Advance search

โกะจอโกล โกะข่อโกล

ชุมชนที่มีความเป็นธรรมชาติ และมีผลิตภัณฑ์ทอผ้ามือ

หมู่ที่ 4
บ้านห้วยโปงเลา
แม่กิ๊
ขุนยวม
แม่ฮ่องสอน
อบต.แม่กิ๊ โทร. 0-5361-5962
พนาพันธ์ วิชญพันธ์, รณิดา นายวม
16 มิ.ย. 2023
สุขใจ วิชญพันธุ์
12 ก.ค. 2023
สุดารัตน์ ศรีอุบล
7 พ.ค. 2024
บ้านห้วยโปงเลา
โกะจอโกล โกะข่อโกล


ชุมชนที่มีความเป็นธรรมชาติ และมีผลิตภัณฑ์ทอผ้ามือ

บ้านห้วยโปงเลา
หมู่ที่ 4
แม่กิ๊
ขุนยวม
แม่ฮ่องสอน
58140
18.60452767
97.85529837
องค์การบริหารส่วนตำบลแม่กิ๊

แต่เดิมชาวบ้านอยู่แบบกระจัดกระจายตามลำห้วยต่าง ๆ ด้วยความเชื่อและที่ทำกินของแต่ละกลุ่มบ้าน โดยเริ่มแรกอยู่ที่ห้วยแห้ง จำนวน 6 หลัง ซึ่งผู้นำ คือ นายต่าแหมะส่า ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า "ก่อเกอจ่า" หรือ ฮี่เกอจ่า ต่อมาได้ย้ายมาลงมาอยู่ที่บริเวรป่าขนุน (แปแย่วปก่าปู) ต่อมาได้ย้ายมาที่เดลอตอแคละกลา อยู่ได้ไม่นานเกิดโรคระบาดและพื้นที่ไม่ราบ จึงย้ายลงมาที่ห้วยแห้ง (ต่าเคถ่า) จำนวน 6 หลัง อยู่ได้ไม่นานเพราะไกลที่ทำกินจึงได้ย้ายกลับไปที่มอเลถ่า 4 หลัง ย้ายลงมาที่เคบอถ่า 2 หลัง อีกไม่นานต่อมาก็ย้ายมาอยู่รวมกันที่ห้วยแห้ง จำนวน 7 หลัง ซึ่งได้เปลี่ยนความเชื่อจากนับถือผี (เออะแคโอะเลอโหม่ลือป่าเหล่า) ได้นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก โดยมีบาทหลวง โรดี

ในปี พ.ศ. 2518 ได้ย้ายลงมาอยู่ที่ บ้านห้วยโปงเลาในปัจจุบันจำนวน 7 หลังคาเรือน สาเหตุเพราะพื้นที่บ้านที่ย้ายมาเป็นพื้นที่ราบกว้างเป็นจุดกึ่งกลางระหว่างที่ทำกินและสามารถติดต่อกับทางอำเภอได้สะดวกกว่า มีการแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านของหมู่บ้าน คนแรก คือ นายสมชาย ผ่องสติปัญญา ซึ่งขณะนั้นบ้านห้วยโปงเลา เป็นหมู่ 8 ตำบลเมืองปอน มีจำนวนหลังคาเรือนย้ายมาอยู่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในปี 2531 ได้มีการเปลี่ยนแปลงผู้นำเพราะผู้ใหญ่บ้านคนเดิมได้ลาออกจากตำแหน่ง โดยมีการเลือกตั้งผู้นำใหม่ ซึ่งผู้ได้รับเลือกคือ นายมิกูเรย์ ก้อนเกียรติวงศ์ และได้ตั้งเป็นบ้านห้วยโปงเลา หมู่ที่ 4 ตำบลแม่กิ๊ จนถึงปัจจุบันเป็นผู้นำมา สาเหตุคือเสือชุกชุมมาก และอีก 1 ปี มีมาเพิ่มอีก 1 หลัง คือ นายพะหมื่อฮา ซึ่งย้ายมาจากบ้านห้วยโป่งเลา สาเหตุที่มา คือ ลูกเกิดมาแล้วเสียชีวิตซึ่งเป็นความเชื่อดั้งเดิมที่เมื่อมีการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตขึ้นมาจะต้องมีการย้ายที่อยู่ อายุชุมชน 135 ปี

