บ้านมะกอก ชุมชนชาวยองแห่งหนึ่งในจังหวัดลำพูน หมู่บ้านที่ยังคงสืบสานและถ่ายทอดวัฒนธรรมชาวยองผ่านประเพณีและวัฒนธรรมอย่างเข้มข้น ตลอดจนการอนุรักษ์ "บ้านยองโบราณ" หลังหนึ่งให้กลายเป็นมรดกทางภูมิปัญญาและสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของชุมชนและอำเภอป่าซาง
บริเวณพื้นที่ของหมู่บ้านมีต้นมะกอกขึ้นอยู่จำนวนมาก จึงเรียกชื่อตามพืชที่พบ ในระยะแรกของการตั้งหมู่บ้านเรียกว่า “บ้านสันมะกอก” ภายหลังการเรียกชื่อหมู่บ้านสั้นลงจากบ้านสันมะกอกเป็น "บ้านมะกอก”
บ้านมะกอก ชุมชนชาวยองแห่งหนึ่งในจังหวัดลำพูน หมู่บ้านที่ยังคงสืบสานและถ่ายทอดวัฒนธรรมชาวยองผ่านประเพณีและวัฒนธรรมอย่างเข้มข้น ตลอดจนการอนุรักษ์ "บ้านยองโบราณ" หลังหนึ่งให้กลายเป็นมรดกทางภูมิปัญญาและสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของชุมชนและอำเภอป่าซาง
จากคำบอกเล่าและหลักฐานบันทึกประวัติของหมู่บ้าน สันนิษฐานได้ว่าบ้านมะกอกแห่งนี้เป็นชุมชนชาวยองที่มีอายุราว 200 ปี นับจากปี พ.ศ. 2330 ที่เริ่มมีการก่อตั้งหมู่บ้าน โดยมีท้าวแสนคำ ท้าวพระยามาศ ท้าวเต้า และหลวงปู่สิงห์ เป็นคนกลุ่มแรกที่เข้ามาบุกเบิกพื้นที่บริเวณนี้เพื่อทำการเกษตร และเนื่องด้วยลักษณะภูมิประเทศและทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์จึงเริ่มมีผู้คนอพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่หนานแน่นขึ้นเรื่อย ๆ จนเกิดการรวมตัวการเป็นชุมชนแล้วตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านสันมะกอก” ตามประเภทของพืชที่พบในหมู่บ้าน ภายหลังการเรียกชื่อหมู่บ้านสั้นลงจากบ้านสันมะกอกเป็นหมู่บ้าน “มะกอก” มาจนถึงปัจจุบัน
บ้านมะกอก ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลมะกอก อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน อยู่ห่างจากตัวอำเภอป่าซางประมาณ 6 กิโลเมตร ที่ตั้งหมู่บ้านสมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่ม มีลำเหมืองสะปุ๋งเป็นลำเหมืองสาขาของแม่น้ำทาไหลผ่าน มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านหนองเงือก หมู่ 5 ตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านบ่อหิน หมู่ 9 ตำบลมะกอก อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านหวาย หมู่ 3 ตำบลมะกอก อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านสันกำแพง หมู่ 5 ตำบลมะกอก อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน
ด้านสภาพภูมิอากาศ บ้านมะกอกมี 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว โดยฤดูฝนจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม และฤดูร้อนจะเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ โดยในเดือนเมษายนจะเป็นช่วงที่ร้อนที่สุดของปี แต่ปัจจุบันสภาพภูมิอากาศมีการเปลี่ยนแปลงไปไม่คงที่ ซึ่งส่งผลต่อความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพของคนในชุมชน
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 4 บ้านมะกอก ตำบลมะกอก อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,166 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 548 คน ประชากรหญิง 618 คน จำนวนหลังคาเรือทั้งสิ้น 548 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566) ประชากรในหมู่บ้านส่วนหนึ่งเป็นชาวพื้นเมืองเดิม และส่วนหนึ่งสืบเชื้อสายมาจากชาวไตยอง
ยองด้วยลักษณะภูมิประเทศและทรัพยากรธรรมชาติทั้งในพื้นที่หมู่บ้านอละพื้นที่โดยรอบที่นับได้ว่ามีความอุดมสมบูรณ์มาก ไม่ว่าจะเป็นดินหรือน้ำ ที่ก็ล้วนเหมาะแก่การทำการเกษตรกรรม ชาวบ้านมะกอกส่วนใหญ่จึงประกอบอาชีพทำการเกษตรเป็นหลัก เช่น การทำนา ปลูกต้นหอม กระเทียม ลำไย รวมถึงพืชสวนอีกนานาชนิด โดยเฉพาะกระเทียมที่นับได้ว่าเป็นสินค้าทางการเกษตรที่มีความสำคัญมากของบ้านมะกอก ทั้งยังเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่ได้รับการรับรองว่ามีคุณภาพสูงจนได้รับรางวัลระดับจังหวัด ขายได้ราคาดี ทั้งนี้ ในช่วงเวลาหนึ่งราคากระเทียมเกิดตกต่ำอย่างหนัก อันเนื่องมาจากความผกผันของราคากระเทียมและการเข้ามาของกระเทียมจีน ซึ่งส่งผลให้กระเทียมไทยซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ปลูกกันในชุมชนบ้านมะกอกลดความนิยมลง เจ้าหน้าที่เกษตรจากหน่วยงานราชการจึงเข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นทดแทนการปลูกกระเทียม นอกจากรายได้ที่มาจากการทำนาและการปลูกหอม และกระเทียมแล้ว ชาวบ้านมะกอกยังมีการปลูกพืชสวนที่นับได้ว่าเป็นรายได้อีกหนึ่งช่องทางโดยพืชสวนส่วนใหญ่ ประกอบด้วย ลำไย มะม่วง ซึ่งจะทำการเพาะปลูกในช่วงเดือนมกราคม-เดือนสิงหาคม นอกจากนี้ ยังมีอาชีพรีดใบตองสำหรับทำมวนบุหรี่ที่สร้างรายได้เสริมให้กับคนในชุมชนด้วย
ชาวบ้านมะกอกส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ยอง ทั้งประเพณี ขนบธรรมเนียม ตลอดจนจารีต ค่านิยมต่าง ๆ บางส่วนยังคงมีลักษณะของวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวยองอยู่ เช่น เดิมลักษณะการแต่งกายมักจะแต่งด้วยเสื้อผ้าตามแบบชาวยอง แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปตามสมัยนิยม ด้านการแพทย์มักใช้ภูมิปัญญาการรักษาโดยหมอพื้นบ้านหรือ "พ่อลี้ยง" ที่คนในชุมชนให้การนับถือเปรียบเสมือนพ่อ และจะเรียกผู้ไข้ว่า "ลูกเลี้ยง" ซึ่งกลายเป็นวิถีหนึ่งในการดำรงชีวิต
ส่วนด้านศาสนาและความเชื่อนั้น ชุมชนบ้านมะกอกเป็นชุมชนที่นับถือศาสนาพุทธควบคู่กับการนับถือผี มีวัดมะกอกเป็นศูนย์กลางทางศาสนาภายในชุมชน การนับถือผีมีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของคนในชุมชนที่มีมาตั้งแต่อดีต โดยชาวบ้านมะกอกนับถือผีในฐานะผู้บันดาลอาการเจ็บป่วย ขณะเดียวกันก็เป็นผู้รักษาจากการเจ็บป่วย และยังมีการนับถือผีจากวงศ์ตระกูลซึ่งได้รับปลูกฝังมาจากความเชื่อของชนล้านนา คือ “ผีกะ” โดยเชื่อว่าการนับถือผีกะนั้นจะต้องสืบทอดภายในตระกูลจนไปถึงลูกหลาน คนโบราณถือว่าหากผู้ใดที่นับถือกะจะเป็นที่รังเกียจของสังคม ในปัจจุบันความเชื่อเรื่องผีกะเริ่มเลือนหายไป แต่การเลี้ยงผีกะและการทรงเจ้ายังคงปรากฏในชุมชนบ้านมะกอกอยู่
ประเพณีและวัฒนธรรมสำคัญ เช่น
