Advance search

หมู่บ้านท่ากกแก เป็นหมู่บ้านที่สมาชิกในหมู่บ้านยังคงร่วมกันสืบสานการจัดงานประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง อย่างไรก็ดีท่ามกลางความเเปลี่ยนแปลงทั้งจากภายในและภายนอกชุมชน สมาชิกในชุมชนมีการปรับปรนประเพณีเพื่อให้สามารถดำรงอยู่ได้ อาทิ การใช้เทคโนโลยีหลากหลายมาช่วยในการส่งเสริมให้เกิดการส่งทอดไปยังเยาวชนรุ่นใหม่ในชุมชน รวมถึงการเล่าเรื่องชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่นผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ในประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง

บ้านกกแก หมู่ที่ 4
ตาลเดี่ยว
หล่มสัก
เพชรบูรณ์
ทต.ตาลเดี่ยว โทร 0-5670-4696-7, 0-5674-6167
ธำรงค์ บริเวธานันท์
23 เม.ย. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
ธำรงค์ บริเวธานันท์
23 เม.ย. 2024
บ้านท่ากกแก

วัด และ ชุมชนบ้านท่ากกแก เดิมเรียกว่า “บ้านท่าขัวแก” สันนิษฐานว่า เริ่มก่อตั้งเป็นชุมชนเมื่อราว ปี พ.ศ.2323 สมัยกรุงธนบุรี พร้อม ๆ กับการก่อตั้ง หมู่บ้านท่ากกโพธิ์ และ วัดโพธิ์ศรีสองคร (บ้านโพธิ์ศรีท่าสองคอน) ประชาชนส่วนมากคือ ชาวบ้านท่ากกโพธิ์ที่ขยับขยายที่ดินทำกินเพื่อการทำนาและปลูกอ้อย เล่าต่อกันมาว่าบริเวณโรงเรียนบ้านท่ากกแกและใกล้เคียง เป็นป่าช้าเก่าตั้งแต่สมัยใดไม่มีใครทราบ เพราะตั้งแต่มีหมู่บ้านมาไม่เคยมีการฝังหรือเผาศพในบริเวณนั้น แต่มีการขุดพบซากกระดูก หม้อไห มีดพร้าและเครื่องราง ซึ่งยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นของมนุษย์ในยุคสมัยใด

สาเหตุที่เรียกว่า “บ้านท่าขัวแก” เนื่องจากการสัญจรไปมาทางเรือมีจุดสังเกตคือ ต้นสะแกใหญ่ ซึ่งเป็นจุดแวะจอดเรือ ต่อมาต้นสะแกใหญ่ล้มขวางลำน้ำทำให้ชาวบ้านใช้ข้ามไปมาหากันทั้งสองฝั่งจึงเรียกกันว่า “ขัวแก” (ขัว หมายถึง สะพาน) ต่อมาทางการเปลี่ยนชื่อเป็น "บ้านท่ากกแก" เพื่อให้คล้องกันกับชื่อ "บ้านท่ากกโพธิ์" 


ชุมชนชนบท

หมู่บ้านท่ากกแก เป็นหมู่บ้านที่สมาชิกในหมู่บ้านยังคงร่วมกันสืบสานการจัดงานประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง อย่างไรก็ดีท่ามกลางความเเปลี่ยนแปลงทั้งจากภายในและภายนอกชุมชน สมาชิกในชุมชนมีการปรับปรนประเพณีเพื่อให้สามารถดำรงอยู่ได้ อาทิ การใช้เทคโนโลยีหลากหลายมาช่วยในการส่งเสริมให้เกิดการส่งทอดไปยังเยาวชนรุ่นใหม่ในชุมชน รวมถึงการเล่าเรื่องชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่นผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ในประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง

บ้านกกแก หมู่ที่ 4
ตาลเดี่ยว
หล่มสัก
เพชรบูรณ์
67110
16.76597847
101.2534547
เทศบาลตำบลตาลเดี่ยว

การศึกษาความเป็นมาของบ้านท่ากกแก โดย นิภา พิลาเกิด (2559) พบว่า ความเป็นมาของบ้านท่ากกแก มีความเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์การสู้รบเพื่อการแย่งชิงดินแดนและการกวาดต้อนผู้คนจากเมืองฝ่ายปราชัยกลับมายังเมืองผู้ได้รับชัยชนะ เอกสาร บันทึกว่า

