บ้านวัดตาล เป็นชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” จังหวัดอ่างทอง เป็นชุมชนที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่ครอบคลุมหลากมิติ ทั้งด้านวิถีชีวิตด้านศาสนา การประกอบอาชีพ งานหัตถกรรม (งานปั้น งานไม้ งานเหล็ก)
อดีตชาวบ้านเรียก “วัดท่าสุทธาวาส” ว่า “วัดตาล” เพราะในบริเวณวัดมีต้นตาลจำนวนมาก และขณะเดียวกันวัดก็ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของชุมชน ต่อมาเมื่อมีการแบ่งเขตการปกครอง ผู้ที่อาศัยในละแวกวัดจึงเห็นควรตั้งชื่อหมู่บ้านให้เข้าใจง่าย ดังนั้นบ้านที่ตั้งถิ่นฐาน "ด้านเหนือวัด" ตั้งชื่อว่า "หมู่บ้านวัดตาลเหนือ" ส่วนบ้านที่ตั้งถิ่นฐาน "ด้านใต้วัด" ตั้งชื่อว่า "หมู่บ้านวัดตาลใต้"
บ้านวัดตาล เป็นชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” จังหวัดอ่างทอง เป็นชุมชนที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่ครอบคลุมหลากมิติ ทั้งด้านวิถีชีวิตด้านศาสนา การประกอบอาชีพ งานหัตถกรรม (งานปั้น งานไม้ งานเหล็ก)
หมู่บ้านที่อยู่ภายใต้การปกครองขององค์การบริหารส่วนตำบลบางเสด็จ จำนวน 6 หมู่บ้าน ซึ่งทั้ง 6 หมู่บ้านมีการกระจาย อำนาจและการบริหารจัดการหมู่บ้านแยกจากกัน ทว่าในด้านประวัติศาสตร์ชุมชนแต่ละหมู่บ้านมีความเป็นมาร่วมกันไม่สามารถแยกประวัติศาสตร์ชุมชนของหมู่บ้านออกจากกัน เจตนา พัฒนจันทร์ (2562) ศึกษาประวัติบ้านวัดตาล พบว่า หมู่ที่ 1 บ้านวัดตาลใต้ หมู่ที่ 2 บ้านวัดตาลเหนือและหมู่ที่ 3 บ้านประขาว เดิมเรียกว่า บ้านปะขาว หรือ บ้านชีปะขาว มีชื่อในพงศาวดารและมีตำแหน่งแห่งที่อยู่จริงในประวัติศาสตร์ กล่าวคือ
พงศาวดาร “ชะลอพระพุทธไสยาสน์” บันทึกว่า พ.ศ. 2269 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ เสด็จฯ มาควบคุม “การชะลอองค์พระพุทธไสยยาสน์” ทรงลงจากชะลอด้วยพระองค์เอง ร่วมกับพระภิกษุและชาวบ้าน และบันทึกว่าทรงประทับแรมที่พลับพลา “วัดชีปะขาว” ฉะนั้นจากพงศาวดารจึงพบว่ามีการกล่าวถึงพื้นที่และสถานที่ที่เรียกว่า “วัดชีปะขาว” ซึ่งครอบคลุมพื้นที่บ้านวัดตาลเหนือ วัดตาลใต้ และบ้านปะขาวในปัจจุบันมาตั้งแต่ครั้งอดีต
กาลต่อมาสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงเสด็จอ่างทอง ทรงสร้างพลับพลาประทับแรมในพื้นที่บ้านชีปะขาว ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นตำบลบางเสด็จ ปัจจุบันตำบลบางเสด็จ (บ้านชีปะขาว) และบทประพันธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ชื่อ นิราศพระมะเหลเถไถ ที่
ประพันธ์ระหว่างการเสด็จประพาสมณฑล นครสวรรค์และมณฑลกรุงเก่า (พระนครศรีอยุธยา) โดยทางชลมารค ไว้ว่า "บางเสด็จตะเหม็ดเต็ดตะเหมาเต๋า ราวจะเย้าถึงวิโยคทะโมกถา ว่าต้องตามเสด็จประเพศพา จึงต้องร้างวนิดาประภาเภ" รัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงกล่าวถึง บางเสด็จ ในนิราศฯ ฉะนั้นพื้นที่บริเวณนี้จึงมีความสำคัญในด้านใดด้านหนึ่ง จึงได้รับการบันทึกเป็นส่วนหนึ่งใน นิราศ
