ร่วมไหว้ขอพรปู่ตาแสง ภูมิปัญญาทอผ้าลายขิด เครื่องจักสานจากกก อัศจรรย์เกษตรอินทรีย์ ชีวีวิถีหัตถกรรมตีเหล็ก
ร่วมไหว้ขอพรปู่ตาแสง ภูมิปัญญาทอผ้าลายขิด เครื่องจักสานจากกก อัศจรรย์เกษตรอินทรีย์ ชีวีวิถีหัตถกรรมตีเหล็ก
ชาวบ้านนาถ่อนเดิมทีสืบเชื้อสายมาจากชนเผ่าไทกวน หรือข่าเลิง ซึ่งมีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่เมืองหลวงปุงลิง (เมืองป่ง) บริเวณแม่น้ำเซน้อย ทางตอนบนของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวใน พ.ศ. 2343 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เกิดสงครามระหว่างรัฐสยามกับญวน (เวียดนาม) บ่อยครั้ง ทางราชการจึงมีนโยบายให้กวาดต้อนอพยพผู้คนจากทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงที่มีอาณาเขตใกล้แดนญวนให้มาตั้งถิ่นฐานตามหัวเมืองฝั่งขวาแม่น้ำโขง คือ ภาคอีสานในปัจจุบันให้มากที่สุดเพื่อความปลอดภัยและไม่ให้เป็นกําลังแก่ญวนต่อไป พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯให้พระมหาสงครามและเจ้าอุปราชเมืองเวียงจันทน์ ซึ่งสวามิภักดิ์ต่อกรุงเทพฯ เกณฑ์กองทัพจากหัวเมืองต่าง ๆ คือ เมืองนครพนม เมืองมุกดาหาร เมืองสกลนคร เมืองท่าอุเทน เมืองไชยบุรี เมืองหนองคาย เมืองเขมราช และเมืองอุบล ยกข้ามแม่น้ำโขงเข้าตีเมืองต่าง ๆ ได้แก่ เมืองวัง เมืองตะโปน (เซโปน) เมืองพิณ เมืองนอง เมืองเชียงฮ่ม เมืองวัง เมืองเหล่านี้มีทั้งชาวผู้ไท กะโซ่ แสก ญ้อ โย้ย และเมืองปุงลิงซึ่งเป็นชาวข่า และได้กวาดต้อนผู้คนจากเมืองเหล่านั้นให้ข้ามมาอยู่ฝั่งไทย ตั้งเป็นเมืองต่าง ๆ ในท้องที่เมืองนครพนม เมืองสกลนคร เมืองมุกดาหาร และเมืองกาฬสินธุ์ ต่อมาราว พ.ศ. 2374 ชาวไทกวนถูกจีนฮ่อและญวนยกทัพเข้ามารุกราน จึงอพยพหลบหนีลงมาตามลำน้ำเซบั้ง ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ส่วนอีกพวกหนึ่งได้พากันอพยพข้ามแม่น้ำโขงมายังฝั่งประเทศไทย โดยการนำของท้าวไชยทรงยศ มาตั้งถิ่นฐานบริเวณปากน้ำห้วยบังฮวก ในดินแดนที่เป็นเมืองมรุกขนครเดิม หรือบ้านดอนนางหงส์ในปัจจุบัน รวมถึงบริเวณที่เรียกว่าบ้านช้างตัวกกตาล และบ้านช้างโพนจิก ริมห้วยบังฮวก
อำเภอเมืองนครพนม ตั้งอยู่อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดนครพนมประมาณ 6 กิโลเมตร มีพื้นที่ 853.20 ตารางกิโลเมตร ประมาณ 551,250 ไร่ มีแม่น้้าและแหล่งน้ำที่สำคัญ คือ แม่น้ำโขง ห้วยบังกอ และห้วยบังฮวก มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับ อ.โพนสวรรค์ อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม และอ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร
ทิศใต้ ติดต่อกับ อ.ธาตุพนม และอ.เรณูนคร จ.นครพนม
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อ.ธาตุพนม อ.เรณูนคร และอ.ปลาปาก จ.นครพนม
สภาพพื้นที่ทางกายภาพ
