โบสถ์คาทอลิกสไตล์ยุโรป
บ้านเปียงหลวงหรือ (เดยาเปอโข่) เป็นพื้นที่ราบบนภูเขา และมีแหล่งน้ำ มีต้นพลับพลึงขึ้นเป็นทุ่ง ออกดอกสีขาว ชื่อท้องถิ่นของดอกพลับพลึง คือ พอเดยา จึงเป็นที่มาของหมู่บ้าน เดยาเปอโข่ (ทุ่งดอกพลับพลึง)
โบสถ์คาทอลิกสไตล์ยุโรป
บ้านเปียงหลวง เดิมเป็นพื้นที่ราบมีลักษณะเป็นป่าทึบ ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ บาทหลวง สนั่น สันติมโนกุล และครูคำสอน คือ นายพะหลิ กระจายกุศล และชาวบ้านหมู่บ้านใกล้เคียง โดยมี นายพะขุ่ยทู กรองมีคุณ, นายสุริยันต์ รักสุภาพ, นายอำพล เมฆมากฤทธิ์ ได้เริ่มความคิดที่จะบุกเบิกพื้นที่แห่งนี้ เพื่อสร้างเป็นหมู่บ้าน โดยมีบาทหลวงสนั่น สันติมโนกุล เป็นที่ปรึกษาและคอยให้ความช่วยเหลือ และเริ่มแผ้วถางในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2527 โดยมีชาวบ้านหมู่บ้านใกล้เคียงทั้ง 4 หมู่บ้าน กับ 3 หย่อมบ้านช่วยสร้าง และสร้างศาลาไว้ 1 หลัง
ต่อมา ในปี 2529 นายมงคล กอบทับทิมงาน ได้มาสร้างบ้านเป็นหลังแรก หลังจากนั้นเริ่มมีชาวบ้านใกล้เคียงเริ่มทยอยมาสร้างบ้านเรื่อย ๆ เมื่อมีประชากรเพิ่มมากขึ้น นายสุขใจ วิชญพันธ์ ได้ศึกษาหาความรู้ในการจัดตั้งหมู่บ้านทางการ นายสุขใจ วิชญพันธ์ เป็นผู้รวบรวมเอกสาร และดำเนินการขอจัดตั้งหมู่บ้านทางการ การดำเนินขอจัดตั้งหมู่บ้าน ได้ใช้ระยะเวลานานหลายปี โดย นายสุขใจ วิชญพันธ์ ได้ติดตาม จนได้รับการรับรองจากทางอำเภอขุนยวม และได้ตั้งชื่อว่า บ้านเปียงหลวง ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2545 และได้มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านเป็นครั้งแรก โดยมี นายพะขุ่ยทู กรองมีคุณ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก ในวันที่ 5 สิงหาคม 2545
จากนั้นในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2548 บ้านเปียงหลวง ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จเยี่ยมบ้านเปียงหลวง ในฐานะหมู่บ้านตัวอย่าง ในด้านการอนุรักษ์ น้ำ ดิน ป่า ได้รับรางวัลระดับชุมชน ระดับอำเภอ และระดับจังหวัด
บ้านเปียงหลวง อยู่ห่างจากอำเภอขุนยวม ประมาณ 30 กิโลเมตร และมีหน่วยงานองค์การบริหารส่วนตำบลแม่กิ๊ ตั้งอยู่ในหมู่บ้าน
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านห้วยส้าน
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านแม่กิ๊
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านพะโท
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านท่าหินส้ม ตำบลเมืองปอน