ปี พ.ศ. 2250 ข้อพิพาทและการสงครามระหว่างเมืองเวียงจันทร์กับเมืองหลวงพระบาง เป็นเหตุให้เกิดผู้คนของทั้ง 2 ฝ่าย อพยพมายังดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบัน ประกอบด้วย เมืองน้ำปาด (อุตรดิตถ์) เมืองเลย เมืองด่านซ้าย เมืองหล่ม

ปี พ.ศ. 2321 สมเด็จพระเจ้าตากสิน ยกทัพเพื่อไปตีเมืองจำปาศักดิ์ เมืองเวียงจันทร์ และเมืองหลวงพระบาง จนได้รับชัยชนะ จึงนำราษฎรชาวเมืองเวียงจันทร์ เมืองหลวงพระบาง มาไว้ที่เมืองลพบุรี สระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี นครปฐม ราชบุรี น้ำปาด นครไทย และเมืองหล่ม ดังกล่าวจึงเป็นการเพิ่มจำนวนประชากรชาวลาวยังเมืองต่าง ๆ

เหตุการณ์ข้างต้นนำไปสู่การเพิ่มจำนวนประชากร ดังนั้นพระยาสุริยวงษามหาภักดีเดชชนะสงคราม เจ้าเมืองหล่ม จึงดำริย้ายเมืองหล่มเดิม ไปสร้างยังสถานที่ใหม่ คือ บริเวณบ้านท่ากกโพธิ์ ฝั่งตะวันออกแม่น้ำป่าสัก ราวปี พ.ศ. 2325 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งเหมาะสำหรับการขยายเมืองและใช้แม่น้ำป่าสัก ในการขนส่งสินค้ากับเมืองต่าง ๆ

รัชสมัยของรัชกาลที่ 3 เจ้าอนุวงศ์กราบทูลต่อรัชกาลที่ 3 ขอชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนมาตั้งแต่สมัยธนบุรีกลับไปยังเวียงจันทร์ แต่รัชกาลที่ 3 ทรงไม่โปรดพระราชทาน เจ้าอนุวงศ์จึงกลับเมืองเวียงจันทร์ เพื่อรวบรวมกำลังยกทัพมาตีกรุงเทพฯ สุดท้ายผลของสงครามครั้งนี้ฝ่ายเจ้าอนุวงศ์เป็นฝ่ายปราชัย แต่สงครามได้ส่งผลต่อชาวลาวที่อาศัย ในเมืองหล่ม เพราะหลังสงครามเจ้าอนุวงศ์นำคนลาวเมืองหล่มกลับนครเวียงจันทร์ด้วย แต่บางส่วนกระสานซ่านเซ็นหนีเข้าป่า เมืองหล่มในช่วงนี้จึงร้างผู้คน

พ.ศ. 2372 ทางการส่งขุนนางและข้าหลวงเมืองต่าง ๆ มาเกลี้ยกล่อมให้ชาวบ้านที่หนีเข้าป่าครั้งสงครามกลับมาตั้งถิ่นฐานทำมาหากินดังเดิม ซึ่งชาวบ้านยินยอมกลับมาทำกินสืบต่อมา ณ วันนี้

ปี พ.ศ. 2503 มีการบริจาคที่ดินเพื่อขุดสระน้ำและสร้างอาคารโรงเรียนบ้านท่ากกแก ระหว่างการขุดมีการค้นพบเครื่องภาชนะดินเผา เครื่องราง โครงกระดูกโบราณ จึงสันนิษฐานว่าบริเวณหมู่บ้านท่ากกแก น่าจะมีการตั้งเป็นชุมชนหรือหมู่บ้านมาก่อนหน้านี้แล้ว