และการตั้งชื่อและเรียกชื่อชุมชนว่า "ชุมชนวัดตาลเหนือ" กับ "วัดตาลใต้" ทั้งสองชื่อนี้เกิดขึ้นหลังจากแบ่งเขตการปกครองในพื้นที่ เมื่อราวไม่เกิน 50 ปี ที่ผ่านมา แต่ชุมชนยังไม่คุ้นชินเกี่ยวกับแบ่งเขตและไม่คุ้นกับการใช้ชื่อใหม่ ชุมชนจึงตั้งชื่อให้เข้าใจง่ายในระดับชุมชน โดยมีฐานคิดจากการปักหมุดไปที่สถานที่ศูนย์กลางของชุมชนคือ วัดท่าสุทธาวาส ซึ่งอดีตชาวบ้านเรียกว่า วัดตาล เนื่องจากในบริเวณวัดมีต้นตาลขึ้นเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเมื่อแบ่งเขตการปกครองจึงเรียกให้เข้าใจง่าย ๆ ทางด้านเหนือของวัดเป็นชุมชนวัดตาลเหนือ ลงมาทางใต้ก็ใช้ชื่อว่า ชุมชนวัดตาลใต้ ขณะที่หมู่ที่ 3 อยู่ห่างออกมาทางเหนือให้คงชื่อบ้านปะขาว ดังเดิม
จุดเปลี่ยนที่ทำให้ชุมชนวัดตาล บางเสด็จ เป็นที่รู้จักในสังคมไทยคือ การก่อตั้งโครงการตุ๊กตาชาววัง เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2519 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงตามเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเยี่ยมราษฎร และทรงเห็นว่าพื้นที่ชุมชนวัดตาล บางเสด็จ มีดินเหนียวที่เหมาะสมแก่การปั้นตุ๊กตาชาววัง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโครงการตุ๊กตาชาววังเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ความสำเร็จของตุ๊กตาชาววังทำให้ชุมชนวัดตาล บางเสด็จ เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศในด้านงานหัตถกรรมท้องถิ่นที่มีความเฉพาะตน
จำนวนประชากรวัดตาลเหนือ หมู่ที่ 2 อำเภอป่าโมก ตำบลบางเสด็จ จังหวัดอ่างทอง
- จำนวนครัวเรือน 145 ครัวเรือน
- จำนวนประชากร เพศชาย 157 คน
- จำนวนประชากร เพศหญิง 166 คน
- รวมทั้งสิ้น 323 คน
การศึกษาเกี่ยวกับประชากรในชุมชนบ้านตาลของ เจตนา พัฒนจันทร์ (2562) พบว่า ชุมชนบ้านตาลมีลักษณะครอบครัวแบบชุมชนชนบท สามารถพบได้โดยทั่วไปในสังคมไทยซึ่งเป็นรูปแบบอาศัยอยู่ร่วมกันในสายตระกูล อย่างไรก็ดีปัจจุบันชุมชนบ้านตาลเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ ลูกหลานไปทำงานโรงงานอุตสาหกรรม ชุมชนเหลือแต่ผู้สูงอายดังนั้นผู้สูงอายุในชุมชนจำนวนหนึ่ง จึงหารายได้ด้วยการรับจ้างทำชิ้นส่วนตุ๊กตาชาววังและเหลาก้านธูป
ปฏิทินชุมชนในรอบปี ของชุมชนบ้านตาลมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับชุมชในภาคกลาง รอบปีชุมชนมีพิธีกรรมตามปฏิทินดังภาพตาราง และภาพกิจกรรมรอบปีของชุมชนบ้านตาล
เดือน | กิจกรรมหมู่บ้าน |
มกราคม | ทำบุญวันขึ้นปีใหม่ |
กุมภาพันธ์ | วันมาฆบูชา |
