ชุมชนตลาดเก่า อำเภอกบินทร์บุรี เป็นชุมชนการค้าที่มีประวัติศาสตร์ควบคู่กับเมืองกบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี
กบินทร์บุรี (กระบิลบุรี หรือ กระบินทร์บุรี) หมายถึง เหมืองแห่งพญาวานร ชื่อเดิมคือ ด่านหนุมาน มีสถานะเป็นอู่ข้าวอู่น้ำเนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ และมีเส้นทางทั้งทางบกและทางน้ำเชื่อมต่อกับภายนอกตั้งแต่สมัยโบราณ สามารถสัญจรผ่านและติดต่อกับบ้านเมืองในเขมรต่ำและทะเลสาบเขมร รวมถึงพื้นที่ภาคอีสานผ่านเส้นทางเทือกเขาพนมดงรักไปยังพื้นที่บริเวณอีสานใต้ ช่วงสงครามสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเมืองด้านตะวันออก มีการยกทัพสู้รบกันกว่า 14 ปี ดังนั้นจึงทรงจัดรูปแบบหัวเมืองใหม่ โดยยกชุมชนหน้าด่านหลายแห่งเป็นเมือง ด่านหนุมาน จึงได้รับการยกเป็นเมือง กบินทร์บุรี
ชุมชนตลาดเก่า อำเภอกบินทร์บุรี เป็นชุมชนการค้าที่มีประวัติศาสตร์ควบคู่กับเมืองกบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี
ความเป็นมาของชุมชนตลาดเก่า
การศึกษาความเป็นมาของชุมชนตลาดเก่า ย่านการค้าเก่าแก่ของเมืองกบินทร์บุรี โดย บวรรัตน์ ปราณี (2559) จำแนกพัฒนาการของชุมชนเป็น 3 ช่วง คือ
ช่วงเริ่มต้นชุมชน (ราว พ.ศ. 2449) ช่วงนี้เป็นระยะเริ่มแรกของการก่อตั้งชุมชน ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมการคมนาคมทางน้ำ เดิมเรียกพื้นที่ตลาดเก่าว่า บ้านปากน้ำ เพราะเป็นจุดบรรจบของแควหนุมานกับแควพระปรง และเป็นจุดเริ่มต้นของแม่น้ำปราจีนบุรี พื้นที่บริเวณนี้จึงเป็นตำแหน่งที่มีทรัพยากรน้ำอุดมสมบูรณ์ ทำให้มีการย้ายถิ่นจากบริเวณด่านหนุมานมาตั้งถิ่นฐานยังบ้านปากน้ำเพิ่มขึ้น ประกอบกับชาวจีนโพ้นทะเลที่ย้ายถิ่นมาตามแม่น้ำบางปะกง กระทั่งมาพบพื้นที่นี้จึงเริ่มตั้งถิ่นฐาน ฉะนั้นจากลักษณะทางภูมิศาสตร์ดังกล่าว ส่งผลให้พื้นที่นี้ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมการคมนาคมทางน้ำ ทั้งด้านการขนส่ง การควบคุมและตรวจตราด้านการเก็บภาษี ชุมชนแห่งนี้จึงเป็นตลาดขนาดใหญ่ เรียกว่า ตลาดกบินทร์บุรี
ช่วงเจริญรุ่งเรือง (ราว พ.ศ. 2500) ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรน้ำจึงเหมาะสมแก่ทำการเกษตรกรรม ผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญคือ ข้าว รวมถึงพืชไร่ ด้านการประมงน้ำจืดจับกุ้ง หอย ปลา นำรายได้สู่ชุมชนเช่นกัน ชาวจีนที่ตั้งถิ่นฐานในพื้นที่แต่งงานกับหญิงชาวไทย ตั้งบ้านเรือนอาศัยในพื้นที่ประกอบอาชีพ ตกข้าว คือ การนำเงินให้ชาวนาเพื่อไปทำนา เมื่อชาวนาได้ข้าวก็นำข้าวมาคืนแทนเงินสด ในด้านการคมนาคมเส้นทางคมนาคมทางน้ำยังเป็นเส้นทางหลักที่ชุมชนใช้ในการสัญจร เพราะถนนมีลักษณะเป็นถนนลูกรังและทางเกวียนจึงไม่สะดวกต่อการสัญจร ส่วนการสัญจรทางไกลยังต้องใช้รถไฟและรถสาธารณะแต่ยังมีไม่มาก เรือที่สัญจรในพื้นที่มีหลากหลาย อาทิ เรือสินค้า เรือขนส่ง เรือเมล์ เรือขายของทั่วไป ท่าน้ำบริเวณนี้จึงคึกคักและมากไปด้วยการต่อรองซื้อขายสินค้า ท่าเรือในบริเวณตลาดเก่าในอดีต มีอย่างน้อย 3 ท่าเรือ คือ