อย่างไรก็ดี เดิมหมู่บ้านนี้มีชื่อว่า “บ้านขัวแก” ตั้งอยู่ด้านเหนือของ “วัดขัวแก” (วัดท่ากกแก) ถัดไปเป็นคุ้งแม่น้ำป่าสัก จึงมีการสัญจรทางน้ำและใช้ต้นไม้ใหญ่ริมน้ำเป็นหมุดหมายสัญลักษณ์สถานที่ต่าง ๆ ริมน้ำ ริมแม่น้ำมีต้นสะแกใหญ่ ต่อมาล้มขวางพาดแม่น้ำ ชาวบ้านสองฝั่งจึงใช้เป็นสะพานข้ามไปมาระหว่างสองฝั่ง จึงเป็นที่มาของชื่อ “บ้านขัวแก” เพราะ “ขัว” หมายถึง “สะพาน” ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น “บ้านท่ากกแก” หมู่ที่ 4 และ 8 ตำบลตาลเดี่ยว อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์

บ้านท่ากกแก เป็นส่วนหนึ่งของการแบ่งเขตการปกครองในอำเภอหล่มสัก สังกัดเทศบาลตำบลตาลเดี่ยว โดยมากมักเรียกว่า ชาวไทหล่ม เนื่องจากชื่อ “หล่มสัก”เพี้ยนมาจาก “ลุ่มสัก” หมายถึง “ลุ่มน้ำป่าสัก” ซึ่งชาวอำเภอหล่มสักจำนวนมากสืบมาจากบรรพบุรุษที่อพยพมาจากเมืองหลวงพระบางและเมืองเวียงจันทร์ เมื่อมาตั้งถิ่นฐานบริเวณนี้ จึงเรียกว่า “ชาวไทหล่ม” ซึ่งบ้านท่ากกแก มีระยะทางห่างจากอำเภอราว 1 กิโลเมตร ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม มีอาณาเขตติดต่อดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดกับ บ้านอ้อย
  • ทิศตะวันออก ติดกับ คลองชลประทาน
  • ทิศใต้ ติดกับ บ้านท่าโก
  • ทิศตะวันตก ติดกับ แม่น้ำป่าสัก

ข้อมูลสถิติจำนวนประชากร สำรวจโดย สำนักบริหารงานทะเบียน กระทรวงมหาดไทย พบว่า จำนวนประชากรบ้านท่ากกแก หมู่ที่ 8 เดือนเมษายน 2567 จำแนกดังนี้

  • จำนวนบ้าน 178 หลัง
  • จำนวนประชากรเพศชาย 238 คน 
  • จำนวนประชากรเพศหญิง 257 คน
  • จำนวนประชากรทั้งสิ้น 495 คน
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

วิถีชีวิตของชุมชนท่ากกแกในรอบปีมีความสัมพันธ์กับประเพณีท้องถิ่น ฮีตสิบสอง ที่สืบทอดเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชุมชนในภาคอีสาน นิภา พิลาเกิด (2559) พบว่าในรอบปีวิถีชีวิตของชุมชน ประกอบด้วย งานบุญเข้ากรรมงานบุญคูนลาน บุญข้าวจี่ งานบุญพระเวส งานบุญสรงน้ำ หรืองานเทศกาลสงกรานต์ งานบุญบั้งไฟ งานบุญซำฮะ งานบุญเข้าพรรษา งานบุญข้าวประดับดิน งานบุญข้าวสาก งานบุญออกพรรษา งานบุญกฐิน ดังตารางต่อไปนี้

เดือนประเพณีพิธีกรรม/กิจกรรม

เดือนอ้าย

ธันวาคม

งานบุญเข้ากรรมงานบุญเข้ากรรม พระสงฆ์เข้าปริวาสกรรม

เดือนยี่

มกราคม

งานบุญคูนลานขนข้าวใส่ยุ้ง ทำบุญที่วัดฟังพระสงฆ์เทศน์เรื่องแม่โพสพ

เดือนสาม

กุมภาพันธ์

บุญข้าวจี่พิธีเลี้ยงลาตาแฮก (พระภูมินา) หลังจากขนข้าวขึ้นยุ้งทำพิธีงานเอิ้นขวัญข้าวหรือกู่ขวัญข้าว เพ็ญเดือนสามทำบุญข้าวจี่ 

เดือนสี่

มีนาคม

งานบุญพระเวสงานบุญพระเวส แห่พระอุปคุตและแห่พระเวสเข้าเมือง ช่วงเย็นฟังเทศน์มหาชาติ รื่องพระเวสสันดรชาดก