บ้านห้วยโปงเลา อยู่ห่างจากองค์การบริหารส่วนตำบลแม่กิ๊ ประมาณ 13 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากบ้านแม่กิ๊ ประมาณ 9 กิโลเมตร และมีหย่อมบ้าน คือ บ้านแม่ข่อ การเดินทางเข้าสู่หมู่บ้าน เป็นถนนคอนกรีต คสล. และถนนดินรุกรังบางส่วน เป็นทางที่มีความชันสูง แคบ เส้นทางเดินรถเป็นทางไต่ตามไหล่เขา ในช่วงฤดูฝนจะมีความลำบากในการเดินทาง เพราะเส้นทางในหมู่บ้านบางซอยก็ยังเป็นถนนดิน

อาณาเขต

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านแม่ข่อ
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านห้วยปู อำเภอแม่ลาน้อย
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านพะโท
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านแม่ลาหลวง

สภาพพื้นที่ทางกายภาพ

พื้นที่หมู่บ้านห้วยโปงเลา มีสภาพเป็นภูเขา และเชิงเขา บ้านเรือนประชาชนสร้างบนไหล่เขา

จำนวนครัวเรือนและประชากรชุมชนบ้านห้วยโปงเลา จำนวน 127 ครัวเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 344 คน แบ่งเป็นประชากร ชาย 166 คน หญิง 178 คน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมด ร้อยละ 100 คน ในชุมชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวขยายที่มีผู้คนหลากหลายช่วงวัย จากรากฐานความสัมพันธ์เชิงเครือญาติทำให้ผู้คนในสังคมมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกัน 

ปกาเกอะญอ

ผู้คนในชุมชนบ้านห้วยโปงเลาและหย่อมบ้านแม่ข่อ มีการรวมกลุ่มทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ

  • กลุ่มที่เป็นทางการ หมู่ที่ 4 บ้านห้วยโปงเลา กลุ่มสตรีทอผ้ากะเหรี่ยงและแปรรูป มีนางสุกันดี ใจสนอง เป็นประธานกลุ่ม
  • กลุ่มที่ไม่เป็นทางการ ด้านกลุ่มอาชีพผู้คนในชุมชนส่วนใหญ่ทำการเกษตร ปลูกข้าว ปลูกกระเทียม ปลูกพืชไร่หมุนเวียน โดยเฉพาะช่วงที่ดำนาและขั้นตอนการเก็บเกี่ยวจะใช้วิธีการเอามือกันเพื่อแลกเปลี่ยนกันและช่วยกันปลูกข้าวดำนา ปัจจุบัน คนในชุมชนเริ่มได้รับการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นและหลากหลายขึ้นและมีบุตรหลาน ญาติพี่น้องบางส่วนก็รับราชการ เช่น ทหาร ครู นักการเมืองท้องถิ่น

