
ศูนย์เรียนรู้ท่องเที่ยวชุมชนบ้านนาตีน การสอนศาสนาอิสลามแบบดั้งเดิมที่ปอเนาะครุเดีย ผลิตภัณฑ์กะลามะพร้าวฝีมือ ผ้าบาติก กระดาษใยสับปะรด หาดอ่าวนาง ทะเลแหวก สวนไพรวิถี เกาะปอดะ สัมผัสวิถีชีวิตของชาวประมงพื้นบ้าน
"นาตีน" เป็นชื่อหมู่บ้านในตำบลอ่าวนาง บริเวณนี้เดิมเป็นทุ่งนา ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนามาตั้งแต่สมัยอดีตแต่ด้วยที่แปลงนาจะอยู่ "ปละตีน" หมายถึงทิศเหนือของบ้านใหญ่ จึงนำมาเรียกชื่อเป็นหมู่บ้านว่า "บ้านนาตีน"
ศูนย์เรียนรู้ท่องเที่ยวชุมชนบ้านนาตีน การสอนศาสนาอิสลามแบบดั้งเดิมที่ปอเนาะครุเดีย ผลิตภัณฑ์กะลามะพร้าวฝีมือ ผ้าบาติก กระดาษใยสับปะรด หาดอ่าวนาง ทะเลแหวก สวนไพรวิถี เกาะปอดะ สัมผัสวิถีชีวิตของชาวประมงพื้นบ้าน
ในจังหวัดกระบี่ มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนานย้อนไปตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่คาดว่าเป็นแหล่งชุมชนเก่าแก่ดังที่ค้นพบแหล่งโบราณคดีมากมาย และมีวิวัฒนาการเรื่อยมาจนถึงยุคที่เหมืองแร่เฟื่องฟู ที่มีคนจากต่างถิ่นอพยพเข้ามาอยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งเปลี่ยนมาเป็นเมืองท่องเที่ยวดั่งเช่นปัจจุบัน ก่อเกิดเป็นความหลากหลายของวัฒนธรรมชุมชนที่ผสมผสานกันอย่างกลมกลืน
บ้านนาตีนนับเป็นหนึ่งชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมมุสลิมเล็กๆ ซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มีเอกลักษณ์ของชุมชนที่โดดเด่นในเรื่องของการเรียนการสอนศาสนาอิสลามแบบดั้งเดิมที่เก่าแก่ที่สุดในพื้นที่ที่ร่ำเรียนกันมาหลายชั่วคนที่ปอเนาะครุเดีย ที่สะท้อนภาพวิถีชีวิตที่เรียบง่ายตามแบบอย่างวิถีวัฒนธรรมอิสลามที่พบและสัมผัสได้เมื่อมาเยือน "นาตีน" ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 4 ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ "นาตีน" เป็นชื่อหมู่บ้านในตำบลอ่าวนาง บริเวณนี้เดิมเป็นทุ่งนา ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนามาตั้งแต่สมัยอดีต แต่ด้วยที่แปลงนาจะอยู่ "ปละตีน" หมายถึงทิศเหนือของบ้านใหญ่ จึงนำมาเรียกชื่อเป็นหมู่บ้านว่า "บ้านนาตีน"
ชาวบ้านในหมู่บ้านมีชีวิตที่เรียบง่าย ด้วยวิถีชีวิตที่อยู่ใกล้กับทะเล และมีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ ปัจจุบันชาวบ้านส่วนใหญ่จึงประกอบอาชีพทำการประมงชายฝั่ง ทำสวนยาง สวนมะพร้าว และสวนผลไม้ เป็นต้น จุดเริ่มต้นของการรวมกลุ่มของชาวบ้านที่ทำให้เกิดเป็นชุมชนท่องเที่ยวนั้น เนื่องด้วยชาวบ้านมีภูมิปัญญาด้านงานฝีมือเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดการรวบรวมสมาชิกในหมู่บ้านที่สนใจหารายได้เพิ่มด้วยการผลิตของที่ระลึกต่างๆ เช่น ผลิตภัณฑ์กะลามะพร้าวฝีมือเยี่ยม ปัจจุบันมีการทำหัตกรรมอื่นๆ หลากหลายยิ่งขึ้น ได้แก่ การทำผ้าบาติก ผลิตกระดาษใยสับปะรด เพื่อแปรรูปทำของที่ระลึกรูปแบบต่างๆ รวมไปถึงการทำเรือหัวโทงจำลอง จำหน่ายแก่นักท่องเที่ยวที่แวะเวียนมาเยี่ยมเยือนอยู่เป็นประจำ เพราะตั้งอยู่บริเวณแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญคือ อ่าวพระนาง และหาดนพรัตน์ธารา
ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเป็นจำนวนมาก จึงได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วยการจัดฝึกอบรมให้กับสมาชิกผลิตของที่ระลึกเพื่อจำหน่ายให้นักท่องเที่ยว เป็นสินค้าที่แสดงถึงอัตลักษณ์ความเป็นชุมชน เช่น ผ้าบาติกลวดลายท้องถิ่น เรือหัวโทง กำไร สร้อยคอ พวงกุญแจจากกะลามะพร้าว เป็นต้น ชุมชนจึงได้เริ่มจัดตั้งโฮมสเตย์ เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2544 นับเป็นระยะเวลา 17 ปี ที่ผู้นำชุมชนและชาวบ้านร่วมกันพัฒนาชุมชนและวางแผนการท่องเที่ยวเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แม้วันเวลาที่เปลี่ยนไปอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเข้ามาเปลี่ยนแปลงบางวิถีของชุมชนใกล้เคียง ด้วยมีผู้คนต่างถิ่น เดินทางมาท่องเที่ยวจำนวนมาก แต่วิถีชีวิตของบ้านนาตีนมิได้เปลี่ยนแปลงไปด้วย ทุกวันนี้ชีวิตผู้คนที่นี่ยังคงใช้ชีวิตเหมือนหลายสิบปีก่อน
บ้านนาตีน ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอเมืองกระบี่ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 16 กิโลเมตร บ้านนาตีนมีเนื้อที่ประมาณ 7,100 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่ใช้ทำการเกษตรประมาณ 5,632 ไร่ โดยมีอาณาเขตติดต่อดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ที่ 1 ตำบลหนองทะเล และหมู่ที่ 6 ตำบลอ่าวนาง
ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ที่ 3 ตำบลอ่าวนาง
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ที่ 1 ตำบลหนองทะเล
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่ที่ 5 ตำบลอ่าวนาง
สภาพภูมิประเทศ
พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ ใช้ในการประกอบอาชีพด้านการเกษตร และพื้นที่บางส่วนเป็นที่ราบเชิงเขาซึ่งสามารถแบ่งพื้นที่ตามลักษณะภูมิประเทศได้ คือ พื้นที่ราบ อยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้าน พื้นที่ราบเชิงเขาอยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้าน มีภูเขาสามารถใช้ประโยชน์ได้ในบริเวณหุบเขา และพื้นที่ภูเขาอยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้าน
ลักษณะดิน
ลักษณะดินโดยทั่วไปของหมู่บ้านมีสภาพคล้ายๆกัน แบ่งกลุ่มดินที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันได้ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มดินคละ เป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการปลูกยางพาราและพืชไร่ดี มีกระจายอยู่ทั่วไปทั้งหมู่บ้าน และกลุ่มดินภูเขา
สภาพแหล่งน้ำ
บ้านนาตีนมีแหล่งน้ำ 2 ลักษณะ คือ แหล่งน้ำธรรมชาติจากคลองสนไหลลงมาทางทิศตะวันตก ผ่านไปทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน ออกสู่ทะเลอันดามัน แต่เกษตรกรไม่สามารถนำน้ำในบริเวณปากแม่น้ำไปเพาะปลูกหรือเลี้ยงสัตว์ได้ เนื่องจากเป็นน้ำเค็มส่วนในลำน้ำที่ติดต่อกับหมู่ 6 บ้านคลองสนนั้น สามารถนำไปใช้ปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ได้ สำหรับแหล่งน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น ได้แก่ บ่อน้ำตื้น 2 บ่อ บ่อน้ำบาดาล 64 บ่อ
