
ชุมชนบ้านหนองโขง เป็นชุมชนชนบท ที่อาศัยอยู่ร่วมกันแบบเครือญาติ มีประเพณีวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดกันมาสู่รุ่นต่อรุ่น โดยจะมีประเพณีและวัฒนธรรมที่สำคัญในหมู่บ้าน ได้แก่ งานทำบุญตานข้าวใหม่ งานประเพณีปี๋ใหม่เมือง สรงน้ำพระธาตุหนองโขง การเลี้ยงผีปู่ย่า งานทำบุญถวายทานสลากภัต และงานทอดกฐินสามัคคี
จากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ในชุมชนแล้ว วัดพระธาตุหนองโขง (วงค์เมธา) ที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านจะเป็นวัดที่เก่าแก่มาก มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์เชื่อมโยงกับพระบรมสารีริกธาตุเจ้าศรีจอมทอง (วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหารในปัจจุบัน) ที่ถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวเชียงใหม่และชาวอำเภอหางดง ซึ่งสันนิษฐานได้ว่ามีอายุยืนยาวนานกว่า 1,000 ปี ชาวบ้านเล่าว่าในสมัยก่อนพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้ทรงเสวยพระชาติเป็นหงษ์ทองแปลงกายเป็นหงษ์ดำมาเล่นน้ำที่หนองน้ำบริเวณนี้ ซึ่งเคยเป็นป่าช้าเก่า จากนั้นชาวบ้านได้ร่วมใจกันนำไม้ไผ่มาสานเป็นหลังคามุงครอบหนองน้ำไว้ ซึ่งหลังคาไม้ไผ่นี้ เรียกว่า “โขง” จึงทำให้หมู่บ้านนี้ได้ชื่อว่า บ้านหนองโขง จนถึงปัจจุบัน
ชุมชนบ้านหนองโขง เป็นชุมชนชนบท ที่อาศัยอยู่ร่วมกันแบบเครือญาติ มีประเพณีวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดกันมาสู่รุ่นต่อรุ่น โดยจะมีประเพณีและวัฒนธรรมที่สำคัญในหมู่บ้าน ได้แก่ งานทำบุญตานข้าวใหม่ งานประเพณีปี๋ใหม่เมือง สรงน้ำพระธาตุหนองโขง การเลี้ยงผีปู่ย่า งานทำบุญถวายทานสลากภัต และงานทอดกฐินสามัคคี
ประวัติศาสตร์ชุมชนบ้านหนองโขง หมู่ที่ 3 ตำบลขุนคง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ หมู่บ้านแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่มีใครทราบ แต่จากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ในชุมชนแล้ว อายุของวัดพระธาตุหนองโขง (วงค์เมธา) ที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านจะเป็นวัดที่เก่าแก่มากในตำบลขุนคง ซึ่งมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์เชื่อมโยงกับพระบรมสารีริกธาตุเจ้าศรีจอมทอง (วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหารในปัจจุบัน) ที่ถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวเชียงใหม่และชาวอำเภอหางดง ซึ่งสันนิษฐานได้ว่ามีอายุยืนยาวนานกว่า 1,000 ปี ชาวบ้านเล่าว่าในสมัยก่อนพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้ทรงเสวยพระชาติเป็นหงษ์ทองแปลงกายเป็นหงษ์ดำมาเล่นน้ำที่หนองน้ำบริเวณนี้ ซึ่งเคยเป็นป่าช้าเก่า จากนั้นชาวบ้านได้ร่วมใจกันนำไม้ไผ่มาสานเป็นหลังคามุงครอบหนองน้ำไว้ ซึ่งหลังคาไม้ไผ่นี้ เรียกว่า “โขง” จึงทำให้หมู่บ้านนี้ได้ชื่อว่า บ้านหนองโขง จนถึงปัจจุบัน