- ท่าเรือแปะปึง สำหรับจอดเรือหางยาว เรือประมง
- ท่าเรือแปะหงิ สำหรับจอดเรือเมล์ เรือโดยสาร เรือสินค้าต่าง ๆ
- ท่าเรือตรอกครูการ เป็นท่าเรือสำหรับต่อเพื่อไปขึ้นรถโดยสารประจำทาง เนื่องเพราะถนนในชุมชนมีขนาดแคบ รถโดยสารสามารถเข้าถึงในบริเวณท่าเรือ
ช่วงเสื่อมถอยของชุมชน การลดบทบาทของเส้นทางคมนาคมทางน้ำ โดยการเข้ามาของโครงสร้างพื้นฐานด้านการก่อสร้างถนน ทำให้มีเกิดชุมชนขึ้นใหม่ตามแนวเส้นทางคมนาคมพร้อม ๆ กับการเกิดขึ้นใหม่ของตลาดริมถนนหลากหลายแห่ง การสัญจรและการค้าขายทางน้ำจึงลดความสำคัญ จึงเป็นเหตุให้ชุมชนตลาดเก่าค่อย ๆ เกิดความซบเซา นอกจากนี้ช่วงฤดูน้ำหลากยังส่งผลกระทบต่อชุมชนจากภาวะน้ำท่วม สมาชิกในชุมชนจึงมีการย้ายถิ่นไปอาศัยยังพื้นที่อื่นทำให้ชุมชนตลาดเก่ายิ่งซบเซา
พื้นที่ชุมชนตลาดเก่ากบินทร์บุรี อยู่ภายใต้การปกครองของเทศบาลตำบลกบินทร์บุรี อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี มีพื้นที่ราว 0.2 ตารางกิโลเมตร ภายในพื้นที่มีถนนเทศบาล 1 ตัดผ่านพื้นที่ โดยมีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดกับ ทางรถไฟสายตะวันออก
- ทิศตะวันออก ติดกับ ถนนเทศบาล 4
- ทิศใต้ ติดกับ แม่น้ำปราจีนบุรี
- ทิศตะวันตก ติดกับ แควหนุมาน
ลักษณะภูมิประเทศ
พื้นที่ชุมชนตลาดเก่าเป็นที่ราบน้ำท่วมถึง เนื่องด้วยพื้นที่ด้านตะวันตกติดกับแควหนุมาน ด้านทิศใต้เป็นจุดบรรจบของแควหนุมานกับแควพระปรง จุดนี้เป็นต้นน้ำแม่น้ำปราจีนบุรี ทั้งแควหนุมานและแควพระปรงมีลักษณะสัณฐานของท้องน้ำค่อนข้างแคบ ตลิ่งของแควทั้งสองมค่อนข้างมีความชัน ฤดูฝนน้ำหลากจึงมีกระแสน้ำไหลแรงและเร็ว ส่วนฤดูแล้งและฤดูหนาวค่อนข้างแล้งไม่มีน้ำ ประกอบกับลักษณะเป็นดินทรายบริเวณตลิ่งจึงมีการพังทลาย จึงไม่สามารถจัดกิจกรรมประเพณีทางน้ำได้
ชุมชนตลาดเก่า เป็นหนึ่งในเจ็ดชุมชนที่สังกัดการปกครองเทศบาลตำบลกบินทร์บุรี จากข้อมูลสถิติจำนวน จากการสำรวจจำนวนประชากร แยกรายชุมชน เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564 โดยเทศบาลตำบลฯ พบว่า ชุมชนตลาดเก่า มีประชากรทั้งสิ้น 441 คน เพศชาย 231 คน เพศหญิง 228 คน และหลังคาเรือน 217 หลังคาเรือน
