
บ้านวังผา ชุมชนชาวขมุที่สืบเชื้อสายมาจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หมู่บ้านที่ยังคงดำรงอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ไว้อย่างเหนียวแน่น
บ้านวังผา ชุมชนชาวขมุที่สืบเชื้อสายมาจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หมู่บ้านที่ยังคงดำรงอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ไว้อย่างเหนียวแน่น
บ้านวังผา ตำบลท่าข้าม อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย เป็นชุมชนที่สืบเชื้อสายมาจากกลุ่มชาติพันธุ์ขมุ จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยเริ่มอพยพเข้ามายังประเทศไทยตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ระยะแรกการอพยพเข้ามามีจุดประสงค์หลักเพื่อเป็นแรงงาน รับจ้างทั่วไป และทำการค้า บางส่วนได้ตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยและบางส่วนได้เดินทางกลับ ในระยะแรกที่เข้ามาเริ่มตั้งถิ่นฐานในหมู่บ้านห้วยสาน อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย เป็นจุดแรก แล้วเริ่มขยายชุมชนออกไปทางอำเภอเวียงแก่นและอำเภอเชียงของ แต่เดิมกลุ่มชาติพันธุ์ขมุจะอยู่ร่วมกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ หลังจากนั้นถึงได้มีการขยายหมู่บ้านเป็นของตนเอง
ชาวขมุบ้านวังผาเดิมอพยพผ่านเขาห้วยเฮี๊ยะซึ่งเป็นชัยภูมิที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะสำหรับการประกอบอาชีพ จึงเริ่มตั้งถิ่นฐาน คือ บ้านห้วยเฮี๊ยะ หมู่ที่ 5 ตำบลปอ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย แต่ด้วยจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นตลอดจนพื้นที่ทำกินไม่เพียงพอ ส่งผลให้ผู้คนเริ่มบุกรุกพื้นที่ป่าและสร้างที่อยู่อาศัย หลังจากการบุกรุกป่าผู้คนในหมู่บ้านเริ่มมีอาการเจ็บป่วยและเสียชีวิต โดยเชื่อว่าดวงวิญญาณผู้อารักษ์ป่าให้โทษเนื่องจากบุกรุกพื้นที่ป่าลึก ชาวบ้านจำเป็นต้องพึ่งพาผู้นำทางจิตวิญญาณหรือหมอผีเพื่อเข้ามาทำพิธีสังเวยป่า รวมถึงให้คำแนะนำให้คนย้ายออกจากหมู่บ้านเพื่อล้างอาถรรพ์ป่า หลังจากนั้นชาวบ้านเริ่มอพยพเพื่อตั้งถิ่นฐานอีกครั้งโดยครั้งนี้มาตั้งชุมชนที่บ้านโล๊ะ หมู่ที่ 3 ตำบลท่าข้าม อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ในฐานะหมู่บ้านบริวาร จนกระทั่งประชากรในหมู่บ้านเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นลำดับ ส่งผลให้ปี พ.ศ. 2540 ได้แยกหมู่บ้านออกเป็นบ้านวังผา หมู่ที่ 6 ตำบลท่าข้าม อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย จนถึงปัจจุบัน
ที่ตั้งและอาณาเขต
บ้านวังผา ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลท่าข้าม อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย อยู่ห่างจากตัวอำเภอเวียงแก่น ระยะทาง 13 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากตัวจังหวัดเชียงรายเป็นระยะทาง 180 กิโลเมตร ลักษณะพื้นที่เป็นดอยสูงสลับกับพื้นที่ราบ มีชายแดนติดต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและมีแม่น้ำโขงเป็นพรมแดนธรรมชาติ มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านขวากใต้
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านโล๊ะ
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านท่าข้าม
สภาพภูมิอากาศ
มีลักษณะเป็นแบบมรสุมเขตร้อน มี 3 ฤดู ได้แก่ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว ดังนี้
- ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม อากาศร้อนและแห้งแล้ง แต่บางครั้งอาจมีอากาศเย็น บางครั้งเกิดพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงหรืออาจมีลูกเห็บตก
- ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม ฝนตกมากในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม แต่อาจเกิดช่วงฝนทิ้ง ซึ่งอาจนานประมาณ 1-2 สัปดาห์หรือบางปีอาจเกิดขึ้นรุนแรงและมีฝนน้อยนานนับเดือน
- ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ในช่วงกลางเดือนตุลาคมนานราว 1-2 สัปดาห์ เป็นช่วงเปลี่ยนฤดูจากฤดูฝนเป็นฤดูหนาว อากาศแปรปรวนไม่แน่นอน อาจเริ่มมีอากาศเย็นหรืออาจยังมีฝนฟ้าคะนอง
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 6 บ้านวังผา ตำบลท่าข้าม อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 434 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 233 คน ประชากรหญิง 201 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 111 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนมกราคม 2566)
