Advance search

ชุมชนไทยใหญ่บ้านปางหมูเป็นชุมชนไทยใหญ่แห่งแรกก่อนการสร้างเมืองแม่ฮ่องสอน เป็นชุมชนที่สมาชิกในชุมชนยังรักษามรดกทางวัฒนธรรมทั้งรูปธรรมและนามธรรมให้คงอยู่คู่กับชุมชน อาทิ วัดปางหมู พระธาตุปางหมู หอเจ้าเมิง เสาใจบ้าน รวมถึงขนบ ธรรมเนียม ประเพณี ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สะท้อนความเป็นชาวไทยใหญ่

หมู่ที่ 1
บ้านปางหมู
ปางหมู
เมืองแม่ฮ่องสอน
แม่ฮ่องสอน
อบต.ปางหมู โทร. 0-5361-3341
ธำรงค์ บริเวธานันท์
24 เม.ย. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
25 เม.ย. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
25 เม.ย. 2024
บ้านปางหมู

พื้นที่บริเวณที่ตั้งชุมชนมีดินโป่งกระจายในพื้นที่ เป็นที่ที่หมูป่าลงมากินดินโป่งจำนวนมาก จึงตั้งชื่อชุมชนว่า “บ้านโป่งหมู” ภายหลังเรียกเพี้ยนเป็น “ปางหมู” ซึ่ง “ปาง” หมายถึง ที่พัก จึงเรียกชื่อเป็นบ้าน “ปางหมู” 


ชุมชนไทยใหญ่บ้านปางหมูเป็นชุมชนไทยใหญ่แห่งแรกก่อนการสร้างเมืองแม่ฮ่องสอน เป็นชุมชนที่สมาชิกในชุมชนยังรักษามรดกทางวัฒนธรรมทั้งรูปธรรมและนามธรรมให้คงอยู่คู่กับชุมชน อาทิ วัดปางหมู พระธาตุปางหมู หอเจ้าเมิง เสาใจบ้าน รวมถึงขนบ ธรรมเนียม ประเพณี ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สะท้อนความเป็นชาวไทยใหญ่

บ้านปางหมู
หมู่ที่ 1
ปางหมู
เมืองแม่ฮ่องสอน
แม่ฮ่องสอน
58000
19.35829
97.96409
องค์การบริหารส่วนตำบลปางหมู

สมัยรัชกาลที่ 3 ปี พ.ศ. 2374 มีกลุ่มชาติพันธุ์ไทยใหญ่ตั้งบริเวณพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ขึ้นกับนครเชียงใหม่ ด้านทิศตะวันตก ระยะทางห่างนครเชียงใหม่ราว 15 วัน เดิมเป็นกลุ่มที่ตั้งถิ่นฐานบริเวณเขตรัฐฉาน ประเทศเมียนมาร์  อพยพมายังดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบัน ประกอบกับพระเจ้าโหตรประเทศราชาธิบดินทร์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ต้องการทราบเกี่ยวกับพื้นที่ป่าบริเวณชายแดนของนครเชียงใหม่ จึงสั่งการให้เจ้าแก้วเมืองมา นำแม่ทัพนายกองมาตรวจพื้นที่บริเวณชายขอบ เมื่อกองทัพเดินทางมาถึงได้หยุดักบริเวณป่าใกล้กับแม่น้ำปาย และพบว่าพื้นที่บริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ และมีดินโป่งกระจายในพื้นที่มีหมูป่าลงมากินดินโป่งจำนวนมาก จึงเรียกชาวไทยใหญ่ที่อาศัยบริเวณโดยรอบมาพูดคุยหารือเพื่อตั้งชุมชนในพื้นที่ กลุ่มชาวไทยใหญ่เห็นดีด้วยตามคำแนะนำจึงย้ายมาตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชน และมีการเลือกหัวหน้าชุมชนจากชาวไทยใหญ่ ซึ่งเป็นผู้มีฐานะดีกว่าคนอื่น ชื่อ “พะกาหม่อง” มาดูแลปกครองหมู่บ้าน จากนั้น พะกาหม่อง ได้ออกชักชวนกลุ่มชาวไทยใหญ่บริเวณข้างเคียงให้มาร่วมกันตั้งถิ่นฐานกระทั่งชุมชนมีขนาดใหญ่ จึงตั้งชื่อชุมชนว่า “บ้านโป่งหมู” ภายหลังเรียกเพี้ยนเป็น “ปางหมู” ซึ่ง “ปาง” หมายถึง ที่พัก จึงเรียกชื่อเป็นบ้าน “ปางหมู” เรื่อยมา

