ย่านคลองสาน มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในการเป็นย่านที่มีพัฒนาการด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรมที่สำคัญทั้งต่อฝั่งธนบุรีและกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันได้รับการพัฒนาทั้งด้านกายภาพ โครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการกลับไปเรียนรู้และฟื้นฟูทุนวัฒนธรรมชุมชน เพื่อการสร้างมูลค่าและขับเคลื่อนไปสู่การเป็นย่านนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์
คลองสาน เป็นคลองที่เกิดจากการขุดคลอง บริเวณปากคลองขุดแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ขนานกับถนนสมเด็จเจ้าพระยา เชื่อมกับคลองบ้านสมเด็จ หน้าวัดพิชยญาติการามวรวิหาร เชื่อมกับคลองบางไส้ไก่ และคลองบางกอกน้อย จากนั้นออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ฉะนั้นจากลักษณะของการเชื่อมกันของแต่ละคลองดังกล่าวจึงสันนิษฐานว่า “คลองสาน” มาจาก “ประสาน” ของคลองหลายสายในพื้นที่ จึงเป็นที่มาของชื่อ "คลองสาน"
ย่านคลองสาน มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในการเป็นย่านที่มีพัฒนาการด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรมที่สำคัญทั้งต่อฝั่งธนบุรีและกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันได้รับการพัฒนาทั้งด้านกายภาพ โครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการกลับไปเรียนรู้และฟื้นฟูทุนวัฒนธรรมชุมชน เพื่อการสร้างมูลค่าและขับเคลื่อนไปสู่การเป็นย่านนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์
ประวัติศาสตร์ชุมชน
ย่านคลองสาน เป็นย่านที่มีการปะทะประสานของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน และปัจจุบันย่านคลองสานเป็นย่านที่มีการขยายตัวทั้งด้านเศรษฐกิจและการคมนาคม กระทั่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลากหลายต่อชุมชนที่อาศัยในย่านคลองสาน ณิชาภัทร บูรณดิลก (2560) ศึกษาประวัติความเป็นมาย่านคลองสาน เพื่อทำความเข้าใจสภาพการณ์ปัจจุบัน พบว่า
พื้นที่ย่านคลองสานตั้งอยู่บริเวณโค้งแม่น้ำ พื้นที่มีความเหมาะสมแก่การเข้าถึงและติดต่อกับพื้นที่อื่น ๆ จึงทำให้ริมฝั่งแม่น้ำมักเป็นที่ตั้งของชุมชนต่าง ๆ ย่านคลองสานมีความเก่าแก่ครั้งสมัยอยุธยา หนึ่งในหลักฐานสำคัญคือ "วัดทองธรรมชาติ" หรือ "วัดทองบน" และ "วัดทองนพคุณ" หรือ "วัดทองล่าง" ฉะนั้นจึงสามารถเชื่อได้ว่าบริเวณนี้มีการตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนยาวนาน อย่างไรก็ดีช่วงต้นรัตนโกสินทร์ย่านนี้เป็นที่อยู่อาศัยของขุนนางและคหบดีชาวจีนหลายท่าน อาทิ
- ขุนนางตระกูลบุนนาค เป็นบุคคลผู้มีอำนาจมากในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
- หลวงวารี ราชายุตถ์ (โป้) บรรพบุรุษตระกูลโปษยานนท์
- พระยาพิศาลศุภผล (ชื่น) บรรพบุรุษตระกูลพิศาลบุตร
- พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (เถียน) บรรพบุรุษตระกูลโชติกเสถียร เป็นต้น
ทางเศรษฐกิจย่านคลองสานเป็นท่าเรือขนส่งสินค้าและคลังสินค้าในอดีต โดยพื้นที่ชั้นในเป็นสวนผลไม้ ทุเรียน มังคุด หมาก ส้มและมะพร้าว เนื่องจากมีลำคลองเชื่อมทะลุถึงกันโดยตลอด
