Advance search

ย่านเมืองเก่าสตูลเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ตั้งถิ่นฐานอาศัยในพื้นที่เมืองสตูลมาแต่ครั้งอดีต ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันก่อเกิดวิถีชุมชนที่มีลักษณะเฉพาะทั้งด้านอาหาร สถาปัตยกรรม ระบบความสัมพันธ์ของชุมชน เป็นผลมาจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และปรับปรนเพื่อการอยู่ร่วมกัน และเพื่อให้เกิดความสมสมัยท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรม 

ย่านเมืองเก่าสตูล
พิมาน
เมืองสตูล
สตูล
ทม.สตูล โทร. 0-7471-1012
ธำรงค์ บริเวธานันท์
24 เม.ย. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
24 เม.ย. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
24 เม.ย. 2024
ย่านเมืองเก่าสตูล

ชื่อเรียก "สตูล" มาจากภาษามาลายู ออกเสียงว่า "สโตย" แปลว่า “กระท้อน” เนื่องเพราะพบต้นกระท้อนมากในพื้นที่เมืองสตูล


ย่านเมืองเก่าสตูลเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ตั้งถิ่นฐานอาศัยในพื้นที่เมืองสตูลมาแต่ครั้งอดีต ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันก่อเกิดวิถีชุมชนที่มีลักษณะเฉพาะทั้งด้านอาหาร สถาปัตยกรรม ระบบความสัมพันธ์ของชุมชน เป็นผลมาจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และปรับปรนเพื่อการอยู่ร่วมกัน และเพื่อให้เกิดความสมสมัยท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรม 

ย่านเมืองเก่าสตูล
พิมาน
เมืองสตูล
สตูล
91000
6.622233
100.065076
เทศบาลเมืองสตูล

ประวัติศาสตร์ย่านเมืองเก่าสตูล

ชื่อเรียก "สตูล" มาจากภาษามลายู ออกเสียงว่า "สโตย" แปลว่า “กระท้อน” เนื่องเพราะพบต้นกระท้อนมากในพื้นที่เมืองสตูล 

ช่วงก่อน พ.ศ. 2382 อยู่ภายใต้การปกครองของ “เมืองไทรบุรี” มีชื่อว่า “มูเก็มสโตย” หมายถึง “ตำบลกระท้อน” (มูเก็ม หมายถึง ตำบล และ สโตย หมายถึง กระท้อน) 

ปี พ.ศ. 2382 สมัยรัชกาลที่ 3 “ตำบลสโตย หรือ มูเก็มสโตย” ได้รับการยกฐานะเป็น “เมืองสตูล” และทรงแต่งตั้ง “ตนกูมูฮัมมัดอาเก็บ” เป็นเจ้าเมืองสตูล

ความสามารถทางเศรษฐกิจของ “ตนกูมูฮัมมัดอาเก็บ” ทำให้เมืองสตูลเจริญรุ่งเรืองด้านการค้าทางทะเล เมืองสตูลปกครองอาณาเขตทางทะเล ตั้งแต่ปากน้ำเปอร์ลิส ถึงเกาะพีพี เมืองกระบี่ นอกจากนี้ยังควบคุมสินค้าสำคัญคือ รังนกนางแอ่น ทำให้คุ้มครองเกาะรังนกหลายเกาะ บริเวณท่าเรือเมืองสตูลเรือสินค้าระหว่างสิงคโปร์ ปีนัง พม่า เข้ามาติดต่อค้าขายกับเมืองสตูล สามารถเก็บภาษีได้มากในแต่ละปี ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการขนานนามว่า “นครีสโตยมำบังสังคารา (Neqeri Setoi Mambang Segara) แปลว่า เมืองสตูล เทวดาแห่งสมุทร หรือ สตูลเมืองแห่งพระสมุทรเทวา จังหวัดสตูลจึงใช้สัญลักษณ์เป็นตราพระสมุทรเทวา

หลังจากยกฐานะ “ตำบลสโตย หรือ มูเก็มสโตย” เป็น “เมืองสตูล” โดยแยกจาก “เมืองไทรบุรี” ใน ปี พ.ศ. 2382 เมืองสตูลยังต้องเผชิญความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจมาโดยตลอด ทั้งการอยู่ในอาณัติหรือขึ้นกับเมืองสงขลา (พ.ศ. 2382 - 2387) ขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราช (พ.ศ. 2387 - 2439) กลับไปขึ้นกับเมืองไทรบุรี (ปี พ.ศ. 2440 - 2451) ขึ้นกับมณฑลภูเก็ต (พ.ศ. 2452 - 2468) และช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ในขณะที่เมืองสตูลขึ้นกับมณฑลภูเก็ต เกิดกรณีพิพาทระหว่างสยามกับอังกฤษ เรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขต นำไปสู่การทำหนังสือมอบเมืองกะลันตัง เมืองตรังกานู เมืองไทรบุรีและเมืองปะลิส แก่รัฐบาลอังกฤษ แต่ “สตูล” ยังอยู่ในการปกครองของสยามขึ้นอยู่กับมณฑลภูเก็ต

