ต้นตํารับรําตังหวาย ถิ่นไทยนักปราชญ์ ทวยราษฏร์น้ำใจงาม สุดเขตแดนสยาม มะขามหวานหลากหลาย กล้วยตากรสดี ประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา แข่งนาวาสองฝั่งโขง
ในสมัยอดีตเป็นพื้นที่ของเมืองที่ชื่อว่า เขมราษฎร์ แต่ในภายหลังได้ถูกเปลี่ยนชื่อมาเป็น เขมราฐ ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ซึ่งมีความหมายเดียวกัน คือ ดินแดนแห่งความเกษมสุข
ต้นตํารับรําตังหวาย ถิ่นไทยนักปราชญ์ ทวยราษฏร์น้ำใจงาม สุดเขตแดนสยาม มะขามหวานหลากหลาย กล้วยตากรสดี ประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา แข่งนาวาสองฝั่งโขง
เขมราฐ หรือ เขมราษฎร์ธานี ตั้งอยู่บริเวณติดแม่น้ำโขง เป็นเมืองชายแดนระหว่างประเทศ สปป.ลาว เมืองเขมราฐ หรือ เขมราษฏร์ธานีถูกบันทึกไว้ในแผนที่ประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2357 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดเกล้าให้สร้างบ้านโคกจงพะเนียงขึ้นเป็นเมืองเขมราษฎร์ธานี มีฐานะเป็นเมืองชั้นเอกขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานครและแต่งตั้งให้ อุปฮาดต่ำ มาเป็นเจ้าเมืองคนแรก ซึ่งเดินทางมาจากเมืองอุบลราชธานีเพื่อมาดำรงตำแหน่ง พระเทพวงศา คอยปกครองเมืองเขมราษฎร์ธานี จนกระทั่งประมาณปี พ.ศ. 2436 หรือประมาณรศ.112 ประเทศลาวได้ตกเป็นเมืองขึ้นและอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศฝรั่งเศส จึงทำให้เมือง เขมราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นเมืองชายแดน ได้กลายเป็นศูนย์กลางการค้าเพื่อการแลกเปลี่ยนระหว่างพรมแดน โดยมีสถานะเป็นเมืองท่าสำคัญ สำหรับการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างประเทศลาวกับประเทศสยามตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นอกจากนี้เมืองเขมราฐยังมีเมืองขึ้นอีกหลายเมือง เช่น เมืองอำนาจเจริญ เมืองคำเขื่อนแก้ว เป็นต้น
สำหรับการก่อตั้งเมืองเขมราฐขึ้น ได้ปรากฏในเอกสารที่เป็นหลักฐานว่าใน พ.ศ.2357 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดเกล้าฯ ตั้งเมืองยโสธรขึ้น โดย อุปฮาด (ก่ำ) ซึ่งเป็นอุปฮาดเมืองอุบลราชธานี ไม่พอใจที่ทำราชการกับพระพรหมราชวงศาหรือท้าวทิศพรหม เจ้าเมืองอุบลราชธานีคนที่ 2 จึงอพยพไพร่พลไปหาทำเลที่เหมาะสมเพื่อตั้งเมืองขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นการสนองพระบรมราโชบายในการตั้งเมืองขึ้นใหม่ในช่วงระยะเวลานั้น ซึ่งในที่สุดพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านโศกกงพะเนียง ขึ้นเป็นเมืองเขมราฐธานีโดยได้ขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร เมื่อ พ.ศ.2357 พร้อมทั้งโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้อุปฮาด (ก่ำ) ขึ้นเป็นตำแหน่งพระเจ้าเทพวงศาเมืองจนตลอดสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเมืองเขมราฐมีความสำคัญและขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานครตลอดมา เมื่อครั้นถึง พ.ศ.2371 คราวที่เสร็จสิ้นสงครามปราบกบฏเจ้าอนุแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เมืองโขงเจียม ซึ่งเคยขึ้นตรงต่อเจ้าเมืองจำปาสักมาขึ้นตรงต่อเมืองเขมราฐ เป็นผลให้เมืองเขมราฐมีบทบาทมากขึ้น เมื่อโปรดเกล้าให้ตั้งเมืองคำเขื่อนแก้วใน ปี พ.ศ. 2388 เมืองอำนาจเจริญในปี พ.ศ. 2401 ก็โปรดเกล้าให้ขึ้นตรงต่อเมืองเขมราฐเช่นกัน
