เป็นชุมชนชาวทะเลที่ยังมีวิถีการทำประมงพื้นบ้านด้วยภูมิปัญญาการย่ำกั้ง วิธีการหากั้งที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชุมชน เป็นแหล่งกำเนิดธนาคารกั้งแห่งแรกในประเทศไทย
จากการบอกเล่าของผู้อาวุโสว่าเป็นพื้นที่พัก ที่หลบฝน หลบพายุ ของชาวประมงกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นการถาวร มีด้วยกัน 3 คน ชื่อหมู่บ้านที่เรียกกันในสมัยนั้นคือ บ้าน"บากัน" ซึ่งเป็นภาษามาลายู แปลว่า "ที่พัก" ส่วน "เคย" เป็นภาษาไทยถิ่นใต้แปลว่า "กะปิ" ทำจากกุ้งตัวเล็กๆ คล้ายๆ กุ้งฝอย ดังนั้น "บากันเคย" จึงหมายถึงที่พักเพื่อทำกะปิ เนื่องจากชาวบ้านมีอาชีพรุนกุ้งเคยเพื่อนำมาทำกะปิ เพราะว่ามีกุ้งเคยเป็นจำนวนมาก การตั้งถิ่นฐานของชาวบ้านในสมัยนั้นเริ่มต้นที่บริเวณหัวแหลมทางทิศตะวันออก เรียกชื่อหมู่บ้านว่า "บากันเคย" มาจนปัจจุบัน
เป็นชุมชนชาวทะเลที่ยังมีวิถีการทำประมงพื้นบ้านด้วยภูมิปัญญาการย่ำกั้ง วิธีการหากั้งที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชุมชน เป็นแหล่งกำเนิดธนาคารกั้งแห่งแรกในประเทศไทย
“บากันเคย” เป็นชื่อหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ ติดชายฝั่งทะเลอันดามันทางใต้สุดของประเทศไทย ในอดีตไม่มีเส้นทางสัญจรทางบก การเดินทางไปมาหาสู่จะใช้ทางน้ำโดยอาศัยเรือแจวและเรือใบเป็นหลัก เนื่องจากมีคลองเล็กๆ มากมายหลายสายที่ไหลลงสู่ทะเลที่นี่ และด้วยภูมิประเทศของชายฝั่งที่เป็นอ่าวถึงแม้จะเป็นอ่าวเล็กๆ ที่ชาวบ้านเรียกว่า “อ่าวตันหยงโป” แต่ทำให้ ที่นี่ เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของอันดามัน
“ตันหยงโป” เป็นคำในภาษามาลายู คำว่า “ตันหยง” แปลว่า แหลม ส่วนคำว่า “โป” เป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า “เปาฮฺ” แปลว่า มะม่วง รวมคำแล้ว “ตันหยงโป” แปลว่า แหลมมะม่วง จากการบอกเล่าของผู้คนในพื้นที่ ทราบว่าในอดีตมีต้นมะม่วงใหญ่บริเวณหัวแหลมจึงใช้เป็นเครื่องหมายหรือจุดสังเกตสำหรับชาวประมงด้วยกันและเรียกติดปากกันมาจนถึงทุกวันนี้ เดิมหมู่บ้าน “บากันเคย” รู้จักกันในนาม “บากันบือลาจัน” คำว่า “บากัน” เป็นคำใน ภาษามาลายู แปลว่า ที่พัก ซึ่งในอดีต ชาวบ้าน และชาวประมงทั่วไปจะเรียกที่นี่เพียงสั้นๆ ว่า “บา กัน” ซึ่งอาจหมายถึงเป็นที่พักสำหรับพวกเขา จากการบอกเล่าเป็นพื้นที่พัก ที่หลบฝน หลบพายุ ของชาวประมงกลุ่มคนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นการถาวร มีด้วยกัน 3 คน คือ โต๊ะหมานจะเกาะฮฺ ซึ่งอพยพจากไทร บุรี(รัฐเคดาร์ ประเทศมาเลเซียปัจจุบัน) เป็นต้นตระกูล “มะสมัน” ในปัจจุบัน โต๊ะอาเจะฮฺ อพยพ มาจากอาเจะฮฺ (ปัจจุบันเป็นจังหวัดหนึ่งในประเทศอินโดนีเซีย) เป็นต้นตระกูล “ยุเหล่” ในปัจจุบัน และโต๊ะสาเระฮฺ (บ้างก็เรียกโต๊ะเซฮัด) หลังจากนั้นก็มีกลุ่มคนจากเกาะลิบง จังหวัดตรัง เข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ดังกล่าวด้วย
