
การแต่งกายของชาวโส้ ภาษามอญ-เขมร พิธีวันตรุษโส้ เจดีย์บรรจุธาตุของอาจารย์กัณหาอาญาผ้าดำ (เจ้าปู่ผ้าดำ) รอยพุทธบาท วัดพระพุทธบาท สะพานแขวนอนุรักษ์
การแต่งกายของชาวโส้ ภาษามอญ-เขมร พิธีวันตรุษโส้ เจดีย์บรรจุธาตุของอาจารย์กัณหาอาญาผ้าดำ (เจ้าปู่ผ้าดำ) รอยพุทธบาท วัดพระพุทธบาท สะพานแขวนอนุรักษ์
เมื่อประมาณ 186 ปีก่อน ในสมัยรัชกาลที่ 2 เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2359 ชาวโส้ (กะโซ่) กลุ่มหนึ่งซึ่งมีถิ่นฐานเดิมอยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง บริเวณเมืองมหาชัย ในแขวงคำม่วน และเมืองอื่นๆในแขวงสะหวันเขต สปป.ลาว ในปัจจุบัน ได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในภาคอีสานของประเทศไทยอยู่ที่บ้านดงหลวง โดยการนำของเพี้ยแก้ว นครอินทร์ ซึ่งเป็นบรรพบุรุษผู้นำชาวกะโซ่ และชาวกะโซ่โดยได้เล็งเห็นได้ว่าเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพันธุ์แวดล้อมไปด้วยที่ราบลุ่มและเชิงเขาบ้อมไปด้วยภูเขาเหมาะสมในการเพาะปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ เพื่อการดำรงชีพ จึงเรียกชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านดงหลวง” และเพี้ยแก้วที่เป็นหัวหน้าชาวไทกะโซ่ของบ้านดงหลวง ต่อมาได้เป็นกำนันตำบลดงหลวงคนแรก ซึ่งมีนามบรรดาศักดิ์ว่า หลวงวาโนไพรพฤกษ์ เดิมตำบลดงหลวง อยู่ในเขตการปกครองของเมืองมุกดาหาร เมื่อมีการจัดตั้งเป็นอำเภอและจังหวัดในปี พ.ศ. 2450 จึงโอนตำบลดงหลวงไปขึ้นกับอำเภอนาแก จังหวัดนครพนม ต่อมาเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2520 ได้ประกาศกระทรวงมหาดไทย จัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอดงหลวง จนกระทั่งเมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2527 กิ่งอำเภอดงหลวงจึงได้โอนมาจากจังหวัดนครพนมและเป็นอำเภอดงหลวง ขึ้นกับการปกครองของจังหวัดมุกดาหาร
ในอดีตตำบลบ้านพังแดง ในอดีตเมื่อ 80 ปีก่อน ชาวลาวหรือชาวไทกะโซ่ได้อพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ประเทศไทยที่จังหวัดนครพนม ต่อมามีการย้ายมาอยู่อำเภอดงหลวง และย้ายไปอยู่ที่บ้านนาหลักจนเมื่อเกิดอุทกภัยน้ำท่วม ทำให้ประชาชนที่อยู่แถบนั้นได้แยกตัวออกมา ได้แก่ บ้านพังแดง,บ้านหนองหมู,บ้านโพนสว่าง,บ้านติ้ว,บ้านหนองคอง และบ้านห้วยเลา ต่อมาภายหลังเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2526 ตำบลพังแดง จึงได้แยกตัวออกจากตำบลหนองแคน อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร และตั้งตำบลขึ้นมาใหม่ ชื่อตำบลพังแดง จัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2539 จนถึงปัจจุบัน องค์การบริหารส่วนตำบลพังแดง เป็นองค์การบริหารส่วนตำบลหนึ่งใน 6 องค์การบริหารส่วน ตำบลของอำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย
ที่ตั้งและอาณาเขต
ตำบลพังแดงตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอดงหลวง ประมาณ 26 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดมุกดาหาร ประมาณ 60 กิโลเมตร พื้นที่อยู่ระหว่างตำบลหนองแคนและตำบลกกตูมของอำเภอดงหลวง ประกอบด้วย 8 หมู่บ้านดังนี้ หมู่ที่ 1 บ้านพังแดง หมู่ที่ 2 บ้านมะนาว หมู่ที่ 3 บ้านติ้ว หมู่ที่ 4 บ้านนาหลัก หมู่ที่ 5 บ้านหนองหมู หมู่ที่ 6 บ้านโพนสว่าง หมู่ที่ 7 บ้านห้วยเลา และหมู่ที่ 8 บ้านหนองคอง มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลพุ่มแก อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม
ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลบ้านค้อ อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลกกตูม อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลหนองแคน อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร
สภาพภูมิประเทศ
ตำบลพังแดงมีพื้นที่โดยประมาณ 229 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ 206,670 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 30.95 ของอำเภอดงหลวง โดยมีสภาพพื้นที่ทั่วไปเป็นที่ราบสูงเทือกเขาภูพานมีบางส่วนเป็นที่ราบลุ่มตามลำน้ำห้วยบางทรายและลำห้วยชะโนด มีสภาพเป็นทุ่งนาสลับป่าไม้และภูเขาทำให้มีพื้นที่ราบสำหรับใช้ในการเกษตรมีน้อย ในหน้าแล้งเกิดความแห้งแล้งทำให้น้ำตามลำห้วยบางทรายจะแห้งขอดไม่สามารถนำมาใช้ในการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรได้ ด้านทิศตะวันตกเป็นภูเขา ส่วนด้านตะวันออกเป็นพื้นที่ราบ จากการศึกษาในตำบลพังแดง พบว่าลักษณะดินในหมู่บ้านส่วนใหญ่จะเป็นดินที่เกิดจากการที่น้ำพัดพาตะกอนมาทับถมใหม่และดินค่อนข้างใหม่ ดินจะเป็นดินร่วนเหนียวปนทรายแป้ง ชาวบ้านจะใช้เป็นพื้นที่สำหรับการทำนาปลูกข้าวนอกจากนี้ยังมีดินที่เกิดจากการสลายตัวของหินภูเขาที่ให้เนื้อดินทรายแป้ง ชาวบ้านจะใช้ประโยชน์เพื่อการปลูกมันสำปะหลังเป็นหลัก นอกจากนี้แต่ละชุมชนยังมีป่าชุมชน โดยลักษณะของพื้นที่ป่าส่วนใหญ่ของหวัดมุกดาหาร จะอยู่ในพื้นที่ของอำเภอดงหลวง จึงทำให้ตำบลพังแดงมีที่ตั้งอยู่กลางพื้นที่ป่าอนุรักษ์เขตอุทยานแห่งชาติภูผายลทำให้ทุกหมู่บ้านถูกล้อมรอบด้วยพื้นที่ป้าไม้ที่สำคัญ 4 ชนิดได้แก่ ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าบุ่ง ป่าทาม ซึ่งชาวบ้านสามารถพึ่งพิงทรัพยากรจากป่าตลอดทั้งปี ในการเป็นแหล่งอาหารและเพื่อขายเป็นรายได้ของครัวเรือน ถึงแม้ว่าเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ แต่ชาวบ้านสามารถเก็บของป่าได้ เพราะได้รับความอนุญาตจากหน่วยงานป่าไม้พื้นที่จึงสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้
