ชุมชนริมน้ำบ้านหนองบัว เป็นชุมชนที่มีการตั้งถิ่นฐานอยู่ร่วมกันในบริเวณริมลำน้ำจรเข้สามพัน สมาชิกของชุมชนมีการดำรงชีวิตภายใต้ความสมดุลระหว่างชุมชนกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของชุมชน ก่อเกิดเป็นการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมรวมถึงประวัติศาสตร์ของชุมชน
บ้านหนองบัว เป็นหนึ่งในกลุ่มบ้านที่ร่วมภูมิทัศน์วัฒนธรรมริมคุ้งน้ำจรเข้สามพัน ประกอบด้วย บ้านหนองบัว บ้านวังหลุมพองและบ้านปทุมทอง ประวัติการตั้งถิ่นฐานของ บ้านหนองบัว ไม่เป็นที่แน่ชัด มีเพียงเรื่องเล่าว่า บริเวณด้านตะวันออกของชุมชนมีหนองน้ำใหญ่ มีชื่อว่า “หนองบัว” ซึ่งหนองน้ำตั้งอยู่บนแนวคันดินโบราณ ใช้เป็นทำนบเก็บน้ำไม่ไหลลงจระเข้สามพัน รวมถึงใช้ในการชะลอน้ำเพื่อการทำนาช่วงปลายฤดูฝนมาแต่โบราณ จึงเป็นที่มาของชื่อ “บ้านหนองบัว”
ชุมชนริมน้ำบ้านหนองบัว เป็นชุมชนที่มีการตั้งถิ่นฐานอยู่ร่วมกันในบริเวณริมลำน้ำจรเข้สามพัน สมาชิกของชุมชนมีการดำรงชีวิตภายใต้ความสมดุลระหว่างชุมชนกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของชุมชน ก่อเกิดเป็นการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมรวมถึงประวัติศาสตร์ของชุมชน
บ้านหนองบัว เป็นหนึ่งในกลุ่มบ้านที่ร่วมภูมิทัศน์วัฒนธรรมริมคุ้งน้ำจระเข้สามพัน ประกอบด้วยบ้านหนองบัว บ้านวังหลุมพองและบ้านปทุมทอง ประวัติการตั้งถิ่นฐานของ บ้านหนองบัว ไม่เป็นที่แน่ชัด มีเพียงเรื่องเล่า ว่า บริเวณด้านตะวันออกของชุมชนมีหนองน้ำใหญ่ มีชื่อว่า “หนองบัว” ซึ่งหนองน้ำตั้งอยู่บนแนวคันดินโบราณ ใช้เป็นทำนบเก็บน้ำไม่ไหลลงจระเข้สามพัน รวมถึงใช้ในกาชะลอน้ำเพื่อการทำนาช่วงปลายฤดูฝนมาแต่โบราณ จึงเป็นที่มาของชื่อ “บ้านหนองบัว”
ด้านการปกครอง ปี พ.ศ. 2445 หลังจากการปฏิรูประเบียบการบริหารราชการแผ่นดินบ้านจระเข้สามพัน แยกตัวจากอำเภอสองพี่น้อง และได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอจระเข้สามพัน ซึ่งขณะนั้นบ้านหนองบัว เดิมมีฐานะเป็นตำบลหนองบัว แต่การลดฐานะเป็นหมู่บ้าน และย้ายที่ทำการไปยังอำเภออู่ทอง
สมัยรัชกาลที่ 6 พ.ศ. 2456 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัตินามสกุล ชาวบ้านหนองบัว มีการตั้งและใช้นามสกุล “ปทุมสูติ” หมายถึง เกิดจากดอกบัว ให้สอดคล้องกับพืชพรรณธรรมชาติที่พบมากในชุมชน
อย่างไรก็ดีประวัติศาสตร์ชุมชนบ้านหนองบัว มิได้แยกเป็นเอกเทศพื้นที่ภูมิวัฒนธรรมโดยรอบ บริเวณเดียวกันมีการตั้งถิ่นฐานของหมู่บ้านชื่อ”บ้านวังหลุมพอง” ซึ่งสันนิษฐานว่า มาจากชื่อปลาเนื้ออ่อนที่พบในลน้ำชื่อ “ปลาหลุมพอง” จึงเป็นที่มาของชื่อ “บ้านวังหลุมพอง” ทั้งสองหมู่บ้านเห็นพ้องร่วมกันในการย้ายวัดหนองบัวจากที่เดิมมาตั้งระหว่างกลางของทั้ง 2 หมู่บ้าน ตั้งชื่อวัดใหม่ว่า “วัดปทุมวนาราม” โดยมีหลวงพ่ออาจ เป็นสมภารรูปแรกและเป็นผู้นำในการก่อตั้งวัด
