ศูนย์เรียนรู้ผ้าทอที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการทอผ้าไทดำ กลุ่มผ้าฝ้ายพื้นเมืองบ้านนาป่าหนาด
ศูนย์เรียนรู้ผ้าทอที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการทอผ้าไทดำ กลุ่มผ้าฝ้ายพื้นเมืองบ้านนาป่าหนาด
บ้านนาป่าหนาด เป็นหมู่บ้านของคนเชื้อสายไทดำที่บรรพบุรุษถูกกวาดต้อนมาจากเมืองพวนเมื่อครั้งไทยยกทัพปราบฮ่อในปี พ.ศ. 2418 เนื่องจากฮ่อยกกำลังมาตีเมืองเชียงขวาง ซึ่งเป็นเมืองสำคัญของแคว้นพวน ทางกรุงเทพฯ ได้จัดทัพให้พระยาภูธราภัยเป็นแม่ทัพคุมกองทัพไปปราบฮ่อ แล้วได้กวาดต้อนผู้คนจากแคว้นพวนอพยพเข้ามาไทยด้วย ชาวไทดำที่ถูกกวาดต้อนในครั้งนั้นเข้ามาตั้งรกรากหลายแห่งด้วยกัน ต่อมาเจ้าเมืองบริขันธ์ มาทูลขอราษฎรบางส่วนกลับไปยังเชียงขวาง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยินยอมให้ไทดำอพยพกลับไปตามคำขอ ครั้งมาถึงเมืองหล่ม ชาวไทดำบางส่วนได้ตั้งหลักแหล่งที่หล่มสักบางส่วนกลับไปเชียงขวาง แต่มีบางกลุ่มที่เมื่อเดินทางไปถึงเชียงขวางแล้วพบว่าไม่มีที่ทางเหมาะสมที่จะตั้งหลักแหล่ง จึงชักชวนอพยพกลับมาเมืองหล่มสักตามเดิม โดยข้ามโขงมาขึ้นที่บ้านสง่าว (ใต้อำเภอปากชม) ตามเส้นทางบ้านปากปัด นาค้อ ทะลุมาถึงท่าบม ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ท่าบม ต่อมาได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านนาเบน แล้วจึงย้ายมาอยู่ที่บ้านนาป่าหนาดเป็นการถาวรราวปี พ.ศ. 2448 เนื่องจากอุดมสมบูรณ์ โดยครอบครัวที่อพยพมามีทั้งหมด 15 ครอบครัว
ประชากรบ้านป่าหนาด หมู่ 4 มีจำนวนครัวเรือน 103 ครัวเรือน มีประชากรรวม 505 คน เป็นหญิง 245 คน เป็นชาย 260 คน และหมู่ 12 มีจำนวนครัวเรือน 114 ครัวเรือน มีประชากรรวม 480 คน มีประชากรเป็นชาย 261 คน เป็นหญิง 219 คน รวมประชากรทั้ง 2 หมู่มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 985 คน
ไทดำชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก เช่น การทำนา โดยจะทำนาปี ซึ่งเรียกว่า นาดำ โดยจะทำในเดือนพฤษภาคม จากนั้นจะเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม สำหรับการใช้แรงงานจะมีการช่วยเหลือกัน หรือเรียกว่า ลงแขกทำงาน ส่วนอุปกรณ์ เช่น คราด แอก ไถ ก็จะทำใช้เอง ส่วนผู้ที่จ้างรถไถนาจะจ้างเหมาในราคา 1,500-2,000 บาทต่อที่นา หากแรงงานไม่เพียงพอก็จะจ้างดำนาวันละ 100 บาท/คน ในหน้าเก็บเกี่ยวจะจ้างวันละ 110 บาท/วัน พืชที่ปลูก ได้แก่ ฝ้าย โดยจะปลูกเอาไว้ทำเครื่องนุ่งห่ม ได้แก่ เสื้อผ้า หมอน มุ้ง ผ้าห่ม เพาะปลูกจะอยู่ในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ส่วนหน้าเก็บเกี่ยวจะอยู่ระหว่างเดือนธันวาคม-มกราคม เริ่มปลูกข้าวโพดตั้งแต่ พ.ศ. 2517-2518 การปลูกจะเริ่มในเดือนเมษายน-มิถุนายน ส่วนหน้าเก็บเกี่ยวจะอยู่ในเดือนสิงหาคม-ตุลาคม พันธุ์ข้าวโพดที่ปลูกส่วนใหญ่จะเป็นพันธุ์ที่ใช้ทำอาหารสัตว์ มีการปลูกถั่วเหลือง และประกอบอาชีพหัตถกรรมการทอผ้า