สภาพอากาศ
บ้านนาตีน มีภูมิอากาศแบบมรสุมในเขตร้อนและได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และมีเพียง 2 ฤดู คือ ฤดูร้อน จะเริ่มตั้งแต่ช่วงเดือน มกราคม-เมษายนของทุกปี ฤดูฝน จะเริ่มตั้งแต่ช่วงเดือน พฤษภาคม-ธันวาคม ของทุกปี ส่วนอุณหภูมิในฤดูต่างๆ ไม่แตกต่างกันมากนัก คือจะอยู่ในช่วง 20.6-35.5 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยในรอบปีประมาณ 2061.6 มม. ความชื้นสัมพัทธ์ระหว่าง 78.5-89.6 ซึ่งเป็นความชื้นที่ค่อนข้างสูง
จากข้อมูลการสำรวจขององค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง เดือนกันยายน ปี 2564 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรชุมชนบ้านนาตีน จำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ทั้งหมด 1,623 ครัวเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 2,137 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 1,065 คน หญิง 1,072 คน ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิมประมาณ 99% ชาวไทยพุทธ 1% มีมัสยิดเป็นศูนย์รวมจิตใจ
ชาวบ้านนาตีนจะรวมตัวกันตั้งกลุ่มเพื่อจัดทำผลิตภัณฑ์ชุมชน ซึ่งมีกลุ่มที่เด่นๆ ได้แก่
- กลุ่มกะลามะพร้าว มีผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากกะลามะพร้าวที่ไม่ใช้แล้ว มาทำเป็นผลิตภัณฑ์ของใช้ ของที่ระลึก ได้แก่ โคมไฟ ชุดกาแฟ แก้วน้ำ เข็มขัด กระดุม ต่างหู สร้อยคอ สร้อยข้อมือ สัตว์ชนิดต่างๆ
- กลุ่มเรือหัวโทง ทำการผลิตเรือหัวโทงจำลอง หรือเรือจิ๋ว เรือหัวโทง เป็นพาหนะที่นำนักท่องเที่ยวไป เที่ยวชมเกาะต่าง ๆ ของจังหวัดกระบี่ เมื่อกลับขึ้น ฝั่งก็จะหาซื้อของที่ระลึก เรือหัวโทงจำลองก็คือเรือที่นำนักท่องเที่ยวไปเที่ยวนั่นเอง แต่มีขนาดเล็กและสามารถสลักชื่อเรือตามที่นักท่องเที่ยวต้องการ
- กลุ่มยุวเกษตรกรอันดามัน มีกิจกรรมเกี่ยวกับการทำผ้าบาติก โดยการเขียนผ้าลอดลายตามธรรมชาติตามจินตนาการตามที่สั่ง มีลวดลายหลากหลาย แปลกตา นำมาแปรรูปเป็น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าคลุมไหล่เสื้อผ้าสำเร็จรูป
- กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านนาตีน จัดการในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน โดยมีนายบัญชา แขวงหลี เป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านนาตีน ปัจจุบันมีกลุ่มกิจกรรมการท่องเที่ยว 7 กลุ่ม มีการออกแบบโปรแกรมการท่องเที่ยวที่เหมาะสมกับฤดูกาลในการประกอบอาชีพในชุมชน เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสวิถีชีวิตของคนในชุมชนอย่างแท้จริง เช่น การกรีดยาง การทำประมงพื้นบ้าน การหุงข้าวด้วยฟืน การทำขนมทุ้มโพล่ง (ขนมโค) การเย็บจากมุงหลังคา
- เกิดการสร้างรายได้ชุมชนจำนวน 119 ครัวเรือน 208 คน ที่มีผลกำไรต่อเนื่อง 3 ปี ปี2558 จำนวน 1.5 ล้านบาท ปี 2559 จำนวน 2.75 ล้าน และ ปี2560 จำนวน 3.45 ล้านบาท
