Advance search

เป็นชุมชนที่มีการตั้งถิ่นฐานวิถีชีวิตความเป็นอยู่และความเชื่อที่ปรากฏในหลักฐานต่างๆมาช้านาน จนกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่มีความโดดเด่นเรื่องการค้าขาย และการเข้ามาของศาสนาความเชื่อต่างๆ

ในเมือง
เมืองนครศรีธรรมราช
นครศรีธรรมราช
เทศบาลเมืองนครศรีธรรมราช โทร.0-7534-7405
พัณณิตา สงวนกิจ
13 ก.พ. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
9 เม.ย. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
9 เม.ย. 2024
ย่านถนนราชดำเนิน


เป็นชุมชนที่มีการตั้งถิ่นฐานวิถีชีวิตความเป็นอยู่และความเชื่อที่ปรากฏในหลักฐานต่างๆมาช้านาน จนกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่มีความโดดเด่นเรื่องการค้าขาย และการเข้ามาของศาสนาความเชื่อต่างๆ

ในเมือง
เมืองนครศรีธรรมราช
นครศรีธรรมราช
80000
8.411476660211992
99.96626374154039
เทศบาลเมืองนครศรีธรรมราช

ยุคก่อนวัฒนธรรมลังกา

ช่วงก่อนสมัยพุทธศตวรรษที่ 18 พื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ตั้งของชุมชนเล็กๆ มีความสำคัญบริเวณริมฝั่งทะเลที่อยู่ในเส้นทางการค้าระหว่างประเทศของประเทศจีนและประเทศอินเดียจึงเริ่มมีการพัฒนาเป็นพื้นที่เล็ก ๆ ทางการค้าทางทะเล เริ่มมีต่างชาติเข้ามาทำการค้าขาย พื้นที่นี้จึงเริ่มพัฒนาและมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไปตามสำเนียงของชาติที่เข้ามาทำการค้า แต่ชื่อที่ปรากฏจากหลักฐานที่ได้ศึกษาทั้งจากคัมภีร์มหานิเทศ หลักศิลาจารึกหลักต่างๆ ที่ได้มีการศึกษาและตีพิมพ์ เป็นที่ยอมรับในทางวิชาการคือ เมืองตามพรลิงค์ ซึ่งจากหลักฐานชื่อที่ใช้เรียกชื่อนี้ใช้มาราวในช่วงพุทธศตวรรษที่ 6 เป็นอย่างน้อย จนกระทั่งเมืองได้เจริญรุ่งเรือง และขยายตัวเป็นเมืองใหญ่ เป็นแคว้นที่มีบทบาทสำคัญในด้านการค้า มีการย้ายอพยพถิ่นฐานเข้ามาในพื้นที่เพิ่มมากขึ้นจากเดิม เริ่มมีบทบาทในด้านการเมืองการปกครองต่อหัวเมือง และชุมชนใกล้เคียง โดยในด้าน รูปแบบทางวัฒนธรรมได้รับอิทธิพลส่วนใหญ่มาจากประเทศอินเดีย ซึ่งบางส่วนที่ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียยังปรากฏหลักฐานให้สามารถศึกษาได้มาจนถึงปัจจุบัน ร่องรอย ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสมัยนั้นปรากฏหลักฐานทางศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธเป็นหลัก ศาสนาที่เข้ามาในเมืองตามพรลิงค์ เป็นศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกายและลัทธิไวณษพนิกาย ซึ่งเป็นศาสนาแรกซึ่งได้รับอิทธิพลจากระเทศอินเดีย ปรากฏในหลักฐานทางโบราณคดี ก่อนที่ถัดมาไม่นานศาสนาพุทธนิกายมหายานและเถรวาทจะเข้ามา หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดที่ขุดค้นได้พบที่กล่าวถึงศาสนาพุทธในพื้นที่ศึกษาคือ จารึกวัดมเหยงคณ์หลักที่ 27 มีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 11-12 จากหลักศิลาจารึกและการเติบโตของชุมชนข้างเคียง การโจมตีจากต่างชาติ และการเกิดโรคระบาดทำให้เมืองตามพรลิงค์อ่อนแอลง เกิดการล้มตายและเกิดการอพยพย้ายถิ่นฐาน จนทิ้งเป็นเมืองร้าง ที่ปรากฏจากหลักฐานที่ได้จากการขุดค้นที่พบด้านความเจริญด้านวัตถุ ซึ่งเป็นสิ่งที่หลงเหลือที่สำคัญและเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นหลักฐานที่สามารถเล่าถึงเรื่องราวของเมืองในอดีตให้เกิดการศึกษาประวัติศาสตร์ในปัจจุบัน

ยุควัฒนธรรมลังกาจากตำนานเมืองนครศรีธรรมราชและตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช ซึ่งเรียกพื้นที่บริเวณนี้ว่า หาดทรายแก้ว มีกลุ่มที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานจากหลักฐานที่จารึกเข้ามาในช่วงสมัยกลางยุคพุทธศตวรรษที่ 16 ที่มาเป็นกลุ่มโดยอพยพมาจากศรีลังกา ซึ่งมีทั้งคณะพระสงฆ์และพุทศาสนิกชนทั่วไป ได้ย้ายและเข้ามารวมกลุ่มกับกลุ่มอื่น ๆ ตั้งเป็น กลุ่มคนพื้น เมืองและชาวฮินดูที่มีถิ่นฐานอยู่เดิมบ้าง จนหลาย ๆ กลุ่มที่ได้อพยพจากทั้งสามกลุ่มได้ค่อย ๆ รวมกันในช่วงเวลาต่อมา โดยมีศาสนาพุทธเป็นศาสนาหลักของคนในพื้นที่ ซึ่งการเข้ามาของศาสนาพุทธในช่วงพุทธศตวรรษ ที่ 17-18 ได้เกิดการสังคายนาพระไตรปิฎกในศรีลังกา และนับว่าเป็นช่วงสำคัญที่จะส่งผลให้ศาสนาพุทธในพื้นที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาจนถึงปัจจุบัน โดยพระเจ้าศรีธรรมโศกราช ได้รวบรวมผู้คนที่กระจัดกระจายในที่ต่าง ๆ ให้มารวมกันจนเป็นเมือง และเป็นผู้ริเริ่มแนวความคิดก่อสร้างพระมหาธาตุ โดยการสันนิษฐานที่มาของพระเจ้าศรีธรรมโศกราชจากการรวบรวมและศึกษามีสามแนวทางคือ เชื่อว่าเป็นคนพื้นเมืองที่มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับชาวฮินดูที่เข้ามาตั้งรกรากในบริเวณนี้ บางส่วนสันนิษฐานว่าเป็นพราหมณ์ที่อพยพมาจากอินเดีย และอีกทางหนึ่ง สันนิษฐานว่ามาจากตอนกลางของประเทศไทย