ชุมชนตลาดเก่ามีการจัดตั้งองค์การชุมชน โดยมีประธาน 1 คน และกรรมการ จำนวน 5 คน นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งกลุ่มเพื่อจัดกิจกรรมฟื้นฟูวิถีชีวิตย่านชุมชนตลาดเก่า อย่างไรก็ดีในย่านตลาดกบินทร์บุรีมีการรวมกลุ่มของผู้สนใจวัฒนธรรมชุมชนตลาดกบินทร์บุรี เพื่อจัดกิจกรรมบอกเล่าประวัติศาสตร์ของชุมชนตลาดกบินทร์บุรี โดยการจัดทำสื่อเพื่อให้เกิดการรวมกลุ่ม เช่น Facebook กลุ่มตลาดเก่ากบินทร์ ต้นทางสายธารแห่งชีวิต กลุ่มฅนกบินทร์ กลุ่มเมืองกบินทร์บุรี
วิถีชีวิตของสมาชิกชุมชนตลาดเก่า เป็นวิถีชีวิตแบบผู้ประกอบอาชีพค้าขายเป็นส่วนใหญ่ โดยมีแหล่งสำคัญคือตลาดบริบูรณ์ หรือ ตลาดเจ้าสำอาง นอกจากนี้ประกอบอาชีพด้านรับราชการและรับจ้างทั่วไป ในรอบปีวิถีชีวิตของสมาชิกในชุมชนมีความเกี่ยวข้องกับประเพณีทางศาสนาทั้งศาสนาพุทธ และความศรัทธาของคนไทยเชื้อสายจีนในการทำบุญศาลเจ้า
สถานที่ประกอบกิจกรรมด้านศาสนาของสมาชิกชุมชนตลาดเก่าที่ใกล้ชุมชน คือ วัดพระยาทำ บริเวณตรงข้ามแควหนุมาน และวัดใหม่ท่าพาณิชย์ ห่างจากชุมชนตลาดเก่าราว 500 เมตร และยังมีศาลเจ้าที่สมาชิกในชุมชนให้ความเคารพ ประกอบด้วย เทวสถานโป๊ยเซียนโจวซือ ศาลเจ้าพ่อใหญ่แห่งกบินทร์บุรี ซึ่งเป็นสถานที่เคารพนับถือของคนไทยเชื้อสายจีนในอำเภอกบินทร์บุรี
ด้านประเพณีที่ปฏิบัติของชุมชนสอดคล้องกับประเพณีตามปฏิทินรอบปีของสังคมไทย ประกอบด้วย
- เดือนมกราคม ประเพณีตักบาตรวันขึ้นปีใหม่
- เดือนเมษายน ประเพณีสงกรานต์ วันผู้สูงอายุ
- เดือนพฤศจิกายน ประเพณีลอยกระทง
- กิจกรรมวันสำคัญทางพุทธศาสนาและวันแส่ยิดเทพเจ้าประจำศาลเจ้า
ทุนชุมชนตลาดกบินทร์บุรี
ความสนใจเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของชุมชนปัจจุบันขยายพื้นที่ความสนใจไปยังการศึกษาประวัติศาสตร์ตลาดกบินทร์ ซึ่งชุมชนในเทศบาลตำบลกบินทร์บุรีหลายชุมชนรวมทั้งชุมชนตลาดเก่า มีการขยายพรมแดนความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชุมชนตลาดกบินทร์บุรีให้สังคมไทยได้เกิดการเรียนรู้ผ่านช่องทาง Facebook ของกลุ่มต่าง ๆ โดยการเล่าเรื่องผ่านภาพถ่าย การจัดกิจกรรมย้อนอดีต การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสมาชิกในชุมชน การรวมกลุ่มและการจัดกิจกรรมเหล่านี้สามารถกล่าวได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างและใช้ทุนวัฒนธรรมของชุมชนให้เกิดคุณค่าและมูลค่าแก่ชุมชนตลาดกบินทร์บุรีโดยรวม
ภาษาไทยกลาง
บวรรัตน์ ปราณี (2559). แนวทางการอนุรักษ์และปรับปรุงฟื้นฟูกลุ่มอาคารห้องแถวไม้พื้นถิ่นบริเวณย่านชุมชนตลาดเก่า อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง.
กองจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม. (2564). ชุมชนตลาดเก่ากบินทร์บุรี (ตลาดกุม). จาก https://culturalenvi.onep.go.th/
เทศบาลตำบลกบินทร์. (2565). แผนพัฒนาท้องถิ่น พ.ศ. 2566-2570. จาก https://www.kabin.go.th/