บ้านปางหมู เป็นชุมชนเกษตรกรรม และชุมชนชาติพันธุ์ของชาวไทใหญ่ เป็นชุมชนที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ตั้งอยู่ในหุบเขาอยู่ห่างจากอำเภอขุนยวม ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำปายไหลผ่าน ทำให้พื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การทำการเกษตร มีพื้นที่ป่าชุมชนอยู่ภายใต้การดูแลของอุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุรินทร์ เนื้อที่ชุมชนราว 2,500 ไร่ เป็นเนื้อที่ในการพักอาศัยราว 300 ไร่ สามารถเข้าถึงชุมชนได้ 2 เส้นทาง คือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1095 แม่ฮ่องสอน - เชียงใหม่ ถนนสายเลี่ยงเมืองหมายเลข 108 ระยะทาง 6 กิโลเมตร ที่ตั้งและอาณาเขตติดต่อของหมู่บ้าน คือ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านกุงไม้สัก
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุรินทร์
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านทุ่งกองมู
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านในสอย

ลักษณะภูมิอากาศ ฤดูร้อนอากาศร้อนจัด ฤดูหนาวอากาศหนาวจัด ฝนตกชุกในฤดูฝน และมีหมอกปกคลุมตลอดปี

  • ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่ กลางเดือนกุมภาพันธ์ ถึง กลางเดือนพฤษภาคม อากาศร้อนอบอ้าว
  • ฤดูฝน เริ่มช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ถึง เดือนตุลาคม ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้  ทำให้ฝนตกชุกช่วง  เดือนสิงหาคม
  • ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม ถึง กลางเดือนกุมภาพันธ์ ได้รับอิทธิพลความกดอากาศสูงจากประเทศจีน 

ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยใหญ่ซึ่งชนพื้นเมืองดั้งเดิมของชุมชนบ้านปางหมู จากข้อมูลสถิติจำนวนประชากรบ้านปางหมู เดือนเมษายน 2567 จำแนกประชากรดังนี้

  • จำนวนบ้าน 1,332 หลัง
  • ประชากรเพศชาย 1,314 คน
  • ประชากรเพศหญิง 1,253 คน
  • รวมทั้งสิ้น 2,567 คน

จิรพันธ์ ทองเจริญ. (2552) ศึกษาลักษณะทางสังคมและประชากรชุมชนบ้านปางหมู พบว่า ชาวไทยใหญ่บ้านปางหมูส่วนมากสืบขนบธรรมเนียม ประเพณี วิถีชีวิตมาจากคนไทยใหญ่ที่อพยพมาจากรัฐฉานมาอาศัยและสร้างวัฒนธรรมตั้งแต่สมัยก่อนที่จะมีการสร้างเมืองแม่ฮ่องสอน ผู้คนในพื้นที่จึงมีการดำเนินชีวิตพึ่งพาอาศัยกันแบบเครือญาติ สมาชิกในชุมชนมีความสนิทสนมรู้จักกันทั้งหมดลักษณะแบบครอบครัวใหญ่ ฝ่ายชายจะมาอยู่บ้านของฝ่ายหญิงเป็นส่วนใหญ่ หากสามารถช่วยเหลือตนเองได้ก็จะ  ได้รับแบ่งปันที่ดินจากครอบครัวของพ่อแม่ จากนั้นแยกย้ายไปประกอบอาชีพเลี้ยงครอบครัวตนเอง อย่างไรก็ดีพบว่ายังมี    การตั้งครอบครัวในบริเวณใกล้เคียงกับบ้านเดิม และในครอบครัวจะมีความรู้ด้านต่าง ๆ เช่น ด้านงานช่าง (งานสล่า)