ด้านวัฒนธรรมและกลุ่มชาติพันธุ์
"ย่านตึกแดง" ตั้งแต่ปากคลองวัดอนงคารามถึงมัสยิดภูวติลอิสลาม เดิมเป็นที่ดินที่รัชกาลที่ 3 ทรงพระราชทานให้แก่คนในตระกูลบุนนาค ก่อนหน้านี้เป็นเขตบ้านเดิมของ พระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (แย้ม บุนนาค) บุตรของสมเด็จเจ้าพระยามหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) ต่อมากลายเป็นย่านที่อยู่อาศัยและประกอบอาชีพของคนจีน กลุ่มอาคารของชาวจีนมักทาสีแดงจึงเรียกว่า "ย่านตึกแดง" อาชีพผู้คนย่านนี้ ได้แก่ เดินเรือค้าขาย โรงถ่านก้อน และโรงทำเตาอั้งโล่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีนไหหลำ ส่วนริมแม่น้ำเป็นโกดังสินค้า ศาลเจ้า โรงชัน โรงเคี่ยวน น้ำตาล และโรงโม่ขี้เลื่อยป้อนโรงงานทำธูป เป็นต้น
บริเวณข้างศาลเจ้ากวนอู เป็นเขตบ้านและโรงงานน้ำปลาของครอบครัวจีน (โรงน้ำปลาทั่งง่วนฮะ) ซึ่งมาตั้งถิ่นฐานในสมัยรัชกาลที่ 5 ทิศใต้ของโรงน้ำปลาเป็นกำแพงเขตตึกแขก บริเวณตึกแขกนั้นเป็นของตระกูลนานา ลักษณะเป็นตึกแถว 2 ชั้น พื้นที่ชั้นล่างเป็นร้านค้า ชั้นบนเป็นที่พักอาศัยมี 2 แถว ยาวขนานไปสู่ท่าแขก (ได้รับการรื้อถอน พ.ศ. 2537)
อย่างไรก็ดี ย่านคลองสาน มีชุมชนมุสลิมตั้งถิ่นฐานริมแม่น้ำเจ้าพระยา จากประวัติศาสตร์บอกเล่าของสมาชิกในชุมชนเล่าสืบต่อกันมาว่า พ่อค้ามุสลิมอินเดีย เข้ามาทำการค้าในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 หรือราว ๆ ต้น พ.ศ. 2400 มีการตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่บริเวณย่านราชวงศ์ เยาวราช พาหุรัดในฝั่งกรุงเทพฯ และบริเวณหลังวัดอนงคารามในฝั่งธนบุรี ชาวอินเดียที่ตั้งถิ่นฐานในย่านหลังวัดอนงคารามแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือ "ย่านตึกแดง" และ "ย่านตึกขาว"
- มุสลิมย่านตึกแดงเป็นชาวอินเดียส่วนมากมาจากตำบลแรนเดอร์ กลุ่มนี้เป็นมุสลิมสายสุหนี่
- มุสลิมย่านตึกขาวเป็นมุสลิมสายชีอะห์ เรียกพวกตนเองว่า “มุอ์มิน ดาวูดีโบห์รา” ส่วนมากมาจากรัฐกุจราต ทางตะวันตกของอินเดีย
ดังกล่าวทั้งหมดทำให้เห็นปฏิสัมพันธ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยในย่านคลองสานที่มีความหลากหลายทั้งคนพื้นถิ่น ชาวจีนโพ้นทะเล กลุ่มชาติพันธ์ุมุสลิม รวมถึงการอยู่ร่วมกันในย่านเดียวกันของผู้ที่มีสถานะทางเศรษฐกิจที่แตกต่างและห่างกันอย่างชัดเจน
ด้านกายภาพ
“ย่านคลองสาน” เป็นพื้นที่ที่มีคลองหลายสาย บางส่วนเป็นคลองขุดโดยคนในตระกูลบุนนาค มีวัตถุประสงค์หลักคือ เพื่อใช้ในการสัญจรและขนส่งวัสดุก่อสร้างที่นำมาบูรณะวัดต่าง ๆ ในย่านนี้ เมื่อการสัญจรทางน้ำลดลง การสัญจรทางถนนเริ่มเข้ามาแทนที่ทำให้คลองหลายสายเริ่มตื้นเขิน แต่ในพื้นที่ยังมีคลองบางสายที่ยังคงลักษณะคลองในย่านนี้ อาทิ
- คลองสาน เป็นที่มาของชื่อเขตคลองสาน ปากคลองเริ่มจากแม่น้ำพระยาบริเวณ ป้อมป้องปัจจามิตร ใกล้ท่าเรือคลองสาน ผ่านหน้าโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา วัดพิชยญาติการามเชื่อมกับคลองบางไส้ไก่
- คลองสมเด็จเจ้าพระยา ชาวบ้านเรียกกันสั้น ๆ ว่า คลองสมเด็จ บริเวณปากคลองเริ่มจากแม่น้ำจ้าพระยาบริเวณ ฝั่งซ้ายของมัสยิดภูวติลอิสลาม ตรงมาถึงหน้าวัดพิชัยญาติ