เมื่อก่อตั้งเมืองสำเร็จได้เปลี่ยนชื่อจากตามพรลิงค์เป็นนครศรีธรรมราชในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 ประเทศศรีลังกาได้เป็นที่ยอมรับว่าเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาลัทธิเถรวาท ซึ่งหลายประเทศส่วนใหญ่รับเอาพุทธศาสนาลัทธินี้ไปเผยแผ่ จนเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปในลัทธิลังกาวงศ์ ซึ่งศูนย์กลางของการเผยแผ่ศาสนาที่สำคัญคือ เมืองพุกามและพะโค ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประเทศพม่า อีกแห่งหนึ่งคือพื้นที่นครศรีธรรมราช ซึ่งศูนย์กลางของทั้งสองได้เป็นศูนย์กลางในการขยายในการเผยแผ่ศาสนาพุทธไปสู่เมืองและบริเวณข้างเคียง ส่วนพื้นที่เมืองนครศรีธรรมราชได้เป็นพื้นที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาไปสู่อาณาจักรสุโขทัย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของอารยธรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในปัจจุบันเมื่อศึกษาในภาพรวมของการเข้ามาของศาสนาพุทธ ซึ่งส่งผลต่อเมืองนครศรีธรรมราชเป็นอย่างมากในด้านการสร้างแหล่งเคารพ สร้างวัด สถูปเจดีย์ การสร้างเมือง และการสร้างโบราณวัตถุโบราณสถานที่เกี่ยวข้องกับศาสนา จนทำให้ศาสนาพราหมณ์ค่อย ๆ ลดบทบาทและแหล่งโบราณสถานค่อย ๆ ถูกทิ้งร้างไปในที่สุด ประกอบด้วยความรุ่งเรืองของพุทธศาสนาในสมัยนั้น พระเจ้าศรีธรรมโศกราชได้ก่อสร้างพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นปูชนียสถานที่สำคัญ

ในการสถาปนาพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทลังกาวงศ์ในเมืองนครศรีธรรมราช และพระบรมธาตุเจดีย์องค์นี้เป็นที่เคารพนับถืออย่างกว้างขวางและยาวนานของพุทศาสนิกชน มีอิทธิพลต่อศิลปวัฒนธรรมด้านสถาปัตยกรรมของเมือง การสร้างวัดในพื้นที่บริเวณนี้เกิดขึ้นหลายแห่งจากการเจริญรุ่งเรืองของพุทธศาสนา ในด้านอื่น ๆ จากการก่อตั้งพระบรมธาตุเจดีย์ได้เกิดวรรณกรรมต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อตำนาน และนิทานประจำถิ่น ที่สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี คติความเชื่อ ของคนในพื้นที่ดั้งเดิมได้ด้วย

ยุคสมัยสุโขทัย

ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ก่อนราชวงศ์พระร่วงจะสถาปนา ขณะนั้นนครศรีธรรมราชได้มีอำนาจมาก โดยมีเมืองขึ้น 12 เมือง แต่ละเมืองใช้ตรา 12 นักษัตร เป็นสัญลักษณ์ประจำเมือง แต่จากหลักฐานในหลักศิลาจารึกหลักที่ 1 อาณาจักรสุโขทัยได้อ้างว่าอยู่เหนืออำนาจอาณาจักรนครศรีธรรมราช และเมืองนครศรีธรรมราชยังต้องส่งเครื่องบรรณาการถวาย โดยในสมัยสุโขทัยจะเป็นการรุ่งเรืองในด้านการเมือง และการสงครามระหว่างหัวเมืองต่าง ๆ จนทำให้เกิดการล้มตายเป็นจำนวนมาก จนทำให้บางช่วงเกิดการพัฒนาในด้านอื่นได้น้อย และหลักฐานที่ปรากฏทั้งในหลักศิลาจารึกหลักต่าง ๆ พงศาวดารเมือง ไม่ปรากฏถึงสภาพความเป็น อยู่วิถีชีวิตในสมัยสุโขทัยมากนัก

ยุคสมัยกรุงศรีอยุธยา

ลักษณะของเมืองในสมัยนั้นความเป็นอยู่ไม่ได้แตกต่างจากยุคสมัยสุโขทัยมากนัก เนื่องจากอยู่ในช่วงการเข้ามาของต่างชาติเพื่อเข้ามาล่าเมืองขึ้น แต่ส่งผลดีในด้านการค้าขายระหว่างประเทศ ได้มีพ่อค้าชาวตะวันตกเข้ามา เช่น อังกฤษ สเปน โปรตุเกส ฮอลันดา เข้ามาติดต่อค้าขายกับไทย เมืองนครศรีธรรมราชในสมัยนั้นจึงยังคงเป็นศูนย์กลางด้านการค้าและการเป็นเมืองท่าไว้ได้ ในด้านศาสนาที่สำคัญคือการส่งทูตมาขอสมณวงศ์ให้ไปประดิษฐานที่กรุงลังกาเนื่องจากถูกชาวตะวันตกเขามาครองเมืองจนออกกฎหมายกดขี่พระพุทธศาสนา จนทำให้ไม่มีพระสงฆ์เหลืออยู่ จึงได้นิมนต์พระอุบาลีไปยังกรุงลังกา ซึ่งต่อมาเรียกว่า ลัทธิสยามวงศ์หรืออุบาลีวงศ์ มาจนถึงปัจจุบัน นับว่าได้ส่งคณะสงฆ์เป็นสมณทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีทางศาสนาในลังกา ในด้านการเมืองการปกครองในสมัยนั้นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชได้ทำนุบำรุงศาสนาบ้านเมือง และเป็นที่ยอมรับของหัวเมืองต่าง ๆ จนเป็นที่เรียบร้อย โดยปราศจากศัตรูจากภายนอก

สมัยกรุงธนบุรี

ผลกระทบหลัก ๆ ที่ทำให้ยุคนี้เกิดความระส่ำระส่ายภายในเมืองนครศรีธรรมราชคือการเสียกรุงศรีอยุธยา ทำให้ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและหัวเมืองต่างๆ และความไม่สงบเรียบร้อยภายในบ้านเมือง มีการแย่งชิงอำนาจภายในเกิดขึ้น นับว่าขณะนั้น สภาพสังคมและความเป็นอยู่ของเมืองในด้านต่าง ๆ ได้หยุดชะงัก ทั้งการทำนุบำรุงศาสนา ความเป็นอยู่ภายในของประชาชน เนื่องจากความไม่มั่นคงในด้านการเมือง

 