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อมีการปรับปรุงการปกครองส่วนภูมิภาคครั้งใหญ่ เพื่อให้บังเกิดผลตามที่กำหนดใน “พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ.116” มณฑลอีสานถูกแบ่งออกเป็น 8 บริเวณ สำหรับเมืองอุบลราชธานีที่อยู่ 3 เมือง คือเมืองอุบลราชธานี เมืองเขมราฐ และเมืองยโสธร แต่ละเมืองมีพื้นที่ขึ้นตรงหลายอำเภอดังที่ปรากฏว่าในปี พ.ศ.2445 เมืองเขมราฐมีพระเขมรัฐเดชธนีรักษ์ (คำบุ) เป็นผู้ว่าราชการเมือง และมีอำนาจอยู่ในปกครอง 6 อำเภอ คือ อำเภออุทัยเขมราฐ อำเภอประจิมเขมราฐ อำเภออำนาจเจริญ อำเภอคำเขื่อนแก้ว อำเภอโขงเจียม และอำเภอวารินชำราบ อันแสดงให้เห็นว่าเมืองเขมราฐยังเป็นเมืองที่มีความสำคัญมาก ต่อมาใน พ.ศ.2452 ได้มีการปรับปรุงการปกครองภายในบริเวณเมืองอุบลราชธานีอีกครั้งหนึ่ง เมืองเขมราฐถูกลดฐานะเป็นอำเภอและรวมอำเภออุทัยเขมราฐกับอำเภอประจิมเขมราฐเข้าด้วยกันเป็นอำเภออุทัยเขมราฐขึ้นกับเมืองยโสธร แต่ก็ยังเป็นบริเวณอุบลราชธานีอยู่เหมือนเดิมในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการแยกมณฑลอีสานออกเป็นมณฑล คือ มณฑลอุบลราชธานีกับมณฑลร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2455 และมีการปรับปรุงให้เหมาะสม เมืองยโสธรถูกยกเลิกไป เมืองอุทัยเขมราฐก็มีฐานะเป็นอำเภอขึ้นกับจังหวัดอุบลราชธานีตลอดมาจนถึงปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าให้ตั้งบ้านกงพะเนียง ขึ้นเป็นเมืองชื่อ “เมืองเขมราษฎร์ธานี” ขึ้นกับกรุงเทพมหานคร พร้อมกันนั้นได้ตั้งให้อุปฮาด (ก่ำ) เป็นเจ้าเมืองคนแรกในปี พ.ศ. 2357 แม้ว่าเมืองเขมราษฎร์ธานี จะเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองเขมราฐในภายหลัง มีความหมายเดียวกันคือ "ดินแดนแห่งความเกษมสุข" (ราษฎร์) เป็นคำที่มาจากภาษาลีสันสกฤตมีความหมายตรงกับ "รัฐ" หรือ "รัฏฐ" ซึ่งมาจากภาษาบาลี หมายถึง แว่นแคว้นหรือดินแดนนั้นเอง ส่วน "เขม" เป็นคำมาจากภาษาบาลี หมายถึง ความเกษมสุข ซึ่งหมายความตรงกับ เกษม ที่มาจากภาษาสันสกฤต เมืองเขมราฐเปลี่ยนมาเป็นอำเภอเขมราฐ ขึ้นกับจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อ พ.ศ. 2452 โดยมีพระเกษมสำราญรัฐ เป็นนายอำเภอคนแรก
อำเภอเขมราฐ มีพื้นที่ทั้งสิ้นประมาณ 526.75 ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
ทิศเหนือ จดแนวฝั่งแม่น้ำโขง บริเวณตรงข้ามเมืองสองคอน แขวงสะหวันเขต ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เป็นแนวยาวตามลำน้ำโขง
ทิศตะวันออก จดแนวฝั่งแม่น้ำโขงบริเวณตรงข้ามเมืองคอนพะเพ็ง แขวงสาละวัน ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และอำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอนาตาล และอำเภอกุดข้าวปุ้น จังหวัดอุบลราชธานี
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอปทุมราชวงศา และอำเภอชานุมานจังหวัดอำนาจเจริญ
ลักษณะภูมิประเทศ
อำเภอเขมราฐ มีสภาพพื้นที่โดยทั่วไปส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูงสลับเนินเขาซึ่งมีลักษณะเป็นดินรวนปนทราย และมีสภาพเป็นดินเหนียวตามไหล่เขาและพบป่าไม้เบญจพรรณอยู่ทั่วไปมีลักษณะเป็นป่าโปร่งรวมถึงมีแม่น้ำโขงไหลผ่านตามแนวชายแดนทางด้านทิศเหนือ และทิศตะวันออกตลอดแนวความยาวประมาณ 43 กิโลเมตร