ในสมัยพุทธกาล ก่อนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ได้เสด็จโปรดสัตว์จนมาถึงดอยหลวงจอมทอง (วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหารในปัจจุบัน) ในกาลนั้นมีชาวบ้านสองคน ชื่อ “หมื่นคำคง (เจ้าน้อยคำคง) และ อ้ายแสนคำตอง” ได้ทำกังหันวิดน้ำใส่นาข้าวอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำปิง เมื่อทราบข่าวว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จโปรดสัตว์ จึงได้นำขันดอกไม้ธูปเทียนไปสักการะ องค์สมเด็จพระพุทธเจ้าได้บอกแก่เขาทั้งสองว่าไม่มีสิ่งใดจะให้ จึงให้เขาทั้งสองนำขันดอกไม้เครื่องสักการะเข้ามาใกล้ ๆ จึงสั่งน้ำมูกน้ำลายใส่ลงขันดอก แล้วดอกไม้ในขันดอกก็แตกเป็นสี หกประการ คือ สีขาว สีเขียว สีเหลือง สีแดง สีเทา และสีเงิน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงโยนดอกไม้ในขันดอกขึ้นไปบนอากาศ แล้วดอกไม้สีหกประการตกลงมาใส่ขันที่รองไว้ แยกออกเป็น 2 ดวง ทั้งสองได้ทูลถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าจะให้นำไปไว้ที่ใด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่าให้ทั้งสองไปตั้งสัจจะอธิษฐานที่หน้าผาดอยหลวงจอมทอง โดยให้นำส่วนที่ 1 ไปประดิษฐานที่พระธาตุศรีจอมทอง และส่วนที่ 2 นำมาประดิษฐานที่วัดหนองโขง โดยได้มีการสร้างพระเจดีย์เพื่อบรรจุพระธาตุเหล่านี้ไว้ เพื่อให้ผู้คนได้สักการบูชา และได้ตั้งชื่อว่า วัดพระธาตุหนองโขง จนถึงปัจจุบัน
ชาวบ้านเล่าว่าบ้านหนองโขง เป็นหมู่บ้านชาวพื้นเมืองที่เก่าแก่แห่งหนึ่ง ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบลุ่ม ประชาชนในหมู่บ้านเป็นชาวพื้นเมืองโดยกำเนิด ประชาชนในชุมชนมีต้นกำเนิดมาจากเจ้าน้อยคำคง ซึ่งอพยพมาจากชนเผ่าลั๊วะ แต่เดิมพื้นที่บริเวณนี้เป็นหนองน้ำ มีท่าน้ำติดกับแม่น้ำปิง ชื่อว่า ท่าขุนคง เดิมชาวบ้านประกอบอาชีพหลักทางด้านการเกษตร แต่เมื่อประสบภาวะขาดแคลนน้ำผลผลิตไม่ดีชาวบ้านส่วนใหญ่ก็เดินทางออกไปรับจ้างทั่วไปในตัวเมืองเชียงใหม่ ปี พ.ศ. 2500 ทางหมู่บ้านถวายได้มีความเจริญรุ่งเรือง และมีการทำอาชีพไม้แกะสลัก ซึ่งเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนทั่วทั้งตำบลขุนคง ชาวบ้านหนองโขงก็เช่นกันได้เห็นแนวทางในการสร้างอาชีพด้วยตนเองจากไม้สักแกะสลัก เนื่องจากไม้แกะสลักมีราคาค่อนข้างสูง ชาวต่างชาติหันมาให้ความสนใจในงานแกะสลักไม้มากขึ้น จึงทำให้งานไม้แกะสลักมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นจึงเป็นที่รู้จักทั้งภายในและภายนอกประเทศ ชุมชนในหมู่บ้านจึงมีการรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแกะสลักไม้ จึงทำให้ประชาชนที่ออกจากหมู่บ้านเพื่อไปหางานทำในตัวเมืองเชียงใหม่ กลับมาอยู่ในหมู่บ้านหนองโขงมากขึ้น ทำให้ชุมชนมีจำนวนประชากรเพิ่ม