ช่วง ปี พ.ศ. 2538 มีการแยกหมู่บ้าน จากเดิม 2 หมู่บ้าน เป็น 3 หมู่บ้าน ซึ่งหมู่บ้านแห่งใหม่มีชื่อว่า “บ้านปทุมทอง” แยกมาจาก “บ้านวังหลุมพอง” ถึงแม้ว่ามีการแยกหมู่บ้านแต่ระบบความสัมพันธ์ของคนในชุมชนทั้ง 3 หมู่บ้านยังคงแนบแน่น และในปีเดียวกันนี้มีการสร้างวัดอีกหนึ่งแห่ง ด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้าน บริเวณวัดเขาไผ่ล้อม ตั้งชื่อว่า “วัดหนองบัว” เช่นเดียวกับชื่อหมู่บ้าน ปัจจุบันยังคงมีการเรียกชื่อหมู่บ้านที่คล้องจองกันคือ “บ้านหลุมพองหนองบัว”
วรนุช จำปานิล (2552) สรุปประวัติศาสตร์และสภาพทั่วไป ชุมชนริมน้ำบ้านหนองบัว บ้านวังหลุมพอและบ้านปทุม โดยจำแนก 4 ด้าน ดังนี้ 1) ด้านประวัติศาสตร์ 2) ลักษณะทางกายภาพ 3) ลักษณะทางเศรษฐกิจ 4) ลักษณะทางสังคม ดังตารางต่อไปนี้
ประวัติศาสตร์ | ลักษณะทางกายภาพ | ลักษณะทางเศรษฐกิจ | ลักษณะทางสังคม |
พื้นที่ตั้งของชุมชนมีร่องรอยการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่สมัยเมืองโบราณอู่ทอง จากความเหมาะสมด้านสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ "บ้านหนองบัว" และ "บ้านวังหลุมพอง" จึงเป็น 2 ชุมชนแรก ที่ตั้งถิ่นฐานริมลำน้ำจรเข้สามพัน | ลักษณะทางกายภาพที่ก่อให้เกิดภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรม คือ ที่ราบลอนฟูกส่งผลให้เกิดที่ราบลุ่มสลับกับที่ดอน โดยมีลำน้ำจรเข้สามพันไหลผ่านและพบภูเขาขนาดเล็กอยู่ในชุมชนเขาไผ่ล้อม | ลักษณะทางเศรษฐกิจชุมชนมีพื้นฐานทางเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยมีอ้อยและข้าวเป็นพืชหลักของชุมชน | ประชากรในชุมชนส่วนใหญ่เป็นคนภาคกลางมีความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนารวมไปถึงความเชื่อต่อสิ่งเหนือธรรมชาติ |
จากความเหมาะสมของพื้นที่ในการทำนาและทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ต่อการดำรงชีวิต ภายหลังจึงมีการแบ่งเขตการปกครองออกจาก "บ้านวังหลุมทอง" เพิ่มเป็น "บ้านปทุมทอง" อีก 1 หมู่บ้าน | ด้านการตั้งบ้านเรือนมีกลุ่มบ้านเกาะ กลุ่มริมลำน้ำจรเข้สามพัน และเกาะกลุ่มไปตามเส้นทางคมนาคมที่พัฒนามาจากทางเกวียน รวมไปถึงการกระจายตัวของศาสนสถานในพื้นที่เกษตรกรรม คือ วัดปทุมวนารามและวัดหนองบัว | การเลือกปลูกอ้อยหรือข้าวมีกลไกราคาผลผลิตเป็นตัวกำหนด รองลงมาคือ รายได้จากงานหัตถกรรมทอผ้า นอกจากนี้ยังมีการท่องเที่ยวชุมชนเกษตรเชิงอนุรักษ์ในชุมชน | ชุมชนมีร่องรอยของวัฒนธรรมท้องถิ่น สืบทอดมาจากอดีต คือ การละเล่นพวงมาลัย แต่ปัจจุบันขาดคนสืบทอด |