จำนวนครัวเรือนและประชากรชุมชนบ้านเปียงหลวง จำนวน 64 ครัวเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 310 คน แบ่งเป็นประชากร ชาย 154 คน หญิง 156 คน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมด ร้อยละ 100 คนในชุมชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่อยู่ร่วมกันแบบครอบครัวใหญ่ขยายที่มีผู้คนหลากหลายช่วงวัย จากรากฐานสัมพันธ์เชิงเครือญาติทำให้ผู้คนในสังคมการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกัน
ปกาเกอะญอผู้คนในชุมชนตำบลแม่กิ๊ มีการรวมกลุ่มทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ
กลุ่มที่เป็นทางการ
- กลุ่มกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลแม่กิ๊ เป็นกลุ่มองค์กรที่มีเป้าหมายให้สมาชิกชุมชนมีความมั่นคงร่วมกันของคนในชุมชน และเป็นกระบวนการที่ไม่ได้มองเรื่องเงินเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการดูแล เอื้อเฟื้อต่อกันผ่านรูปแบบที่หลากหลาย มีนายไพรวัลย์ โชคอรุณ เป็นประธานกองทุน มีตัวแทนทุกหมู่บ้านเป็นคณะกรรมการ และประชาชนตำบลแม่กิ๊ทุกครัวเรือนเป็นสมาชิก กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลแม่กิ๊ ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 104 หมู่ที่ 1 ตำบลแม่กิ๊ อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน
- กลุ่มชมรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตำบลแม่กิ๊ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2538 โดยมีนายสุขใจ และเพื่อนร่วมงานประมาณ 10 คน ได้ปรึกษากัน เพื่อที่จะแก้ปัญหาเรื่องน้ำ ป่า ในตำบลแม่กิ๊ ให้มีความอุดมสมบูรณ์ และสืบสานเจตนารมณ์ของบรรพชนและหลักการของศาสนาเรื่องการใช้ประโยชน์ และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้มีความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป สมาชิกทั้งหมดจำนวน 10 คนจึงได้นัดประชุมประชากรในตำบลแม่กิ๊ประมาณ 300 คน มาประชุมปรึกษาหารือในโบสถ์บ้านเปียงหลวง ในวันที่ 20 สิงหาคม 2538 และมีมติให้วันดังกล่าวเป็นการก่อตั้งชมรมดังกล่าว ปัจจุบันมีนายวีระชัย กอดวิเชียร เป็นประธานชมรม
- กลุ่มสตรีทอผ้ากะเหรี่ยงตำบลแม่กิ๊ ในตำบลแม่กิ๊จะมีกลุ่มสตรีแต่ละหมู่บ้านจัดตั้งกลุ่มในด้านผ้ากะเหรี่ยง เพื่อส่งเสริมให้สตรีในหมู่บ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ เข้ามาดูผลิตภัณฑ์ และมีการสั่งทำผลิตภัณฑ์ เช่น เสื้อทอกะเหรี่ยง ผ้าซิ่นกะเหรี่ยง ย่ามกะเหรี่ยง ผ้าพันคอกะเหรี่ยง เป็นต้น จึงทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นในส่วนนี้ กลุ่มสตรีแต่ละหมู่บ้านมีชื่อในการจัดตั้งกลุ่มที่แตกต่างกัน และแต่ละกลุ่มจะมีประธานกลุ่ม ได้แก่ หมู่ที่ 5 บ้านเปียงหลวง กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านเปียงหลวง มีนางอัจราภรณ์ โชคอรุณ เป็นประธานกลุ่ม