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

ขณะนั้นเมืองนครศรีธรรมราช ถูกลดอำนาจมาเป็นเพียงหัวเมืองชั้นเอก ซึ่งบ้านเมืองยังไม่เรียบร้อยดีนักเนื่องจากต้องเผชิญหน้ากับฝรั่งชาติตะวันตก จากการล่าอาณานิคมยึดบ้านเมืองในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งในหลายประเทศก็เสียเอกราชตกเป็นเมืองขึ้นภายใต้อำนาจของตะวันตก และเปลี่ยนระบบการปกครองภายในหลายครั้งจนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย มีการเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นประเทศไทย แบ่งการปกครองออก เป็น จังหวัด อำเภอ หมู่บ้าน เมืองนครศรีธรรมราชก็กลายเป็นจังหวัดนครศรีธรรมราช

พื้นที่ย่านถนนราชดำเนินที่เป็นถนนสายประวัติศาสตร์อยู่ในพื้นที่ของตำบลในเมือง ตำบลคลัง ตำบลท่าวัง และส่วนหนึ่งของตำบลปากพูน ซึ่งอยู่ในการปกครองส่วนท้องถิ่นของเทศบาลนครนครศรีธรรมราช และบางส่วนของเทศบาลเมืองปากพูน อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช พื้นที่ศึกษามีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 2,125 ไร่ พื้นที่อำเภอเมืองอยู่ที่ละติจูดที่ 99 องศา 58 ลิปดา 17.5 ฟิลิปดาตะวันออกและเส้นละติจูดที่ 8 องศา 25 ลิปดา 12.5 ฟิลิปดาเหนือ

ตัวเมืองตั้งอยู่บนหาดทรายชายทะเลที่เรียกว่าหาดทรายแก้ว ซึ่งมีลักษณะเป็นสันดอนทรายที่เกิดจากชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยไล่มาเป็นแนวยาวมาจากทิศเหนือบริเวณอำเภอท่าศาลา ไปสิ้นสุดที่คลองการะเกดอยู่ในเขตอำเภอเชียรใหญ่ บางส่วนบางตอนของสันทรายมีสันทรายแยกเป็น 2-3 แนว มีลักษณะคล้ายลูกคลื่นสันทราย อยู่บริเวณด้านทิศใต้ของตัวเมืองนครศรีธรรมราชและด้านทิศเหนือเริ่มตั้งแต่หลังค่ายวชิราวุธ พื้นที่เป็นสันทรายที่มีขนาดใหญ่ซึ่งอยู่สองแนวนี้เป็นที่ตั้งของพื้นที่ตัวเมืองในปัจจุบัน พื้นที่ศึกษาองค์ประกอบทางภูมิทัศน์วัฒนธรรมย่านถนนราชดำเนิน อำเภอเมืองจังหวัดนครศรีธรรมราช มีอาณาเขตดังนี้

 

ทิศเหนือ มีอาณาเขตติดกับ กองทัพภาคที่ 4 ค่ายวชิราวุธ ตำบลปากพูนทิศใต้ มีอาณาเขตติดกับ ตำบลท่าเรือ

ทิศตะวันออก มีอาณาเขตติดกับ พื้นที่ทำการเกษตร ตำบลนาเคียน และตำบลโพธิ์เสด็จทิศตะวันตก มีอาณาเขตติดกับหมู่บ้านและถนนสายเศรษฐกิจพัฒนาการคูขวาง ตำบลท่าชัก และตำบลปากนคร

อำเภอที่มีประชากรส่วนใหญ่ของจังหวัดนครศรีธรรมราช คือเขตอำเภอเมืองมีประชากรจำนวน 266,837 คน 88,236 ครัวเรือน สัดส่วนการนับถือศาสนามีสถิติดังนี้ ไทยพุทธ ร้อยละ 90.83 ไทยมุสลิม ร้อยละ 8.72 ไทยคริสต์ ร้อยละ 0.45 ศาสนาพราหมณ์ ซึ่งมีอยู่เพียงแค่ไม่กี่ครอบครัวบริเวณหอพระนารายณ์และกำลังลดลงเรื่อย ๆ ศาสนาขงจื้อ มีเพียงจำนวนเล็กน้อยในหมู่ชาวจีน ศาสนาซิกข์มีเพียงเล็กน้อยในหมู่ชาวอินเดีย 

พื้นที่บริเวณเมืองนครศรีธรรมราชในมีชนชาติที่สำคัญอย่างน้อย 4 ชนชาติ ที่เข้ามาแต่ปัจจุบันยากที่จะแยกแยะได้ คือ ชาวจีน ชาวมาเลย์ ชาวอินเดีย และชาวญี่ปุ่นโดยแต่เดิมชาวอินเดียและชาวจีนจะตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่เขตตัวเมือง ส่วนชาวมาเลย์หรือชาวไทยมุสลิมจะอาศัยและทำกินอยู่พื้นที่รอบนอกเมืองและพื้นที่ติดทะเล ประกอบอาชีพทำการประมง ส่วนชาวญี่ปุ่นได้มีการย้ายเข้ามาในช่วงสงครามโดยมีการตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณตำบลในเมืองและตำบลคลัง ซึ่งใกล้กับค่ายทหารวชิราวุธ บางกลุ่มสันนิษฐานว่ากลุ่มชาวญี่ปุ่นที่เขามาอาศัยในพื้นที่เข้ามาเพื่อต้องการสืบราชการลับทางการทหาร ในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

จีน

ประชากรที่อยู่พื้นที่ศึกษาในเขตตำบลในเมือง ตำบลคลัง และตำบลท่าวัง ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขายและรับจ้างทั่วไป จากเดิมมีการค้าขายสินค้ากันทางเรือพื้นที่บริเวณนี้จึงเป็นจุดพักสินค้าและจุดกระจายสินค้าของพ่อค้าคนกลาง เมื่อมีการอพยพเข้ามาทำให้เกิดชุมชนใกล้กับแนวเมืองเก่ามากขึ้นการค้าขายจึงมีความคึกคักมากขึ้นบางส่วนของตำบลในเมืองรวมกลุ่มเป็นหัตถกรรมพื้นบ้านที่เป็นของขึ้นชื่ออีกอย่างหนึ่งของเมืองนครศรีธรรมราชคือหัตถกรรมเครื่องถมและผลิตภัณฑ์ย่านลิเภา ซึ่งในปัจจุบันกลุ่มที่ยังมีการอนุรักษ์หัตถกรรมเครื่องถมและย่านลิเภาเหลือเพียง 2 แห่ง คือในตำบลในเมือง ได้แก่ กลุ่มเครื่องถมและกลุ่มนครหัตถกรรม ส่วนตำบลคลัง เหลืออยู่แห่งเดียวคือ ร้านถมลายไทย ที่ยังคงรูปแบบดั้งเดิมไว้จนเป็นที่รู้จักของผลิตภัณฑ์ชุมชน (OTOP)