ภาคีเครือข่ายภาครัฐ
- กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม สนับสนุนการดำเนินโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรม สร้างสรรค์ (CIV)
- สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดกระบี่ โครงการพัฒนาอาชีพ Otop นวัตวิถี
- สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกระบี่ โครงการบวรออนทัวร์
- สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานกระบี่ สนับสนุนด้านการตลาด
- สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดกระบี่สนับสนุนโครงการ/กิจกรรม อบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพ
- สำนักงานปศุสัตว์ ส่งเสริมการเลี้ยงแพะ
เครือข่ายสถาบันการศึกษา
- สถาบันนโยบายสาธารณะ
- มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี และวิทยาเขตภูเก็ต
- มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต
- มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
- มหาวิทยาลัยแม่โจ้ วิทยาเขตชุมพร
- มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เครือข่ายอื่นๆ
- สมาคมการท่องเที่ยวโดยชุมชนภาคใต้
- สมาคมการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดกระบี่
ชุมชนบ้านนาตีนมีความเป็นอัตลักษณ์ที่ชัดเจน คือ ความเป็นวิถีมุสลิม มีหลักศาสนาเป็นเครื่องยึกเหนี่ยวในการดำรงชีวิต และการนำอัตลักษณ์ชุมชนไปเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว
วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม
- วันฮารีรายอ
เป็นวันปีใหม่ของชาวมุสลิมมีการเยี่ยมญาติ พบปะสังสรรค์ในหมู่ญาติพี่น้อง เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในวันฮารีรายออีดิลฟิตรี ซึ่งเป็นวันตรุษอิสลาม ที่ชาวไทยมุสลิมเฉลิมฉลองร่วมกัน หลังสิ้นสุดการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน
- การเข้าสุนัต
พิธีการขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย เป็นประเพณีของชาวมุสลิม ชาวยิว และชาวคริสต์บางนิกาย เช่นเดียวกับเผ่าหลายเผ่าในแอฟริกา ผู้ที่นับถือศาสนาอื่นนิยมขลิบเนื่องจากเหตุผลทางสุขภาพ ผู้ที่เข้ารับนับถือศาสนาอิสลามจะต้องทำสุนัตเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ ส่วนเด็กชายมุสลิมจะทำสุนัตเมื่อแรกเกิด ได้ 3 วัน หรือ 5-6 วัน หรือก่อนที่จะบรรลุศาสนนิติภาวะ เพื่อความสะอาดของร่างกายเวลาที่จะประกอบพิธีทางศาสนา
- การถือศีลอด
ทุกปีในเดือนรอมฎอนซึ่งเป็นเดือนที่ 9 ตามปฏิทินทางจันทรคติของอิสลาม เป็นช่วงเวลาที่มุสลิมทั่วโลกประมาณ 1,500 ล้านคนทั้งชายหญิงที่พ้นวัยแห่งความเป็นเด็กแล้วจะต้องปฏิบัติหน้าที่ทางศาสนาที่สำคัญประการหนึ่งนั่นคือ การถือศีลอด เป็นการงดเว้นจากการกิน การดื่ม การเสพ และการมีความสัมพันธ์ทางเพศ ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนถึงดวงอาทิตย์ตกตลอดทั้งเดือนรอมฎอนของทุกปีซึ่งอาจจะมีระยะเวลา 29 หรือ 30 วัน โดยมีเจตนาว่าทำเพื่ออัลลอฮฺ
- การเล่นรองแง็ง