ทิศเหนือติด ตำบลเจ๊ะบิลัง ทิศตะวันออกติดหมู่ที่ 6 ตำบลควนขัน ทิศใต้ติดทะเลอันดามัน ทิศตะวันตกติดหมู่ที่ 1 ตำบลตันหยงโปลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบ ลักษณะของดินเหนียวปนดินกรวด เนื้อที่ประมาณ 900 ไร่ โดยรวมป่าชายเลนล้อมรอบบริเวณป่าไม้ชายเลน มีท่าเทียบเรือ 2 แห่ง บริเวณรอบหมู่บ้านเป็นที่จอดเรือตลอดแนวสภาพอากาศร้อนขึ้นทั้งกลางวันและกลางคืนตามแนว ชายฝั่งทะเลภาคใต้ของไทย ปลายเดือนมกราคมถึงเมษายนจะแห้งแล้งและร้อนจัดระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนธันวาคม โดยส่วนใหญ่จะเป็นฝนและมรสุมอากาศจะเย็นเล็กน้อยทิศเหนือ บ้านบากันเคยมีทรัพยากรป่าไม้อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะป่าชายเลน
ประชากรจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 138 ครัวเรือน (ข้อมูล จปฐ.2555) จำนวนประชากรทั้งหมด 625 คน ชาย 299 คน หญิง 326 คน กลุ่มคนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นการถาวร มีด้วยกัน 3 คน คือ โต๊ะหมานจะ เกาะฮฺ ซึ่งอพยพจากไทรบุรี(รัฐเคดาร์ ประเทศมาเลเซียปัจจุบัน) เป็นต้นตระกูล “มะสมัน” ใน ปัจจุบัน โต๊ะอาเจะฮฺ อพยพมาจากอาเจะฮุ (ปัจจุบันเป็นจังหวัดหนึ่งในประเทศอินโดนีเซีย) เป็นต้นตระกูล “ยุเหล่” ในปัจจุบัน และโต๊ะสาเระฮฺ (บ้างก็เรียกโต๊ะเซฮัด) หลังจากนั้นก็มีกลุ่มคนจาก เกาะลิบง จังหวัดตรัง เข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ด้วย
ลักษณะการประกอบอาชีพของชุมชน อาชีพหลัก คือ ทำประมงชายฝั่งขนาดเล็ก อาชีพรอง คือ เลี้ยงปลาและรับจ้างทั่วไป โดยบ้านมีการรวมกลุ่มเพื่อจัดการทรัพยากร ทำให้เกิดกลุ่มองค์กรมากมาย เช่น
- กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล
เป้าหมายของกลุ่มเพื่อให้ชาวบ้านสามารถทำมาหากินอย่างยั่งยืน สร้างภาคีภาครัฐและประชาชน มีการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ มีเขตอนุรักษ์ มีการลาดตระเวนดูแล ผลที่ได้คือทรัพยากรเพิ่มขึ้น ตนในชุมชนมีรายได้ มีปะการังธรรมชาติเพิ่มขึ้น ผลเสียคือหน่วยงานไม่ให้ความจริงใจในการแก้ปัญหา เกิดความแตกแยกระหว่างชาวบ้านกับผู้ประกอบการอวนรุน อวนลาก ถูกลอบทำร้ายร่างกาย
- กลุ่มแม่บ้านประมงอาสา
ดำเนินการสร้างอาชีพเสริมให้กับกลุ่มแม่บ้านประมงอาสาโดยการทำผลิตภัณฑ์ในชุมชน แปรรูปอาหารทะเลและนำผลผลิตส่งที่ตลาดนัด ฉลุง ศูนย์โอทอปและพ่อค้าคนกลาง มีการทำกะปิเดือนละ 2 ครั้ง ทำอาหารทะเลปรุงรส เดือนละ 4 ครั้ง หอยกะบงสามรส เดือนละ 2 ครั้ง
- กลุ่มธนาคารกั้ง
เอากั้งขนาดเล็กมาขุนให้โตแล้วค่อยขาย เป้าหมายเพื่อวิจัยพันธุ์กั้งเพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ เสริมสร้างรายได้ให้กับชุมชน
- กลุ่มรีสอร์ท
เนื่องจากผู้ที่เข้ามาศึกษาเรื่องธนาคารกั้งไม่มีที่พัก การไปอาศัยบ้านชาวบ้านก็ไม่สะดวกสบาย ทั้งการต้อนรับและภาษาจึงเกิดการสร้างรีสอร์ทขึ้น