ประชาชนในตำบลแม่กิ๊ บ้านห้วยโปงเลาและบ้านแม่ข่อ มีอาชีพทำนา ทำสวน และทำไร่ โดยจะมีปฏิทินการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตรที่เป็นประจำทุกปี เช่น ต้นปีเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม จะเตรียมพื้นที่ และแผ้วถางให้โล่งไว้ ส่วนเดือนเมษายนมีสภาพกาศที่ร้อนมาก จึงทำการเผาหญ้าที่แห้งแล้ว เดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนกรกฎาคม เริ่มทำการเพาะปลูก ส่วนใหญ่จะปลูกข้าวโพด และปลูกพืชผักสวนครัว และเริ่มทำการไถนาและหว่านกล้าข้าวทิ้งไว้ บางรายทำไร่ข้าวก็จะทำหว่านข้าว เดือนสิงหาคม จะทำการปลูกข้าวในนา ชาวชุมชนจะผลัดกันลงแขกดำนาเป็นกลุ่ม เอาแรงใช้แรงกันไปจนหมดทุกที่ หากในปีนั้นเกิดโรคระบาดในนาข้าว นิยมให้กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแบบดั้งเดิม เช่น จะไปหาหน่อไม้ มาหั่นแช่ไว้ให้เกิดกลิ่นเปรี้ยวบูด หรือผลไม้เช่น ส้มโอ มะนาว มาหั่นแล้วไปหว่านตามท้องนา ทำให้แมลงที่เกาะตามข้าวย้ายไปกินหน่อไม้และผลไม้ที่หว่านทิ้งไว้ หากจำกัดออกไม่ได้ จึงจะขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นลำดับต่อไป ในเดือนถัดไป จะทำการถางหญ้าบนคันนา และดูแลไปจนถึงฤดูเก็บเกี่ยว จึงจะช่วยกันและผลัดกันเก็บเกี่ยวเป็นราย ๆ ไปจนเสร็จ ชาวชุมชนจะช่วยกันลงแขกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ในแต่ละวัน ในเดือนพฤศจิกายนเป็นฤดูเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตรและเกี่ยวข้าว หลังเก็บเกี่ยว จะปลูกกระเทียมและยาสูบในนา บางรายได้ต้อนวัวควายมาเลี้ยงในนา เพื่อเป็นการบำรุงดินจากมูลสัตว์ที่ขับถ่ายในนา

ในชุมชนจะมีกิจกรรมด้านวัฒนธรรม ประเพณี ที่มักจะทำเป็นประจำทุกปี เช่น ในวันขึ้นปีใหม่ของทุกปี ชาวชุมชนบ้านแม่กิ๊ รดน้ำดำหัวให้ผู้ใหญ่ในครอบครัวและในชุมชน จะมีการทำอาหารและขนมท้องถิ่น เลี้ยงเพื่อนบ้าน และการเยี่ยมบ้าน พูดคุยกัน มีการสวดมนต์ข้ามปีในคืนวันขึ้นปีใหม่ 

ในปลายเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงต้นเดือนเมษายน จะมีการถือศีลอดหรือเทศกาลมหาพรต ตามวิถีชาวคริสตชน คือการถือศีลอด โดยจะไม่กินเนื้อสัตว์ในวันพุธและวันศุกร์ จะรับประทานอาหารแค่วันละครั้งในปริมาณน้อย และงดการดื่มสิ่งมึนเมาทุกชนิด ในการถือศีลอดนั้น ถือเป็นการร่วมทรมานกับพระเยซูเจ้าผู้มาไถ่บาปเพื่อชาวคริสต์ ในช่วงค่ำ ๆ จะมีการสวดมนต์ในโบสถ์ทุกวันและวันอาทิตย์จะมีพิธีทางศาสนาเพื่อสวดมนต์และรับพรจากพระผู้เป็นเจ้า โดยในวันอาทิตย์นั้นจะมีบาทหลวงเป็นผู้นำในการดำเนินการด้านพิธีการทางศาสนา และชาวชุมชนถือปฏิบัติเป็นประจำทุกปี ในช่วงถือศีลอด จะมีการจัดกิจกรรมค่ายสอนให้กับเด็กและเยาวชน เพื่อเรียนรู้ขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรม เรียนอักขระภาษากะเหรี่ยง เรียนรู้ประวัติความเป็นมาของศาสนา และบทสวดต่าง ๆ และเตรียมตัวรับศีลมหาสนิท หลังเสร็จสิ้นเทศกาลมหาพรต จะมีพิธีบูชามิสซาและเฉลิมฉลองปัสกา