สภาพภูมิอากาศ
สภาพอากาศโดยทั่วไปของอำเภอเขมราฐมีลักษณะอากาศแบบร้อนชื้น ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ฤดู คือ
- ฤดูร้อน ช่วงประมาณปลายเดือนมีนาคม-ต้นเดือนพฤษภาคม อากาศร้อนอบอ้าว
- ฤดูฝน ประมาณกลางเดือนพฤษภาคม-ต้นเดือนตุลาคม มีฝนตกโดยทั่วไป
- ฤดูหนาว ประมาณต้นเดือนพฤศจิกายน-เดือนมีนาคม อากาศจะเริ่มเย็นลงจนกระทั่งมีอากาศหนาว
ชุมชนเขมราฐจัดเป็นสังคมการเกษตร ซึ่งอาชีพหลักของคนในชุมชน คือ ทำนา ทำไร่ ทำสวน และมีรายได้เสริมจากการรับจ้าง ค้าขาย การประมง เนื่องจากที่อยู่อาศัยอยู่ติดแม่น้ำโขง พบว่าวิถีชีวิตของคนในชุมชนสอดคล้องกับธรรมชาติ โดยชาวบ้านในชุมชนใช้ชีวิตแบบเงียบสงบและพอเพียง ในส่วนขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นยึดถือประเพณีฮีตสิบสอง ซึ่งมีในแต่ละเดือนทั้งหมด สิบสองเดือน เรียกว่า ฮีตสิบสองครองสิบสี่ คนในชุมชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ โดยศาสนสถานที่สำคัญในเขตเทศบาลเขมราฐนั้นส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ริมถนนกงพะเนียงมและเนื่องด้วยบริเวณดังกล่าวเคยเป็นเมืองเก่ามาก่อน จึงทำให้แต่ละวัดอยู่ห่างกันแค่ไม่กี่ร้อยเมตร
กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ได้แก่
- วิสาหกิจชุมชนชมรมตลาดน้ำริมโขงเขมราฐ
- กลุ่มทอผ้าฝ้ายแท้ทอมือเขมราฐ
- ผู้ปลูกพืชสมุนไพรทางการเเพทย์บ้านท่ากกทันเมืองเขมราษฏร์ธานี
- กลุ่มส่งเสริมและอนุรักษ์พัฒนาควายไทย ตำบลเจียด
- ศูนย์เพาะชำกล้าไม้เศรษฐกิจเขมราฐธานี
- เวชศาสตร์สมุนไพรศึกษาเพื่อพัฒนาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตครู กลุ่มที่ 1 อ.เขมราฐ
- กล้วยตากแสงแรกเขมราษฎร์ธานี
เมืองเขมราฐมีการจัดเทศกาลต่างๆ ขึ้นตามประเพณี ได้แก่
- ประเพณีแข่งเรือยาว ประเพณีสองฝั่งโขงไทย-ลาว ลำน้ำโขงหน้าเทศบาล ต.เขมราฐ เดือนตุลาคมของทุกปี
- ประเพณีสงกรานต์ แก่งช้างหมอบ เทศบาลตำบลเทพวงศา 13-15 เมษายน
- ประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา เทศบาลตำบลเขมราฐ เดือนกรกฎาคม
ทุนวัฒนธรรม
- วัดโพธิ์
ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2331 โดยแม่ชีขาว ที่หนีภัยสงครามมา และนำผู้คนอพยพลงมาจากเวียงจันทร์มาตามลำน้ำโขง และยึดชัยภูมิแห่งนี้ ตั้งหมู่บ้านและวัดขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรี มีพระพุทธรูปที่สำคัญรูปหนึ่ง คือ พระเจ้าใหญ่องค์แสน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 1.09 เมตร สูงรวมเกตุ 1.59 เมตร สร้างด้วยอิฐโบราณ ถือด้วยน้ำเกสรดอกไม้ผสมน้ำเปลือกไม้ ตามภูมิปัญญาของคนสมัยโบราณ เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวเขมราฐมาช้านานตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน และเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ที่สุดองค์หนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี
- วัดตาดใหญ่
เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนลานหิน ภายในบริเวณวัดมีการกั้นลำน้ำทำฝายน้ำล้น เพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของคนในชุมชนและหมู่บ้านห่างไกล ซึ่งมีน้ำไหลตลอดปี คนส่วนใหญ่จะมาท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์
- วัดพิชโสภาราม
ห่างจากตัวจังหวัดอุบลราชธานีไปทางด้านทิศเหนือประมาณ 100 กม. ตามทางหลวงหมายเลข 2050 สายอุบลราชธานี-เขมราฐ แล้วเลี้ยวที่ทางแยกหน้าสถานีตำรวจภูธรม่วงเฒ่าเข้าไปอีกประมาณ 7 กม. วัดนี้ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อ พ.ศ. 2456 มีการพัฒนามาโดยลำดับ มีการก่อสร้างศาสนสถานถาวรวัตถุขึ้นมาตามยุคตามสมัย ปัจจุบันมีพระบวรปริยัติวิธาน รองเจ้าคณะอำเภอเขมราฐ เป็นเจ้าอาวาสวัดพิชโสภาราม พระบวรปริยัติวิธาน เป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ที่ชาวบ้านให้ความเคารพศรัทธาเลื่อมใสมาก และเป็นที่ยอมรับในหมู่คณะสงฆ์ว่าเป็นพระเถระผู้มีความสามารถทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติ
- วัดบ้านเหนือเขมราฐ
เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่เมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 มีพระอุโบสถหลังเดิมเป็นโบราณสถาน หน้าบรรณมีรูปปั้นพระราหูอมจันทร์ที่มีความสวยงามเป็นอย่างมาก
- วัดอูบมุง
มีพระพุทธรูปพระเจ้าใหญ่องค์หมื่นประดิษฐานอยู่สร้างตั้งแต่สมัยใดไม่ประกฏแน่ชัด ค้นพบครั้งแรกเมื่อ 200 กว่า ปีมาแล้ว ตั้งแต่สมัยดินแดนแห่งนี้ยังเป็นที่รกร้างว่างเปล่า ไม่มีผู้ใดเข้ามาอยู่อาศัยเมื่อประมาณ พ.ศ. 2499 มีท้าวจันทรศรีสุราช พร้อมครอบครัวได้อพยพตั้งหลักแหล่งทำมาหากินในบริเวณที่ตั้งบ้านอูบมุงในปัจจุบันและได้ค้นพบพระพุทธรูปโบราณโดยบังเอิญเป็นพระพุทธรูปนาคปรกประดิษฐานอยู่ในสถูป โดยองค์พระมีจอมปลวกพอกขึ้นมาจนถึงพระอุระ (อก) จึงได้ทำการบูรณะและเรียกว่า พระอูบมุง ซึ่งสันสันนิษฐานว่าเรียกตามที่องค์พระประดิษฐานอยู่ในสถูป ซึ่งคำว่า “สถูป” ชาวบ้านเรียกว่า “อูบ” ตามตำนานที่เล่าขานสืบต่อกันมา เชื่อว่าพระเจ้าใหญ่อูบมุง สร้างขึ้นสมัยเดียวกันกับพระเจ้าใหญ่ปากแซ่ง (พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ)และพระเจ้าใหญ่วัดโพธิ์ (พระเจ้าองค์แสน) ส่วนพระเจ้าใหญ่อูบมุง เป็นพระเจ้าใหญ่องค์หมื่น อีกทั้งยังมีศาลหลักเมืองเขมราฐ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองซึ่งเป็นศาลปู่ตา เป็นที่เคารพสักการะของชาวเขมราฐอีกด้วย
- พิพิธภัณฑ์เมืองเขมราษฎร์ธานี
เป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมข้อมูลเมืองเขมราฐ เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย บอกเล่าประวัติศาสตร์ของเมืองเขมราฐ และเป็นที่เก็บรวบรวมของเก่าแก่ในอดีตไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา ได้แก่ ของใช้ของคนสมัยก่อนได้ใช้ดํารงชีพ รูปภาพในอดีต ตาชั่งโบราณ รูปปั้นโบราณ ถ้วยชาม เครื่องปั้นดินเผา เป็นต้น
- โรงแรมสุขสงวน
เป็นโรงแรมแห่งแรกของอําเภอเขมราฐ สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง มีการตกแต่งอย่างสวยงาม ปัจจุบันไม่ได้เปิดให้บริการในส่วนของห้องพักแล้ว แต่เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชมเมืองเขมราฐ
- บ้านขุนภูรีประศาสน์