ประชากรบ้านวังผาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ขมุ หรือ กำมุ ที่สืบเชื้อสายมาจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งถูกสันนิษฐานว่าเข้ามาในประเทศไทยสมัยอาณานิคมฝรั่งเศส โดยเข้ามาเป็นแรงงานสำคัญในการเลี้ยงช้างและแรงงานตัดไม้ เมื่อหมดสัญญาจ้างมักจะเดินทางกลับภูมิลำเนาของตนเอง มีเพียงบางส่วนที่แต่งงานกับชนพื้นเมืองและตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย
กำมุในระยะแรกการประกอบอาชีพของประชากรบ้านวังผานิยมประกอบอาชีพแรงงานรับจ้างเป็นหลัก เลี้ยงช้าง หรือควาญช้าง รับจ้างตัดไม้ เป็นแรงงานในโรงงานยาสูบ ตลอดจนเป็นแรงงานรับจ้างทั่วไป ภายหลังประชากรเริ่มขยายการตั้งที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ชาวบ้านวังผาเริ่มรู้จักการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำไร่ข้าวโพด ทำสวนส้มโอ สวนยางพารา ลำไย เลี้ยงสัตว์ โค สุกร และบางส่วนประกอบอาชีพค้าขาย มีผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวโพด ส้มโอ ลำไย เงาะ ขิง ซึ่งเป็นรายได้หลักให้แก่ครอบครัว
อนึ่ง ด้วยวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตนของกลุ่มชาติพันธุ์ขมุบ้านวังผา ส่งผลให้รัฐบาลเข้ามาส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในหมู่บ้าน โดยภาครัฐดำเนินการนโยบายท่องเที่ยว ส่งผลให้ชาวขมุที่หมู่บ้านวังผาเปิดรับต่อกระแสด้านการท่องเที่ยว นําเสนอความเป็นขมุในรูปแบบของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมผ่านประเพณีปีใหม่ขมุ สินค้า และผลิตภัณฑ์ชุมชน เกิดการรวมกลุ่มแม่บ้านเพื่อส่งเสริมการเพิ่มรายได้ในระดับครอบครัวและชุมชน จัดจําหน่ายเป็นสินค้าหนึ่งตําบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ สินค้าโอท็อป (OTOP) ได้แก่ ผ้าปัก เหล้าอุ ที่จะทำให้ผู้ลิ้มลองได้สัมผัสถึงความเป็นตัวตนของกลุ่มชาติพันธุ์ขมุบ้านวังผาได้อย่างเข้าถึงแก่นแท้
ประเพณีปีใหม่ขมุ
การจัดงานประเพณีปีใหม่ขมุเป็นประเพณีสำคัญที่แสดงถึงความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้าน ซึ่งในการจัดงานประเพณีปีใหม่ขมุจะหมุนเวียนเจ้าภาพการจัดงานไปเรื่อย ๆ ตามแต่ละหมู่บ้าน มีการเตรียมตั้งขบวนเดินไปยังบริเวณสถานที่จัดงาน และชาวขมุทุกคนจะสวมใส่ชุดของกลุ่มชาติพันธุ์ขมุ แต่เดิมนั้นชาวขมุจัดงานประเพณีปีใหม่ขมุในวันที่ 31 ธันวาคมของทุกปี แต่ปัจจุบันการจัดงานเลื่อนเป็นวันที่ 5 มกราคม หรือวันอื่น ๆ ก่อนหน้า เนื่องจากภาครัฐไม่สะดวกในการเปิดงานในห้วงเวลาดังกล่าว
ผ้าทอขมุ ผลิตภัณฑ์ชุมชนบ้านวังผา
ผ้าทอขมุ หัตถกรรมงานฝีมือที่มีอัตลักษณ์โดยได้รับอิทธิพลมาจากผ้าทอของชาวไทลื้อ ชาวขมุนำผ้าทอมาปักลวดลาย เน้นสีดํา และสีแดงเป็นหลัก รวมถึงสีกรมท่า เสื้อทรงปัดคล้ายกับชาวไทลื้อ การรวมตัวของแม่บ้านชาวขมุ หมู่บ้านวังผา เพื่อสนับสนุนงานหัตถกรรมการทอผ้าเป็นสินค้าชุมชนริเริ่มผ่านประธานกลุ่มแม่บ้านปักผ้าชาวขมุ คือ คุณชลธิชา บุญศิริภัทร ที่ได้เล็งเห็นถึงความต้องการอนุรักษ์อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวขมุซึ่งถือเป็นแรงผลักดันทําให้ชาวขมุในหมู่บ้านวังผาเริ่มตระหนักถึงการอนุรักษ์อัตลักษณ์ด้านการแต่งกายของตนเองเพิ่มขึ้น กอปรกับห้วงเวลาที่แปรเปลี่ยนส่งผลกระทบให้เกิดการรวมกลุ่มเพื่อปักผ้าเพื่อการค้าเชิงพาณิชย์มากยิ่งขึ้น ชาวขมุจึงนําทุนทางวัฒนธรรมด้านอัตลักษณ์การแต่งกายมาเป็นอีกช่องทางในการสร้างรายได้ให้กับครอบครัว เกิดการรวมกลุ่มปักผ้าเพื่อช่วยสืบสานอัตลักษณ์ของตนเองให้คงอยู่สืบไป
ภาษาพูด : ภาษาขมุ
ภาษาเขียน : ชาวขมุไม่มีภาษาเขียน ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ที่ได้รับการศึกษาในสถานศึกษาของรัฐ และบางส่วนที่ได้ออกไปทำงานนอกชุมชนเริ่มเรียนรู้ภาษาไทยทั้งการฟัง พูด อ่าน เขียน ฉะนั้นอักษรที่ใช้ในชุมชนบ้านวังผาปัจจุบัน คือ ภาษาไทย
กัญญภัส สิริรุ่งวนิช. (2564). การดำรงอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ขมุท่ามกลางกระแสการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม: กรณีศึกษา หมู่บ้านวังผา ตำบลท่าข้าม อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
เทศบาลตำบลท่าข้าม. (ม.ป.ป.). สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐาน. สืบค้นเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2567, จาก https://www.thakhamwiangkaen.go.th/
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). กำมุ. สืบค้นเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2567, จาก https://ethnicity.sac.or.th/