กลุ่มไม่เป็นทางการ
- กลุ่มศรัทธาด้านศาสนา ในชุมชนบ้านเปียงหลวง จะมีโบสถ์ศาสนาคริสต์ เป็นศูนย์รวมจิตใจของ ชาวคริสตชนในหมู่บ้าน จะมีการแบ่งโซนในหมู่บ้าน แต่ละโซนในการดูแลทำความสะอาดโบสถ์ และเป็นผู้นำสวด ในแต่ละเดือน
- ด้านกลุ่มอาชีพ ในอดีตผู้คนในชุมชนส่วนใหญ่ทำการเกษตร ปลูกข้าว โดยเฉพาะการลงแขกช่วยเหลือกันตั้งแต่ขั้นตอนแรกของการผลิต เช่น การไถหวาน การดำนา จนถึงขั้นสุดท้ายของการเก็บเกี่ยว เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วก็นำส่วนหนึ่งไปขาย แบ่งปันญาติพี่น้อง แบ่งไว้สำหรับทำบุญ ส่วนที่เหลือเก็บไว้ในยุ้งฉาง เพื่อกินและเป็นเมล็ดพันธุ์สำหรับเพาะปลูกในปีถัดไป และในชุมชนยังมีประกอบอาชีพรับราชการ เช่น ครู พนักงานส่วนตำบล (อบต.) ทหาร เป็นต้น
ประชาชนมีอาชีพทำนา ทำสวน และทำไร่ โดยจะมีปฏิทินการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตรที่เป็นประจำทุกปี เช่น ต้นปีเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม จะเตรียมพื้นที่ และแผ้วถางให้โล่งไว้ ส่วนเดือนเมษายนมีสภาพอากาศที่ร้อนมาก จึงทำการเผาหญ้าที่แห้งแล้ว เดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนกรกฎาคม เริ่มทำการเพาะปลูก ส่วนใหญ่จะปลูกข้าวโพด และปลูกพืชผักสวนครัว และเริ่มทำการไถนาและหว่านกล้าข้าวทิ้งไว้ บางรายทำไร่ข้าวก็จะทำหว่านข้าว เดือนสิงหาคม จะทำการปลูกข้าวในนา ชาวชุมชนจะผลัดกันลงแขกดำนาเป็นกลุ่ม เอาแรงใช้แรงกันไปจนหมดทุกที่ หากในปีนั้นเกิดโรคระบาดในนาข้าว นิยมใช้วิธีแบบชาวกะเหรี่ยงแบบดั้งเดิม เช่น จะไปหาหน่อไม้ มาหั่นแช่ไว้ให้เกิดกลิ่นเปรี้ยวบูด หรือผลไม้เช่น ส้มโอ มะนาว มาหั่นแล้วไปหว่านตามท้องนา ทำให้แมลงที่เกาะตามข้าวย้ายไปกินหน่อไม้และผลไม้ที่หว่านทิ้งไว้ หากจำกัดออกไม่ได้ จึงจะขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นลำดับต่อไป ในเดือนถัดไป จะทำการถางหญ้าบนคันนา และดูแลไปจนถึงฤดูเก็บเกี่ยว จึงจะช่วยกันและผลัดกันเก็บเกี่ยวเป็นราย ๆ ไปจนเสร็จ ชาวบ้านจะช่วยกันลงแขกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ในแต่ละวัน ในเดือนพฤศจิกายนเป็นฤดูเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตรและเกี่ยวข้าว หลังเก็บเกี่ยวจะปลูกกระเทียมและยาสูบในนา บางรายได้ต้อนวัวควายมาเลี้ยงในนา เพื่อเป็นการบำรุงดินจากมูลสัตว์ที่ขับถ่ายในนา
ในชุมชนจะมีกิจกรรมด้านวัฒนธรรม ประเพณี ที่มักจะทำเป็นประจำปีทุกปี เช่น ในวันขึ้นปีใหม่ของทุกปี ชาวชุมชนบ้านแม่กิ๊ รดน้ำดำหัวให้ผู้ใหญ่ในครอบครัวและในชุมชน จะมีการทำอาหารและขนมท้องถิ่นเลี้ยงเพื่อนบ้าน และการเยี่ยมบ้าน พูดคุยกัน มีการสวดมนต์ข้ามปีในคืนวันขึ้นปีใหม่
ในปลายเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงต้นเดือนเมษายน จะมีการถือศีลอด หรือเทศกาลมหาพรต ตามวิถีชาวคริสต์ คือ การถือศีลอด โดยจะไม่กินเนื้อสัตว์ในวันพุธและวันศุกร์ จะรับประทานอาหารเพียงวันละครั้งในปริมาณน้อย และงดการดื่มสิ่งมึนเมาทุกชนิด ในการถือศีลอดนั้น ถือเป็นการร่วมทรมานกับพระเยซูเจ้า ผู้มาไถ่บาปเพื่อชาวคริสต์ ในช่วงค่ำ จะมีการสวดมนต์ในโบสถ์ทุกวันและวันอาทิตย์จะมีพิธีทางศาสนา เพื่อสวดมนต์และรับพรจากพระผู้เป็นเจ้า โดยในวันอาทิตย์นั้นจะมีบาทหลวงเป็นผู้นำในการดำเนินการด้านพิธีการทางศาสนา และชุมชนถือปฏิบัติเป็นประจำทุกปี ในช่วงถือศีลอด จะมีการจัดกิจกรรมค่ายสอนให้กับเด็กและเยาวชน เพื่อเรียนรู้ขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรม เรียนอักขระภาษากะเหรี่ยง เรียนรู้ประวัติความเป็นมาของศาสนา และบทสวดต่าง ๆ และเตรียมตัวรับศีลมหาสนิท หลังเสร็จสิ้นเทศกาลมหาพรต จะมีพิธีบูชามิสซาและเฉลิมฉลองปัสกา
1.นายพะขุ่ยทู กรองมีคุณ ผู้ใหญ่บ้านคนแรกของหมู่บ้านเปียงหลวง ตำบลแม่กิ๊ นายพะขุ่ยทู กรองมีคุณ เป็นหนึ่งในคณะที่ก่อตั้งหมู่บ้านเปียงหลวง เดิมที หมู่บ้านเปียงหลวงมีชื่อเดิมว่า "บ้านป่าเปียงหลวง" ต่อมามีการบุกเบิกพื้นที่จัดตัดคำว่า ป่า และเปลี่ยนชื่อเป็น บ้านเปียงหลวง และได้มีผู้ใหญ่บ้านคนแรกในปี พ.ศ. 2527 ซึ่งนายพะขุ่ยทู กรองมีคุณ เป็นผู้นำด้านศาสนาและผู้นำทางธรรมชาติ และเป็นปราชญ์ด้านจักสาน และการทำไม้กวาด จากขวดน้ำอัดลมและก้านดอกหญ้า
2.นายสุขใจ วิชญพันธ์ ประธานคนแรกชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตำบลแม่กิ๊ ปัจจุบันทำอาชีพหมอสาธารณสุข โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแม่กิ๊ นายสุขใจ วิชญพันธ์ และเพื่อนร่วมงานประมาณ 10 คน ได้ปรึกษากันเพื่อแก้ปัญหาเรื่องน้ำ ป่า ในตำบลแม่กิ๊ ให้มีความอุดมสมบูรณ์ ยั่งยืน ตลอดไป และเพื่อสืบสานเจตนารมณ์ของบรรพชน โดยวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2538 ได้มีการประชุมกันในโบสถ์บ้านเปียงหลวง มีประชาชนตำบลแม่กิ๊ จำนวน 300 คน เข้าร่วมกันประชุม และที่ประชุมได้มีมติให้มีการจัดตั้งชมรมอนุรักษ์ขึ้น ณ วันนั้น โดยให้ชื่อว่า ชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตำบลแม่กิ๊ และในวันที่ 20 สิงหาคม ของทุกปี จะมีการประชุมสัมมนาประจำปีของชมรมฯ ปัจจุบัน มีนายวีระชัย กอดวิเชียร เป็นประธานชมรมฯ
3.นายสุริยันต์ รักสุภาพ ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 2 ของบ้านเปียงหลวง เป็นหนึ่งในบุคคลที่ได้มาสำรวจและริเริ่มการสร้างหมู่บ้าน และเป็นปราชญ์ด้านการทำเกษตรแบบผสมผสาน โดยมีการเลี้ยงทำอาชีพทำนา ทำสวน เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงกบ
4.นายเกษม ฐิติมโนกุล เป็นผู้ชำนาญและเชี่ยวชาญด้านขนบธรรมเนียม ประเพณีท้องถิ่น
5.นายพะนอปะ โชคอรุณ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจักสาน สมุนไพร และการทำภาชนะครัวเรือนจากไม้ เช่น ครกไม้ จาน ชาม ช้อน ทัพพี
6.นายอำพล เมฆมากฤทธิ์ เป็นผู้ชำนาญด้านอักขระภาษาท้องถิ่น และด้านขนบธรรมเนียมประเพณี และเป็นครูสอนด้านศาสนา
7.นางอัจฉราภรณ โชคอรุณ เป็นชำนาญด้านการทอผ้าและการสีผ้าจากธรรมชาติ
8.นายประวิทย์ แสงโชคชัย เป็นผู้ชำนาญด้านการตีมีดโดยวิธีโบราณ การใช้เตาไฟ
9.นายพะกะดู กระบวนศิริ เป็นคุณตาที่มีอายุ 101 ปี มีความจำที่แม่นยำ และยังมีความรู้หลาย ๆ ด้าน เช่น ด้านสมุนไพร ด้านลำนำ
10.นายสนั่น สันติมโนกุล เป็นบุคคลสำคัญที่ร่วมก่อตั้งบ้านเปียงหลวง
ทุนวัฒนธรรม
- วันภาษา เป็นการจัดกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมประเพณีวัฒนธรรมของชาติพันธ์ุ ที่เน้นให้ผู้มาร่วมงานรู้จักวิถีการดำรงชีวิต เช่น อาหาร น้ำดื่มสมุนไพร จักสาน การทอผ้า การผูกข้อมือรับขวัญ
- ค่ายคำสอน เป็นกิจกรรมที่จัดทำขึ้นในช่วงปิดภาคเรียน เป็นกิจกรรมที่ให้เด็ก ๆ ที่มีอายุตั้ง 7 ขวบ เข้าร่วมกิจกรรม จะมีการจัดฐานการเรียนรู้ให้กับเด็ก ๆ ให้เด็ก ๆได้รู้จักภาษา วิถีชีวิต การรวมกลุ่มเพื่อแสดงออกและสร้างความสามัคคี
- ปลูกป่า บวชป่า เป็นกิจกรรมที่จัดให้ประชาชนและทุกคนในตำบล หันมาใส่ใจและดูแลหวงแหนป่าไม้
- อาหาร ชาวปกาเกอญอที่มีความเป็นชาติพันธ์ุและเป็นอาหารที่บ่งบอกถึงความเป็นชาวปกาเกอญอ นั้นก็คือ ข้าวเบ๊อะ เป็นอาหารที่มีรสชาติกลมกล่อมและอร่อย มีรสชาติหวานจากผักผงชูรสดอย (ห่อทีล่ะ) ผักที่สามารถนำมาใช้ในการทำข้าวเบ๊อะ เช่น หน่อไม้ หน่อคาหาน (กอฮอดึ) หน่อหวาย ยอดฟักทอง
- ขนมต้มเขาควาย (เมตอ) คือ การทำขนมเพื่อใช้ในพิธีมัดมือ และพิธีปีใหม่ ซึ่งเป็นขนมมงคลที่แต่ละบ้านจะทำขึ้นมาเพื่อประกอบพิธีกรรมและแจกจ่ายให้กับผู้มาเยี่ยมเยือน
- ขนมหนุกงา (เมตอปี่) คือ ขนมที่ชาวปกาเกอญอ จะทำขึ้นในช่วงปีใหม่ ซึ่งแต่ละบ้านจะทำแจกจ่ายญาติพี่น้องหรือว่าผู้มาเยี่ยมเยือน
- การแต่งกาย บ้านเปียงหลวง เป็นอีกหนึ่งหมู่บ้านที่มีฝีมือทางด้านการเย็บและปักเสื้อผ้าของชาวกะเหรี่ยง ซึ่งเมื่อมีเวลาว่างหรือเว้นจากช่วงทำไร่ ทำนา กลุ่มสตรีหรือกลุ่มแม่บ้านที่มีฝีมือในการทอผ้า ก็จะจัดกลุ่มชุมนุมกันเพื่อปักผ้าทอซิ่น กระเป๋ายาม ผ้าโผกหัว ฯลฯ เพื่อใช้ในชีวิตประจำวันและจำหน่ายบางส่วน ซึ่งผู้ชายจะใส่เสื้อทอกับกางเกงสะดอ ส่วนผู้หญิงจะใส่เสื้อทอกับผ้าถุงทอ และสำหรับหญิงสาวจะใส่เป็นชุดทอยาวคล้ายชุดเดรส ด้ายหรือไหมจะย้อมสีจากธรรมชาติ ผลิตจากฝ้ายและนำมาย้อมสีจากเปลือกไม้ ใบไม้ หรือ วัตถุดิบตามท้องถิ่นที่สามารถนำมาย้อมสี ปัจจุบันจะใช้ด้ายสำเร็จมาถักทอผ้าหรือปักผ้าให้มีลวดลายที่สวยงามมากยิ่งขึ้น
