Advance search

ศูนย์กลางวัฒนธรรมของชาวไทยทรงดำในจังหวัดสุราษฎร์ธานี

ท่าข้าม
พุนพิน
สุราษฎร์ธานี
ทน.สุราษฎร์ธานี โทร.0-7727-2513
อรอุมา พิมพา
14 ก.พ. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
9 เม.ย. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
9 เม.ย. 2024
บ้านดอนมะลิ

เดิมชื่อหมู่บ้านไทรงามและได้เปลี่ยนชื่อใหม่ว่าบ้านดอนมะลิตามชื่อวัดดอนมะลิในภายหลัง


ชุมชนชาติพันธุ์

ศูนย์กลางวัฒนธรรมของชาวไทยทรงดำในจังหวัดสุราษฎร์ธานี

ท่าข้าม
พุนพิน
สุราษฎร์ธานี
84130
8.983244441382626
99.20571848757763
เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี

ปัจจุบันตั้งอยู่หมู่ที่ ตำบลท่าข้าม อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตั้งแต่ พ.ศ. 2497 นายชอบ และนายทัศ จากอำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม โดยสารรถไฟมาลงที่สถานีชุมพรได้พักแรมหนึ่งคืนพอรุ่งเช้านั่งรถไฟมาลงที่สถานีพุนพินแล้วต่อเรือเมล์มาที่ตำบลท่าข้าม อำเภอพุนพิน ซึ่งเรือเมล์สมัยนั้นเป็นสายเคียนซา-พุนพิน โดยนายทัศและนายชอบตั้งถิ่นฐานครั้งแรกบริเวณปากพูนที่เชื่อมกับควรท่าแร่ในหมู่ 2 ตำบลท่าเรือ อำเภอนาสาร ปัจจุบันเมื่อมีการแบ่งเขตการปกครองใหม่จึงเปลี่ยนมาเป็นหมู่ 1ตำบลทรัพย์ทวี อำเภอบ้านนาเดิม เพื่อหาที่ดินทำกินใหม่ เนื่องจากในช่วงนั้นที่ดินในนครปฐมเริ่มลดน้อยลงเนื่องจากประชากรมากขึ้น จึงต้องแสวงหาที่ดินใหม่ แต่อย่างไรก็ตามการคมนาคมที่ค่อนข้างลำบากส่งผลให้การอพยพมามีน้อย เริ่มจาก 4-5 ครอบครัว สภาพความเป็นอยู่ในช่วงแรกค่อนข้างลำบาก การคมนาคมไม่สะดวกแต่อุดมไปด้วยอาหารและทรัพยากร

การอพยพรุ่นที่พ.ศ.2500 มีชาวไทยทรงดำจากจังหวัดกาญจนบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี เพชรบุรี ราชบุรี และประจวบคีรีขันธ์เลือกตั้งถิ่นฐานอยู่สองฟากฝั่งแม่น้ำตาปี การสร้างครอบครัวของชาวไทยทรงดำเริ่มแรกจะอยู่ด้วยกันเป็นครอบครัวใหญ่ เมื่อแต่งงานจะย้ายออกไปสร้างครอบครัวเป็นของตนเองแต่จะอยู่บริเวณใกล้เคียงกับครอบครัวเดิมของตนด้วยการตั้งถิ่นฐานส่งผลให้ชุมชนชาวไทยทรงดำแยกออกเป็น 2 อำเภอ 4 ตำบลคืออำเภอพุนพิน และอำเภอบ้านนาเดิม มีแม่น้ำตาปีกั้นกลาง ซึ่งด้านหนึ่งเป็น ทุ่งปากขอกว้าง อีกด้านหนึ่งคือหมู่บ้านทับชัน หมู่บ้านไทรงาม และหมู่บ้านท่าสะท้อน

