Advance search

บ้านแม่หมีใน

บ้านแม่หมีใน ชนกลุ่มปกาเกอญอเผ่าสะกอ อพยพมาจากบ้านเมืองคอน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งถิ่นฐานมานานกว่า 175 ปี เป็นไปเพื่อแสวงหาที่ทำกินใหม่โดยเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ราบสูงที่ราบหุบเขาริมห้วยแม่หมี

หมู่ที่ 6
บ้านแม่หมีใน
หัวเมือง
เมืองปาน
ลำปาง
หทัยชนก จอมดิษ
18 ม.ค. 2023
หทัยชนก จอมดิษ
17 ก.พ. 2023
บ้านแม่หมีใน


บ้านแม่หมีใน ชนกลุ่มปกาเกอญอเผ่าสะกอ อพยพมาจากบ้านเมืองคอน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งถิ่นฐานมานานกว่า 175 ปี เป็นไปเพื่อแสวงหาที่ทำกินใหม่โดยเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ราบสูงที่ราบหุบเขาริมห้วยแม่หมี

บ้านแม่หมีใน
หมู่ที่ 6
หัวเมือง
เมืองปาน
ลำปาง
52240
วิสาหกิจชุมชน 08-3322-2015, อบต.หัวเมืองปาน โทร.0-5401-9722
19.05029
99.51631
องค์การบริหารส่วนตำบลหัวเมือง

ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านแม่หมีใน เป็นชนกลุ่มปกาเกอะญอเผ่าสะกอ อพยพมาจากบ้านเมืองคอน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งถิ่นฐานมานานประมาณ 175 ปี เพื่อแสวงหาที่ทำกินใหม่โดยเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ราบสูงที่ราบหุบเขาริมห้วยแม่หมี หลังจากนั้นได้ย้ายที่ตั้งหมู่บ้านไปในอีกหลายที่ในบริเวณลำห้วยแม่หมีและแม่ต๋อม ในเวลาต่อมาได้มีชาวเขาเผ่าเดียวกันจากตำบลแจ้ซ้อน อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปางและจากอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ได้อพยพเข้ามาสมทบ

ส่วนสาเหตุในการย้ายหมู่บ้านแต่ละครั้งมีหลายกรณีเช่น การเกิดโรคระบาดขึ้นในหมู่บ้าน เกิดความขัดแย้งกันในหมู่บ้านและย้ายเพื่อให้อยู่ใกล้พื้นที่ทำกิน จนกระทั่งได้มีการแยกกลุ่มบ้านออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือกลุ่มบ้านแม่หมีและกลุ่มบ้านแม่ต๋อม ในกลุ่มแม่หมีได้แบ่งออกเป็นสองบ้านขนาดหย่อม คือ กลุ่มบ้านแม่หมีใน และกลุ่มบ้านแม่หมีนอก ซึ่งมีบ้านจกปกรวมอยู่ด้วย 

บ้านแม่หมีในเป็นชุมชนชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงสะกอหรือปกาเกอะญอ ตั้งอยู่ในเขตหมู่ที่ 6 ตำบลหัวเมือง อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง พื้นที่หมู่บ้าน 422 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ก่อตั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัย 25 ไร่ พื้นที่ทำนา 111 ไร่ พื้นที่ไร่สวน 286 ไร่ ลักษณะหมู่บ้านตั้งอยู่ในบริเวณหุบเขา มีลำห้วยแม่หมีน้อยไหลเลียบหมู่บ้านด้านทิศตะวันตก พื้นที่ลาดเชิงเขา ที่ราบเป็นที่นาสำหรับปลูกข้าว เมื่อพ้นช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยวจะปลูกพืชผักไว้บริโภค และเนื่องจากพื้นที่นามีน้อยชาวบ้านบางส่วนจึงใช้พื้นที่เนินเขาทำไร่หมุนเวียน การตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนของชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยงหรือปกาเกอะญอบ้านแม่หมีใน มีลักษณะตั้งบ้านเรือนอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเหมือนบ้านกะเหรี่ยงทั่วไป เป็นบ้านยกพื้นสูงจากดิน ส่วนใหญ่จะปลูกบ้านหลังเล็ก ๆ คล้ายกระท่อม ขนาดพอดีสำหรับสมาชิกในครอบครัว ใต้ถุนบ้านใช้สำหรับเลี้ยงสัตว์บ้างหรือเป็นที่เก็บของ พาหนะ ฝืน ตากผ้าหรือนั่งทอผ้า สำหรับที่ว่างข้างบ้านบางครอบครัวก็ทำเป็นที่ตั้งครกกระเดื่องสำหรับตำข้าว ทุกหลังคาเรือนมุงหลังคาด้วยไม้สัก ฝาบ้านใช้ไม้ไผ่สับฟาก

