Advance search

บ้านบ่อมอญ-บ่อพราหมณ์ เป็นชุมชนที่สืบสานพิธีกรรมงานปีผีมด พิธีกรรมที่สะท้อนระบบความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติภายในชุมชน นอกจากนี้การประกอบพิธีกรรมนำไปสู่การสร้างความมั่นคงทางจิตใจแก่บุคคล สร้างสำนึกความเป็นกลุ่ม สร้างระบบการควบคุมทางสังคม สร้างความร่วมมือและสร้างเครือข่ายให้แก่ชุมชน การสืบสานพิธีกรรมของชุมชน ทำให้ได้รับการขึ้นบัญชีเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมระดับชาติ ปี พ.ศ. 2566

บ้านบ่อพราหมณ์-บ่อมอญ
นาวุ้ง
เมืองเพชรบุรี
เพชรบุรี
อบต.นาวุ้ง โทร. 0-3240-0610
ธำรงค์ บริเวธานันท์
22 เม.ย. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
22 เม.ย. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
22 เม.ย. 2024
บ้านบ่อพราหมณ์-บ่อมอญ

ความเป็นมาของชื่อบ้านบ่อมอญ-บ่อพราหมณ์ มีเรื่องเล่าอย่างน้อย 2 ชุด ที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเล่าแรก เล่าสืบต่อกันมาว่า ครั้งหนึ่งกองทัพพม่าเดินทัพผ่านบริเวณหมู่บ้านด้วยความกระหายจึงขอน้ำจากชาวบ้านแต่ชาวบ้านไม่ให้ จึงสาปแช่งว่าหากมีการขุดบ่อน้ำกินน้ำใช้ ขอให้เป็นน้ำเค็มไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ จากนั้นทหารพม่าจึงนำดาบมาช่วยกันขุดน้ำ ครั้นต่อมากลุ่มพราหมณ์ได้มาบริกรรมคาถาที่บ่อน้ำ ทำให้บ่อน้ำนี้กลายเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ไม่แห้ง ดังนั้นจึงเป็นที่มาของชื่อบ้านบ่อพราหมณ์

เรื่องเล่าถัดมา เล่าว่า ครั้งหนึ่งมีกลุ่มพราหมณ์อพยพมาจากทางใต้ ระหว่างทางหยุดพัก ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่ง จากนั้นจึงเดินหาน้ำกินในบริเวณหมู่บ้าน เมื่อมาถึงยังกระท่อมหลังหนึ่งจึงขอน้ำจากเจ้าของกระท่อมกิน แต่ก็ยังไม่เป็นที่พอใจสบอารมณ์ของกลุ่มพราหมณ์ จึงมีการสาปแช่งให้หมู่บ้านบ้านเกิดความกันดาล จากนั้นจึงเดินทางออกจากหมู่บ้าน เมื่อถึงบริเวณที่ลุ่มจึงนำหอกมาช่วยกันขุดบ่อเพื่อนำน้ำมากิน จึงเป็นที่มาของชื่อ "บ้านบ่อพราหมณ์"

ความเป็นมาของชื่อ “บ้านบ่อมอญ” มีผู้เล่าให้ฟังว่า “เดิมถนนสายหาดเจ้าเป็นคลองมีเรือมาขายสินค้า จำพวกหม้อไหจำนวนมากบริเวณริมตลิ่ง ผู้ใหญ่สมัยนั้นบอกว่าเป็นของ “คนมอญ” ขณะเดียวกันในหมู่บ้านมีบ่อน้ำสำหรับการใช้ประโยชน์จำนวน 1 บ่อ จึงเรียกกันต่อมาว่า “บ่อมอญ” 


บ้านบ่อมอญ-บ่อพราหมณ์ เป็นชุมชนที่สืบสานพิธีกรรมงานปีผีมด พิธีกรรมที่สะท้อนระบบความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติภายในชุมชน นอกจากนี้การประกอบพิธีกรรมนำไปสู่การสร้างความมั่นคงทางจิตใจแก่บุคคล สร้างสำนึกความเป็นกลุ่ม สร้างระบบการควบคุมทางสังคม สร้างความร่วมมือและสร้างเครือข่ายให้แก่ชุมชน การสืบสานพิธีกรรมของชุมชน ทำให้ได้รับการขึ้นบัญชีเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมระดับชาติ ปี พ.ศ. 2566

