Advance search

ชุมชนที่ยังคงอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชุมชน เช่น ประเพณีสรงน้ำพระธาตุวัดสบตาล การบวงสรวงเจ้าพ่อนาเวียง ประเพณีปีใหม่เมือง ประเพณีแห่ไม้ค้ำศรีมหาโพธิ์ ประเพณีตานก๋วยสลาก

ท่าผา
เกาะคา
ลำปาง
เทศบาลตำบลท่าผา โทร. 0-5311-4660
จิราภรณ์ ประเสริฐปาน
12 ก.พ. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
13 เม.ย. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
13 เม.ย. 2024
บ้านนาเวียง

ตามตำนานเล่าว่า เป็นหมู่บ้านตั้งอยู่หน้าเวียง ความหมาย “เวียง” คือ เมืองแต่โบราณ บ้านลำปางหลวงเป็นที่ตั้งของ เขลางค์นคร หรือเมืองหลวง ต่อมาได้ย้ายที่ตั้งของจังหวัดมาอยู่อำเภอเมือง "บ้านหน้าเวียง" เสียงพูดได้เปลี่ยนแปลงไปเป็น "บ้านนาเวียง" ในปัจจุบัน


ชุมชนที่ยังคงอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชุมชน เช่น ประเพณีสรงน้ำพระธาตุวัดสบตาล การบวงสรวงเจ้าพ่อนาเวียง ประเพณีปีใหม่เมือง ประเพณีแห่ไม้ค้ำศรีมหาโพธิ์ ประเพณีตานก๋วยสลาก

ท่าผา
เกาะคา
ลำปาง
52130
18.20283613176625
99.39531852336027
เทศบาลตำบลท่าผา

การตั้งถิ่นฐานของบ้านนาเวียง เริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2295 โดยท่านขุนหมื่นและท่านขุนศรี ทหารเอกของเจ้าทิพย์ช้าง เจ้าเมืองนครลำปาง ซึ่งสู้รบกับทหารพม่าที่วัดพระธาตุลำปางหลวง เมื่อเสร็จสงครามจึงได้มีการตั้งรกรากที่บ้านนาเวียง ซึ่งอยู่ตอนหน้าเมืองหลวงของนครลำปาง ปัจจุบันตั้งอยู่ในอำเภอเกาะคา จึงได้ชื่อว่า บ้านหน้าเวียง ต่อมาได้มีการเรียกขานผิดเพี้ยนไปมาเป็น บ้านนาเวียง ในปัจจุบัน

บ้านนาเวียงตั้งอยู่ในบริเวณ หมู่ที่ 5 ตำบลท่าผา อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 1,400 ไร่ อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอเกาะคาประมาณ 2 กิโลเมตร หรือห่างจากตัวจังหวัดลำปางประมาณ 15 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 587 กิโลเมตร ตำแหน่งที่ตั้งของหมู่บ้านอยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 268.80 เมตร มีอาณาพื้นที่ติดต่อดังนี้ 

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านท่าช้าง หมู่ที่ 6 ตำบลท่าผา
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านท่าผา หมู่ที่ 4 ตำบลท่าผา
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านผึ้ง หมู่ที่ 13 ตำบลศาลา
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านน้ำล้อม หมู่ที่ 2 ตำบลเกาะคา

ลักษณะภูมิประเทศ

ที่ตั้งของบ้านนาเวียงอยู่ในบริเวณตอนกลางของจังหวัดลำปาง ซึ่งมีลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบและที่ราบลุ่มแม่น้ำ โดยมีแม่น้ำวังไหลผ่าน พื้นที่ส่วนนี้เหมาะสำหรับทำการเกษตรเพราะอยู่ใกล้แหล่งน้ำและดินอุดมสมบูรณ์ บ้านนาเวียงมีพื้นที่ของหมู่บ้านรวมทั้งหมดประมาณ 1,400 ไร่

