Advance search

นั่งหลังช้างชมธรรมชาติ สัมผัสบรรยากาศหมู่บ้านกลางหุบเขา ยลวิถีอัตลักษณ์ปกาเกอะญอที่บ้านทิโพจิ

หมู่ที่ 4
บ้านทิโพจิ
แม่จัน
อุ้มผาง
ตาก
ทต.แม่จัน โทร. 0-53711-222
วิไลวรรณ เดชดอนบม
10 พ.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
14 พ.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
15 พ.ค. 2024
บ้านทิโพจิ


นั่งหลังช้างชมธรรมชาติ สัมผัสบรรยากาศหมู่บ้านกลางหุบเขา ยลวิถีอัตลักษณ์ปกาเกอะญอที่บ้านทิโพจิ

บ้านทิโพจิ
หมู่ที่ 4
แม่จัน
อุ้มผาง
ตาก
63170
15.8058522367836
98.7672735750675
เทศบาลตำบลแม่จัน

ทิโพจิ หมายถึง ห้วยนาน้อย เป็นชื่อของลำห้วยที่มีจุดกำเนิดมาจากภูเขาโป่วาตูทางทิศเหนือของหมู่บ้านซึ่งเป็นพื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้าน โดยชาวบ้านมีคำบอกเล่าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชุมชนอยู่ 2 ยุค ดังนี้

  • ยุคแรก ประมาณ 700-800 ปีก่อน ว่ากันว่าเดิมทีบริเวณที่ตั้งบ้านทิโพจิเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวลัวะหรือชาวละว้า ซึ่งเป็นกล่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมในแถบภาคเหนือของประเทศไทย โดยคาดว่าชาวลัวะน่าจะเคยเข้ามาอาศัยทำกินในบริเวณนี้ แต่ต่อมาได้อพยพสูญหายไปโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ยุคที่ 2 ประมาณ 200 ปีก่อน หลังชาวลัวะย้ายออกไป ชาวปกาเกอะญอได้อพยพเข้าแทนที่ โดยตั้งบ้านเรือนอยู่ตรงข้ามกับที่ตั้งหมู่บ้านในปัจจุบัน (ต่อไปนี้จะเรียกว่า บ้านทิโพจิเก่า) บ้านทิโพจิเก่ามีหลักฐานที่แสดงถึงการมีอยู่ คือ เจดีย์เก่า แต่ในปัจจุบันเหลือเฉพาะฐานเจดีย์ สมัยก่อนชาวบ้านนิมนต์พระมาสร้างสำนักสงฆ์ แต่ภายหลังจากที่พระสงฆ์รูปนั้นมรณภาพก็ไม่มีพระสงฆ์รูปใดเข้ามาจำพรรษาอีก จนกลายเป็นสำนักสงฆ์ร้าง นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานที่ปรากฏในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 การก่อตั้งกิ่งอำเภออุ้มผางเมื่อครั้งยังขึ้นอยู่กับจังหวัดกำแพงเพชร ได้เกณฑ์ให้ชาวบ้านมาก่อสร้างที่ว่าการกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ. 2469 แต่เดิมบ้านทิโพจิถือว่าเป็นหมู่บ้านใหญ่ ประกอบด้วยหย่อมบ้านทั้งหมด 7 หย่อมบ้าน แต่เนื่องจากเกิดการระบาดของอหิวาตกโรคส่งผลให้ประชากรในหมู่บ้านล้มตาย ซึ่งตามความเชื่อของชาวปกาเกอะญอ หากมีคนเสียชีวิตจำนวนมากจำเป็นต้องอพยพถิ่นฐานไปอาศัยยังหมู่บ้านอื่น สำหรับพื้นที่หมู่บ้านเดิมจึงกลายเป็นพื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้านในปัจจุบัน

โดยเหตุการณ์สำคัญและพัฒนาการต่าง ๆ ของหมู่บ้านทิโพจิที่เกิดขึ้นแต่ละยุคสมัยสามารถสรุปเป็นลำดับเหตุการณ์ ดังนี้

ระยะเวลาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ประมาณ 700 ปีก่อนชาวลัวะเข้ามาตั้งบ้านเรือนในพื้นที่ (ต่อมาได้อพยพไปยังถิ่นอื่น)
ประมาณ 200 ปีก่อนชาวปกาเกอะญอเข้ามาตั้งถิ่นฐานแทนที่ชาวลัวะที่อพยพย้ายออกไป
พ.ศ. 2469มีการเกณฑ์แรงงานชาวบ้านช่วยก่อสร้างที่ว่าการกิ่งอำเภออุ้มผาง
พ.ศ. 2512-2526พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้เริ่มการเคลื่อนไหวทางการเมืองในอำเภออุ้มผาง มีการต่อสู้ระหว่างรัฐบาลกับพรรคคอมมิวนิสต์ ส่งผลให้หมู่บ้านได้รับผลกระทบ
พ.ศ. 2527รัฐบาลประกาศนโยบายเพื่อยุติการสู้รบระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ส่งผลให้มวลชนกลับใจและเข้ามอบตัวเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย
พ.ศ. 2532ประกาศจัดตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง
พ.ศ. 2532สร้างระบบน้ำประปาภูเขาเป็นครั้งแรก
พ.ศ. 2540จัดตั้งศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านทิโพจิโดยศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียน อำเภออุ้มผาง (กศน.)
พ.ศ. 2544ติดตั้งไฟฟ้าระบบพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นครั้งแรกในหมู่บ้าน
พ.ศ. 2545มีการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
พ.ศ. 2546จัดตั้งกองทุนหมู่บ้านทิโพจิตามนโยบายรัฐบาล
พ.ศ. 2552จัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียนบ้านทิโพจิ
พ.ศ. 2553ติดตั้งระบบโทรศัพท์ชุมชน

ที่ตั้งและอาณาเขต

บ้านทิโพจิ ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอำเภออุ้มผาง อยู่ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 75 กิโลเมตร และห่างจากจังหวัดตากประมาณ 316 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านนุเซะโปล้ หมู่ที่ 1 ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก 
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านกุยเลอตอ หมู่ที่ 8 ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านโขะทะ หมู่ที่ 3 ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับบ้านทีจอชี หมู่ที่ 11 ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก

ลักษณะภูมิประเทศ

บ้านทิโพจิตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นหุบเขา มีที่ราบเล็กน้อย ลักษณะของดินจะเป็นดินภูเขาเป็นส่วนใหญ่มีดินนาผสมเล็กน้อย มีลำห้วยที่สำคัญ คือ ลำห้วยทิโพจิ อยู่ทางด้านเหนือ และลำห้วยมอโกร อยู่ทางด้านใต้ บ้านทิโพจิมีภูเขาล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน คือ ภูเขาโป่วาตูหรือเขากระวาน ซึ่งเป็นยอดเขาสูงกั้นระหว่างบ้านทิโพจิกับบ้านโขะทะ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าดิบเขาสลับกับป่าเต็งรังและป่าไผ่ 

ลักษณะภูมิอากาศ

บ้านทิโพจิ มีภูมิอากาศอยู่ในเขตโซนร้อน สภาพโดยทั่วไปจะมี 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว

  • ฤดูร้อน อยู่ระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม
  • ฤดูฝน อยู่ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคม
  • ฤดูหนาว อยู่ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์

สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 4 บ้านทิโพจิ ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 5,374 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 2,686 คน ประชากรหญิง 2,688 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 271 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนกุมภาพันธ์ 2567)

บ้านทิโพจิมีระบบครอบครัวส่วนใหญ่เป็นครอบครัวเดี่ยว มีลักษณะครอบครัวขยายอยู่ไม่มาก ปกติแล้วนิยมตั้งบ้านเรือนใกล้เคียงเครือญาติเป็นหลัก และอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ๆ เรียกว่า "คุ้ม" 4 คุ้ม ชาวบ้านในชุมชนส่วนใหญ่เป็นชาวปกาเกอะญอ