ในตำบลคลังพื้นที่โดยรอบยังคงเป็นพื้นที่ทางการเกษตรเช่นเดียวกัน ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพค้าขายและรับจ้างทั่วไป กลุ่มอาชีพที่โดดเด่นของตำบลคลังคือ กลุ่มทอผ้ายกเมืองนคร แต่เดิมกลุ่มทอผ้ายกเมืองนครจะอยู่บริเวณด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองเก่า แต่เมื่อเทศบาลได้สนับสนุนการท่องเที่ยวจึงมีการรวมกลุ่มทอผ้ายกเมืองนคร บริเวณถนนท่าช้าง รวมเป็นศูนย์สินค้าพื้นเมืองและหัตถกรรมพื้นบ้านของชาวใต้ โดยยังคงรูปแบบผ้ายกที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ และรูปแบบดั้งเดิมที่เรียกว่า ผ้ายกทอง นับว่าเป็นสินค้าชนิดหนึ่งที่เป็นที่สนใจของชาวต่างชาติ รายได้จากการทอผ้ายกเมืองนครมีราคาที่ดีเมื่อเทียบกับสินค้าพื้นเมืองชนิดอื่นๆ

ในด้านศาสนาพื้นที่นี้มีความหลากหลายในเรื่องศาสนามากกว่าพื้นที่อื่น ๆ ในบริเวณใกล้เคียงโดยจะนับถือแตกต่างกันตามเชื้อชาติ จากหลักฐานทางโบราณคดีศาสนาพุทธจะมีจำนวนมากที่สุด รองลงมาคือ ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนซิกข์ ศาสนาขงจื้อ โดยศาสนาพุทธ นับว่ามีความรุ่งเรืองและทั้งที่ปรากฏจากหลักฐานทางโบราณวัตถุของพุทธศาสนาที่แสดงให้เห็น เช่น พระพุทธรูปประจำเมือง พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช และวัดที่อยู่บริเวณพื้นที่อำเภอเมืองในปัจจุบันจำนวนกว่า 100 วัด ศาสนาอิสลาม สันนิษฐานว่าน่าจะเข้ามาในช่วงเมืองมีความรุ่งเรืองและเดินทางเข้ามาโดยทางเรือและมาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ ศาสนาคริสต์มีจำนวนไม่มากนัก จากหลักฐานระบุว่าเข้ามาในพื้นที่โดยการเข้ามาของหมอสอนศาสนาชาวยุโรปและชาวอเมริกัน แต่ไม่ได้รับความนิยมในพื้นที่มากนัก ศาสนาพราหมณ์ได้เข้ามาในช่วงแรก ๆ และมีความเจริญรุ่งเรืองมากจากการขุดพบโบราณสถานและรูปเคารพที่พบอยู่กระจัดกระจายทั่วทั้งจังหวัด จึงสันนิษฐานได้ว่าศาสนาพราหมณ์ เคยเจริญรุ่งเรืองมากในนครศรีธรรมราชประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์และเป็นสัญลักษณ์ของเมืองที่มีความเกี่ยวข้องกับความรุ่งเรืองของศาสนา เพราะทุกประเพณีที่มีอยู่ในพื้นที่จะมีที่มาจากอิทธิพลของศาสนาเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ จากการค้นคว้าและรวบรวมจากหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากแหล่งต่าง ๆ สามารถสรุปประเพณีที่มีความสำคัญของพื้นที่เมืองนครศรีธรรมราชได้ดังนี้

ศาสนาพราหมณ์

1. ประเพณีตรียัมปวาย หรือโล้ชิงช้า ได้ยกเลิกไปเมื่อ พ.ศ. 2475

2. ประเพณีแรกนาขวัญ ได้ยกเลิกไปในสมัยรัชกาลที่ 5

3. ประเพณีไล่แม่มด รับอิทธิพลจากลังกาและได้ยกเลิกไปใน พ.ศ. 2475

4. ประเพณีสงกรานต์แห่นางดาน

5. ประเพณีเกศหลักเมือง

ศาสนาพุทธ

1. ประเพณีให้ทานไฟ

2. ประเพณีกวนข้าวมธุปายาสยาคู

3. ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ

4. ประเพณีตักบาตรธูปเทียน

5. ประเพณีลากพระ

6. ประเพณีสารทเดือนสิบ

7. ประเพณีสวดด้าน

8. ประเพณีสวดมาลัย

9. ประเพณีการทำขวัญ เช่นเดียวกับการทำขวัญข้าว ขวัญนาค ขวัญเรือ

10. ประเพณียกขันหมากพระปฐม

11. ประเพณีการขึ้นเบญจา

12. ธรรมเนียมการออกปาก

13. ประเพณีเกี่ยวกับวิถีชีวิต เช่น การเกิด การบวช การแต่งงาน การตาย

เมื่อมีการอยู่รวมกันเป็นชุมชนใหญ่ ๆ คติความเชื่อต่าง ๆ ที่ส่งผลจากศาสนาขนบธรรมเนียม ประเพณี การรับอิทธิพลจากต่างชาติที่เข้ามาค้าขาย เกิดการละเล่นพื้นบ้าน กีฬาและมหรสพ เป็นอีกหนึ่งความสำคัญที่เกี่ยวข้องและเป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางวัฒนธรรมของพื้นที่ ได้แก่

1. หนังตะลุง

2. มโนราห์

3. เพลงบอก

4. เพลงคำตัก

5. เพลงนา

6. กาหลอ

7. ปริศนาคำทาย

8. ลิเกป่า

9. การเล่นสะบ้า

10. การเล่นเชื้อ

11. กีฬาไก่ชน

12. กีฬาวัวชน

อีกองค์ประกอบหนึ่งคือด้านศิลปกรรมที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ และนับว่าพื้นที่บริเวณนี้เป็นศูนย์รวมของศิลปกรรมสาขาและแขนงต่าง ๆ ของภาคใต้ตั้งแต่อดีต ด้านงานหัตถกรรมพื้นเมืองที่เป็นที่นิยมในทุกระดับชั้นตั้งแต่ขุนนางไปจนถึงกษัตริย์ จากการรวบรวมข้อมูลในพื้นที่ศึกษา เคยเป็นแหล่งงานศิลปกรรมที่สำคัญคือ