สภาพภูมิอากาศ
อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีมีค่าอยู่ในช่วง 26 ถึง 27.6 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดอยู่ในช่วง 7.0ถึง 14.0 องศาเซลเซียส โดยอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีสูงสุดวัดได้ 7.0 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิสูงสุดอยู่ในช่วง 39.8 ถึง 42.5 องศาเซลเซียส
จากข้อมูลขององค์การบริหารส่วนตำบลพังแดง อำเภอดงหลวง จ.มุกดาหาร ระบุได้ว่าประชากรตำบลพังแดงในปี 64 มีประชากรรวมทั้งสิ้น 5,262 คน โดยบ้านพังแดง หมู่ที่ 1 มีประชากร 1,113 คน
ในอดีตการตั้งครัวเรือนของชาวบ้านในพื้นที่พังแดงจะเป็นลักษณะครัวเรือนขยายมากกว่าครัวเรือนเดี่ยว แต่เมื่อประมาณปี พ.ศ.2520 ครัวเรือนในตำบลพังแดง นิยมแยกครอบครัวเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น แต่ก็ยังมีลักษณะการอยู่อาศัยปลูกสร้างบ้านเรือนใหม่ที่อยู่ในละแวกเดียวกัน ปัจจุบันถือว่าความสัมพันธ์หรือระบบเครือญาติในชุมชนยังถือว่ามีความเข้มแข็ง เนื่องจากตระกูลเชื้อคำฮด ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อพยพมาจากสปป.ลาว มีการกระจายอยู่ในทุกหมู่บ้าน แต่ความสัมพันธ์ในครอบครัวก็ได้เริ่มเปลี่ยนแปลงไปบ้าง เนื่องจากเกิดการการอพยพแรงงานที่มากขึ้น
กลุ่มที่เป็นทางการ
กลุ่มคณะกรรมการจัดการดูแลรักษาป่า ซึ่งแต่ละหมู่บ้านจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการหมู่บ้านละ 15 คน ทำหน้าที่ในการดูแลรักษาป่าชุมชน โดยอบต.ตำบลพังแดง จะสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการดูแลป่า หมู่บ้านละ 10,000 บาท/หมู่บ้าน/ปี ในปัจจุบันตำบลพังแดงมีป่าสาธารณะ ได้แก่ ป่าภูค้อ ป่าภูเพ็ญ ป่าภูไก่เขี่ย ป่าภูสีเสียด ป่าภูหยวก เป็นต้น ในส่วนอุทยานแห่งชาติป่าภูผายล จะมีการดูแลร่วมกันระหว่าง อบต.และชาวบ้าน ซึ่งไม่มีกฎระเบียบที่เป็นลายลักษณ์อักษรมีเพียงข้อตกลงร่วมกันในการใช้ประโยชน์ร่วมกัน
กลุ่มที่ไม่เป็นทางการ
- กลุ่มศรัทธา
ชาวโส้ บ้านพังแดงส่วนใหญ่ยังผูกพันอยู่กับผี มีความเชื่อเกี่ยวกับอำนาจเหนือธรรมชาติเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ยกตัวอย่าง เจดีย์บรรจุธาตุของอาจารย์กัณหาอาญาผ้าดำ หรือเจ้าปู่ผ้าดำ โดยเรื่อราวไม่มีการบันทึกอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร มาจากการเล่าสืบต่อกันมาซึ่งสรุปได้ความว่า เจ้าปู่ผ้าดำ ท่านได้นุ่งห่มดำ ไว้หนวดเครา ผมยาวเหมือนฤาษี ชาวบ้านมีความเชื่อว่าการปฎิบัติธรรมของท่านบรรลุธรรมขั้นสูง ชาวบ้านต่างพากันศรัทธา เนื่องจากมีความมหัศจรรย์หลายประการเกิดขึ้น ทำให้ไทโส้ที่นับถือผีหันมาเคารพสักการะเจดีย์เจ้าปู่ โดยในวันขึ้น 14 ค่ำเดือน 5 ของทุกปี ชาวไทโส้ทุกหมู่บ้านจะเดินทางมาเพื่อเคารพสักการะซึ่งในปัจจุบันความศรัทธาเริ่มจางหายไป