- คลองวัดทองธรรมชาติ เป็นคลองขนาดเล็ก มีระยะทางสั้น ๆ ปากคลองเริ่มจาก แม่น้ำเจ้าพระยามาจนถึงบริเวณวัดทองธรรมชาติฝั่งซ้าย
- คลองวัดทองนพคุณ เป็นคลองขนาดเล็ก ปากคลองเริ่มจากแม่น้ำเจ้าพระยา เลียบฝั่งซ้ายของวัดทองนพคุณมาชนกับคลองสมเด็จเจ้าพระยา
จากลักษณะของการเชื่อมกันของคลองดังกล่าว จึงสันนิษฐานว่า “คลองสาน” มาจาก “ประสาน” ของคลองหลายสายในพื้นที่
ณิชาภัทร บูรณดิลก (2560) ให้ความหมาย “ย่าน” คือ บริเวณที่มีความคล้ายคลึงในด้านต่าง ๆ เช่น วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ประชาชน สถาปัตยกรรม กิจกรรมที่เกิดขึ้นหรือความเป็นมาในอดีต เป็นต้น ฉะนั้น “ย่านคลองสาน” ในที่นี้จึงครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของแขวงสมเด็จเจ้าพระยาและพื้นที่แขวงคลองสาน ซึ่งทั้งสองพื้นที่อยู่ภายใต้การแบ่งเขตการปกครองขึ้นกับเขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดกับ แม่น้ำเจ้าพระยา
- ทิศตะวันออก ติดกับ ถนนเจริญนคร และ แม่น้ำเจ้าพระยา
- ทิศตะวันตก ติดกับ ถนนประชาธิปก
- ทิศใต้ ติดกับ ถนนอิสรภาพและถนนลาดหญ้า
นอกจากการคมนาคมทางบก โดยเส้นทางถนนที่เชื่อมต่อตกับพื้นที่โดยรอบ ย่านคลองสาน ยังมีการเชื่อมกับพื้นที่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา โดยการสัญจรทางน้ำ บริเวณท่าเรือข้ามฟาก คือ ท่าดินแดงและท่าน้ำคลองสาน
ประชากรเขตคลองสาน
“ย่านคลองสาน” ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของ "แขวงสมเด็จเจ้าพระยา" และ "แขวงคลองสาน" ซึ่งทั้งพื้นที่ของทั้งสองแขวงมีความคล้ายคลึง ด้านต่าง ๆ เช่น วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ประชาชน สถาปัตยกรรม กิจกรรมที่เกิดขึ้น รวมถึงความเป็นมาในอดีต อย่างไรก็ดี "ย่านคลองสาน” สังกัดเขตการปกครองเขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร พื้นที่ทั้งสิ้น 6.87 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองเป็น 4 แขวง และมีจำนวนประชากรดังนี้
แขวง | ประชากรชาย | ประชากรหญิง | รวม |
สมเด็จเจ้าพระยา | 5,293 | 6,029 | 11,322 |
คลองสาน | 6,175 | 6,739 | 12,914 |
บางลำภูล่าง | 10,164 | 12,177 | 22,341 |
คลองต้นไทร | 7,928 | 9,822 | 17,750 |
ข้อมูลเดือน เมษายน 2567 จากสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร(รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง
ทุนวัฒนธรรมชุมชนย่านคลองสาน
ทุนวัฒนธรรมชุมชนย่านคลองสานมีความสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของชุมชน อาทิ ด้านความศรัทธาของชุมชนชาวจีน รวมถึงชาวมุสลิมที่แสดงออกมาในรูปแบบของศาสนสถาน ทั้งศาลเจ้าและมัสยิด เพ็ญนภา พงศ์กมลาสน์ (2557) ศึกษาการสร้างเส้นทางจักรยานในชุมชนคลองสาน และพบว่าชุมชนมีทุนทางวัฒนธรรมที่โดดเด่น อาทิ
- อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ "สวนสมเด็จย่า" สร้างเมื่อ พ.ศ. 2536 เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี รวมถึงเพื่อการอนุรักษ์อาคารเก่าในย่านนิวาสสถาน เพื่อให้เป็นพิพิธภัณฑ์และพัฒนาพื้นที่เป็นสวนสาธารณะสำหรับชุมชน อยู่ในซอยข้างวัดอนงคาราม (ซ.สมเด็จ เจ้าพระยา3) อุทยานฯ จึงทำหน้าที่เป็นสวนสาธารณะระดับชุมชน ด้านหน้าฝั่งทิศตะวันออกของอุทยานมีพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หล่อด้วยโลหะ ประทับนั่งในพระอิริยาบถทรงพระสำราญ เนินดินที่ประดิษฐานพระราชานุสาวรีย์เป็นดินที่นำมาจากทุกที่ ที่พระองค์เคยเสด็จไปเยี่ยมราษฎรทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมี "แผ่นหินแกะสลัก" เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนค รินทราบรมราชชนนี เป็นงานประติมากรรมแกะสลักแผ่นหินขนาดใหญ่แบบนูนต่ำตั้งอยู่กลางอุทยานฯ
- วัดอนงคารามวรวิหาร พระอารามหลวงชั้นโทชนิดวรวิหารตั้งอยู่ริมถนนสมเด็จเจ้าพระยา สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 เดิม ชื่อว่า "วัดน้อยขำแถม" คำว่า “น้อย” มาจากชื่อท่านผู้หญิงน้อย ภรรยาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) ผู้สร้างวัด ซึ่งเป็นวัดที่สร้างคู่กับวัดพิชัยญาติ โดยสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยเป็นผู้สร้าง จากนั้นถวายเป็นพระอารามหลวง คำว่า “ขำแถม” มาจากนามเดิมของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) ผู้เป็นหลานอาของสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย ซึ่งเป็นผู้ปฏิสังขรณ์วัด สมัยรัชกาลที่ 4 พระราชทานชื่อใหม่ว่า วัดอนงคาราม พระอุโบสถ และพระวิหารประดับลายปูนปั้นบริเวณหน้าบันและซุ้มประตูหน้าต่าง ซึ่งได้รับการยกย่องถึงงดงามมาก พระประธานในพระวิหาร เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยปางมารวิชัย หล่อด้วยโลหะปิดทอง ได้รับถวายพระนามว่า พระจุลนาค
- วัดทองธรรมชาติวรวิหาร พระอารามหลวงชั้นตรีชนิดวรวิหาร เดิมเป็นวัดราษฎร์ ชื่อ “วัดทองบน” เหตุที่เรียกกันว่า "วัดทองบน" เนื่องจากมี "วัดทองสำ" ตั้งอยู่ใกล้กัน 2 วัด ซึ่งวัดนี้อยู่ทางต้นน้ำมากกว่า จึงเรียก "วัดทองบน" วัดที่อยู่ท้ายน้ำลงไปกว่า เรียก “วัดทองล่าง” (วัดทองนพคุณ) สันนิษฐานว่า สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา และทรุดโทรมตามกาลเวลา ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 1 พระองค์เจ้าหญิงกุ พระขนิษฐาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พร้อมด้วยกรมหมื่นนรินทรพิทักษ์พระภัสดา ทรงมีพระศรัทธาจึงบูรณปฏิสังขรณ์และสร้างอุโบสถ วิหาร และเสนาสนะวัดทองบนใหม่ แต่ยังไม่ทันเสร็จสมบูรณ์การก่อสร้างก็ต้องหยุดชะงัก เนื่องจากกรมหมื่นนรินทรพิทักษ์สิ้นพระชนม์ลง สมัยรัชกาลที่ 3 พระองค์จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร เป็นแม่กองสานต่อการปฏิสังขรณ์วัดจนเสร็จสมบูรณ์ พระราชทานชื่อวัดว่า " วัดทองธรรมชาติ " ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปประธาน พระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตัก 4 ศอก 4 นิ้ว จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ ด้านหลังพระพุทธรูปประธานเล่าเรื่องไตรภูมิ ด้านตรงข้ามพระประธานเป็นภาพพระพุทธประวัติตอนมารผจญ ด้านข้างของพระอุโบสถเป็นภาพเทพชุมนุมและภาพ พุทธประวัติ รวมถึงภาพวิถีชีวิตของชาวบ้าน สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นราว ปี พ.ศ. 2374 ลักษณะจิตรกรรมเป็นไปตามแบบแผนในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