เดือนห้า

เมษายน

งานบุญสรงน้ำ หรืองานเทศกาลสงกรานต์ทำบุญถวายภัตราหารคาวหวาน หรือถวายจังหัน เช้า-เย็น ตลอดเทศกาล ช่วงบ่ายสรงน้ำพระ รดน้ำผู้ใหญ่ ก่อเจดีย์ทราย

เดือนหก

พฤษภาคม

งานบุญบั้งไฟงานบุญบั้งไฟ (ไม่มีการจุดบั้งไฟ) ทำบุญเนื่องในวันวิสาขบูชา ทำบุญฟังเทศน์ และเวียนเทียน

เดือนเจ็ด

มิถุนายน

งานบุญซำอะทำบุญเลี้ยงพระกลางหมู่บ้าน

เดือนแปด

กรกฎาคม

งานบุญเข้าพรรษางานบุญเข้าพรรษา ทำบุญถวายภัตราหาร เครื่องไทยทานและผ้าอาบน้ำฝน

เดือนเก้า

สิงหาคม

งานบุญข้าวประดับดินงานบุญข้าวประดับดิน เช้ามืดชาวบ้านจัดอาหารคาว-หวาน หมากพลู บุหรี่ใส่กระทงเล็ก ๆ นำไปวางงบริเวณลานบ้าน ใต้ต้นไม้ ข้างพระอุโบสถ ช่วงสยทำบุญฟังเทศน์

เดือนสิบ

กันยายน

งานบุญข้าวสากชาบ้านนำสำรับอาหารคาว-หวาน และข้าวสาก (กระยาสารท) ไปทำบุญที่วัด พร้อมผ้าอาบน้ำฝนและเครื่องไทยทาน ก่อนถวายพระสงฆ์ทำสลากติด พระสงฆ์องค์ใดจับสลากได้สำรับใด รับถวายจากเจ้าของสำรับ ช่วงบ่ายฟังเทศน์

เดือนสิบเอ็ด

พฤศจิกายน

งานบุญออกพรรษาทำบุญตักบาตรเทโว ไหลเรือไฟ ลอยกระทง จุดประทีปตีนกาบูชาแม่กาเผือก

เดือนสิบสอง

ธันวาคม

งานบุญกฐินแห่ปราสาทผึ้ง ทอดกฐิน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

แห่ปราสาทผึ้งบ้านท่ากกแก

ประเพณีแห่ปราสาทผึ้งของชุมชนบ้านท่ากกแก เป็นทุนทางวัฒนธรรมของชุมชนที่ยึดโยงให้สมาชิกในชุมชนมีความผูกพันกับท้องถิ่น ซึ่งเป็นประเพณีที่เกิดจากความศรัทธาต่อพุทธศาสนา รวมถึงการนำความเชื่อเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติเข้ามาผสานกับความเชื่อในพุทธศาสนา นิภา พิลาเกิด (2559) ศึกษาประเพณีแห่ปราสาทผึ้งชุมชนบ้านท่ากกแกพบว่า ชุมชนมีความเชื่อว่าการทำบุญด้วยปราสาทผึ้งเป็นบุญกุศลสูงส่ง มีอานิสงส์ 2 ประการ คือ 1) การอุทิศอานิสงส์ผลบุญให้แก่ผู้เสียชีวิต 2) การถวายปราสาทผึ้งเป็นพุทธบูชาต่อองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งจะนำไปสู่ภพภูมิที่ดีในชาติหน้า

ประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง จัดวันออกพรรษา คือ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เป็นการจัดงานวันเดียว ชาวบ้านที่ต้องการเป็นเจ้าภาพจะแจ้งความจำนงต่อพระสงฆ์ และปรึกษาต่อผู้นำชุมชนเพื่อจัดต้นผึ้งถวายวัด ซึ่งในการเตรียมงานชุมชนละแวกใกล้เคียงจะมาร่วมกันจัดเตรียมงาน โดยแบ่งหน้าที่รับผิดชอบประกอบด้วย 1) กลุ่มรับผิดชอบทำต้นปราสาทผึ้ง เป็นการทำโครงและขึ้นโครงปราสาทผึ้ง 2) กลุ่มรับผิดชอบการทำดอกผึ้งและตกแต่งปราสาทผึ้ง นอกจากนี้ยังมีการจัดทำเครื่องบูชา ประกอบด้วย

