ชุมชนของชนเผ่าพื้นเมืองไทแสกที่มีรากฐานมาจากประเทศเวียดนาม เป็นชุมชนที่ยังรักษาภาษาวัฒนธรรมไทแสกได้อย่างสมบูรณ์ มีการพูดภาษาแสก มีพิธีกินเตดเดน
อยู่ในพื้นที่แห่งหนึ่งที่มีต้นหว้ามาก จึงได้ตั้งชื่อว่า "บ้านบะหว้า"
ชุมชนของชนเผ่าพื้นเมืองไทแสกที่มีรากฐานมาจากประเทศเวียดนาม เป็นชุมชนที่ยังรักษาภาษาวัฒนธรรมไทแสกได้อย่างสมบูรณ์ มีการพูดภาษาแสก มีพิธีกินเตดเดน
บ้านบะหว้าเป็นชุมชนหนึ่งในตำบลท่าเรือ อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ชุมชนนี้ตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นกระจุก เดิมแบ่งการปกครองเป็นหมู่ 5 หมู่เดียว ต่อมาเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2538 จึงได้แบ่งการปกครองเป็น 2 หมู่ คือ หมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 7 อย่างไรก็ตามแม้ว่าชุมชนนี้จะเป็น 2 หมู่บ้าน แต่ยังเป็นชุมชนทางวัฒนธรรมที่ชาวบ้านมีเชื้อสายมาจากไทยแสกที่ถิ่นเดิมทางฝั่งซ้ายใกล้เขาบรรพตต่อแดนญวน ดังนั้นถิ่นฐานดั้งเดิมชุมชนชาวไทยแสกบ้านบะหว้ามาจากบ้านนากระแค้ง บลโพธิ์ค้า เมืองท่าแขก และแขวงคำม่วน ประเทศลาว หรือประเทศสาธารณรัฐ ประชาธิปไตยประชาชนลาวในปัจจุบัน ด้ข้ามแม่น้ำโขงมาอยู่ฝั่งไทยตั้งบ้านเรือนอยู่กับญาติพี่น้องที่บ้านอาจสามารถ ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม เมื่อเมืองอาจสามารถขยายใหญ่ขึ้น ชาวบ้านส่วนหนึ่งก็ย้ายถิ่นฐานจากบ้านอาจสามารถ ไปอยู่บ้านคอนสมอ ตำบลท่าบ่อสงคราม อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม คนกลุ่มหนึ่งที่อยู่บ้านดอนสมอไม่สะดวกในการหาเลี้ยงชีพ ประกอบกับมีโรคจึงอพยพต่อไป จนถึงบ้านบะหว้า ตำบลท่าเรือ อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม โดยการนำของ นายโพธิสาร ก้อนกั้น เมื่อมาตั้งบ้านเรือนอยู่พื้นที่แห่งหนึ่งเป็นบริเวณที่มีต้นหว้ามาก จึงได้ตั้งชื่อว่า บ้านบะหว้า
มีชนเผ่าย้อเป็นส่วนใหญ่ รองลงมาคือชนเผ่าโย้ย และไทยลาวรวมกัน มีชนชาติพันธุ์ไทยแสก 215 ครัวเรือน ประชากร 1047 คน เป็นชาย 515 คน เป็นหญิง 532 คน
กลุ่มเป็นทางการ
- กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านบะหว้า