บ้านนาเวียง มีประชากรอาศัยอยู่ทั้งสิ้นจำนวน 625 คน แยกเป็นเพศชาย จำนวน 304 คน เพศหญิง จำนวน 321 คน มีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 177 ครัวเรือน โดยทั่วไปลักษณะของครอบครัวในชุมชน ส่วนใหญ่มีลักษณะครอบครัวเดี่ยวที่ประกอบด้วย พ่อ แม่และลูก ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากที่ชุมชนได้เปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นชุมชนกึ่งเมือง เมื่อสมาชิกในครอบครัวมีการแต่งงาน มักจะแยกครอบครัวออกจากครอบครัวเดิมไปตั้งครอบครัวใหม่ อย่างไรก็ตามยังนิยมสร้างบ้านเรือนอยู่ในบริเวณที่ใกล้เคียงกันกับบ้านของพ่อแม่หรือญาติพี่น้อง อันส่งผลให้ยังคงสามารถรักษาความสัมพันธ์ในชุมชนที่มีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือซึ่งกันและกันทั้งในหมู่เครือญาติและเพื่อนบ้านในชุมชนเป็นอย่างดี

กลุ่มกิจกรรมที่มีอยู่ก่อนการดำเนินงานพัฒนาตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีจำนวน 3 กลุ่มด้วยกันดังนี้

  • กลุ่มดอกไม้ประดิษฐ์ ได้มีจัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2544 ซึ่งเป็นกลุ่มที่สมาชิกในชุมชนรวมกลุ่มจัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมให้สมาชิกในชุมชนมีงานทำเพิ่มขึ้นในชุมชน และมีรายได้เสริมหลักจากฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร โดยมีศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเกาะคาเข้ามาให้การสนับสนุน ปัจจุบันกลุ่มดอกไม้ประดิษฐ์ยังคงมีการดำเนินกิจกรรมอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยมีเงินทุนหมุนเวียนประมาณ 20,000 บาท มีสมาชิกจำนวน 10 คน
  • กลุ่มทำนาข้าวชุมชน เป็นการรวมกลุ่มที่เกิดขึ้นตามนโยบายรัฐ ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรที่ทำนามีการรวมกลุ่มกันเพื่อแก้ไขปัญหาต้นทุนในการผลิตสูง รวมทั้งสร้างอำนาจต่อรองกับนายทุนในการซื้อเมล็ดพันธ์ ปุ๋ย และอุปกรณ์ทางการเกษตรให้ได้ในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาดทั่วไป และในการขายผลผลิตทางการเกษตรให้กับพ่อค้าคนกลางภายนอกชุมชน ซึ่งกลุ่มทำนาข้าว ชุมชนมีการดำเนินงานอยู่อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีสมาชิกเป็นเกษตรทำนาในชุมชน
  • กลุ่มไร่นาสวนผสม จัดตั้งขึ้นตามนโยบายรัฐ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกในชุมชนมีการปลูกพืชแบบผสมผสานและมีรายได้เพิ่ม โดยเน้นการปลูกพืชหมุนเวียนปัจจุบันกลุ่มมีเงินทุนหมุนเวียนประมาณ 30,000 บาท มีสมาชิกจำนวน 14 คน

สำหรับกลุ่มกิจกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินงานพัฒนาชุมชนตามแนวทางการพัฒนาชุมชนสู่วิถีเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มที่เกิดจากการที่สมาชิกในชุมชนได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาของการดำเนินชีวิตแบบเดิม ๆ โดยมีการวิเคราะห์ปัญหาและแสวงหาแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมีดังนี้

