Advance search

โต๊ะโมะ

เป็นชุมชนต้นแม่น้ำสายบุรี มีความหลากหลายทางธรรมชาติ และวัฒนธรรม รวมทั้งยังมีแร่ทองคำในพื้นที่อีกด้วย

ภูเขาทอง
สุคิริน
นราธิวาส
องค์การบริหารส่วนตำบลภูเขาทอง โทร.0-7370-9726
ธัญวรัตน์ ฐิตินพกุล
14 ก.พ. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
9 เม.ย. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
9 เม.ย. 2024
ภูเขาทอง
โต๊ะโมะ


ชุมชนชนบท

เป็นชุมชนต้นแม่น้ำสายบุรี มีความหลากหลายทางธรรมชาติ และวัฒนธรรม รวมทั้งยังมีแร่ทองคำในพื้นที่อีกด้วย

ภูเขาทอง
สุคิริน
นราธิวาส
96190
5.82592
101.72262
องค์การบริหารส่วนตำบลภูเขาทอง

ชุมชนตำบลภูเขาทอง ตำบลภูเขาทอง อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส เป็นที่ตั้งของเหมืองแร่ทองคำโต๊ะโมะดินแดนกลางหุบเขาและป่าลึกที่เติบโตด้วยทองคำ ในอดีตชาวฝรั่งเศสได้รับสัมปทานการทำเหมืองแร่ทองคำที่บริเวณภูเขาลีซอ ซึ่งในขณะนั้นตั้งอยู่ที่ตำบลโต๊ะโมะ ราษฎรจึงได้อพยพเข้ามาทำงานที่เหมืองแร่ทองคำเป็นจำนวนมาก ทางราชการจึงได้จัดตั้งกิ่งอำเภอปาโจ ขึ้นในปี พ.ศ.2474 สมัยหม่อมทวีวงศ์ ถวัลศักดิ์ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ขึ้นการปกครองกับอำเภอโต๊ะโมะ โดยแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 2 ตำบล คือ ตำบลโต๊ะโมะ และตำบลมาโมง

ภายหลังสงครามอินโดจีน เจ้าของเหมืองแร่ทองคำชาวฝรั่งเศส ได้หลบหนีภัยสงคราม ทิ้งงานเหมืองแร่ทองคำ รัฐบาลไทยโดยกองโลหะกิจกรมที่ดินและโลหะกิจกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ให้คุณพระอุดมธรณีศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำแทนประมาณ 1 ปีเศษ ได้เกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวง ปล้นสะดมทองคำและเกิดเหตุการณ์ไม่สงบทั่วไปในบริเวณเหมืองแร่ทองคำ แต่เจ้าหน้าที่ก็ได้ปราบปรามผู้ก่อการไม่สงบได้ทางราชการจึงได้ล้มเลิกกิจการการทำเหมืองแร่ทองคำ และมอบหมายให้นายสนาม เลิศวาโช เป็นผู้ดูแลทรัพย์สินเครื่องจักรกล ราษฎรจึงได้พยายามกลับภูมิลำเนาเดิม กิ่งอำเภอปาโจจึงถูกยุบเลิกไปประมาณปี พ.ศ. 2484

เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2506 คณะรัฐมนตรีได้มีมติโดยให้กรมประชาสงเคราะห์ จัดตั้งนิคมพัฒนาตนเองภาคใต้ จังหวัดนราธิวาส เพื่ออพยพราษฎรที่มีฐานะยากจน และไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองจากท้องที่ต่างๆ เข้ามาประกอบอาชีพ เขตนิคมคลุมพื้นที่ 2 อำเภอ คือ อำเภอสุคิรินและอำเภอจะแนะ และได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งนิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2517

ปัจจุบันชุมชนภูเขาทองได้เปิดเป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ได้แก่ เนินพิศวง วัดโต๊ะโมะ จุดชมทะเลหมอกผาสน วิถีชีวิตพื้นบ้าน และการร่อนทอง เป็นต้น