- กลุ่มอาชีพ
ในอดีตผู้คนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางด้านการเกษตร ประมาณร้อยละ 90 โดยมีอาชีพหลักในการทำเกษตรกรรม ทำไร่มันสำปะหลัง ทำนา ทำสวนยางพารา อาชีพรองของชาวบ้านคือ การหาของป่า จักสาน ทอผ้าไหม ทอผ้าฝ้าย ปลูกพืช ค้าขาย และรับจ้างทั่วไป อีกทั้งเลี้ยงโค กระบือ เป็ด ไก่ หมู ปลา เพื่อไว้สำหรับขายและเป็นอาหารแก่ครอบครัว นอกจากนี้ยังมีอาชีพด้านอุตสาหกรรมมีการประกอบอุตสาหกรรมขนาดย่อม เช่น ร้านซ่อมรถจักรยานยนต์ โรงสีขนาดเล็ก และด้านพานิชย์ มีร้านค้าสหการ ตลาด กลุ่มกองทุนสงเคราะห์ประจำหมู่บ้าน อื่นๆ มีชาวบ้านบางส่วนทยอยออกไปทำงานต่างถิ่นเนื่องจากเห็นเพื่อนบ้านในหมู่บ้านเดียวกันออกไปทำงานต่างถิ่นแล้วมีฐานะความเป็นอยู่ของครอบครัวดีขึ้น ในปัจจุบันมีชาวบ้านบางส่วนที่ยังหาอาชีพเสริมสร้างรายได้ให้กับครอบครัวในพื้นที่ชุมชนของตนเอง เช่น รับเหมาสร้างบ้าน รับจ้างทางการเกษตร เช่น ดำนา เกี่ยวข้าว ดายหญ้า ปลูกมันสำปะหลัง เป็นต้น
วิถีชีวิตทางวัฒนธรรมของบ้านพังแดงที่มีอัตลักษณ์โดดเด่น ซึ่งวิถีชีวิตการดำเนินชีวิตของชาวโส้บ้านพังแดงส่วนใหญ่มีความผูกพันกับผีมีความเชื่อกับสิ่งที่เหนือธรรมชาติจึงมีความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างมาก ชาวโส้นับถือ ทั้งพุทธ พราหมณ์ และผีปะปนกันไป ซึ่งจะแสดงในแผนภูมิของปฏิทินประจำปี ดังนี้
- บุญประเพณี ฮีต 12 คอง 14
ซึ่งเป็นงานบุญประเพณีที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกเดือน เป็นบุญประเพณีที่มีความคล้ายคลึงกับพื้นที่ภาคอีสานอื่นๆทั่วไป ซึ่งบางพื้นที่ที่ไม่ได้มีการทำนาข้าวเป็นอาชีพหลักจะไม่มีประเพณีเกี่ยวข้องกับการปลูกข้าว เช่น บุญลานข้าว บุญแฮกนา เพราะชาวบ้านไม่ได้ปลูกข้าวเป็นหลักจะทำบุญกองมัน ในช่วงเดือนยี่ของทุกปี เพราะอาชีพของชาวบ้านส่วนใหญ่ปลูกมันสำปะหลังเป็นหลัก
- ประเพณีเลี้ยงผีปู่ตาประจำหมู่บ้านและประเพณีเลี้ยงผีหมอเหยา
ประเพณีเลี้ยงผีปู่ตาจัดขึ้นในวันขึ้น 3 ค่ำเดือน 3 ที่บริเวณศาลปู่ตาด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้าน และถูกจัดขึ้นอีกครั้งในวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน11 นิยมเรียกกันว่า “เลี้ยงกินข้าวใหม่”ปัจจุบันจ้ำผู้นำในการทำพิธี คือ พ่อธง ส่วนประเพณีเลี้ยงผีหมอเหยา จัดขึ้นในเดือน 5 หรือ 6 ของแต่ละปี
- การเลี้ยงป่า
จะมีปีละ 1 ครั้ง ในช่วงเดือน 12 (เดือนพฤศจิกายน) ซึ่งทุกหมู่บ้านในเขตตำบลพังแดงจะเป็นเจ้าภาพร่วมกัน นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงป่าในช่วงก่องลงทำนา และหลังจากเสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จ เรียกว่า เลี้ยงขึ้น-เลี้ยงลง ด้วยชาวบ้านมีความเชื่อว่าหากใครเข้าไปในป่าโดยไม่มีการบอกกล่าวหรือเข้าไปละเมิดข้อห้ามของป่าในการล่าสัตว์ ตัดไม้ ก็จะพลัดหลงเข้าไปในป่าจนหาทางออกไม่ได้ จะอาศัยหมอดูท้องถิ่นที่เป็นคนติดต่อกับผี