จากการปฏิรูปการณ์ปกครองเมืองสตูลได้มีการแบ่งการปกครองเมืองสตูลเป็น 2 อำเภอ คือ อำเภอมำบัง กับ อำเภอสุไหงอุเป (อำเภอทุ่งหว้า ) และ 1 กิ่งอำเภอ คือ กิ่งอำเภอละงู อย่างไรก็ดี ช่วง ปี พ.ศ. 2468 - 2475 เมืองสตูลกลับไปขึ้นต่อนครศรีธรรมราช เป็นครั้งที่ 2 เพราะการก่อสร้างเส้นทางระหว่างเมืองสตูลกับนครศรีธรรมราชเสร็จเรียบร้อย ทำให้สะดวกกว่าการเดินทางไปภูเก็ต จึงกลับไปขึ้นต่อนครศรีธรรมราช กระทั่งปี พ.ศ. 2482 “อำเภอมำบัง” เปลี่ยนชื่อเป็น “อำเภอเมืองสตูล” อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าเมืองสตูล ประสบกับเหตุการณ์และความผันผวนทางการเมืองและการปกครอง  ทว่าการขยายตัวของ “เมืองและชุมชน” เนื่องมาจากการเจริญเติบโตด้านเศรษฐกิจการค้าเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เฉพาะอย่างยิ่งการขยายเมือง ที่เป็นผลมาจากการขยายเส้นทางคมนาคมในเมืองสตูล

ย่านเมืองเก่าสตูล

ถนนสายแรกของเมืองสตูลคือ ถนนมำบังนังคะรา หรือ ถนนบุรีวานิช ในสมัย “ตนกูมุฮำมัดอาเก็บ” ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองสตูลคนที่ 1 (พ.ศ. 2382 - 2418) ถนนเส้นนี้เป็นจุดเริ่มต้นของ “ถนนมำบังนังคะรา – บ้านจีน” ถนนบุรีวานิช มีความเป็นมานานกว่าร้อยปี จึงมีเรื่องเล่ามากมายที่เกิดขึ้นบนถนนสายนี้ และได้รับการบอกเล่าผ่านคนสตูลจากรุ่นสู่รุ่น ปัจจุบันบริเวณถนนเส้นนี้ยังมีอาคารบ้านเรือนเก่าแก่ สภาพแวดล้อม หลงเหลือเป็นหลักฐานยืนยันคำบอกเล่านั้น บริเวณที่ตั้งอาคารบ้านเรือนตลอดจนกลางถนน เคยเป็นที่ตั้งโรงปูนขาวแต่ยุคเจ้าเมืองท่านใด ไม่สามารถระบุได้ จากจดหมายเหตุของพระยาภูมินารถภักดี บันทึกการอนุญาตให้นายลิม อาปิว ดำเนินการเผาปูนขาวและเก็บเปลือกหอยในคลองมำบังมาเผาปรากฏอยู่

ราวช่วงทศวรรษ 2440 พระยาภูมินารถภักดีสร้างคฤหาสน์กูเด็น พร้อมกับสร้างอาคารห้องแถวริมถนนบุรีวานิช ทั้งสองฝั่งถนน โดยใช้อิฐและวัสดุก่อสร้างจากปีนัง ลักษณะห้องแถวทางฝั่งตะวันออกถนนเป็นอาคารแบบชิโนโปรตุกีส (ชิโนยูโรเปี้ยน) ทั้งสิ้น 28 ห้อง ซึ่งทยอยสร้างครั้งละ 1 – 5 ห้อง ไม่ได้สร้างทีเดียวพร้อมกัน เริ่มต้นห้องแรกตรงบ้านหลังที่อยู่ติดกับธนาคารกรุงเทพฯ ในปัจจุบันและเว้นช่วงกลางเพื่อเป็นโรงปูนเผา จากนั้นสร้างต่ออีก 5 หลัง เป็นอาคารพัสดุ 3 ห้อง ไปจนสุดสามแยกอีก 2 ห้องคือ ห้องริมที่ติดกับสามแยกไฟแดง ฝั่งตรงข้ามป้อมยามตำรวจก็เป็นบริเวณโรงปูนเผา ซึ่งจะมีเปลือกหอยตลับหรือ “หอยป๊ะ” สำหรับทำปูนขาวของเถ้าแก่ ลิม อาปิว