อำเภอสุคิรินตั้งอยู่ทางตอนล่างด้านใต้สุดของจังหวัดนราธิวาส มีสภาพเป็นป่าและภูเขาโอบล้อมรอบ มีเนื้อที่ประมาณ 577 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 323,125 ไร่ โดยเกือบทั้งหมดอยู่ในเขตนิคมสร้างตนเองสุคิริน อำเภอสุคิรินอยู่ห่างจากตัวจังหวัดนราธิวาส 120 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อดังนี้

ทิศเหนือ      ติดต่อกับ  อ.จะแนะ อ.ระแงะ และอ.สุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส

ทิศใต้         ติดต่อกับ  อ.เจอลี รัฐกลันตัน และอ.กริก รัฐเปรัค ประเทศมาเลเซีย

ทิศตะวันออก  ติดต่อกับ  อ.สุไหงปาดี และอ.แว้ง จังหวัดนราธิวาส

ทิศตะวันตก   ติดต่อกับ  อ.จะแนะ จังหวัดนราธิวาส และอ.กริก รัฐเปรัค ประเทศมาเลเซีย

ลักษณะภูมิประเทศ 

สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงชันและป่าทึบ มีที่ราบระหว่างภูเขาบ้างเล็กน้อย ลักษณะดินมีความอุดมสมบูรณ์ สภาพพื้นที่เป็นเทือกเขามีเทือกเขาที่สำคัญ ได้แก่

  • เทือกเขาตูแว เป็นเทือกเขาที่กั้นพรมแดนระหว่าง อำเภอสุคิริน กับ อำเภอจะแนะ และอำเภอสุไหงปาดี
  • เทือกเขาบาตูกาเตาะ เป็นเทือกเขาที่กั้นพรมแดนระหว่าง อำเภอสุคิริน กับ ประเทศมาเลเซีย
  • เทือกเขาบาลา เป็นเทือกเขาที่กั้นพรมแดนระหว่าง อำเภอสุคิริน กับ อำเภอแว้ง และประเทศมาเลเซีย

ประชากรส่วนใหญ่ของอำเภอสุคิริน นับถือศาสนาอิสลามประมาณ 60.38% รองลงมาเป็นศาสนาพุทธ 39.60% และศาสนาคริสต์ 0.02% มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 2,600 คน แยกเป็นประชากรชาย 1,342 คน และประชากรหญิง 1,258 คน มีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 905 ครัวเรือน

ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนหรือทำไร่ อาชีพเสริมที่นอกเหนือจากการทำเกษตร คือ ทอผ้าไหม ทำไร่นาสวนผสม ร่อนทอง และรับจ้างทั่วไป

ชาวบ้านในตำบลภูเขาทองเมื่อเสร็จจากอาชีพทำสวน จะไปร่อนทองเพื่อเป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ ชาวบ้าน ต.ภูเขาทอง อ.สุคิริน จ.นราธิวาส  ต่างแบกจอบ พลั่ว และอุปกรณ์บางอย่างที่คล้ายกระทะ เดินลงลำคลองร่อนหาสิ่งของบางอย่างในลำคลองน้ำที่ไหลผ่านหมู่บ้าน การประกอบอาชีพร่อนทองของชาวภูเขาทองสามารถพบเห็นได้เกือบทุกวัน แต่หากเป็นช่วงหน้าฝน ชาวบ้านหลายร้อยคนจะลงมาร่อนทองกันจำนวนมาก เพราะจากการบอกเล่าจากชาวบ้านพบว่าช่วงหน้าฝนทองคำเพิ่มจะมากขึ้น

  • นางแต๋ว ชัยโคตร (ป้าแต๋ว)