ในปี พ.ศ. 2510 ชุมชนเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อมีหน่วยงานราชการเข้ามามีบทบาทสำคัญทางการเมืองของชุมชน โดยการกำหนดให้มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน ตามรูปแบบการปกครองของชุมชน ซึ่งแต่เดิมมีผู้นำที่เป็นผู้นำทางธรรมชาติ กลายมาเป็นผู้นำแบบเป็นทางการตามพระราชบัญญัติปกครองท้องที่ ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า นายป๋าน มอยติละ ได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกด้วยคะแนนเสียงที่เป็นเอกฉันท์ โดยการปกครองเป็นไปแบบประชาธิปไตย ชาวบ้านมีความรักใคร่สามัคคีกันดี ไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น
ต่อมาในปี พ.ศ. 2514 ในหมู่บ้านมีโรคระบาด เป็นโรคอีสุกอีใส ทำให้ประชาชนในหมู่บ้านมีการเจ็บป่วยล้มตายหลายสิบคน เนื่องจากการแพทย์แผนปัจจุบันยังเข้ามาไม่ถึง รวมถึงคนในหมู่บ้านมีการรักษาโดยหาหมอชาวบ้าน ด้วยการเป่า การรักษาด้วยคาถา ยาสมุนไพร และโรงพยาบาลมีระยะทางที่ไกลจากหมู่บ้าน การเดินทาง โทรคมนาคม ยังไม่สะดวกสบาย ทำให้เกิดความยากลำบากในการเข้าไปหาหมอแผนปัจจุบันที่โรงพยาบาลสวนดอก ซึ่งอยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่ ต่อมาปี พ.ศ. 2530 มีการจัดตั้งโรงพยาบาลหางดง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลประจำอำเภอหางดง ทำให้ประชาชนสามารถเดินทางไปพบแพทย์และรักษาแพทย์แผนปัจจุบันได้สะดวกสบายมากขึ้น ทำให้ประชาชนในหมู่บ้านสามารถเข้าถึงระบบบริการทางสุขภาพได้อย่างทั่วถึง
บ้านหนองโขง หมู่ที่ 3 ตำบลขุนคง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านที่มีภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม และมีการคมนาคมขนส่งสะดวก
- ทิศเหนือ ติดกับ หมู่ 2 บ้านถวาย
- ทิศใต้ ติดกับหมู่ 4 บ้านสารภี
- ทิศตะวันออก ติดกับ หมู่ 1 บ้านต้นแก้ว
- ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลหนองแก๋ว
การเดินทางมายังหมู่บ้านหนองโขงเริ่มจากศูนย์หัตถกรรมบ้านถวาย เข้าซอยบ้านถวาย ซอย 3 ตรงไปเจอป้ายเข้าหมู่บ้านหนองโขง หมู่ที่ 3 ตามทางด้านขวามือเป็นบริษัท ภัทรบูรณ์ จำกัด ตรงไปตามทางเจอบ้านขายก๋วยเตี๋ยวบ้านเลขที่ 10/1 อยู่ด้านขวามือและด้านซ้ายมือเป็นโรงงานไม้แปรรูปขนาดใหญ่ ตรงไปเจอศาลาอเนกประสงค์อยู่บริเวณโค้ง ถัดไปเป็นบ้านเช่าและด้านขวามือเป็นศาลเจ้าที่อยู่ใต้ต้นโพธิ์ใหญ่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้าน เจอบ้าน 2 หลัง ก่อนเข้าซอย 1 ในซอย 1 มีบ้าน 3 หลัง บ้านเช่า 1 หลังข้างในเป็นสวนลำไย เป็นซอยตัน เป็นจุดสิ้นสุดของหมู่บ้านด้านทิศตะวันตก