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นตั้งฐานกำลังที่จังหวัดสตูล อาคารชิโนหลังแรกติดกับธนาคารกรุงเทพฯ ถูกใช้เป็นกองบัญชาการ อาคารชิโนยูโรเปี้ยนเป็นแบบเรียบ ๆ ไม่มีปูนปั้นหรือลวดลายใด เพียงตกแต่งเล็กน้อยบริเวณบัวหัวเสาและตีนเสาเท่านั้น ตัวอาคารสองชั้นแบบผนังรับน้ำหนัก หน้าอาคารเป็นเสาข้างในไม่เสริมเหล็ก เนื่องจากสมัยนั้นเหล็กเส้นหายาก หลังคามุงกระเบื้องกาบกล้วยและกระเบื้องปูพื้นซึ่งเป็นกระเบื้องเทอราคอท ยังมีหลงเหลือให้เห็นอยู่บ้าง ส่วนอาคารริมถนนฝั่งตะวันตกเป็นบ้านไม้ทั้งหมด เนื่องจากฝั่งนี้ติดกับริมคลองมำบังเป็นที่ลุ่มน้ำขัง

จากการบอกเล่าต่อ ๆ กันมาว่า อาคารทั้งสองฝั่งสร้างครบทุกหลัง “สมัยพระยาสมันตรัฐบุรินทร์” เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล แต่ไม่ได้ระบุวันเดือนปีว่าสร้างเสร็จช่วงใด โรงปูนขาวเลิกกิจการจึงมีการปลูกต้นมะขามไว้กลางถนนเพื่อแบ่งถนนเป็นสองฝั่งจำนวน 12 ต้น แทนเดือน 12 เดือน โดยเป็นการปลูกพร้อมกันทั้ง 12 ต้น ต้นมะขามเหล่าจึงเปรียบเสมือนศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน เพราะชาวบ้านบริเวณนี้มาเฝ้าสังเกตการเจริญเติบโตของต้นมะขาม จนกระทั่งต้นโตแตกกิ่งใบสาขาเป็นร่มเงาชาวบ้านจึงใช้เป็นที่พบกัน

ราว พ.ศ. 2477 - 2478  เริ่มมีรถสามล้อเข้ามาในชุมชน ชาวบ้านย่านชุมชนเก่าบุรีวานิชเล่าว่า รถรับจ้างสามล้อเป็นที่นิยมมากเช่นเดียวกับมอเตอร์ไซค์รับจ้างในปัจจุบัน ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็เรียกใช้บริการรถสามล้อซึ่งจอดรอบริเวณใต้ต้นมะขาม ผู้คนเรียกรถสามล้อว่า “แท็กซี่” ตามอย่างมาเลเซีย

สมัยพระยาภูมินารถภักดี ถนนหนทางยังน้อยมากมีเส้นทางหลักเส้นเดียวคือ ถนนมำบังนังคะรา-บ้านจีน การเดินทางจะใช้เส้นทางเรือเป็นหลัก เพื่อติดต่อกับเมืองไทรบุรี ปีนัง ทุ่งริ้น ผ่านท่าเรือบาราเกต ท่าเรือละงู ท่าเรือสุไหงอุเป (ทุ่งหว้า) เพื่อไปยังเกาะต่าง ๆ รวมถึงหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ชายทะเล “ตัวเมืองมำบังนังคะรา” มีท่าเรือเซ่งหิ้นในการขนถ่ายสินค้าจากที่ต่าง ๆ เพื่อมาค้าขาย หรือมาติดต่อราชการ      

อดีตริมคลองมำบัง และพื้นที่ใกล้เคียงถนนบุรีวานิช เป็นที่ตั้งของศาลาว่าการเมือง ละแวกเดียวกันมีวังเจ้าเมือง มัสยิด โรงเรียนและตลาด จึงมีผู้คนมาค้าขายจับจ่ายบริเวณถนนบุรีวานิช เป็นย่านศูนย์กลางพาณิชยกรรม ตึกแถวร้านค้าทั้งสองฝั่งถนนบุรีวานิช เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชาวไทยเชื้อสายจีน มีความชำนาญด้านค้าขาย บริเวณนี้จึงเต็มไปด้วยกิจการโรงแรม ร้านอาหาร ร้านน้ำชากาแฟคั่วบดเอง ร้านผ้า ร้านจำหน่ายสินค้าทุกชนิด สินค้าที่ส่งมาจากปีนัง ได้แก่ เสื้อผ้าปาเต๊ะ เสื้อผ้า ถ้วยชาม รองเท้า ของใช้จิปาถะ ทำให้บุรีวานิชในอดีตคลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่สัญจรไปมาจับจ่ายซื้อของ จึงเป็นที่มาของคำว่า “บุรีวานิช” แปลว่า แหล่งของพ่อค้าแม่ขาย

ย่านเมืองเก่าสตูล ได้รับการประกาศกำหนดขอบเขตพื้นที่เมืองเก่า จากคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า เพื่อให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดความเจริญรุ่งเรืองด้านศิลปวัฒนธรรมดังนี้

