ชุมชนมุสลิม ประกอบอาชีพการประมงพื้นบ้านและเกษตรกรรม ทั้งการทำนาปีละครั้ง รวมถึงการทำสวนยางพาราและยังคงดำรงความสัมพันธ์ในชุมชนแบบเครือญาติอย่างเข้มแข็ง
ชื่อหมู่บ้านท่าเรือ มีที่มาจากลักษณะทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ที่เป็นคลองลึกและกว้าง กระทั่งเรือบรรทุกสินค้าสามารถเข้ามาจอดเทียบท่า ดังนั้นบริเวณท่าเรือจึงมีเรือจำนวนมากเข้ามาจอดรับส่งผู้คน และถ่ายสินค้า อาทิ เรือใบสำเภาจีน 2 หลัก รวมถึงเรือบรรทุกสินค้าหลากหลายขนาด ซึ่งปัจจุบันยังเป็นท่าเรือสำหรับการจอดเรือประมงขนาดกลางและขนาดเล็กที่สมาชิกในชุมชนใช้สำหรับการออกหาปลา
ชุมชนมุสลิม ประกอบอาชีพการประมงพื้นบ้านและเกษตรกรรม ทั้งการทำนาปีละครั้ง รวมถึงการทำสวนยางพาราและยังคงดำรงความสัมพันธ์ในชุมชนแบบเครือญาติอย่างเข้มแข็ง
กลุ่มแรกที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานบริเวณบ้านท่าเรือในปัจจุบันมาจากจังหวัดสตูล อพยพมาเนื่องจากการหนีการเกณฑ์ตำรวจ สมัยนั้นยังไม่มีทหารจึงใช้ตำรวจในการปกป้องบ้านเมือง ในอดีตผู้คนจึงเรียกตำรวจว่า “มาตา” เมื่ออพยพมาได้ประกอบอาชีพการทำนาและอาศัยบริเวณริมทะเล อย่างไรก็ดีไม่ได้มีเฉพาะชาวสตูลที่อพยพมาเท่านั้นแต่ยังประกอบด้วยชาวจีน ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานด้วย ชาวจีนมีการประกอบอาชีพเผาถ่านไม้ชายเลนและนำกลับไปยังเมืองจีน บริเวณที่ชาวจีนอาศัย เรียกว่า ท่าเจ้าหาย ซึ่งเป็นชื่อของ ชาวจีนคนแรก ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐาน
สถานที่เดิมที่อพยพมาของชาวบ้าน มีความสัมพันธ์กับการตั้งนามสกุลของสมาชิกบ้านท่าเรือ เช่น นามสกุล เลขงู มาจากจังหวัดสตูล แต่บางนามสกุลก็เกิดจากการย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานใหม่ เช่น เบ็ญอ้าหมาด มาจากประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย นอกจากนี้ยังมีนามสกุลที่ตั้งโดยหน่วยงานราชการ เนื่องจากไปติดต่อราชการแล้วไม่มีนามสกุล อำเภอจึงตั้งนามสกุลให้ตามการทำงาน ซึ่งหากประกอบอาชีพการทำนา ตั้งนามสกุลที่เกี่ยวกับการทำนา เช่น ไถนาเพียว ทำนากล้า วางไถคล่อง ดำนาดี ปลูกพืช เป็นต้น หากประกอบอาชีพทำการประมง มีความเกี่ยวข้องกับทะเล เช่น คล่องสมุทร หยั่งทะเล จิตรนาวี นาวีว่อง เป็นต้น
ชุมชนมีความสัมพันธ์กับทะเล ในฐานะเป็นแหล่งทรัพยากรในการประกอบอาชีพประมง รวมถึงมีหลากรูปแบบในการทำการประมง กล่าวคือ อดีตชุมชนใช้เรือแจวในการออกหาปลาเพื่อเป็นอาหาร กระทั่งพัฒนามาเป็นเรือขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่เป็นการออกเรือตอนเช้าและกลับตอนเย็น ส่วนการทำนาเมื่อถึงฤดูเกี่ยวข้าวสมาชิกชุมชนมาร่วมกันเก็บข้าวสลับกันไปมากกว่าการจ้างแรงงาน แต่ปัจจุบันพื้นที่นาลดลงมีการปลูกพืชอื่นมากขึ้นโดยเฉพาะสวนยางพารา
