ชุมชนเกษตรกรรม มีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ มีดอยฟ้างาม ชาวบ้านใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายและพอเพียง
เดิมชื่อบ้านป่าหมาก เนื่องจากมีการปลูกหมากจำนวนมาก ต่อมาเกิดน้ำท่วมชาวบ้านส่วนใหญ่จึงอพยพขึ้นที่สูงและใช้ชื่อบ้านสาแพะมาจนถึงปัจจุบัน
ชุมชนเกษตรกรรม มีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ มีดอยฟ้างาม ชาวบ้านใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายและพอเพียง
บ้านสาแพะเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีร่องรอยทางประวัติศาสตร์ยาวนานหลายร้อยปี เมื่อราว 200 ปีก่อน ชุมชนแห่งนี้มีชื่อว่าบ้านป่าหมากเนื่องจากนิยมปลูกหมากกันมาก จนเมื่อปี 2515 น้ำท่วมใหญ่บริเวณหมู่บ้าน ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงอพยพย้ายถิ่นฐานไปอยู่บนพื้นที่สูง ทำให้ปัจจุบันบริเวณบ้านป่าหมากเดิมเหลือชาวบ้านอาศัยอยู่ไม่กี่หลังคาเรือน บ้านสาแพะเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง ชาวบ้านร่วมมือร่วมใจกันพลิกฟื้นพื้นดินที่แห้งแล้ง มาเป็นป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์เพียงแค่ 4 ปี ฟื้นฟูดินและกักเก็บน้ำที่มาจากฝายโดยใช้สระพวงที่ชาวบ้านต่างเสียสละพื้นที่ของตนเองมาทำช่วยกันขุดขึ้นมา และสระพวงนี้เองจะลำเลียงน้ำส่งต่อไปยังพื้นที่ของชาวบ้านเพื่อใช้ในการเกษตรต่อไป
ในปี พ.ศ.2555 วิกฤตมาก เพราะมีการจ่ายประปาให้ชาวบ้านเป็นเวลา ซึ่งไม่เพียงพอกับความต้องการ หลังจากที่ป่าไม้ถูกทำลายไป ชาวบ้านที่นี่ได้พบเจอความแห้งแล้งเป็นอย่างมาก พอแห้งแล้งก็ไม่สามารถทำการเกษตร ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็จะไปทำงานรับจ้างอื่นๆ แทน ในปลายปี 2555 น้ำไม่พอใช้อย่างมากชาวบ้านเลยลุกขึ้นสู้ ยึดหลักศาสตร์ของพระราชามาใช้นั่นคือ การทำฝาย โดยจุดเริ่มต้นในการทำฝาย ก็เริ่มจากคนกลุ่มเล็ก ๆ และขยายจำนวนคนได้มากขึ้น จนตอนนี้ทำให้ชุมชนมีฝายมากถึง 56 ฝาย สมัยก่อนเวลาทำการเกษตรต้องรอน้ำฝนเพียงอย่างเดียว แต่พอมีฝายก็สามารถช่วยชาวบ้านกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้งได้
ในปี พ.ศ. 2557-2558 ชาวบ้านสามารถขุดสระพวงได้มากกว่า 300 สระ และในช่วงนั้นก็เริ่มมีน้ำไว้ใช้ พอเริ่มมีน้ำการพนันก็เริ่มหายไปจากหมู่บ้าน เปลี่ยนจากงานจ้างมาทำการเกษตร
เทศบาลตำบลบ้านสาตั้งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอแจ้ห่มไปทางทิศใต้ประมาณ 10 กิโลเมตร ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1035 สายลำปาง-แจ้ห่ม มีพื้นที่ 128.03 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 80,018 ไร่ แยกเป็นพื้นที่ป่าสงวน 90.03 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ทำการเกษตร 30.00 ตารางกิโลเมตร พื้นที่อยู่อาศัย 8.00 ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดกับ อบต.วิเชตนคร และอบต.แจ้ห่ม