  • ทิศเหนือ จดแนวกึ่งกลางคลองมำบังบริเวณที่ตัดกับซอยสตูลธานี 11 (พิกัด X = 617300 Y = 732444) และต่อเนื่องไปทางทิศตะวันออกตามแนวกึ่งกลางซอยสตูลธานี 11 กระทั่งจดทางแยกซอยสตูลธานี
  • ทิศตะวันออก จดแนวกึ่งกลางถนนสตูลธานีบริเวณทางแยกตัดซอยสตูลธานี 11ต่อเนื่องลงมาทางทิศใต้ตามแนวกึ่งกลางถนนสตูลธานี กระทั่งจดทางแยกตักถนนสมันตประดิษฐ์ และต่อเนื่องไปทางทิศตะวันออกตามแนวกึ่งกลางถนนสมันตประดิษฐ์ กระทั่งจดทางแยกตัดซอยสมันตประดิษฐ์ 2 และต่อเนื่องลงมาทางทิศใต้ตามแนวกึ่งกลางซอยสมันตประดิษฐ์  2 กระทั่งจดทางแยกตัดซอยศุลกานุกูล 3
  • ทิศใต้ จดแนวกึ่งกลางซอยศุลกานุกูล 3 บริเวณทางแยกตัดซอยสมันตประดิษฐ์ 2 ต่อเนื่องไปทางทิศตะวันตกตามแนวกึ่งกลางซอยศุลกานุกูล 3 กระทั่งจดทางแยกตัดถนนศุลกานุกูล และต่อเนื่องมาทางทิศใต้ตามแนวกึ่งกลางถนนศุลกานุกูล กระทั่งจดทางแยกตัดซอยศุลกานุกูล 6 และต่อเนื่องเรื่อยไปตามแนวกึ่งกลางซอยศุลกานุกูล 6 กระทั่งไปเชื่อมต่อกับซอยศุลกานุกูล 4 และต่อเนื่องไปทางทิศตะวันตกตามแนวกึ่งกลางซอยศุลกานุกูล 4 กระทั่งจดแนวกึ่งกลางคลองมำบังบริเวณพิกัด X = 617234 Y = 730988
  • ทิศตะวันตก จดแนวกึ่งกลางคลองมำบังบริเวณพิกัด X = 617234 Y = 730988 ต่อเนื่องขึ้นไปทางทิศเหนือตามแนวกึ่งกลางคลองมำบัง กระทั่งจดกับบริเวณที่ตัดกับซอยสตูลธานี 11 (พิกัด X= 617300 Y = 730444)

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กลุ่มอาชีพในเขตเทศบาลเมืองสตูล ตั้งขึ้นเพื่อสร้างรายได้ให้แก่สมาชิกกลุ่มรวมถึงชุมชน กลุ่มอาชีพได้รับการสนับสนุนทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการดำเนินงานกิจกรรมกลุ่ม ทว่าในอีกด้านหนึ่งกลุ่มเหล่านี้เป็นการส่งเสริมและใช้ภูมิปัญญาที่อยู่ในบุคคลก่อให้เกิดรายได้ต่อตนเองและชุมชน กลุ่มเหล่านี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของทุนทางวัฒนธรรมชุมชนเขตเทศบาลเมืองสตูล ประกอบด้วย

  • กลุ่มดอกไม้จันทน์และพวงหรีด ชุมชนสันตยาราม
  • กลุ่มเลี้ยงปูนิ่ม ชุมชนบ้านหัวทาง
  • กลุ่มผ้ามัดย้อม ชุมชนบ้านหัวทาง
  • กลุ่มมุสลิมแปรรูปอาหารจากปูนิ่ม ชุมชนบ้านหัวทาง
  • กลุ่มน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น ชุมชนปานชูรําลึก ชุมชนเมืองพิมาน
  • กลุ่มจักสานตะกร้าพลาสติก ชุมชนปานชูรําลึก ชุมชนห้องสมุด ชุมชนสี่แยกคอกเป็ด
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์ดอกไม้แห้งจากผู้สูงอายุ ชุมชนท่านายเยาว์
  • กลุ่มโรตีกรอบ ชุมชนบ้านศาลากันตง
  • กลุ่มขนมพื้นบ้าน ชุมชนทุ่งเฉลิมตะวันออก ชุมชนทุ่งเฉลิมสุข
  • กลุ่มน้ํายาล้างจาน ชุมชนห้องสมุด
  • กล่มแปรรปอาหารทะเล ชุมชนบ้านโคกพะยอม,ชุมชนซอยม้าขาว,ชุมชนซอยปลาเค็ม
  • กลุ่มทําหัวขันหมากศาสนาอิสลาม ชุมชนบ้านโคกพยอม
  • กลุ่มสตรีแปรรูป (ปลาแดดเดียว/ ปลาส้ม/ ปลาทอด) ชุมชนปานชูรําลึก
  • กลุ่มประมงพื้นบ้าน ชุมชนบ้านหัวทาง ชุมชนบ้านโคกพยอม ชุมชนคลองเส็นเต็น ชุมชนซอยม้าขาว ชุมชนซอยปลาเค็ม ชุมชนชนาธิป