- วัดทองนพคุณ เดิมชื่อวัดทองล่าง พระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานโดยกรมศิลปากร คาดว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย ต่อมาพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ทองจีน) เป็นผู้บูรณะและถวายเป็นพระอารามหลวง สมัยรัชกาลที่ 3 มีการบูรณปฏิสังขรณ์ ใหญ่อีกครั้ง สมัยรัชกาลที่ 4 สถาปัตยกรรมอุโบสถเป็นหลังคาลด 2 ชั้น หน้าบันด้านหน้าเป็นรูปเทพอุ้มผ้าไตร ด้านหลังมีพานรองบาตร หน้าต่างด้านข้างเป็นช่องกลม ข้างละ 4 ช่อง ลวดลายปิดทองประดับกระจก
- มัสยิดกูวติลอิสลาม หรือ สุเหร่าตึกแดง มัสยิดนิกายสุหนี่ ก่อสร้างและสนับสนุนโดยกลุ่มมุสลิมไทรบุรี เมืองสุไหงปัตตานี และกลุ่มพ่อค้าเมืองสุหรัต ประเทศอินเดีย ที่เข้ามาทำมาหากินในย่านตึกแดง ทั้งนี้มุสลิมจากสุไหงปัตตานี มีความสามารถด้านการทำทอง นาก เข้ามาตั้งถิ่นฐานก่อน ในสมัยรัชกาลที่ 3 กลุ่มพ่อค้าจากอินเดียเริ่มมาตั้งถิ่นฐาน ในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยเปิดห้างจำหน่ายสินค้าในย่านเดียวกัน ต่อมาสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย (ทัต บุนนาค) มอบ “ตึกแดง” ที่ใช้เป็นสำนักงานพระคลังสินค้าของท่านให้ เนื่องจากเห็นว่าชาวมุสลิมไม่มีสถานที่ประกอบศาสนกิจ ต้องเดินทางไปมัสยิดบ้านสมเด็จ ซึ่งการเดินทางสมัยก่อนยากลำบากนักเพราะเต็มไปด้วยป่าสะแก ต่อมาชาวมุสลิมทั้ง 2 กลุ่ม ร่วมกันสร้างสุเหร่าหลังใหม่เพื่อแทนหลังเดิมที่ทรุดโทรมและคับแคบ จารึกที่ซุ้มประตูมัสยิดระบุปีที่สร้างมัสยิดคือ ฮิจเราะห์ศักราช 1280 หรือ พ.ศ. 2402 ตั้งชื่อว่า มัสยิดกูวติลอิสลาม จากนั้นได้มีการเชิญครูสอนศาสนาจากไทรบุรีมาเป็นผู้นำศาสนาของชุมชน
- มัสยิดเซฟี หรือ สุเหร่าตึกขาว มัสยิดเก่าแก่ มีอายุ กว่า 100 ปี ศูนย์รวมชีวิตของชาวมุสลิมสายชีอะห์ กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “ดาวูดี โบห์รา” แม้จะตั้งบ้านเรือนกระจัดกระจาย แต่วันสำคัญทางศาสนาชุมชนจะนัดมารวมกันที่มัสยิด ทั้งนี้ "มัสยิดเซฟี" เป็นศูนย์กลางทางศาสนกิจเพียงแห่งเดียวของ "มุสลิมดาวูดีโบห์รา" ในประเทศไทย การก่อสร้างมัสยิดเริ่มจากดำริของพ่อค้าเพชรพลอยที่มาค้าขายกับเจ้านายในสมัยนั้น ติดต่อขอซื้อที่ดินบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาตรงข้ามท่าราชวงศ์ด้านฝั่งธนบุรีจาก เจ้าพระยารัตนบดินทร์ (รอด กัลยาณมิตร) ก่อสร้างมัสยิดเสร็จใน ปี พ.ศ. 2453 คำว่า "เซฟี" หมายถึง "ดาบ" เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของดาวูดีโบห์รา ตัวอาคารมัสยิดไม่ได้เป็นสีขาวแต่เรียกชื่อตึกขาวตามไม้ สร้างจากศิลปะและ รูปแบบจากอินเดีย
- บ้านหวั่งหลี เดิมเป็นพื้นที่ท่าเรือสำเภาจากเมืองจีนและเป็นคลังสินค้าของ พระยาพิศาลศุภผล (เจ้าสัวชื่น) ต้นตระกูล "พิศาลบุตร" ต่อมาสถานที่แห่งนี้ได้กลายเป็น "ฮ่วยจุงล้ง" หรือ "ท่าเรือกลไฟ" ใหญ่ที่สุดในฝั่งธนบุรีช่วงสมัยพระยาพิศาลผลพานิช (จีนสือ) บุตรชายของพระยาพิศาลศุภผล และเมื่อมาถึงรุ่นของ คุณหญิงเนื่อง พิศาลบุตร ขายต่อให้กับนายตัน ลิบบ๊วย ผู้เป็นต้นตระกูลหวั่งหลี ซึ่งเคยมาขอเช่าที่คุณหญิงเนื่องอาศัยทำการค้ามาก่อน