ด้านการอบรมสั่งสอนของแต่ละครอบครัว มีการสอนให้เป็นคนดีและประพฤติตนอยู่ในศีลธรรม คนไทยใหญ่ในพื้นที่บ้านปางหมูโดยมากยึดมั่นในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะผู้สูงอายุจะตั้งมั่นในหลักธรรมตามพระพุทธศาสนา เพื่อให้บรรลุถึงนิพพาน ดังนั้นเมื่อถึงวันพระผู้คนในชุมชนมักจะหยุดกิจกรรมการทำมาหากินเพื่อไปวัด นอกจากนี้ชาวไทยใหญ่บ้านปางหมูมีการนับเครือญาติทางวัฒนธรรม กล่าวคือ ชาวไทยใหญ่จะมีการบวชสามเณร หรือ ส่างลอง หากไม่มีบุตรชายจะไปขอเป็นเจ้าภาพบวชกับลูกชายคนอื่น เรียกว่า พ่อข่ามแม่ข่าม เด็กผู้ชายที่บวชเรียกว่า ลูกข่าม เมื่อสึกจะเรียกและเป็นพ่อ แม่และลูกกัน

ไทใหญ่

ชุมชนไทใหญ่บ้านปางหมู มีการจัดตั้งองค์กรชุมชนอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อสืบทอดและรักษามรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนไทใหญ่ จิรพันธ์ ทองเจริญ. (2552) พบว่า องค์กรชุมชนที่จัดตั้งอย่างไม่เป็นทางการ เป็นการรวมกลุ่มของสมาชิกในชุมชนโดยมีพื้นฐานทางวัฒนธรรมไทใหญ่ที่โดดเด่นคือ ความเคารพในผู้อาวุโส ความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ และลักษณะความสัมพันธ์แบบเครือญาติ จึงก่อให้เกิดการจัดตั้งกลุ่มหรือองค์กรชุมชนเพื่อจัดระเบียบความสัมพันธ์ของคนในชุมชนให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข องค์กรอย่างไม่เป็นทางการในชุมชนประกอบด้วย

1.องค์กรชุมชนด้านการปกครอง ตั้งเพื่อดูแลทุกข์สุขของสมาชิกชุมชนให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข มี 3 องค์กร คือ

  • พระสงฆ์ หรือ เจ้าบุญ เกิดขึ้นจากสมาชิกชุมชนมีความเคารพในพระพุทธศาสนา จึงถือว่าพระสงฆ์เป็นตัวแทนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศูนย์รวมจิตใจของสมาชิกในชุมชน เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ การมีบทบาทในการให้คำชี้แนะ รวมถึงเป็นคนกลางประสานความร่วมมือกับผู้นำชุมชนในการทำกิจกรรมต่าง ๆ
  • ผู้อาวุโส หรือ ผู้เฒ่าผู้แก่ สมาชิกชุมชนไทใหญ่บ้านปางหมูให้ความสำคัญผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนเป็นอย่างมาก เพราะถือว่าเป็นผู้มีประสบการณ์มีองค์ความรู้ ภูมิปัญญาดั้งเดิมเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณีของไทใหญ่ จึงเป็นที่ปรึกษาของสมาชิกในชุมชน ดังนั้นผู้อาวุโสในชุมชนจึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสืบทอดและรักษามรดกทางวัฒนธรรมของชุมชน
  • กลุ่มบ้าน หัวหน้าป๊อกบ้าน ชุมชนบ้านปางหมู แบ่งกลุ่มเป็น 10 กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีผู้นำเพื่อดูแลลูกกลุ่มของตน เมื่อมีงานประเพณีต่าง ๆ ของชุมชนหัวหน้ามีหน้าที่นำลูกหลาน เข้าร่วมกิจกรรมทั้งในพื้นที่ชุมชนและชุมชนใกล้เคียง โดยมีการสลับเปลี่ยนให้เกิดการมีส่วนร่วมทุกกลุ่ม