เป็นการรวมกลุ่มของชาวบ้านที่มีอาชีพเกษตรกรรม ทำไร่เลี้ยงวัว รับจ้าง ผู้ว่างงาน กลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งได้รวมตัวกันประกอบอาชีพเพื่อเสริมรายได้ ในช่วงว่างเว้นจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรมโดยนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ มีการจำหน่าย ผ้ามัดหมี่และ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ้าคราม ผ้าขาวม้า ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ วัตถุดิบใช้สีธรรมชาติ
- โครงการหมู่บ้านต้นแบบนำร่องสืบสานประเพณีทำนาแบบโบราณลงแขกเกี่ยวข้าว
เป็นการสืบสานประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว รวมถึงการสาธิตวิถีชีวิตการทำนาแบบโบราณ ตั้งแต่ขั้นตอนการเก็บเกี่ยว การมัดฟ่อนข้าว และการขนย้ายด้วยการหาบ ไม่ต้องใช้เครื่องจักกล ไปถึงการสาธิตการนวดข้าวจากแรงงานคน หรือการตีข้าว ภายในลานดิน พร้อมจัดสาธิตการใช้ขี้ควายนำมาทำเป็นลานตีข้าว โดยโครงการนี้ยึดถือเอาวิถีชีวิตชาวนาแบบโบราณ มาลดต้นทุนการผลิต ในการนวดข้าว การใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านทำลานตีข้าว ตากข้าว จากมูลสัตว์ ขี้ควาย ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายซื้อวัสดุอุปกรณ์ หรือค่าจ้าง ที่จะเกิดผลดีต่อเกษตรกร มีรายได้เพิ่มขึ้น และจะมีการต่อยอดขยายผลไปยังชุมชนอื่นๆ ต่อเนื่อง
กลุ่มไม่เป็นทางการ
- กลุ่มละเล่นพื้นบ้าน
ประเพณีแสกเต้นสากเป็นการเต้นบวงสรวงเจ้าที่จะเต้นกันเป็นประจำทุกปี ในเดือน 3 ขึ้น 2 ค่ำ การเต้นสากนอกเทศกาลจะต้องทำพิธีขอขมาก่อน ของที่ใช้ได้แก่ หัวหมู เงิน และเหล้า ซึ่งจะทำพิธีที่ศาลเจ้าประจำหมู่บ้าน โดยการเสี่ยงทายไม้สี ถ้าได้สีเดียวกันแสดงว่าเจ้าไม่อนุญาต การเต้น "แสกเต้นสาก" ใช้ไม้ยาวทาสีแดงสลับขาวเรียก "สาก" นำด้วยเสียงกลองจังหวะเร็ว ผู้เต้นจะซอยเท้าถี่ ๆ ตามจังหวะการกระทบไม้คล้ายการเต้นลาวกระทบไม้แต่จะเร็วกว่ามาก
กลุ่มอาชีพ
ชาวบ้านบะหว้าแสกปัจจุบันนี้ถือว่าอยู่ในระดับดี ถ้าเปรียบเทียบกับชุมชนอื่นในเขตอำเภอ เพราะชาวบ้านแสกมีความขยันทำมาหากิน รู้จักประหยัด สร้างรายได้ไห้แก่ครอบครัวเป็นอย่างดีเพราะมีอาชีพเสริม หลายอย่างที่นิยมทำกันในชุมชน มีอาชีพส่วนใหญ่ คือ
ทำนาขายข้าวทั้ง นาปีและนาปลัง
- ค้าขาย
- ก่อสร้าง
- ทำงานโรงงานในหมู่บ้านหลายแห่ง ทั้งโรงงานก่อสร้าง โรงงานแหนม โรงงานสินค้าส่งออก
- เย็บผ้าส่งห้างร้านต่างๆ
- ทำขนมส่งออก
- เลี้ยงสัตว์
วิถีทางวัฒนธรรม