ระบบชลประทานเชื่อมโยงเข้ากับลำน้ำจระเข้สามพัน หล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตรกรรมได้ตลอดปี ปัจจุบันไร่อ้อยเป็นพืชหลักของชุมชน รองลงมาคือ นาข้าว | ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนเป็นรูปแบบของสังคมเครือญาติ มีนามสกุลเหมือนกัน คือ ตระกูลปทุมสูตร และปทุมสูติ |
บ้านหนองบัว หมู่ที่ 1 อยู่ภายใต้การดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบลจรเข้สามพัน พื้นที่ของชุมชนส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมเพาะปลูกข้าวและอ้อย หมู่บ้านตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของที่ว่าการอำเภออู่ทอง ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร โดยเส้นทางหลวงหมายเลข 321 (ถนนมาลัยแมน) และเส้นทางหลวงหมายเลข 3342 (ถนนอู่ทอง-บ่อพลอย) โดยมีอาณาเขตพื้นที่ติดต่อ ดังต่อไปนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านจรเข้สามพัน หมู่ที่ 4
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านทุ่งยายฟัก หมู่ที่ 10 และ บ้านเขาวงพาทย์ หมู่ที่ 11
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านเขาชานหมาก หมู่ที่ 8
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี
และจากลักษณะทางกายภาพที่เป็นที่ราบลอนฟูกและมีเส้นทางน้ำจระเข้สามพันไหลผ่านพื้นที่ วรนุช จำปานิล (2552) พบว่า ชุมชนมีรูปแบบการตั้งถิ่นฐานดังนี้
- ชุมชนยุคแรกตั้งถิ่นฐานบริเวณคุ้งน้ำคดเคี้ยว ตั้งถิ่นฐานรวมกันเป็นกลุ่มตามเส้นทางน้ำจระเข้สามพัน กลุ่มบ้านขนาดใหญ่ริมน้ำฝั่งตะวันออกคือ บ้านหนองบัว และ บ้านวังหลุมพอง การตั้งถิ่นฐานรูปแบบนี้สะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างการดำรงชีวิตกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ
- รูปแบบการตั้งถิ่นฐานตามเส้นทางคมนาคมที่พัฒนามาจากทางเกวียน ชุมชนขยายตัวจากเดิมที่ตั้งเป็นกลุ่มริมเส้นทางน้ำ โดยการตั้งถิ่นฐานรวมเป็นกลุ่มไปตามทางเกวียนเดิม ซึ่งเป็นเส้นทางเข้าสู่พื้นที่เกษตรกรรม ลักษณะนี้ทำให้เกิดเป็นกลุ่มบ้านหลัก ซึ่งแสดงถึงการพัฒนาพื้นที่เกษตรกรรมในชุมชน
- รูปแบบการตั้งถิ่นฐานตามเส้นทางคมนาคมในพื้นที่เกษตรกรรม ชุมชนที่เกิดในช่วงหลังมีการตั้งถิ่นฐานตามเส้นทางคมนาคมที่พัฒนามาจากทางเกวียน รวมถึงเส้นทางเลียบคลองชลประทานหลังจากการขุดลอกลำน้ำจระเข้สามพัน โดยมีพื้นที่เกษตรกรรมอยู่ด้านหลังหรือรอบบริเวณบ้าน