- ทิศใต้ ติดกับ อบต.นิคมพัฒนา, อบต.บุนนาคพัฒนา และอบต.บ้านแลง
- ทิศตะวันออก ติดกับ อบต.เมืองมาย
- ทิศตะวันตก ติดกับ อบต.บ้านขอ, อบต.ทุ่งกว๋าว และอบต.บ้านค่า
สภาพภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าและภูเขาล้อมรอบ ชุมชนที่อยู่อาศัยมีที่ราบลุ่มเป็นบางส่วนมีแม่น้ำวังไหลผ่านทุกหมู่บ้าน
ข้อมูลนวัตกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ในเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2564 บ้านสาแพะมีประชากรรวม 548 คน แบ่งเป็น ชาย 282 คน และหญิง 266 คน จำนวนครัวเรือนทั้งหมด 172 ครัวเรือน ชาวบ้านมีความเป็นอยู่กันอย่างเรียบง่ายและพึ่งพาอาศัยกัน
อาชีพส่วนใหญ่ คือ อาชีพทางด้านเกษตรกรรม เป็นแหล่งปลูกข้าวและพืชที่สำคัญ เช่น ข้าวโพด ถั่วลิสง ผักกาดเขียวปลี มะม่วง สับปะรด บวบ ยาสูบ ฟักทอง และฝรั่ง อาชีพรองลงไป คือ อาชีพรับจ้าง ประมง เลี้ยงสัตว์ และอาชีพเก็บหาของป่ามาขาย ชาวบ้านมีรายได้เฉลี่ย 35,199 บาท/คน/ปี โดยบ้านสาแพะยังเป็นที่ตั้งของเหมืองแร่ดินขาว มีเหมืองแร่ดินขาวใช้ทำผลิตภัณฑ์เซรามิก เช่น ถ้วยชาม แจกันและของที่ระลึกต่าง ๆ
มวลชนจัดตั้ง
- ลูกเสือชาวบ้าน 3 รุ่น
- ไทยอาสาป้องกันชาติ 1 รุ่น
- อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน 60 คน
- กลุ่มแม่บ้าน 6 รุ่น
- กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติ 1 กลุ่ม
- กลุ่มอาชีพตามโครงการเศรษฐกิจชุมชน 3 กลุ่ม
- กลุ่มโฮมสเตย์
ชาวบ้านมีวิถีชีวิตประจำวันที่เรียบง่าย คือ การประกอบอาชีพหลักเกษตรกรรม แต่ละบ้านจะมีการปลูกพืชไว้รับประทานเอง มีการขุดสระพวง และการทำฝาย ชาวบ้านจะเปิดบ้านเป็นโฮมสเตย์ให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาสัมผัสบรรยากาศวิถีชีวิตความเรียบง่าย ส่วนใหญ่ผู้ชายออกไปทำงาน ผู้หญิงจะอยู่ดูแลบ้าน ทำกับข้าว ยังคงใช้เสื่อและหมอนมานอน พร้อมกับพกวิทยุทรานซิสเตอร์มาฟัง
ทุนวัฒนธรรม
วัดสาแพะ
วัดสาแพะ สร้างเมื่อ พ.ศ 2417 โดยมี หลวงพ่อจุมปู ญาณรงฺสี เป็นผู้นำสร้าง สิ่งที่โดดเด่นของวัดนี้คือพระประธานที่อยู่ในโบสถ์ เป็นพระประธานที่สร้างและแกะสลักด้วยฝีมือเจ้าอาวาสเอง คือ ท่านพระครูสันติ พนารักษ์ โดยเมื่อช่วงปี 44 ท่านได้เสาะหาหินทรายสีชมพูขนาดใหญ่เพื่อนำมาสร้างพระ จนท่านได้พบหินที่ถูกต้องตามความต้องการจากอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ซึ่งก็ได้มาด้วยความยากลำบาก และเมื่อนำมาถึงวัดก็ลงมือแกะสลักด้วยตัวของท่านเองและผู้ช่วยอีก 4–5 คน จนได้มาเป็นพระประธานในโบสถ์ซึ่งเป็นพระพุทธศิลาปางสมาธิ หน้าตักกว้าง 4 เมตร สูง 7 เมตร น้ำหนักประมาณ 25 ตัน ซึ่งแกะสลัก ตั้งแต่วันที่ 10 พ.