2.องค์กรชุมชนในการปฏิบัติงานเพื่อส่วนรวม จัดตั้งขึ้นเพื่อปฏิบัติงานส่วนรวมของชุมชน มีทั้งสิ้น 7 องค์กรคือ

  • ผู้ดูแลหอเจ้าเมือง "ปู่เจ้าเมิง" ชุมชนถือว่าหอเจ้าเมิงเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นศูนย์กลางการยึดเหนี่ยวจิตใจของสมาชิกในชุมชน "ปู่เจ้าเมิง" คัดเลือกจากผู้ที่มีความรับผิดชอบและพร้อมปฏิบัติงานเพื่อส่วนรวม ปู่เจ้าเมือง ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลรักษาหอเจ้าเมืองให้สะอาดเรียบร้อยเป็นประจำทุกวัน ทำหน้าที่เปลี่ยนดอกไม้ เปลี่ยนผ้าม่านรวมถึงการเก็บกวาดทำความสะอาด รวมถึงเมื่อจัดงานประเพณี หรืองานทั้งมงคลและอวมงคลต้องบอกปู่เจ้าเมิงให้รับรู้ 
  • ผู้ดูแลวัด "ปู่จอง" เป็นผู้ให้ความช่วยเหลืองานของพระสงฆ์ "ปู่จอง" ต้องเป็นผู้ที่มีความเสียสละเพื่อส่วนรวมไม่มีภาระครอบครัว เนื่องจากต้องช่วยเหลืองานของพระสงฆ์เกือบทุกอย่าง ปู่จองเป็นผู้ดูแลวัดให้มีความสงบเรียบร้อย ทำความสะอาดวิหารและพื้นที่โดยรอบวัด
  • หอสมุนไพรไทใหญ่ "สล่ายาไต" เป็นผู้มีความรู้เกี่ยวกับยาไทใหญ่แผนโบราณ และสามารถทำพิธีอาบเดือนและสะเดาะเคราะห์ ดูฤกษ์ยามให้กับผู้คนในชุมชน ผู้ที่จะมาเป็นสล่ายาไต ต้องได้รับการถ่ายทอดสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ และเป็นผู้รักษาศีล 5 เนื่องจากผู้คนในชุมชนมีความเชื่อว่าการทำพิธีสะเดาะเคราะห์ หากผู้ทำปฏิบัติตัวไม่ดีจะทำให้พิธีกรรมที่เกิดขึ้นไม่มีความศักดิ์สิทธิ์
  • ประชาสัมพันธ์ชุมชน "หล่าส่อ" ชุมชนคัดเลือกและยอมรับว่าเป็นผู้ที่มีเสียงดีออกเสียงชัดเจน มีความเสียสละเพื่อส่วนรวม ไม่มีวาระการดำรงตำแหน่งแล้วแต่ความสมัครใจ เป็นบุคคลที่คอยแจ้งข่าวสารให้ผู้คนในชุมชนรับรู้ เป็นผู้มีบทบาทหน้าที่สำคัญในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นในชุมชนให้ผู้คนในชุมชนได้รับรู้
  • สัปเหร่อ "ป้อมจันตา" เป็นผู้มีความรู้เกี่ยวกับพิธีกรรมการเผาศพ ส่วนใหญ่ได้รับถ่ายทอดความรู้มาจากบรรพบุรุษ ขึ้นอยู่กับความสมัครใจในการทำหน้าที่ของแต่ละคน