ปกาเกอะญอ

รายได้หลักของชาวบ้านทิโพจิส่วนใหญ่มาจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีการเลี้ยงสัตว์เพื่อบริโภคและประกอบพิธีกรรม นอกจากนี้ ยังมีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับงธุรกิจภาคการท่องเที่ยว เช่น โฮมสเตย์ให้บริการทัวร์ป่า พานักท่องเที่ยวนั่งหลังช้างชมความงามของธรรมชาติ พร้อมบริการที่พักแบบโฮมสเตย์ ต้อนรับฤดูกาลท่องเที่ยวในช่วงปลายฝนต้นหนาว

เดิมการประกอบอาชีพของชาวบ้านทิโพจิจะเป็นการทำไร่หมุนเวียนซึ่งเป็นวิถีดั้งเดิมของชาวปกาเกอะญอ ลักษณะการทำไร่หมุนเวียนจะใช้ที่ดินหมุนเวียนที่ละ 7 ปี จึงจะหมุนเวียนกลับมาใช้ที่เดิมอีกครั้ง การทำไร่ในอดีตจะนิยมปลูกข้าวไร่ควบคู่ไปกับการปลูกพืชชนิดอื่น เช่น ถั่ว แตงกวา พริก ฟักทอง แต่ภายหลังจากที่ทางราชการได้ประกาศเขตพื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง เมื่อ พ.ศ. 2532 ซึ่งทับพื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้าน ส่งผลให้การทำไร่เปลี่ยนแปลงมีการปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตใหม่ รวมถึงรูปแบบเศรษฐกิจใหม่ ๆ ที่เข้ามามีบทบาทในชุมชน ดังนี้