ชาวบ้านนับถือศาสนาอิสลามยึดมั่นและปฏิบัติตามหลักศาสนา มีกิจกรรมและวันสำคัญทางศาสนา ได้แก่
- วันเมาลิดดินนบี
เป็นวันคล้ายวันประสูติของศาสดามูฮัมหมัดศาสดาแห่งมนุษยชาติ ผู้ศรัทธาในศาสนาอิสลาม จะมีการรำลึกถึงคุณงามความดี อีกทั้งยังมีการปฏิบัติตามหลักศาสนาอย่างเคร่งครัด
- วันตรุษอิดิลฟิตรี
หรือ “วันรายาออกบวช” หลังจากที่มุสลิมได้ถือศีลอดมาตลอด ในเดือนรอมฏอนก็จะถึงวันออกบวช ตอนเช้าจะมีการละหมาดร่วมกัน ทุกคนจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สะอาดสวยงามและมีการจ่าย “ซากาตฟิตเราะฮ์"
- วันอาซูรอ
ตรงกับวันขึ้น 10 ค่ำ เดือนมูฮัรรอม จัดขึ้นเพื่อระลึกถึงประวัติของนบีนุย์ตอนเกิดอุทกภัยครั้งยิ่งใหญ่
- วันตรุษอิดิลอัฎฮา
หรือวันรายาฮัจยี เนื่องจากมุสลิมทั่วโลกเริ่มประกอบพิธีฮัจย์ ณ เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดีอารเบีย จะมีการทำกุรบาน หรือเชือดสัตว์เป็นอาหารแก่เพื่อนบ้านและคนยากจน เพื่อขัดเกลาจิตใจให้เป็นผู้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
- การถือศีลอด
เป็นหลักปฏิบัติทีมุสลิมจำเป็นต้องถือศีลอดในเดือนรอมฏอนตลอดระยะ เวลา 1 เดือน มุสลิมที่มีอายุเข้าเกณฑ์ศาสนบัญญัติจะต้องงด การกิน การดื่ม การร่วมประเวณีตลอดจนทุกอย่างที่เป็น
สิ่งต้องห้ามตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนกระทั้งตกดิน ทุกคนต้องสำรวมทั้งกาย วาจา ใจ เพราะเดือนรอมฏอนเป็นเดือนที่มีเกียรติยิ่งของศาสนาอิสลาม
- การละหมาด
เป็นการแสดงความจงรักภักดีต่ออัลเลาะห์ ซึ่งเป็นที่ศรัทธาของชาวมุสลิมทุกคนต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยถือว่าเป็นการเข้าเฝ้าผู้ทรงสร้างที่ยิ่งใหญ่ การแต่งกายต้อง สะอาด เรียบร้อย มีความสำรวม พระองค์กำหนดเวลาละหมาดไว้วันละ 5 เวลา
- การทำฮัจย์อัลเลาะห์
ทรงบังคับให้มุสลิมที่มีความสามารถด้านกำลังกายและกำลังทรัพย์ต้องไปทำฮัจย์ ณ นครเมกกะ ประเทศซาอุดิอารเบีย ซึ่งมีขึ้นปีละครั้งชาวมุสลิมทั่วโลกจะเดินทางมารวมกัน เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่ออัลเลาะห์ไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นใครมีฐานะทางสังคมอย่างไรต้องมาอยู่ที่เดียวกันทำกิจกรรมร่วมกัน ทุกคนมีฐานะเป็นบ่าวของอัลเลาะห์อย่างเท่าเทียมกัน
- การเข้าสุนัต
เป็นพิธีกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวมุสลิม ถือกันว่ามุสลิมที่แท้จริงควรเข้าสุนัต ถ้าไม่ทำถือว่าเป็นมุสลิมที่ไม่สมบูรณ์ ไม่บริสุทธิ์ คือ การขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศของผู้ขายออกเพื่อให้สะดวกในการรักษาความสะอาด
- การแต่งกายแบบมุสลิม
เป็นข้อบังคับของศาสนาอิสลามตามบทบัญญัติมุสลิมผู้ศรัทธาจะต้องปกปิดที่พึงสงวน โดยกำหนดให้ผู้ชายปกปิดระหว่างสะดือกับหัวเข่าและผู้หญิงต้องปกปิดทุกส่วนของร่างกาย ยกเว้นใบหน้าและฝ่ามือ