บ้านบ่อพราหมณ์-บ่อมอญ
นาวุ้ง
เมืองเพชรบุรี
เพชรบุรี
76000
13.07497668
99.98132721
องค์การบริหารส่วนตำบลนาวุ้ง

ประวัติศาสตร์ชุมชน

ความเป็นมาของบ้านบ่อพราหมณ์ บ่อมอญ เริ่มก่อตั้งเมื่อใดไม่สามารถกำหนดอย่างแน่ชัดได้ วิฑูรย์ คุ้มหอม (2551) ศึกษาประวัติศาสตร์ของชุมชนโดยพิจารณาหลักฐานทางโบราณคดี พบว่า มีหลักฐานทางโบราณคดีที่สามารถอ้างถึงประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน 2 ประเภท คือ 1) หลักฐานที่มีประจักษ์พยานเห็นได้ชัดในปัจจุบัน 2) หลักฐานจากการเห็นจริงของบุคคลที่สามารถอ้างอิงได้ ซึ่งหลักฐานประเภทแรกมี 4 หลักฐาน คือ 1) กลุ่มเศษศิลาแลงและเศษภาชนะดินเผาบริเวณหนองบ่อพราหมณ์ 2) เนินอิฐขนาดใหญ่ 3) เศษภาชนะดินเผา และ 4) เครื่องถ้วยชาม หลักฐานเหล่านี้สามารถบอกได้ว่า บริเวณนี้มีการตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนหมู่บ้านสืบต่อกันมายาวนาน

จากการศึกษายังพบอีกว่า บ้านบ่อพราหมณ์ประกอบด้วย 2 กลุ่มบ้าน เรียกว่า บ้านในกับบ้านนอก

กลุ่มที่ 1 บ้านใน เป็นบริเวณที่มีการอยู่อาศัยของคนรุ่นก่อนหลายชั่วอายุคน หลักฐานคือ ต้นมะขามขนาดใหญ่ที่ในอดีตคนในชุมชนมักปลูกไว้เพื่อบริโภคและเป็นร่มเงาแก่ชุมชน รวมถึงเป็นสถานที่นัดพูดคุยหรือจัดการละเล่นร่วมกันของชุมชน รวมถึงการพบเศษภาชนะดินเผาและถ้วยชามฝังดิน ที่เป็นหลักฐานแสดงถึงการตั้งถิ่นฐานในอดีต

กลุ่มที่ บ้านนอก เป็นกลุ่มบ้านที่เกิดขึ้นภายหลัง ในอดีตบริเวณนี้เป็นชายป่าติดกับ “ดอนขังใหญ่” ชาวบ้านมักใช้ประโยชน์เพื่อเลี้ยงวัวเป็นหลัก มีการทำนาบ้างเล็กน้อยเพราะเป็นที่ดอนไม่ค่อยได้ผลผลิต และไม่ค่อยมีใครไปตั้งบ้านเรือนอาศัยเพราะลือกันว่าบริเวณนี้ผีดุ จึงไม่มีใครกล้าเข้ามาอาศัยอาศัยในพื้นที่ ต่อมาเมื่อมีการตั้งวิทยาลัยครูเพชรบุรีในพื้นที่ จึงเริ่มมีการปลูกบ้านเพื่ออยู่อาศัยและทำการค้าขาย รวมถึงการสร้างหอพักให้เช่า บริเวณนี้จึงเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจ กระทั่งมีการสร้างกำแพงล้อมรอบมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี จึงทำให้เกิดการแยกพื้นที่จากชุมชนกลุ่มนอกบ้าน อย่างไรก็ดีจากการสร้างกำแพงทั้งชุมชนกลุ่มบ้านในและนอกบ้าน เริ่มเข้ามาเป็นกลุ่มเดียวกันเพราะทั้ง 2 กลุ่มต่างเป็นเครือญาติกันและกัน เรียกว่า ชุมชนบ่อพราหมณ์

