เป็นหมู่บ้านชาวประมงที่มีธรรมชาติและวิถีชีวิตชาวประมงนอกจากยืนหยัดในอาชีพชาวประมงท้องถิ่นที่โดดเด่น และเป็นแหล่งสร้างเรือประมงพื้นบ้านที่มีลวดลายสีสันสวยงาม
เก้าเส้ง เป็นคำที่เพี้ยนมาจาก "เก้าแสน"
เป็นหมู่บ้านชาวประมงที่มีธรรมชาติและวิถีชีวิตชาวประมงนอกจากยืนหยัดในอาชีพชาวประมงท้องถิ่นที่โดดเด่น และเป็นแหล่งสร้างเรือประมงพื้นบ้านที่มีลวดลายสีสันสวยงาม
ชุมชนเก้าเส้ง ได้รับการจัดตั้งขึ้นเป็นชุมชนครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2527 โดยความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ อาทิเช่น เทศบาลนครสงขลา องค์การยูนิเชฟร่วมกับประชาชนในชุมชนเก้าเส้ง แรกเริ่มเดิมมีประชาชนในชุมชนเก้าเส้งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ราชพัสดุบริเวณแหลมสนต่อมา จอมพลสฤกษ์ ธนเริชต์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้มาตรวจเยี่ยมราชการจึงได้มีบัญชาให้ประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่บริเวณแหลมสนอ่อนย้ายมาอาศัยอยู่ในพื้นที่ราชพัสดุบริเวณเก้าเส้งหรือเก้าแสนจนถึงปัจจุบัน
ตามตำนานเก้าเส้งหรือเก้าแสน เป็นลักษณะภูเขาเตี้ยๆ มีต้นไม้ขึ้นเป็นหย่อมๆ ทางด้านที่ติดทะเล มีหินอยู่ก้อนหนึ่งโตพอสมควรดูแล้วน่าตกทะเลแต่ไม่ตกจะใช้กำลังกระแทกยกเท่าไหร่ก็ไม่ตก หินก้อนนี้ชาวบ้านเรียกว่า "หัวนายแรง" เรื่องของนายแรงนั้นมีนิทานท้องถิ่นประกอบว่าสมัยพระเจ้าธรรมศรีโศกราชสร้างเจดีย์พระบรมธาตุที่นครศรีธรรมราช นายแรงซึ่งเป็นคนไทยใจบุญใจกุศลได้เรี่ยรายแก้วแหวนเงินทองมากมายบรรทุกสำเภาเพื่อไปบรรจุพระบรมธาตุ เมื่อสำเภามาถึงปากน้ำเมืองสงขลา (สมัยก่อนปากน้ำอยู่ที่เก้าเส้ง) ชาวเรือที่มาจากนครศรีธรรมราชแจ้งว่า เขาสร้างพระธาตุเจดีย์บรรจุเสร็จแล้ว เมื่อนายแรงทราบดังนั้นด้วยความเสียใจก็ได้จมเรือและกลั้นใจตายที่เรือพร้อมทรัพย์สมบัติจำนวนเก้าแสน ภายหลังคนจีนได้เรียกเสียงเพี้ยนไปเป็น "เก้าเส้ง" หรือ "เก้าแสง" ที่หินหัวนายแรงโดยเฉพาะข้างใต้หินนั้น เมื่อประมาณ 80 ปีมาแล้ว มีช่องพอล่วงมือลงไปได้ เมื่อล้วงลงไปจะพบเงินเหรียญมากมาย แต่นำขึ้นมาไม่ได้ เชื่อว่าหากใครผลักหินหัวนายแรงให้ตกลงไปได้จะได้มีทรัพย์สินที่นายแรงนำมาทั้งหมด
ลักษณะชุมชนเป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นมากและแออัด ไม่มีพื้นที่ทิ้งร้างและพื้นที่สีเขียวสาธารณะ มีพื้นที่เปิดโล่งบริเวณชายหาดเก้าเส้ง มีลักษณะเป็นอุตสาหกรรมและแปรรูปอาหารทะเล มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับ ถนนเก้าแสน
ทิศใต้ ติดต่อกับ ถนนหลังเก้าแสน
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ถนนเก้าแสน ซอยทำไก่
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ถนนเก้าแสน ซอย2
ประชากรตามทะเบียนราษฎร มีจำนวนครัวเรือน 496 ครัวเรือน และจำนวนประชากรรวมทั้งสิ้น 1,480 คน ชาย 720 คน หญิง 760 คน ชาวชุมชนนั้นมีทั้งคนไทยพุทธ ไทยเชื้อสายจีน และชาวไทยมุสลิม
โครงสร้างพื้นฐาน ภายในชุมชนมีถนนสัญจรหลักเพียง 1 สาย สามารถเชื่อมต่อไปยังเทศบาลเขารูปช้าง การสัญจรภายในชุมชนไม่ค่อยสะดวก สัญจรโดยเส้นทางเดินเท้า พื้นผิวถนนขรุขระเป็นหลุม ไฟส่องสว่างบนถนนมีไม่เพียงพอทางเดินเท้ายังไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีพื้นที่สำหรับจอดรถสาธารณะ ไม่มีระบบบำบัดน้ำเสียบริเวณลำคลองสำโรงและการจัดการขยะยังไม่มีประสิทธิภาพเนื่องจากรถเก็บขยะไม่สามารถเข้าไปในชุมชนได้ ทำให้น้ำในคลองเน่าเสียเป็นอย่างมาก อาชีพหลักของครัวเรือนจะเป็นข้าราชการ ค้าขาย ทำการประมง ทำการแปรรูปอาหารทะเล อาชีพเสริม คือ ปลูกผักสวนครัว และรับจ้างทั่วไป