- รูปแบบการตั้งถิ่นฐานกระจายตัวบนพื้นที่เกษตรกรรม การตั้งถิ่นฐานกระจายในพื้นที่ไร่นาเพื่อความสะดวกต่อการดูแล พืชผลทางการเกษตร การตั้งถิ่นฐานรูปแบบนี้สะท้อนความเป็นชุมชนเกษตรกรรมที่ตั้งอยู่บนที่ดอน
ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนดั้งเดิมอาศัยในพื้นที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น รวมถึงมีการแต่งงานกับคนไทยเชื้อสายจีนตั้งถิ่นฐานในชุมชน ด้านวิถีชีวิตประเพณี วัฒนธรรมของชุมชนมีลักษณะเช่นเดียวกับชุมชนหมู่บ้านภาคกลางในสังคมไทยที่ประเพณีต่าง ๆ มีความสัมพันธ์กับพระพุทธศาสนา ประเพณีและวันสำคัญได้แก่ วันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ การทำบุญวันเข้าพรรษา การแห่เทียนพรรษา วันออกพรรษา การตักบาตรเทโว วันสารทจีน วันสารทไทย รวมถึงวันสำคัญทางศาสนาในรอบปี
จำนวนประชากร หมู่ที่ 1 บ้านหนองบัว ตำบลจรเข้สามพัน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ณ เดือนเมษายน พ.ศ. 2567 เก็บข้อมูลโดยสำนักบริหารงานทะเบียน กรมการปกครอง พบว่ามีจำนวนประชากรรวม 751 คน แบ่งเป็นประชากรเพศชายจำนวน 365 คน เพศหญิง 386 คน และมีจำนวนหลังคาเรือน รวมทั้งสิ้น 256 หลัง
กลุ่มทางสังคมในชุมชน
กลุ่มคนที่มีความหลากหลายในชุมชนเป็นแรงขับเคลื่อนของชุมชน เพราะเป็นกลไกทำให้กิจกรรมด้านต่าง ๆ ของชุมชนสามารถขับเคลื่อนซึ่งประกอบด้วยสมาชิกชุมชนหลากหลายวัยและหลากหลายอาชีพและขณะเดียวกันแต่ละกลุ่มต่างมีพื้นที่ในการดำเนินชีวิตทั้งแตกต่างและซ้อนทับกัน วรนุช จำปานิล (2552) จำแนกกลุ่มในชุมชนดังนี้
- กลุ่มวัยเด็ก กลุ่มเด็กเข้ามามีบทบาทบางส่วนในการช่วยเหลืองานของชุมชน อาทิ การช่วยเหลือผู้ใหญ่เตรียมงานพิธีกรรมทางศาสนา การร่วมประกอบพิธีกรรม อย่างไรก็ดีถึงแม้ว่ากลุ่มเด็กจะยังไม่สามารถช่วยเหลืองานได้มากนักแต่ในด้านหนึ่งเป็นกระบวนการการถ่ายทอดทางสังคมจากรุ่นสู่รุ่น พื้นที่ของกลุ่มเด็กคือ โรงเรียน สนามเด็กเล่นในโรงเรียน ลานวัด ที่โล่ง ลานบ้าน
กลุ่มผู้ใหญ่มีการรวมตัวเป็นกลุ่มอาชีพ เช่น กลุ่มเกษตรกร กลุ่มชาวนา กลุ่มชาวไร่ กลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ กลุ่มหัตถกรรม
- กลุ่มเกษตรกร เป็นกลุ่มอาชีพที่เข้าไปทำงานยังเรือกสวนไร่นาของตน ช่วงเย็นกลับสู่ที่พักขณะกลับบ้านมีการทักทายสอบถาม พูดคุยตามรายทาง พื้นที่ของกลุ่มนี้มักจะใช้ใต้ถุนบ้านเป็นที่พักผ่อนหรือพบปะคนในชุมชน แต่บ้างก็ใช้พื้นที่โรงเรียนในการพบปะระหว่างกลุ่มขณะรับบุตรหลานที่โรงเรียน
- กลุ่มสตรีทอผ้า กลุ่มทอผ้ามักเป็นสตรีในชุมชนที่ใช้ใต้ถุนบ้านหรือพื้นที่ในบริเวณบ้านเป็นพื้นที่ในการทำกิจกรรมทอผ้าเพื่อเสริมรายได้ แต่บางส่วนมีการร่วมทอผ้าหลังจากเว้นว่างจากการทำการเกษตร