ความเป็นมาบ้านบ่อมอญ มีเรื่องเล่าว่าชาวมอญได้มาอาศัยอยู่บริเวณนี้ จากประวัติศาสตร์บอกเล่าโดยชาวบ้านที่มีอายุ 80 ปี เล่าว่า เคยเห็นหม้อไหจำนวนมากอยู่ริมตลิ่งบริเวณริมคลองปัจจุบันเป็นถนนสายหาดเจ้า ซึ่งผู้ใหญ่สมัยนั้นบอกว่าเป็นของคนมอญ ภายในหมู่บ้านมีบ่อน้ำกินน้ำใช้ในชุมชนเรียกว่าบ่อมอญ ซึ่งบ้านบ่อมอญเป็นชื่อที่ตั้งขึ้นเมื่อมีการจัดหมู่บ้านและพัฒนาในสมัยหลัง เดิมบริเวณบ้านบ่อบอญมีหมู่บ้านย่อยอยู่ทั้งหมด 4 กลุ่ม คือบ้านบ่อมอญ บ้านไร่เจ๊กปา บ้านโรงเหล็ก และบ้านไร่บ่อหอย อดีตบ้านแต่ละกลุ่มเหล่านี้มีเพียง 2-3 หลังคาเรือน กระจายอยู่ในบริเวณบ้านบ่อบอญและมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีในปัจจุบัน

ชุมชนบ้านบ่อมอญ เป็นชุมชนชาวนาที่นิยมปลูกบ้านทรงไทยอยู่รวมกลุ่มกัน บริเวณบ้านมีกะล่อนข้าวหรือยุ้งข้าวทางทิศตะวันออกและทิศใต้ของหมู่บ้าน อย่างไรก็ดีปัจจุบันอาชีพการทำนาลดลงเพราะลูกหลานได้รับการศึกษาสูงขึ้น และประกอบอาชีพรับราชการเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้คนในหมู่บ้านยังเป็นพี่น้องและเป็นเครือญาติเดียวกันกับบ้านบ่อพราหมณ์ บ้านเพรียง และบ้านใหม่ 

หมู่บ้านบ่อมอญ-บ่อพราหมณ์ หมู่ที่ 8 เป็นหนึ่งใน 9 หมู่บ้าน ที่สังกัดการปกครององค์การบริหารส่วนตำบลนาวุ้ง มีพื้นที่ทั้งสิ้น 1,500 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นา ขนาดพื้นที่ของหมู่บ้านมีพื้นที่มากกว่าหมู่บ้านอื่น ๆ ในตำบลเดียวกัน

หมู่บ้านสามารถเข้าถึงได้หลากเส้นทาง แต่เส้นทางที่สามารเข้าถึงง่ายที่สุดคือเส้นถนนสายเพชรบุรี-หาดเจ้าสำราญ เดินทางจากตัวเมืองเพชรบุรี 4 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเลียบถนนคลองชลประทานราว 3 กิโลเมตร จึงถึงบ้านพราหมณ์ บ้านคลองมอญใช้ถนนเส้นเดียวกันแต่ไม่ต้องเลี้ยวขวาถนนเลียบคลอง ผ่านมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี จึงถึงบ้านมอญ  โดยที่ตั้งหมู่บ้านติดกับพื้นการปกครองข้างเคียงดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดกับ หมู่ที่ 3 บ้านสนามนา ตำบลนาวุ้ง
  • ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลสำมะโรง แภอเมือง
  • ทิศใต้ ติดกับ ตำบลโพไร่หวาน อำเภอเมือง
  • ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลโพไร่หวาน อำเภอเมือง

ข้อมูลสถิติประชากร การทะเบียนราษฎร สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง เดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 จำแนกข้อมูลจำนวนประชากร หมู่ที่ 8 บ้านบ่อมอญ - บ่อพราหมณ์ ตำบลนาวุ้ง อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี ดังนี้

