ไหว้พระธาตุพนม ชื่นชมวิถี ประเพณีหมอเหยา เกี้ยวสาวเป่าแคน สุขใจเหลือแสน บนแดนไทยข่า อรัวะๆแซมเอย
คำว่า "โสกแมว" มาจากที่บริเวณที่ตั้งเสาหลักบ้านเกิดเป็นบ่อหรือหลุมลึก (ภาษาถิ่นเรียกว่า โสก) ในคืนเดือนหงายมักจะมีเสียงร้องของแมวดังไปทั่วบริเวณ แต่ว่าไม่เห็นตัวแมว จึงเรียกชื่อบ้านโสกแมวตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ไหว้พระธาตุพนม ชื่นชมวิถี ประเพณีหมอเหยา เกี้ยวสาวเป่าแคน สุขใจเหลือแสน บนแดนไทยข่า อรัวะๆแซมเอย
ไทยข่า เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งในจังหวัดนครพนม ชาวข่ามีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในแขวงสุวรรณเขตแขวงสาละวันและแขวงอัตตะปือของลาว ซึ่งเมื่อร้อยปีก่อน พ.ศ. 2436 ยังเป็นแดนของราชอาณาจักรไทย ชาวข่าอพยพมาอยู่ในท้องที่จังหวัดมุกดาหารในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นส่วนมาก นักมานุษยวิทยาถือว่าชาวข่าเป็นชนเผ่าดั้งเดิมเผ่าหนึ่งในแถบลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งอาจจะสืบเชื้อสายมาจากขอมโบราณซึ่งเคยอยู่ในดินแดนของอาณาจักรเจนละ ต่อมาเป็นอานาจักรขอมและอาณาจักรศรีโคตรบูร ที่ขอมเคยมีอิทธิพลครอบคลุมมาถึงแล้วเสื่อมอำนาจลง ซึ่งพวกข่าอยู่ในตระกูลเดียวกับขอมและมอญเขมร ชาวไทยข่าบ้านโสกแมวในอดีตนั้น ได้อพยพมาจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงหรือ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปัจจุบัน เนื่องจากหนีภัยความเดือดร้อนของสงครามมาในสมัยรัชกาลที่ 3 ราว พ.ศ. 2375-2380 และเมื่อตั้งบ้านอยู่ในระยะหนึ่ง ก็ต้องอพยพย้ายบ้านอีกจนกระทั่ง ได้มาตั้งในที่ปัจจุบันแห่งนี้ คำว่า ข่า อาจมาจาก ข้าทาส ซึ่งสำเนียงอีสานอีสานจะออกเสียง ข่าทาส เนื่องจากในสมัย รัชกาลที่ 5 มีการจัดพวกบรูมาเป็นข้าทาสรับใช้กันมาก จึงเรียกกันมาว่าไทยข่า
ตำบลอุ่มเหม้าเป็นตำบลหนึ่ง ในเขตพื้นที่การปกครองของอำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย โดยที่ตั้งอยู่บริเวณทางด้านทิศใต้ของอำเภอธาตุพนม มีองค์การบริหารส่วนตำบลอุ่มเหม้าเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีระยะห่างจากอำเภอธาตุพนม 15 กิโลเมตร และห่างจากจังหวัดนครพนมประมาณ 70 กิโลเมตร และมีระยะห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 700 กิโลเมตร โดยมีเนื้อที่ประมาณ 58.45 ตารางกิโลเมตร หรือ 41,932 ไร่ และมีอาณาเขตติดต่อดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อ ตำบลนาหนาด ตำบลฝั่งแดง อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม
ทิศใต้ ติดต่อ ตำบลชะโนดน้อย อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร
ทิศตะวันออก ติดต่อ ตำบลน้ำก่ำอำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม
ทิศตะวันตก ติดต่อ ตำบลพุ่มแก อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม
ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่มและมีที่ราบสูง ไม่มีแม่น้ำไหลผ่าน แต่มีแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ทำให้พื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์พอสมควร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าไม้สลับกับป่าโปร่ง