หลังจากนั้นกลับมายังถนนเส้นหลัก ตรงไปตามทางเจอซอย 2 อยู่ด้านขวามือมีบ้านทั้งหมด 6 หลังมีบ้าน อสม. 1 หลัง ตรงข้ามเป็นซอย 3 มีบ้าน 6 หลังบ้านเช่า 1 หลังบ้าน อสม. 1 หลัง ออกมาเจอร้านค้าอยู่ด้านซ้ายมือขายของชำทั่วไป ซึ่งร้านนี้จะเป็นแหล่งอาหารหลักของประชาชนในหมู่บ้าน ไปตามทางด้านซ้ายเป็นซอยตัน มีบ้าน อสม. 1 หลัง ไปตามทางด้านซ้าย เป็นซอย 4 มีบ้านทั้งหมด 15 หลัง บ้านเช่า 3 หลังบ้าน อสม. 1 หลัง ซึ่งมีทางเชื่อมกับซอย 10 และซอย 6 หลังจากนั้นกลับมาสู่ถนนเส้นหลักซ้ายมือเป็นร้านค้าขายของชำทั่วไป ตรงไปตามทางพบบ้าน 3 หลัง ซ้ายมือเป็นซอย 5 เป็นซอยตัน มีบ้านทั้งหมด 3 หลังกลับมาถนนเส้นหลักตรงไปตามทางพบบ้านร้างอยู่ซ้ายมือ 2 หลัง ส่วนขวามือเป็นซอยไปโรงไม้แล้วตรงไปตามทางเจอแยกเข้าซอย 6 พบบ้านทั้งหมด 19 หลัง มีบ้านเช่า 1 หลัง บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 1 หลัง บ้านต้นทุนทางสังคม 1 หลัง ซึ่งเป็นบ้านของพ่อเลี้ยง อมตะ มีลักษณะบ้านประตูรั้วสีน้ำเงิน ประตูไม้ ข้างในบ้านมีงานศิลปหัตถกรรมมากมาย ระหว่างทางมีสวนลำไยและพบโรงปูนปั้น สุดทางเจอ วัดวงค์เมธา (วัดหนองโขง)
วัดวงค์เมธาที่ชาวบ้านหมู่ที่ 3 ให้ความศรัทธาเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในหมู่บ้าน มีวิหารอันสวยงามบรรจุ อัฐิธาตุพระพุทธเจ้าอยู่ในวิหาร จะเปิดก็ต่อเมื่อมีงานวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาและมีการประกอบพิธีทางศาสนาเท่านั้น บริเวณใกล้ ๆ มีประปาหมู่บ้านซึ่งเป็นศูนย์จ่ายน้ำแก่ทุกครัวเรือน สิ้นสุดหมู่ 3 ทางด้านตะวันออก ติดกับ หมู่ 4 บ้านสารภี กลับมาสู่ถนนเส้นหลักตรงไปขวามือเป็นซอย 7 มีบ้านทั้งหมด 5 หลังและมีทุ่งนา เยื้อง ๆ กัน ซอย 8 มีบ้านทั้งหมด 5 หลัง มีบ้านเช่า 2 หลัง มีร้านก๋วยเตี๋ยวกับร้านขายของชำ อย่างละ 1 หลังตรงไปต่อด้วยซอย 9 มีบ้านทั้งหมด 8 หลัง และมีพื้นที่ป่าหรือที่รกร้างและมีสวนลำไย ส่วนซอย 10 มีบ้าน 5 หลัง มีบ้านผู้ใหญ่บ้าน อยู่ซอย 10 กลับไปยังทางหลักเริ่มจากหน้าร้านก๋วยเตี๋ยวตรงมาเจอศาลาประชารัฐ 2 หลัง ข้างมีเครื่องออกกำลังกาย ตรงไปมีบ้านประธาน อสม. หน้าบ้านมีร้านขายเสื้อผ้ามือสอง ถัดไปด้านข้างมีร้านขายไก่ ลูกชิ้น และไส้กรอกปิ้ง ขายเวลา 10.00 น. ถึงเวลา 20.00 น. ตรงตามทางด้านขวามือหน้าบ้านเป็นสวนลำไยและมีซอยเล็ก ๆ ตรงเข้าไปเป็นคริสตจักรและมีบ้านร้าง 1 หลัง ใกล้ ๆ กลับมายังเส้นทางหลักตรงไป พบบ้านต้นทุนทางสังคม มีลักษณะเป็นบ้านทรงไทยหลังใหญ่ซึ่งบ้านหลังนี้เป็นบ้านที่ให้การช่วยเหลือสนับสนุนเงินทุนทำกิจกรรมในหมู่บ้าน และเป็นจุดสิ้นสุดหมู่บ้านหนองโขงทางใต้
บ้านหนองโขง เป็นหมู่บ้านชาวพื้นเมืองที่เก่าแก่แห่งหนึ่ง ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบลุ่ม บ้านหนองโขงมีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 168 หลังคาเรือน ประชากร ชาย จำนวน 197 คน หญิง จำนวน 203 คน รวม 400 คน
- กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.)