ปฏิทินชุมชนในรอบปี 

ชุมชนย่านเมืองเก่าสตูลและชุมชนในเขตเทศบาลเมืองสตูล เป็นชุมชนที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ร่วมกัน และเรียนรู้ซึ่งกันและกันมายาวนาน วิถีชีวิตของชุมชนส่วนใหญ่เกี่ยวพันกับวัฒนธรรมทางศาสนาและความศรัทธาของชุมชนที่มีต่อสิ่งเคารพทั้งชุมชนมุสลิมและชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมความสนุกสนานที่เกี่ยวข้องกับการเสร็จสิ้นฤดูทางการเกษตร ปฏิทินวิถีชีวิตในรอบ 1 ปี จึงประกอบด้วย

พิธีกรรมศาสนาอิสลาม

  • การเข้าสุนัต หลักการของศาสนาอิสลาม เกี่ยวเนื่องกับความสะอาดคือ การขลิบ ผิวหนังหุ้มส่วนปลายอวัยวะเพศชาย หรือเรียกตามภาษาท้องถิ่นว่า “เข้าแขก” หรือ “คิตาน” พิธีสุนัตกระทำเมื่อเด็กชายมีอายุระหว่าง 2 - 10 ปี
  • การกินเหนียว ประเพณีการกินเหนียวใช้ในหลายโอกาส เช่น แต่งงานหรือการเข้าสุนัต และคำว่ากินเหนียว” ไม่ได้หมายถึง การจัดเลี้ยงที่มีเฉพาะข้าวเหนียวเป็นอาหารเท่านั้น แต่เป็นการเลี้ยงอาหารโดยปกติทั่วไป คำว่า "กินเหนียว" ใช้สื่อถึงงานมงคล เช่น งานแต่งงาน 
  • วันฮารีรายอ วันรื่นเริงประจำปีของมุสลิม วันฮารีรายอ ในรอบปีมี 2 ครั้ง คือ “อิฎิลฟิตรี” เป็นวันรื่นเริงเนื่องจากการสิ้นสุดการถือศีลอดเดือนรอมฎอน “วันอิฎิลฟิตรี” ตรงกับ “วันที่หนึ่งของเดือนเชาวาล” และ “วันอิฎิลอัตฮา” หรือเรียกว่า “วันฮารายอหัจญี” หมายถึง วันรื่นเริงเนื่องในวันเชือดสัตว์พลีชีพเป็นทานบริจาคอาหารแก่คนยากจนและประชาชนทั่วไป ตรงกับวันที่ 10 ของเดือน ซุลอิจญะ เป็นเวลาเดียวกันกับการประกอบพิธีฮัจย์ ณ นครเมกกะของมุสลิมทั่วโลก ดังนั้นชาวไทยมุสลิมจึงนิยม เรียกวันนี้ว่า วันอีดใหญ่
  • งานวันเมาลิดกลางจังหวัดสตูล เป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงหลักคำสอนและผลงานของ ท่านศาสดามูฮำหมัด มุ่งหมายเพื่อส่งเสริมสถาบันศาสนาอิสลาม และเพื่อร่วมใจมุสลิมเพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญของจังหวัด จัดช่วงเดือน รอบิอุลเอาวัล ตามปฏิทินอิสลามของทุกปี

งานรื่นเริงฉลองจบฤดูการเกษตร

  • แข่งขันว่าวประเพณีจังหวัดสตูล มุ่งหมายเพื่อการพักผ่อนของชาวบ้าน หลังจากเสร็จสิ้นฤดูการเก็บเกี่ยว การแข่งขันว่าว จัดช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม ของทุกปี มีการจัดแข่งขัน 3 ประเภทคือ ว่าวเสียงดัง ว่าวขึ้นสูง ว่าวสวยงาม

ประเพณีชาวไทยเชื้อสายจีน

  • ประเพณีถือศีลกินผัก จัดในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี ณ ศาลเจ้าโป้เจ้เก้ง อำเภอเมือง จังหวัดสตูล เทศกาลถือศีลกินผัก เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชาวไทยเชื้อสายจีนเมืองสตูล ตามปฏิทินจันทรคติแบบจีน วันเริ่มต้นของการถือศีลกินผักคือ วันที่ 1 เดือน 9 ถึง วันที่ 9 เดือน 9 ของทุกปี ในช่วงนี้ผู้ศรัทธาทำการถือศีล ทำบุญ งดการฆ่า การบริโภคเนื้อสัตว์และอาหารบางชนิด รวมถึงการทำร่างกายและจิตใจให้บริสุทธิ์

บุคคลภูมิปัญญาเขตเทศบาลเมืองสตูล

พื้นที่เขตเทศบาลเมืองสตูล ประกอบด้วยชุมชน 20 ชุมชน กระจายตั้งถิ่นฐานภายในพื้นที่ แต่ละชุมชนมีบุคคลที่เป็นภูมิปัญญาของชุมชนทั้งด้านการประพกอบอาชีพ ด้านพิธีกรรมทางศาสนา ด้านการเกษตร ด้านหัถกรรม รวมถึงด้านการแสดงพื้นบ้าน บุคคลที่เป็นภูมิปัญญาในแต่ละชุมชนใช้ความรู้ของตนทั้งการประกอบอาชีพส่วนตน และการนำความรู้มาใช้ให้ก่อประโยชน์แก่ชุมชน จากการจัดเก็บข้อมูลปราชญ์หรือบุคคลที่เป็นภูมิปัญญาของชุมชนโดยเทศบาลเมืองสตูล ปี พ.ศ. 2564 ได้ข้อมูลดังนี้