1. การทำเครื่องถม

2. การทอผ้ายก

3. งานแกะตัวหนังตะลุง

4. งานแทงหยวก

5. ทำเครื่องทองเหลือง

6. การทำหมาตักน้ำ

7. ช่างปั้นและหล่อพระพุทธรูป

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัฒนธรรม

วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร

เป็นพระอารามหลวงที่มีความเก่าแก่ อยู่คู่เมืองนครศรีธรรมราชมาช้านาน มีความสำคัญทางศาสนาและเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจที่สำคัญของพุทธศาสนิกชนชาวนครศรีธรรมราช เป็นแหล่งศึกษาข้อมูลทางโบราณคดีที่สำคัญของภาคใต้ โดยชาวบ้านจะเรียกติดปากว่า วัดพระธาตุ เป็นวัดที่เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับอิทธิพลจากศิลปะศรีวิชัย เจดีย์ทรงมณฑป มีหลังคาเป็นสถูปห้ายอดคล้ายกับพระบรมธาตุเจดีย์ของจังหวัดสุราษฏร์ธานี สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพุทธศตวรรษที่ 18 หลังจากนั้นส่วนประกอบอื่น ๆ ภายในเริ่มทยอยก่อสร้างต่อมาภายหลัง สร้างขึ้นในยุคสมัยอยุธยาเป็นส่วนใหญ่ พระบรมธาตุเจดีย์ที่ตั้งในวัดมีความโดดเด่น เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ยอดเจดีย์หุ้มด้วยทองคำภายในบรรจุของมีค่าต่าง ๆ

วัดพระมหาธาตุไม่ปรากฏหลักฐานปีที่สร้างแน่ชัด เอกสารส่วนใหญ่ได้เขียนขึ้นมาจากคำบอกเล่าแทบทั้งสิ้น รวมถึงเรื่องเล่า ความเชื่อต่าง ๆ โดยสันนิษฐานจากตำนานเมืองนครศรีธรรมราช กล่าวว่าพระศรีธรรมโศกราชเป็นผู้ก่อสร้างวัดพระมหาธาตุและเมืองนครศรีธรรมราช ราวช่วงพุทธศักราช 1098 เป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุเจดีย์ หลักฐานที่ปรากฏเด่นชัดอยู่ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อเสด็จประพาสเมืองนครศรีธรรมราช ภายในบริเวณวัดพระมหาธาตุ มีเจดีย์บริวารทั้งหมด 149 องค์ เป็นเจดีย์ที่บรรจุอัฐิบรรพบุรุษของตระกูลในนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นความเชื่อที่ว่าถ้านำกระดูกมาไว้ใกล้กับเจดีย์ที่วัดพระมหาธาตุ จะทำให้ในชาติภพหน้าจะได้เกิดมานับถือศาสนาพุทธอีกครั้ง ซึ่งนอกจากจะเป็นศูนย์รวมจิตใจยังเป็นสถานที่สำคัญทางศาสนาที่ใช้ประกอบกิจกรรมด้านศาสนา ความเชื่อทางวัฒนธรรมที่สืบต่อกันอย่างยาวนาน สิ่งก่อสร้างที่มีความสำคัญ ได้แก่ วิหารพระทรงม้า วิหารเขียน วิหารโพธิ์ลังกา วิหารสามจอม วิหารพระแอด วิหารทับเกษตร วิหารคด วิหารธรรมศาลา วิหารหลวง วิหารพระเดิม พระอุโบสถ

ความสำคัญต่อชุมชน จะเป็นที่เคารพศรัทธาและเป็นแหล่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจที่สำคัญ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่เข้ามาสักการะพระบรมธาตุ มีความผูกพันเกี่ยวข้องกับคนในพื้นที่ เป็นแหล่งศึกษาประวัติศาสตร์ที่ประชาชนได้นำมาถวายเป็นพุทธบูชา เป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่สามารถใช้ศึกษาถึงความรุ่งเรืองแต่ละยุคสมัยและเป็นแหล่งกำเนิดประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ ได้แก่ ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ ประเพณีตักบาตรธูปเทียน ประเพณีสวดด้าน และในอดีตใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของเมือง ได้แก่ การแต่งตั้งเจ้าเมือง การถือน้ำพิพัฒน์สัตยา พิธีแรกนาขวัญ พิธีโล้ชิงช้า

วัดประดู่พัฒนาราม

ชาวบ้านเรียกว่า วัดประดู่ หรือวัดโด เป็นศาสนสถานที่มีความสำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราชอีกแห่งหนึ่ง ที่มีประวัติที่ยาวนานที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยและเจ้าเมืองของนครศรีธรรมราช ข้อมูลจากหนังสืออนุสรณ์ น้อมรำลึก ได้บันทึกถึงประวัติความเป็นมาจากหลักฐานในวัด ซึ่งสันนิษฐานว่าวัดแห่งนี้ได้รับอิทธิพลจากศิลปะ ทางภาคเหนือของแคว้นล้านนา และศิลปะทางภาคอีสานบางส่วนผสมผสานกัน โดยผู้ก่อตั้งคือท่านพระพนมวังและนางเสตียงทอง โดยสร้างวัดในทิศเหนือของเขตเมืองเก่า ซึ่งที่บริเวณนี้เป็นดอนทราย

ชื่อวัดประดู่ ก็น่าจะมาจากพื้นที่บริเวณนี้มีต้นประดู่ขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงมีคำว่าประดู่อยู่ในชื่อของวัดด้วยข้อมูลจากวารสาร ได้กล่าวถึงตอนหนึ่งเกี่ยวกับประวัติของวัดว่า เคยมีช่วงหนึ่งที่ถูกทิ้งร้างไม่มีพระมาจำพรรษาที่วัดหลังจากนั้นพี่สาวของเจ้าพระยานครศรีธรรมราชซึ่งเป็นผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัดครั้งใหญ่ และยังมีการบูรณะอีกครั้งสมัยในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมกับสร้างซุ้มพัทธสีมาเป็นศิลปะจีนประยุกต์ปัจจุบันเป็นที่บรรจุอัฐิต้นตระกูล ณ นคร มาจนถึงปัจจุบัน