ศิลปะการแสดงพื้นบ้านในกลุ่มชาติพันธุ์มลายู เป็นการละเล่นของชาวบ้านประเภทผสมผสานระหว่างท่าเต้นกับบทร้อง การแสดงเหมือนกับรำวงทั่วไปที่สื่อถึงการเกี้ยวพาราสีกันระหว่างหนุ่มสาว ถือเป็นวัฒนธรรมร่วมทางด้านการแสดงพื้นบ้านในภาคพื้นคาบสมุทรมลายูที่นิยมแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน โดยแต่ละพื้นที่มีรูปแบบการแสดงที่มีอัตลักษณ์เฉพาะ งขึ้นอยู่กับบริบท ค่านิยม และสภาพแวดล้อมของพื้นที่นั้นๆ
วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ
คนในชุมชนส่วนหนึ่งยังมีความผูกพันกับการประกอบอาชีพดั้งเดิม คือ การทำประมง สวนยาง สวนมะพร้าว ปลูกสับปะรด ปัจจุบันคนในชุมชนส่วนหนึ่งได้เข้าไปประกอบอาชีพด้านการท่องเที่ยว ทั้งการเป็นลูกจ้างในสถานประกอบการ เช่น โรงแรม บริษัทนำเที่ยว ร้านอาหาร เป็นต้น และเป็นเจ้าของสถานประกอบการขนาดเล็กในชุมชน
- การผลิตผลิตภัณฑ์ในชุมชน
เช่น ผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าว เขียนลายผ้าบาติก ชุมชนมีความพยายามในการคิดลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่น แต่มีปัญหาอุปสรรคด้านเครื่องมือในการผลิต และแนวคิดเชิงสร้างสรรค์ที่ให้เหมาะสมสอดคล้อมกับความต้องการของตลาดโดยยังคงเอกลักษณ์ของวิถีชุมชน
- ด้านสุขภาพ
การท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านนาตีน ต้องการจะสืบทอดรักษาวัฒนธรรมวิถีดั้งเดิมตามแบบแผนที่ดีงามของมุสลิม ซึ่งเน้นในเรื่องการรักษาความสะอาด ตั้งแต่บ้านเรือนที่อยู่อาศัย อาหารการกินที่ถูกสุขลักษณะ สภาพแวดล้อมที่ดี มีการจัดการขยะที่ดี จะทำให้สุขภาพกายและใจของคนในชุมชนและผู้มาเยือนดี
- นายบัญชา แขวงหลี
ประธานกลุ่มวิสาหกิจท่องเที่ยวชุมชนบ้านนาตีน มีวิสัยทัศน์ ในการบริหารจัดการชุมชน โดยเป็นแกนนำในการจัดกลุ่มอาชีพ เพื่อเปิดโอกาสให้คนในชุมชนได้รับการพัฒนาทักษะ ปัจจุบัน มีกลุ่มกิจกรรมการท่องเที่ยว 7 กลุ่ม มีการออกแบบโปรแกรมการท่องเที่ยวที่เหมาะสมกับฤดูกาลในการประกอบอาชีพ ในชุมชน เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสวิถีชีวิตของคนในชุมชนอย่างแท้จริง เช่น การกรีดยาง การทำประมงพื้นบ้าน การหุงข้าวด้วยฟืน การทำขนมทุ้มโพล่ง (ขนมโค) การเย็บจากมุงหลังคา
- นางสุภา แขวงหลี
ประธานกลุ่มแม่บ้านบ้านนาตีน ที่ทางกลุ่มได้รวมตัวกันผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าว ซึ่งมองว่าเป็นของเหลือใช้และทิ้งขว้าง หลังจากรวมกลุ่มกันและแปรรูปออกมาจนสามารถนำมาจำหน่ายได้ ก็สร้างรายได้ให้กับชุมชนได้เป็นอย่างมาก โดยสินค้าที่ผลิตนั้น แยกออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1 สินค้าในครัวเรือนที่นำไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น เครื่องใช้ในครัวอย่าง ทัพพี ช้อน ตะหลิว ถ้วย จาน เป็นต้น โดยกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าคนไทย กลุ่ม 2 คือ สินค้าเครื่องประดับและที่ระลึก ซึ่งมีทั้ง กิ๊ปผม แปลง ปิ่นปักผม สายเอว เป็นต้น ตรงจุดนี้เป็นลูกค้าต่างชาติ และอีกลุ่มคือ ตราบริษัท ห้างร้าน หรือโลโก้ สำหรับเอกชน หน่วยงานรัฐ ที่ต้องการให้ออกแบบให้