  • การทำนา จะทำนาเพียงปีละครั้ง นิยมปลูกข้าวจ้าวซึ่งเป็นพันธ์ข้าวพื้นเมืองเป็นหลัก แต่จะปลูกข้าวเหนียวครัวเรือนละ 1 ไร่ เพื่อเป็นวัตถุดิบในการทำเหล้าและขนมสำหรับในการประกอบพิธีกรรม แต่ละครอบครัวมีพื้นที่ทำนาครัวเรือนละ 5-10 ไร่
  • การปลูกข้าวโพด เดิมนั้นข้าวโพดเป็นพืชที่ปลูกตามหัวไร่ปลายนาเพื่อบริโภคภายในครัวเรือนและการเลี้ยงสัตว์ ต่อมาใน พ.ศ. 2545 นายทุนบริษัทผลิตอาหารสัตว์เข้ามาส่งเสริมให้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยสนับสนุนเงินทุนและเมล็ดพันธุ์ รายได้จากการขายข้าวโพดหลังจากหักจากต้นทุนแล้วจึงเป็นของเกษตรกร ซึ่งคงเหลือไม่มากนัก ระยะแรกการปลูกข้าวโพดจึงไม่ได้รับความนิยม จนกระทั่งนโยบายรัฐบาลประกาศประกันราคาข้าวโพด ส่งผลให้ชาวบ้านทิโพจิหันมาปลูกข้าวโพดเพื่อเป็นรายได้หลัก เฉลี่ยพื้นที่การปลูกครัวเรือนละ 30-50 ไร่
  • การเลี้ยงสัตว์ ในอดีตการเลี้ยงสัตว์ใช้เพื่อเป็นเครื่องทุ่นแรงในการไถนา แต่เมื่อเทคโนโลยีการเกษตรเข้ามา ทำให้การเลี้ยงสัตว์เปลี่ยนแปลงมาเป็นเศรษฐกิจแทน ในแต่ละครอบครัวจะเลี้ยงควายมากกว่าการเลี้ยงวัว เนื่องจากราคาของควายสูงกว่าราคาวัว แต่ละครัวเรือนจะเลี้ยงควาย 7-20 ตัว ราคาขายควายโดยประมาณจะเริ่มต้นที่ 20,000 บาทเป็นต้นไป ส่วนวัวจะนิยมเลี้ยงวัวพันธุ์พื้นเมืองซึ่งมีลักษณะเล็ก
  • การหาของป่า ชาวบ้านทิโพจิจะเข้าป่าเพื่อหาลูกมะอิ มีลักษณะคล้ายลูกกระวาน มีสรรพคุณเป็นยาเพื่อส่งขายให้กับพ่อค้าคนกลาง ในแต่ละวันชาวบ้านสามารถเก็บลูกมะอิได้ประมาณ 5-10 กระบุง ซึ่งราคาขายสามารถขายได้ถึงกระบุงละ 100 บาท นอกจากนี้ ในช่วงเดือนมีนาคมการหาน้ำผึ้งป่ายังเป็นรายได้เสริมอีกหนึ่งช่องทาง โดยการขายน้ำผึ้งบรรจุขวดเฉลี่ยขวดละ 300-400 บาท
  • โฮมสเตย์ บริการที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว อันเนื่องมาจากความโด่งดังของอำเภออุ้มผางในฐานะแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งส่งผลให้ชุมชนต่าง ๆ ในอำเภออุ้มผางเริ่มนำเอาธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและแหล่งรายได้ เช่นเดียวกับบ้านทิโพจิที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ทั้งยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์สูง จึงเป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในอำเภออุ้มผาง โดยในปัจจุบันบ้านทิโพจิมีการก่อสร้างที่พักรูปแบบโฮมสเตย์สำหรับรองรับนักท่องเที่ยว ตลอดจนมีบริการนำเที่ยว บริการพานั่งหลังช้างชมธรรมชาติ โดยคิดค่าบริการวันละ 1,000 บาท
  • ผ้าทอกะเหรี่ยง หรือการทอผ้าแบบกี่เอว ส่วนใหญ่จะทอเป็นเสื้อและย่าม สำหรับขายให้แก่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในชุมชน

ชาวบ้านทิโพจิส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธผสมผสานกับความเชื่อดั้งเดิม คือ การนับถือผี และมีส่วนน้อยที่นับถือศาสนาคริสต์ ชาวปกาเกอะญอให้ความสำคัญกับความเชื่อเรื่องผี ถือเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต เป็นสิ่งควบคุมพฤติกรรมคนในชุมชน ซึ่งสะท้อนผ่านข้อห้ามและข้อยึดถือปฏิบัติต่าง ๆ ที่สืบทอดกันมา คติความเชื่อดั้งเดิมของชาวปกาเกอะญอก่อให้เกิดค่านิยมในสังคมให้กตัญญูต่อบิดามารดา รวมถึงกตัญญูต่อธรรมชาติที่คอยดูแลลูกหลานให้ปลอดภัย ก่อให้เกิดพิธีกรรมเกี่ยวกับระบบชีวิต เป็นสื่อกลางที่สร้างขวัญกำลังใจ ทั้งยังเป็นกุศโลบายที่บรรพบุรุษสั่งสมและถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น สำหรับพิธีกรรมของชาวปกาเกอะญอบ้านทิโพจิ มีดังรายละเอียดต่อไปนี้