ภายในวัดประดู่ยังมีสิ่งปลูกสร้างที่มีความสำคัญอีกแห่งหนึ่งคือ เก๋งจีนวัดประดู่หรือเก๋งจีนพระเจ้าตาก ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่าตึกเจ้าตาก ตั้งอยู่หน้าอุโบสถอาคารทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสอาคารเป็นศิลปะแบบจีน ก่ออิฐหนาทั้ง 3 ด้าน ยกพื้นสูงแต่ปัจจุบันได้ถมพื้นที่จนมีระดับใกล้เคียงกับพื้นภายนอก โครงหลังคาไม้มุงด้วยกระเบื้องดินเผาด้านหน้าเป็นประตูไม้บานใหญ่ ฉลุลายเป็นรูปสัตว์ป่า ภายในเก๋งจีน มีเจดีย์ ทรงดอกบัวตูมฐานย่อมุมไม้สิบสอง ประดับลวดลายกระจกสี สร้างขึ้นโดยเจ้าพระยานคร (น้อยกลาง) สร้างเมือง พ.ศ. 2385 จุดประสงค์ของการสร้างคือเก็บอัฐิเจ้าพระยานคร (น้อย) และที่ได้ชื่อว่าเก๋งจีนพระเจ้าตาก เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชพระราชทานเพลิงพระบรมศพของพระเจ้าตากสินมหาราชที่วัดบางยี่เรือใต้ พระบรมอัฐิได้ตกถึงมือทายาท เจ้าพระยานคร (น้อยกลาง) จึงได้เก็บอัฐิไว้ที่เดียวกับเจ้าพระยานคร (น้อย) ไว้ในเจดีย์เดียวกันที่เก๋งจีนวัดประดู่ ชาวบ้านจึงเรียกติดปากว่า ตึกเจ้าตาก และในทุก ๆ ปีจะมีการบวงสรวงแก่บรรพบุรุษต้นตระกูล ณ นคร ปัจจุบันได้ขึ้นทะเบียนกับทางกรมศิลปากร ในปี พ.ศ. 2514 ได้มีการบูรณะและคงรักษารูปแบบทางศิลปะแบบดั้งเดิมไว้ให้ได้มากที่สุด

วัดมเหยงคณ์

เป็นวัดที่มีความเก่าแก่และสำคัญแห่งหนึ่ง เดิมชื่อว่า วัดเสมาทอง ตั้งอยู่ริมถนนราชดำเนินด้านหลังติดกับถนนกะโรมใกล้กับชุมชนตลาดแขก วัดแห่งนี้ก่อสร้างเมื่อใดไม่มีการระบุเป็นที่แน่ชัด จากการศึกษาหลักฐานทางโบราณคดีที่ได้ขุดค้นพบหลักศิลาจารึก คาดว่าสร้างในยุคสมัยใกล้เคียงกับวัดเสมาเมืองและวัดอื่น ๆ ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นและวัดมีสภาพทรุดโทรมเป็นอย่างมาก จนมาปี พ.ศ. 2364 เจ้าพระยานคร (น้อย) เป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชในขณะนั้น ได้ทำสงครามกับหัวเมืองต่าง ๆ จนทหารได้ล้มตายเป็นจำนวนมาก และเมื่อยกทัพกลับมายังเมืองนครศรีธรรมราช เจ้าพระยานคร (น้อย) ได้ทำการทำนุบำรุงศาสนา เนื่องจากถือว่าการสู้รบในยามสงครามได้ฆ่าชีวิตมนุษย์ไปมากนับว่าเป็นบาป จึงบรรเทาบาปด้วยการก่อสร้างวัดและการทำนุบำรุงวัดและศาสนสถานเป็นการทดแทน เหตุนี้จึงทรงเลือกวัดเสมาทองซึ่งขณะนั้นได้เสื่อมโทรมมากให้กลับสู่สภาพดังเดิม จากหลักฐานที่ได้บันทึกภายในวัด ได้ระบุปีที่ทำการบูรณะวัด คือ พ.ศ. 2364-2366 ไม่มีการสมโภชเฉลิมฉลองและเปลี่ยนชื่อเป็นวัดมเหยงคณ์ ซึ่งมีความหมายว่าชัยชนะอันยิ่งใหญ่มาจนถึงปัจจุบัน

วัดมุมป้อม

เป็นวัดธรรมยุตินิกายตั้งอยู่ริมถนนมุมป้อม ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นวัดขนาดกลางได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. 2420สาเหตุที่ชื่อว่าวัดมุมป้อม เพราะสถานที่ตั้งของวัดอยู่บริเวณหัวมุมของป้อมของกำแพงเมืองนครศรีธรรมราชด้านทิศตะวันออก โดยที่กำแพงเมืองได้ก่อสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตามนโยบายการสร้างเมืองตามแบบยุโรปที่มีกำแพงเมือง เพื่อกำหนดขอบเขตของเมือง โดยสร้างคูเมืองและป้อมปราการเพื่อป้องกันศัตรูที่หัวเมืองสำคัญ ก่อสร้างโดยวิศวกรชาวฝรั่งเศสชื่อว่าเดอ ลามาร์ ออกแบบและก่อสร้างกำแพงเมือง เมื่อถึงช่วงสงครามเก้าทัพ  พม่าได้ยกทัพเพื่อจะลงมาตีหัวเมืองฝ่ายใต้ เพื่อสกัดกั้นกองทัพพม่าลงหัวเมืองทางใต้ ทำให้เกิดการสู้รบและล้มตายเป็นจำนวนมาก เมื่อเสร็จศึกสงครามได้นำศพทหารมาฝังไว้ที่หัวมุมกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออกซึ่งเป็นป่าพรุ ถมจนกลายเป็นเนินดินสูง สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ชาวบ้านละแวกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออกของกำแพงไม่สะดวกในการดำเนินกิจกรรมทางพุทธศาสนา จึงได้สร้างวัดมุมป้อมขึ้นนับแต่นั้นมา ซึ่งปัจจุบันมีหลวงพ่อศรีทองเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย โดยเชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำวัดและเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชุมชนมุมป้อม

วัดเสมาเมือง

เป็นวัดเก่าแก่ที่มีความสำคัญแห่งหนึ่งของเมืองนครศรีธรรมราช โดยประวัติความเป็นมาของวัดเสมาเมือง มีหลักฐานอ้างถึงผู้สร้างคือพระเจ้าศรีธรรมโศกราช เป็นผู้ก่อสร้างวัดแห่งนี้ ในปี พ.ศ. 1318 เป็นวัดที่ตั้งอยู่ใจกลางกำแพงเมืองเก่าและเหตุผลที่ก่อตั้งคาดว่าต้องการให้พระสงฆ์ฝ่ายมหายานมาจำพรรษาเป็นแห่งแรก และยังเป็นต้นกำเนิดของวัดและชุมชน อื่น ๆ ภายในเมืองนครศรีธรรมราชอีกมาก โดยที่วัดเสมาเมืองยังมีความสำคัญทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์การก่อสร้างเมืองนครแต่เดิม คือได้ขุดพบหลักศิลาจารึกบริเวณวัดเสมาเมืองซึ่งสลักบนหินศิลา บอกเล่าเรื่องราวทางพระพุทธศาสนาและความเป็นอยู่ของคนในเขตเมืองเก่ายังเล่าถึงความเจริญรุ่งเรืองของนครศรีธรรมราชในอดีตและข้อสันนิษฐานต่าง ๆ ของเมืองอิงจากหลักศิลาที่ขุดค้นพบจากวัดเสมาเมืองนี้เป็นสำคัญ ที่ยังมีความเกี่ยวข้องกับศาสนาพราหมณ์โดยภายในพื้นที่วัดมีแหล่งบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ เพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ของศาสนาพราหมณ์มาจนปัจจุบัน เนื่องด้วยวัดมีพื้นที่น้อยและมีความสำคัญทางโบราณคดีหลายจุดจึงไม่ค่อยเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมแต่จะมีกิจกรรมทางพุทธศาสนาในช่วงวันสำคัญ ประชาชนใกล้เคียงยังคงให้ความสำคัญในวันสำคัญต่าง ๆ โดยร่วมกับทางวัดเสมาเมืองอยู่สม่ำเสมอ