พิธีกินเตดเดน เป็นประเพณีพิธีกรรมอีกอย่างหนึ่ง โดยการประกอบพิธีกรรมขึ้นมาเพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อ "โองมู้" ที่ชาวไทแสกเคารพนับถือ ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชาวไทแสก เป็นผู้มีพระคุณต่อ ลูกหลานรุ่นหลังๆ สืบต่อกันมา "โองมู้" จะทำหน้าที่คุ้มครองอันตรายที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน และดลบันดาลให้สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นตามที่ "ผู้บ๊ะ" (บนบาน) โดยมี "กวนจ้ำ" เป็นสื่อกลางในการประกอบพิธีกรรม แต่ถ้าหากลูกหลาน ประพฤติมิชอบ ไม่เหมาะสม หรือทำพิธีบนบานแล้วไม่ประพฤติปฏิบัติตามในสิ่งที่ถูกดีงามหรือไม่มีพิธีกรรม เก่บ๊ะ (พิธีแก้คำบนบาน) ก็จะทำให้เกิดเหตุเภทภัยในครอบครัว พิธีความเชื่อ เจ้าเดนหวั่วปู่โองมู้ ชาวไทแสกจะต้องมีการทำบุญกราบไหว้สักการะบูชา เจ้าเดนหวั่วปู่โองมู้ ริมฝั่งแม่น้ำโขง ถือเป็นบรรพบุรุษที่ก่อตั้งหมู่บ้าน ดูแลชาวไทแสกมาแต่อดีต จึงได้ร่วมกันจัดสร้างศาลขึ้น เป็นที่รวมจิตใจ
วิถีทางสังคม
ทางครอบครัว จะไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงไปมากนัก กล่าวคือ เดิมมีระบบครอบครัว แบบขยายตั้งแต่สองครอบครัวขึ้นไปมาอยู่กับปู่ย่า ต่อมาได้เปลี่ยนมาเป็นครอบครัวเดี่ยว ตั้ง บ้านเรือนใกล้ๆกับครอบครัวของปู่ย่าการสืบสายตระกูลทางฝ่ายชาย ลูกชายคนสุดท้ายจะ ได้รับมรดกจากพ่อแม่และได้เลี้ยงดูพ่อแม่ ญาติพี่น้องจะมีความสัมพันธ์กันอย่างมากบทบาทของพ่อจะมีหน้าที่สั่งสอนอบรมลูกชาย ส่วนแม่จะอบรมสั่งสอนลูกหญิง และลูกๆจะเคารพ เชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพ่อแม่ ตลอดจนพ่อแม่ให้การเลี้ยงดูและเอาใจใส่ลูกๆ เป็นอย่างดี
การรับประทานอาหารหรือการกินข้าว เมื่อยกถาดข้าวและอาหารไปวางไว้ที่ สำหรับกินแล้ว การลงมือกินข้าวครั้งแรกในการรับประทานอาหารครั้งนั้นๆต้องรอให้ผู้สูง อายุหรือบุคคลที่เป็นหัวหน้าครอบครัวได้กินก่อนทุกครั้ง ยกเว้นหัวหน้าครอบครัวได้บอกให้ทุก คนกินข้าวได้เลย เพราะยังไม่หิว คนที่อาวุโสรองลงมาในครอบครัวนั้นก็จะลงมือก่อนตาม ลำดับ ร่วมรับประทานอาหารไปด้วยกันอย่างพร้อมเพรียง เมื่อกินข้าวอิ่มแล้วก่อนที่จะลุกจากที่นั่งเพื่อไปดื่มน้ำและล้างมือ ทุกคนก็จะยกมือ ไหว้ขอบคุณข้าว และการไหว้หลังกินข้าวอิ่มนี้เป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันสืบมา อาจกล่าวได้ว่า เกือบทุกคนในหมู่บ้านจะเป็นอย่างนี้ ยกเว้นเฉพาะคนที่มาจากถิ่นอื่นมาแต่งงานอยู่ในหมู่บ้าน ในระยะแรกๆก็ไม่ค่อยทำ แต่เมื่อเห็นคนในครอบครัวทำ คนนั้นก็เริ่มทำบ้าง