1.นายสมชาย ผ่องสติปัญญา เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกของบ้านห้วยโปงเลา

2.นายวิบูลย์ ก้อนเกียรติวงศ์ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่สองของบ้านห้วยโปงเลา และยังเป็นปราชญ์ในด้านสมุนไพร

3.นายพะเก่มี เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านการจักสานที่มีเอกลักษณ์สวยงาม โดดเด่น

ทุนวัฒนธรรม

  • วันภาษา เป็นการจัดกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมประเพณีวัฒนธรรมของชาติพันธ์ุ ที่เน้นให้ผู้มาร่วมงานรู้จักวิถีการดำรงชีวิต เช่น เรื่องการอาหาร น้ำดื่มสมุนไพร จักสาน การทอผ้า การผูกข้อมือรับขวัญ
  • ค่ายคำสอน เป็นกิจกรรมที่จัดทำขึ้นในช่วงปิดภาคเรียน เป็นกิจกรรมที่ให้เด็ก ๆ ที่มีอายุตั้ง 7 ขวบ เข้าร่วมกิจกรรม จะมีการจัดฐานการเรียนรู้ให้กับเด็ก ๆ ได้รู้จักภาษา วิถีชีวิต การรวมกลุ่มเพื่อแสดงออกและสร้างความสามัคคี
  • ปลูกป่า บวชป่า เป็นกิจกรรมที่จัดให้ประชาชนและทุกคนในตำบล หันมาใส่ใจและดูแลหวงแหนอาหาร ชาติพันธ์ุปกาเกอะญอที่มีความเป็นชาติพันธุ์และเป็นอาหารที่บ่งบอกถึงความเป็นชาวปกาเกอะญอ นั้นก็คือ ข้าวเบร๊อะ เป็นอาหารที่มีรสชาติกลมกล่อมและอร่อย มีรสชาติหวานจากผักผงชูรสดอย (ห่อทีล่ะ) ผักที่สามารถนำมาใช้ในการทำข้าวเบร๊อะ เช่น หน่อไม้ หน่อคาหาน (กอฮอดึ) หน่อหวาย ยอดฟักทอง 
  • ขนมต้มเขาควาย (เมตอ) คือ การทำขนมเพื่อใช้ในพิธีมัดมือ และพิธีปีใหม่ ซึ่งเป็นขนมมงคลที่แต่ละบ้านจะทำขึ้นมาเพื่อประกอบพิธีกรรมและแจกจ่ายให้กับผู้มาเยี่ยมเยือน
  • ขนมหนุกงา (เมตอปี่) คือ ขนมที่ชาติพันธ์ุปกาเกอะญอ จะทำขึ้นในช่วงปีใหม่ ซึ่งแต่ละบ้านจะทำแจกจ่ายญาติพี่น้องหรือว่าผู้มาเยี่ยมเยือน
  • การแต่งกาย บ้านแม่กิ๊ และหย่อมบ้านห้วยคลองเซ เป็นอีกหนึ่งหมู่บ้านที่มีฝีมือทางด้านการเย็บและปักเสื้อผ้าของชนชาติพันธ์ุ ซึ่งเมื่อมีเวลาว่างหรือเว้นจากช่วงทำไร่ ทำนา กลุ่มสตรีหรือกลุ่มแม่บ้านที่มีฝีมือในการทอผ้า ก็จะจัดกลุ่มชุมนุมกันเพื่อปักผ้าทอซิ่น กระเป๋ายาม ผ้าโผกหัว ฯลฯ เพื่อใช้ในชีวิตประจำวันและจำหน่ายบางส่วน ซึ่งผู้ชายจะใส่เสื้อทอกับกางเกงสะดอ ส่วนผู้หญิงจะใส่เสื้อทอกับผ้าถุงทอ และสำหรับหญิงสาวจะใส่เป็นชุดทอยาวคล้ายชุดเดรส ด้ายหรือไหมจะย้อมสีจากธรรมชาติ ผลิตจากฝ้ายและนำมาย้อมสีจากเปลือกไม้ ใบไม้ หรือ วัตถุดิบตามท้องถิ่นที่สามารถนำมาย้อมสี ทุนวัฒนธรรม

