Advance search

ชุมชนที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่ยังคงความบริสุทธิ์

แม่วะ
เถิน
ลำปาง
อบต.แม่วะ โทร. 0-5420-9334
วรรณกานต์ แจ่มแสง
14 ก.พ. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
16 เม.ย. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
16 เม.ย. 2024
แม่วะหลวง

ตั้งชื่อหมู่บ้านตามชื่อของลำห้วย


ชุมชนที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่ยังคงความบริสุทธิ์

แม่วะ
เถิน
ลำปาง
52230
17.4929
99.2148
องค์การบริหารส่วนตำบลแม่วะ

คำว่า "แม่วะ" เป็นสัญลักษณ์ของหมู่บ้านต่าง ๆ เช่น บ้านแม่วัดท่าช้าง เดิมชื่อว่า แม่วะหลวง บ้านแม่วะลุ่ม บ้านแม่ว่าแล้ง ได้ตั้งชื่อหมู่บ้านตามนามของลำห้วยเหล่านี้ ความหมายคำว่าแม่วะ พอจะสรุปได้โดยได้สอบถามจากผู้เฒ่าผู้แก่เล่าสืบกันมาเป็นสองประเด็นดังนี้

ประเด็นที่ 1 ในสมัยโบราณตำบลแม่วะทั้งหมดเป็นดงพงไพร เป็นที่อยู่ของสิงสาราสัตว์นานาชนิดอาศัยอยู่ ได้มีนายพรานคนหนึ่งได้เข้ามาล่าสัตว์ในป่าแห่งนี้ ในขณะที่ล่าสัตว์เพลินไปในป่านั้น ได้เกิดหลงทิศทางจำไม่ได้ว่าจะกลับทางเดิมได้ จึงเดินเรื่อยไปจนถึงลำห้วยแห่งนี้ ด้วยความหิวและกระหายน้ำ นายพรานจึงเดินลงไปในลำห้วยตักน้ำขึ้นดื่มและล้างหน้า ทันใดนั้นก็ทำให้นายพรานสามารถดูทิศทางกลับบ้านได้ (โดยการใช้มือว้าน้ำก่อนที่จะดื่ม) ดังนั้นลำห้วยแห่งนี้ จึงได้นามว่าห้วยแม่ว้าหรือแม่วะ ถ้าจะตามภาษาชาวบ้านก็ว่า “เป่งว้า” หรือสว่างไสวรู้แจ้งเห็นจริง

ประเด็นที่ 2 ในสมัยโบราณได้มีกองทัพหนึ่งชื่อว่า “ทัพปู่ฟ้าหรือทัพเจ้าฟ้า” ได้ยกกองทัพปะทะกองทัพอีกกองหนึ่งในบริเวณใกล้กับดอยผาแดง หรือดอยแป๋หลวง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของหมู่บ้านน้ำดิบ ทัพปู่ฟ้าจะเป็นกองทัพมาจากเชียงใหม่ สุโขทัย อยุธยา หรือกรุงธนบุรีก็ไม่มีหลักฐานยืนยันได้ ตามประวัติศาสตร์สมัยโบราณ มีการยกกองทัพจากกรุงศรีอยุธยาหรือกรุงธนบุรีขึ้นไปที่เชียงใหม่หลายครั้ง แต่ก็ยังหาหลักฐานยืนยันไม่ได้ ทั้งสองกองทัพ ปะทะกันที่บริเวณเด่นทัพปู่ฟ้าแล้วเกิดการสู้รบกันขึ้นทำให้ทหารของสองฝ่ายล้มตายเป็นอันมาก จนทั่วบริเวณเต็มไปด้วยเลือด และเลือดไหลปนกับน้ำในลำห้วยทหารต้องตักน้ำหรือว้าน้ำ ที่เป็นเลือดให้ไหลไปทางอื่นแล้วจึงจะดื่มน้ำนั้นได้ ดังนั้นลำห้วยแห่งนี้จึงได้มีชื่อว่า ห้วยแม่วะบก เพราะเป็นห้วยหนึ่งที่ไหลลงสู่ห้วยแม่วะ คำว่าแม่วะอาจจะมาจากการที่ทหารใช้มือว้านน้ำดื่มก็ได้

ซึ่งในปัจจุบัน ชุมชนแม่วะหลวงเป็นชุมชนมีทรัพยากรธรรมชาติที่ยังคงความบริสุทธิ์อยู่มาก อาทิ ท้องฟ้าที่สดใส ทุ่งนาและภูเขาอันเขียวขจี มีถ้ำและน้ำตกอันงดงาม นอกจากนั้น ยังมีความโดดเด่นในการต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยรำวงย้อนยุคนำเที่ยวด้วยรถซาเล้ง มีโฮมสเตย์ที่เรียบง่ายแต่แฝงด้วยความอบอุ่น และเป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์ของเห็ดเผาะรสชาติดี