- ประเพณีสงกรานต์หรือปี๋ใหม่เมือง ในวันนี้จะมีการสรงน้ำพระอันเป็นประเพณีสำคัญที่สืบทอดกันมานับร้อยปี ตั้งแต่สมัยขุดพบพระเพชร 2 องค์ ที่บริเวณโรงเรียนบ้านมะกอก พระเพชรทั้ง 2 องค์นับเป็นสมบัติชุมชนอันล้ำค่าของชุมชน โดยประเพณีการสรงน้ำพระจะจัดขึ้นพร้อมกับประเพณีสงกรานต์ ทางวัดจะนำพระเพชรออกมาเพื่อให้คนในชุมชนสรงน้ำ โดยการสรงน้ำพระจะสรงด้วยน้ำส้มป่อย น้ำอบ และน้ำหอม พร้อมสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุเพื่อแสดงออกถึงความกตัญญูด้วย
- ประเพณีตานก๋วยสลาก เป็นประเพณีทำบุญในช่วงเข้าพรรษาโดยจะจัดขึ้นทุกปี
- ประเพณีทำบุญเสื้อบ้าน “เสื้อบ้าน” คือ ดวงวิญญาณของบรรพบุรุษตามความเชื่อและค่านิยมดั้งเดิมของชุมชน จุดประสงค์ในการทำพิธีเพื่อสะท้อนถึงความกตัญญูต่อบรรพชน
- ประเพณีเดือนยี่เป็ง หรือลอยกระทง เป็นประเพณีเพื่อบูชาพระแม่คงคาและพระเพลิงตามความเชื่อท้องถิ่นในช่วงเช้าจะทำบุญตักบาตรฟังเทศนา และในช่วงกลางคืนจะนิยมจุดเทียนเล่นไฟ ปล่อยโคมลอย
เฮือนยองโบราณ มรดกทางวัฒนธรรมชาวยองที่หลงเหลืออยู่ ณ บ้านมะกอก
ชาวยองเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่ถือได้ว่ามีความรู้และเชี่ยวชาญงานฝีมือ แกะสลักงานไม้ได้วิจิตรงดงามได้ไม่แพ้ผู้ใด ดังจะเห็นได้จากรูปแบบเฮือน (บ้าน) เก่าของชาวยองกว่าร้อยหลังที่ยังหลงเหลืออยู่ในจังหวัดลำพูน โดยลักษณะบ้านเรือนแบบโบราณของชาวยองจะนิยมสร้างด้วยไม้ ใต้ถุนโล่ง หลังคาไม่มีกาแล แต่จะมีรูปนกยูง ซึ่งเป็นสัตว์สัญลักษณ์ที่ชาวยองเคารพนับถือประดับอยู่แทน
บ้านมะกอก เป็นชุมชนชาวยองแห่งหนึ่งในจังหวัดลำพูน โดยภายในชุมชนบ้านมะกอกแห่งนี้มีมรดกทางวัฒนธรรมที่ยังหลงเหลือให้ลูกหลานชาวยองและคนทั่วไปได้พบเห็น คือ "เฮือนยองโบราณ" หรือ "บ้านยองโบราณ" ของนางบัวลา ใจจิตร ซึ่งถือเป็นบ้านยองที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดลำพูน ด้วยรูปทรง ลักษณะที่งดงาม และแสดงถึงเอกลักษณ์ของบ้านชาวยองดั้งเดิมได้อย่างดี ส่งผลให้บ้านยองโบราณหลังนี้กลายเป็นหนึ่งในแลนมาร์กสำคัญของชุมชนบ้านมะกอก และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของอำเภอป่าซางด้วย
ภาษาพูด : ยอง ลื้อ ไทยถิ่นเหนือ (คำเมือง) ภาษากลาง
ภาษาเขียน : อักษรธรรมล้านนา (ปัจจุบันพบน้อยมาก หรือแทบจะไม่หลงเหลืออยู่แล้ว) อักษรไทย
ธวัช เสนธรรม, หัวหน้าโครงการ (2555). โครงการการมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาวะของชุมชนบ้านมะกอก หมู่ 4 ตำบลมะกอก อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน: รายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นฉบับสมบูรณ์. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.
มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร, สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ. (2563). มะกอก. สืบค้น 26 เมษายน 2567. จาก https://arit.kpru.ac.th/
MGR Online. (2554). “ยอง” ต้นตระกูลคนลำพูน กับตัวตนบนวิถีอันเป็นเอกลักษณ์. สืบค้น 26 เมษายน 2567. จาก https://mgronline.com/travel/