ทุนวัฒนธรรม
- วัดโอภาสวิทยารา
ชาวไทแสกนับถือศาสนาพุทธอย่างเคร่งครัด ซึ่งได้รับอิทธิพลจากผู้ใหญ่บ้านคนที่สอง ที่ให้เน้นความสำคัญของพุทธศาสนา มีความเชื่อในคำสอนของพระพุทธเจ้า และเชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ได้มีการฟังเทศนาทุกวันพระ การนำคำเทศนาไปเปิดในหอกระจายข่าวของชุมชนในวันพระ หรือเมื่อมีงานบุญใดๆ ก็จะมีการฟังเทศน์ในงานน้ันๆ เพื่อให้ชาวบ้านได้แนวคิดและแนวทางที่ดีที่สุดในการดำเนินชีวิต
- อาหาร
ปล๋าเผาะเผ่ากราบโครุ่ง (ปลาเพาะห่อกาบกล้วย) สมัยก่อนหากชาวบ้านหาปลามาได้แล้วจะนำปลาไปเผาทานเปล่าๆ ต่อมาต้องการเพิ่มรสชาติและให้ปลาไม่แห่งจนเกินไปจึงนำกาบของต้นกล้วยมาห่อก่อนแล้วจึงเผา ปลาเผาะ เป็นปลาที่หาทานง่ายในบริเวณที่ชนเผ่าไทยแสกอาศัยอยู่ จึงมีการเพาะเลี้ยงปลาชนิดนี้ไว้จนเป็นปลาเศรษฐกิจของชาวบ้าน เมื่อมีแขกหรือผู้มาเยือน ชาวบ้านนิยมนำเมนูนี้ขึ้นมาวางไว้ในสำรับ จึงกลายเป็นอาหารเอกลักษณ์ของชนเผ่าไทยแสก
ขนมเกฺาโค̄บ(ข้าวพอง) เป็นภาษาแสก เกฺาโค̄บ เป็นขนมโบราณของชาวไทแสก ใช้ในงานบุญและงานมงคล
- การแต่งกาย
ผู้ชายเสื้อดำแขนสั้น ผ้ายอมหม้อสีคราม เสื้อคอกลมติดกระดุมด้านหน้ากางเกงขาก๊วย หรือขา ครึ่งท่อ ผ้าคาดเอว เป็นผ้าขาวม้า เป็นลายตะล่องสีแดง ส่วนผ้าพาดบ่าใช้ผ้าสีแดงล้วน ผู้หญิงเสื้อแขนยาวสีดำ ผ่าอก ติดกระดุมด้านหน้า ผ้าถุงสีดำเชิงที่ปลายผ้าถุง ผ้าถุงยาวคลุมเท้า ผ้าคาดเอวนิยมเป็นผ้าลายเดียวกันกับลายเชิงผ้าถุงผ้าเบี่ยงซ้าย นิยมใช้ผ้าสีแดง นิยมใส่ตุ้มหู กำไลขา สร้อยขา และสร้อยคอ นิยมไว้ผมยาวเกล้ารัดมวย
ชาวบ้านบะหว้ามีภาษาเฉพาะของชนกลุ่มนี้ คือ ภาษาแสก เป็นภาษาที่พูดไม่ได้เป็นภาษาเขียน ภาษาแสกบางคำเหมือนกับภาษาเวียดนามแต่ก็ ไม่มากนัก เนื่องจากถิ่นเดิมของชาวไทยแสกในประเทศไทยเคยอยู่ติดพรมแดนเวียดนาม แต่คนในชนชาติพันธุ์พูดกันรู้เรื่อง คนชาติพันธุ์อื่นฟังไม่ออก และชาวไทยแสกยังมีการพูดแสก ทั้งชุมชน ซึ่งพูดภาษาแสกได้อย่างชัดเจนตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงอายุ ส่วนภาษาไทย กลางนั้นก็พูดได้ เรียนรู้ได้ เพราะเมื่อถึงเกณฑ์อายุเข้าโรงเรียน ชาวไทยแสกทุกคนจะไป โรงเรียนเพื่อเรียนหนังสือในภาคบังคับ เด็กนักเรียนที่เป็นไทยแสกมักจะได้เปรียบกว่านัก เรียนที่เป็นคนลาว คนย้อ หรือเผ่าอื่นๆ เพราะคนแสกพูด ส, ร, ล