- กลุ่มผู้สูงอายุ
- กลุ่มสตรีแม่บ้าน
- กลุ่มคณะกรรมการการประปา
- กลุ่มคณะกรรมการกองทุนเงินล้าน
- กลุ่มอาสาพัฒนาชุมชน (อช.)
- กลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์
ชุมชนบ้านหนองโขง ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพหลัก คือ รับจ้างและรับจ้างทำงานหัตถกรรม โดยชาวบ้านในชุมชนจะทำหัตถกรรมงานไม้ งานแกะสลักเกือบทุกครัวเรือน โดยมีนายทุนเป็นผู้ผลิตสินค้าตามรายการที่บริษัทสั่งทำ สินค้าที่ชาวบ้านรับมาตกแต่ง เช่น โต๊ะ ตู้ เก้าอี้ ขันโตก เป็นต้น เมื่อสินค้าที่ชาวบ้านนำมาตกแต่งเสร็จเรียบร้อยแล้ว นายทุนจะนำสินค้าส่งออกขาย ทั้งภายในประเทศและนอกประเทศ ทำให้ชาวบ้านในชุมชนมีการทำหัตถกรรมและมีงานทำตลอดปี ในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี ชาวบ้านจะมีรายได้จากการเก็บเกี่ยวลำไยในฤดูกาล ส่วนในเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคมจะมีรายได้เพิ่มจากการเก็บเกี่ยวลำไยนอกฤดูกาล ช่วงเดือนสิงหาคมในชุมชนจะเริ่มทำนาปีและเก็บเกี่ยวข้าวในช่วงเดือนพฤศจิกายน ในช่วงเดือนธันวาคมจะเริ่มทำนาปรัง และจะเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังในช่วงเดือนเมษายน นอกจากนี้ชาวบ้านบางส่วนยังมีรายได้จากการประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป รับราชการ ค้าขาย และประกอบธุรกิจส่วนตัว
1. คุณตาสม สมโน
ชายสูงวัยคนหนึ่ง ที่อาศัยอยู่บ้านหนองโขงมาตั้งแต่กำเนิด รูปร่างผอมสูงผิวสีแทน จิตใจดี ยิ้มแย้มแจ่มใส มีสุขภาพดี คุณตาสม สมโน เกิดเมื่อ 10 เมษายน พ.ศ. 2482 ปัจจุบันอายุ 79 ปี อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 21 หมู่ที่ 3 ตำบล หนองโขง พ่อชื่อ นายจันทร์ แม่ชื่อ นางใส (พ่อเสียชีวิตตอนคุณตาสม อายุ 50 ปี ส่วนแม่เสียชีวิตตอนคุณตาสมอายุ 70 ปี) มีพี่น้อง 2 คน เป็นบุตรคนที่ 2 พี่สาวคุณตาสมเสียชีวิตแล้ว เนื่องจากครอบครัวมีฐานะยากจนตอนเด็ก ๆ ไม่ได้เรียนหนังสือ ต้องช่วยพ่อแม่ ทำนา ทำไร่ เลี้ยงควาย หมดฤดูทำนา ก็จะเข้าป่าไปเลื่อยไม้สักเอามาขาย
คุณตาสมอายุได้ 15-16 ปี ได้ไปศึกษาเล่าเรียนคาถาเป่ากับครูบาอู้ ที่วัดหนองโขง ขณะที่เล่าเรียนศึกษา มีเรื่องชกต่อยกับลูกศิษย์วัดด้วยกันจึงทำให้ไม่ได้เรียนคาถาเป่าต่อ หลังจากนั้นตาสมก็ผันตัวเองไปรับจ้างร้องเพลงตามงานวัดแถวลำพูน ได้ค่าร้องเพลงจากพวงมาลัย ครั้งละ 90 บาท ช่วงที่ร้องเพลงคุณตาสมเป็นที่นิยมของแม่ยกจึงทำให้คุณตาสม มีงานร้องเพลงอย่างต่อเนื่อง จนอายุ 25-26 ปี เริ่มไม่เป็นที่นิยมของแม่ยก เนื่องจากมีนักร้องรุ่นใหม่จึงเลิกร้องเพลง คุณตาสมจึงเดินทางไปรับจ้างทั่วไปที่จังหวัดเชียงราย เช่น รับจ้างทำนา ขนฝิ่น ขนผงขาว แล้วกลับมาอยู่บ้านหนองโขง มาทำนา เข้าป่าตัดไม้สักขายเหมือนเดิม จนอายุได้ประมาณ 27 ปี ได้พบรักครั้งแรก