ผู้นำชุมชนที่สำคัญของหมู่บ้านบากันเคย คือ นายอิดริส อุเส็น อดีตผู้ใหญ่บ้านบ้านบากันเคยเป็นผู้ประสานงานกับหน่วยงาน กลุ่มองค์กรต่างๆ พัฒนาบ้านบากันเคยได้อย่างราบรื่น และนายสมภพ เหล็มเป่ง ตำแหน่ง ประธานกลุ่มเลี้ยงปลาในกระชัง เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มเลี้ยงปลา สมาชิก 20 คน และเป็นผู้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทุนวัฒนธรรม
- ภูมิปัญญาการย่ำกั้ง
การย่ำกั้งเป็นภูมิปัญญาอย่างหนึ่งที่ผู้เฒ่าผู้แก่ภายในชุมชนถ่ายทอดให้แก่เด็กๆ เยาวชนเพื่อเป็นอาชีพเสริม สามารถนำภูมิปัญญาดังกล่าวนี้ไปต้อนรับนักเที่ยวที่ต้องการเข้ามาเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวประมงในชุมชน การย่ำกั้งจะต้องเดินลงไปในทะเลบริเวณที่มีลักษณะเป็นดินโคลน สังเกตว่ารูกั้งจะมีลักษณะเป็นรูสองรูอยู่ใกล้กัน ให้เอาเท้าเหยียบลงไปในรูครู่หนึ่งกั้งจะไปโผล่อีกหนึ่งรูที่เหลือ โดยขนาดของกั้งที่โผล่ขึ้นมานั้นจะเล็กหรือใหญ่ขึ้นอยู่กับขนาดของรูด้วย
- ธนาคารกั้ง
ธนาคารกั้งบ้านบากันเคยจัดตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2549 โดยการนำของ นายอิดริส อุเส็น ถือเป็นธนาคารกั้งแห่งแรกในประเทศไทย หลักการของธนาคารกั้ง คือ เมื่อชาวประมงจับกั้งได้ก็จะนำมาฝากที่ธนาคารแห่งนี้ ส่วนกั้งตัวเล็กๆ ก็จะปล่อยคืนทะเล โดยจะมีการจดบันทึกชื่อผู้ฝากและจำนวนกั้งที่ฝากรวมทั้งปล่อยพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์กั้งลงในบ่อเพื่อให้ขยายพันธุ์ ใช้ปลาเล็กปลาน้อยเป็นอาหารแบ่งพื้นที่เพาะเลี้ยงตามขนาดของกั้ง เมื่อกั้งโตได้ขนาดผู้ฝากจึงจะนำกั้งที่ตนเองฝากไว้ไปขาย โดยราคาตามขนาดที่จับขายนี้อยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 600-800 บาท
รีสอร์ทชุมชนบ้านบากันเคย อีกหนึ่งโครงการเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวที่มีจุดเริ่มต้นจากการรวมตัวของชาวบ้านเพื่อระดมความคิดในการจัดการทรัพยากรหน้าบ้าน คือ ทะเล ซึ่งเปรียบเสมือนหม้อข้าวหม้อแกงชุบเลี้ยงชีวิตชาวชุมชนบ้านบากันเคยในรูปแบบธนาคารสัตว์น้ำ ตลอดจนประสานความร่วมมือกับองค์กรภาคีต่าง ๆ ภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา ตลอดจนองค์กรชุมชนร่วมจัดสรรทรัพยากรแบบบูรณาการบ้านบากันเคยเป็นแหล่งท่องเที่ยวริมทะเลวิถีดั้งเดิม และดำเนินการโครงการธนากั้งแห่งแรกและแห่งเดียวของโลกด้วย นอกจากกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ดังกล่าวแล้ว บ้านบากันเคยยังเป็นจุดศูนย์กลางที่นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นเรือเพื่อไปชมความงดงามของสันหลังมังกรอ่าวตันหยงโปได้อีกด้วย
อิดริส อุเส็น. (2558). โครงการแนวทางการจัดการศูนย์เรียนรู้บ้านบากันเคย ตำบลตันหยงโป อำเภอเมือง จังหวัดสตูล. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.
วิไลวรรณ เดชดอนบม. (2567). บ้านบากันเคย. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://wikicommunity.sac.or.th/community/1366