อดีตเกาะยาวมีตำบลเดียวคือ ตำบลเกาะยาวใหญ่ มีกำนันประจำ 1 คน และผู้ใหญ่บ้านเรียกว่า "หัวสิบ" รูปแบบการปกครองแบบพี่น้องช่วยเหลือกันเพราะต่างเป็นญาติกัน เมื่อมีการประชุมสมาชิกชุมชน ผู้ใหญ่บ้านใช้ไม้ไผ่เรียกว่า "เลาะ" ตีเพื่อเรียกประชุม หากเป็นเรื่องไม่สำคัญจะตีช้า ๆ อย่างไรก็ดีหากผู้ใหญ่บ้านตีรัว ๆ แสดงว่าเป็นการเรียกประชุมเรื่องเร่งด่วนหรือเรื่องสำคัญ เรียกว่า "ลงลูกสอง" ปี พ.ศ. 2525 จำนวนประชากรเพิ่มขึ้น กำนันไม่สามารถดูแลอย่างทั่วถึง บ้านท่าเรือจึงแยกออกมาจากหมู่ที่ 6 มาเป็นหมู่ที่ 4 บ้านท่าเรือ ตำบลพรุใน ซึ่งตำบลพรุใน เป็นตำบลใหม่ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2525 เช่นเดียวกัน
บ้านท่าเรือตั้งอยู่บนเกาะยาว ในบริเวณพื้นที่อ่าวพังงา ลักษณะภูมิประเทศบ้านท่าเรือ มีลักษณะเป็นที่ราบเชิงเขา ซึ่งแนวเขาวางตัวแนวเหนือ - ใต้ ทางตะวันออกของเกาะยาว ส่วนด้านตะวันตกของพื้นที่ติดกับป่าชายเลนชุมชนตั้งในบริเวณพื้นที่ราบจึงเหมาะแก่การทำการเกษตร อาทิ ปลูกข้าว ยางพารา พื้นที่ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ช่วงเดือนพฤษภาคม - เดือนตุลาคม จึงส่งผลให้บ้านท่าเรือมี 2 ฤดูกาล คือ ฤดูฝนและฤดูร้อน
ที่ตั้งบ้านท่าเรือ
- ทิศเหนือ ติดกับ บ้านนาบน ตำบลพรุใน
- ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านโล๊ะปาเหรด หมู่ที่ 7
- ทิศใต้ ติดกับ บ้านท่าพรุ
- ทิศตะวันตก ติดกับ ภูเขาและทะเลอันดามัน
ทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรธรรมชาติบ้านท่าเรือและบริเวณเกาะยาวใหญ่ ประกอบด้วย
- ป่าสงวนแห่งชาติพรุใน
- ป่าสงวนแห่งชาติเกาะยาวใหญ่
- ป่าชายเลนบ้านท่าเรือ
- ป่าาสงวนแห่งชาติบ้านพรุเจด
- ป่าสงวนแห่งชาติป่าโล๊ะปาไล้
- ป่าชายเลนบ้านคลองดินเหนียว
เดิมลักษณะครอบครัวชุมชนบ้านท่าเรือเป็นครอบครัวใหญ่แบบชุมชนมุสลิม แต่ปัจจุบันขนาดเล็กลงตามสภาพทางสังคม เศรษฐกิจรวมถึงการศึกษาของสมาชิกในชุมชน จากข้อมูลของ สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ข้อมูลเดือน มกราคม 2567 ระบุจำนวนประชากร หมู่ที่ 4 ท่าเรือ อำเภอเกาะยาว ตำบลพรุใน จังหวัดพังงา ดังนี้
- จำนวนประชากร ชาย 427 คน
- จำนวนประชากร หญิง 428 คน
- รวมทั้งสิ้น 855 คน
- จำนวนครัวเรือน 290 ครัวเรือน
วัฒนธรรมชุมชนบ้านท่าเรือ ที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปคือ วัฒนธรรมร้านกาแฟ สมาชิกในชุมชนโดยเฉพาะผู้ชายมักใช้ร้านกาแฟในชุมชนเป็นที่พบปะสนทนาเรื่องราวทั่ว ๆ ไปของชุมชน แต่ในขณะเดียวกันในด้านการเมืองการปกครองบ้านท่าเรือสังกัดเทศบาลตำบลพรุใน ประกอบด้วยผู้นำทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ
ผู้นำที่เป็นทางการ ประกอบด้วย
- ผู้ใหญ่บ้านท่าเรือ ต.พรุใน อ.เกาะยาว จ.พังงา
- ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน
ผู้นำตามธรรมชาติ
ชุมชนบ้านท่าเรือ เป็นชุมชนมุสลิมที่ผู้นำทางศาสนาทำหน้าที่เป็นผู้นำตามธรรมชาติ กรณีต่าง ๆ ในชุมชนผู้นำทางศาสนาจะเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานเพื่อชุมชนทั้งงานที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานราชการ งานวัฒนธรรมประเพณีชุมชน หรือหากเกิดข้อพิพาทขัดแย้งในชุมชน ผู้นำทางศาสนาก็เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขไกล่เกลี่ยปัญหาที่เกิดขึ้น ผู้นำทางศาสนาของชุมชนหรืออิหม่าม มีบทบาทอย่างมากในการใช้ช่วงเวลาหลังการละหมาดทุกวันศุกร์ในการพูดคุยเรื่องราวต่าง ๆ ของชุมชนรวมถึงด้านการศาสนา
ปฏิทินชุมชนด้านวัฒนธรรม
ปฏิทินชุมชนด้านวัฒนธรรมของสมาชิกบ้านท่าเรือมีความสัมพันธ์กับพิธีกรรมและวิถีชีวิตชุมชนมุสลิม มัสยิดประจำชุมชนบ้านท่าเรือคือ มัสยิดดารุลอัลมาน ทุกวันศุกร์มีการละหมาดใหญ่ โรงเรียนบ้านท่าเรือทำการเรียนการสอนครึ่งวันเพื่อให้นักเรียนเข้าร่วมละหมาด ความเป็นชุมชนมุสลิมจึงไม่สามารถแยกพิธีกรรมทางศาสนาออกจากวิถีชีวิตของสมาชิกชุมชน ในรอบปีและรอบวันจึงมีวิถีชีวิตดังนี้
1. การละหมาดประจำวัน 5 เวลา
- เวลาเช้าตรู่ เรียกว่า ละหมาดศุบหฺ
- เวลาบ่าย เรียกว่า ละหมาดซุฮรฺ
- เวลาเย็น เรียกว่า ละหมาดอัศรฺ
- เวลาค่ำ เรียกว่า ละหมาดมัฆริบ
- เวลากลางคืน เรียกว่า ละหมาดอิซาอฺ
2. พิธีขึ้นเปล ทำในวันที่ 3 หลังคลอด หรือ 7 วัน 15 วัน แต่หากคลอดที่อื่น เช่น ภูเก็ต พ่อแม่ มักจะนำลูกกลับมาทำพิธีขึ้นเปล ที่เกาะยาว โดยหมอตำแยเป็นผู้ทำพิธี
3. การถือศีลอดเดือนรอมฎอน
4. พิธีแต่งงาน หรือ นิกะห์ กระทำ 3 ขั้นตอน ประกอบด้วย
- การสู่ขอ โดยฝ่ายชายซึ่งฝ่ายชายจะให้ญาติผู้ใหญ่ที่เป็นผู้หญิงล้วน เป็นเถ้าแก่ทาบทามสู่ขอกับพ่อแม่ฝ่ายหญิง
- การหมั้น เมื่อถึงกำหนดการหมั้นฝ่ายชายจัดเถ้าแก่นำขบวนขันหมากไปบ้านฝ่ายหญิง โดยเจ้าบ่าวไม่ไปด้วย
- พิธีแต่งงาน จัดหลังงานหมั้นไม่เกิน 2 สัปดาห์ แต่ไม่นิยมจัดในช่วงประกอบพิธีฮัจญ์และเดือนถือศีลอด
5. พิธีทำน้ำเจ็ด การสู่ขอโดยฝ่ายชายซึ่งฝ่ายชายจะให้ญาติผู้ใหญ่ที่เป็นผู้หญิงล้วน เป็นเถ้าแก่ทาบทามสู่ขอกับพ่อแม่ฝ่ายหญิงครอบครัว ให้มีความสุขทั้งสุขภาพและร่างกาย
ปฏิทินการประกอบอาชีพของชุมชน
อาชีพหลักของชุมชนในอำเภอเกาะยาวและบ้านพรุใน ประกอบด้วย