การสาธารณูปโภค ส่วนใหญ่ของชาวบ้านแม่หมียังไม่มีไฟฟ้าใช้ มีเพียงแผงรับความร้อนจากแสงอาทิตย์หรือโซล่าเซล ที่นำไปใช้เป็นพลังงานไฟฟ้าที่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวงบ้านแม่หมี มีศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวงบ้านแม่หมีใน ศูนย์ข้อมูลเรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ประปาภูเขา บ่อน้ำตื้น แทงก์น้ำ ทางเดินเท้า ถนนคอนกรีตเสริมไม้ไผ่ ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานองค์กรภายนอก รวมทั้งนักศึกษาและความร่วมมือจากชาวบ้าน

ช่วงแรกที่หมู่บ้านแม่หมีใน มาตั้งมีเจ้าหน้าที่จากศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาเป็นหน่วยงานแรกที่เริ่มเข้ามามีส่วนในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาหมู่บ้านในปี พ.ศ.2519 ในด้านการศึกษาและการเกษตร เช่น การปลูกผลไม้ สนับสนุนพันธุ์ข้าว ต่อมากรมการศึกษานอกโรงเรียนส่งครูอาสามาจัดการเรียนการสอนให้เด็กและผู้ใหญ่ ขณะนั้นใช้ชื่อว่าศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา (ศศ.ช.) ปัจจุบันใช้ชื่อว่า ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง

บ้านแม่หมีใน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ มีประชากรทั้งหมด 118 คน จำนวนบ้านเรือนในหมู่บ้านแม่หมีใน 21 หลังคาเรือนและ 23 ครอบครัว ลักษณะการสร้างบ้านของชาวบ้านแม่หมีใน จะมีการสร้างแบบมีการยกพื้นสูงมีใต้ถุนบ้าน บ้านสร้างด้วยวัสดุที่เป็นไม้ไผ่ กั้นด้วยฟาก มุงหลังคาด้วยใบจากใบตองตึง หญ้าตาใบหวาย บนบ้านจะมีชานซึงเป็นที่วางกระบอกไม้ไผ่สำหรับดื่มน้ำ อีกส่วนหนึ่งเป็นที่ทำงาน เช่น การทอผ้า เข้าไปข้างในบ้านจะมีเตาไฟอยู่ตรงกลาง มีแคร่แขวนอยู่เหนือเตาไฟเพื่อวางเครื่องครัวและตากแห้ง พร้อมทั้งเป็นที่เก็บพันธุ์พืช รอบ ๆ บริเวณเตาไฟจะเป็นที่นอนและที่เก็บของประจำบ้าน

ชาวปกาเกอะญอ ถือการแต่งงานแบบผัวเดียวเมียเดียวเป็นความถูกต้องและปฏิบัติอย่างเคร่งครัด สายตระกลูเดียวกันไม่สามารถแต่งงานกันได้ พิธีแต่งงานเป็นจุดเริ่มต้นของ พิธีบก๊ะ (พิธีเครือญาติ) ถ้ามีการทำผิดขนบธรรมเนียมถือว่าเป็นการผิดผี

ลักษณะครอบครัว ชาวปกาเกอะญออยู่ด้วยกันแบบช่วยเหลือเกื้อกลูกันทั้งในบ้านและนอกบ้านมีการแบ่งบทบาทหน้าที่ของหญิงชาย ผู้หญิงทำงานบ้าน หุงข้าว ตำข้าว ตักน้ำ ทำอาหาร เลี้ยงหมู ไก่ และ เก็บผักหักฟืน ส่วนผู้ชายส่วนใหญ่จะเป็นงานนอกบ้านซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้กำลัง เช่น ไปไร่ไปนา ไถนา ตัดไม้ สร้างบ้าน เป็นต้น ชาวปกาเกอะญอจะนับถือวิญญาณบรรพบุรุษทางฝ่ายหญิง ครอบครัวจึงถือวิญญาณบรรพบุรุษทางฝ่ายหญิงหรือฝ่ายแม่ด้วย แม้ว่าการสร้างบ้านเป็นหน้าที่ของผู้ชาย แต่จะถือว่าบ้านจะเป็นของฝ่ายหญิง หากสามีตายไม่ต้องรื้อบ้านทิ้ง แต่ภรรยาตายจะต้องรื้อบ้านทิ้ง 