ทุนวัฒนธรรม
- ผลิตภัณฑ์ชุมชน
ทางราชการก็ได้เข้ามาช่วยเหลือในการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าว, กระดาษจากใยสับปะรด, เรือหัวโทงจำลอง, ผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากกะลามะพร้าว ได้แก่ โคมไฟ, ชุดกาแฟ, แก้วน้ำ, เข็มขัด, กระดุม, ต่างหู, สร้อยคอ, สร้อยข้อมือ, สัตว์ชนิดต่างๆ ผลิตภัณฑ์ผ้าบาติก ได้แก่ กระเป๋าผ้าบาติก, ปลอกหมอนผ้าบาติก, ผ้าพันคอลูกเสือ, เสื้อผ้าบาติก
- อาหารพื้นถิ่น
ชุมชนมุสลิมที่มีวิถีการกินผูกพันกับธรรมชาติ ตั้งอยู่ห่างจากอ่าวนาง จังหวัดกระบี่ไม่ไกลนัก บ้านนาตีนแห่งนี้อุดมไปด้วยวัตถุดิบทั้งจากท้องทะเล และจากพืชพันธุ์ในชุมชนที่เต็มเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ชุมชนบ้านนาตีนได้นำเสนออาหารที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นที่สืบทอดส่งต่อกันจากรุ่นสู่รุ่นมานำเสนอให้นักท่องเที่ยว อย่างแกงส้มปลากะมง ยำนางฟ้าบ้านนา ผักเหลียงต้มกะทิใส่ไข่ ข้าวเหนียวมูลปลาเค็ม แกงคั่ว โดยใช้วัสดุ ผัก เครื่องเคียงต่างๆ จากชุมชน มีการรื้อฟื้นการทำขนมโบราณ และเครื่องมือเครื่องใช้ในอดีตเพื่อให้คนในชุมชนได้เห็นและนักท่องเที่ยวได้มาสัมผัส
- การแต่งกาย
มักจะร่วมกันสวมใส่เครื่องแต่งกายมลายู เพื่อสืบสานวัฒนธรรม โดยสุภาพบุรุษจะสวมชุด "ตือโละบลางอ" ซึ่งมีลักษณะเป็นเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว และมีผ้าคาดเอวลวดลายวิจิตรงดงามเรียกว่า "ผ้าซัมปิน" และสวมหมวกทรงแข็งสีดำเรียกว่า "ซอเกาะ" ส่วนสตรีจะสวม "ชุดกุรง" ซึ่งเป็นเสื้อคลุมยาวถึงเข่า สวมทับกระโปรงยาว และสวมผ้าคลุมศีรษะสีสันสดใสสวยงาม
ทุนธรรมชาติ
มีพื้นที่สีเขียวในชุมชน ใช้เป็นที่ตั้งที่ทำการชุมชน มีพื้นที่ประมาณ 2 ไร่เศษ ข้อมูลพื้นที่/การถือครองที่ดิน ข้อมูลจาก ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลอ่าวนาง ระบุว่า บ้านนาตีน มีพื้นที่ทั้งหมด 6,280 ไร่ พื้นที่ถือครอง 2,987 ไร่ พื้นที่อาศัย 347 ไร่ พื้นที่การเกษตร 1,203 ไร่ พื้นที่สาธารณะ 110 ไร่ พื้นที่ภูเขา/ป่าไม้ 2,333 ไร่ และพื้นที่ป่าชายเลน 850 ไร่ มีการปลูกพืชเพื่อการเกษตรได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ลองกอง เงาะ มะพร้าว ทุกเรียน มังคุด สะตอ เป็นต้น
เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่จะเป็นมุสลิม ส่วนใหญ่จึงใช้ภาษาถิ่นใต้ และภาษาอูรักลาโวยจ หรือ ภาษาอูรักลาโว้ย เป็นภาษามลายูพื้นเมืองดั้งเดิม ซึ่งจัดอยู่ในตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน กลุ่มภาษามาลาโย-โพลีเนเซีย สาขามาเลย์อิก ผู้พูดภาษานี้เป็นภาษาแม่คือชาวอุรักลาโวยจซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งในประเทศไทย พวกเขานับถือความเชื่อดั้งเดิม ศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม
พัฒนาการในการจัดการท่องเที่ยวชุมชน