ต่อมา พ.ศ. 2498 หลวงพ่อแอ หรือพระครูสุนทรวุฒิธรรม อดีตเจ้าอาวาสวัดดอนมะลิ เป็นผู้นำในการสร้างโรงเรียนบ้านไทรงามขึ้นมาให้กับลูกหลานในชุมชน โดยชาวบ้านต่างร่วมใจกันสร้าง ต่อมาพ.ศ. 2503 ชาวไทยทรงดำก็พากันก่อสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยบริเวณสองฟากฝั่งแม่น้ำตาปีระจัดกระจายตามแบบคนใต้ ตามภูมินิเวศน์ของพื้นที่ทางปักษ์ใต้ ชาวไทยทรงดำเมื่อครั้นอพยพก็หวังว่าจะมาทำนา แต่เกิดอุปสรรคฝนตกชุกน้ำท่วมบ่อย และมีสัตว์รบกวนจึงล้มเลิกการทำนา ต่อมา 1-2 ปี จึงมีการเริ่มปลูกผักล้มลุกส่งตลาด เช่น ฟักทอง ฟักเขียว แตงกวา แต่เจออุปสรรคจากการเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลางและมีทุนในการผลิตน้อยแต่สามารถเลี้ยงตัวเองเรื่อยมา เพราะพี่น้องชาวไทยทรงดำ มีความขยันอดทน ชาวไทยทรงดำมีทัศนคติในการเลือกที่ตั้งว่า ไทยทรงดำไม่เข้าป่า ไทยทรงดำไม่อยู่เมืองเพราะไม่สามารถประกอบอาชีพทำนาได้

นอกจากนั้นชาวไทยทรงดำเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในธรรมชาติมาตั้งแต่อดีตแล้ว จึงทำให้ชาวไทยทรงดำ ไม่เลือกอยู่ในเมือง รวมถึงมีลักษณะนิสัยรักสงบและขี้อาย ในการตั้งถิ่นฐานของชาวไทยทรงดำ ในอำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มริมแม่น้ำตาปีชาวไทยทรงดำในอำเภอเคียนซาและนาสารจะเรียกบริเวณดังกล่าวว่า คลองแม่น้ำนอกจากนั้นในอดีตละแวกหมู่บ้านมีต้นไทรงาม เป็นต้นไม้ใหญ่ประจำหมู่บ้านไทรงามแต่ไม่มีภูเขา โดยชาวไทยทรงดำที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำตาปีนั้น ทำมาหากินอยู่ 2 อำเภอ 4 ตำบล 5 หมู่บ้าน คือ หมู่ 1 และหมู่ 4 ตำบลทรัพย์ทวี อำเภอบ้านนาเดิม หมู่ที่ 5 ตำบลท่าสะท้อน หมู่ที่7 ตำบลท่าข้าม และหมู่ที่2 ตำบลกรูด อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี วิถีชีวิตชาวไทยทรงดำในช่วงแรกตั้งใจจะประกอบอาชีพทำนาในพื้นที่อำ เภอพุนพิน เพราะมีแต่ประสบอุปสรรคบ่อยครั้ง นอกจากอาชีพทำนาแล้วชาวไทยทรงดำยังได้ประกอบอาชีพหาปลา เพราะบริเวณที่ตั้งของชุมชนอยู่ติดกับลุ่มแม่น้ำตาปีมีปลาชุกชุมเช่น ปลาช่อน ปลาดุก ปลาหมอ ปลาสลิด ปลาแขยง ปลาหมัด ปลากระทิง และปลาน้ำจืดอีกหลายชนิด นอกจากนั้นชาวไทยทรงดำยังมีอาชีพทำไร่เลื่อนลอย ปลูกพืชล้มลุก เช่น ฟักทอง ฟักเขียว แตงกวาเพื่อความอยู่รอด แต่ไม่ได้ทำการค้าขายเนื่องจากในช่วงแรกชาวไทยทรงดำมีอุปสรรคในการติดต่อสื่อสาร ต่อมาเมื่อเริ่มติดต่อสื่อสารกับคนท้องถิ่นได้ จึงได้มีการนำผลผลิตไปขายผ่านพ่อค้าคนกลางที่ตลาดท่าข้าม ซึ่งมักโดนเอาเปรียบจึงทำให้เปลี่ยนจากการปลูกพืชล้มลุกมาเป็นการปลูกปาล์ม ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่ให้ผลผลิตที่ดีแก่ชาวไทยทรงดำทำให้วิถีชีวิตของชาวไทยทรงดำเริ่มเปลี่ยนไป

นอกจากนั้นชาวไทยทรงดำได้ประกอบอาชีพรับจ้างและอาชีพทั่วไป อาทิเช่น ทำสวนยาง ตัดไม้ฟืนให้กับรถไฟ และเป็นพนักงานรับจ้างที่โรงงานในละแวกใกล้เคียง ตลาดสำหรับการซื้อขายเลกเปลี่ยนสินค้าในอดีตชาวไทยทรงดำจะซื้อขายสิ่งของที่ตลาดท่าข้าม อำเภอพุนพินซึ่งเดินทางไปด้วยเรือเมล์ที่มาจากเคียนซา ค่าเรือโดยสารในสมัยนั้นประมาณ 2 บาท ของที่ซื้อส่วนใหญ่จะเป็นของอุปโภคบริโภค อย่างเช่น เสื้อผ้า เข็ม ด้าย เกลือ กะปิของที่เราผลิตไม่ได้เป็นต้น