ชุมชนแม่วะหลวง ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองจังหวัดลำปางไปทางทิศใต้ ประมาณ 105 กิโลเมตร ห่างจากอำเภอเถิน 15 กิโลเมตร อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วะ และติดกับภูเขาผีปันน้ำ มีป่าเบญจพรรณ จึงมีความอุดมสมบูรณ์ ตำบลแม่วะ ตั้งอยู่ที่บ้านแม่วะหลวง หมู่ที่ 8 ตำบลแม่วะ อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง อยู่ทางทิศใต้ของที่ว่าการอำเภอเถิน และอยู่ห่างจากอำเภอเถินประมาณ 17 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อ เขตเทศบาลตำบลเถินบุรี อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง
  • ทิศใต้ ติดต่อ เขตอำเภอสามเงา จังหวัดตาก
  • ทิศตะวันออก ติดต่อ เขตเทศบาลตำบลเวียงมอก อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง
  • ทิศตะวันตก ติดต่อ เขตเทศบาลตำบลแม่ปุ เทศบาลพระบาทวังตวง อำเภอแม่พริก จังหวัดลำปาง

ลักษณะภูมิประเทศ

เป็นเทือกเขาทอดยาวทางทิศตะวันออก จากตำบลเถินบุรีเป็นภูเขากั้นเขตระหว่างตำบลแม่วะกับตำบลเวียงมอก มีพื้นที่ทำนาทำไร่ทำสวนประมาณหนึ่งในสี่ของพื้นที่ทั้งหมดนอกนั้นเป็นป่าและภูเขา แหล่งน้ำธรรมชาติ ภายในตำบลแม่วะที่สำคัญมีดังนี้ ห้วยแม่วะ ลำห้วยแม่วะแล้ง ห้วยแม่กึ๋งหรือห้วยศาลา

บ้านแม่วะหลวงมี ประชากรชาย 378 คน หญิง 395 คน รวม 773 คน จำนวนครัวเรือน 212 ครัวเรือน

ประชาชนในตำบลแม่วะ มีการประกอบอาชีพด้านการเกษตรเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรมทำนาเพื่อบริโภคเองในครัวเรือน มีการเพาะปลูกพืชไร่ อาทิ ถั่วเขียว ข้าวโพด ด้านการเลี้ยงสัตว์มีการเลี้ยงโคเนื้อ กระบือ สุกร ไก่ และปลา สินค้าจากคนในชุมชนสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้ ทั้งนี้การบริหารจัดการกองทุนของชุมชนเกี่ยวกับการทำธุรกิจ เอาผลกำไรมาจัดสวัสดิการให้คนในชุมชนในแต่ละหมู่บ้านจะมีการรวมกลุ่มของชาวบ้าน โดยแบ่งได้ดังนี้

  • กลุ่มจักสาน สานกระติบข้าวจากใบลาน โดยคนเฒ่าคนแก่ในชุมชนสืบทอดมา และได้มีการประยุกต์ดัดแปลงทำให้เป็นรูปทรงต่างๆ ทั้งของชำร่วย ของฝาก ซึ่งเมื่อนักท่องเที่ยวได้เห็นแล้วก็จะซื้อติดไม้ติดมือกลับไป
  • บ้านพักโฮมสเตย์ ชุมชนแม่วะหลวงมีโฮมสเตย์ที่จัดทำขึ้นกันเอง สำหรับนักท่องเที่ยวที่จะมาพัก
  • กลุ่มทอผ้า เป็นลานทอผ้าของกลุ่มชาวบ้านที่จะรวมตัวกันมาทอผ้า โดยมีลายที่เป็นเอกลักษณ์และมีชื่อเสียงคือ ลายผ้าราชวัตร โดยการทอจากวัสดุที่ทำจากธรรมชาติ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัฒนธรรม

  • วัดแม่วะหลวง ตั้งอยู่บ้านแม่วะหลวง หมู่ 8 ที่แยกมาจากบ้านท่าช้าง หมู่ 2 ตำบลแม่วะ อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง วัดแม่วะหลวงเป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดในตำบลแม่วะ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2408 ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีมีอายุ 141 ปี วัดแม่วะหลวงเป็นแหล่งเรียนรู้ทางศาสนา และประกอบกิจกรรมของคนในตำบลแม่วะ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน หน้าวัดเป็นทุ่งนาข้าว เป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดในตำบลแม่วะ ภายในวัดมีเสาศาลาแกะสลักพุทธประวัติแบบนูนต่ำอันงดงาม
  • การแสดงฟ้อนรำและกิจกรรมนั่งสามล้อชมบ้าน เป็นการแสดงต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมชุมชนแม่วะหลวง มีความโดดเด่นในการต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยรำวงย้อนยุคที่มาเป็นหมู่คณะที่ลานศูนย์การเรียนรู้ หลังจากนั้นก็จะพานักท่องเที่ยวขึ้นรถซาเล้งเพื่อนำชมชุมชน
  • โรงทำขนมแปรรูป กลุ่มคนทำขนมแปรรูปจากผักหวานที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนแห่งนี้ ทั้งขนมผักหวานที่มีกลิ่นหอมละมุน ทำขนมเปี๊ยะไส้ถั่วทองผสมฟักหวาน และไส้ผักหวาน เค้กกล้วยหอม และปั้นขลิบไส้ถั่วทองชวนให้นักท่องเที่ยวมาสัมผัสวิถีชีวิตของคนในชุมชน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ชาวบ้านส่วนใหญ่มีการทำอาชีพเกษตรกรรมเพื่อเลี้ยงปากท้องตัวเองเป็นหลัก แต่ในปัจจุบันได้พบกับความเปลี่ยนแปลงที่ว่า ผู้คนยุคใหม่ไม่ได้ใส่ใจกับการทำการเกษตรเพื่อเลี้ยงปากท้องตัวเองไปวันๆ แต่ยังมีปัจจัยหลายๆ อย่างทำให้ต้องหางานอย่างอื่นทำ เช่น การเข้าไปทำงานในกรุงเทพ หรือไปเป็นแรงงานเกษตรที่ขายแรงงานให้กับต่างประเทศ อาทิเช่น ไต้หวัน ญี่ปุ่น ลิเบีย เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามความคิดของคนแต่ละรุ่นที่ต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ตนเอง


ถึงแม้ว่าแม่วะหลวงจะมีความอุดมสมบูรณ์มากเท่าไหร่ แต่ถ้าทุกคนในหมู่บ้านไม่ช่วยกันดูแลรักษาละมีการจัดการอย่างเป็นระบบที่ดี ทรัพยากรทางธรรมชาติที่เป็นจุดเด่นของชุมชนอาจจะสูญหาย ดังนั้นการมีส่วนร่วมรวมทั้งนักท่องเที่ยวเอง ควรมีสำนึกเสมอว่าต้องร่วมด้วยช่วยกันอนุรักษ์ให้ธรรมชาติคงอยู่และให้ประโยชน์กับเราต่อไป

ชุมชนแม่วะหลวงมีอุทยานแห่งชาติแม่วะ ซึ่งมีน้ำตกแม่วะ โดยบริเวณโดยรอบน้ำตกแม่วะประกอบไปด้วยภูเขาสูงชัน น้ำตกแม่วะอยู่ในอุทยานแห่งชาติมี น้ำตก 9 ชั้น ชั้นที่ 8-9 นับว่ามีความงดงามที่สุด

กศน.ตำบลแม่วะ. (2560). วัดแม่วะหลวง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 14 ภุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://sites.google.com/

ศรีศุกร์ นิลกรรณ์ และทักษิณ อัครวิชัย. (2556).โครงการวิจัย "การพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือที่ยั่งยืนในการจัดการอัตลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวจังหวัดลำปางอย่างสร้างสรรค์". รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์. สำนักงาน คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.

สำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลแม่วะ. (2559). ประวัติ ความเป็นมา ศิลปะ วัฒนธรรม กลุ่มอาชีพ โอท๊อป และแหล่งท่องเที่ยว ต.แม่วะ จ.ลำปาง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 14 ภุมภาพันธ์ 2567. จาก https://www.maewa-thoen.com/

องค์การบริหารส่วนตำบลแม่วะ อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง. (2560). แผนพัฒนาสามปี (2560-2562). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 14 ภุมภาพันธ์ 2567. จาก https://www.maewa-thoen.com/

Tanthika Thanomnam. (2565). ชุมชนคุณธรรมวัดแม่วะหลวง จังหวัดลำปาง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 14 ภุมภาพันธ์ 2567. เจาก https://jk.tours/

อบต.แม่วะ โทร. 0-5420-9334