  • ประชากรเพศชาย 229 คน
  • ประชากรเพศหญิง 293 คน
  • รวมทั้งสิ้น 522 คน
  • จำนวนบ้านทั้งสิ้น 775 หลัง

อย่างไรก็ดี จากการศึกษาลักษณะทางประชากรของสมาชิกบ้านบ่อมอญ-บ่อพราหมณ์ ในงานศึกษาพิธีกรรมงานปีผีมด โดยวิฑูรย์ คุ้มหอม (2551) พบว่า กลุ่มคนดั้งเดิมที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้เป็นกลุ่มชาติพันธุ์มอญ แต่ปัจจุบันไม่มีครอบครัวมอญในชุมชน เหลือเพียงเรื่องเล่าความเป็นมาของชุมชนที่เกี่ยวข้องกับชาวมอญที่เข้ามาทำการค้าเครื่องปั้นดินเผาในอดีต หรือในด้านหนึ่งกลุ่มมอญมีการกลืนกลายกับคนพื้นถิ่น นอกจากกลุ่มมอญในชุมชนยังประกอบด้วยกลุ่มเขมรที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ กลุ่มที่ตั้งถิ่นฐานเดิมในชุมชนจึงไม่ใช่คนไทยพื้นถิ่นเพชรบุรี ในชุมชนกลุ่มที่ทำพิธีกรรมงานปีผีผีมดคือคนที่มีเชื้อสายเขมร

การแต่งงานข้ามไขว้ระหว่างคนในชุมชนกับคนนอกชุมชนปัจจุบันนี้ เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นปกติของชุมชน อาทิ การแต่งงานกับคนไทยเชื้อสายจีน ทำให้มีการย้ายถิ่นเข้ามาตั้งถิ่นฐานในชุมชน พร้อมกับแบบแผนวัฒนธรรมไทยจีนในชุมชน นอกจากนี้ การแต่งงานระหว่างสมาชิกในชุมชนกับกลุ่มชาติพันธุ์ไทยทรงดำชุมชนใกล้เคียง ก็ทำให้สมาชิกของชุมชนต้องเรียนรู้และปรับเข้ากับพิธีกรรมของทั้งสองฝ่าย

กลุ่มอาชีพที่จัดตั้งและมีการดำเนินกิจกรรมในหมู่บ้านบ่อมอญ-บ่อพราหมณ์ ทั้งกลุ่มที่มีลักษณะเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ประกอบด้วยกลุ่มที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของสมาชิกในชุมชน กลุ่มที่เกิดจากนโยบายการพัฒนาท้องถิ่นของภาครัฐ กลุ่มที่มีการดำเนินกิจกรรมร่วมกันกับชุมชนข้างเคียง ซึ่งความสัมพันธ์ของสมาชิกกลุ่มค่อนข้างมีความสัมพันธ์ในแบบเครือญาติ เพราะสมาชิกกลุ่มเป็นคนในหมู่บ้านเดียวกันรวมถึงละะแวกใกล้เคียง วิฑูรย์ คุ้มหอม (2551) รวบรวมข้อมูลกลุ่มต่าง ๆ ในหมู่บ้าน ดังนี้

  • กลุ่มชาวนา
  • กลุ่มเลี้ยงสัตว์
  • กลุ่มนาหญ้า
  • กลุ่มแม่บ้าน
  • กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขขั้นมูลฐาน
  • กลุ่มฌาปนกิจ
  • กลุ่มสัจจะออมทรัพย์
  • กลุ่มผู้ประกอบพิธีงานผีมด

วิถีชีวิตของชุมชนในรอบปีของชุมชน เกิดจากการผสานความเชื่อที่หลากหลายของชุมชน ก่อเกิดเป็นแบบแผนการดำเนินชีวิต สะท้อนผ่านประเพณี พิธีกรรมที่สมาชิกในชุมชนร่วมแรงร่วมใจกันสืบสานกระทั่งปัจจุบัน วิฑูรย์ คุ้มหอม (2551) พบว่า งานประเพณีพิธีกรรมของชุมชนเป็นการผสมผสานกันของความเชื่อเรื่องผี ศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ เกิดเป็นวิถีชุมชนในรอบปี ประกอบด้วย