นอกจากนั้นบริเวณอำเภอพุนพินที่ชาวไทยทรงดำ อาศัยอยู่ มีพื้นที่สาธารณะเพื่อให้ประโยชน์ร่วมกัน ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่นในส่วนของบริเวณสระหลวง มีพื้นที่จำนวน 60 ไร่ ที่โรงเรียนบ้านทับชันมีพื้นที่ประมาณจำนวน 70 ไร่ ซึ่งโรงเรียนดังกล่าวได้ยุติการเรียนการสอนไปนานแล้ว แต่ชาวบ้านได้ขอใช้พื้นที่เป็นศูนย์กู้ภัยชุมชน ในช่วงน้ำท่วมชาวบ้านได้อพยพไปอยู่บริเวณดังกล่าว แต่ในปัจจุบันพื้นที่นี้ได้ประสบกับปัญหาการรุกรานจากกลุ่มผู้ประกอบการ ชาวบ้านจึงได้มีการรักษาพื้นที่ด้วยการนำภูมิปัญญาการทำการเกษตรของชาวบ้านที่ต้องการประกอบอาชีพเสริมเข้าไปใช้ ซึ่งในปัจจุบันชาวไทยทรงดำยังไม่มีการสร้างกฎเกณฑ์ในการรักษาพื้นที่สาธารณะแห่งนี้ แต่ชาวไทยทรงดำคิดว่า การรักษาที่ดินแห่งนี้สามารถใช้อำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนนับถือ อย่างเช่น แถน มาปกปักรักษาพื้นที่ดังกล่าวได้ด้วยพิธีกรรมในรูปแบบต่าง  อย่างเช่น พิธีกรรมเสนบ้า

ในอดีตพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในสภาวะน้ำขัง ทำให้การทำมาหากินนั้นลำบาก จึงมีการย้ายถิ่นฐานไปยังพื้นที่ใหม่ โดยอพยพมายังริมสองฝั่งแม่น้ำตาปี ชุมชนดอนมะลิไม่มีถนน การคมนาคมค่อนข้างลำบาก ภายหลังได้มีการสร้างวัดดอนมะลิ สร้างโบสถ์ สร้างบ้านทรงไทยดำ และสร้างหอสมุด ซึ่งถือว่าวัดดอนมะลิเป็นแหล่งรวมจิตใจของผู้คนในตำบลท่าข้าม ทั้งชาวไทยทรงดำและชาวปักษ์ใต้ หากมีการจัดงานใดก็จะได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านภายในชุมชนอยู่เสมอ

การเคลื่อนย้ายเข้ามาสู่ดินแดนประเทศไทยของชาวไทดำในระยะแรกได้รับอนุญาตในการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนในเขตเมืองเพชรบุรี ทำให้เพชรบุรีกลายเป็นถิ่นฐานบ้านเรือนของชาวไทดำในประเทศไทยเป็นแห่งแรก และมีการตั้งถิ่นฐานอย่างต่อเนื่องมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 จากนั้นชาวไทดำได้เริ่มโยกย้ายออกจากเพชรบุรีไปตั้งบ้านเรือนกระจายอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ เป็นจำนวนมากทำให้ปัจจุบันพบชุมชนชาวไทดำ อยู่ในหลายจังหวัดของประเทศไทยได้แก่ ราชบุรี กาญจนบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี สมุทรสงครามสมุทรสาครลพบุรี สระบุรี นครสวรรค์ พิจิตร สุโขทัย พิษณุโลก ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี

ไทดำ

กลุ่มที่เป็นทางการ

  • ศูนย์การเรียนรู้ไทยทรงดำ เกิดขึ้นจากการที่เยาวชนไทยทรงดำในหมู่บ้านตระหนักถึงอัตลักษณ์ของชาวไทยทรงดำที่ปัจจุบันเลือนหายไป จึงได้เริ่มทำงานวิจัยเพื่อต้องการให้ชาวบ้านเกิดสำนึก และความภาคภูมิใจในความเป็นไทยทรงดำ โดยเปิดเสมือนโรงเรียนแต่เปิดเพียงครึ่งวัน เพื่อให้เยาวชนได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์
  • กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ เป็นกลุ่มที่จัดตั้งโดยนายไร ทองสรีสุพรรณ กลุ่มนี้จะเก็บเงินให้สมาชิกตั้งแต่ 100-1,000 บาท ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 300 คน มีเงินสะสมประมาณ 600,000 บาท กลุ่มนี้มีหน้าที่สนับสนุนการออมทรัพย์ และปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อให้ชาวบ้านนำเงินไปใช้ในการเกษตร