เรียนรู้และรับการถ่ายทอดวิชาการทอผ้ามาจากบรรพบุรุษ ตั้งแต่วัยเด็ก ทำให้ได้รับวิชาความรู้เกี่ยวกับการทอผ้า พอเริ่มโตเป็นสาวก็ได้ทอผ้าช่วยครอบครัว จนกระทั้งสมเด็จพระนางเจ้า สิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงก่อตั้งศูนย์ศิลปาชีพบ้านโต๊ะโมะ นางแต๋ว ชัยโคตร (ป้าแต๋ว) ได้นำผ้าทอถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง หลังจากนั้นตนได้ถูกคัดเลือกเข้าไปทอผ้าที่สวนจิตรลัดดา เป็นเวลา 5 ปี และหลังจากนั้นได้กลับมาเป็นครูสอน ทอผ้าที่ศูนย์ศิลปาชีพบ้านโต๊ะโมะ เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ไม่ได้เสด็จลงมาในพื้นที่จึง ทำให้การทอผ้าห่างหายไป และประกอบกับตำบลภูเขาทองเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว นางแต๋ว ชัยโคตร (ป้าแต๋ว) จึงได้ทอผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ จำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในตำบลภูเขาทองโดยใช้ชื่อ ว่าผ้าทอวราภรณ์ ปัจจุบันผ้าทอวราภรณ์ เป็นที่รู้จักของคนในชุมชน และกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเทียว ในชุมชน ผ้าทอวราภรณ์เป็นของฝากที่นิยมอีกอย่างหนึ่ง เนื่องจากเนื้อผ้านุ่ม สวยงาม คุ้มค่าต่อการใช้งาน และ เป็นสินค้ายอดนิยม เป็นที่รู้จักของผู้คนในตำบลภูเขาทอง

  • นายพันธ์ ตั้งอยู่ (พันธ์)

ปัจจุบัน อายุ 54 ปี ได้มีแนวคิดการทำสวนเกษตรผสมผสานโดยมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2531 จากการหาความรู้เรื่องการทำเกษตรจากแหล่งความรู้ต่างๆ จนกระทั่ง ปี พ.ศ. 2535 ได้เข้าร่วมการอบรมโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ และกลับมาจัดสรรพื้นที่ของตนเองเพื่อทดลองทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ตามที่ได้รับการอบรม พร้อมกับแสวงหาความรู้การทำเกษตรในทุกๆ แนวทาง ลองผิด ลองถูกในการปลูกพืชให้สามารถ เจริญเติบโต เหมาะกับสภาพอากาศในพื้นที่ และหาวิธีการปรับสภาพพื้นที่สวนเกษตรของตนเองให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จในขณะนั้น การได้ใช้เวลาในการทบทวนตัวเอง และทบทวนถึงวิธีการ อุปสรรค และปัญหาต่างๆที่ทำให้การทำแปลงเกษตรในครั้งนี้ไม่ประสบความสำเร็จที่ตั้งไว้ จึงทำให้พบว่าตนเองยังมีความรู้เกี่ยวกับการเกษตรไม่มากพอ และไม่ได้ใส่ใจในรายละเอียดของการทำการเกษตรเท่าที่ควร จึงทำให้ นายพันธ์ ตั้งอยู่ (พันธ์) ปรับเปลี่ยนความคิดของตนเองใหม่แต่ใช้ความตั้งใจทั้งหมดของตนเองในครั้งนี้ ทำสวนแห่งนี้ให้ประสบความสำเร็จ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในปี พ.ศ. 2559 สิ่งที่ได้พยายามทำมาทั้งหมดเริ่มเห็นผลและเริ่มประสบความสำเร็จ แต่นายพันธ์ ตั้งอยู่ (พันธ์) ยังคงพัฒนาผลงานทางการเกษตรของตนเอง เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ จนเริ่มเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย จึงทำให้มีผู้ที่สนใจเรียนรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรแบบผสมผสานเข้ามาศึกษาดูงานในพื้นที่สวนเกษตรของตนเอง