สถาปัตยกรรมข้าง ๆ บ้านหวั่งหลี ฝั่งต้นน้ำติดกับถนนเชียงใหม่ เดิมเป็นท่าเรือกลไฟ ฮ่วยจุ่งล้ง เป็นตึกแถวโกดังสินค้ารูปเกือกม้า ตรงกลางเป็นศาลเจ้าแม่ทับทิม (ศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว) เทพที่ช่วยปกป้องคุ้มครองในการเดินทางทางทะเลให้แคล้วคลาดปลอดภัย ตัวอาคารบ้านหวั่งหลี อยู่ถัดไปด้านปลายน้ำมีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมจีนอายุ กว่า 130 ปี หันหน้าออกมาทางแม่น้ำเจ้าพระยา มีลานโล่งกว้างบริเวณหน้าบ้าน ภายในประกอบด้วยอาคารสำคัญสามหลัง ตรงกลางเป็นเรือนประธานหันหน้าออกแม่น้ำเจ้าพระยา มีตึกแถวสองชั้นเพดานสูง หลังคาแบบจีนสร้างขนาบสองด้าน ตรงกลางระหว่างอาคารเป็นลานโล่งใช้ประกอบพิธีกรรมของตระกูลหวั่งหลี ในวันสำคัญตามประเพณีจีนปีละ 2-3 ครั้ง ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อ พ.ศ. 2527
- ป้อมป้องปัจจามิตร สร้าง ปี พ.ศ. 2395 ช่วงรัชกาลที่ 4 หลังจากทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองผดุงกรุงเกษมเพื่อเป็นคูพระนครชั้นนอกแล้วเสร็จ จึงโปรดให้สร้างป้อมจำนวน 8 ป้อม เรียงตามริมคลอง โดยโปรดให้สร้างป้อมป้องปัจจามิตรบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาริมปากคลองสาน เพื่อป้องกันผู้รุกรานทางด้านลำน้ำเจ้าพระยา ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ใช้เป็นสถานที่ตั้งธงสัญญาณ สำหรับชักธงแจ้งข่าวเรือสินค้าเข้าออกว่าเป็นเรือของบริษัทใด และมีบ้านพักของข้าราชการกรม เจ้าท่า ผู้ดูแลเสาธงอยู่ในบริเวณป้อม สมัยรัชกาลที่ 6 ย้ายธงสัญญาณจากบนตัวป้อมมาอยู่ในบริเวณใกล้ตัวป้อมตำแหน่งปัจจุบัน ปี พ.ศ. 2492 ป้อมมีสภาพทรุดโทรม เทศบาลนครธนบุรีสมัยนั้นต้องการรื้อถอน และนำเศษอิฐปูนเพื่อถมถนนกรมศิลปากรจึงประกาศขึ้นทะเบียนป้อมป้องปัจจามิตรเป็นโบราณสถาน ปี พ.ศ. 2492 ปัจจุบันป้อมป้องปัจจามิตรยังคงเหลืออยู่บางส่วน ส่วนเสาธงสัญญาณตั้งอยู่บริเวณหน้าสำนักงานเขตคลองสาน
- ศาลเจ้ากวนอู ศาลเก่าแก่มีประวัติความเป็นมากว่า 268 ปี ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้กับอุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เล่าสืบต่อกันมาว่า เก๋งศาลเจ้ากวนอู มีเจ้าพ่อกวนอู 3 องค์ องค์เล็กสุดเป็นองค์แรกที่เข้ามาในประเทศไทยราวปี พ.ศ. 2279 ตรงกับสมัยพระเจ้าเฉียนหลง ฮ่องเต้ โดยชาวจีนฮกเกี้ยนอัญเชิญมาทางเรือ ประทับในเก๋งซึ่งเดิมเป็นเก๋งเล็ก ๆ ในปี พ.ศ. 2345 ตรงกับสมัยพระเจ้าเจียชิงฮ่องเต้ มีผู้อัญเชิญเจ้าพ่อกวนอู องค์กลางเพิ่มอีกหนึ่งองค์ พร้อมติดป้ายชื่อเก๋งว่า "กวง ตี่ กู เมียว" ปี พ.ศ. 2365 ตรงกับสมัย พระเจ้าเต๋ากวงฮ่องเต้ เจ้าสัวชื่อ "คงเส็ง" บูรณะเก๋งให้มีขนาดใหญ่ จากนั้นอัญเชิญเจ้าพ่อกวนอู องค์ที่สามมาประทับร่วมกันในเก๋ง รวมเป็นสามองค์พร้อมสร้างระฆังไว้หนึ่งใบ ปี พ.ศ. 2444 คณะกรรมการและศิษย์ร่วมกันสร้างเก๋งศาลเจ้าหลังใหม่เนื่องจากเก๋งหลังเดิมชำรุด ตั้งชื่อเก๋งหลังใหม่ว่า "กวงตี่ บู่ เชิ่ง เมียว" (หมื่นเทพเทวะ, Facebook)