  • ผู้ดูแลเหมือนฝาย "แก่ฝาย" เป็นผู้ที่ได้รับคัดเลือกจากกลุ่มผู้ทำนาในพื้นที่ชุมชน เพื่อดูแลเหมืองฝายของกลุ่มผู้ทำนา คัดเลือกจากผู้ชายที่มีความเสียสละ อดทน ใจเย็น และมีความรู้เกี่ยวกับพิธีกรรมการเลี้ยงเจ้าฝาย ก่อนทำการเกษตรกรรมต้องทำพิธีเลี้ยงผีเจ้าฝาย เพื่อบอกกล่าวให้น้ำท่าอุดมสมบูรณ์และพืชผลทางการเกษตรอุดมสมบูรณ์
  • กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านปางหมู เป็นการรวมกลุ่มสตรีที่อยู่ในชุมชนเพื่อช่วยเหลือการทำกิจกรรมของชุมชน สมาชิกกลุ่มเกิดจากความสมัครใจของกลุ่มผู้หญิงในการช่วยเหลือกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน หัวหน้ากลุ่มแม่บ้านเลือกจากผู้ที่มีอายุ เพื่อมาเป็นตัวแทนในการกำกับดูแล และต้องทำอาหารเก่งเป็นที่ยอมรับของผู้คนในชุมชน เมื่อมีการจัดกิจกรรมในชุมชนกลุ่มแม่บ้านมีหน้าที่เตรียมข้าวปลาอาหารเพื่อเลี้ยงดูผู้ที่มาเยือนจากต่างชุมชน
  • กลุ่มเยาวชน เป็นการรวมกลุ่มของเด็กและเยาวชนที่อาศัยในพื้นที่ชุมชน เพื่อช่วยเหลือชุมชนด้านการทำกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งกิจกรรมทางวัฒนธรรมและการเชื่อมความสัมพันธ์กับเยาวชนในต่างหมู่บ้าน หัวหน้ากลุ่มเยาวชนคัดเลือกเยาวชนผู้ชายที่มีความรับผิดชอบและเสียสละเพื่อส่วนรวม บทบาทของกลุ่มเยาวชนจะคอยช่วยเหลือกลุ่มแม่บ้าน พ่อบ้านผู้เฒ่าผู้แก่ ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ
  • กลุ่มกลองมองเชิง เป็นการรวมตัวของผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน เพื่อถ่ายทอดขนบธรรมเนียม ประเพณีและศิลปวัฒนธรรมของไทใหญ่ให้กับเด็กและเยาวชนรุ่นหลังเรียนรู้ศึกษาศิลปวัฒนธรรมไทใหญ่ เช่น ขบวนแห่กลองมองเชิง รำนกิงกะหล่า รำโต กล้าแรว การแสดงจ๊าดไต บทบาทหน้าที่ของกลุ่มกลองมองเชิง เป็นกลองที่ชาวไทใหญ่ใช้นำหน้าขบวนแห่เครื่องไทยทานในการเข้าร่วมกิจกรรมต่างหมู่บ้าน หรือตีที่บ้านเจ้าภาพเวลามีงานประเภทนี้ต่าง ๆ ในพื้นที่ชุมชน ถ้าขาดกลองมองเชิงขบวนแห่ไทยทาน "ครัวหลู่" จะไม่มีสีสัน จึงต้องใช้กลองมองเชิงในการสร้างสีสัน

ปฎิทินชีวิตในรอบ 1 ปี ของสมาชิกบ้านปางหมู มีความสัมพันธ์กับความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา ดังตารางประกอบ