ภาษากะเหรี่ยง มีภาษาพูดที่มีวรรณยุกต์ที่พูดโดยเฉพาะชาวกะเหรี่ยงหรือกลุ่มชาติพันธ์ุ หรือที่จะเรียกให้ดูสุภาพ คือกลุ่มชาติพันธ์ุปกาเกอะญอ ซึ่งเป็นภาษาที่จัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต ซึ่งแบ่งออกเป็นสามสาขาหลัก คือ สะกอ โป และปะโอ ซึ่งคนในชุมชนบ้านพะโทและหย่อมบ้านพะแข่ จะใช้ภาษากะเหรี่ยงสะกอ ในการสื่อสารภายในชุมชนและในกลุ่มชาติพันธ์ุปกาเกอะญอ และกลุ่มผู้ใหญ่วัยกลางคนและผู้สูงอายุหรือผู้ที่ได้เล่าเรียนมา จะมีภาษาเขียนในบทสวดบทคำสอนที่เป็นลักษณะโดยเฉพาะ


  • การเปลี่ยนแปลงของสังคมไปสู่ความทันสมัย ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพและการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม คนในชุมชนมีการสร้างบ้านแบบสมัยใหม่ตามยุคกาลสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้วิถีชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เนื่องจากอิทธิพลของสื่อในมิติต่าง ๆ ที่มีความรวดเร็ว รวมถึงการที่คนรุ่นใหม่เข้าไปทำงานหรือศึกษาต่อในเมืองกรุง ทำให้ได้รับอิทธิพลทางการศึกษาสมัยใหม่ที่สอนให้คนเชื่อในหลักทางวิทยาศาสตร์ทำให้เกิดการเปลี่ยนทางความคิดและความเชื่อ
  • การเคลื่อนย้ายของประชาชน ในอดีตคนในสังคมมีการอยู่อาศัยร่วมกันแบบครอบครัวขยาย ทำให้เกิดการเรียนรู้พิธีกรรมต่าง ๆ ทำให้สมาชิกรุ่นใหม่ได้เรียนรู้จากการถ่ายทอดของคนในครัวเรือน ต่อมาสังคมพัฒนาไปสู่ความทันสมัย เกิดการเคลื่อนย้ายการใช้ชีวิตไปอยู่นอกชุมชน บางคนในครอบครัวก็ออกเรือนไปอยู่ต่างบ้านต่างเมือง ไปเรียนหนังสือเพื่อศึกษาหาความรู้ ไปทำงาน

ชุมชนจะเผชิญกับปัญหาด้านธรรมชาติที่เกิดจากการเผาป่าและไฟป่า เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้ส่งผลต่อการเกิดปัญหาไฟป่าและทำให้เกิดค่าฝุ่น PM 2.5 ที่ชุมชนหรือหมู่บ้านต้องเฝ้าระวังและจัดให้มีชุดตรวจลาดตระเวนและมีการจัดกิจกรรมทำแนวกันไฟ เพื่อป้องกันการเกิดไฟป่าหรือเฝ้าระวังไฟป่า

ในชุมชนบ้านห้วยโปงเลา มีจุดสนใจอื่น ๆ คือ โบสถ์ไม้ โรงเรียน ตชด.บ้านเปียงหลวง

องค์การบริหารส่วนตำบลแม่กิ๊. (ม.ป.ป.). แผนพัฒนาท้องถิ่น อบต.แม่กิ๊ (2566 – 2570). http://maeki-khunyuam.com/

กรมการปกครอง. (2564). สำนักทะเบียนอำเภอขุนยวม ที่ว่าการอำเภอขุนยวม. ข้อมูล ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2564.

อบต.แม่กิ๊ โทร. 0-5361-5962