ทุนธรรมวัฒนธรรม

  • กล้วยฉาบเมืองในหมอก

เป็นผลผลิตของกลุ่มแม่บ้านภูเขาทอง โดยมีนางอำนวย ทะขุ่ย (นวย) เป็นประธานชมรมได้คิดค้นและนำกล้วยในพื้นที่ เช่น กล้วยขนุน กล้วยหิน กล้วยหอมหักมุก นำมาแปรรูปเป็นกล้วยฉาบ ที่มีรสชาติไม่เหมือนกับกล้วยฉาบที่อื่นๆ เพราะที่นี้ใช้กล้วยที่มีในเฉพาะพื้นที่และกล้วยเหล่านี้มีรสชาติเฉพาะตัว      จึงทำให้มีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของกล้วยฉาบเมืองในหมอก ได้ผลิตกล้วยฉาบมาประมาณ 5 ปี

โดยเริ่มแรกมีกล้วยฉาบ 2 รสชาติ คือ รสหวาน และรสเค็ม แต่ปัจจุบันได้พัฒนาฝีมือและคุณภาพ เพื่อต้องการจะตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด จึงได้เพิ่มผลิตภัณฑ์ขึ้นมา คือ กล้วยเส้นรสต้มยำ และรสปาปริก้า ผลิตสินค้าจำหน่ายในราคาตั้งแต่ถุงละ 10-50 บาท ลูกค้าสามารถเลือกซื้อได้ตามความพึงพอใจ ปัจจุบันกล้วยฉาบเมืองในหมอก ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้ให้กับกลุ่มแม่บ้านภูเขาทองได้เป็นอย่างดี มีการตอบรับที่ดีจากลูกค้า เนื่องจากมีรสชาติเฉพาะตัว อร่อย และมีหลากหลายรสชาติและสามารถหาซื้อได้ง่าย เพราะมีวางขายตามร้านของชำทั่วไป

  • กระทะร่อนทอง

หรือที่ชาวบ้านในชุมชนตำบลภูเขาทองเรียกว่า "เลียง" ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ชาวบ้านใน ตำบลภูเขาทองใช้ในการร่อนทอง เลียงถูกประดิษฐ์ ดัดแปลงขึ้นในราวปี พ.ศ. 2526 โดยประยุกต์มาจากเลียงร่อนแร่ และปรับเปลี่ยนให้ตรงกลางของเลียงเป็นหลุมลึกเพื่อให้ทองตกลงไป เพื่อให้ง่ายสำหรับการร่อนทอง 

นายนก จงเยือกกลาง (ลุงนก) ผู้ผลิตเลียงร่อนทองในปัจจุบัน ได้ยึดอาชีพการทำเลียงขายให้กับชาวบ้าน ในชุมชนมานานหลายปี ตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ได้ทำเลียงร่อนทองเป็นอาชีพเสริมอย่างจริงจัง เลียงร่อนทองนิยมทำมาจากไม้หลุม เพราะเนื้อไม้ที่มีลักษณะไม่อ่อนหรือแข็งจนเกินไป ทำให้จับง่าย สบายมือ การทำเลียงจะต้องใช้ความรู้ เทคนิคต่างๆ และต้องใช้ความแข็งแรงพร้อมกับความประณีต นอกจากเลียงร่อนทองที่ใช้ในการร่อนทองจริงๆ แล้ว ยังมีเลียงร่อนทองที่เป็นของฝากสำหรับนักท่องเที่ยว เช่น เลียงตั้งโต๊ะ พวงกุญแจเลียงร่อนทอง เป็นต้น