กลุ่มที่ไม่เป็นทางการ

  • กลุ่มศรัทธาวัด ในชุมชนดอนมะลิมีวัดดอนมะลิอยู่ ซึ่งปัจจุบันถือเป็นแหล่งรวมจิตใจของคตในตำบล ซึ่งในอดีตชาวบ้านดอนมะลิได้ทุ่มทุนทุ่มแรงสร้างถวายสิ่งต่างๆ ภายในวัด เพื่อให้เป็นสถานที่รวมจิตใจ ศูนย์รวมน้ำใจสำคัญ และใช้เป็นพื้นที่ประกอบพิธีกรรมต่างๆ เมื่อจัดงานใด จะได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านอยู่เสมอ

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

  • พิธีกรรมโดยหมอเสน การนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีเลือนหายไปค่อนข้างมากแต่ภายในชุมชนดอนมะลิแห่งนี้ยังมีการนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่ โดยมีหมอเสนที่คอยประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อของชาวไทยทรงดำ ปัจจุบันเหลือเพียงคนเดียว คือ นายคูณ บัวแก้ว อายุ 78 ปี
  • ประเพณีสืบสานวัฒนธรรมไทยทรงดำ เป็นงานประจำปีที่จัดขึ้นเดือน 5 ของทุกปี ภายในงานจะมีวงแคนทั้งแบบดั้งเดิมและแบบประยุกต์ประชันกัน 

วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ

ระบบการผลิตในอดีตของคนไทดำมีความสัมพันธ์กับลักษณะการตั้งถิ่นฐานที่คนไทดำนิยมตั้งถิ่นฐานตามที่ราบในหุบเขาที่มีลำน้ำไหลผ่านเพื่อเอื้อต่อระบบการเพาะปลูกแบบการทำนาแบบแผนในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของชาวไทดำในอดีตและดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน จึงมีข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญนอกจากการทำนาลุ่มแล้วยังมีการทำไร่ในพื้นที่บริเวณที่เป็นที่ลาดสำหรับการเพาะปลูกพืชหลายชนิด เช่น ข้าวโพด ฝ้าย มัน และข้าวไร่ วิถีการดำรงชีพที่อาศัยระบบเกษตรกรรมจึงเป็นแบบแผนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของกลุ่มไทดำ เพื่อนำผลผลิตทางการเกษตรมาแลกเปลี่ยนกับสินค้าและผลผลิตชนิดอื่นในตลาดการเกษตรและการแลกเปลี่ยนในตลาดจึงเป็นวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจพื้นฐานที่สำคัญของชาวไทดำ

นอกจากชาวไทยทรงดำส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพด้านการเกษตรแล้ว ยังมีอาชีพสำรอง คือ ประมงพื้นบ้าน ปลูกผัก และรับจ้างที่โรงงานใกล้หมู่บ้าน รวมทั้งผู้นำชุมชนกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ และกลุ่มเยาวชนสืบสานภูมิปัญญาชาวไทยทรงดำ

1.นายคูณ บัวแก้ว หมอเสนชุมชนดอนมะลิและผู้สอนภาษาไทยทรงดำ เป็นบุคคลที่สามารถดูแลครอบครัวได้ดีและเป็นบุคคลที่มีส่วนร่วมสร้างศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมไทยทรงดำ

2.หลวงปู่แอ ผู้นำสร้างสำนักสงฆ์และโรงเรียน เพื่อให้เด็กในหมู่บ้านได้รับการศึกษา

3.นางสมใจ บัวแก้ว ช่างฝีมือผู้สืบสานวัฒนธรรมสิ่งของเครื่องใช้ มีการทำเสื้อผ้า พวงกุญแจ กระเป๋า จำหน่ายให้กับชาวไทยทรงดำ และยังมีการสอนการเย็บลายผ้าให้เด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านไทรงามรวมถึงชาวแคนาดาอีกด้วย