ชื่อเดือนภาษาไต

ชื่อเดือนภาษาไทย

ประเพณี
เหลินเจ๋ง (เดือนอ้าย)ธันวาคมมีประเพณี "กาบซอมอู" หรือทำบุญข้าวใหม่ กล่าวคือ นำข้าวที่ได้จากการเก็บเกี่ยวมาใหม่ ๆ เตรียมอาหารหรือขนม เชิญคนเฒ่าคนแก่ไปร่วมทำบุญถวายพระที่วัดถือว่าได้บุญกุศลที่ยิ่งใหญ่
เหลินก๋ำ (เดือนยี่)มกราคมมีประเพณี "ปอยกอบซอมบุ๋ญเจ้าเข้าก๋ำ" กล่าวคือ การทำบุญ นำข้าวปลาอาหารหวานคาวไปถวายพระที่เข้าปริวาสกรรม
เหลินสาม (เดือนสาม)กุมภาพันธ์มีประเพณี "ปอยหลู๋ข้าวหย่ากู๋" หรือการบริจาคข้าวเหนี่ยวแดง โดยการนำข้าวเหนียวมานึ่งแล้วคลุกกับน้ำอ้อยให้เข้ากันดี แล้วโรยหน้าด้วยเนื้อมะพร้าวฝอย ถั่วลิสง งา จากนั้นนำไปทำบุญที่วัดและแจกเป็นทานภายในหมู่บ้าน กลางเดือนสามจะมี "ปอยโหล" กล่าวคือ งานจุดฟืนไฟในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนสาม เพื่อเป็นการรับเสด็จพระพุทธเจ้าลงจากสวรรค์มาสั่งสอนมนุษย์บนโลก
เหลินสี่ (เดือนสี่)มีนาคม-เมษายนมีประเพณี "ปอยส่างลองหรือบวชลูกแก้ว" กล่าวคือ เด็กชายครบวัยบวชสามเณรแล้วโกนผมแต่วกายเป็นส่างลอง เตรียมเครื่องไทยทานแห่ไปตามถนนสายต่าง ๆ ภายในหมู่บ้านและขึ้นไปโปรดทานตามบ้านเรือนต่าง ๆ ในหมู่บ้าน
เหลินห้า (เดือนห้า)เมษายนมีประเพณี "ขึ้นจองปีใหม่" กล่าวคือ การทำบุญเทศกาลสงกรานต์ ชาวไทยใหญ่จะเตรียมข้าวปลาอาหาร พร้อมเครื่องไทยทานไปทำบุญที่วัด สรงน้ำพระ สรงน้ำผู้เฒ่าผู้แก่ และในเย็นวันเดียวกันมีพิธีการ "กั่นตอ" คือ การขอขมาต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และผู้เฒ่าผู้แก่ภายในหมู่บ้าน
เหลินหก (เดือนหก)พฤษภาคมมีประเพณี "ปอยจ่าตี่" กล่าวคือ ประเพณีการขนทรายไปก่อเจดีย์ทรายที่วัดในวันวิสาขบูชาและร่วมกันทำบุญที่วัดหรืออาจจะมีจุดบ้องไฟเพื่อเป็นพุทธบูชา และขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาลเพื่อจักได้น้ำทำนา
เหลินเจ็ด (เดือนเจ็ด)มิถุนายนมีประเพณี "วานปริก" และ "การเลี้ยงเจ้าเมือง" กล่าวคือ การทำบุญหมู่บ้านโดยทุกๆ คน จะนำถังใส่น้ำ มีตาแหลว ไม้มงคล ด้ายสายสิญจน์ ธูปเทียน ไปรวมกันที่กลางหมู่บ้านลานเจ้าเมือง เพื่อประกอบพิธีขอขมาเจ้าเมือง