  • ทำบุญขึ้นปีใหม่ ชุมชนร่วมกันจัดที่ศาลาบ้านบ่อมอญ มีกิจกรรมทางศาสนา การทำบุญเลี้ยงพระ ในวันที่ 31 ธันวาคม และงานรื่นเริงฉลองวันส่งท้ายปีเก่าขึ้นปีใหม่ของสมาชิกในชุมชน เช้าวันที่ 1 มกราคม สมาชิกชุมชนไปรวมกันที่วัดเพื่อ ร่วมทำบุญตักบาตรวันขึ้นปีใหม่ร่วมกัน
  • ทำบุญกลางบ้าน เดือน 4 ทุกปี ชุมชนร่วมกันทำบุญกลางบ้านที่ศาลคุณพ่อทองก้อน บ้านบ่อพราหมณ์ ในพิธีก่อนพระฉันภัตตราหารเช้า มีการทำพิธีส่งวัวส่งเกียน นำความเจ็บป่วย ไข้ เคราะห์ร้ายและสิ่งไม่ดี ออกจากคนในครอบครัวรวมถึงสัตว์เลี้ยง ในพิธีชาวบ้านปั้นตุ๊กตาผู้ชาย ผู้หญิง เด็ก วัว เพื่อเป็นหุ่นแทนตน แต่ตุ๊กตาต้องปั้นให้มีลักษณะอย่างชัดเจนแสดงว่าเป็นผู้ชาย ผู้หญิง สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ตา หู จมูก ปาก รูสะดือ รูทวารหนัก จำนวนตุ๊กตาเท่ากับจำนวนสมาชิกในครอบครัวทั้งตุ๊กตารูปคนและตุ๊กตารูปวัว แต่ปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนจำนวนตุ๊กตารูปวัว ปั้น 1 หรือ 2 ตัวได้ เพราะบางครอบครัวมีวัวหลายตัว ตุ๊กตาที่ปั้นเสร็จแล้ว นำผ้าห่อแทนเสื้อผ้า จากนั้นใส่ตุ๊กตาในจั่นมะพร้าวแห้งที่มีลักษณะคล้ายเรือ และใส่ปล้องไม้ไผ่เพื่อแทนเกียน(เกวียน) แล้วใส่ข้าวสาร กะปิ เกลือ กระเทียม หัวหอม พริกแห้ง จากนั้นระหว่างพระฉันอาหาร ชาวบ้านจะตั้งขบวนเพื่อนำตุ๊กตาไปส่งให้พ้นเขตหมู่บ้าน โดยระหว่างทางมีการโห่ร้องตลอดทาง เมื่อถึงทางแยกวางเรือ วางเกียน กรวดน้ำให้กับคุณพ่อองค์ต่าง ๆ ทหารของคุณพ่อและเจ้ากรรมนายเวร คุณพ่อในที่นี้คือคุณพ่อประจำศาล ประกอบด้วย ศาลกลางบ้านคุณพ่อทองก้อน ศาลเจ้าต้นโพธิ์บ้านเพรียง และศาลคุณพ่อสัมฤทธิ์บ้านบ่อมอญ
  • บุญสงกรานต์ เดือน 5 วันสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน ชาวบ้านจะนัดมาที่ศาลาศาลวันใดวันหนึ่งใน 3 วันเพื่อมาทำความสะอาดศาลในช่วงเช้าตรู่ ช่วงสายชาวบ้านมาทำบุญถวายอาหารที่วัดและนำมาที่ศาลคุณพ่อทองก้อน รวมถึงศาลคุณพ่อองค์อื่น ๆ หากบางศาลไม่มีใครมาทำบุญชาวบ้านจะนำอาหารไปถวายแทน วันสุดท้ายชาวบ้านมีการก่อพระเจดีย์ทรายช่วงเย็น โดยวัดซื้อทรายมาเตรียมให้ชาวบ้านและชาวบ้านร่วมทำบุญโดยติดเงินพุ่มผ้าป่าของวัด
  • เข้าพรรษา ชาวบ้านมีการจัดซื้อเทียนเพื่อถวายวัดตามประเพณี ทว่าก่อนวันเข้าพรรษาชุมชนมีการฉลองเทียนพรรษาที่ศาลาหมู่บ้าน สมาชิกชุมชนส่วนใหญ่ร่วมทำบุญวันเข้าพรรษาที่วัด เพราะเป็นวันพระใหญ่และเป็นวันสำคัญทางศาสนา และตลอด 3 เดือน วัดจัดให้มีการทำบุญที่วัดทุกวัน
  • บุญสารท เดือน 10 วันสารทไทย ชาวบ้านไปทำบุญที่วัดเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษ ขนมช่วงวันสารทคือ ขนมกระยาสารท เป็นประเพณีที่ชุมชนปฏิบัติสืบต่อกันมาโดยตลอด
  • ออกพรรษา ชุมชนร่วมกันทำบุญตักบาตรเทโว เป็นประเพณีที่ชุมชนสืบต่อจากรุ่นสู่ร่น
  • งานเทศน์คาถาพัน งานเทศน์คาถาพัน หรือ งานเทศน์มหาชาติ งานบุญของชุมชนจัดทุก ๆ 2 ปี การเทศน์เริ่มตั้งแต่เช้าถึงค่ำ ซึ่งชาวบ้านจะบอกพี่น้อง ลูกหลานของตนที่ทำงานจังหวัดใกล้เคียงให้มาร่วมงานเทศน์มหาชาติเพื่อเป็นสิริมงคล

