Advance search

คลองหก (ทุ่งรังสิต)

ชุมชนคลองหกเป็นชุมชนชานเมืองในเขตชลประทานทุ่งรังสิตชุมชนมีลักษณะพหุวัฒนธรรม เกิดจากการตั้งถิ่นฐานทั้งกลุ่มคนดั้งเดิมและกลุ่มที่ย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานใหม่ในพื้นที่ กระทั่งชุมชนมีข้อตกลงในการอยู่ร่วมกัน เรียกว่า “จริยธรรมการอยู่ร่วมกัน” เพื่อขจัดข้อขัดแย้งและปัญหาที่จะเกิดขึ้นการอยู่ร่วมกันของคนในชุมชน

คลองหก
บึงคำพร้อย
ลำลูกกา
ปทุมธานี
อบต.บึงคำพร้อย โทร. 0-2101-5616
ธำรงค์ บริเวธานันท์
28 เม.ย. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
28 เม.ย. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
28 เม.ย. 2024
คลองหก
คลองหก (ทุ่งรังสิต)


ชุมชนคลองหกเป็นชุมชนชานเมืองในเขตชลประทานทุ่งรังสิตชุมชนมีลักษณะพหุวัฒนธรรม เกิดจากการตั้งถิ่นฐานทั้งกลุ่มคนดั้งเดิมและกลุ่มที่ย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานใหม่ในพื้นที่ กระทั่งชุมชนมีข้อตกลงในการอยู่ร่วมกัน เรียกว่า “จริยธรรมการอยู่ร่วมกัน” เพื่อขจัดข้อขัดแย้งและปัญหาที่จะเกิดขึ้นการอยู่ร่วมกันของคนในชุมชน

คลองหก
บึงคำพร้อย
ลำลูกกา
ปทุมธานี
12150
13.97413601
100.7289661
องค์การบริหารส่วนตำบลบึงคำพร้อย

จากการศึกษาความเป็นมาของชุมชนคลอง 6 โดย กิตติกาญจน์ หาญกุล (2560) พบว่า คลองรังสิตเป็นพื้นที่ที่มีการจัดระบบชลประทานเป็นแห่งแรกของประเทศ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โดยพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์เป็นผู้รับผิดชอบโครงการและสํารวจพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อดําเนินโครงการพบว่า พื้นที่บริเวณ “ทุ่งหลวง” บริเวณระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำนครนายกมีความเหมาะสมในการทําโครงการ จึงขุดคลองเชื่อมต่อกันหลายสาย เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดปทุมธานีและนครนายก โดยพระองค์เจ้าสายฯ ดําเนินการในนามบริษัทขุดคลองแลคูนาสยามร่วมกับนายโยคิม แกรซี และได้เริ่มต้นขุดคลองอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2433 สำเร็จใน พ.ศ. 2448 ใช้วิธีการขุดคลองสายใหญ่เป็นแนวขวางเพื่อเชื่อมแม่น้ำ 2 สาย และขุดคลองส่งน้ำเป็นตาข่ายเชื่อมโยงถึงกัน เพื่อให้สามารถกระจายน้ำเข้าที่นาได้อย่างทั่วถึง ทั้งนี้ลําคลองแต่ละสายมี ระบบประตูน้ำและทํานบเพื่อควบคุมน้ำ

การพัฒนาระบบชลประทานในทุ่งรังสิต เป้าหมายเพื่อเพิ่มพื้นที่การปลูกข้าว โดยการนำความรู้และเทคโนโลยีแบบตะวันตกมาใช้ ซึ่งในแผนงานกำหนดให้มีการขุดคลองสายใหญ่เพื่อรับน้ำจากแม่น้ำสายหลักและวางแผนให้มีคลองซอย จํานวน 20 สาย เพื่อส่งน้ำให้กับพื้นที่ทํานา โดยใช้การควบคุมน้ำผ่านทำนบและประตูระบายน้ำ