เหลินแปด (เดือนแปด)กลางเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมมีประเพณีออกหว่า คือ ทำบุญวันเข้าพรรษามีการถวายดอกไม้ ถวายผ้าจำพรรษา
เหลินเก้า (เดือนเก้า)กลางเดือนสิงหาคม-กันยายนมีประเพณี "ต่างซอมต่อโหลง" กล่าวคือ การทำบุญถวายข้าวมธุปายาส ชาวบ้านจะร่วมกันนำข้าวสาร ดอกไม้ ขนมหวาน ผลไม้ และสิ่งของต่าง ๆ มารวมกันจัดประดับตกแต่งวางบนโต๊ะ ทำพิธีบูชาพระพุทธเจ้า พระสงฆ์ทำพิธี มีการฟังเทศน์ ถวายเครื่องไทยทานแด่พระสงฆ์ และเลี้ยงอาหารคนเฒ่าคนแก่ที่มาภาวนาจำศีลเนื่องในวันธรรมสวนะภายในพรรษา เรียกว่า โมยโจย
เหลินสิบ (เดือนสิบ)กลางเดือนกันยายน-ตุลาคมมีการทำบุญถวายข้าว ปลา อาหาร แด่พระสงฆ์ในวันพระ มีการทำบุญถวายมหาตุ๊ก คือนิมนต์พระสงฆ์ไปทำบุญที่บ้าน ฟังเทศน์ ถวายเครื่องไทยทาน รับศีลรับพร
เหลินสิบเอ็ด (เดือนสิบเอ็ด)กลางเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนมีประเพณี "แฮนซอมโก่จา" คือ การทำบุญอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วในรอบปี โดยจะมาร่วมกันทำบุญที่วัด นอกจากนี้มีประเพณี "ออกหว่า หรืองานบุญปอยเหลินสิบเอ็ด" คือ การทำบุญออกพรรษา มีการจัดทำขนมหวาน อาหาร นำไปทำบุญที่วัด ขอขมาบิดามารดา ญาติผู้ใหญ่ พระสงฆ์ มีการแห่จองพาราหรือปราสาทพระไปถวายที่วัดหรือประดับบูชาไว้หน้าบ้านเรือน จัดทำของตน เป็นนัยว่าเป็นเครื่องรับเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จสู่โลกมนุษย์
เหลินสิบสอง (เดือนสิบสอง)กลางเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมมีประเพณี "หลู่ส่างกานคำ" กล่าวคือ ชาวบ้านจะช่วยกันตัดจีวรผืนใหญ่ประดับประดาด้วยกระดาษ ดอกไม้ เพื่อนำไปถวายห่มพระพุทธรูปในพระอุโบสถ และมีประเพณี ส่างกานกฐินหรือทอดกฐิน ประเพณีแห่เตนหง คือ ถวายเทียน 1,000 เล่ม นำเทียนจัดใส่ถาดหรือจานแห่ไปตามวัด จุดเทียนในบริเวณวัด รับศีลรับพร และเมื่อสิ้นสุดเดือนสิบสองจะมีงานปอยก๋อยจ๊อด หรือประเพณีดับไฟเทียน เมื่อสิ้นฤดูกาลออกพรรษาชาวบ้านจะนำไม้เกี๊ยะ (ไม้สน) มามัดรวมเป็นลำใหญ่ ๆ ตกแต่งสวยงามนำไปแห่ขบวนภายในหมู่บ้าน แล้วจุดถวายเป็นพุทธบูชาที่วัดภายในหมู่บ้าน เป็นการสิ้นสุดเทศกาลปี