จากข้อมูลฐานทะเบียนซึ่งจัดเก็บโดยสำนักงานสถิติทางการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พบว่าตำบลอุ่มเหม้ามีประชากรทั้งสิ้น 5,833 คน มีครัวเรือนทั้งสิ้น 1,645 ครัวเรือน โดยแบ่งเป็นชายทั้งสิ้น 2,847 คน ประชากรหญิง 2,986 คน ข้อมูลจำนวนประชากรในปี 2561 นั้นมีจำนวนประชากรลดลงจากปี 2560 จำนวน 66 คน อย่างไรก็ตามจากการสำรวจครัวเรือน พบว่าจำนวนประชากรในตำบลอุ่มเหม้าที่อยู่อาศัยจริงมีจำนวนน้อยกว่าจำนวนข้อมูลที่ทางการจัดเก็บ ดังนั้นจึงสะท้อนให้เห็นการย้ายถิ่นฐานของประชากรซึ่งออกไปทำงานนอกพื้นที่ หรือการออกไปทำงานที่ต่างจังหวัด
บ้านโสกแมว เป็นชุมชนคุณธรรมที่มีวัฒนธรรมประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์ของตนเอง ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธและนับถือผี มีพิธีเหยาเป็นเอกลักษณ์ของชาวไทยข่า
ความเชื่อของไทยข่านั้นลักษณะความเชื่อที่ผสมผสานระหว่าง ผี พุทธ พราหมณ์ มีความผูกพันกับวิถีชีวิต และธรรมชาติสิ่งแวดล้อมของชาวบ้านที่หล่อหลอมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยแสดงออกผ่านวิถีชีวิต พิธีกรรม และงานบุญประเพณีต่างๆ ของหมู่บ้านที่จะนำไปสู่ความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
การประกอบอาชีพ มีราษฎรอาศัยอยู่ 1,276 คน เป็นชาย 593 คน เป็นหญิง 683 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา เลี้ยงสัตว์ ทำไร่ และรับจ้างทั่วไป
วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชนเผ่าไทยข่า นั้นเป็นชุมชนเกษตรกรรม มีการเลี้ยงสัตว์และเพาะปลูกพืชตามท้องถิ่น วิถีชีวิตเป็นแบบพึ่งพาอาศัยกัน พึ่งพาธรรมชาติ ในช่วงของฤดูฝนจะทำนา เมื่อว่างจากการทำนา ผู้หญิงจะอยู่บ้านทอผ้าและดูแลลูก ส่วนผู้ชายจะออกทำงานอย่างอื่นทางด้านอาหารการกิน เนื่องจากชาวไทยข่าอาศัยอยู่ในธรรมชาติ ดังนั้นอาหารการกินของชาวไทยข่าจึงเป็นอาหารที่หาได้จากธรรมชาติ เช่น หน่อไม้ เห็ด ปลา และพืชผักต่างๆ อาหารที่ทุกบ้านเรือนมักจะประกอบก็มีแกงหน่อไม้ แกงอ่อมหอย แกงปลา น้ำพริกต่างๆ
ทุนวัฒนธรรม
ชุมชนชาติพันธุ์ไทยข่าบ้านโสกแมว เกิดขึ้นได้จาการรื้อฟื้นจากวัฒนธรรมจังหวัดนครพนมและพัฒนานครพนมงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครพนม ที่เห็นความสำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยข่ากลุ่มเล็กๆ นี้ ได้ให้การสนับสนุนเงิน ความรู้ การพาไปดูงานและนำเอกลักษณ์ไทยข่าไปเผยแพร่ในกิจกรรมต่างๆ ของจังหวัดและภูมิภาค ทางองค์กรจังหวัดจึงมีงบประมาณจัดอบรมตามแนวโครงการโอท็อปนวัตวิถี ในการปรับภูมิทัศน์ ส่งเสริมด้านอาชีพ สินค้าและของฝากเป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรและวัฒนธรรม มีฐานการเรียนรู้ จุดสาธิตต่างๆ เช่น การจักสานกก ย้อมผ้าฝ้ายด้วยสีเปลือกไม้มงคล การเลี้ยงไหม การทอผ้า การลงแปลงนาปลูกข้าว เกี่ยวข้าว การทำสวนยางพารา เป็นต้น
- พิธีซางกะมู่ย