ด้านการเกษตรกรรม ชุมชนมีการทำการเกษตรหลัก ๆ ประกอบด้วย การทำนา สวนยางพารา สวนมะพร้าว สวนปาล์ม อดีตทุกครอบครัวเกี่ยวข้องกับการทำนาปลูกข้าวเพื่อกินในครอบครัว แต่ปัจจุบันการปลูกข้าวลดลงมากจากหลาย ๆ ปัจจัย ซึ่งเดิมเมื่อข้าวสุกสมาชิกในชุมชนมาร่วมกันเก็บข้าว เรียกว่า “ลูกซ้อ”
การประมง ชุมชนมีการจับสัตว์น้ำโดยใช้เครื่องมือขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เช่น เรืออวนชายฝั่ง เป็นการใช้อวนเป็นเครื่องมือหาปู ปลา กุ้ง หอย ซึ่งเป็นสัตว์ทะเลน้ำตื้น นอกจากนี้มีเรือประมงขนาดใหญ่เพื่อจับสัตว์น้ำทะเลลึก และหาปลาฉิ้งฉั้ง การประมงสามารถสร้างรายได้ให้แก่สมาชิกในชุมชน
การค้าขาย เป็นการนำสินค้ามาจากภูเก็ตและจังหวัดใกล้เคียงมาขายในชุมชน ราคาสินค้ามีราคาสูงกว่าเล็กน้อยเพราะต้องมีการขนส่งจากฝั่งมายังเกาะซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายในการขนส่ง นอกจากนี้ประกอบอาชีพรับราชการ รับจ้าง
การท่องเที่ยว ชุมชนมีการขับเรือรับจ้างรับส่งนักท่องเที่ยวจากแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ในอ่าวพังงา เกาะพีพี รวมถึงบางส่วนมีการทำรีสอร์ท ห้องพักให้แก่นักท่องเที่ยว และทำงานด้านการบริการในโรงแรม
ทุนทรัพยากรธรรรมชาติชุมชนบ้านท่าเรือ
บ้านท่าเรือ ตำบลพรุในอยู่บริเวณอ่าวพังงา จึงทำให้มีทรัพยากรการท่องเที่ยวทางทะเลเป็นทุนทางธรรมชาติที่สำคัญของชุมชน เฉพาะอย่างยิ่งชายหาดโต๊ะปาเหรดซึ่งเป็นชายหาดที่อยู่ใกล้บ้านท่าเรือ สมาชิกในชุมชนบางส่วนจึงเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมภาคบริการด้านการท่องเที่ยวเพื่อนำรายได้สู่ครอบครัว อาทิ การขับเรือ การสร้างที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว ในขณะเดียวกันก็นำไปสู่การขยายการท่องเที่ยวโดยคนภายนอกเข้ามาลงทุนในพื้นที่หาดโล๊ะปาเหรด เช่น การขยายตัวของโรงแรม รีสอร์ต การเกิดร้านอาหาร และมีแนวโน้มว่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีการขยายตัวของการท่องเที่ยวก็นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงของหาดโล๊ะปาเหรดทรัพยากรที่เป็นทุนของชุมชนเช่นเดียวกัน เช่น การเปลี่ยนแปลงการถือครองที่ดิน การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน การขยายท่าเรือให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของชุมชน
ภาษาไทย ถิ่นใต้สำเนียงตรัง และ สตูล ตามบรรพบุรุษ และจากความสะดวกในการติดต่อกับภูเก็ต จึงมีสำเนียงภูเก็ตเช่นกัน
วรรณธิดา สายพิมพ์ (2556). ความเปลี่ยนแปลงของชุมชนภายใต้การเติบโตของการท่องเที่ยว: กรณีศึกษาชายหาดโล๊ะปาเหรดและบ้านท่าเรือ ตำบลพรุใน อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร.
เทศบาลตำบลพรุใน. (ม.ป.ป.). ข้อมูลพื้นฐาน. จาก https://www.prunai.go.th/frontpage