ภาษากะเหรี่ยง มีภาษาพูดที่มีวรรณยุกต์โดยเฉพาะชาวกะเหรี่ยง หรือกลุ่มชาติพันธุ์ หรือที่จะเรียกให้สุภาพ คือ กลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอญอ ซึ่งเป็นภาษาที่จัดอยู่ในตระกูลจีน-ทิเบต ซึ่งแบ่งออกเป็นสามสาขาหลัก คือ สะกอ โป ปะโอ ซึ่งคนในชุมชนบ้านเปียงหลวง จะใช้ภาษากะเหรี่ยงสะกอในการสื่อสารภายในชุมชนและในกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ และกลุ่มผู้ใหญ่วัยกลางคนและผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ได้เล่าเรียนมาจะมีภาษาเขียนในบทสวด บทสวดคำสอนที่เป็นลักษณะโดยเฉพาะ
- การเปลี่ยนแปลงของสังคมไปสู่ความทันสมัย ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพและการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม คนในชุมชนมีการสร้างบ้านแบบสมัยใหม่ตามยุคกาลสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้วิถีชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เนื่องจากอิทธิพลของสื่อในมิติต่าง ๆ ที่มีความรวดเร็ว รวมถึงการที่คนรุ่นใหม่เข้าไปทำงานหรือศึกษาต่อในเมืองกรุง ทำให้ได้รับอิทธิพลทางการศึกษาสมัยใหม่ที่สอนให้คนเชื่อในหลักทางวิทยาศาสตร์ทำให้เกิดการเปลี่ยนทางความคิดและความเชื่อ
- การเคลื่อนย้ายของประชาชน ในอดีตคนในสังคมมีการอยู่อาศัยร่วมกันแบบครอบครัวขยาย ทำให้เกิดการเรียนรู้พิธีกรรมต่าง ๆ ทำให้สมาชิกรุ่นใหม่ได้เรียนรู้จากการถ่ายทอดของคนในครัวเรือน ต่อมาสังคมพัฒนาไปสู่ความทันสมัย เกิดการเคลื่อนย้ายการใช้ชีวิตไปอยู่นอกชุมชน บางคนในครอบครัวก็ออกเรือนไปอยู่ต่างบ้านต่างเมือง ไปเรียนหนังสือเพื่อศึกษาหาความรู้ ไปทำงาน
ชุมชนเผชิญกับปัญหาด้านธรรมชาติที่เกิดจากการเผาป่าและไฟป่า เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้ส่งผลต่อการเกิดปัญหาไฟป่าและทำให้เกิดค่าฝุ่น PM ที่ชุมชนหรือหมู่บ้านต้องเฝ้าระวังและจัดให้มีชุดตรวจลาดตระเวนและมีการจัดกิจกรรมทำแนวกันไฟเพื่อป้องกันการเกิดไฟป่าหรือเฝ้าระวังไฟป่า
ในชุมชนหรือหมู่บ้าน มีจุดที่น่าสนใจอื่น ๆ เช่น โบสถ์คาทอลิกสไตล์ยุโรปที่เป็นศูนย์รวมด้านจิตใจ
องค์การบริหารส่วนตำบลแม่กิ๊. (2565). แผนพัฒนาท้องถิ่น อบต.แม่กิ๊ 2566-2570. แม่ฮ่องสอน
Google Map. (2566). พิกัดแผนที่ชุมชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน. สืบค้นเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2566. https://www.google.com/maps