การขะลำ คือการไม่ทำในสิ่งที่ผู้เฒ่าผู้แก่บอกหรือเตือน เพราะการขะลำ(ข้อห้าม)เป็นประเพณีอย่างหนึ่งของชาวโส้ที่ปฎิบัติต่อกันมา ตัวอย่าง การขะลำการลงนา หรือการดำนา ในการลงดำนาภายใน 3 วัน ห้ามไม่ให้จับปู ปลา หรือสัตว์ต่างๆ หรือเมื่อขึ้นจากนาแล้วห้ามลงไปเหยียบนาอีกภายใน 3 วัน ที่ลงดำนา แล้วมีวัวควายของเพื่อนบ้านมาเหยียบต้นข้าวเสียหายเจ้าของนาจากไปบอกเจ้าของวัวหรือควายนั้นเพื่อทำการตกลงค่าเสียหายและเจ้าของวัวจะต้องมี เทียน 1 คู่ เงินตามที่ตกลงกัน ซิ่นผืน แพรวา ขัน5 เพื่อเป็นการทำพิธีขอขมาผีไร่ผีนา
- พิธีวันตรุษโส้
บุญประจำปี ขึ้น 3 ค่ำเดือน 3 เป็นประเพณีเปิดประตูเล้า ชาวไทโส้ถือเอาเป็นวันตรุษโส้นั้นทำเพื่อกล่าวขอบคุณและสำนึกในบุญคุณของข้าว และการร้องขอให้ข้าวในปีต่อไปความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารเพิ่มพูนยิ่งขึ้น
- ประเพณีกินฮีต (กินดอง)
เป็นประเพณีที่แตกต่างจากการแต่งงานทั้วไป จะกระทำในกรณีที่คน 2 คนไม่ได้แต่งงานกันตามประเพณี แต่อยู่กินฉันสามีภรรยา ประเพณีนี้เป็นการขอขมาผู้อาวุโส
- บุญเดือน 5 ขึ้น 15 ค่ำ วันสงกรานต์
ในวันขึ้น 14 ค่ำ จะมีการทำบุญโดยชาวบ้านจะไปรวมตัวกันที่บ้านมะนาว นำข้าวสารใส่ถุง ดอกไม้ธูปเทียน เพื่อไปร่วมอนุโมทนาบุญที่วัดบ้านมะนาว เมื่อ วันขึ้น 15 ค่ำ กลับมาที่บ้านติ้วเพื่อรดน้ำพระสงฆ์ ในตอนเช้าผู้เฒ่าผู้แก่จะมารวมกลุ่มกันทำห่อผึ้งถวายพระ และนำพระพุทธรูปลงมาไว้ที่ชานพระ ชาวบ้านจะเตรียมน้ำอบไปรดน้ำพระพุทธรูปหากผู้ไม่ได้รดจะรอรับน้ำอยู่ใต้พระพุทธรูป เพราะเชื่อว่าเป็นน้ำมนต์ที่มาจากเทวดาจะมีความโชคดีตลอดทั้งปี และจะนำน้ำมนต์นั้นมาพรหมใส่หัวของคนในครอบครัวเพื่อเป็นสิริมงคล พอเสร็จพิธีชาวไทโส้จะพากันไปรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ตามบ้านเรือนต่างๆ
- พิธีเหยา
เป็นพิธีที่ใช้ในพิธีรักษาคนเจ็บป่วยหรือเรียกขวัญคล้ายกับพิธีกรรมของชาวไทยอีสานทั่วไป เพื่อเป็นกำลังใจแก่ผู้เจ็บป่วย โดยหมอผีจะทำหน้าที่เป็นล่าม สอบวิญญาณของบรรพบุรุษได้กระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดล่วงเกินไปหรือผิดจารีตประเพณี เป็นพิธีของชาวโส้ที่ใช้ในการรักษาคนเจ็บป่วยในชุมชน
หลวงปู่ฤๅษีผ้าดำ
เป็นคนบ้านนาข่า ตำบลจันทร์เพ็ญ อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร โดยมาตั้งสำนักสงฆ์ในพื้นที่ของวัดสนามทองในปัจจุบัน (คุ้มห้วยเบ็อก) บ้านมะนาว จากนั้นมีชาวบ้านเผ่าบรู ตามมาปรนนิบัติดูแลฤาษีผ้าดำ นอกจากนี้ยังมีห้าวลิ้นก่าน ท้าวฝาตีนแดง ท้าวแรนสั้นแขนยาว ซึ่งเป็นโอรสของท้าวอนุวงษ์กษัตริย์แห่งกรุงเวียงจันทน์มาฝึกวิชาอาคมด้วย เพราะเชื่อว่าหากมีวิชาอาคมแล้วจะสามารถยึดเอาภาคอีสานมาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศลาวได้