- กลุ่มผู้สูงวัย กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีการสั่งสมความรู้จากประสบการณ์การทำงานจากที่ผ่านมา ปัจจุบันทำกิจกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ อาทิ ปลูกผักสวนครัว เลี้ยงหลาน พบปะพูดคุยระหว่างกลุ่มผู้สูงวัย ทำหน้าที่หลักในการประกอบพิธีกรรม พื้นที่ที่มักใช้เป็นที่พบปะกัน เช่น ลานวัด ใต้ถุนบ้าน
ทุนชุมชนสถาปัตยกรรมอาคารบ้านเรือน
เรือนไทยภาคกลาง
เรือนไทยในชุมชนบ้านหนองบัวและชุมชนข้างเคียง เน้นประโยชน์การใช้สอยเพื่อเป็นเรือนพักอาศัยมีทั้งเรือนครอบครัวเดี่ยวและเรือนหมู่ที่ปลูกสร้างในบริเวณเดียวกันหลายหลังแบบครอบครัวขยาย ลักษณะเป็นเรือนไทยชั้นเดียวยกพื้นใต้ถุนสูงจากพื้นดินประมาณพ้นศีรษะ เพื่อใช้เป็นพื้นที่ในการทำกิจกรรม เช่น การทอผ้าเมื่อเว้นว่างจากการทำนา การเลี้ยงดูลูกหลานของผู้สูงวัย การนอนหลับพักผ่อน เพื่อใช้ที่การเก็บเครื่องมือการเกษตร รวมถึงเลี้ยงสัตว์จำพวกสัตว์ปีกซึ่งสอดคล้องกับวิธีชีวิตแบบเกษตรกรรม
เรือนขยาย เป็นรูปแบบเรือนไทยหรือผสมผสานกับเรือนพื้นบ้านทั่วไป เรือนไทยในชุมชนมีจำนวนมากซื้อเรือนเก่าจากที่อื่น จากนั้นนำมาปรับปรุงต่อเติมกั้นพื้นที่ชั้นล่างเพื่อรองรับการใช้สอยที่หลากหลาย โดยมากเป็นการต่อเติมห้องครัว ห้องน้ำและห้องนอน
เรือนไทยภาคกลางในชุมชนจึงเป็นการสะท้อนพัฒนาการภูมิปัญญาของมนุษย์ในด้านที่อยู่อาศัยและการออกแบบให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติรวมถึงการใช้วัสดุธรรมชาติ เรือนไทยริมลำน้ำจระเข้สามพันมักประสบปัญหาช่วงฤดูน้ำหลากดังนั้นบ้านเรือนในละแวกนี้จึงยกพื้นใต้ถุนสูงซึ่งเป็นความโดดเด่นของสถาปัตยกรรมเรือนไทยภาคกลาง
ทุนวัฒนธรรมด้านศาสนสถานและความเชื่อ
- วัดปทุมวนาราม อยู่คู่กับชุมชนมายาวนาน วัดตั้งอยู่บริเวณริมลำน้ำจระเข้สามพันตรงกลางระหว่างบ้านหนองบัว กับบ้านหลุมพอง จากหลักฐานพบว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 วัดมีคุณค่าทางจิตใจและเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการประกอบกิจกรรมทางด้านศาสนาและประเพณีของชุมชน สิ่งสำคัญภายในวัด อาทิ อุโบสถหลังเก่า เจดีย์โบราณ รูปปั้นหลวงพ่ออาจ
- วัดหนองบัว พัฒนามาจากสถานที่ปฏิบัติธรรมตั้งอยู่ที่เขาไผ่ล้อมและขณะเดียวกัน เป็นกุศโลบายของชุมชนที่ไม่ต้องการให้เขาไผ่ล้อมที่ตั้งของวัดต้องถูกทำลายจากการได้รับสัมปทานของเอกชน เขาไผ่ล้อมเป็นภูมิทัศน์วัฒนธรรมศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน มีความเป็นมาตั้งแต่สมัยเมืองอู่ทอง เป็นสถานที่ที่มีตำนานเจ้าแม่แตงอ่อนซึ่งเป็นที่เคารพของชุมชนมากว่า 200 ปี วัดหนองบัวมีความโดดเด่นของสถาปัตยกรรมหอพระไตรปิฎกขาวบริเวณยอดเขา และกุฏิพระสงฆ์ที่กระจายอยู่ใต้ต้นไม้ และเป็นสถานที่การตักบาตรเทโวที่มีเอกลักษณ์ของชุมชน