ค.2544 และมาเสร็จสิ้นเมื่อปี 2553 ซึ่งถือว่าเป็นพระประธานที่แกะสลักจากหินทรายสีชมพูที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดลำปาง นอกจากนี้ที่ผนังแต่ละด้านและเพดานของโบสถ์ท่านยังได้วาดภาพถ้ำอจันตา ถ้ำเอลโลร่า บามิยัน ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญทางด้านประวัติศาสตร์และพุทธศาสนาของโลก และท่านยังได้วาดภาพเล่าเรื่องความเป็นมาของพระประธานองค์ดังกล่าวไว้โดยรอบผนังอีกด้วย
การทำชาหญ้าหอมและสบู่
ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวของบ้านสาแพะ ชาวชุมชนได้มีการสำรวจและคัดเลือกสินค้าที่มีอัตลักษณ์และเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวของชุมชน และนั่นคือ "ชาหญ้าหอมดอยฟ้างาม" หญ้าหอมพืชท้องถิ่นตระกูลหญ้าที่สามารถพบได้มากในบริเวณป่าเขาของบ้านสาแพะ โดยเฉพาะบริเวณดอยฟ้างาม หญ้าหอมมีความพิเศษตรงที่มีกลิ่นหอมคล้ายตะไคร้ และให้รสหวานอ่อน ๆ มีสรรพคุณในการขับปัสสาวะ แก้อาการนิ่ว บำรุงไต และแก้อาการหอบหืด ชาวชุมชนได้นำหญ้าหอมมาแปรรูปเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพโดยใส่ในบรรจุภัณฑ์ที่สะดวกต่อพกพา
การขุดสระพวง
สระพวง คือ แนวทางการบริหารจัดการน้ำที่เหมาะกับพื้นที่สูง โดยเริ่มจากสระใหญ่ คือ สระแม่ และเชื่อมต่อส่งน้ำไปยังสระลูกสระหลาน เหมาะกับพื้นที่เกษตรที่ไม่มีการชลประทาน การเพิ่มความจุเก็บกักน้ำ ทำได้โดยการปูพื้นด้วยใยสังเคราะห์ หรือเป็นบ่อซีเมนต์เพื่อลดการซึมของน้ำ
การทำฝายชะลอน้ำ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงเสนออุปกรณ์อันเป็นเครื่องมือที่จะใช้ประโยชน์ในการฟื้นฟูป่าไม้ ทรงแนะนำให้ใช้ฝายกั้นน้ำ หรือเรียกว่า Check Dam คือสิ่งที่ก่อสร้างขวางกั้นทางเดินของลำน้ำ มักกั้นลำธารขนาดเล็กบริเวณต้นน้ำหรือพื้นที่ลาดชัน และสามารถชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลง อีกทั้งดักตะกอนไม่ให้ไหลลงบริเวณลุ่มน้ำตอนล่าง เป็นวิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำที่ดีวิธีการหนึ่ง
โดยประโยชน์ของฝายชะลอน้ำ คือ ช่วยเก็บกักน้ำ ลดความรุนแรงของการเกิดไฟป่า ลดการพังทลายของหน้าดิน ลดความรุนแรงของกระแสน้ำในลำห้วย ช่วยกักเก็บตะกอนและวัสดุต่าง ๆ ที่ไหลลงมากับน้ำในลำห้วย ช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ และใช้เป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค
ในปี 2556 หลังจากการชักนำของ SCG ให้ไปศึกษาดูงานฝายชะลอน้ำที่ ชุมชนบ้านสามขา ตำบลหัวเสือ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง กลับมาผู้ใหญ่คงบุญโชติ ร่วมกับชาวบ้านผู้บุกเบิกอีก 12 คน ก็เริ่มต้นสร้างฝายกันในชุมชนของตนเอง นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการลงมือฟื้นฟูท้องถิ่นบ้านสาแพะ