านนาถ่อน อำเภอเมืองนครพนม มีลักษณะภูมิประเทศทั่วไปเป็นที่ราบลุ่มความสูงของพื้นที่ โดยสูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 140 เมตร สภาพภูมิประเทศแบ่งออกได้เป็น 2 เขต เขตตอนเหนือ สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเนินสูงและที่ดอน มีป่าดงเซกาเป็นป่าเต็งรังสลับกับพื้นที่ ราบใช้ทำนา และเขตตอนใต้ พื้นที่บริเวณใกล้แม่น้ำโขง ทางทิศตะวันออกเป็นที่ราบลุ่ม ส่วนทางทิศตะวันตก ซึ่งอยู่ห่างจากแม่น้ำโขงออกไปมีพื้นที่เนินสูงและที่ดอน มีสภาพป่าเต็งรัง ดินส่วนมากมีลักษณะเป็นหินลูกรังบางแห่ง มีลักษณะเป็นเนินและที่ราบสลับกัน
ชาวบ้านนาถ่อน คือ กลุ่มคนที่สืบเชื้อสายมาจากชนเผ่าข่าเลิง หรือที่รู้จักกันในนามชาวไทกวน ซึ่งมีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่เมืองหลวงปุงลิง (เมืองป่ง) บริเวณแม่น้ำเซน้อยทางตอนบนของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ก่อนอพยพย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานให่ในดินแดนสยามตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีประชากรทั้งสิ้น 196 หลังคาเรือน 604 คน แบ่งเป็นชาย 315 คน และหญิง 289 คน
กลุ่มที่เป็นทางการ
มีการจัดตั้งองค์กรในหมู่บ้าน เพื่อพัฒนาชุมชนและมีการจัดตั้งกองทุนส่วนรวม
กลุ่มไม่เป็นทางการ
- กลุ่มศรัทธาวัด
ในชุมชนบ้านนาถ่อนมีการสักการะพระธาตุพนม ซึ่งประดิษฐาน ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ผลจากการขุดค้นทางโบราณคดีลงความเห็นว่าพระธาตุพนมสร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. 1200–1400 ตามตำนานกล่าวว่าผู้สร้าง คือ พระมหากัสสปะ พระอรหันต์ 500 องค์ และท้าวพระยาเมืองต่างๆ ภายในองค์พระธาตุบรรจุพระอุรังคธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ ลักษณะของสถาปัตยกรรมมีแหล่งที่มาที่เดียวกันกับปราสาทของขอม และได้ทำการบูรณะเรื่อยมา ในปี พ.ศ. 2485 ได้รับการยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกขึ้นเป็น "วรมหาวิหาร”"
- ด้านกลุ่มอาชีพ
ชาวบ้านนาถ่อนส่วนมากประกอบอาชีพเกษตรกรรมแบบเกษตรอินทรีย์ทั้งการทำนา ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ และตีเหล็ก และยังมีกลุ่มทอผ้า กลุ่มจักสาน กลุ่มทำแหนม และกลุ่มทำขนมจีนไม่ใช้แป้งแต่ใช้ข้าวหมักแทน นอกจากนี้ ชาวบ้านยังมีรายได้จากบูรณาการต้นทุนทางวัฒนธรรมของชุมชนเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว แล้วพัฒนาชุมชนให้กลายเป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทกวน โดยการนำเอาวัฒนธรรมและวิถีชีวิตมาเป็นประยุกต์ในการคิดค้นสร้างสรรค์กิจกรรมสำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยว ให้นักท่องเที่ยวได้มีโอกาสเข้ามาร่วมสัมผัสวิถีชีวิตแบบชุมชนอย่างแท้จริง
วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม
- พิธีไหว้ครูบูชาเตา