  • กลุ่มผักปลอดสารพิษ เกิดขึ้นจากการที่สมาชิกชุมชนที่มีการปลูกผักสวนครัวได้เล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมสุขภาพที่เกิดจากการบริโภคผักที่ปลอดภัยจากสารพิษ จึงได้มีการรวมตัวจัดตั้งกลุ่มขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ. 2550 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนมีการปลูกและบริโภคผักปลอดสารพิษ รวมทั้งแก้ไขปัญหาอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นกับสมาชิกกลุ่ม ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 20 คน
  • กลุ่มปุ๋ยอินทรีย์ เกิดขึ้นเนื่องจากในอดีตเกษตรกรในชุมชนประสบกับปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูง โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยเคมีซึ่งสูงมาก ประกอบกับได้ตระหนักว่าการใช้ปุ๋ยเคมีทำให้ดินเสื่อมคุณภาพและดินแข็งกระด้าง ทำให้ได้ผลผลิตทางการเกษตรน้อยลงไปเรื่อยในระยะยาว กลุ่มเกษตรกรที่ประสบปัญหา ได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าวนี้ประจวบกับสำนักงานการเกษตรอำเภอเกาะคากำลังสนใจแนวทางการเกษตรที่ปลอดภัยจากสารพิษ จึงได้เข้ามาให้ความรู้และจัดอบรมการทำปุ๋ยอินทรีย์ให้กับกลุ่มเกษตรกร ส่งผลให้ชุมชนได้มีการจัดตั้งกลุ่มปุ๋ยอินทรีย์ขึ้นมาในปี พ.ศ. 2551 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนการใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อลดต้นทุนการผลิต สร้างงานให้กับสมาชิกในชุมชนและป้องกันการเผาขยะอินทรีย์ โดยมีเงินทุนหมุนเวียนประมาณ 30,000 บาท ในปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 27 คน
  • กลุ่มข้าวกล้องเพื่อสุขภาพ จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2552 โดยการสนับสนุนของศูนย์พัฒนาสังคมหน่วยที่ 51 จังหวัดลำปาง ซึ่งได้จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพกลุ่มเป้าหมายเพื่อป้องกันการถูกล่อลวงจากการค้ามนุษย์ในหมู่บ้าน ซึ่งบ้านนาเวียงเป็นหมู่บ้านเป้าหมายในการพัฒนาหมู่บ้านหนึ่ง ดังนั้นศูนย์พัฒนาสังคมหน่วยที่ 51 จึงได้เข้ามาฝึกอบรมอาชีพการทำข้าวกล้องให้กับกลุ่มสตรีของบ้านนาเวียงเป็นเวลา 1 เดือน โดยสมาชิกกลุ่มได้รับเบี้ยเลี้ยงช่วงที่ได้รับการอบรม วันละ 90 บาท พร้อมทั้งมีการจัดตั้งกลุ่มข้าวกล้องเพื่อสุขภาพขึ้น และได้นำเงินจำนวนนี้ไปซื้อโรงสีข้าวกล้องเพื่อไว้ดำเนินงานกลุ่ม ปัจจุบันมีเงินทุนหมุนเวียนในกลุ่มประมาณ 10,000 บาท มีสมาชิกจำนวน 36 คน
  • กลุ่มน้ำดื่มนาเวียง จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2551 มาจากการที่สมาชิกในชุมชนเล็งเห็นความสำคัญในการลดคำใช้จ่ายในการซื้อน้ำเพื่อการบริโภค เนื่องจากผลการสำรวจจากการจัดทำบัญชีครัวเรือนในชุมชน พบว่า ชุมชนมีคำใช้จ่ายในการซื้อน้ำเพื่อบริโภคในสัดส่วนที่สูงจึงได้มีการประชุมหมู่บ้านและลงมติการตั้งกลุ่มน้ำดื่มขึ้น เพื่อผลิตน้ำดื่มที่มีราคาถูกและได้มาตรฐานให้กับสมาชิกทั้งในและนอกชุมชน โดยได้รับเงินสนับสนุนจากโครงการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชน (SML) ในการจัดตั้งโรงน้ำดื่มขึ้น กลุ่มน้ำดื่มนาเวียงมีโครงสร้างการบริหารงานประกอบด้วย ฝ่ายบริหารงาน ที่ปรึกษากลุ่ม คณะทำงาน และสมาชิกกลุ่ม และทางกลุ่มได้ให้สมาชิกร่วมถือหุ้น ๆ ละ 50 บาท คนละไม่เกิน 50 หุ้น หรือประมาณ 2,500 บาท เพื่อให้สมาชิกได้ร่วมเป็นเจ้าของและได้รับเงินปันผล นอกจากนี้ยังมีการทำประกันชีวิตให้กับสมาชิกกลุ่มที่เป็นคณะทำงาน ปัจจุบันมีเงินทุนหมุนเวียนประมาณ 40,000 บาท มีสมาชิกจำนวน 170 คน