เป็นบ้านไม้ยกใต้ถุนสูง ด้านหน้าบ้านตกแต่งอย่างสวยงามให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายภาพเป็นที่ระลึก ด้านบนบ้านจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์ โดยรวบรวมข้าวของเครื่องใช้เก่าแก่จํานวนมากให้นักท่องเที่ยวเยี่ยมชมและศึกษาข้อมูลวิถีชีวิตของผู้คนในอดีต
ในวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 นายปัญญา เศวตธรรม นายอำเภอเขมราฐ ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เรื่องขอยกฐานะอำเภอเขมราฐขึ้นเป็นจังหวัดเขมราษฎร์ธานีว่า การที่จังหวัดอุบลราชธานีได้พิจารณารายงานการยกฐานะอำเภอเขมราฐ ขึ้นเป็นจังหวัดเขมราษฎร์ธานี ว่าอยู่ระหว่างการทบทวนความคิดเห็นของประชาชน สำหรับความคิดเห็นส่วนราชการ ทางอำเภอได้มีมติเห็นชอบในการยกฐานะอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ขึ้นเป็นจังหวัดเขมราษฎร์ธานี และในหนังสือขอยกฐานะฯ ดังกล่าว อำเภอเขมราฐได้ส่งข้อมูลที่ดินสำหรับใช้เป็นศูนย์ราชการจังหวัดเขมราษฎร์ธานี เพื่อใช้ก่อสร้างสถานที่ราชการจำนวน 4 แห่งได้แก่
- สถานที่ตั้งศาลากลางจังหวัดเขมราษฎร์ธานี
- สถานที่ตั้งโรงพยาบาลจังหวัดเขมราษฎร์ธานี
- สถานที่ตั้งศาลจังหวัดเขมราฐธานี
- สถานที่ตั้งแขวงศาลแขวงและศูนย์ราชการอื่นๆ
สำหรับการขอตั้งจังหวัดใหม่นั้น จะต้องเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2524 คือ
- ต้องมีไม่น้อยกว่า 8 อำเภอ
- มีประชากรไม่น้อยกว่า 3 แสนคน
- หน่วยงานราชการที่จะมาเป็นจังหวัดใหม่มีความพร้อมหรือไม่ ที่สำคัญต้องได้รับความยินยอมจากประชาชนทั้งจังหวัด
และมีขั้นตอนการขอตั้งจังหวัดใหม่ อาทิ อำเภอที่จะขอตั้งเป็นจังหวัดใหม่ต้องเสนอเรื่องไปยังจังหวัด จากนั้นต้องมีการตั้งเรื่องมายังกระทรวงมหาดไทย เพื่อทำแบบสอบถามไปยังประชาชน และสอบถามองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และส่วนราชการต่างๆ ว่าเห็นชอบหรือไม่ หากส่วนใหญ่เห็นด้วยถือว่าผ่านเกณฑ์ ทางกระทรวงมหาดไทยจะเสนอต่อที่ประชุม ครม. เมื่อครม.พิจารณาเห็นชอบก็ต้องส่งเรื่องเข้ามาสู่สภาผู้แทนราษฎร เพื่อเสนอเป็นกฎหมาย พ.ร.บ.จัดตั้งจังหวัดต่อไป
ถนนคนเดินเขมราฐ (Khemmarat Walking Street) เป็นถนนที่เรียงรายไปด้วยบ้านไม้และร้านค้าเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง มีร้านขายอาหารท้องถิ่น คาเฟ่สไตล์โฮมเมด และร้านค้าต่างๆ ที่ขายของที่ระลึกและผลิตภัณฑ์ชุมชนอย่างเช่น ผ้าซิ่นและผ้าทอ และยังเต็มไปด้วยมุมถ่ายรูปมากมาย โดยถนนบริเวณนี้จะจัดให้เป็นถนนคนเดินทุกเย็นวันเสาร์ตั้งแต่สี่โมงเย็นไปจนถึงสามทุ่ม จากตัวเมืองอุบลราชธานีไปยังถนนคนเดินเขมราฐมีระยะทางประมาณ 106 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที เนื่องจากไม่มีรถสาธารณะให้บริการในเส้นทางดังกล่าว นักท่องเที่ยวจึงอาจจะต้องเช่ารถขับหรือเหมารถโดยสารท้องถิ่นไปยังถนนคนเดินเขมราฐ
ศศิฉาย โพธิ์เตี้ย. (2566). เขมราฐ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://wikicommunity.sac.or.th/community/1054.
วรรณศิกา จันทร์ตรี และศิวัช ศรีโภคางกุล. (2560). การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับการพัฒนาถิ่นอย่างยั่งยืนกรณีศึกษา อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี. วารสาร มทร.อีสาน ฉบับมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์. 5(1), 116-132.