ปกาเกอะญอ

การปกครองบ้านแม่หมีใน แบ่งการปกครองออกเป็น 2 ลักษณะ คือการปกครองอย่างเป็นทางการ มีผู้นำทางการเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 กับการปกครองที่มีผู้นำทางธรรมชาติหรือผู้นำทางประเพณีของชุมชนกะเหรี่ยงเป็นผู้นำหมู่บ้านชาวบ้านเรียกว่า ฮีโข่ ภายในหมู่บ้านมีคณะกรรมการหมู่บ้านประกาศเป็นลายลักษณ์อักษร การแต่งตั้งคณะกรรมการหมู่บ้านเป็นความเห็นร่วมกันของชาวบ้าน จึงมีความหลากหลายในเรื่องสถานภาพ เพศ อายุ รวมถึงความสามารถในการติดต่อสื่อสารและการประสานงานกับหน่วยงาน ส่วนฮีโข่และผู้อาวุโสจะมีบทบาทในการร่วมตัดสินใจและแก้ปัญหาหรือลงความเห็นต่อเรื่องทางประเพณีและวัฒนธรรม โดยทั่วไปเมื่อมีกิจกรรมต่าง ๆ ในหมู่บ้านทุกคนให้ความมร่วมมือกันทำงาน บ้านแม่หมีในมีการจัดตั้งกลุ่มต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ชาวบ้าน ดังนี้

กลุ่มสตรีทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ เดิมการทอผ้าเป็นงานของผู้หญิงชาวปกาเกอะญอทอไว้ใช้ในครอบครัว ต่อมาในปี พ.ศ. 2533 โครงการพัฒนาชุมชนชาวเขา มูลนิธิการศึกษาเพิ่อชีวิตและสังคม ได้เข้ามาศึกษาวิเคราะห์ชุมชนเพื่อการส่งเสริมศักยภาพในการพึ่งตนเอง โดยได้ศึกษารื้อฟื้นส่งเสริมภูมิปัญญาชาวบ้านเรื่องการทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ จึงสนับสนุนด้านอาชีพและก่อตั้งกลุ่มสตรีทอผ้าย้อมสีธรรมชาติขึ้น ในการแรกเริ่มมูลนิธิการศึกษาเพื่อชีวิตและสังคม สนับสนุนทุนในการดำเนินงานส่งเสริมสมาชิกในการพาไปดูงาน รายได้จากการผลิตกระเป๋า ย่าม ผ้าพันคอ ผ้ารองจาน ผ้าคลุมไหล่ เสื้อ ผ้าถุง หักเข้ากลุ่มร้อยละ 50 ส่วนที่เหลือนำมาจัดสรรปันส่วนให้สมาชิกเท่า ๆ กัน

กลุ่มออมทรัพย์บ้านแม่หมีใน จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2542 เริ่มจากเจ้าหน้าที่โครงการพัฒนาชุมชนชาวเขา มูลนิธิการศึกษาเพื่อชีวิตและสังคมแนะนำให้กลุ่มสตรีทอผ้ารู้จักการออม กลุ่มออมทรัพย์ที่จัดตั้งขึ้นอยู่ในขั้นทดลอง ไม่มีการถอน ไม่มีการกู้ยืม ใช้การฝากระยะ 3 ปี

กลุ่มเยาวชนบ้านแม่หมีใน จัดตั้งเมื่อปี พ.ศ.2524 โดยการแนะนำจากเจ้าหน้าที่หน่วยพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา กรมประชาสงค์เคราะห์ แต่กลุ่มไม่ชัดเจนและไม่มั่นคงต่อมาปีพ.ศ.2540 หน่วยพัฒนาสงเคราะห์ชาวเขา กรมประชาสงเคราะห์และมูลนิธการศึกษาเพื่อชีวิตและสังคม จึงส่งเสริมการจัดกิจกรรมกลุ่มและพาศึกษาดูงาน และจัดอบรมค่ายเยาวชน โดยมีผู้สูงอายุและรุ่นพี่เป็นที่ปรึกษากลุ่ม

บ้านแม่หมีใน ประชากรในหมู่บ้านส่วนใหญคือกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ มีความเชื่อระหว่างคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ ซึ่งมีทั้งนับถือผี ศาสนาพุทธและศาสนาคริสต์ โดยความเชื่อตามประเพณีนั้นชาวปกาเกอะญอเชื่อว่าทุกสิ่งมีสิ่งศักดิ์อยู่ประจำและดูแลรักษาอยู่ เรียกว่า “ต่าที ต่าเตาะ” ( เทพเจ้าแห่งสัจธรรม ซึ่งจะสถิตตามที่ต่าง ๆ ) ชาวปกาเกอะญอมีความเคารพธรรมชาติ เพราะเชื่อว่าป่าเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความอุดมสมบูรณ์และวิถีชีวิตประเพณีความเชื่อยังสอดคล้องเกี่ยวกับป่า