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภูมิปัญญาท้องถิ่นในฐานะทุนชุมชนบ้านปางหมู          

ภูมิปัญญาชุมชนเกิดขึ้นการคิดค้นและเกิดจากประสบการณ์ในวิถีชีวิต ซึ่งชาวไทยใหญ่มีอัตลักษณ์การดำรงชีวิต การพูด การแต่งการ อาหาร การประดิษฐ์เครื่องใช้ทั้งที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวันและความจำเป็นในการประกอบอาชีพ จนนำไปสู่ลักษณะเครื่องมือใช้ชนิดต่าง ๆ เช่น

  • ภูมิปัญญาด้านศาสนา ชาวไทยใหญ่มีความเคารพและเคร่งครัดในทางพระพุทธศาสนา ดังนั้นการประดิษฐ์หรือการสร้างสัญลักษณ์เพื่อบูชาพระพุทธเจ้าจึงเป็นของสูง เช่น รูปลักษณะของพระพุทธรูปมีลักษณะงดงาม การประดิษฐ์จองพาราเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา การต้องลายดอกนอนเครือเพื่อประดับตามวัด วิหารและพระเจดีย์ต่าง ๆ เป็นต้น

  • ภูมิปัญญาด้านการแต่งกาย ชาวไทยใหญ่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะอย่างในเรื่องของการแต่งกายทั้งการแต่งกายของผู้ชายและการแต่งกายผู้หญิงเป็นเสื้อไต ซึ่งใส่ได้ทุกเทศกาลโดยเฉพาะงานบุญพิธีเป็นต้น

  • ภูมิปัญญาด้านหัตถกรรม ชาวไทยใหญ่อาศัยการคิดและประสบการณ์ในการดำเนินชีวิตว่าจะทำอย่างไรจะมีเครื่องมือหรืออุปกรณ์มาช่วยในการดำเนินชีวิต เช่น การสานกุ๊บ เพื่อบังแดด การสารก๋วย เพื่อขนสัมภาระข้าวของและเครื่องจักสานชนิดต่าง ๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน การสร้างเครื่องหีบน้ำมันงา โดยใช้พลังงานจากสัตว์ (วัวหรือควาย) และการใช้พลังงานจากน้ำและการทำถั่วเน่าแผน เป็นต้น

  • ภูมิปัญญาด้านการรักษาโรค ชาวไทยใหญ่มีภูมิปัญญาด้านการรักษาโรคที่สืบทอดองค์ความรู้มาตั้งแต่บรรพบุรุษ จึงสามารถปรุงยาชนิดต่าง ๆ เพื่อรักษาโรคร่วมถึงยาต้มด้วย ปัจจุบันหาผู้รู้เรื่องยาในหมู่บ้านหาได้น้อยเต็มที่แล้ว เนื่องจากเวชภัณฑ์ที่ทันสมัย ผนวกกับบุตรหลานไม่ค่อยให้ความสนที่จะสืบทอดองค์ความรู้ด้านยา
  • ภูมิปัญญาด้านศิลปะ วัฒนธรรมและงานประเพณีต่าง ๆ ชาวไทยใหญ่มีงานศิลปะที่มีชื่อเสียงในหลาย ๆ ด้าน เช่น การต้องลาย เพื่อบรรจงลวดลายให้สวยงามถวายเป็นพุทธบูชา การตัดกระดาษเป็นจองพารา เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาวันออกพรรษา การสร้างจองผ่องส่างอุ๊กปุ๊ก (กระทงไทยใหญ่) วันงานสิบสองล่องผ่องไตหรือวันลอยกระทง และมีวัฒนธรรมการลักษณะอาหารและขนมเฉพาะอย่างของชาวไทยใหญ่ที่หาทานได้เฉพาะชุมชนหรือหมู่บ้านที่มีชาวไทยใหญ่อาศัยอยู่เท่านั้น ส่วนภูมิปัญญาด้านงานประเพณีนั้นปรากฏตามประเพณี 12 เดือนของชาวไทยใหญ่แล้ว

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

จิรพันธ์ ทองเจริญ. (2552). การจัดการมรดกทางวัฒนธรรม : กรณีศึกษาชุมชนไทยใหญ่บ้านปางหมู จังหวัดแม่ฮ่องสอน. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. จาก https://doi.nrct.go.th/

กองจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม. (ม.ป.ป.). บ้านปางหมู. จาก https://culturalenvi.onep.go.th/site/detail/881

ปางหมู.com. (ม.ป.ป.). หมู่บ้านปางหมู. จาก https://ปางหมู.com/

อบต.ปางหมู โทร. 0-5361-3341