เป็นชุมชนที่มีประชากรนับถือศาสนาอิสลาม และมีมัสยิดประจำชุมชน คือ มัสยิดชุมชนเก้าเส้ง และมีวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับความเชื่อ ตามวันสำคัญทางศาสนา เช่น วันฮารีรายอ วันเข้าสุนัต วันถือศีลอด วันอาชูรอ วันเมาลิด
ทุนธรรมชาติ
มีทุนทางธรรมชาติเพราะตั้งอยาปากคลองสำโรงซึ่งเป็นบริเวณที่เชื่อมติดกับทะเลอ่าวไทย ทำให้วิถีชีวิตส่วนใหญ่ของชุมชนเก้าเส้งนั้นจะทำอาชีพประมง เพราะมีธรรมชาติทางทะเลที่เอื้ออำนวยต่อการทำอาชีพและสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดการทำอาชีพอื่นๆ ได้มากยิ่งขึ้น
ทุนวัฒนธรรม
- เขาเก้าเส้ง (วัดเขาเก้าแสน)
เป็นเขาหินลูกเล็กๆ อยู่ริมทะเล ทางตอนใต้ของหาดชลาทัศน์ พื้นที่โดยรอบเป็นชุมชนชาวประมง ภายในวัดมี "วิหารพระพุทธมารดา" ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางประสูติ และกลางลานวัดประดิษฐานพระพุทธรูป ปางมารวิชัยองค์ใหญ่นามว่า "พระพุทธเมตตา" จากตัววัดมีบันไดหินเดินขึ้นไปสู่เนินเขาใกล้ๆ ประดิษฐาน "พระเจดีย์ยอดเขาเก้าเส้ง" เป็นเจดีย์ทรงลังกาก่ออิฐถือปูน
มีปัญหาด้านที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อม อยู่ในแหล่งชุมชนที่เสี่ยงต่อการเกิดเป็นชุมชนเสื่อมโทรมในอนาคต สำหรับที่ดินว่างริมน้ำดำเนินการปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเมือง พัฒนาพื้นที่ริมน้ำให้ผู้คนสามารถเข้ามาใช้งานได้ทุกเพศทุกวัย ลักษณะโครงการพัฒนา เช่น พัฒนาเป็นสวนสาธารณะที่มีทางเดินริมน้ำ ลานกีฬา พัฒนาเป็นพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมของชุมชน ตัวอย่างเช่น งานแสดงศิลปะ นิทรรศการเชิงวัฒนธรรม ร่วมไปถึงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยให้เป็นไปตามข้อกำหนดของพระราชบัญญัติควบคุมอาคารเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเป็นชุมชนแออัดในอนาคต จัดตั้งปรับปรุงพัฒนาในลักษณะตลาดนัดชุมชนขนาดเล็ก โดยมีพื้นที่สำหรับจอดรถสาธารณะรวมไปถึงระบบการจัดการด้านขยะและการบำบัดน้ำเสียอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพเพิ่มให้เป็นพื้นที่ที่สามารถทำกิจกรรมได้หลากหลายเพื่อกระตุ้นระบบเศรษฐกิจให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น
คณะกรรมการชุมชนเก้าเส้ง. (2564). แผนพัฒนาชุมชน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://www.songkhlacity.go.th/2020/files/com_content_community/2021-06_352179143c0d120.pdf
ลัดดา จิตรเอียด. (2562). แนวทางการพัฒนาชุมชนย่านตลาดเก้าเส้งและย่านตลาดรถไฟ เขตเทศบาลนครสงขลา. สถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบชุมชนเมือง มหาวิทยาลัยศิลปากร.
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านศิลปะเเละวัฒนธรรม. (2561). สถานที่ทางวัฒนธรรมเก้าเส้ง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: http://culture.skru.ac.th/culturesk/culturest/nced/culturalplace.php?main=11
ศาลากลางจังหวัดสงขลา. (2555). หาดเก้าเส้ง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://www.songkhla.go.th/travel/detail/130
องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน. (2563). เขาเก้าเส้ง (วัดเขาเก้าเส้ง). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://cbtthailand.dasta.or.th/webapp/relattraction/content/868/