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

งานปีผีมด

งานปีผีมด เป็นพิธีกรรมที่ปฏิบัติสืบกันมาหลายชั่วคน จากตำนานปรัมปรากล่าวถึงพิธีกรรมนี้มีอย่างน้อย 3 ตำนาน ที่พอจะสรุปให้เห็นประวัติความเป็นได้ ตำนานแรก สมัยเมื่อเกิดสงครามกับพม่า ผู้คนหลบหนีเข้าไปอยู่ในป่าดอนขังใหญ่ (ที่ดอนใหญ่กลางชุมชนบ้านบ่อพราหมณ์ บ้านบ่อมอญ บ้านเพรียง บ้านใหม่) ได้บนบานกับผีเรือนและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่าหากปลอดภัยจากทหารพม่าจะประกอบพิธีเซ่นไหว้ด้วยอาหารคาวหวาน เมื่อเสร็จสงครามชาวบ้านมีความปลอดภัย จึงจัดพิธีงานปีผีมดเพื่อแก้บนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์และสืบทอดกันต่อมาจนปัจจุบัน ตำนานที่สอง นายมณี ม่วงทอง หัวหน้านายนิมนต์บ้านห้วยทบเล่าว่าบรรพบุรุษเคยเล่าว่าพิธีงานปีผีมดเป็นของที่มาจากเขมรโดยต้องทำพิธีเซ่นไหว้บูชาให้ถูกต้องตามที่บรรพบุรุษปฏิบัติต่อกันมา ตำนานที่สาม ทรงทุม แผ่แผ่นทอง ร่างทรงชาวบ้านเพรียงเล่าว่า งานปีผีมดเป็นพิธีกรรมที่มาจากมอญ โดยจากตำนานนี้เห็นได้จากการไหว้ครูของร่างทรงเก่าแก่จะไหว้พระภควัมปติ ซึ่งสอดคล้องกับหนังสือราชาธิราชที่ดัดแปลงมาจากพงศาวดารมอญก็ตั้งต้นด้วยการไหว้พระภควัมปติเช่นเดียวกัน