เมษายน | วันสงกรานต์ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่, ก่อพระเจดีย์ธารน้ำไหล |
พฤษภาคม | วันวิสาขบูชา |
สิงหาคม | วันเข้าพรรษา |
ตุลาคม | ตักบาตรเทโว, วันออกพรรษา, งานพระพุทธบาตรลอยฟ้า |
พฤศจิกายน | ลอยกระทงสวรรค์ (ขึ้น 12 ค่ำ ถึง แรม 3 ค่พ เดือน 12) |
ธันวาคม | สวดมนต์ข้ามปี |
วัดท่าสุทธาวาส
สมาชิกชุมชนบ้านตาลมีความศรัทธาต่อวัดท่าสุทธาวาสเป็นอย่างมาก จึงสามารถกล่าวได้ว่า "วัด" คือ ทุนทางวัฒนธรรมของชาวบ้านตำบลบางเสด็จ จากการศึกษาของ เจตนา พัฒนจันทร์ (2562) พบว่า ชาวบ้านนับถือพุทธศาสนา 100% รูปแบบพิธีกรรมทางศาสนา ความเชื่อ ประเพณีและพิธีกรรมเกี่ยวกับชีวิตสัมพันธ์กับพุทธศาสนา ไม่ต่างกับชุมชนภาคกลางโดยทั่วไป
วัดท่าสุทธาวาส หรือ วัดท่า เดิมชื่อวัดท่าสุวรรณภูมิ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่ปรากฏประวัติการสร้างมีเพียงหลักฐานทางโบราณคดีและโบราณวัตถุของวัด เช่น รูปแบบศิลปกรรมพระประธานในพระอุโบสถ สร้างจากหินทรายแดง ใบเสมาทำด้วยหินทรายแดง อย่างไรก็ดีจากหลักฐาน หนังสือประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร กรมการศาสนา สันนิษฐานว่าสร้างประมาณ พ.ศ. 2175 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ประมาณ พ.ศ. 2200 และจากประวัติศาสตร์ชุมชน เชื่อว่า อดีตชุมชนเป็นเส้นทางการเดินทัพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยใช้ช้างข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา จึงได้ตั้งชื่อ "หน้าท่า" ว่า "ท่าช้าง" ดังนั้น จึงมีการวาดภาพเด็กสมัยโบราณเป็นตัวการ์ตูน เพื่อเล่าประวัติศาสตร์สมัยสมเด็จพระนเรศวร ทรงยกทัพไปทำยุทธหัตถีกับพม่าตลอดระยะแนวคันกั้นน้ำของเขื่อนหน้าวัด
ชุมชนเชื่อว่า "เมื่อพระนเรศวรข้ามทัพเพื่อไปพม่า มาข้ามที่ ท่าช้าง วัดท่าสุวรรณภูมิ" ปัจจุบันคือ วัดท่าสุทธาวาส และสันนิษฐานว่า บริเวณนี้เป็นโรงเลี้ยงช้าง เนื่องจากพบกระดูกช้างบริเวณใกล้วัด และมีทางเดินสำหรับต้อนช้างลงอาบน้ำ จึงเรียกว่า "ท่าช้าง" จากประวัติศาสตร์ชุมชน ชาวบ้านมีความศรัทธาสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จึงร่วมกันตั้ง “ศาลา” เพื่อสักการะ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช บริเวณข้างพระอุโบสถภายในวัดท่าสุทธาวาส
ตุ๊กตาชาววัง
ตุ๊กตาชาววังบ้านตาล เป็นทุนวัฒนธรรมของชุมชนบ้านตาลที่มีชื่อเสียง และตุ๊กตาชาววังเป็นที่รับรู้ในสังคมไทยมายาวนาน รูปแบบของตุ๊กตาชาววังมีส่วนในการสะท้อนและสร้างภาพลักษณ์ วิถีชีวิตชุมชนภาคกลางบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนกลาง ประกอบด้วย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดปทุมธานี จังหวัดนนทบุรี จังหวัดอ่างทองและจังหวัดสิงห์บุรี เจตนา พัฒนจันทร์ (2562) ศึกษาความเป็นมาของตุ๊กตาชาววัง พบว่า