  • ภูมิปัญญาการทำขนมไทย : นางจุฑารัตน์ ไพจิตร, ชุมชนหลังโรงพัก
  • ภูมิปัญญาการทำโรตี-ชาชัก นายมานะ สมันตรัฐ, ชุมชนท่านายเนาว์
  • ภูมิปัญญาการทำโรตีกาปาย นายกมล ไพศาลฉันทะศิริ, ชุมชนห้องสมุด
  • ภูมิปัญญาการทำขนมพื้นบ้าน นางลีม๊ะ สํานักพงศ์, ชุมชนทุ่งเฉลิมตะวันออก
  • ภูมิปัญญาการทำอาหารพื้นบ้าน นางเจะออแน ไปรฮูยัน, ชุมชนคลองเส็นเต็น
  • ภูมิปัญญาการสอนศาสนาอิสลาม นายประสิทธิ์ บุญรอด, ชุมชนท่านายเยาว์
  • ภูมิปัญญาการอาบน้ำศาสนาอิสลาม นางเจ๊ะโสม ขุนพิทักษ์, ชุมชนท่าไม้ไผ่
  • ภูมิปัญญาการทําบายศรี นายแกะ แซ่แต้, ชุมชนหลังโรงพัก
  • ภูมิปัญญาการทำงานประดิษฐ์ นางวณี วุฒิการ, ชุมชนสัตยาราม
  • ภูมิปัญญาการเขียนลายบนกระจก นางศวนนท์ พัชรโรจน์โสภณ, ชุมชนสนตยาราม
  • ภูมิปัญญาการแทงหยวกกล้วย นายว่อง เขาทอง, ชุมชนเมืองพิมาน
  • ภูมิปัญญาการขับร้องเพลงมโนราห์ นายเสนอ ไมตรี, ชุมชนทุ่งเฉลิมตะวันออก
  • ภูมิปัญญาด้านหมอพื้นบ้าน นายจิราวัฒน์ อึ้งสกุล, ชุมชนสี่แยกคอกเป็ด
  • ภูมิปัญญาด้านการเกษตรพอเพียง นายวราวุฒิ ใจเย็น, ชุมชนบ้านโคกพยอม
  • ภูมิปัญญาด้านวรรณกรรมพื้นบ้าน นางจิราภรณ์ เอี่ยวเหล็ก, ชุมชนท่านายเนาว์
  • ภูมิปัญญาการต่อเรือ นายเอี่ยม ลอยลิบ, ชุมชนบ้านศาลากันตง