ปัจจุบันคุณตาสมเป็นหมอพื้นบ้าน (ภาษาถิ่นเรียกว่า หมอเป่า หมอที่รักษาโรคโดยการเป่า) รักษาผื่นคัน โรคงูสวัด เป็นต้น คุณตาสมเล่าว่า คุณตาสมไม่เคยเข้ารักษาโรคที่โรงพยาบาลเลย จะรักษาตนเองโดยการเป่าและทานยาสมุนไพร และคุณตาสมดีใจและภาคภูมิใจทุกครั้งที่ได้รักษาชาวบ้านให้หายหรือบรรเทาอาการจากโรคที่เป็น คุณตาสมมีรายได้หลักจากอาชีพหมอเป่า (การรักษาโรคโดยการเป่า) และรายได้จากเบี้ยผู้สูงอายุ และมีลูกชายที่เป็นพ่อหลวงของหมู่บ้านดูแลอย่างใกล้ชิด
หลักการดำเนินชีวิต
คุณตาสมบอกว่าจะไม่เครียด ถ้าไม่เครียดจะทำให้อายุยืน ทุกวันนี้คุณตาสมมีความสุขมาก ภูมิใจในตัวลูกชายมากที่เป็นผู้นำของหมู่บ้าน และประสบความสำเร็จในชีวิต ไม่เคยทำให้คุณตาสมผิดหวัง คุณตาสมจึงเป็นที่รักใคร่ของเพื่อนบ้านและชาวบ้านหนองโขง เวลามีเทศกาลงานบุญของหมู่บ้านคุณตาสมจะไปร่วมพิธีทุกครั้ง ไปเจอเพื่อนสนิทมิตรสหายได้คุยกับปะสังสรรค์กัน และไปทำบุญทุกวันพระ ฟังเทศน์ ฟังธรรม ถือศีล คุณตาสมใช้หลักคำสอนของรัชกาลที่ 9 โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง นำมาปฏิบัติใช้ในชีวิตประจำวันในการดำเนินชีวิต
ประชาชนในหมู่บ้านเป็นคนพื้นเมือง ประชาชนส่วนใหญ่ใช้ภาษาท้องถิ่น (ภาษาพื้นเมือง, ภาษาเหนือ) ในการติดต่อสื่อสารเป็นภาษาหลักภายในชุมชน สำหรับการติดต่อสื่อสารทางราชการ และบุคคลภายนอก จะใช้ภาษาไทยกลาง และภาษาถิ่นในการติดต่อสื่อสาร
ด้านสาธารณสุขในชุมชนบ้านหนองโขง หมู่ที่ 3 ได้รับข้อมูลจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านต้นแก้ว และอาสาสมัครประจำหมู่บ้านบ้านหนองโขง ทำให้ทราบว่ามีการเข้าถึงการให้บริการเชิงรุกกับประชาชนบ้านหนองโขง โดยเน้นการสร้างเสริมสุขภาพ การเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค การฟื้นฟูสุขภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค ทำให้เกิดกิจกรรมทางด้านสุขภาพต่าง ๆ เช่น การเยี่ยมบ้านเพื่อคัดกรองโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคมะเร็ง วัณโรค การรณรงค์เรื่องโรคไข้เลือดออก รณรงค์กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ซึ่งได้รับความร่วมมือจากประชาชนในชุมชนบ้านหนองโขงเป็นอย่างดี
ธนิษฐา มาโต, จินตนา สวัสดี, จิราพร การีชุม, ศิรินภา เบิกบาน, อัญชลี นนทีอุทก, นัทธวัตน์ จันทร์แดง,นายนครินทร์ อูปคำ และ กฤติกา โคตรบุดดา. (2562). รายงานการพัฒนาอนามัยชุมชนบ้านหนองโขง หมู่ที่ 3 ตำบลขุนคง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่. สาขาการพยาบาลอนามัยชุมชน วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี เชียงใหม่.