โบราณสถานสระสี่เหลี่ยม (พระรถ) ชุมชนท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีการนำสมุนไพรต่าง ๆ มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์
โบราณสถานสระสี่เหลี่ยม (พระรถ) ชุมชนท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีการนำสมุนไพรต่าง ๆ มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์
ชุมชนบ้านตม เกิดจากการรวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มชุมชนในปี 2550 และขึ้นทะเบียนในปี 2552 คนในชุมชนมีการประกอบอาชีพการทำนาและเมื่อหมดฤดู จะเปลี่ยนมาทำพวกเครื่องจักสาน โดยคนภายในชุมชนประกอบไปด้วยผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่และเมื่อต้องทำงานด้านจักสานเป็นเวลานาน จึงทำให้เกิดการเจ็บป่วย ทำให้คนในชุมชนเริ่มมีการนำสมุนไพรภายในแหล่งมาใช้ให้เกิดประโยชน์ จนมีการพัฒนาและกลายเป็นแหล่งชุมชนท่องเที่ยวสุขภาพที่มีการนำสมุนไพรต่างๆ มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ในเขตชุมชนบ้านตม มีโบราณสถานที่สำคัญ คือ โบราณสถานสระสี่เหลี่ยม ระยะห่างจากชุมชนบ้านตม 550 เมตร เชื่อว่าเป็นแหล่งกักเก็บน้ำภายในชุมชนสมัยทวารวดี ตัวสระสร้างจากศิลาแลงมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้าง 5 วา ยาว 5 วา ลึกประมาณ 7 ศอก โดยชาวบ้านเชื่อว่าเป็นสระให้น้ำไก่ของพระรถ และเรียกสระน้ำนี้ว่า "สระพระรถ"
จากข้อมูลกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณะสุข อัพเดตข้อมูลในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 ภายในแหล่งชุมชนบ้านตมมีจำนวนประชากรทั้งหมด 437 คน
ชุมชนบ้านตมมีการจัดแบ่งกลุ่มในการทำหน้าที่ต่าง ๆ ดังนี้
- กลุ่มสมุนไพรบ้านตม ดูแลในเรื่องของปลูกและการเก็บสมุนไพรต่างๆ ภายในชุมชน
- กลุ่มจักสานบ้านตม กลุ่มที่จะทำสินค้าจักสานเป็นรายได้ให้แก่ชุมชน
- กลุ่มขนมไทยบ้านตม กลุ่มที่จะทำขนมไทยที่อาจมีการผสมสมุนไพรต่างๆ เพื่อนำไปขายหรือต้อนรับนักท่องเที่ยว
- กลุ่มโฮมสเตย์บ้านตม เป็นฝ่ายที่คอยดูแลที่พักให้กับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาพักอาศัย
- กลุ่มประชาสัมพันธ์หรือผู้ประสานงานในชุมชน ทำหน้าที่ในการประชาสัมพันธ์งานต่างๆ
โดยกลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้จะมีการจัดกลุ่มตามความถนัดหรือตามความชอบของคนในชุมชน ไม่แบ่งแยกตามเพศหรืออายุ
ชุมชนบ้านตม มีการดํารงชีวิตอยู่ที่อําเภอพนัสนิคม เป็นเเหล่งรวมของสมุนไพร โดยชาวบ้านมีการประกอบอาชีพโดยการทําผลิตภัณฑ์เสริมความงามจากสมุนไพรเป็นส่วนมาก โดยชาวบ้านจะมีการส่งไปขายทั่วประเทศ ชุมชนบ้านตมนอกจากจะเป็นเเหล่งของสมุนไพรที่ดีเเล้ว ชาวบ้านเเต่ละกลุ่มก็มีการประกอบอาชีพที่เเตกต่างกันไป เเต่ยังคงยึดหลักในการสร้างอาชีพจากสมุนไพร เช่น มีการทํายาดมสูดสมุนไพร (เป็นสูตรเฉพาะทางของบ้านตม) อีกทั้งยังมีการประกอบอาหารที่เป็นเมนูรักสุขภาพต่าง ๆ
ทุนวัฒนธรรม
การทำผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสมุนไพรในรูปแบบต่าง ๆ ที่ได้จากการปลูกและเก็บตามธรรมชาติ ได้แก่ ของใช้หรือเครื่องสำอางที่ทำมาจากธรรมชาติ เช่น แชมพูเปลี่ยนสีผม สครับข้าวหอมขัดผิว เทียนหอมสปา เป็นต้น หรือจะ
จุดเด่นของชุมชนแห่งนี้นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปมาจากสมุนไพร คือ “ยำเกลือ” เป็นการนำสมุนไพรต่าง ๆ ให้กลายเป็นอาหารสุขภาพ โดยส่วนประกอบได้แก่ พวงชมพู ผักติ้ว ใบชะพลู ใบชะมวง ถั่วพู สายบัว ถั่วฝักยาว ผักแม้ว ผักพื้นบ้านต่าง ๆ และเครื่องปรุง ซึ่งแต่ละส่วนประกอบจะมีสรรพคุณต่างกัน เช่น ใบชะพลูช่วยขับลม ผักติ้วช่วยบำรุงธาตุ เป็นต้น จะมีรสชาติเปรี้ยวนำตามด้วยความหอม และมันจากถั่วและงาซึ่งภูมิปัญญาที่ได้กล่าวไปข้างต้น ชาวบ้านในชุมชนได้มีการเรียนรู้ ต่อยอดและพัฒนาจนกลายเป็นจุดเด่นและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน
สถานการณ์และความท้าทายของคนในชุมชนที่ได้มีการพบเจอตั้งแต่สมัยแรกในการทำผลิตภัณฑ์แปรรูปจนถึงปัจจุบัน มีรายละเอียดดังนี้
- ความกังวลของคนในชุมชน เนื่องจากในครั้งแรกที่ได้มีการออกงานที่เมืองทองธานี คนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและไม่เคยออกจากตัวชุมชนมาก่อน รวมถึงไม่ชินกับสภาพอากาศทำให้เกิดการเจ็บป่วย อีกทั้งสินค้าที่นำไปขายได้นั้น แตกต่างจากสินค้าภายในงานทั้งหมด ทำให้ผู้คนที่เดินในงานไม่ได้ให้ความสนใจกับผลิตภัณฑ์มากนัก
- ปัญหาวิกฤติเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID 19) ส่งผลต่อผลิตภัณฑ์สินค้าโอทอป (OTOP) ซึ่งเป็นรายได้หลักของชุมชน อีกทั้งยังส่งผลต่อบ้านพักโฮมสเตย์ที่จะเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาพักและเยี่ยมชมสินค้า
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณะสุข. (2567). รายงานข้อมูลตำบลสระสี่เหลี่ยม. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://3doctor.hss.moph.go.th/
กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร-บ้านตม. (2562). VDO ชิ้นแรกที่ทางกลุ่มบ้านตม หัดตัดต่อจากมือถือ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://www.facebook.com/BanThomHerb/
กำพล จำปาพันธ์. (2559). ประวัติศาสตร์บริเวณชลบุรีก่อนสมัยอยุธยา. วารสารวิจัยราชภัฏพระนคร. 11(2), 215-226.
โครงการวิจัยการจัดการท่องเที่ยวชุมชนในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก: ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด มหาวิทยาลัยบูรพา. (ม.ป.ป.). สระสี่เหลี่ยม. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2567. จาก http://www.gi-cbt.buu.ac.th/
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดชลบุรี-Chonburi PR. (2563). กลุ่มสมุนไพรแปรรูปบ้านตม อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี กับวิกฤติโควิด-19. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://www.facebook.com/
Thai PBS. (2565). อาหารจากบ้านตม รสกลมกล่อมถึงเครื่องสมุนไพร | Foodwork [CC]. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://www.youtube.com/