สังคมวัฒนธรรมในช่วงการเผชิญหน้ากับการพัฒนากับกระบวนการกลายเป็นไทย ปี พ.ศ. 2500-2530 เป็นช่วงระยะเวลา 30 ปีที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาการ และประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงของสังคมหมู่บ้าน การไหลเข้ามาของวัฒนธรรมอื่นที่มีอยู่ตลอดเวลาโดยเฉพาะวัฒนธรรมไทยที่อาศัยช่องทางมากมาย เช่น ผ่านระบบการศึกษาของรัฐ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่มคนต่าง ๆ ในสังคม สื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ วิทยุ สิ่งตีพิมพ์ต่าง ๆ ข้อมูลข่าวสารจากรัฐผ่านผู้นำทางการตลอดจนหอกระจายข่าวของหมู่บ้าน การเข้ามาในบ้านมีอยู่ของวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่คนในชุมชนได้เรียนรู้ อันนำไปสู่การเปรียบความเหมือนหรือความต่าง การเปลี่ยนแปลงวิธีคิด โลกทัศน์ และการรับมาปฏิบัติในท้ายที่สุด การเปลี่ยนแปลงในด้านสังคมวัฒนธรรมเป็นกระบวนการหนึ่งของการกลายเป็นอย่างอื่นไม่ใช่ความเป็นกันเองแบบที่เคยดำรงอยู่
ดอยฟ้างาม
ดอยฟ้างามเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่กำลังที่กำลังโดดเด่นในจังหวัดลำปาง เดิมทีที่นี่ไม่ได้ชื่อดอยฟ้างาม แต่ชื่อ ดอยผางาม ชื่อดอยฟ้างามเกิดจากชาวบ้านที่ขึ้นมา มองไปที่ท้องฟ้า แล้วรู้สึกว่า "งาม" จึงให้ชื่อดอยฟ้างาม และอาจจะเป็นด้วยความรู้สึกจากใจของชาวบ้านที่นี่ ที่ได้ร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาและอนุรักษ์จากผืนป่าแห่งนี้ที่เคยแห้งแล้งมองไปทางไหนก็ไม่งาม กลายเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์มองไปทางไหนก็สวยงาม ชื่อดอยฟ้างาม จึงเป็นชื่อที่ส่งออกมาจากใจของคนที่นี่ การเดินทางขึ้นดอยฟ้างาม จะต้องใช้ทั้งแรงกายแรงใจ แรงใจในการตื่นแต่เช้าเพื่อจะให้ทันพระอาทิตย์ แรงกายในเดินขึ้นทางชันเป็นระยะทาง 2 กม. และนักท่องเที่ยวควรเตรียมเสบียงกรังขึ้นไป เพราะด้านบนไม่มีร้านค้าให้บริการ เมื่อแสงแรกผ่านพ้นขอบเขา ความสวยงามของผืนป่าก็ปรากฏสมชื่อ "ดอยฟ้างาม"
เทศบาลตำบลบ้านสา. (2564). ข้อมูลพื้นฐานและสภาพทั่วไป. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://www.bansa.go.th/
ภูธิชย์ อรัญพูล. (2561). ชุมชนบ้านสาแพะ จ.ลำปาง:จากความแร้นแค้นสู่ความชุ่มชื้นบนเขาสูง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://www.isranews.org/
CHIDCHANOK. (2562). เรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน ดูทะเลหมอกดอยฟ้างาม ที่ชุมชนบ้านสาแพะ อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ตอนที่ 1. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://thenewjourneybymissnok.wordpress.com
TAT Application. (2562). ชุมชนท่องเที่ยวบ้านสาแพะ จังหวัดลำปาง : ชุมชนเข้มแข็ง รวมพลังพลิกผืนป่า พัฒนาการสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://medium.com/