- ศาลเจ้าพ่อเสือ ตั้งอยู่ในซอยดิลกจันทร์ ใกล้กับอุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่เคารพนับถือของชาวคลองสาน มาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2501 สมัยที่สร้างตลาดสมเด็จ (ตลาดสดใหญ่ที่สุดในย่านคลองสานสมัยนั้น) จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่บอกว่า ศาลเจ้าพ่อเสือก่อสร้างเป็นศาลไม้นานกว่า 100 ปี ช่วงที่ตลาดสมเด็จยังได้รับความนิยม มีทั้งคนฝั่งเยาวราช เจริญกรุง นั่งเรือข้ามฟากมาจับจ่ายใช้สอยและกราบไหว้องค์เจ้าพ่อเสือ ปาฏิหาริย์ความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่ประจักษ์เมื่อครั้งเกิดไฟไหม้ลามทั่วตลาดสมเด็จ แต่ไฟกลับไม่เผาต้นมะขามหลังศาลและตัวศาล แม้แต่ผ้าแพรที่ผูกติดกับศาลเจ้าก็ไม่ไหม้ ชาวบ้านจึงเกิดความเลื่อมใส หลายปีต่อมาได้บูรณะใหม่สร้างแบบก่ออิฐถือปูนหลังคาแปดเหลี่ยม จัดให้มีการสมโภช ราวปี พ.ศ. 2537
- ศาลเจ้าแม่ทับทิม ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านหวั่งหลี เดิมเป็นศาลอยู่ตรงกลางตึกแถวรูปตัวยู พระยาพิศาลศุภผล (ชื่น พิศาลบุตร) สร้างเพื่ออำนวยอวยชัยให้แก่ผู้ที่ล่องเรือกลับมาอย่างปลอดภัย เนื่องจากพื้นที่เคยเป็นท่าเรือสำเภาจากเมืองจีนมาก่อน เจ้าแม่ทับทิมองค์นี้อัญเชิญมาจากเกาะเหมยโจว กว่า 200 ปีที่แล้ว มีความเก่าแก่และศักดิ์สิทธิ์
- ศาลเจ้าซำไนเก็ง ศาลเจ้าขนาดกลางสร้างปลายสมัยรัชกาลที่ 3 ภายในประดิษฐานองค์เทพเจ้าหญิง (เซียนเนี้ย) 3 องค์คือ หลินเซียน เนี้ย (แซ่ลิ้ม) เฉินเซียนเนี้ย (แซ่ตั้ง) หลี่เซียนเนี้ย (แซ่ลี้) ศาลตั้งใกล้กับท่าเรือท่าดินแดง เป็นศาลเจ้าของชาวฮากก้าหรือจีนแคะเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย เดิมตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาต่อมามีการสร้างถนน จึงได้ย้ายมาอยู่ในตำแหน่งปัจจุบัน
ชุมชนย่านคลองสานใช้ภาษาพูดและภาษาเขียนตามมาตรฐานภาษาไทยในการสื่อสาร
ณิชาภัทร บูรณดิลก (2560) สังเคราะห์การสัมภาษณ์ประชาชนที่อาศัยและข้าราชการในหน่วยงานย่านคลองสาน พบข้อท้าทายด้านเศรษฐกิจบริเวณย่านคลองสานคือ เศรษฐกิจในพื้นที่คลองสานเกิดความซบเซามาเป็นระยะเวลาหนึ่ง และพบว่าลักษณะทางเศรษฐกิจของย่านคลองสานยังไม่มีความโดดเด่นหรือมีความพิเศษ เมื่อเทียบกับละแวกใกล้เคียง เช่น ตลาดเจริญรัถซึ่งเป็นแหล่งค้าขายหนังและเครื่องหนัง หรือ ฝั่งตรงข้ามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นตลาดขายของราคาส่งขนาดใหญ่ ดังนั้นย่านคลองสานควรมีการปรับเปลี่ยนหรือปรับตัวเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาดีขึ้นอีกครั้ง
ณิชาภัทร บูรณดิลก (2560) สังเคราะห์การสัมภาษณ์ประชาชนที่อาศัยและข้าราชการในหน่วยงานย่านคลองสาน พบข้อท้าทายด้านสังคมพื้นที่ย่านคลองสานคือ ประชาชนบางส่วนต้องย้ายออกจากพื้นที่ เพราะการไล่รื้อของเจ้าของที่ดินเอกชน และคนในชุมชนเก่าแก่บางชุมชน ย้ายออกจากพื้นที่เนื่องจากความไม่สะดวกสบายและไปหาสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่า อีกทั้งโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต และการประกอบอาชีพของคนในพื้นที่โดยตรง ดังนั้นพื้นที่ย่านคลองสานควรได้รับการปรับปรุงและพัฒนา เพื่อให้ตอบรับกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปเป็นการอยู่ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น อีกทั้งเป็นการยกระดับสิ่งที่มีคุณค่าในพื้นที่ให้กลับมาเป็นที่รู้จักหรือโดดเด่นขึ้นมาอีกครั้ง