เป็นพิธีกรรมที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อชาวบ้านนาถ่อน เนื่องจากเป็นพิธีกรรมเก่าแก่ที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับกับอาชีพตีเหล็กมีดพร้า ซึ่งเป็นอาชีพของชาวนาถ่อน อันมีนัยถึงการบูชา ขอบคุณ และขอขมาเครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ โดยในแต่ละปี ผู้เฒ่าผู้แก่จะร่วมปรึกษาหาฤกษ์เลือกวันมงคล เมื่อกำหนดวันแน่นอนแล้ว ในวันที่มีการประกอบพิธีกรรมจะมีการนำอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ที่เกี่ยวข้องกับการตีเหล็ก มีดพร้า มาวางเรียงรายเป็นระเบียบ เตรียมเครื่องสังเวย ได้แก่ หมู ไก่ สุรา ขันธ์ 5 ดอกไม้ ธูป เทียน เครื่องบูชาพระภูมิ เครื่องบูชาพระแม่ธรณี และเครื่องบูชาพระวิษณุกรรม เมื่อจุดธูปไหว้เครื่องสังเวยจนหมด จะทำการ "เสสัง" หรือการลาเลิกพิธี นำสายสิญจน์ผูกโยงกับเครื่องมือทุกชิ้น เจิมด้วยแป้งกระแจหอมและติดด้วยทองคำเปลว ชาวบ้านเชื่อว่าผลของการประกอบพิธีกรรมไหว้ครูบูชาเตาเป็นประจำทุกปี จะส่งผลให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง ทำมาค้าขาย มั่งมีจากการประกอบอาชีพ
- บุญใจบ้าน
เป็นประเพณีการทำบุญเพื่อชำระล้างสิ่งไม่ดีหรือสิ่งอัปมงลให้ออกไปจากหมู่บ้าน โดยชาวบ้านจะทำการก่อกองทรายและนำธงแดงมาปักไว้ที่กองทราย พระทำพิธีสวดมนต์และรดน้ำมนต์ให้แก่ชาวบ้านเพื่อสร้างเสริมสิริมงคล โดยบุญใจบ้านนี้จะจัดขึ้นทุกวันเพ็ญเดือน 7 ของทุกปี
- ประเพณีการแต่งงานของชาวนาถ่อน (กินดอง)
ชาวบ้านนาถ่อน มีประเพณีการแต่งงานที่เป็นเอกลักษณ์และมีความแตกต่างจากประเพณีการแต่งงานที่พบเห็นทั่วไป คือ ในการการทาบทามสู่ขอจะมีญาติผู้ใหญ่ของเจ้าบ่าวมาสู่ขอเรียกว่า "พ่อล่าม แม่ล่าม" พร้อมเงินค่าสินสอด หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า เงินค่าไชปาก และเตรียมขันธ์ 5 ไปสู่ขอ เมื่อถึงวันแต่งงานฝ่ายเจ้าบ่าวจะต้องมีการรําเพื่อเป็นการเปิดประตูบ้านเจ้าสาว โดยที่ทางเจ้าบ่าวต้องเตรียมเครื่องสําหรับเช่นไหว้ผีบรรพบุรุษของเจ้าสาว คือ เหล้า 4 ไห ไก่ 5 ตัว ผ้าผืน แพรผืน ฮับไข่ (ซองไข่) ถุงงา ซี้นหาม (เนื้อวัวห้อย) ปลาหาบ พร้อมเงินสินสอด หลังเสร็จสิ้นพิธีจะเป็นการขอพรจากญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายโดยมีสิ่งของ เช่น หมอน เสื่อ เป็นของไหว้ หลังจากนั้นจึงส่งตัวเจ้าบ่าว เจ้าสาวเข้าห้องหอ โดยตามธรรมเนียมแล้วมักนิยมให้ฝ่ายชายย้ายมาอยู่กับฝ่ายหญิง
วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ
ชาวบ้านนาถ่อนมีการพัฒนาชุมชนให้เป็นชุมชนท่องเที่ยวได้ส่งผลให้ชาวบ้านมีรายได้หลากหลายช่องทาง เกิดอาชีพใหม่ที่หลากหลาย อาทิ การทำโฮมสเตย์ บริการนำเที่ยว เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างทั่วถึง ชาวบ้านสามารถพึ่งพาตนเองได้ และดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยความพออยู่ พอกิน อย่างพอเพียง อันเป็นผลมาจากภูมิปัญญาประยุกต์ที่ชาวนาถ่อนร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้น แตกต่างจากเดิมที่ชาวบ้านมีรายได้หลักมาจากการทำเกษตรกรรม ทอผ้า ตีเหล็ก และการจักสานเท่านั้น ซึ่งบางครั้งก็ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายจุนเจือครอบครัว
ปราชญ์ด้านภูมิปัญญาชุมชน
- นายประสิทธิ์ พิมพา : ปราชญ์ภูมิปัญญาด้านการตีเหล็ก
- นางสนิท คำเป้า : ปราชญ์ภูมิปัญญาด้านการจักสานเครื่องมือประมง
- นางอำพร นันชนะ : ปราชญ์ภูมิปัญญาด้านการทำสปาเกลือ
- นางเพล่งศรี ปราณีนิตย์ : ปราชญ์ภูมิปัญญาด้านการทำหนังเค็มและแจ่วหนังเค็ม
ปราชญ์ด้านวัฒนธรรม
- นายเฉลิม วีระวงศ์ : ปราชญ์วัฒนธรรมการเลี้ยงแสง (ผู้นำการประกอบพิธีกรรม)
- นายวีระศักดิ์ ศรีสมุทร : ปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญทางวัฒนธรรมชนเผ่าไทกวน
- นางวัน คำไพ : ปราชญ์วัฒนธรรมการรำผีหมอ
- นายวันที ยศประสงค์ : ปราชญ์วัฒนธรรมหมอสูตรขวัญ หรือหมอสู่ขวัญ (ผู้นำการประกอบพิธีกรรมทางพราหมณ์)
ทุนวัฒนธรรม
- แหล่งเรียนรู้เชิงวัฒนธรรมเผ่าไทกวนบ้านนาถ่อน
บ้านนาถ่อนนับว่าเป็นอีกหนึ่งชุมชนแหล่งเรียนรู้เชิงวัฒนธรรมของชาไทกวน เนื่องจากภายในชุมชนมีทั้งพิพิธภัณฑ์เผ่าไทยกวน สมัยเชียงรุ้ง เป็นสถานที่เก็บรักษาพระพุทธรูป เงินโบราณ กำไล ภาชนะดินเผาและโบราณวัตถุอื่นๆ และศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมไทกวนบ้านนาถ่อน ซึ่งมีการจัดบรรยายเพื่อแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม รวมถึงซุ้มสาธิตการตีเหล็ก ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนที่สร้างรายได้และชื่อเสียงให้กับหมู่บ้าน โดยการก่อตั้งแหล่งเรียนรู้ดังกล่าวนี้เกิดจากแนวความคิดของพระครูสิริปัญญาวุฒิ อดีตเจ้าคณะอำเภอธาตุพนม อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีสุมังคล์ บ้านนาถ่อนท่า ซึ่งเป็นชาวไทกวน ได้มีความชื่นชอบ สนใจ และสะสมโบราณวัตถุที่พบในบริเวณชุมชน รวมทั้งรับซื้อและรับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา แล้วรวบรวมโบราณวัตถุที่สะสมทั้งหมดจัดแสดงภายในตู้ตั้งไว้บนศาลาการเปรียญ พร้อมทั้งตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ภายใต้ชื่อ "พิพิธภัณฑ์เผ่าไทยกวน สมัยเชียงรุ้ง วัดศรีสุมังคล์" เมื่อราว พ.ศ. 2535 ทว่าภายหลังพระครูสิริปัญญาวุฒิมรณภาพ โบราณวัตถุและข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่เคยจัดแสดงก็ถูกนำมาเก็บรักษาไว้ในห้องที่ทำด้วยลูกกรงเหล็ก เพื่อป้องกันการโจรกรรม แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจในเรื่องการดูแลทำความสะอาด แต่อย่างไรก็ดี การจัดทำพิพิธภัณฑ์เผ่าไทยกวน สมัยเชียงรุ้ง วัดศรีสุมังคล์ ก็เป็นสาเหตุให้ชาวบ้านนาถ่อนมีความตื่นตัวและสร้างสำนึกร่วมความเป็นชาวไทกวนขึ้นมา พยายามสร้างอัตลักษณ์ของตนเองผ่านวัฒนธรรมและการแต่งกาย โดยพยายามเน้นการแต่งกายสีดำ-เหลือง เพื่อสร้างความแตกต่างจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่นในจังหวัดนครพนม และทำให้เกิดความพยายามในการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