โครงการกำหนดมีการขุดคลองขนาดใหญ่ 3 สายหลัก คือ

  • คลองรังสิตประยูรศักดิ์ ขุดปี พ.ศ. 2433 เสร็จ ปี พ.ศ. 2440 มีขนาด กว้าง 16เมตร ลึก 3.20 เมตร ยาว 1,324 เส้น 18 วา 2 ศอก
  • คลองหกวาสายล่าง ขุดปี พ.ศ. 2436 เสร็จ ปี พ.ศ. 2440 มีขนาด กว้าง 12 เมตร ลึก 3.20 เมตร ยาว 1,527 เส้น 2 วา 2 ศอก
  • คลองหกวาสายบน ขุดปี พ.ศ. 2444 เสร็จ ปี พ.ศ. 2446 มีขนาด กว้าง 12 เมตร ลึก 3.20 เมตร ยาว 977 เส้น

ชาวบ้านในบริเวณทุ่งรังสิต เดิมอยู่กันกระจัดกระจาย เมื่อมีการขุดคลอง ชาวบ้านจึงเปลี่ยนมาตั้งกระจายอยู่ริมคลอง ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินแต่ใช้วิธีการเช่านาจากเจ้าของที่ดินเป็นรายปี ชาวนาส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องทุนและที่ดินในการทํานา จึงต้องกู้ยืมจากผู้มีฐานะดีกว่า และเกิดปัญหาการเอารัดเอาเปรียบกันระหว่างผู้กู้หรือผู้เช่านากับเจ้าของนา เรื่องแบ่งผลผลิตไม่ยุติธรรม นอกจากนี้ยังพบว่าชาวนาในทุ่งรังสิตส่วนใหญ่เป็นคนไทยจากภาคอีสาน อพยพมาโดยใช้เส้นทางรถไฟสายนครราชสีมา-กรุงเทพฯ และยังมีคนไทยแขก-มลายู และญวน อพยพเข้ามาในช่วงเวลาเดียวกัน

หลัง พ.ศ. 2500 การใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณทุ่งรังสิต เปลี่ยนแปลงเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมมากขึ้น โดยเฉพาะหลัง พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา หรือในราวแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 การพัฒนาพื้นที่จังหวัดปทุมธานีมีความเชื่อมโยงกับกรุงเทพมหานคร ตามแผนการกระจายการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไปในจังหวัดปริมณฑล โดยมีมาตรการ คือการโยกย้ายและกระจายกิจกรรมบางประเภทสู่ภูมิภาค เฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรม มีการเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมเพื่ออํานวยความสะดวกในการเดินทาง จึงทําให้พื้นที่จังหวัดปทุมธานีเป็นพื้นที่ที่มีการผสมผสานกันระหว่างความเป็นเมืองและชนบท การใช้ประโยชน์จากที่ดินจึงมีทั้งพื้นที่การเกษตรและนอกภาคเกษตร รวมถึงการเติบโตของโรงงานอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว

ตําบลบึงคําพร้อย เป็นส่วนหนึ่งของทุ่งหลวงรังสิตที่ได้รับการพัฒนาระบบชลประทานเพื่อ การเกษตรกรรมตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 การอพยพของผู้คนเข้ามาเมื่อครั้งอดีตมีการตั้งชุมชนรอบหนองน้ำ ที่ขุดเชื่อมกับคลองรังสิตประยูรศักดิ์ พื้นที่เดิมเป็นของ “ยายคําพร้อย” จึงได้ตั้งชื่อตามเจ้าของที่ดิน ตั้งอยู่ระหว่างคลองระบายน้ำสายที่ 5 กับสายที่ 7

อย่างไรก็ดีการเกิดชุมชนบริเวณตําบลบึงคําพร้อย ไม่มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร สันนิษฐานว่ามีการอยู่อาศัยของชาวบ้านในบริเวณนี้ก่อน พ.ศ. 2477 เป็นปีที่มีการประกาศตั้งวัดเกตุประภาวัดประจําหมู่บ้าน ตั้งอยู่ที่ หมู่ 9 ได้รับบริจาคที่ดินมาจากคุณเกตุประภา เดิมเป็นเจ้าของที่ดินขนาดใหญ่ในบริเวณนี้ การคมนาคมของชาวบ้านในอดีตใช้การสัญจรทางเรือผ่านคลองหก