ทุนวัฒนธรรม

  • วัดดอนมะลิ เป็นแหล่วงรวมจิตใจของผู้คนในตำบลท่าข้าม ทั้งชาวไทยทรงดำและชาวปักษ์ใต้ หากวัดมีการจัดงานใดก็จะได้รับความร่วมมืออยู่เสมอ ซึ่งวัดดอนมะลิจะมีการจัดกิจกรรมและงานประเพณีทั้งพุทธศาสนาและประเพณีชาวไทยทรงดำ เช่น งานประเพณีสืบสานวัฒนธรรมไทยทรงดำ โดยจัดบริเวณลานวัดดอนมะลิ ภายในงานจะมีการฟ้อนแคนของชาวบ้าย เป็นงานประจำปีโดยจะจัดขึ้นในเดือน 5 ของทุกปี
  • ศาลเจ้าอารีดำ เป็นศาลเจ้ามุสลิมซึ่งชาวไทยทรงดำเชื่อว่าในอดีตเคยมีชาวมุสลิมตั้งถิ่นฐานมาก่อน มีการเซ่นไหว้ด้วยไก่
  • ศาลเขาหัวควาย เป็นศาลของคนพื้นถิ่นปักษ์ใต้ซึ่งชาวบ้านไทยทรงดำและผู้มาอยู่อาศัยจะให้ความเคารพนับถืออย่างยิ่ง
  • การแต่งกาย การแต่งกายของชาวไทยทรงดำในอดีตจะนุ่งซิ่นแตงโม มีลักษณะเป็นตาห่าง ใช้กระดุมเม็ดผักบุ้ง ส่วนรูปแบบในสุราษฎร์ธานีนี้ จะได้รับแบบอย่างมาจากเพชรบุรี ในอดีตจะไม่มีลวดลายมากนัก แต่ในปัจจุบันมีลายมากกว่า 20 แบบ เช่น ลายปีกผีเสื้อ ลายดอกมะลิใหญ่ ลายดอกมะลิเล็ก เป็นต้น

โซ่งหรือไทยทรงดำ เป็นกลุ่มชนที่มีทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตนเอง ซึ่งภาษาโซ่งเป็นภาษาตระกูลไท มีการใช้อักขระไทยดำ การเขียนหรือบันทึกอักษรนิยมเขียนในสมุดพับเป็นชั้น ๆ เรียก ปั๊บ


การปลี่ยนแปลงของการดำรงอาชีพ ด้วยอาชีพดั้งเดิมคือการทำนา จึงหวังที่จะทำนาดังเดิม แต่ก็มีอุปสรรคที่ทำให้ทำไม่ได้ เพราะฝนตกชุกน้ำท่วมบ่อย ทำให้สัตว์มารบกวน จึงล้มเลิกการทำนาไป ต่อมา 1-2 ปี จึงเริ่มมีการปลูกผัก ตอนแรกผักล้มลุก เป็นผักปลูกส่งตลาด แต่เจออุปสรรค คือ การเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง ทำใหเมีทุนในการผลิตน้อย แต่ยังสามารถหาเลี้ยงตนได้อย่างเรื่อยมา แต่ด้วยความขยันของชาวไทยทรงดำจึงหัดมาทำอาชีพปลูกฟักทอง แต่กลับประสบภัยธรรมชาติในปี พ.ศ. 2531 ต้องฟื้นตัวใหม่อีกระลอก จนในที่สุดก็สามารถลงหลักปักฐานในอาชีพด้านการเกษตรได้ คือ การทำสวนปาล์ม และมีอาชีพรอง คือ ประมงพื้นบ้าน

ชาวชุมชนดอนมะลิมีความเชื่อเกี่ยวกับ เจ้าพ่อเสือ ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยในเรื่องของการเจ็บไข้ได้ป่วย ฝนฟ้าอากาศ การเกณฑ์ทหาร เป็นต้น แก้บนได้ด้วย เบียร์ ไก่ ประทัด ขนมหวาน หรือตามที่กล่าวบนบานเอาไว้

กฤษณะ ทองแก้ว. (2561). ชุมชนดอนมะลิ : ศูนย์กลางวัฒนธรรมชาวไทยทรงดำสุราษฎร์ธานี. วารสารราชภัฏสุราษฎร์ธานี. 5(1), 175-192.

กฤษณะ ทองแก้ว. (2560). ชุมชนชาวไทยทรงดำ: การอพยพและการตั้งถิ่นฐานในปักษ์ใต้. วารสารสังคมศาสตร์ นิติรัฐศาสตร์. 1(1), 61-88.

ทน.สุราษฎร์ธานี โทร.0-7727-2513