ทุนวัฒนธรรม
- บุญประจำปี ขึ้น 3 ค่ำเดือน 3
เป็นประเพณีเปิดประตูเล้า ชาวไทโส้ถือเอาเป็นวันตรุษโส้นั้นทำเพื่อกล่าวขอบคุณและสำนึกในบุญคุณของข้าว และการร้องขอให้ข้าวในปีต่อไปความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารเพิ่มพูนยิ่งขึ้น
- การเล่นโส้ทั่งบั้ง
“โส้ทั่งบั้ง” ภาษาโส้เรียกว่า “โส้อะติงเกา” ทั้งนี้ การใช้คำว่า อะติงเกา อาจมีข้อจำกัดในการรับรู้ของผู้คนทั่วไป จึงใช้คำว่า “โส้ทั่งบั้ง” การละเล่นโส้ทั่งบั้ง ได้ก่อกำเนิดขึ้นจากพิธีเหยา คนป่วยลงสนาม (แซงสนาม) และพิธี เจี๊ยะสะลา มาประยุกต์รวมกัน สาเหตุที่นำมาประยุกต์เข้าด้วยกัน คือ เพื่อเป็นรูปขบวนที่สวยงาม ประกอบกับพิธีดังกล่าวไม่สามารถจัดขึ้นแบบเดี่ยว เนื่องจากเป็นพิธีเกี่ยวกับผีบรรพบุรุษที่ชาวโส้ถือเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์
ปัจจุบันการเล่น “โส้ทั่งบั้ง” ถือว่าเประเพณีของชาวโส้ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะในกลุ่มชาวโส้อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร จะจัดงาน “โส้รำลึก” เป็นประจำทุกปีในวันขึ้น 4 ค่ำ เดือน 3 นอกจากจะมีการละเล่นที่หลากหลายแล้ว ในงานดังกล่าวยังเป็นการหวนรำลึกถึงวัฒนธรรมและประเพณีที่ดีงามของกลุ่มคนโส้ให้ไม่สูญหายไป ท่ามกลางกระแสพัฒนาแบบสมัยใหม่ในปัจจุบัน
- เสื้อผ้าและการแต่งกาย
ในอดีตผู้ชายชาวโส้ ส่วนใหญ่นิยมสวมผ้าฝ้ายโพกหัว ผ้าฝ้ายที่ย้อมหม้อนิล เมื่อไปงานบุญผู้ชายนิยมใส่ผ้านุ่งและมีผ้าคาดเอว ส่วนมากเสื้อผ้าสำหรับผู้ชายจะประกอบไปด้วย 4 อย่าง คือ ผ้าขาวม้า ผ้านุ่ง เสื้อและกางเกง และนิยมไว้ผมสั้น ผู้หญิงนิยมใส่ผ้าซิ่นสีดำทำจากผ้าฝ้ายใส่เสื้อแขนยาวมีปลอกแขน และมีผ้าคลุมไหล่ เมื่ออยู่บ้านผู้หญิงมักจะไม่ใส่เสื้อ หรือบางครั้งจะใช้ผ้าคาดอก นิยมไว้ผมยาว เด็กมักจะไว้จุกและในวันปกติผู้หญิงมักจะใช้ผ้าโพกหัวหรือเมื่อไปงานบุญผู้หญิงมักจะใส่เครื่องประดับ เช่น กำไลแขน ต่างหู ซึ่งทำจากเหรียญเงิน ทองแดง ทองเหลือง ปัจจุบันผู้ชายนิยมสวมใส่เสื้อตามยุคสมัยไม่สวมใส่ผ้าฝ้าย ส่วนผู้หญิงเปลี่ยนแปลงไปนุ่งกางเกง แต่ยังมีบางส่วนที่ยังนุ่งผ้าซิ่น เด็กสมัยใหม่ไม่นิยมนุ่งผ้าซิ่นอีกทั้งไม่สามารถทอผ้าซึ่งเป็นภูมิปัญญาของบรรพสตรีชาวโส้ได้
- ผ้าฝ้ายทอมือ