  • ไต้สังคทีป หรือ ไต้ฝางประทีป ซึ่ง ฝาง หมายถึง ภาชนะดินเผาคล้ายถ้วยเล็ก ๆ ใส่ขี้ผึ้งหรือน้ำมัน และไส้ทำด้วยเส้นฝ้ายฟั่นเป็นรูปตีนกา จุดบูชาวันออกพรรษา
  • หมากเบ็ง เครื่องเส้นในพิธียกครู หรือ ไหว้ครู ประกอบด้วย ดอกไม้ หมากพลู ซึ่ง เบ็ง มาจากคำภาษาบาลี เบญ หรือ เบญจ แปลว่า ห้า หมายถึงขันธ์ห้า ลักษณะหมากเบ็ง ที่ใช้ในประเพณีเป็นรูปทรงกรวยทำด้วยใบตอง ประดับด้วยดอกไม้สีขาว อาทิ ดอกบานไม่รู้โรย ดอกรัก แต่ไม่ใช้ดอกจำปาขาว และดอกไม้สีแดง หมากเบ็งในพิธีหมายถึงการบูชาพระพุทธเจ้า และบูชาบรรพบุรุษที่ล่วงลับ

เมื่อจัดเตรียมสิ่งของต่าง ๆ และถึงวันงาน มีขั้นตอน คือ

  • ช่วงเช้าวันงาน ชาวบ้านมารวมกันที่บ้านเจ้าภาพ เพื่อตกแต่งและตระเตรียมความพร้อมให้เสร็จก่อน 16.00 น. จากนั้นแห่ปราสาทไปทางทิศใต้ท่าน้ำท้ายหมู่บ้าน (แม่น้ำป่าสัก)
  • การแต่งกายในพิธี ชุดพื้นบ้านไทหล่ม ผู้หญิงใส่เสื้อหมากกะแหล่ง (เสือคอกระเช้า) หรือเสื้อผ้าฝ้ายแขนสั้น สไบพาดเฉวียงบ่า นุ่งซิ่นหัวแดงตีนก่าน ผู้ชายใส่ผ้าย้อมสีดำหรือสีคราม นุ่งโสร่ง คาดผ้าขาวม้า

ขบวนแห่ปราสาทผึ้ง

เริ่มจากด้านใต้แม่น้ำป่าสัก พายเรือแห่ปราสาทพร้อมด้วยขบวนกลองเพื่อความรื่นเริง แห่ไปตามลำน้ำ เมื่อถึงวัดแห่ปราสาทรอบสิม 3 รอบ ระหว่างเดินรอบ สิม ชาวบ้านจุดไต้สังคทีป เมื่อแห่ครบ 3 รอบ นำปราสาทผึ้งไปที่ที่เตรียมไว้

การทอดปราสาทผึ้ง

พระสงฆ์เทศน์อานิสงส์การถวายต้นผึ้ง และพระสงฆ์พูดแสดงความขอบคุณ รวมถึงอานิสงส์ที่เกิดจากการร่วมกันถวาย เรียกว่า สัมโมทนียกถาแห่งการถวายต้นผึ้ง จากนั้นมัคนายกกล่าวคำนำถวายปราสาทผึ้ง ดังนี้ อิมานิ มะยังภัณเต มธุปุพพะปาสาทะ อภิปูชยามะ ข้าพเจ้าขอถวายบูชายังต้นดอกผึ้งแก่พระพุทธเจ้า พระสถูป รูปพระเจดีย์พระศรีมหาโพธิ์ และเทพยดาอันรักษาวัดวาอารามแห่งวัดท่ากกแกนี้ ขอความสุขความเจริญจงบังเกิดมีแก่ฝูงข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายด้วยเทอญ เมื่อกล่าวเสร็จกราบบูชาพระรัตนตรัยและกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ล่วงลับ 

อย่างไรก็ดี การแห่ปราสาทผึ้งมีพลวัตการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด ตามการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคมของชุมชนบ้านท่ากกแก