  • กลุ่มน้ำยาอเนกประสงค์ จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2551 โดยการสนับสนุนของธนาคารการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร อำเภอเกาะคา ซึ่งได้เข้ามาให้ความรู้ในการทำน้ำยาอเนกประสงค์กับกลุ่มแม่บ้านในชุมชน มีการจัดตั้งกลุ่มน้ำยาอเนกประสงค์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตน้ำยาอเนกประสงค์ที่มีราคาถูกให้กับครัวเรือนในชุมชนและกลุ่มน้ำดื่มนาเวียงเพื่อใช้ในการทำความสะอาดภาชนะบรรจุน้ำดื่มที่เวียนกลับมาใช้ใหม่ ปัจจุบันกลุ่มน้ำยาอเนกประสงค์ได้เข้าเป็นรัฐวิสาหกิจชุมชน มีเงินทุนหมุนเวียนประมาณ 40,000 บาท มีสมาชิกจำนวน 65 คน
  • กลุ่มธนาคารขยะ ได้จัดตั้งขึ้นเนื่องจากพบว่าขยะเป็นปัญหาที่ชุมชนบ้านนาเวียงประสบอย่างสำคัญในปัจจุบัน โดยในแต่ละวันมีขยะที่ครัวเรือนทิ้งเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาสภาพที่จัดเก็บไม่เพียงพอ และเวลารถมาจัดเก็บต้องใช้เวลานานกว่าจะเก็บหมด กลุ่มเยาวชนในชุมชนจึงรวมตัวกันจัดตั้งธนาคารขยะ เพื่อคัดแยกขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ ขณะเดียวกันยังจัดงานทอดผ้าป่าขยะขอรับบริจาคในหมู่บ้านมาเป็นทุนเพื่อรับซื้อขยะจากชุมชนอีกครั้งหนึ่ง จึงทำให้ในปัจจุบันปัญหาการทิ้งขยะหมดไป โดยกลุ่มเยาวชนได้รณรงค์และแนะนำให้ชุมชนคัดแยกขยะในครัวเรือน แล้วให้นำขยะมาขายให้กับกลุ่ม ขยะที่ไม่มีประโยชน์เท่านั้นที่ให้ทิ้งไป วิธีการนี้จึงช่วยลดปริมาณขยะได้เป็นอย่างมาก และช่วยลดระยะเวลาของรถบริการจัดเก็บขยะด้วย ปัจจุบันมีเงินทุนหมุนเวียนในกลุ่มประมาณ 25,850 บาท มีสมาชิกจำนวน 27 คน ซึ่งทั้งหมดเป็นเยาวชน
  • กลุ่มหมูหลุม จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2551 โดยการสนับสนุนของศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเกาะคา ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนมีการดำเนินชีวิตบนพื้นฐานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การที่ชุมชนได้ส่งเสริมให้กลุ่มสมาชิกชุมชนที่สนใจเลี้ยงหมูจัดตั้งกลุ่มขึ้นนี้ เนื่องจากเล็งเห็นความสำคัญของการลดคำใช้จ่ายในการซื้อเนื้อสุกรเพื่อประกอบอาหารของครัวเรือนเพราะจากการสำรวจ พบว่า คนในชุมชนมีค่าใช้จ่ายในการซื้อเนื้อสุกรในสัดส่วนสูงในแต่ละเดือนอีกทั้งเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของคำใช้จ่ายในชุมชน โดยมีการชำแหละและจำหน่ายผลผลิตจากสุกรในชุมชน ทั้งที่เป็นเนื้อสุกร และผลผลิตแปรรูป ได้แก่ แคบหมู หมูแผ่น และหมูแดดเดียว ทั้งนี้เพื่อเพิ่มทางเลือกให้สมาชิกชุมชนมีการบริโภคเนื้อสุกรราคาถูกและปลอดภัย อีกทั้งยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า
  • กลุ่มแปรรูปจากถั่วเหลือง กลุ่มแปรรูปจากเนื้อสุกร และกลุ่มขนมไทย กลุ่มกิจกรรมทั้ง 3 กลุ่มนี้ จัดตั้งขึ้นพร้อม ๆ กันในปี พ.ศ. 2553 โดยการสนับสนุนของศูนย์พัฒนาสังคมหน่วยที่ 51 จังหวัดลำปาง ซึ่งได้จัดทำโครงการฝึกอาชีพ เพื่อส่งเสริมอาชีพให้กับกลุ่มสตรีแม่บ้านชุมชนบ้านนาเวียง และจึงได้จัดตั้งกลุ่มขึ้นรองรับ โดยมีการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองเป็นนมถั่วเหลืองและน้ำเต้าหู้ แปรรูปเนื้อสุกรเป็นแคบหมู หมูแผ่น และหมูแดดเดียว ส่วนขนมไทยนั้นมีการทำขนมตะโก้ และกะหรี่ปั้บ ปัจจุบันกลุ่มกิจกรรมทั้ง 3 กลุ่มนี้มีสมาชิกกลุ่มละ 30 คน และมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ชุมชนยังมีการรวมกลุ่มทางการเงินหลายกลุ่ม ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการดำเนินภารกิจสำคัญในเรื่องการส่งเสริมการออม การให้เงินกู้แก่สมาชิก มีทั้งที่เกิดขึ้นตามนโยบายรัฐและเกิดขึ้นตามความต้องการของชุมชน ได้แก่ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ กองทุนหมู่บ้าน กองทุนแม่ของแผ่นดิน กลุ่มออมบุญวันละบาท ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความพยายามของชุมชนที่ส่งเสริมให้สมาชิกชุมชนเกิดการออมเงินและมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันภายในชุมชน 