วัดหน้าพระลาน

ก่อตั้งมาสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง เป็นวัดที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เดิมทีเป็นที่อยู่ของพระสงฆ์ในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้ยกสถานะเป็นวัดหน้าพระลาน ซึ่งมีแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ความเชื่อ ของคนนครศรีธรรมราช โดยความเชื่อของบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์เชื่อกันว่า ผู้ใดได้ดื่มน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์จะมีสติปัญญาดี ได้เป็นขุนนางผู้ใหญ่ นอกจากนี้ยังเชื่อว่า น้ำในบ่อสามารถเป็นส่วนผสมของยาสมุนไพรรักษาโรค และเป็นน้ำมนต์ในการประพรมร่างกายไล่ภูตผีปีศาจ และแก้เรื่องคุณไสยได้ ในปัจจุบันชาวเมืองนครศรีธรรมราชยังคงเชื่อถือว่าแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์บ่อในวัดหน้าพระลานยังมีความศักดิ์สิทธิ์ ชาวบ้านยังคงนิยมนำน้ำศักดิ์สิทธิ์จากวัดพระลานมาเก็บไว้เป็นน้ำมนต์ประจำบ้าน และเชื่อกันว่าหากเจ็บป่วยไข้หากได้ดื่มน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ อาการป่วยไข้จะค่อย ๆ ทุเลาลง และทุกวันนี้ยังเห็นภาพที่ชาวบ้านมาตักน้ำจากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์อยู่เสมอ

วัดท้าวโคตร

เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 20 มีถนนราชดำเนินตัดผ่านหน้าวัด เป็นวัดที่รวมอดีตวัดร้างที่ตั้งอยู่ติดกัน 4 วัด คือวัดศภ วัดประตูทอง วัดวา และวัดธาราวดี สาเหตุที่ได้ชื่อวัดท้าวโคตร พระครูวรวิริยคุณ (ปราโมทย์ ปสุโต) เจ้าอาวาสวัดท้าวโคตร พ.ศ. 2556  ได้เล่าถึงประวัติว่าไม่ได้มีการบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ แต่เกิดจากการสันนิษฐานของผู้รู้ในอดีตเล่าต่อกันมาว่า พระนางเลือดขาวได้สร้างวัดศภ โดยยกพื้นที่วังเดิมของแม่นางเลือดขาวสร้างเป็นวัดขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระเจ้าศรีธรรมโศกราช ซึ่งเป็นต้นตระกูลของราชวงศ์ประทุมวงศ์และชาวบ้านได้สร้างวัดใกล้เคียงอีก 4 วัดซึ่งติดกัน โดยสมัยก่อนที่บริเวณนี้มีการค้าขายที่รุ่งเรืองมีผู้คนอาศัยหนาแน่น จากหลักฐานต่าง ๆ ที่ได้ขุดพบและได้นำไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานนครศรีธรรมราช อีกข้อสันนิษฐาน หนึ่งกล่าวว่า มีท้าวโคตรคีรีเศรษฐีซึ่งเป็นเศรษฐีจากเมืองพุกามได้อพยพมาจากประเทศพม่า ได้มาตั้งรกรากอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และได้มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมากในช่วงสมัยอยุธยา และข้อสันนิษฐานนี้นักโบราณคดีได้ค้นพบในตำนานกัลปนาวันในหนังสือบุดของวัดท่าช้าง ที่จารึกในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในคราวเสด็จประพาสเมืองนครศรีธรรมราช หลังจากที่สักการะพระบรมธาตุเจดีย์แล้วก็ได้เสด็จทอดพระเนตรโบราณสถานใกล้ ๆ กับวัดพระมหาธาตุและจิตรกรรมฝาผนังภายในวัดท้าวโคตร เป็นจิตรกรรมบนแผ่นไม้คอสองเล่าถึงเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนา โดยมีทั้งพุทธประวัติและนิทานทศชาติชาดก ซึ่งทรงเห็นว่าการมีวัดเล็ก ๆ ตั้งอยู่ติดกัน 4 แห่ง ซึ่งทำให้ยากแก่การดูแลและการปกครอง จึงสั่งให้ยุบรวมวัดทั้ง 4 แห่ง เพื่อให้ง่ายต่อการปกครองของคณะสงฆ์และการปฏิบัติกิจทางศาสนาของพระสงฆ์ ต่อมาได้กลายเป็นวัดท้าวโคตร มาจนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบันพื้นที่บางส่วนของวัดได้เป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนเทศบาลวัดท้าวโคตร ยังมีโบราณสถานที่เก่าแก่สำคัญคือ สถูปโบราณที่ฐานสี่เหลี่ยมก่ออิฐย่อมุมทั้งสี่ด้าน กว้าง 13.30 เมตร ยาว 13.30 เมตร มีมุขยื่นทางทิศตะวันออกอีกประมาณ 5 เมตร ลักษณะปรางค์คล้ายกับพระปรางค์สมัยสุโขทัย ส่วนยอดนั้นไม่สามารถทราบได้ว่ามีลักษณะใด ความสูง ณ ปัจจุบันสูง 16 เมตรจากระดับพื้นดิน จากการสอบถามข้อมูลพยอม ไกรแก้ว  ทราบว่า สถูปได้มีการบูรณะจากกรมศิลปากรมาถึง 2 ครั้งแล้ว แต่สภาพปัจจุบันมีความเสียหายไปมากเนื่องจากมีการลักลอบเข้าไปขุดหาพระเก่า พระพิมพ์ดินดิบ ทำให้ตัวฐานสถูปได้รับความเสียหายไปมาก สถูปองค์นี้คาดว่าน่าจะสร้างในพุทศวรรษ ที่ 17-19 และสิ่งที่น่าสนใจอีกจุดหนึ่งของวัดท้าวโคตรคืออุโบสถเก่าทำด้วยไม้ หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา ภายในมีพระพุทธรูปปูนปั้นประทับนั่งปางมารวิชัย คาดว่าสร้างช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นศิลปะสมัยอยุธยา และกุฏิเก่าสร้างด้วยไม้สองชั้นตกแต่งลายฉลุ แต่สภาพปัจจุบันทรุดโทรมมากเนื่องจากไม่ได้ใช้สอยประโยชน์ แต่เดิมเคยเก็บของใช้ของภิกษุสงฆ์และรอการเข้าบูรณะจากทางสำนักศิลปากรที่ 14 จังหวัดนครศรีธรรมราช