ซึ่งปกติจะมีสีขาวแต่ชาวบ้านต้องการย้อมสีจะใช้วัสดุธรรมชาติในการย้อม เช่นการใช้หมากกระจาย สีสิ่วใช้ไม้หม่อนโดยการนำเปลือกไม้มาต้น นอกจากนั้นยังมีการทอหมี่รูปช้าง โดยในอดีตทำจากฝ้ายที่ผูกเอง ย้อมเอง ด้วยกรรมวิธีเรียกว่าการย้อมผ้านิล อีกทั้งไทโส้ยังมีการคิดค้นลายผ้าอื่นๆที่มีความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์ที่หลากหลาย เช่น ลายตัด หมี่พุง หมี่เครือ โดยการเรียกชื่อผ้าไหมมัดหมี่จะเรียกตามลายของผ้า นอกจากนี้ภูมิปัญญาที่โดดเด่นของไทโส้ที่มีการสืบทอดต่อกันมาเพื่อสืบสานและอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สาคัญและมีประโยชน์ไว้ไม่ให้สูญหายไปจากชุมชน
ภาษาโส้ เป็นภาษาในตระกูลออสโตรเอเซียติก สาขาย่อยมอญ-เขมร การพูดในภาษาโส้จัดอยู่ในกลุ่มภาษามอญ-เขมรตะวันออก และกลุ่มย่อยกะตู มีลักษณะร่วมกันกับภาษากูย กวย หรือส่วย ภาษาเญอ และภาษาบรู จากข้อมูลการสัมภาษณ์พบว่าภาษาโส้มีเฉพาะภาษาพูด แต่ไม่มีภาษาเขียน ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของเรื่องเล่าในตำนานตัวหนังสือของชาวโส้ที่ไม่มีตัวหนังสือใช้ ตามตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับตัวอักษรของคนโส้ ระบุว่าเดิมบรรพบุรุษของชาวโส้ได้เขียนตัวหนังสือและประวัติศาสตร์ของกลุ่มตนเองไว้ในหนังสัตว์ (หนังวัว และหนังควาย) ต่อมาเมื่อเกิดทุพภิกขภัย ชาวโส้ได้นำหนังวัวและหนังควายมาเผากินเป็นอาหาร ในขณะที่บางสำนวนเล่าว่า มีสุนัขแอบขโมยหนังวัวและหนังควายที่เขียนบันทึกเรื่องราวของชาวโส้เอาไว้จนหมดสิ้น เป็นเหตุให้ชาวโส้ไม่มีตัวหนังสือใช้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
เกิดขึ้นเมื่อประมานช่วง พ.ศ.2539 เป็นช่วงที่มีชาวบ้านเริ่มทยอยออกไปทำงานต่างถิ่น ซึ่งก็มีการทยอยออกไปทำงานต่างถิ่นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งประมาณช่วงปี พ.ศ.2547-2548 ชาวบ้านในเขตพื้นที่ตำบลพังแดงได้ออกไปทำงานต่างถิ่นมากที่สุด โดยแหล่งงานที่ชาวบบ้านนิยมไปทำงานนั้น ได้แก่ กรุงเทพฯ ระยอง ส่วนใหญ่จะเข้าทำงานอาชีพแม่บ้านหรือทำงานอาชีพลูกจ้างโรงงานอุตสาหกรรม อาชีพกรีดยาง อาชีพแม่บ้าน ค้าขาย หรือทำงานก่อสร้าง ฯลฯ ซึ่งการออกไปทำงานต่างถิ่นทำให้บางคนต้องห่างจากครอบครัวหรือทำงานในแบบไม่ค่อยได้กลับบ้าน มีเพียงแต่ส่งเงินให้กับครอบครัวในการเกษตร จะกลับบ้านในเฉพาะช่วงเทศกาลเท่านั้น เช่น วันสงกรานต์ วันขึ้นปีใหม่ เพื่อหารายได้ที่มากขึ้นและสามารถทำให้ความเป็นของครอบครัวดีขึ้น ปัจจุบันมีชาวบบ้านบางส่วนที่ยังหาอาชีพเสริมสร้างรายได้ให้กับครอบครัวในพื้นที่ชุมชนของตน เช่นการรับเหมาก่อสร้างบ้านเรือน รับจ้างทางการเกษตร การดำนา เกี่ยวข้าว ดายหญ้า ปลูกมันสำปะหลัง เป็นต้นซึ่งแรงงานดังกล่าวมีทั้งผู้ชายและผู้หญิง ทำอาชีพในอดีตที่เคยสร้างรายได้เมื่อว่างเว้นจากการเกษตรสูญหายไป เช่น อาชีพทอผ้ามัดหมี่ และการทำผ้ายก อาชีพดังกล่าวเป็นองค์ความรู้สำคัญของผู้หญิงชาวโส้ที่สูญหายไป นอกจากนี้มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของกะโซ่ก็คล้ายกับการเปลี่ยนแปลงของชุมชนในสังคมไทยทั่วไป