สำหรับความสัมพันธ์ภายในกลุ่มมีลักษณะเป็นความสัมพันธ์ในแนวราบ ไม่เป็นทางการโดยทุก ๆ กลุ่มมีการทำงานร่วมกันและมีการประสานงานเป็นเครือข่ายระหว่างกลุ่มกิจกรรม เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ส่วนหนึ่งเห็นได้จากการจัดกิจกรรมร่วมกันระหว่างกลุ่มในวันสำคัญต่าง ๆ ซึ่งในปัจจุบันมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และได้มีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของกลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัฒนธรรม

  • ประเพณีสรงน้ำพระธาตุวัดสบตาล มีการสืบทอดมายาวนาน จัดในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนหก หรือเดือนแปดเหนือ ที่ชาวบ้านมักเรียกว่า แปดเป็ง การสรงน้ำพระธาตุเป็นการสักการะพระบรมธาตุซึ่งเป็นปูชนียสถานที่สำคัญของชุมชน และสักการะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประเพณีนี้ได้แสดงถึงความยึดมั่นในพระพุทธศาสนาและพระคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 
  • การบวงสรวงเจ้าพ่อนาเวียง ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สมาชิกในชุมชนนับถือ จัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เป็นการสักการบูชาเจ้าพ่อนาเวียง เพื่อความเป็นสิริมงคลและขอพรจากเจ้าพ่อนาเวียง 
  • ประเพณีปีใหม่เมือง ตรงกับประเพณีวันสงกรานต์ไทย ซึ่งชุมชนมีการจัดประเพณีรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุควบคู่กับประเพณีแห่ไม้ค้ำศรีมหาโพธิ์ โดยมักจะจัดในวันพญาวัน ซึ่งตรงกันวันที่ 15 เมษายนของทุกปี ประเพณีรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ เป็นการแสดงความคารวะและขอขมาผู้สูงอายุ นอกจากนี้ญาติพี่น้องที่อยู่ห่างไกลมีโอกาสได้พบปะพูดคุยกัน 
  • ประเพณีแห่ไม้ค้ำศรีมหาโพธิ์ มีวัตถุประสงค์จัดขึ้นเพื่อค้ำไม้สะหลี (ต้นโพธิ์) ไม่ให้หักโค่น และเป็นการทำบุญให้กับผู้ที่ล่วงลับ อีกทั้งเป็นการสืบชะตาวัด ชุมชนและสมาชิกชุมชน ให้เป็นสิริมงคลอยู่ร่มเย็นเป็นสุข
  • ประเพณีตานก๋วยสลาก เป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับ โดยหมู่ญาติพี่น้องจะตานก๋วยสลากไปให้ ซึ่งประเพณีนี้เริ่มในวันเพ็ญเดือนสิบสอง (เหนือ) ประมาณเดือนกันยายนไปสิ้นสุดในเดือนเกี้ยงดับ (เหนือ) ประมาณตุลาคม เป็นประเพณีที่มีคติธรรม สั่งสอนสมาชิกในชุมชนให้รู้จักบาปบุญคุณโทษ สร้างความดีในชาตินี้เพื่อผลบุญในชาติหน้า และสอนให้ลูกหลานมีความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย หรือผู้ล่วงลับไปแล้ว