ชุมชนคลองหก หมู่ที่ 8 สังกัดการปกครององค์การบริหารส่วนตำบลบึงคำพร้อย เป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การเพาะปลูกด้านการเกษตร มีคลองหกวาผ่านจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก มีคลองซอยที่ 5 ที่ และที่ 7 ผ่านจากทิศเหนือไปทางด้านทิศใต้ ดังนั้นจึงเหมาะสมต่อการทำการเกษตรทุกหมู่บ้าน พื้นที่มีอาณาเขตติดต่อดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดกับ อำเภอธัญบุรี
  • ทิศตะวันออก ติดกับ เขตองค์การบริหารส่วนตำบลลำลูกกา
  • ทิศใต้ ติดกับ เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร
  • ทิศตะวันตก ติดกับ เขตองค์การบริหารส่วนตำบลลาดสวาย

ประชากรและการเปลี่ยนแปลงประชากรพื้นที่ชุมชนคลองหก หมู่ 8 ต.บึงคําพร้อย อ.ลําลูกกา จ.ปทุมธานี มีความเกี่ยวข้องข้องกับการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ กิตติกาญจน์ หาญกุล (2560) พบว่า การเปลี่ยนแปลงประชากรของชุมชนมีพัฒนาการควบคู่กับการขุดคลองรังสิต ที่มุ่งหมายเพื่อพัฒนาระบบชลประทาน อันนำไปสู่ขยายพื้นที่การทํานาในสมัยรัชกาลที่ 5 ในสมัยนั้นที่ดินส่วนใหญ่ปล่อยให้เช่าเพื่อทํานา ชาวบ้านเรียกว่า “นาเช่า” ชุมชนคลองหกตั้งอยู่ติดกับคลองซอยที่หก คลองนี้ขุดเพื่อเชื่อมต่อกับคลองรังสิตประยูรศักดิ์และคลองหกวาสายล่าง ชื่อหมู่บ้านริมคลองจึงตั้งชื่อตามตําแหน่งของที่ตั้งของชุมชน

การขยายตัวของกรุงเทพมหานครช่วง พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา นำไปสู่การขยายตัวของการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ กล่าวคือ มีจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่กว่าสามพันโรงงาน ส่วนใหญ่เป็นโรงงานที่ต้องขออนุญาตอย่างเป็นทางการต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรม ลักษณะการกระจายตัวของโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่เป็นรูปแบบการขยายตัวตามเส้นทางคมนาคมที่เชื่อมต่อกับจังหวัดนครนายกและจังหวัดฉะเชิงเทรา รวมถึงการมีระบบคมนาคมเชื่อมไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

เดิมลักษณะภูมิประเทศของชุมชนคลองหก หมู่ 8 เป็นที่ราบลุ่ม เหมาะกับการเพาะปลูก ในอดีตชาวบ้านเกือบทั้งหมดเป็นชาวนา ปัจจุบันพื้นที่ชุมชนบางส่วนได้กลายสภาพเป็นโรงงานอุตสาหกรรมแทรกไปกับพื้นที่ทํานาของชาวบ้าน และบางส่วนกลายเป็นหอพักซึ่งสร้างขึ้นเพื่อรองรับการอพยพเข้ามาทํางานของกลุ่มแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน หลัง พ.ศ. 2547 มีกลุ่มแรงงานเพื่อนบ้านอพยพเข้ามาในพื้นที่กว่า 8 เท่า ของจำนวนสมาชิกของชุมชน สภาพปัจจุบันของชุมชนจึงมีส่วนผสมของ 1) ผู้คนที่เป็นชาวบ้านดั้งเดิมที่มีบรรพบุรุษตั้งรกรากมากว่า 3 รุ่น 2) กลุ่มแรงงานอพยพทั้งไทยและประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาทํางานรับจ้างในโรงงานและอาศัยอยู่ในชุมชน 3) ผู้ประกอบการหอพัก ดังนั้นคนในชุมชนจึงอยู่ท่ามกลางการเรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกับความหลากหลายของชาติพันธุ์ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่

กิตติกาญจน์ หาญกุล (2560) ยังพบอีกว่า การเพิ่มขึ้นของโรงงานอุตสาหกรรมและประชากรที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานและทำงานในพื้นที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อชุมชนที่สำคัญ คือ