ณิชาภัทร บูรณดิลก (2560) สังเคราะห์การสัมภาษณ์ประชาชนที่อาศัยและข้าราชการในหน่วยงานย่านคลองสาน พบข้อท้าทายด้านกายภาพพื้นที่ย่านคลองสานคือ พื้นที่ย่านคลองสานบางตำแหน่งเข้าถึงที่ยากและไม่สะดวก โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่อยู่ในซอยลึกห่างไกลจากถนนสายหลัก บางพื้นที่ใช้งานอย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ รวมถึงการปล่อยพื้นที่ให้เกิดความเสื่อมโทรม อาทิ การทิ้งตึกปล่อยตึกร้าง
รวมถึงข้อท้าทาย จากการวิจัยย่านนวัตกรรมคลองสาน โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) พบว่า สิ่งที่ชุบชีวิตคลองสาน คือ ระบบขนส่งมวลชนที่สามารถเชื่อมคลองสานไปยังเขตเศรษฐกิจ สาทร สีลม สุขุมวิท ภายในเวลาเพียงไม่กี่นาทีและสามารถเชื่อมต่อไปยังพื้นที่เขตเมืองเก่าเกาะรัตนโกสินทร์ เชื่อมจุดสำคัญในฝั่งพระนครเกือบทั้งหมด คลองสานจึงเป็นศูนย์กลางที่สำคัญของฝั่งธนบุรี นอกจากนี้การคมนาคมโดยรถไฟฟ้ายังทำให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในพื้นที่คลองสานได้สะดวกมากยิ่งขึ้น และทั้งหมดสามารถเดินทางเชื่อมต่อกันได้ทั้งทางเรือ รถไฟ และการเดินเท้า เพราะจุดเด่นย่านคลองสานคือ การเป็นเมืองที่เชื่อมต่อกันหมด เช่น คนฝั่งพระนครสามารถเดินทางท่องเที่ยวด้วยการลงรถไฟฟ้าที่สถานีอิสรภาพ สามารถเดินเที่ยวชมวัดในย่านเมืองเก่าฝั่งธนบุรี เช่น วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร โบสถ์คริสต์ วัดซางตาครู้ส ชุมชนกุฎีจีน วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร และสามารถเดินท่องเที่ยวต่อไปยังวัดอนงคารามวรวิหาร, ท่าดินแดง, ล้ง 1919, The Jam Factory หรือคนฝั่งธนบุรีสามารถลงเรือข้ามไปฝั่งเกาะรัตนโกสินทร์ โดยลงที่สถานีสนามไชย เที่ยวชมวัดพระแก้ว วัดโพธิ์ ท่าเตียน ท่าราชวรดิฐ วัดสุทัศน์ ศาลเจ้าพ่อเสือ เป็นต้น
ณิชาภัทร บูรณดิลก (2560). การศึกษาแนวทางการฟื้นฟูเมืองย่านคลองสาน เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง.
เพ็ญนภา พงศ์กมลาสน์ (2557). การประเมินการใช้งานเส้นทางจักรยานชุมชน : กรณีศึกษาเส้นทางจักรยานในชุมชนคลองสานช่วงระหว่างวัดอนงคาราม จนถึงป้อมป้องปัจจามิตร. มหาวิทยาลัยศิลปากร. การออกแบบและวางแผนชุมชนเมือง.
ศศิรินทร์ โพธิ์ศรี. (2564). “คลองสาน” จากย่านเก่าที่เต็มไปด้วยตึกร้าง สู่เมืองนวัตกรรมที่คงไว้ซึ่งวัฒนธรรมชาวกรุง. https://kindconnext.com/kindcult/klongsan-innovation-urban/
กัญจนีย์ พุทธิเมธี, ไมเคิล ปริพล ตั้งตรงจิตร. (16 พ.ย. 2563). ‘คลองสาน’ วัฒนธรรมย่านเมืองเก่าและพื้นที่สีเขียว. กรุงเทพธุรกิจ. https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/
กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม. (2567). เปิดที่มา “คลองสาน” ย่านดังฝั่งธนบุรี “สาน” นี้คืออะไร?. ศิลปวัฒนธรรม. https://www.silpa-mag.com/culture/
สำนักบริหารการทะเบียน กรมปกครอง. (2567). สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร(รายเดือน). https://stat.bora.dopa.go.th/stat/