การประดิษฐ์ตุ๊กตาชาววัง เป็นโครงการที่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงดำริให้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2519 โดยมีเหตุมาจากปัญหาน้ำท่วมหมู่บ้านและพื้นการเกษตรช่วงฤดูฝน ชาวบ้านประสบความเดือดร้อนไม่สามารถประกอบอาชีพอาชีพทำอิฐและเหลาไม้ก้านธูป พระองค์ทรงดำริถึงอาชีพเสริมสำหรับชุมชน โดยในชุมชนมีทรัพยากรธรรมชาติพร้อมอยู่แล้ว คือ ดินเหนียวที่ใช้ทำอิฐ ประกอบกับทรงระลึกถึงตุ๊กตาไทยที่เรียกว่าตุ๊กตาชาววังนั้นหาดูได้ยากกระทั่งเกือบจะสูญสิ้นหมด หากฟื้นฟูน่าจะช่วยสืบสานศิลปหัตถกรรมไทยแบบโบราณของไทยได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ส่งอาจารย์จากวิทยาลัย เพาะช่าง มาสอนปั้นตุ๊กตาชาววัง
การจัดตั้งโครงการปั้นตุ๊กตาไทย ครั้งแรกมีผู้เข้ารับการฝึกอบรม 150 คน ฝึกสอนเป็นเวลา 3 เดือน จากนั้นจัดให้มีพิธีไหว้ครู โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเป็นประธานพิธีไหว้ครู และตั้งศูนย์ตุ๊กตาชาววังบ้านบางเสด็จ ตุ๊กตาชาววังทำจากดินเหนียวแสดงให้เห็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน และวัฒนธรรมประเพณีไทยต่าง ๆ เช่น การละเล่นของเด็กไทย วงมโหรีปี่พาทย์ สุภาษิตคำพังเพยไทยหรือรูปผลไม้ไทยหลากหลายชนิด
อย่างไรก็ดีตุ๊กตาชาววัง กำเนิดช่วงปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการทำเป็นของเล่นเฉพาะในกลุ่มข้าหลวงชาววัง ต่อมาข้าหลวงที่ออกมาอาศัยกับครอบครัวนอกวังเริ่มทำตุ๊กตาชาววังขาย ตุ๊กตาชาววังจึงเริ่มเป็นที่รู้จักของประชาชน โครงการรื้อฟื้นวิชาการปั้นตุ๊กตาชาววังที่พระราชทานแก่ชาวบ้านบางเสด็จ ทำให้ชุมชนเป็นแหล่งผลิตตุ๊กตาชาววัง ใหญ่ที่สุดและมีชื่อเสียง สร้างอาชีพเสริมเพิ่มพูนรายได้ให้แก่ราษฎรตั้งแต่ปี 2519
ภาษาพูด : ชุมชนใช้ภาษาไทยสำเนียงอ่างทอง
ภาษาเขียน : ตัวอักษรไทยมาตรฐาน
เจตนา พัฒนจันทร์ (2562). การจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน ชุมชนวัดตาล ตำบลบางเสด็จ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง. การจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม. ศิลปากร.
องค์การบริหารส่วนตำบลบางเสด็จ. (ม.ป.ป.). ข้อมูลพื้นฐาน. จาก https://www.bangsadej.go.th/
ที่นี่อ่างทอง ชุมชนยลวิถี บ้านวัดตาลเหนือ อ.ป่าโมก https://www.youtube.com/watch?v=9tcLxTHLt_s
ที่นี่อ่างทอง : TeeneeAngthong. (2565, 31 พฤษภาคม). ที่นี่อ่างทอง l ชุมชนยลวิถี l บ้านวัดตาลเหนือ อ.ป่าโมก. [วิดิโอ]. Youtube. https://www.youtube.com/
สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง. (2567). ข้อมูลประชากร. จาก https://stat.bora.dopa.go.th/stat/