  • การขยายตัวของธุรกิจหอพักในช่วง พ.ศ. 2547 โดยผู้ประกอบการหอพักที่เป็นชาวบ้านในชุมชน และผู้ประกอบการหอพักที่มาจากภายนอกชุมชน
  • การอพยพและการเพิ่มจำนวนแรงงานเพื่อนบ้าน ประกอบด้วย แรงงานจากประเทศเมียนมาร์ กัมพูชาและลาว แต่พื้นที่ชุมชนคลองหก หมู่ 8 ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแรงงานจากประเทศกัมพูชา
  • การขยายตัวของธุรกิจการค้าปลีกในชุมชน 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ประชาชนในพื้นที่ตําบลบึงคําพร้อยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ รองลงมาคือศาสนา อิสลาม โดยจะไปร่วมทําบุญในช่วงวันพระและเทศกาลต่าง ๆ ที่วัดใกล้บ้านซึ่งมีจํานวน 6 แห่ง คือ วัดเกตุประภา วัดประชุมราษฎร์ วัดแจ้งลําหิน วัดราษฎร์ศรัทธาราม วัดใหม่คลองเจ็ด วัดปัญจยาทิกาวาส และ มีมัสยิด 1 แห่ง คือมัสยิดมูฮัมมะดียะห์ ดังนั้นปฏิทินชุมชนรอบปีจึงมีความสัมพันธ์กับประเพณีพิธีกรรม ความศรัทธาต่อศาสนาที่แต่ละคนนับถือ การขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรม มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตการทำงานแบบเข้าตามเวลา ออกตามเวลา กล่าวคือ สมาชิกในชุมชนที่ทำงานโรงงานอุตสาหกรรม เข้าและออกงานเป็นกะ เป็นช่วงเวลา ดังนี้

  • กะเช้า เข้างานเวลา 7.30 น. เลิกงานประมาณ 17.00 น.
  • กะเย็น เข้างานเวลา 17.00 น. เลิกงานตอน เช้าเวลาประมาณ  6.00-6.30 น.

การเดินทางเพื่อไปทำงานของกลุ่มแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม  โดยโรงงานบางแห่งมีรถ รับ-ส่ง หรือบางคนที่อยู่หอพักใกล้โรงงานสามารถเดินทางไปทำงานโดยจักรยาน หรือบางคนเดินไปทํางาน วันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันหยุดของกลุ่มแรงงาน จะมีบางส่วนไปหาปลาในคลองหก หรือ ตามคลองซอยในบริเวณชุมชน

ถึงแม้ว่าในพื้นที่มีการขยายโรงงานอุตสาหกรรม แต่ก็ยังมีสมาชิกชุมชนที่เป็นคนดั้งเดิมบางส่วนยังประกอบอาชีพทำนา ในรูปแบบนาปรังและนารอบ โดยมีพื้นที่ทำกิน 20-50 ไร่ และมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำนา กิตติกาญจน์ หาญกุล (2560) สัมภาษณ์ผู้ที่ยังทำนาพบว่าขั้นตอนการทำนาเริ่มด้วย การเตรียมดินเพื่อทํานาขั้นตอนนี้จ้างรถตีดินประมาณ 2-3 วัน นําพันธุ์ข้าวที่ซื้อมาแช่น้ำ 1 วัน จากนั้นนําขึ้นมาทิ้งไว้ 1 คืน เพื่อให้รากงอก ก่อนนําไปหว่านในที่ดินที่เตรียมไว้ จากนั้นจึงปล่อยน้ำออกจากนาและทิ้งไว้ 8-15 วัน จึงฉีดยาคลุมหญ้า หลังจากนั้นประมาณ 2 วัน สูบน้ำเข้าที่นาเพื่อให้ข้าวได้น้ำก่อนใส่ปุ๋ย เร่งดินประมาณ 45-50 วัน จึงใส่ปุ๋ยอีก 1 ครั้ง ปล่อยไว้ประมาณ 60 วัน จึงใส่ปุ๋ยครั้งที่สาม โดยในการใส่ปุ๋ยในรอบที่ 1 ถึง 3 จะค่อย ๆ เพิ่มปริมาณปุ๋ยให้มากขึ้น ในการเก็บเกี่ยวจะว่าจ้างรถเกี่ยวข้าวแล้วขายทันที โดยใช้ระยะเวลาทั้งกระบวนการประมาณ 120 วัน จากนั้นจึงเตรียมดินสําหรับการทํานาในรอบถัดไป