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ชุมชนโต๊ะโมะ อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่สร้างขึ้นตามนโยบายของ รัฐบาลเพื่อการจัดสร้างนิคมพัฒนาตนเองภาคใต้ แต่ความเป็นชุมชนที่แท้จริงและสามารถดำรงชุมชนอยู่ได้เป็นผลมาจากสมาชิกในชุมชนเป็นประการสำคัญ จะเห็นได้ว่าในยุคแรกแม้รัฐบาลจะมีการจัดสรรพื้นที่ดินทำกิน จัดสรรพื้นที่สำหรับอยู่อาศัย มีเงินเดือนให้ มีโครงการอบรมการประกอบอาชีพมากมาย และมีสายแร่ทองคำในชุมชน แต่ไม่ใช่ว่าผู้อพยพทุกคนจะสามารถใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ได้ เพราะปรากฏให้เห็นว่ามีผู้อพยพบางส่วนขอย้ายกลับไปอยู่ภูมิลำเนาเดิมด้วยเช่นเดียวกัน แสดงให้เห็นว่า การมีสวัสดิการเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตของมนุษย์ ดังนั้นปัจจัยที่หนุนเสริมการดำรงอยู่วัฒนธรรมภาคตะวันออกเฉียง เหนือหรือวัฒนธรรมอีสานในชุมชนโต๊ะโมะ ตำบลภูเขาทอง อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส มีปัจจัยสำคัญ ได้แก่ ไม่มีการทับซ้อนกันในการใช้พื้นที่ระหว่างชาวมลายูพื้นถิ่นกับผู้ที่ย้ายเข้าไปอยู่ใหม่  ไม่ว่าจะเป็นการ ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ทั้งเรื่องการตั้งถิ่นฐาน และการประกอบอาชีพ อีกทั้งทุกอย่างดำเนินไปด้วยความ สมัครใจ ทุกฝ่ายต่างยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย และต่างฝ่ายต่างเคารพวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ รวมถึงการยอมรับวัฒนธรรมใหม่ที่เกิดขึ้นในสภาวะที่ไม่ขัดแย้งกับวัฒนธรรมเดิมจนสามารถยึดโยงคนในชุมชนที่มีวัฒนธรรมต่างกันเข้าด้วยกันได้อย่างสมดุล 

ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยังคงมีการดำเนินชีวิตที่เป็นปกติสุข ซึ่งการอยู่ร่วมกันนั้นเป็นไปตามกฎธรรมชาติของการปรับตัวเข้าหากันของชุมชนภายใต้หลักสังคมพหุวัฒนธรรมที่ชุมชนต่างสร้างทักษะ ในการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกันเกิดการยอมรับภายใต้หลักการ "สิ่งที่แตกต่างต้องแตกต่าง สิ่งที่เหมือนกันย่อมเหมือนกัน ชุมชนต่างให้การยอมรับและเคารพในสิ่งที่แตกต่างกัน และให้เกียรติซึ่งกันและกัน" นำสิ่งที่เหมือนกันและร่วมกันได้สร้างเป็นกิจกรรมร่วมกันของชุมชนจนกลายเป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวในภาคใต้ คือ งานบุญบั้งไฟ ซึ่งไม่ขัดแย้งกับอัตลักษณ์ความเป็นมลายูมุสลิม จึงทำให้วัฒนธรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของคนในชุมชนโต๊ะโมะ ก็ยังคงดำรงอยู่ได้จนทุกวันนี้

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กองจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม. (2564). โบราณสถานเขาโต๊ะโมะ(วัดเมืองเก่าแสนตุ่ม). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://culturalenvi.onep.go.th/site/detail/5836

วริศรา เตบสัน และคณะ. (2563). การมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการจัดการแหล่งท่องเที่ยว ตำบลภูเขาทอง อำเภอสุคิรีน จังหวัดนราธิวาส. งานประชุมวิชาการการพัฒนาชุมชน ท้องถิ่นและสังคมระดับชาติ ครั้งที่ 19 (CSD สัมพันธ์) เรื่อง “นวัตกรรมการพัฒนาสู่ความยั่งยืน. หน้า 211-221.

สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ. (ม.ป.ป.). ประวัติความเป็นมา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: http://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTER33/DRAWER003/GENERAL/DATA0000/00000004.HTM

องค์กรบริหารส่วนตำบลภูเขาทอง. (ม.ป.ป.). ประเพณีวัฒนธรรม วิถีชาวบ้าน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: http://www.phukaothong.go.th/index.php?op=dynamiccontent&id=25614

CBT Thailand. (ม.ป.ป.). ชุมชนภูเขาทอง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://cbtthailand.dasta.or.th/webapp/community/content/80/

Takemetour. (ม.ป.ป.). ชุมชนท่องเที่ยวภูเขาทอง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://www.takemetour.com/local-community/community/

องค์การบริหารส่วนตำบลภูเขาทอง โทร.0-7370-9726