คือ มีการรับการศึกษา ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีต่าง ๆ และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง กะโซ่จะส่งเสริมให้ลูกหลานได้รับการศึกษาที่ดี และผู้ที่สำเร็จการศึกษาก็กลายเป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ มาสู่ชุมชน กะโซ่ยังเลือกรับวัฒนธรรมจากท้องถิ่นหรือสังคมอื่นมาใช้ในสังคมตนเองอย่างกลมกลืน เลือกในสิ่งที่ดีและสร้างความเจริญให้แก่หมู่บ้านของตน ในขณะที่มีการรับวัฒนธรรมอื่น แต่ก็ยังคงยึดถือวัฒนธรรมและประเพณีเก่าๆ ของบรรพบุรุษให้คงอยู่ เพียงแต่ปรับปรุงดัดแปลงปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับยุคสมัยมากยิ่งขึ้น ได้มีการรับภาษากลางมาใช้เป็นภาษาพูดผสมกลมกลืนกับภาษาพื้นเมืองดั้งเดิม
ความท้าทายของชุมชน คือ เนื้อที่ของอำเภอดงหลวงมีสภาพพื้นที่ทั่วไปเป็นที่ราบสูงเทือกเขาภูพาน มีบางส่วนเป็นที่ราบลุ่มตามลำน้ำห้วยบางทราย และลำห้วยชะโนด มีสภาพเป็นทุ่งนาสลับป่าไม้และภูเขา ทำให้มีพื้นที่ราบสำหรับใช้ในการเกษตรมีอยู่น้อยและในหน้าแล้งมีความแห้งแล้งประมาณน้ำตามลำห้วยบางทรายจะแห้งขอดซึ่งไม่สามารถนำมาใช้ในการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรได้อย่างต่อเนื่อง
ในชุมชนบ้านพังแดง มีสิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ เช่น รอยพระพุทธบาท วัดพระพุทธบาทดงหลวง เจดีย์บรรจุธาตุ อาจารย์กัณหาอาญาผ้าดำ (เจ้าปู่ผ้าดำ) น้ำตกห้วยเลา สะพานแขวนอนุรักษ์ เป็นต้น
ขนิษฐา อลังกรณ์. (2560). ประเพณีเจี๊ยะสล่าของชาวกะโซ่บ้านพังแดง ตำบลพังแดง อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร.ฐานข้อมูลงานวิจัยทางชาติพันธุ์ในประเทศไทย. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://www.sac.or.th/databases/ethnicredb/research_detail.php?id=121
วิรงรอง มงคลธรรม และคณะศูนย์วิจัยท่องเที่ยวภูมิภาคกลุ่มน้ำโขง. (2552). การศึกษาศักยภาพเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยววัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ไทโส้(โซ่) บ้านพังแดง ตำบลพังแดง อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร. รายงานวิจัย. มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
ศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร (องค์การมหาชน). (2566). กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://www.sac.or.th/portal/
องค์การบริหารส่วนตำบลพังแดง อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร. (2566). สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐาน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://pungdang.go.th/public/list/data/index/menu/1741