ทุนวัฒนธรรมย่านชุมชนเมืองเก่าสตูล

  • พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสตูล (คฤหาสน์กูเด็น) ถนนสตูลธานี สร้างโดยพระยาภูมินารถภักดี (ตวนกูบาฮารุดดินบินตํามะหง) เจ้าเมืองสตูล อาคารมีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบยุโรป เพื่อเป็นที่ประทับของรัชกาลท 5 แต่ไม่ได่มาประทับกรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2532 มีการปรับปรุงคฤหาสน์ เพื่อจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสตูล การจัดแสดงแบ่งเป็น 10 ห้อง มีการแสดงประวัติความเป็นมาของเมืองสตูล เช่น ห้องภูมิหลังเมืองสตูล ห้องวิถีชีวิตชาวสตูล ห้องบ้านเจ้าเมือง ห้องวัฒนธรรมไทยมุสลิม ฯลฯ สมเด็จพระเทพตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมา เสด็จเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2543 
  • มัสยิดกลางจังหวัดสตูล (มัสยิดมําบัง) บริเวณถนนสตูลธานีและถนนบุรีวานิช สร้างขึ้นในสมัย "ตวนกูมูฮําหมัดอาเก็บ" เป็นเจ้าเมืองเมืองสตูล (ประมาณ พ.ศ. 2392) "มําบ้ง" ตั้งตามชื่อเมืองสตูลในอดีต ช่างนำแบบแปลนมาจากเมืองมะละกาปี พ.ศ.2517 มีการจัดสร้างใหม่เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กรูปทรงเป็นสถาปัตยกรรมแบบสมัยใหม่ เคลือบหินอ่อนและกระจกใส ด้านบนเป็นหอคอยยอดโดม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จเป็นองค์ประธานเปิด เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2522
  • เขาโต๊ะหยงกง มีลักษณะเป็นภูเขาที่มีความศักดิ์สิทธิ์ เขานี้มีทวดชื่อ " โต๊ะหยงกง " สถิตบริเวณเพิงหิน ซึ่งเป็นที่ใช้สำหรับทําพิธีบนบานและแก้บน โต๊ะหยงกงเป็นที่เคารพสักการะของชาวจังหวัดสตูลทั้งชาวไทยพื้นเมือง ชาวไทยเชื้อสายจีน ชาวไทยเชื้อสายมลายู เนื่องจากบนบานอย่างใดมักจะบันดาลให้เป็นไปตามประสงค์ ชาวบ้านมักบนให้ลูกหลานสอบเข้าเรียนต่อและนิยมแก้บนด้วยไก่ปากทอง (ไก่ต้มปากไก่ปิดด้วยทองคำเปลว) ข้าวเหนียวเหลืองกับแกงไก่ (ข้าวเหนียวมูลใส่สีขมิ้น) แกงแพะ จุดกำยาน ธูปเทียน ถวายดอกไม้ ชาวเมืองต่างให้ความเคารพนับถือ อดีตมีชาวบ้านเล่าสู่กันฟังว่า ขณะที่กำลังแก้บนอยู่มีงูสองตัวคล้ายกับงูสามเหลี่ยมลายเหลืองทองปรากฏให้เห็นและไม่ทำร้ายใคร จึงร่ำลือกันว่าคือ โต๊ะหยงกง ปัจจุบันชาวบ้านเรียก เขาโต๊ะหยงกงว่า เขาม้าขาวอีกชื่อหนึ่ง เนื่องจากมีรูปปั้นม้าขาวที่คนนำมาแก้บนตั้งอยู่หน้าถ้ำ
  • สตรีทอาร์ทย่านเมืองเก่าสตูล ภาพการฟิตี้บริเวณถนนสายพหุวัฒนธรรมจังหวัดสตูล จุดเริ่มต้นบริเวณหน้าวัดชนาธิปเฉลิม (พระอารามหลวง) ตลาดสดเทศบาลเมืองสตูล ศาลเจ้าโป้เจ้เก้งและซอยบรรจบมัสยิดมําบัง ถนนบุรีวานิช สิ้นสุดคฤหาสน์กูเด็น ภาพสตรีทอาร์ทที่กระจายบริเวณนี้มุ่งหมายเพื่อบอกเล่าประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมของจังหวัดสตูล แต่ละภาพมีส่วนช่วยในการเล่าเรื่องย่านเมืองเก่า เพื่อแสดงถึงความร่วมสมัยของย่านเมืองเก่า ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวสามารถถ่ายภาพเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของย่านเมืองเก่า
  • ศาลเจ้าโป้เจ้เก้ง ศาลเจ้าที่มีอายุกว่า 125 ปี ตั้งอยู่ถนนสมันตประดิษฐ์ ที่ดินก่อสร้างศาลเจ้าศาลเจ้าฯ บริจาคโดย นายลีกาฮ้วด เมื่อปี พ.ศ. 2433 เมื่อศาลเจ้าก่อสร้างสำเร็จจึงอัญเชิญพระโปเซ็งไต่เต่หรือ (ไต่เต่เอี้ยจ้อ) จากเกาะปีนังเป็นองค์ประธานศาลเจ้า โป้เจ้เก้ง ภาษาจีนฮกเกี้ยน หมายถึง "ศาลเจ้าที่ช่วยคุ้มครอง ให้คนมีสุข คลาดแคล้วจากทุกข์" (โป้ แปลว่า คุ้มครอง,รักษา / คำว่า เจ้ แปลว่า ข้ามพ้นทุกข์ / เก้ง แปลว่า ศาลเจ้า)
  • หอนาฬิกาเมืองสตูล อดีตหอนาฬิกาเมืองสตูล ตั้งอยู่ในเขตมัสยิดมำบัง(หลังเก่า) รูปลักษณ์ของตัวอาคารเป็นสีขาว มีประตูทั้ง 4 ด้าน ด้านในมีบันไดสำหรับขึ้นไปตั้งเวลา สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2500 และรื้อถอน ปี พ.ศ. 2517 สามารถกล่าวได้ว่า หอนาฬิกาเมืองสตูลมีความสวยงาม เป็นการผสมผสานศิลปะที่ลงตัวระหว่างไทยกับมาเลเซีย รูปแบบของหอนาฬิกาที่มีลักษณะเหมือนกันนี้ยังพบที่รัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย จากความสวยงามและคุณค่าของหอนาฬิกาเมืองสตูลครั้งอดีต จึงสร้างหอนาฬิกาขึ้นใหม่เพื่อเป็นเอกลักษณ์ของเมืองสตูล ปัจจุบันหอนาฬิกาเมืองสตูล ตั้งอยู่ถนนบุรีวานิช ใกล้กับมัสยิดมำบัง

การใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารของจังหวัดสตูล ด้านภาษาเขียนใช้อักษรไทยมาตรฐาน ส่วนการใช้ภาษาพูดในฐานะภาษาถิ่นเพื่อการสื่อสารภายในจังหวัด สามารถจำแนกภาษาได้ 4 กลุ่ม คือ

