเจ้าของ การพึ่งตนเอง และหลักคุณธรรม 5 ประการ ได้แก่ ความซื่อสัตย์ ความเสียสละ ความรับผิดชอบ ความเห็นอกเห็นใจ และความไว้วางใจกัน

กลุ่มเครื่องปั้นดินเผา ชาวบ้านในหมู่บ้านเดียวกันรวมกลุ่มจัดทำผลิตภัณฑ์ โดยนำดินเหนียวมาปั้นหม้อแจกัน กระถาง ซึ่งเป็นวัสดุที่มีในท้องถิ่น นำมาแปรรูปขายในจังหวัดสงขลา และจังหวัดใกล้เคียง

ประชากรในหมู่บ้านเป็นชาวไทยพุทธ มีวัดโลการาม เป็นวัดสำคัญประจำหมู่บ้าน เมื่อชาวสทิงหม้อยึดมั่นในคำสอนของพุทธศาสนา ประเพณีท้องถิ่นจึงเกี่ยวเนื่องกับความเชื่อที่เลื่อมใส เช่น ประเพณีขึ้นบ้านใหม่ พิธีบวชนาค พิธีทำบุญสงกรานต์ ทำบุญสารท ชักพระ ลอยกระทง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัฒนธรรม

  • ประเพณีการทําบุญศาลาพ่อทวดภะคะวัม แม่คําแก้ว พ่อขุนโหร หรือชาวบ้านในชุมชน เรียกว่า "ทวดเจ้าบ้านสทิงหม้อ" ในวันแรมหนึ่งค่ำเดือนหก เป็นประจําทุกปี
  • การปั้นหม้อ การสืบทอดเทคนิควิธีการปั้นหม้อด้วยกรรมวิธีโบราณ ลักษณะที่โดดเด่นของเครื่องปั้นดินเผาสทิงหม้อ ใช้เนื้อดินเหนียวธรรมชาติจากตำบลปากรอ มาปั้นและเผาโดยไม่มีการเคลือบน้ำยามีสีสันสวยงามตามธรรมชาติ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ปัจจัยสำคัญที่เข้ามามีส่วนทำให้การผลิตเครื่องปั้นดินสทิงหม้อลดน้อยลงนั้น มีทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน ปัจจัยภายนอกมีการกระจายของสิ่งประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ การขาดการเอาใจใส่ของผู้เกี่ยวข้องและปัญหาโจรสลัด ซึ่งคอยบุกปล้นสะดมเมื่อนำผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายต่างเมือง ปัจจัยภายในมีการขาดผู้ช่วยเหลือแรงงาน ราคาผลิตภัณฑ์ตกต่ำ เพราะผลกระทบจากปัจจัยภายนอก ขาดพาหนะขนส่ง และความชราภาพของผู้ประกอบการเอง แยกได้เป็น 3 ประการ

  1. ปัญหาด้านการผลิต ได้แก่ ปัญหาเกี่ยวกับวัตถุดิบ ขาดความรู้เกี่ยวกับคุณสมบัติของวัตถุดิบ ช่างฝีมือที่เหลือน้อย การปั้นหรือการขึ้นรูปไม่ได้มาตรฐานและผลิตช้า ขาดแรงจูงใจ รายได้ลดลงทำให้เกิดความท้อแท้
  2. ปัญหาด้านการจำหน่าย ความต้องการของผู้ใช้ตลาดยังอยู่ในวงจำกัดด้านพื้นที่จำกัดอยู่เฉพาะในภาคใต้บางส่วน ผลิตภัณฑ์แบบใหม่ ๆ แพร่หลายเฉพาะในเขตเมือง ผลิตภัณฑ์แบบเดิมแพร่หลายเฉพาะในเขตชนบท และคุณภาพผลิตภัณฑ์ยังมีคุณภาพด้อยกว่าในหลายด้านเมื่อเทียบกับแหล่งที่พัฒนาแล้ว
  3. ปัญหาด้านการรักษาเอกลักษณ์ ผู้ประกอบการขาดความรู้ ความเข้าใจและความภาคภูมิใจในเรื่องเอกลักษณ์ของผลงานของตน แต่มีความกระหายในอันที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงอันเกิดจากแรงผลักดันด้านเศรษฐกิจ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ดำรงค์ ชีวะสาโร. (2555). การพัฒนารูปแบบศิลปหัตถกรรมผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา : กรณีศึกษาชุมชนบ้านสทิงหม้อ. Parichat Journal. 24(2), 135-154.

สุภาคย์ อินทองคง. (2554). การทำเครื่องปั้นดินเผาสทิงหม้อ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://souvenirbuu.wordpress.com/

อนุสรณ์สถานกองบรรณาธิการ. (2562). สทิงหม้อ แหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาแบบโบราณ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://www.muangboranjournal.com/

อินทิรา แก้วขาว. (2565). อนุสรณ์สถานแหล่งโบราณคดีชุมชนโบราณคลองสทิงหม้อ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567. จาก http://www.m-culture.in.th/