ได้ชัดเจน หันลิ้นตัว ร. ตัว ล. ได้ชัดเจน แสดงให้เห็นว่าครัวเรือนที่สมาชิกใช้ภาษาแสกพูดสนทนากันล้วนๆ มีถึงร้อยละ 61.6 นอกเหนือจากที่ใช้พูดภาษาแสดปนกับภาษาอื่นๆ เช่น ภูไท ลาว และข้อ มีอยู่ร้อยละ 38.4. ก็แสดงให้เห็นว่าสมาชิกภายในครัวเรือนสามารถพูด ภาษาแสกได้ทั้งหมด แสดงว่ายังเป็นการแสดงเอกลักษณ์ของภาษาที่พูดกันมาก และมีแนวโน้มว่าครัวเรือนที่พูด 2 ภาษานั้นเมื่อถึงรุ่น ลูกอาจจะพูดภาษานั้น การใช้ภาษาเมื่ออยู่กับกลุ่มที่เป็นคนเผ่าอื่น ก็สามารถพูดภาษาเผ่าที่อยู่ใกล้เคียงกัน แต่พอกลับบ้านตัวเองก็พูดภาษาแสกหรือในเหตุการณ์จำเป็นที่ไม่ต้องการให้คนอื่นทราบ ชาวไทยแสกก็จะส่งภาษาเฉพาะของเขาเพื่อไม่ให้คนอื่นรู้ แต่ปัจจุบันนี้อาจจะมีบางคำที่ถูกกลืนบ้าง แต่ยังเป็นส่วนน้อยมาก เพราะส่วนใหญ่ยังรักษาได้เป็นอย่างดี
ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีและการพัฒนาการสื่อสารที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว มีอิทธิพลต่อการ ดำเนินชีวิตและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น เด็กและเยาวชนที่เป็นคนรุ่นใหม่ ลูกหลานชาวไทแสกไม่ค่อยให้ ความสนใจต่อการสื่อสารกันด้วย สรุปได้ว่า
- การสืบทอดวัฒนธรรมด้านภาษา กำลังจะสูญหายไป เด็กๆ รุ่นใหม่ไม่ค่อยให้ความสนใจต่อการสื่อสาร ด้วยภาษาไทแสก มีการใช้ภาษาไทยกลางเพิ่มมากขึ้น บางครั้งสื่อสารกับผู้เฒ่าผู้แก่ไม่ค่อยรู้เรื่อง
- การสืบทอดประเพณีและพิธีกรรม รวมถึงภูมิปัญญาของชาวไทแสก กำลังจะไม่มีผู้ปฏิบัติตาม พิธีกรรมต่างๆ นำวัตถุสมัยใหม่มาใช้แทนเครื่องจักสานจากไม้ไผ่ พิธีกรรมก็เริ่มจะไม่มีผู้ทำให้ถูกต้อง
- ปัญหาที่ดินทำกินถึงแม้จะมีที่ดินทำกินที่มีเอกสารสิทธิแต่ปัญหาทางเศรษฐกิจทำให้มีการเปลี่ยนมือในการถือครองที่ดินไปอยู่กับสถาบันการเงินและนายทุนมากขึ้น
ทีมวิจัยภาษาแสก. (2554). "เรื่องเล่าประสบการณ์ของทีมวิจัยภาษาแสก". เอกสารประกอบรายงานวิจัย. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครพนม. (2555). กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านบะหว้า. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: http://www.m-culture.in.th/album/164210/js/
MGR Online. (2566). อำเภอนาหว้าสร้างหมู่บ้านต้นแบบทำนาโบราณ ลดต้นทุนหนุนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://mgronline.com/local/detail/9560000144658