ศาสนา หมู่บ้านแม่หมีในมีทั้งนับถือพุทธศาสนาและคริสต์ศาสนา ซึ่งชาวบ้านที่นับถือศาสนาคริสต์ เดิมครอบครัวนับถือผี ต่อมาประสบปัญหาเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงที่ใช้สำหรับประกอบพิธี ปัญหาทางการเงิน จึงหันมานับถือศาสนาคริสต์เพราะไม่ค่อยสิ้นเปลือง ส่วนชาวบ้านที่นับถือศาสนาพุทธนั้นจะมีการประกอบพิธีทางศาสนาเป็นระยะ ขึ้นอยู่กับความจำเป็นและความสะดวกและหากมีโอกาสไปทำบุญจะเข้าไปเข้าวัดที่อยู่หมู่บ้านเมืองน้อย อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย

ตัวอย่างประเพณีและพิธีกรรมในชุมชน เช่น พิธีปลูกต้นไม้สายสะดือ เมื่อเมื่อเด็กเกิดขึ้นในครอบครัว พ่อของเด็กจะนำกระบอกไม้ไผ่ 1 กระบอก หรือ ทีเตอะ มาใส่สายรกเด็กและปิดด้วยผ้าสีดำมักด้วยตอก นำไปผูกกับต้นไม้ในป่าของหมู่บ้าน ต้นไม้ที่เลือกนั้นจะต้องมีผล เพราะเชื่อว่าถ้าเด็กโตขึ้นจะมีเพื่อนไม่อดอยาก มีลูกหลานสืบต่อไปเหมือนผลของต้นไม้ ต้นไม้ที่นิยมนำไปมัด ได้แก่ มะแฟน มะไฟ มะคอแลน (ลิ้นจี่ป่า) มะม่วงป่า มะขามป้อม เป็นต้น ในวันที่มัดสายสะดือ ห้ามคนทั้งหมู่บ้านขึ้นยุ้งข้าว ทั้งในไร่หรือในบ้าน เชื่อว่าหากทำไรในอนาคตจะไม่ประสบความสำเร็จ ต้นไม้ที่มีสายสะดือมัดอยู่ ห้ามใครตัดโค่น แต่สามารถกินลูกของต้นไม้ได้ ยกเว้นเด็กที่เป็นเจ้าของสายสะดือ ห้ามกินผลของไม้ต้นนั้น

การแต่งกาย ในหมู่บ้านแม่หมีในนิยมแต่งกายประจำเผ่า ผู้ชายทั้งโสดและแต่งงานใส่เสื้อสีแดงหรือสีชมพู ภาษาปกาเกอะญอเรียกว่า เชควอ เป็นเสื้อทางกระบอก คอเป็นรูปตัววี แขนสั้น กางเกงตามความสะดวก สำหรับชุดผู้หญิง ใส่ชุดสีขาว เรียกว่า เชวา ยาวคลุ่มเขา หรือถึงตาตุ่ม บนลายเสื้อมีลวดลายทอประดับสวยงาม หญิงสาวโสดห้ามใส่เสื้อดำ คนทอจึงนิยม “ทอเชวา” เป็นสีชมพูหรือสีม่วง ส่วนผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว ใส่เสื้อดำหรือสีน้ำเงิน เรียกว่า “เซซู” มีลูกเดือยที่ปักด้วยมือสลับชายเสื้อยาวถึงเอง ส่วนถุงผ้าเป็นสีแดง สีชมพู   

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ชาวบ้านในหมู่บ้านแม่หมีใน ส่วนใหญ่จะใช้ภาษากะเหรี่ยงในการสื่อสารกันในหมู่บ้าน ใช้ภาษาเหนือหรือคำเมืองในการสื่อสารกับคนนอกที่พูดภาษาเหนือด้วยกัน ส่วนภาษาไทย ใช้สื่อสารกับนต่างถิ่นที่พูดคำเมืองไม่ได้ เยาวชนในหมู่บ้านเล่าว่ามีคนเมืองเข้าไปพูดคุยและทำกิจกรรมในหมู่บ้าน ส่งผลให้เด็กในหมู่บ้านหลายคนพูดภาษาไทยได้ชัดขึ้น มีการรรวมกลุ่มกันการเรียนรู้ภาเขียนปกาเกอะญอกับผู้สูงอายุ ซึ่งภาษาเขียนมีการดัดแปลงมาจากตัวหนังสือพม่า ผสมอักษรโรมัน และมีแนวโน้มว่าจะจัดเข้าไปในหลักสูตรการเรียนการสอนในแก่เด็กนักเรียนในบ้านแม่หมีใน

 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ชัยศิลป์ คนคล่อง. (2543). ความเชื่อ ประเพณีและวัฒนธรรมของชาวบ้านปกาเกอญอบ้านแม่หมีใน หมูที่ 6 ตำบลหัวเมือง อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.