  • พิธีกรรมที่เกี่ยวกับครอบครัว ได้แก่ พิธีมัดมือ ทำบุญข้าวใหม่ พิธีกรรมทำบุญขึ้นบ้านใหม่ และพิธีขอสูมาและขอคืนดี เป็นต้น จุดประสงค์ของพิธีกรรมเพื่อความสงบสุข ความร่มเย็นแก่ครอบครัว นอกจากนี้ ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ครอบครัวและญาติได้ร่วมแลกเปลี่ยนและปรับทุกข์ภายในตระกูล
  • พิธีกรรมที่เกี่ยวกับชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย ได้แก่ พิธีกรรมเกี่ยวกับการเกิด พิธีกรรมเกี่ยวกับการแต่งงาน พิธีกรรมเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วย พิธีกรรมเกี่ยวกับการตาย (งานศพ) และพิธีกรรมอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตาย จุดประสงค์เพื่อสร้างความมั่นคงทางจิตใจ และเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตของตนเอง
  • พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำมาหากิน เช่น การเลี้ยงผีไร่ผีนา โดยเชื่อว่าพิธีกรรมนี้จะอาศัยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยดลบันดาลให้พืชผลเจริญงอกงาม ให้ผลผลิตตามที่ต้องการ
  • พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับชุมชน จุดประสงค์หลักเพื่อสร้างความสามัคคีของคนในชุมชน เช่น พิธีทำบุญสงกรานต์ พิธีขับไล่สิ่งชั่วร้าย 

ทั้งนี้ ในทุกพิธีกรรมของชาวปกาเกอะญอจะต้องมีพิธีมัดมือแทรกอยู่เสมอ เพราะชาวปกาเกอะญอเชื่อว่าการมัดมือช่วยเรียกขวัญให้เข้ามาอยู่กับเนื้อกับตัว รวมถึงสร้างขวัญและกำลังใจเสมือนเป็นการต้อนรับขับสู้ด้วย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ด้วยภาพแวดล้อมที่มีความหลากหลายของชุมชน ก่อเกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยเฉพาะในฤดูหนาวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ จะมีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศที่สนใจศึกษาและสัมผัสวิถีชีวิตท่ามกลางธรรมชาติของกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอบ้านทิโพจิเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในชุมชนจำนวนมาก โดยภายในชุมชนมีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่สำคัญ ดังนี้

  • บึงแฝด หรือภาษาปกาเกอะญอเรียกว่า “ลาอือเอาะ” หมายถึง บึงที่กลืนกินทุกสิ่งอย่าง มีลักษณะเป็นบึงน้ำขนาดใหญ่กลางป่าลึก ตั้งอยู่ทางทิศเหนือระหว่างบ้านทิโพจิกับบ้านโขะทะ ใช้เวลาในการเดินเท้า ประมาณ 2-3 ชั่วโมง ระหว่างทางมีป่าไผ่ขนาดใหญ่ และจะพบกระโถนฤาษีในฤดูหนาว ซึ่งเป็นพืชหายากในตระกูลกาฝากเกิดขึ้นเฉพาะป่าดิบชื้น มีความเชื่อตามตำนานของชาวปกาเกอะญอว่า บึงแฝดเดิมทีเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านสองหมู่บ้าน แต่เนื่องจากคนในหมู่บ้านไม่รักษาขนบประเพณี ขาดศีลธรรมหรือผิดผี ธรรมชาติจึงลงโทษบันดาลให้เกิดฝนตกหนักท่วมหมู่บ้านทำให้บริเวณนี้กลายเป็นบึงแฝด 
  • ถ้ำทิโพจิ เป็นถ้ำขนาดเล็ก ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน เดิมเป็นพื้นที่หมู่บ้านทิโพจิเก่า การเดินทางเข้าไปยังถ้ำทิโพจิต้องข้ามลำห้วย เดินผ่านทุ่งนาและไร่ข้าวโพดของชาวบ้าน ในช่วงออกพรรษาจะมีพระสงฆ์ธุดงค์มาจำพรรษา ณ ถ้ำแห่งนี้ทุกปี
  • น้ำตกทิโพจิ เป็นน้ำตกขนาดเล็กชั้นเดียว สูงประมาณ 5-6 เมตร ไหลออกจากลำห้วยทิโพจิ อยู่ทางทิศเหนือห่างจากหมู่บ้านประมาณ 3 กิโลเมตร ตามเส้นทางจะผ่านทุ่งนาของชาวบ้าน บริเวณน้ำตกล้อมรอบด้วยผืนป่าธรรมชาติ แต่ด้วยน้ำตกทิโพจิไม่เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวเท่าใดนัก ทำให้น้ำตกแห่งนี้ยังคงความบริสุทธิ์ และคงความงดงามของธรรมชาติไว้ได้มาก 