การท่องเที่ยววิถีชุมชนในจังหวัดกระบี่นั้นเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 จากชุมชนบ้านนาตีน ที่เป็นชุมชนมุสลิมตั้งอยู่ในตำบลอ่าวนาง อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ เริ่มต้นจากแกนนำชุมชน นำโดยนายบัญชา แขวงหลี พูดคุยกับสมาชิกในชุมชน เริ่มต้นประมาณ 7-8 คน โดยมีแนวคิดที่ว่า พื้นที่ตำบลอ่าวนางเป็นพื้นที่ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วของการท่องเที่ยวกระแสหลัก ความเจริญได้รุกล้ำเข้ามา ชาวบ้านหลายคนขายที่ดินบางส่วนให้กับนายทุน เพื่อปลูกสิ่งก่อสร้างอาคารบ้านเรือนในรูปแบบสมัยใหม่ จัดทำเป็นบ้านเช่า เป็นสถานบริการเพื่อรองรับธุรกิจการท่องเที่ยว ชาวบ้านชุดแกนนำ
จึงมีความคิดเห็นว่า หากปล่อยให้ความเจริญเข้ามาในพื้นที่โดยคนในชุมชนละเลยการปฏิบัติตามวิถีวัฒนธรรมที่ยึดมั่นดำรงตนตามหลักศาสนาอิสลาม อาจจะส่งผลเสียต่อชุมชนโดยส่วนรวมได้ จึงหาแนวทางเพื่ออนุรักษ์วิถีชุมชน จึงมีแนวคิดในการทำการท่องเที่ยวโดยชุมชน ได้มีการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนบ้านนาตีน ให้สมาชิกในกลุ่มมีดำเนินกิจกรรมการท่องเที่ยวโดย ในช่วงแรกมี 3 กลุ่มเครือข่ายด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน คือ กลุ่มแปรรูปผ้าบาติก กลุ่มน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น และกลุ่มข้าวซ้อมมือ ต่อมามีการปรับรูปแบบและกิจกรรมการท่องเที่ยวให้เหมาะสม ปัจจุบันมีสมาชิกหลักจำนวน 14 คน มีการดำเนินงานใน 8 กลุ่มกิจกรรม โดยมีการกระจายรายได้ให้แก่กลุ่มสมาชิกเชื่อมโยง ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าในชุมชน ผู้ประกอบการรถตุ๊กๆ ผู้ประกอบการเรือนำเที่ยว บริษัทนำเที่ยว ชาวบ้านที่ปลูกมะพร้าวนำกะลามะพร้าวมาจำหน่ายยังศูนย์การท่องเที่ยวบ้านนาตีน และอื่นๆ
ชุมชนท่องเที่ยวบ้านนาตีน ได้รับการสนับสนุนทั้งหน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานภายนอกอื่นๆ ในการสนับสนุนการให้องค์ความรู้เพื่อพัฒนาทักษะด้านการผลิตผลิตภัณฑ์ และส่งเสริมการท่องเที่ยวในวิถีวัฒนธรรม ชุมชนท่องเที่ยวบ้านนาตีนได้เข้าร่วมเครือข่ายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวในหลายหน่วยงาน ปัจจุบันคือหนึ่งในสมาชิกสมาคมการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดกระบี่ ในปี 2563 หลังสถานการณ์โควิด ชุมชนท่องเที่ยวบ้านนาตีนได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 81 ชุมชนท่องเที่ยว New Normal จากองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) (องค์การมหาชน) และได้รับรองมาตรฐาน SHA (Safety & Health Administration) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ มาตรฐาน SHA เป็นแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานภาคสมัครใจสำหรับผู้ประกอบการ หรือ ข้อกำหนดเบื้องต้นที่สถานประกอบการพึงมี เพื่อป้องกัน COVID-19 ซึ่งมาจากมาตรการด้านสาธารณสุขบวกกับมาตรฐานของสินค้าทางการท่องเที่ยว
สถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวชุมชน
การท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านนาตีน มีพัฒนาการด้านการจัดการบริหารจัดการที่สามารถสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่น เป็นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทยร้อยละ 60 เป็นกลุ่มศึกษาดูงาน กลุ่มครอบครัว และนักท่องเที่ยวอิสระที่เดินทางมาเอง โดยการศึกษาข้อมูลจากอินเตอร์เนต ส่วนนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศร้อยละ 40 มาจากการแนะนำจากโรงแรมในย่านอ่าวนาง จากบริษัทท่องเที่ยว และบางส่วนเดินทางมาด้วยตนเอง ชุมชนได้ออกแบบการท่องเที่ยวโดยเริ่มต้นกิจกรรมในศูนย์ชุมชนบ้านนาตีน และมีเส้นทางท่องเที่ยวบนบกเชื่อมโยงกับกลุ่มอาชีพต่างๆ รวมทั้งการท่องเที่ยวทางทะเล ชุมชนมีเครือข่ายรถตุ๊กๆ และเครือข่ายเรือนำเที่ยว เพื่อนำนักท่องเที่ยวไปทำกิจกรรมต่างๆ
จากสถานการณ์การท่องเที่ยวก่อน Covid19 รายได้เฉลี่ย จำนวน 8,000-10,000บาท/คน/เดือน ช่วง Covid19 รายได้เฉลี่ย 3,000/คน/เดือน หลัง Covid19 รายได้เฉลี่ย จำนวน 4,000-5,000 บาท/คน/เดือน โดยชุมชนมีการปรับตัวและปรับรูปแบบด้านการผลิตสินค้าในชุมชนในเหมาะสมกับสถานการณ์ เช่น กลุ่มผ้าบาติก ได้ออกแบบแมสผ้าบาติกจำหน่าย สมาชิกในกลุ่มปลูกผักสำหรับบริโภคในครัวเรือนและบางส่วนนำไปจำหน่าย และสมาชิกบางคนมีทักษะด้านการทำอาหาร ทำขนม สำหรับจำหน่ายในชุมชน
ในชุมชนบ้านนาตีน มีจุดสนใจอื่นๆ เช่น มัสยิดบ้านคลองแห้ง ตั้งอยู่ใจกลางชุมชนบ้านนาตีน เป็นมัสยิดเก่าแก่ที่อยู่คู่กับชาวบ้านนาตีนมานาน การหีบอ้อย ที่เป็นภูมิปัญญาการคั้นน้ำอ้อยสดโดยไม่ต้องพึ่งเครื่องจักร และแนวคิดเรื่อง "ตลาดสีเขียว" โดยการเน้นให้ใช้วัสดุจากธรรมชาติในการทำบรรจุภัณฑ์ และจุดชมวิวบ้านนาตีน
ฐณผการจ คงอินทร์. (2545). การศึกษาศักยภาพของชุมชนในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพื่อการพัฒนาแบบยั่งยืน : กรณีศึกษาบ้านนาตีน ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
รายงานความก้าวหน้า. (2563). โครงการประเมินผลกระทบทางสุขภาพเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวโดยชุมชน : กรณีศึกษาชุมชนท่องเที่ยวบ้านนาตีน ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://ppi.psu.ac.th/upload/forum/project_1541_5f9d4e5a78a595f9d.doc
ศูนย์มนุษยวิทยาสิรินธร. (2566). อูรักลาโวยจ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://ethnicity.sac.or.th/database-ethnic/216
ไทยพีบีเอส. (2566). อาหารจานสุข. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://www.thaipbs.or.th/program/JanSook/episodes/96232
KRABI LOCAL. (2567). สัมผัสประสบการณ์การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เรียนรู้วิถีการใช้ชีวิตของชาวบ้านท้องถิ่นกระบี่ที่แท้จริง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://krabilocal.com/krabi-local-communities/baan-na-teen/
Museumthailand. (2560). เสน่ห์หา...บ้านนาตีน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://www.museumthailand.com/th/120/webboard/topic/เสน่ห์หา...บ้านนาตีน/