- ศาลหลวงพ่ออาจ ในวัดปทุมวนาราม ท่านเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกที่คนในชุมชนให้ความนับถือในความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเมื่อชุมชนจะจัดงานต้องจุดธูปบอกกล่าวมิฉะนั้นจะทำกิจการไม่สำเร็จ หลวงพ่ออาจทำหน้าที่ปกปักคุ้มครองคนในชุมชน
- ศาลเจ้าแม่แตงอ่อน ตำนานเจ้าแม่แตงอ่อนอยู่คู่กับชุมชนมาราว 200 ปีมาแล้ว ความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าแม่แตงอ่อนเมื่อมีใครมาบนบานกราบไหว้ขอสิ่งใดก็จะได้สิ่งนั้น จึงมีการสร้างสารเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการเคารพบูชา
การศึกษาเกี่ยวกับการใช้ภาษาของชุมชนบ้านหนองบัวของ วรนุช จำปานิล (2552) พบว่า ด้านภาษาเขียนชุมชนใช้ภาษาไทยมาตรฐานในการเขียน ส่วนภาษาพูดเป็นภาษาไทยกลางสำเนียงเหน่อแบบสุพรรณ สำเนียงติดไปทางกาญจนบุรี เนื่องจากพื้นที่ชุมชนตั้งอยู่ชายขอบของจังหวัดสุพรรณบุรีทางด้านตะวันตกใกล้กับเขตหมู่บ้านในจังหวัดกาญจนบุรี
วรนุช จำปานิล (2552) สรุปพัฒนาการภูมิทัศน์วัฒนธรรมชุมชนริมน้ำบ้านหนองบัว บ้านวังหลุมพอและบ้านปทุมทอง โดยจำแนกพัฒนาการเป็น 3 ยุค ประกอบด้วย
- ช่วงที่ 1 ยุคการตั้งถิ่นฐานชุมชน (พ.ศ. 2400-2495)
- ช่วงที่ 2 ยุคการเปลี่ยนแปลงจากการคมนาคม (พ.ศ. 2496-2519)
- ช่วงที่ 3 ยุคการเปลี่ยนแปลงจากการเกษตรกรรม (พ.ศ. 2520-ปัจจุบัน)
ทั้ง 3 ช่วงเวลาส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์วัฒนธรรมของชุมชนทั้งด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม และภูมิทัศน์วัฒนธรรม ดังตารางต่อไปนี้
ประเด็น | ช่วงที่ 1 ยุคการตั้งถิ่นฐานชุมชน (พ.ศ. 2400-2495) | ช่วงที่ 2 ยุคการเปลี่ยนแปลงจากการคมนาคม (พ.ศ. 2496-2519) | ช่วงที่ 3 ยุคการเปลี่ยนแปลงจากการเกษตรกรรม (พ.ศ. 2520-ปัจจุบัน) |
ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์วัฒนธรรม |
|
|
|
พัฒนาการทางด้านกายภาพ |
|
|
|
พัฒนาการด้านเศรษฐกิจ |
|
|
|
พัฒนาการด้านสังคม |
|
|
|
พัฒนาการของภูมิทัศน์วัฒนธรรม |
|
|
|
วรนุช จำปานิล (2552). ภูมิทัศน์วัฒนธรรมชุมชนริมน้ำบ้านหนองบัว บ้านวังหลุมพอ และบ้านปทุมทอง จังหวัดสุพรรณบุรี. การวางแผนภาคและเมือง. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. จาก https://cuir.car.chula.ac.th/
สำนักบริหารงานทะเบียน กรมการปกครอง. (2565). ข้อมูลจำนวนประชากร. สืบค้นเมื่อ 20 เมษายน 2567, จาก https://stat.bora.dopa.go.th/stat/