วัดสวนหลวง

เป็นวัดที่มีความเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช ก่อตั้งวัดขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 1861 สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ตั้งของวัดสวนหลวงเคยเป็นสวนอุทยานดอกไม้ของเมืองพระเวียง ซึ่งเป็นหัวเมืองที่มีความสำคัญในอดีต เดิมทีพื้นที่ของวัดสวนหลวงมีพื้นที่กว้าง เมื่อมีการตัดถนนราชดำเนิน ทำให้พื้นที่ถูกแบ่งออกเป็นวัดสวนหลวงตะวันออกและวัดสวนหลวงตะวันตก หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 วัดสวนหลวงตะวันออกได้ถูกทิ้งร้างไปเหลือเพียงแค่วัดสวนหลวงตะวันตกเท่านั้น ต่อมาพื้นที่รกร้างของวัดสวนหลวงตะวันออก ได้ถูกสร้างให้เป็น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช ภายในพระอุโบสถของวัดสวนหลวงได้ประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ สมเด็จเจ้าลาวทอง โดยที่พระครูโอภาสปัญญาคุณ เจ้าอาวาสวัดสวนหลวง เล่าถึงตำนานที่มาของพระประธาน ว่าเป็นพระลอยน้ำมา ในช่วงเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ของเมืองและได้นำพระมาประดิษฐานที่วัดสวนหลวง ภายหลังเจ้าของได้มาพบแล้วจะขอนำพระกลับ แต่ชาวบ้านได้ร้องขอว่าให้พระพุทธรูปองค์นี้ประดิษฐานอยู่ที่วัดสวนหลวง เมื่อเห็นดังนั้นเจ้าของ จึงขอแค่เพียงธาตุกายสิทธิ์คืน คือปรอทที่บรรจุอยู่ในพระพุทธรูปองค์นี้ เมื่อทำพิธีเสร็จก่อนกลับชาว บ้านได้สอบถามถึงชื่อพระพุทธรูปองค์นี้ เจ้าของพระได้บอกชื่อว่าเจ้าลาวทอง ความสำคัญของวัดสวนหลวง นอกจากจะเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านแล้ว ยังเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆของเมือง ที่สำคัญที่สุดคือ ประเพณีชักพระ ชาวบ้านจะอัญเชิญพระพุทธรูปมาประดิษฐานอยู่บนเรือ แล้วชักลากไปทั่วเมืองให้พุทธศาสนิกชนได้ทำบุญร่วมกันในวันออกพรรษา

 

หอพระพุทธสิหิงค์

เป็นวิหารที่ภายในประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์องค์ที่ 3 ซึ่งจากข้อมูลเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองนครศรีธรรมราช เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชรแบบขนมต้ม มีพระพักตร์กลม อมยิ้ม พระอุระอวบอ้วน หล่อด้วยสำริด ปิดทอง นับว่าพระพุทธสิหิงค์องค์นี้คู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่สมัยโบราณกาล สร้างเมื่อปีพุทธศักราช 700 โดยพระมหากษัตริย์ลังกา 3 พระองค์ อัญเชิญจากมาจากศรีลังกาโดยพระเจ้าศรีธรรมโศกราช ได้ส่งราชทูตไปยังกรุงลังกา และทำพิธีสมโภชเมือง นับว่าเป็นการประกาศและสถาปนาความเจริญรุ่งเรืองของศาสนาพุทธของจังหวัดนครศรีธรรมราช ปัจจุบันตั้งอยู่ในวิหารระหว่างศาลและศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยชาวนครศรีธรรมราชเรียกว่า พระขนมต้ม เนื่องจากลักษณะคล้ายกับคนเกร็งกล้ามเนื้อ เห็นกล้ามคล้ายกับขนมต้ม ซึ่งประชาชนจะนิยมเข้าไปสักการะในช่วงวันตรุษสงกรานต์ มีประเพณีการสรงน้ำบูชาพระพุทธสิหิงค์ และเป็นวันเดียวที่จะสามารถให้ประชาชนเข้าสักการะเพื่อความสิริมงคลแก่ชีวิต และตามความเชื่อของคนเมืองนครว่าถ้าหากผู้ใดฉ้อโกงหรือทุจริตคิดมิชอบไม่

ว่าเรื่องใดก็ตาม จะไม่กล้าสาบานต่อหน้าพระพุทธสิหิงค์ ด้วยความเชื่อนี้ทำให้เรื่องคดีความลดน้อยลง

เนื่องจากทุกครั้งที่มีการว่าความที่ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชจะมีการกล่าวอ้างถึงพระประจำคู่บ้านคู่เมืองและพระพุทธสิหิงค์องค์นี้ด้วยจึงทำให้ไม่มีใครกล้ากล่าวความเท็จต่อศาล

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

การเปลี่ยนแปลงของสังคมไปสู่ความทันสมัยส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพและการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม คนในชุมชนมีการสร้างบ้านแบบสมัยใหม่มากขึ้นส่งผลให้วิถีชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เนื่องจากอิทธิพลของระบบสื่อในมิติต่างๆ และวัฒนธรรมตะวันตกที่เข้ามาอย่างยาวนานประกอบกับอิทธิพลทางการศึกษาสมัยใหม่ที่สอนให้คนเชื่อในหลักการทางวิทยาศาสตร์ ทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสถาปัตยกรรม

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ธนากร อนุรักษ์ และชัยสิทธิ์ ด่านกิตติกุล. (2560). ภูมิทัศน์วัฒนธรรมย่านถนนราชดำเนิน อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช. Verdian E-Journal. 10(1), 2156-2172 

วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร. (2566). หน้าแรก. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://watphramahathat.watportal.com/content/item/20/

Google Map. (2566). พิกัดแผนที่ถนนราชดำเนิน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://www.google.com/maps

MGR Online. (2557). ปรับทัศนียภาพ “ราชดำเนิน” ถนน 5 วัฒนธรรมกลางเมืองนครฯ รับพระบรมธาตุสู่มรดกโลก. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://mgronline.com/south/detail/9570000028301

เทศบาลเมืองนครศรีธรรมราช โทร.0-7534-7405