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ในช่วงก่อนการพัฒนาสมาชิกในชุมชนมีอาชีพที่หลากหลาย ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการที่ประเทศไทยมีการพัฒนาประเทศตามแนวทางกระแสหลักที่เน้นการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจตามระบอบทุนนิยม อันส่งผลให้เกิดการรุกเข้ามาของโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาล โรงงานอุตสาหกรรมเซรามิค และโรงงานอุตสาหกรรมเย็บผ้ารวมถึงการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม ที่ชักนำให้สมาชิกในชุมชนมีโอกาสออกไปทำงานนอกชุมชนมากขึ้น แม้จะทำให้คนในชุมชนส่วนหนึ่งมีรายได้เพิ่มมากขึ้น แต่มีการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยตามมาเช่นกัน

อย่างไรก็ตามยังมีสมาชิกในชุมชนที่ยังคงประกอบอาชีพเกษตรกรรมในชุมชนสืบต่อมาจากบรรพบุรุษ ซึ่งคนกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบจากการขยายตัวและการเปลี่ยนแปลงในการผลิตที่มุ่งเพื่อขาย ทำให้วิธีการทำการเกษตรของชุมชนเปลี่ยนแปลงไป โดยมีการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชเป็นส่วนใหญ่ ทำให้มีต้นทุนสูงและสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ


ในด้านความสัมพันธ์ในชุมชนเดิมเป็นความสัมพันธ์แบบระบบเครือญาติ มีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แก้ไขปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะในหมู่เครือญาติเดียวกันเป็นส่วนใหญ่ ต่อมาชุมชนประสบกับปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในวิถีการดำเนินชีวิตในลักษณะกึ่งเมืองที่มีความอิสระมากขึ้น  และรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา อันส่งผลให้มีปัญหาใหม่ ๆ เกิดขึ้นในชุมชน 

การรุมเร้าของปัญหาหลายด้าน ในอีกด้านหนึ่งได้มีส่วนกระตุ้นให้คนในชุมชนได้ทบทวนและไตร่ตรองแนวทางปรับตัว จนเกิดกระบวนการพัฒนาใหม่โดยการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางของการพัฒนาชุมชนในเวลาต่อมา ส่งผลให้สมาชิกในชุมชนมีการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงที่แตกต่างจากอดีต

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

จิราณีย์ พันมูล และอาแว มะแส. (2555). กระบวนการพัฒนาชุมชนวิถีเศรษฐกิจพอเพียง : กรณีศึกษาบ้านนาเวียง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง. วารสารวิจัยกาสะลอง. 6(1), หน้า 140-152.

เทศบาลตำบลท่าผา. (2561). ประวัติความเป็นมา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://www.thapalampang.go.th/

เทศบาลตำบลท่าผา โทร. 0-5311-4660