การใช้ภาษาของชุมชนบ้านกกแก

ด้านภาษาเขียนใช้ภาษาไทยมาตรฐานในการเขียนเพื่อสื่อสาร ทว่าด้านภาษาพูดชุมชนใช้ภาษาพูดสำเนียง "ไทยหล่ม" ซึ่งเดิมชุมชนเกิดจากการอพยพมาตั้งถิ่นฐานของกลุ่มคนจากประเทศลาว จึงทำให้ชุมชนมีวัฒนธรรมลาว แบ่งเป็น 2 ตระกูลคือ ตระกูลลาวหลวงพระบาง และ ตระกูลลาวเวียงจันทร์ อย่างไรก็ดีพื้นที่บริเวณเมืองหล่ม พูดสำเนียงภาษาประกอบด้วย

  • สำเนียงหลวงพระบาง ได้แก่ อำเภอหล่มเก่าบ้านนาซำ บ้านหินกลิ้ง บ้านตาดกลอย อำเภอหล่มสัก ได้แก่ บ้านน้ำก้อ บ้านสักงอย บ้านบุ่งยาง 
  • สำเนียงเวียงจันทร์ อำเภอหล่มเก่า ได้แก่ บ้านนาแซง บ้านพรวน อำเภอหล่มสัก ได้แก่ บ้านนาแซง บ้านติ้ว บ้านน้ำดุก บ้านโสก

บ้านท่ากกแก มีการพูดสำเนียง "ไทยหล่ม" ที่รวมทั้งสองสำเนียงข้างต้นเข้าด้วยกัน เนื่องเพราะมีการอาศัยอยู่ร่วมกันของคนที่มีสำเนียงต่างกันในพื้นที่ จึงเกิดเป็นสำเนียงที่มีความเฉพาะตนแต่คนในชุมชนก็สามารถแยกความต่างของทั้ง 2 สำเนียงได้


การแห่ปราสาทผึ้งมีพลวัตการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด ตามการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคมของชุมชนบ้านท่ากกแก นิภา พิลาเกิด (2559) พบว่า สามารถจำแนกเป็น 3 ช่วง ประกอบด้วย

  • ประเพณีแห่ปราสาทผึ้งช่วงก่อน พ.ศ. 2550 จัดตรงกับวันออกพรรษา และจัดภายในวันเดียว โดยใช้บ้านเจ้าภาพเป็นสถานที่ในการตกแต่งปราสาทผึ้ง
  • ประเพณีแห่ปราสาทผึ้งช่วงฟื้นฟู พ.ศ. 2550 – 2556 เปลี่ยนจากการจัดช่วงออกพรรษาเป็นการจัดพร้อมกับงานทอดกฐิน ระหว่างเดือน 11 ถึง เดือน 12 ของทุกปี สถานที่ตกแต่งปราสาทผึ้งเปลี่ยนเป็นที่วัดกกแก งบประมาณใช้วิธีรับบริจาค รวมถึงการเรี่ยไรภายในหมู่บ้าน มีการเพิ่มการแห่ขบวนทางบก
  • ประเพณีแห่ปราสาทผึ้งกับการมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาครัฐ พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา จัดช่วงออกพรรษาเป็นการจัดพร้อมกับงานทอดกฐิน ระหว่างเดือน 11 ถึง เดือน 12 ของทุกปี โดยมีหน่วยงานภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วม อาทิ เทศบาลตำบลตาลเดี่ยว สภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ โดยการสนับสนุนด้านต่าง ๆ รวมถึงงบประมาณ และมีกิจกรรมเพิ่มขึ้น อาทิ การแสดงการแต่งกายชาวไทหล่ม การจำลองวิถีชีวิตชาวไทหล่ม การแสดงพื้นถิ่นต่าง ๆ 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

นิภา พิลาเกิด (2559). กระบวนการฟื้นฟูแห่ปราสาทผึ้ง บ้านท่ากกแก อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์. การจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม. มหาวิทยาลัยศิลปากร. จาก https://sure.su.ac.th/

วัดท่ากกแก. (2560, 3 มีนาคม). ประวัติวัดและชุมชนบ้านท่ากกแก (ท่าขัวแก). [Facebook status update] จาก https://www.facebook.com/watthakokkea/

ทต.ตาลเดี่ยว โทร 0-5670-4696-7, 0-5674-6167