- อาหาร
แจ่วหนังเค็ม (น้ำพริกหนังเค็ม) หนังเค็มทำจากหนังวัวหรือควาย เป็นการเก็บรักษาอาหารไว้ให้กินได้นานๆ วิธีการทำหนังเค็มก็คือเอาหนังวัวหรือหนังควายมาหั่นเป็นริ้วยาวจากนั้นนำไปตำหรือคลุกใส่กับรำและเกลือ แล้วนำมาใส่ไว้ในภาชนะที่ปิดมิดชิดเก็บไว้ประมาณ 3-4 วัน จากนั้นก็นำเอามาตากแดดให้แห้ง เวลากินก็เอามาเผาไฟให้ขนและหนังไหม้เกรียมแล้วใช้ไม้หรือสากทุบเอาขี้เถ้าไฟออก แล้วหั่นกินตอนร้อนๆ หรืออาจนำเอาไปทำอาหารก็ได้ โดยหนังเค็มนั้น สามารถนำมาปรุงกับแกงขี้เหล็ก เผาไฟกินเป็นกับแกล้ม ทำได้หลากหลายเมนูและที่สำคัญ เก็บไว้กินได้นานเป็นหลายเดือน ประโยชน์ทางอาหาร มีโปรตีนสูง
- การแต่งกาย
การแต่งกายของชาวไทยกวน หญิงสูงอายุจะนุ่งผ้าที่มีลายใส่เสื้อคอกระเช้าใส่สร้อยคอลูกปัดเงิน นิยมใส่ดอกไม้หอมไว้ที่ติ่งหู นิยมทอผ้า เช่น ผ้าจิกกะน้อย เป็นผ้าที่มีลักษณะคล้ายผ้าหางกระรอกมีสีเดียวเป็นผ้าสำหรับผู้ชายนุ่งในพิธีสำคัญๆ ลักษณะการนุ่งจะนุ่งพับจีบด้านหน้า เหมือนการนุ่งโสร่ง ผ้านุ่งสตรีนิยมทอหมี่คั่นเป็นทางแนวดิ่งยืนพื้นสีน้ำตาล มีหัวซิ่นพื้นสีแดงลายขิด ตีนซิ่นสีดำมีริ้วขาวเหลืองแดงผ้าจะกวีเป็นผ้าคล้ายอันลูซีม ของเขมรมีลายทางยาวเป็น ผ้าที่สตรีใช้นุ่งในงานสำคัญๆ
ชาวบ้านนาถ่อนมีภาษาถิ่นไทญ้อที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะทั้งด้านสำเนียงและความหมาย อาทิ มีการออกเสียงสระ โอะ เป็นสระโอ๊ะ เช่น คำว่า ไปโบ๊ะ หมายถึง ไปหรือเปล่า, เอาโบ๊ะ หมายถึง จะเอาของสิ่งนั้นไหม
ชุมชนบ้านนาถ่อนพากันอพยพขึ้นไปทางทิศเหนือตามลําห้วยบังฮวกเพื่อหาทําเลที่อุดมสมบูรณ์เหมาะที่จะตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน ในที่สุดก็พบพื้นที่ราบลุ่มผืนใหญ่ มีป่าไม้ถ่อนปกคลุมร่มเย็นน่าอยู่อาศัย และมีความอุดมสมบูรณ์ โดยรอบเป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การเพาะปลูก จึงได้ย้ายบ้านมาตั้งบ้านเรือนแห่งใหม่อยู่บริเวณที่เป็นป่าดงไม้ถ่อน บริเวณหัวดงทางใต้ (ตรงกับวัดศรีมงคลในปัจจุบัน) แล้วเรียกชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านนาถ่อน" ขึ้นตรงต่อหัวเมืองเรณู ต่อมามีการยุบเมืองเรณูนครเป็นตําบล และได้ตั้งบ้านธาตุพนมเป็นอําเภอ บ้านนาถ่อนจึงได้ย้ายมาขึ้นกับอําเภอธาตุพนมจนถึงปัจจุบัน
ด้วยกระแสความเจริญทางด้านวัตถุและโลกาภิวัฒน์รวมถึงกระแสความเจริญก้าวหน้าด้านอุตสาหกรรม ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากมายต่อบริบททางสังคมและวิถีชีวิตของชาวบ้านนาถ่อน โดยเฉพาะการตีมีดที่แต่เดิมนั้นมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อนำมาใช้ในการประกอบอาชีพ ดำรงชีวิตให้อยู่รอด ทว่าเมื่อสังคมเกิดพลวัต การตีมีดถูกปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์จากเพื่อยังชีพมาเป็นการค้าขายโลหกรรมเชิงพาณิชย์ มีการนําเอาเครื่องจักรและเครื่องทุ่นแรงมาใช้ทดแทนคน อาทิ การใช้เครื่องจักรมาใช้ในกระบวนการตีมีดแทนแรงงานคน เนื่องจากสามารถผลิตได้ครั้งละจํานวนมากๆ ผลจากกระแสความเจริญส่งผลให้เกิดการเสื่อมถอยทางด้านวัฒนธรรมและประเพณี ความเชื่อในพิธีกรรมเก่าแก่ลดน้อยลง ที่เด่นชัดที่สุดเห็นจะเป็นการงดพิธีไหว้ครูบูชาเตาในวันพระ คงเหลืออยู่เพียงการทำบุญประจำปี อย่างไรก็ตาม ประเพณีพิธีกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบูชา บวงสรวง เครื่องมือเครื่องใช้และการตีมีดของชาวไทกวนบ้านนาถ่อนก็ยังคงมีอยู่ เพียงแต่ไม่ได้เคร่งครัดมากเท่าในอดีต โดยจะกระทำในรูปแบบของการรวมตัวกันของชาวบ้านในการทำบุญนั้นๆ ประจำปี
ชุมชนคนนครพนม Nakhon Phanom Community. (2563). สถานีรถไฟอยู่ตรงไหน!? เปิดพิกัดสถานี "นครพนม" และ "มุกดาหาร" 12 สถานี รวมสะพานมิตรภาพ 2-3 ธาตุพนม เรณู นาถ่อน บ้านกลาง หว้านใหญ่ นิคมคำสร้อย ป่งแดง บ้านดานคำ(ภูผาเจีย). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://web.facebook.com/NakhonPhanomCommunity/
ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย. (2563). แหล่งเรียนรู้เชิงวัฒนธรรมเผ่าไทกวน บ้านนาถ่อน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://db.sac.or.th/museum/
ณัฐชนันท์ ปลายเนตร. (2556). การพัฒนาและอนุรักษ์วัฒนธรรมโดยการใช้การมีส่วนร่วมของชุมชนกับการจัดการความรู้เป็นฐาน กรณีศึกษาวัฒนธรรมการตีเหล็กชุมชนบ้านนาถ่อน อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม. กลุ่มงานวิจัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม.
ธีระพงษ์ พลรักษ์. (2561). บ้านของคนไทยกวนตั้งอยู่ตรงนี้มาเนิ่นนานนับร้อยปี หลายสิ่งถูกสืบทอดและเติบโตขึ้นตามวันเวลา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://web.facebook.com/osotho/posts/
นุชรัตน์ มังคละคีรี, อนันตศักดิ์ พันธุ์พุฒ, เทพพนม อินทรีย์, สมฤกษ์ กาบกลาง และศิริลักษ์ ใจช่วง. (2556). รูปแบบการสร้างเสริมสุขภาพโดยชุมชนมีส่วนร่วม กรณีศึกษาพนักงานตีเหล็ก กลุ่มตีเหล็กตำบลนาถ่อน อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม. วารสารมหาวิทยาลัยทักษิณ. 16(2), 67-72.
ศาลากลางจังหวัดนครพนม. (2553). ชนเผ่าไทกวน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: http://www2.nakhonphanom.go.th/
Pasiree Paraichani. (2562). ชีวิตดีๆที่บ้านนาถ่อน จ.นครพนม. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://th.readme.me/p/26274
Thailandvillageacademy. (2559). ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ชนเผ่าไทกวนบ้านนาถ่อน อ.ธาตุพนม จ.นครพนม. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://www.thailandvillageacademy.com/