  • กลุ่มที่พูดภาษามลายูในชีวิตประจำวัน ได้แก่ เจ๊ะบิลัง ตำมะลัง ปูยู และฉลุง
  • กลุ่มที่พูดภาษาใต้สตูลสำเนียงควนโดน ความโดดเด่นคือ การออกเสียง และเมื่อพูดจบประโยคจะขึ้นเสียงสูง พบในพื้นที่อำเภอควนโดน ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง
  • กลุ่มที่พูดภาษาใต้สตูลสำเนียงละงู นิยมพูดในหลายตำบลของละงู
  • กลุ่มที่สำเนียงภาษาใต้ มีความคล้ายคลึงกับจังหวัดพัทลุง ตรัง สงขลา และนครศรีธรรมราช

สาเหตุที่ภาษาถิ่นจังหวัดสตูลมีลักษณะสำเนียงคล้ายกับพัทลุงและสงขลา เพราะมีพรมแดนติดต่อกันจึงมีการเคลื่อนย้ายข้ามพื้นที่เพื่อติดต่อกันด้านต่าง ๆ จึงส่งอิทธิพลด้านภาษาระหว่างกัน

ด้านภาษามลายูถิ่นสตูล สามารถกล่าวได้ว่าเป็นสำเนียงหนึ่งของภาษามลายู ที่ใช้ในการสื่อสารบริเวณภาคตะวันตกของมาเลเซียในรัฐเกดาห์ (ไทรบุรี) รัฐปีนัง รัฐปะลิส รวมถึงตอนเหนือในรัฐเปรัค อย่างไรก็ดีภาษาถิ่นมลายูสตูลเป็นภาษามลายูที่มีสําเนียงแบบภาคใต้ฝั่งทะเลตะวันตก ซึ่งมีการออกเสียงแตกต่างจากภาษามลายูถิ่นปัตตานี แต่สามารถสื่อสารระหว่างกันกับผู้ใช้ภาษามลายูถิ่นปัตตานี

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กลุ่มวัฒนธรรมร่วมสมัย (ย่านเมืองเก่าสตูล)

ท่ามกลางการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมร่วมสมัยที่เชื่อมโยงกับแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มีการรวม“กลุ่ม” เพื่อสร้างกิจกรรมหลากหลายลักษณะ ให้เกิดขึ้นในชุมชนย่านเมืองเก่าสตูล กลุ่มที่เกิดขึ้นมีที่มาจากผู้สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและเมือง วัฒนธรรมเมือง หรือเป็นผู้สนใจด้านศิลปะหลากหลายแขนง อาทิ ภาพถ่าย กราฟิตี้ การวาด โดยมุ่งหมายเพื่อทำให้เมืองกลับมีชีวิตชีวา สมาชิกกลุ่มจึงมีความหลากหลายด้านเพศ วัย ประสบการณ์ ทั้งผู้ที่อาศัยในย่านเมืองเก่าและนอกพื้นที่ ทว่ากลุ่มที่ตั้งขึ้นอาจจะไม่ต้องใช้พื้นที่ทางกายภาพในเชิงสำนักงานในการทำงานร่วมกัน แต่ใช้พื้นที่เครือข่ายออนไลน์ในการสื่อสาร แลกเปลี่ยนความรู้มุมมองระหว่างกัน การจัดกิจกรรมในย่านเมืองเก่าของหลายกลุ่ม นำไปสู่การกระตุ้นให้ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงชุมชนย่านเมืองเก่า ร่วมการสร้างพื้นที่ย่านเมืองเก่าให้เป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมร่วมสมัย กลุ่มต่าง ๆ อาทิ

ปรมัตถ์ กิจพิทักษ์ (2564). โครงการวางผังเเม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีย่านเมืองเก่าสตูล. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง.

สุพล จินตเมฆา พัชลินจ์ จีนนุ่น และปรียารัตน์ เชาวลิตประพันธ์. (2563). ภาษา ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และสภาพสังคมวัฒนธรรมภาพสะท้อนจากภูมินามหมู่บ้านในจังหวัดสตูล.วารสารวิชาการและวิจัย ม.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดสตูล. (2561). เมืองเก่าสตูล. จาก https://culturalenvi.onep.go.th/

เทศบาลเมืองสตูล. (ม.ป.ป.). ข้อมูลพื้นฐาน. จาก https://www.stm.go.th/public/

สำนักงานจังหวัดสตูล. (ม.ป.ป.).  ประวัติความเป็นมาของจังหวัด. จาก https://www.satun.go.th/

สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดสตูล. (2533). รวมเรื่องเมืองสตูล ที่ระลึกครบรอบ 150 ปี. จาก https://clib.psu.ac.th/ebookgen/

ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ. (ม.ป.ป.). อุทยานธรณีโลกสตูล. จาก http://https://www.navanurak.in.th/satungeopark/

โครงการจัดทำแผนแม่บทฯ เมืองเก่าสตูล. จาก https://www.facebook.com/

เมืองเก่าสตูล. จาก https://www.facebook.com/

ทม.สตูล โทร. 0-7471-1012