ภาษาพูด : ปกาเกอะญอ ภาษากลาง

ภาษาเขียน : อักษรโรมัน อักษรขาว อักษรไทย (ส่วนใหญ่จะใช้ในกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เริ่มได้รับการศึกษาแล้ว)


อาชีพเกษตรกรรม เป็นอาชีพหลักที่อยู่คู่กับชาวบ้านทิโพจิมาอย่างยาวนาน ทั้งยังเป็นอาชีพหลักที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำกันเรื่อยมาหลายชั่วอายุคน แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาเกี่ยวกับการทำเกษตรที่ชาวบ้านต้องประสบเจอมาอย่างยาวนานเช่นเดียวกัน คือ ปัญหาขาดแคลนน้ำ ถึงแม้ว่าบ้านทิโพจิจะตั้งอยู่ใกล้บริเวณแหล่งน้ำ แต่ในฤดูแล้งมักจะขาดแคลนน้ำอยู่เสมอ ทั้งนี้ อาจเนื่องด้วยหมู่บ้านตั้งอยู่ในหุบเขาซึ่งเป็นภูเขาสูง ทำให้ระบบการสาธารณูปโภคเกี่ยวกับน้ำเป็นไปค่อนข้างลำบาก อีกทั้งปริมาณน้ำฝนยังไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก ส่งผลกระทบให้การเพาะปลูกล่าช้า เพราะไม่สามารถกำหนดช่วงเพาะปลูกได้แน่นอน จึงจำเป็นต้องจ้างแรงงานภายนอกเข้ามาช่วย ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น


เนื่องจากพื้นที่ของหมู่บ้านอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ส่งผลให้ชาวบ้านไม่มีกรรมสิทธิ์ในการถือครองที่ดินไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย หรือที่ดินทำกิน แม้จะเคยมีการเรียกร้องสิทธิ์ในการถือครองที่ดินตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์การก่อตั้งหมู่บ้าน โดยทางราชการยินยอมให้ชาวบ้านมีสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยสามารถสืบทอดต่อจากบรรพบุรุษแต่ไม่สามารถซื้อขายหรือขยายพื้นที่ทำกินได้ การสร้างบ้านเรือนในหมู่บ้านจะต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมในชุมชนเสียก่อนจึงจะทำการปลูกสร้างได้ ทั้งนี้ สำหรับพื้นที่ป่าทางราชการอนุญาตให้เก็บของป่ารวมถึงการตัดไม้ไผ่ในการซ่อมแซมบ้านเรือนได้ เว้นเฉพาะพื้นที่ป่าต้นน้ำที่ไม่สามารถตัดโค่นต้นไม้ได้ และประเด็นสำคัญจากการประกาศพื้นที่บริเวณป่าทำกินของบ้านทิโพจิเป็นพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง แม้ว่าการดำเนินวิถีชีวิตสามารถดำเนินไปได้ตามปกติภายใต้ข้อกำหนดของกฎหมาย แต่การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการติดตั้งระบบสาธารณูปโภคที่ไม่สามารถติดตั้งเข้ามาภายในหมู่บ้านได้


อุ้มผาง
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

สมประสงค์ พันธุประยูร (2557). การถ่ายทอดความคิด ความเชื่อของชาวปกาเกอะญอผ่านพิธีกรรม: กรณีศึกษา บ้านทิโพจิ หมู่ที่ ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

เที่ยวอีหลี. (2562). บึงแฝดบ้านทิโพจิ. สืบค้น 10 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.facebook.com/

ทต.แม่จัน โทร. 0-53711-222