ชาวไทดำมีประเพณีการละเล่นที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน หากมีนักท่องเที่ยวแวะเข้ามาเยี่ยมเยือน นักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้และลองเล่นกันจริง ๆ ทั้งการฝึกขี่แจงแจ๊ะ (การเดินไม้โถกเถก) และการอิ้นมะก๊อนลอดบ่วง(การโยนลูกช่วงลอดบ่วง) ซึ่งเป็นการละเล่นที่นับว่าหาชมได้ยากแล้วในปัจจุบัน อีกทั้งยังมีการแสดง “แซปาง” ที่จัดขึ้นเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างอบอุ่น มาร่วมกันฟ้อนแคนแบบชาวไทดำอย่างสนุกสนาน
ทุนวัฒนธรรม
ศูนย์วัฒนธรรมไทดำบ้านนาป่าหนาด
ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ จะประกอบไปด้วยหลายส่วน เช่น บ้านไม้ทรงไทดำ ที่มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์ที่เป็นแบบเฉพาะของตน ใช้วัสดุง่าย ๆ ในท้องถิ่น หลังคาและปีกนก หัวท้ายบ้านลากยาวมาเสมอกัน หลังคาบ้านมีลักษณะโค้งเป็นกระโจม ขณะที่ยอดจั่วบนหลังคาบ้านมีการประดับด้วยไม้แกะสลักเป็นกิ่งคล้ายเขาควาย หรือเขากวางไขว้กัน เรียกว่า “ขอกุด” ซึ่งแบ่งตามฐานะและตระกูล เช่น ขอกุดจิม ขอกุดบัว ขอกุดหม้าย เป็นต้น ส่วนใต้ถุนบ้านจะสูงโล่งกว้าง ใช้เก็บสิ่งของเครื่องใช้ บันไดบ้านจะทอด ขึ้น-ลง สองทาง คือด้านกว้านสำหรับผู้ชาย กับด้านชานสำหรับผู้หญิง ภายในตัวบ้านเปิดโล่ง และจะมีการจัดแบ่งเป็นส่วนบรรพบุรุษ พ่อ แม่ ลูกชาย ลูกสาว
อาหาร
อาหารพื้นเมืองของชาวไทดำที่หากินที่ไหนไม่ได้ คือ “จุ๊บผัก” เมนูรสแซ่บนัวหอมน้ำปลาร้ากับเครื่องผักสมุนไพรที่เข้ากัน โดยเมนูนี้จะใช้ผักที่หาได้ในท้องถิ่นมาลวกเตรียมไว้ เช่น ยอดผักดาวอินคา ยอดใบย่านาง ข่าอ่อน ถั่วฝักยาว ผักชีเลื่อย กระเทียม หรือผักอื่น ๆ ตามฤดูกาล มาคลุกเคล้าผสมกับพริกข่า น้ำปลาร้า ปรุงรสตามใจชอบ ได้ออกมาเป็น “จุ๊บผัก” ที่อร่อยกลมกล่อม กินคู่กับข้าวเหนียวร้อน ๆ
เด็กและประชาชนส่วนใหญ่ในชุมชนป่าหนาดห่างไกลจากการศึกษา ส่วนหนึ่งด้วยมักเป็นหมู่บ้านซึ่งอยู่ห่างไกลความเจริญ ไม่มีสถาบันการศึกษาทันสมัย
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2549). กลุ่มชาติพันธุ์. (ออนไลน์). ฐานข้อมูลงานวิจัยทางชาติพันธุ์ในประเทศไทย สืบค้นเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://ethnicredb.sac.or.th/
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2564). ชุมชนบ้านป่าหนาด. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://culturalenvi.onep.go.th/
องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน. (2563). ชุมชนไทดำ บ้านนาป่าหนาด. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://cbtthailand.dasta.or.th/
อุไรวรรณ หอมทรัพย์. (2553). การศึกษาประเพณีเลี้ยงบ้านของชาวไทดำ บ้านนาป่าหนาด ตำบลเขาแก้ว อำเภอเชียงคาย จังหวัดเลย. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.