โดยสรุปจากตำนานที่กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของพิธีกรรมงานปีผีมดเป็นพิธีกรรมที่สะท้อนถึงการผสมผสานวิถีวัฒนธรรม ที่หลากหลายของคนเพชรบุรีที่มีลักษณะเดียวกับการผสมผสานของคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิ่งที่เห็นได้จากประวัติความเป็นมาคือการเคารพในอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในยามที่ชีวิตพบกับวิกฤติที่ยากจะแก้ไขได้ด้วยตนเอง เป็นสิ่งที่ยากเกิดความสามารถที่บุคคลจะจัดการเรื่องนั้น ๆ ให้สำเร็จลงได้ทางออกคือการขอการคุ้มครองจากอำนาจเหนือธรรมชาติอันทำให้สภาพจิตใจมีความเข้มแข็งขึ้น และร่วมกันเผชิญวิกฤตด้วยกระบวนการทางสังคม ซึ่งงานปีผีมดเป็นพิธีกรรมที่คนในครอบครัวและกลุ่มเครือญาติต้องมาช่วยกันจึงจะประสบความสำเร็จได้

งานปีผีมด เป็นประเพณีพื้นบ้านของชาวเมืองเพชร เพื่อเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษ ผีบ้านผีเรือนและพระภูมิเจ้าที่ ซึ่งเป็นความเชื่อที่สืบเนื่องมาจากความเชื่อในเรื่องผีบรรพบุรุษ โดยเชื่อกันว่าถ้าผู้ใดประกอบพิธีแล้ว จะทำให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น ครอบครัวจะอยู่เย็นเป็นสุข ไม่เจ็บป่วย มีความเจริญก้าวหน้า ทำมาค้าขึ้น แต่ถ้าไม่ทำจะส่งผลให้คนในครอบครัวเจ็บป่วย หรือทำมาหากินไม่ขึ้น องค์ประกอบของพิธี ประกอบด้วย กลุ่มผู้ประกอบพิธี กลุ่มเจ้าภาพ เครื่องดนตรี บทร้องเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เครื่องสังเวย สถานที่ประกอบพิธี และอุปกรณ์เครื่องเล่นจากไม้ไผ่

งานปีผีมดสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติแสดงให้เห็นการเกื้อกูลอาศัยกัน คนต้องพึ่งพาธรรมชาติสิ่งแวดล้อม หากมีภัยธรรมชาติคนก็เดือดร้อน ซึ่งวิธีคิดที่อยู่ในงานปีผีมดคือการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติและไม่ทำลายธรรมชาติอย่างรุนแรงอันจะก่อให้เกิดภัยพิบัติกับชุมชน เช่น ไม่ถมคลอง ไม่ถมสระ หลีกเลี่ยงการตัดต้นไม้ใหญ่ ซึ่งความสัมพันธ์แบบการรับและให้โดยการปล่อยปูคืนสู่ธรรมชาติเพื่อปล่อยทุกข์โศกในชีวิตมนุษย์เป็นรูปธรรมที่จะเห็นได้ในพิธีขั้นตอนหนึ่งในงานปีผีมด และความสัมพันธ์ระหว่างคนกับอำนาจเหนือธรรมชาติ ซึ่งคุณพ่อระดับเมือง ระดับชุมชน และผีเรือน เป็นความสัมพันธ์ที่สอดประสานกัน ซึ่งคนจะต้องจัดความสัมพันธ์นั้นผ่านพิธีกรรมที่ทำให้โลกทัศน์ที่เชื่อถือเป็นการปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวันที่จับต้องได้

ชุมชนใช้ภาษาไทยมาตรฐานในการสื่อสารด้วยการเขียน ส่วนภาษาพูดมักใช้ภาษาไทย สำเนียงเพชรบุรี

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

วิฑูรย์ คุ้มหอม (2551). พิธีกรรมงานปีผีมด : ภาพสะท้อนความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับการสร้างความร่วมมือของชุมชนบ้านบ่อพราหมณ์-บ่อมอญ ต.นาวุ้ง อ.เมือง จ.เพชรบุรี. มานุษยวิทยา. มหาวิทยาลัยศิลปากร. https://sure.su.ac.th/123456789/1690/1

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. (2567). "แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี และเทศกาล : งานปีผีมด". จาก http://ich.culture.go.th/

สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง. (2567). ข้อมูลประชากร. จาก https://stat.bora.dopa.go.th/stat/

อบต.นาวุ้ง โทร. 0-3240-0610