หรือแซงกะมูล ภาษาข่า ซางหรือแซง แปลว่า แบบแผน กะมู่ย แปลว่า ผี หมายถึง พิธีที่จัดทำให้เรียบร้อยอย่างมีแบบแผนนั่นเอง ดังนั้น ในพิธีซางกะมู่ย จึงเป็นพิธีในการจัดการเรื่องผีให้เป็นระเบียบแบบแผน ก่อนที่จะนำไปฝัง หรือเผานั่นเอง เนื่องจากชาวข่าเชื่อว่า คนตายยังเป็นผีดิบที่มีอันตรายค่อนข้างร้ายแรงต่อญาติ และคนอื่น ๆ จะต้องทำพิธีซางกะมู่ย เพื่อให้ผีดิบกลายเป็น “ผีสุก” เสียก่อน เพื่อจะได้เป็นผีเรือนเข้ากับบรรพบุรุษและมาช่วยเหลือลูกหลานให้อยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุขได้ ผู้ร่วมพิธีจะเป็นญาติร่วมตระกูลเดียวกัน
- ประเพณีไหว้ผีปู่ตา
ประเพณีไหว้ผีปู่ตานั้นจะทำทุกวัน ขึ้น 3 ค่ำเดือน 3 ผู้ได้รับการแต่ง ตั้งให้เป็นเจ้าจ้ำนั้น จะมีทั้งสืบทอดลูกหลานและจากการเลือกบุคคลที่ประพฤติดีใน หมู่บ้านขึ้นมา ในวันนั้นจะทำพิธีโดยเอาไก่มาบ้านละตัว เทียนบ้านละคู่ ความเชื่อเรื่องผีปู่ตา ผีปู่ตา ซึ่งเป็นผีของบรรพบุรุษที่มีความสำคัญมากของหมู่บ้าน ปู่ตาสามารถคุ้มครองชาวบ้านในหมู่ บ้านให้อยู่เย็นเป็นสุข ป้องกันภัยพิบัติทั้งปวงที่จะก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่หมู่บ้านได้ ศาลปู่ตาหรือดอนปู่ตานี้เป็นสถานที่ที่เกิดมาพร้อมกับตั้งหมู่บ้านเป็นบริเวณที่ศักดิ์ สิทธิ์ที่ทุกคนต้องเคารพยำเกรงใน บริเวณป่าปู่ตาทั้งหมด ใครจะเข้าไปบุกรุกตัดไม้ไม่ได้ เพราะถือว่าผิดผีปู่ตา
- ความเชื่อเรืองผีน้ำผีฟ้า (ผีไท่ผีนาง)
ผู้ที่จะติดต่อกับผีน้ำผีฟ้าได้ก็คือหมอเหยา การจะเป็นหมอเหยาได้นั้นต้องเป็นคนที่เสียสละ มีคุณธรรมสูง มีสัจจะ ประพฤติตามฮีต-ครอง ดังคำที่ว่ากลางดึกหากมีใครมาตามให้ไปรักษาก็ต้องไป ไม่มีค่าจ้าง ได้แต่ค่ายกครูห้าสลึง หากใครรับเงินมากกว่านั้นก็จะเป็นปอบ
- พิธีกรรมไหว้ครูครั้งใหญ่
พิธีเหยาใหญ่หรือไหว้ครูหมอเหยาจะจัดขึ้นทุก 3 ปี ถือเป็นงานใหญ่ที่สำคัญต่อหมอเหยาทุกคน จะทำกันสองวัน สองคืน บรรยากาศจะเต็มไปด้วยการร่ายรำขับกล่อม แน่นอนว่าต้องใช้แรงกายไม่น้อยเลยทีเดียว ที่น่าสังเกตคือ หมอเหยาส่วนใหญ่จะเป็นหญิงชราแต่กลับไม่มีท่าทีเหน็ดเหนื่อยให้ได้เห็นกันเลย
ส่วนใหญ่ประชากรจะพูดภาษาไทยอีสานหรือ ภาษาไทยข่า (มีแต่ภาษาพูดไม่มีภาษาเขียน)
แต่เดิมชาติพันธุ์ไทยข่ากลุ่มนี้ดำรงชีวิตริมน้ำโขง อาศัยตามริมห้วยปากลำน้ำโขง แต่ด้วยภาวะโรคระบาด จึงได้ย้ายชุมชนเข้ามาตั้งในพื้นที่ดอนจนปัจจุบัน แต่ถึงกระนั้นยังคงดำรงไว้ซึ่งประเพณีที่เกี่ยวพันกับสายน้ำเช่น ในเทศกาลเข้าพรรษา โดยเฉพาะในจังหวัดนครพนมจะโดเด่นในการไหลเรือไฟในลำน้ำโขงถึงแม้ว่าจะมาอาศัยห่างจากลำน้ำแต่ยังคงยึดถือปฏิบัติตามแต่แต่เก่าก่อน เพียงแต่เป็นการท่าเรือจำลอง จุดไฟพะเนียงประดับรำเรือบนบกแทน แม้ว่าความเจริญก้าวหน้าจะเข้ามาถึงถิ่นชนบทแบบกลุ่มไทยข่า มีการสร้างเอกลักษณ์ใหม่เพื่อมาส่งเสริมในเชิงการท่องเที่ยว แต่ไทยข่าโสกแมวยังคงรักษาเหง้าเดิมไว้อย่างเข้มแข็งในความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ คือ การแต่งกายและภาษาข่า (มีแต่ภาษาพูด ไม่มีภาษาเขียน) สะท้อนให้เห็นถึงความสำนึกและไม่ลืมอดีตถิ่นฐานที่ไม่ได้ผิดเพี้ยนไปจากเหง้าเดิม
วีรชาติ ภักดี. (2556). ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมล้านช้างกับความเป็นท้องถิ่นนิยมริมฝั่งโขง ในภาคอีสาน ประเทศไทย ตามแนวคิดรัฐประศาสนศาสตร์พลเมือง. วารสารรังสิตบัณฑิตศึกษาในกลุ่มธุรกิจและสังคมศาสตร์, 6(2), 45-62.