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนชุมชน

กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ร่วมกันในชุมชนมีหลากหลายกลุ่ม ฉะนั้นเพื่อลดความขัดแย้งในชุมชนจึงมีการสร้างข้อตกลงเพื่อการอยู่ร่วมกันในชุมชนพหุวัฒนธรรม กิตติกาญจน์ หาญกุล (2560) พบว่า ชุมชนสร้างข้อตกลงจากประสบการณ์ที่มีร่วมกันของทั้งชุมชน ประกอบด้วยข้อตกลงใน 2 รูปแบบ คือ ข้อตกลงของชุมชนและข้อตกลงในหอพัก ดังนี้

  • ข้อตกลงระดับชุมชน พบว่าไม่ได้เป็นข้อตกลงที่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่เป็นกติกาที่รับรู้ร่วมกันของทั้งชาวบ้านและกลุ่มแรงงานเพื่อนบ้านว่า หากเกิดการทะเลาะวิวาทรุนแรงระหว่างกลุ่มแรงงานเพื่อนบ้านกับชาวบ้านในชุมชน แรงงานเพื่อนบ้านจะถูกให้ออกจากงานและออกจากชุมชนในทันที หรือหากมีปัญหาระหว่างชาวบ้านกับแรงงานเพื่อนบ้านหรือโรงงาน ให้ชาวบ้านมาแจ้ง กับผู้ใหญ่บ้าน หลังจากนั้นผู้ใหญ่บ้านจะเป็นผู้ดําเนินการต่อไป
  • ข้อตกลงในระดับหอพัก ข้อตกลงในระดับหอพักมีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากกว่าข้อตกลงระดับชุมชน การจัดการหอพักที่มีการอยู่ร่วมกันทั้งแรงงานเพื่อนบ้านและแรงงานคนไทย จัดให้แต่ละหอพักมีหัวหน้าคนงานพักอาศัยอยู่ด้วย มีหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยในหอพัก และสื่อสารระหว่างแม่บ้านหอพักหรือเจ้าของหอพักกับกลุ่มแรงงาน จัดการความขัดแย้งระหว่างกลุ่มแรงงานเพื่อนบ้าน รวมถึงการให้ข้อมูลด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มแรงงาน และสื่อสารกับแรงงานเพื่อนบ้านเมื่อได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านเรื่องการรักษาความสะอาด หรือ กรณีที่เก็บผลผลิตของชาวบ้านโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงทําหน้าที่ประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และตํารวจในพื้นที่ มีการทํางานเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มแรงงานเพื่อนบ้านกับชาวบ้านในชุมชน ผ่านหัวหน้าคนงานที่พักอยู่ในแต่ละหอพัก ดังกล่าวเป็นรูปแบบการจัดการที่นำไปสู่การลดความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับแรงงานเพื่อนบ้าน

สมาชิกชุมชนที่เป็นคนดั้งเดิมและคนไทยที่ทำงานและตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ใช้ภาษาไทยกลางในการสื่อสารระหว่างกัน

สมาชิกชุมนที่เป็นแรงงานข้ามชาติจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศเมียนมาร์ และ ประเทศกัมพูชา ใช้ภาษาพูดและภาษาเขียนตามที่ตนเองถนัดในการสื่อสารระหว่างกัน และมีการเรียนรู้ภาษาไทยเพื่อใช้ในการสื่อสารกับคนไทย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กิตติกาญจน์ หาญกุล (2560) ศึกษาการอยู่ร่วมกันของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ในพื้นหมู่ที่ 8 พบว่า ระยะแรกมีความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับกลุ่มแรงงานเพื่อนบ้าน ทำให้ผู้ใหญ่บ้านและหน่วยงานส่วนท้องถิ่นเข้ามาช่วยจัดการปัญหาร่วมกับผู้จัดการโรงงาน เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง โดยองค์การบริหารส่วนตําบลบึงคําพร้อย ขอเข้าพบผู้จัดการโรงงานและกลุ่มแรงงานบางส่วน เพื่อสื่อสารเรื่องการอยู่ร่วมกัน การเคารพกติกาของชุมชน นอกจากนี้ในส่วนของชาวบ้านดั้งเดิมมีการจัดเวทีของเจ้าหน้าที่ตํารวจ เพื่อพูดคุยกับชาวบ้านขอให้ปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกัน ส่งผลให้สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับแรงงานเพื่อนบ้านลดลงและยังพบว่าการเข้ามาทำงานของแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ ทำให้ชุมชนต้องมีการปรับตัวเพื่อการอยู่ร่วมกันด้านเศรษฐกิจและสังคม ประกอบด้วย

  • การจัดการความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านกับแรงงานเพื่อนบ้าน โดยชาวบ้านที่ใกล้ชิดกับกลุ่มแรงงานเพื่อนบ้าน เช่น เจ้าของหอพัก ผู้ดูแลหอพัก ร้านค้า ร้านเสริมสวย ปรับความสัมพันธ์และทัศนคติในทางบวก ผ่านประสบการณ์ที่เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ การสร้างความสัมพันธ์เชิงแลกเปลี่ยนกัน เช่น การซื้อของฝากกัน แบ่งปันขนม หรือสามารถหยิบยืมเงิน
  • การใช้พื้นที่ส่วนรวมร่วมกัน สร้างกติกาการใช้พื้นที่ส่วนรวมที่ใช้ร่วมกันอาทิ วัด ตลาด หรือสวนสาธารณะ ขององค์การบริหารส่วนตําบล เช่น กติกาเรื่องความสะอาดหรือข้อปฏิบัติต่าง ๆ โดยสื่อสารผ่านรูปภาพหรือภาษากัมพูชา
  • การเรียนรู้ในการจัดการความขัดแย้ง ชาวบ้านเรียนรู้กระบวนการจัดการความขัดแย้งโดยใช้ผู้นำชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานรัฐที่ดูแลพื้นที่เข้ามาช่วยจัดการปัญหา ผ่านการประสานงานกับผู้จัดการโรงงาน โดยมีกระบวนการพูดคุยกับชาวบ้านและกลุ่มแรงงานในโรงงาน ส่งผลให้สถานการณ์ปัญหาความขัดแย้งระหว่างกันลดลง โรงงานมีระบบการจัดการของโรงงานเพื่อดูแลกลุ่มแรงงานที่พักในแต่ละหอพัก ส่วนกลุ่มแรงงานเพื่อนบ้านก็มีกระบวนการเรียนรู้เช่นเดียวกัน เช่น ช่วงที่มีการจัดงานรื่นเริงของแรงงานเพื่อนบ้านจะมีการจ้างเจ้าหน้าที่ อปพร. ขององค์การบริหารส่วนตําบล หรือเจ้าหน้าที่ตํารวจมาดูแลความเรียบร้อยในระหว่างการจัดงาน
  • ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับโรงงาน คือ ปล่อยน้ำเสียสู่ที่นาของชาวบ้าน ปัญหานี้ชาวบ้าน ผู้นำชุมชน และองค์การบริหารส่วนตําบล รู้กระบวนการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ทั้งการร้องเรียนหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น กรมควบคุมมลพิษ กรม ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นต้น เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบและดําเนินการแก้ไขปัญหา พบว่าหลังจากการร้องเรียนผู้ประกอบการบางแห่งให้ความร่วมมือและแก้ไขปัญหา และมีการสื่อสารกับผู้ใหญ่บ้านอย่างต่อเนื่อง
  • การปรับตัวในการประกอบอาชีพ การอพยพเข้ามาของกลุ่มแรงงานเพื่อนบ้าน ชาวบ้านได้แบ่งที่ดินที่นาบางส่วนสร้างหอพักเพื่อรองรับแรงงานในพื้นที่ ชุมชนการประกอบอาชีพหลากหลายทั้งเป็นผู้ดูแลหอพัก เปิด ร้านค้า ขับรถรับส่งคนงาน แม่บ้านหอพัก พนักงานบัญชีในโรงงาน ทํานา เป็นต้น ซึ่งในแต่ละครอบครัวจะประกอบด้วยสมาชิกที่มีอาชีพหลากหลาย

กิตติกาญจน์ หาญกุล (2560). จริยธรรมการอยู่ร่วมกันของชุมชนพหุวัฒนธรรม: กรณีศึกษาปฏิบัติการทางสังคมของชุมชนคลองหก ในเขตชลประทาน ทุ่งรังสิต จังหวัดปทุมธานี: รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม. https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:54136

อบต.บึงคำพร้อย โทร. 0-2101-5616